อย่าแก้ปัญหาที่บุคคลอื่น มุ่งแก้ไขตนเองเป็นสำคัญ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย กุศโลบาย, 1 กุมภาพันธ์ 2014.

  1. กุศโลบาย

    กุศโลบาย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2013
    โพสต์:
    323
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +4,608
    อย่าแก้ปัญหาที่บุคคลอื่น
    มุ่งแก้ไขตนเองเป็นสำคัญ

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

    ๑. “มีเหตุอะไรเกิดขึ้น อย่าไปแก้ไขที่บุคคลอื่น ให้มุ่งแก้ไขตนเองเป็นสำคัญ โดยยกสังโยชน์ขึ้นมาวัดกิเลสที่คุกรุ่นอยู่ในจิตของตนขณะนี้ แล้วแก้ด้วยกรรมฐานแก้จริตในกองนั้น ๆ จึงจักแก้อารมณ์เลวของจิตลงได้ อย่าไปคิดว่าคนอื่นเลว ให้คิดว่า ตนเองนี่แหละเลวยิ่งกว่าคนอื่น หันมามุ่งปฏิบัติเอาเรื่องส่วนตนเสีย เพราะธรรมภายนอกแก้ไขยากหรือแก้ไขไม่ได้ ให้แก้ไขธรรมภายในจักง่ายกว่ามาก ให้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่ามีความประมาทในชีวิต ความตายจักเข้ามาถึงเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้น มรณาฯ และอุปสมานุสติ พยายามกำหนดเข้าไว้ เพื่อจักได้ช่วยให้จิตมุ่งพระนิพพานมากขึ้น”

    ๒. “ให้ทำงานทั้งหมดด้วยความอดทน เห็นทุกข์มากเท่าไหร่ หรือได้รับความทุกข์มากเท่าไหร่ ให้พิจารณาลงตรงหลักวิปัสสนาญาณซึ่งมี ๙ ข้อ โดยเฉพาะข้อแรก ให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วในที่สุดก็อนัตตา ไม่มีอะไรที่จักยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเราได้เลย แล้วจบลงตอนท้ายว่า ทุกข์อย่างนี้จักมีกับเราเป็นชาติสุดท้าย ตายเมื่อไหร่ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น แล้วพยายามรักษาอารมณ์จิตให้เยือกเย็นเข้าไว้ อย่าลืมจุดมุ่งหมายของจิตว่า เราจักทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพาน ตั้งใจปักหลักให้มั่นคงด้วยวิริยะ ขันติ สัจจะบารมี การปฏิบัติให้หมั่นเพียรละซึ่งความโลภ โกรธ หลง ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา หรือทาน ศีล ภาวนา ทำให้ถูกจุดแล้วจักถึงจุดหมายปลายทางได้ง่าย”

    ๓. “พิจารณาการเจ็บป่วยให้เป็นอริยสัจว่า เกิดแล้วต้องเจ็บต้องป่วยจริงไหม แล้วในที่สุดร่างกายนี้ก็ต้องตายจริงไหม ให้พิจารณาหาความจริงอยู่เสมอ ให้จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา แล้วให้ปล่อยวางความกังวลที่มีอยู่กับร่างกายนี้ลงเสียให้ได้ เอาจิตออกมาให้เป็นเอกเทศของจิต อย่าไปเกี่ยวเกาะอยู่กับร่างกาย” (แยกกาย-เวทนาเป็นเรื่องของกาย... เป็นสันตติภายนอก และแยกจิตหรืออารมณ์ของจิตกับธรรมที่เกิดขึ้น... เป็นเรื่องของจิต เป็นสันตติภายใน อย่าให้สันตติไปปิดบังกฎของไตรลักษณ์ลงเสีย)

    ๔. “ร่างกายไม่ดียิ่งต้องรักษากำลังใจให้ดี เวลานี้พึงคิดว่า ความตายกำลังใกล้เข้ามา จักได้ไม่ประมาทในชีวิต การป่วยไข้ไม่สบายเป็นการเตือนให้เห็นมรณภัย จิตจักได้เห็นร่างกายตามความเป็นจริง อย่าได้มัวเมาในความเป็นอยู่ คิดแต่ว่าร่างกายนี้จักยังอยู่ ให้สอบจิตดู ถ้ายังเมาอยู่กับอารมณ์เกาะติดโลกและขันธโลก (ขันธ์ ๕) ก็สอบตกในการปฏิบัติธรรม และหากมีอาการขัดข้องขุ่นเคืองในกฎของกรรมที่ให้ผลอยู่ ก็เป็นการสอบตกในอารมณ์ปฏิฆะเช่นกัน ขอให้ปรับปรุงจิตใจตนเองให้ดีขึ้นด้วย ทุกอย่างจักต้องอาศัยกำลังใจของตนเองเป็นสำคัญด้วย บารมี ๑๐ จึงทิ้งไม่ได้ ต้องใคร่ครวญอยู่เสมอ”

    ๕. “งานวิปัสสนาธุระกับคันถธุระจักต้องไปด้วยกัน (งานทางโลกกับงานทางธรรม หรืองานทางกายอยู่กับโลก งานของจิตอยู่กับธรรม) เพราะลำพังคิดแต่จักทำแต่วิปัสสนาธุระอย่างเดียวนั้น กำลังของจิตยังไม่พอ การทำงานให้กับพระพุทธศาสนา เช่น การทำงานของวัดเป็นการสร้างเสริมบารมี เป็นการสั่งสมบุญ (เป็นวิหารทานอันเป็นบุญสูงสุดในพุทธศาสนา ในวัตถุทาน ถวายสังฆทาน ๑๐๐ ครั้ง ยังได้บุญสู้ถวายวิหารทานครั้งเดียวไม่ได้) คนฉลาดในเรื่องสะสมบุญในวัตถุทานทางโลก เวลาวัดมีงานเขาจึงเอากายมาช่วยทำงานให้กับวัด ตามกำลังใจและกำลังกายของเขา เพื่อเป็นปัจจัยให้จิตมีกำลังเพิ่มขึ้น และเข้าถึงพระนิพพานได้ง่าย

    ส่วนใหญ่อารมณ์จิตของคนเรามักไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ คือชอบคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว อันเป็นบาปอกุศล ดังนั้น เมื่อยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด สิ่งใดเป็นบุญ เป็นกุศลก็พึงให้จิตเกาะไว้ แม้จักเป็นบุญหรือทานเล็กน้อย ก็ยังดีกว่าจิตไปเกาะบาป เกาะอกุศล ดังนั้น พึงระวังคำพูด อย่าให้ไปเบียดเบียนใครได้ นั่นแหละจักดีมาก แม้แต่อุปมา-อุปมัยก็เป็นภัยกระทบแก่บุคคลอื่นได้ บางครั้งอุปมา-อุปมัยนั่นแหละ สร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้ฟัง ฟังแล้วนำไปปรุงแต่งเป็นมโนกรรมได้โดยง่าย เช่น เราไปตำหนิกรรมของใครเข้า แต่ไม่ออกชื่อ คนฟังก็ไปปรุงแต่งธรรมเอาว่า คงจะเป็นคนนั้นคนนี้ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงไม่ใช่ เรื่องการพูดอุปมา-อุปมัยที่ไม่ชัดเจน จึงต้องพิจารณาก่อนให้รอบคอบด้วย”

    ๖. “อย่าสนใจในเรื่องราวของบุคคลอื่น กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ ไม่มีใครหนีพ้นกฎของกรรมนั้นไปได้ ให้พยายามทำจิตให้ยอมรับกฎของกรรม ที่เข้ามาในวิถีชีวิตขณะนี้ จิตจักต้องมีความมั่นคง อย่าท้อแท้หวั่นไหวกับกฎของกรรม พวกเจ้ายังจักต้องฝึกจิตให้ยอมรับกฎของกรรมอีกนาน คนเรานี้แปลก รู้ทั้งรู้อยู่ว่ากรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ แล้วกรรมทั้งหลายที่อันจักเกิดขึ้นแก่ใครได้ ก็เนื่องด้วยเหตุจากบุคคลนั้นได้ทำเอาไว้ แต่พอผลของกรรมเข้ามากระทบ กล่าวคือให้ผลแก่คนผู้กระทำเอาไว้เอง กลับโวยวาย ไม่ยอมรับกฎของกรรมนั้น ๆ จักให้พระท่านช่วย พระท่านก็ช่วยได้อยู่ แต่ต้องไม่เกินวิสัยกฎของกรรม(หากเราไม่เคยก่อกรรมเหล่านี้ไว้ก่อนในอดีต วิบากกรรมเหล่านี้ก็เกิดกับเราไม่ได้ในปัจจุบัน)

    ดังนั้นอารมณ์ของจิตนั้นสำคัญที่สุด มีอะไรก็ให้ลงตรงกฎของธรรมดาเข้าไว้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถพ้นกฎของกรรม หรือกฎของธรรมดาไปได้ ให้ดูกำลังใจของท่านพระอริยเจ้าเบื้องสูงทั้งหลาย ที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจาก สุปฏิปันโน-อุชุปฏิปันโน-ญายปฏิปันโน-สามีจิปฏิปันโนตามลำดับ หมายความว่าจากเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี (เป็นผู้มีอธิศีลและกรรมบถ ๑๐) เป็นพระอนาคามี (เป็นผู้มีอธิจิตหรือทรงฌาน หรือมีญาณ) เป็นพระอรหันต์ (สามี แปลว่าเป็นใหญ่ในความดีทั้งหมดในพุทธศาสนา) ให้ดูกำลังใจของท่าน กายจักเสื่อม คือป่วยขนาดไหนก็ตาม แต่กำลังใจของท่านเด็ดเดี่ยวอยู่เสมอ ไม่ผลีผลาม สุขุมรอบคอบ ให้ศึกษาปฏิปทาของท่านและพึงปฏิบัติตามไปด้วย

    ๗. “ให้ระลึกนึกถึงความตายที่ใกล้เข้ามาสู่ชีวิตอยู่เสมอ อายุยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งใกล้ความตายเข้าไปทุกที ไม่พึงประมาทในชีวิต ช่องทางใดเป็นหนทางแห่งความดี ให้กำหนดจิตให้มีสติ-สัมปชัญญะ พยายามรักษาความดีนั้นเข้าไว้ให้มั่นคง ยิ่งปรารถนาพระนิพพาน ยิ่งพึงที่จักตรวจสอบอารมณ์อันใดที่จักทำเพื่อพระนิพพาน ให้หมั่นลดละความโลภ โกรธ หลง ที่ยังอยู่ในจิตของตนให้เบาบางลง และเมื่อรู้ตนเองว่า สัญญาเป็นอนิจจา ยังจำคนจำชื่อคนไม่ค่อยได้ ก็จงฝึกสติ-สัมปชัญญะเข้าไว้ ให้มีมารยาทดีกับทุก ๆ คนที่พบเห็น โดยเฉพาะตอนวัดมีงาน ซึ่งต้องพบกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ก็ต้องยิ้มรับไว้ก่อน พูดดี-ทำดีกับทุกคน จักได้หมดปัญหาเรื่องจำคน จำชื่อคนไม่ค่อยได้ บางครั้งสัญญานี่แหละเป็นตัวทำพิษให้กับจิต จงอย่าไปยึดถือให้มันเที่ยง จักต้องทำจิตให้ยอมรับนับถือว่า สัญญามันไม่เที่ยง แต่ในขณะเดียวกัน ก็อย่าให้สัญญาเป็นพิษกลับมาทำร้ายจิตตนเอง”

    ๘. “ให้มองความเสื่อมของร่างกายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้มีร่างกายทุกคน ไม่สามารถที่จักหนีพ้นสภาวะนี้ไปได้ พึงทำจิตให้ยอมรับนับถือกฎธรรมดา ว่าเราจักมีร่างกายนี้เป็นชาติสุดท้าย ตายเมื่อไหร่ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น พยายามทรงจิตให้รักพระนิพพานเข้าไว้ แล้วพิจารณาทุกข์ของร่างกายให้มาก จนจิตปลดจากร่างกายลงไปได้ในที่สุด ให้พิจารณาร่างกายของคนก็ดี ของสัตว์ก็ดี แม้วัตถุธาตุต่าง ๆ ก็เป็นเพียงสภาวะของธาตุ ๔ เข้ามาประชุมชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ช้าก็เสื่อม ไม่ช้าก็สลายตัว จิตจักได้ไม่ประมาทในชีวิต พร้อมทั้งคลายความปรารถนาที่จักอยากโลภ โกรธ หลงไปเพื่อประโยชน์อันใด ในเมื่อไม่ช้าไม่นานก็ตายแล้ว ทรัพย์ทั้งหลายไม่ใช่สมบัติของเรา แม้กระทั่งร่างกายที่รักหวงแหนมากที่สุด ก็ยังไม่ใช่ของเรา เมื่อความตายมาถึง ก็ไม่สามารถที่จักนำเอาร่างกายนี้ไปได้ ดังนั้น การไปพระนิพพานเป็นของไม่ยาก หากเข้าใจธรรมในจุดนี้ เพียงแต่พยายามพิจารณาปลดร่างกายนี้ว่า มันหาใช่เรา หาใช่ของเราให้มาก จนจิตเรายอมรับความเป็นจริงของร่างกายเท่านั้น”

    ธัมมวิจัย เกี่ยวกับธรรมของร่างกายที่ทรงตรัสสอนในข้อ ๘ นี้ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๔ ก.พ. ๒๕๕๒ ทางคริสต์ศาสนาเขาสมมุติว่า เป็นวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก เขาก็แสดงความรักกันในแบบต่าง ๆ ตามจริตนิสัย และกรรมของแต่ละคนซึ่งมีมาไม่เสมอกัน ก็เป็นกรรมของเขา ให้มองให้เห็นเป็นของธรรมดา ให้เอากรรมหรือการกระทำของเขามาเป็นครูสอน เราก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ขอเขียนแยกเป็นข้อ ๆ ดังนี้

    ๘.๑ ในฐานะที่พุทธศาสนาสอนให้คนเห็นทุกข์ตามความเป็นจริง เพราะหากผู้ใดยังไม่เห็นทุกข์ตามความเป็นจริงได้ ก็ไม่สามารถจะพ้นทุกข์ได้ในชาติปัจจุบันนี้

    ๘.๒ ปุถุชนย่อมคิดว่า ร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นเขาเป็นของเขา เป็นธรรมดา อารมณ์นี้คืออารมณ์หลง หลงคิดว่ากายเป็นเรา เป็นของเรา เมื่อเริ่มต้นผิด จิตเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยิ่งคิด-ยิ่งพูด-ยิ่งทำ ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือผิดตลอดกาล เขาไม่เห็นทุกข์จากการมีร่างกาย แล้วยังคิดว่า โลกนี้เป็นสุขน่าอยู่น่าอาศัย รวมทั้งขันธโลกของร่างกายของเขา ก็น่ารัก น่าถนอม น่าบำรุงบำเรอให้มันเป็นสุขยิ่งขึ้น จึงแสดงกรรม หรือการกระทำในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มความทุกข์ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นกับจิตตนเอง ซึ่งก็เป็นธรรมดาอีกนั่นแหละ เพราะเขาไม่รู้ว่า ตัวจริง ๆ ของเขาคือ จิตที่มาอาศัยร่างกายอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น

    ๘.๓ จุดที่เขาหลงมากที่สุดคือ ไม่เห็นความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความสกปรก ซึ่งมีขี้ทั้งตัวตั้งแต่หัว อันมีขี้หัว ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ไหลออกมาอยู่บนหัวเขาตลอดเวลา ต่ำลงมาก็ขี้ตา ขี้มูก ขี้ปาก ขี้เหงื่อ เสลด น้ำลาย ขี้เต่า ลงไปจนถึงขี้มือ ขี้ตีน สรุปขี้ทั้งตัวกลับไม่เห็น เพราะความหลงปิดตา-ปิดใจไว้หมด ยิ่งลอกหนังหุ้มกายออกแล้ว จะเห็นน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เสลด น้ำลาย อาหารเก่า อาหารใหม่ น้ำดี ขี้เยี่ยวทั้งตัว เป็นต้น หากเขาเห็นความจริงตามนี้ เขาคงไม่อยากจะเกิด มาล้างขี้ ล้างเยี่ยว ล้างสิ่งปฏิกูลสกปรกที่ตัวเขาทุก ๆ วันอีก เป็นขี้ข้ารับใช้มัน หลงมากก็เช็ดถู หาของมาบำรุง-บำเรอมันอยู่เกือบตลอดเวลา แล้วยังหลงคิดว่า มีความสุขเสียอีกที่ได้รับใช้มัน จึงมีสภาพเหมือนติดคุกที่มีขี้ทั้งตัวตลอดชีวิต หรือต้องเลี้ยงลูกอ่อนตลอดชีวิต หมายความว่า ต้องป้อนข้าว อาบน้ำ เช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว ให้มันทุกวันตลอดชีวิต ไม่มียกเว้นแม้แต่วันเดียว ก็ขอเขียนไว้เพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น

    ๘.๔ ทุก ๆ ปียังย้ำความหลงให้กับตนเอง เพราะกลัวจะลืมความหลงร่างกายของตนเอง แล้วยังชักชวนผู้อื่นให้หลงตามตนด้วยอุบายต่าง ๆ พวกชาวพุทธตามสำมะโนครัว ขาดปัญญาก็หลงตามเขาไป ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นชาวพุทธ มิใช่ชาวคริสต์ ก็เป็นธรรมดาอีกนั่นแหละ จะไปว่าชาวคริสต์ก็ไม่ถูก เพราะชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ยังหลงคิดว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเราอยู่จำนวนมาก จึงฉลองความแก่ของตน ยินดีปรีดาด้วยกับความแก่ของตนเอง โดยจัดงานฉลองวันเกิดของตน ฉลองวันปีใหม่กันอย่างขาดสติเกินพอดี จนมีอุบัติเหตุถึงตายกันมากทุก ๆ ปี สำหรับพวกพุทธแท้ ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ซึ่งไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ท่านเอาปัญญาเร่งรัดปฏิบัติจิตตนเอง ให้ละความโลภ โกรธ หลง ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา หรือทาน ศีล ภาวนา เพื่อให้กิเลสของท่านลดน้อยลงตามลำดับ มุ่งเอาจิตเข้าสู่พระนิพพานจุดเดียว หากร่างกายเกิดตายขึ้นมาด้วยอุบายสั้น ๆ ว่า รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน (ผมไม่ขอเขียนรายละเอียด)

    ๙. “ให้ระวังอารมณ์จิตของตนเข้าไว้ อย่าได้หวั่นไหวกับข่าวลือทั้งปวง (รวมทั้งวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ด้วย) แล้วให้เห็นเป็นธรรมดาของโลก เกาะติดเท่าไหร่ทุกข์ก็เกิดกับจิตมากเท่านั้น ให้วางโลกธรรมทิ้งเสีย ค่อย ๆ ทำไป สิ่งเหล่านี้จิตมันเกาะติดมานาน ก็ต้องเพียรละอย่างจริงจัง รักษากำลังใจให้ตั้งมั่นว่า เราจักทำทุกสิ่งเพื่อพระนิพพาน อย่าให้อารมณ์ปรุงแต่งของตนเอง ทำร้ายจิตของตนเอง เพราะจักให้ท้อแท้หมดกำลังใจไปทุกเรื่อง เวลานี้พวกเจ้ากฎของกรรมให้ผลอยู่ ก็ต้องรับผลตามวาระกฎของกรรม แต่ถ้าหากรู้จักใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ ความก้าวหน้าของจิตก็จักเกิดขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด เรื่องทั้งหมดขอให้พิจารณาลงว่าเป็นกฎของกรรม ไม่มีใครทำให้อย่างนี้ มีแต่ตัวเราเองนั่นแหละเป็นผู้ทำกรรมอย่างนี้ไว้เอง เมื่อวาระกรรมเก่ามันเข้ามาถึง จะรับหรือไม่รับก็ต้องเจอ มันหนีกันไม่พ้น จักต้องทำจิตให้เข้มแข็งอดทน จนกว่าวาระกฎของกรรมมันจักผ่านพ้นไป นี่แหละเจ้า ให้รู้จักถามจิตแล้วให้จิตตอบ พิจารณาไปจนกว่าจิตจักยอมรับกฎของกรรมอย่างจริงใจ เมื่อนั่นแหละ จักมีปัญญาเกิดขึ้นมาตัดกิเลส

    ๑๐. “การเกิดมาในโลกนี้ไม่มีใครหนีกฎของกรรมพ้นไปได้ ยิ่งหนียิ่งทุกข์ เพราะดิ้นมากจิตยิ่งรุ่มร้อน แต่ถ้าหากยอมรับนับถือในกฎของกรรม จิตก็จักไม่ทุกข์ ค่อย ๆ พิจารณาไป แล้วจิตจักเกิดปัญญาขึ้นได้ และสิ่งสำคัญจักต้องประคองกำลังใจของตนเองเข้าไว้ อย่าให้ตกเป็นอันขาด เช่น ร่างกายทรุดโทรมลงไป ก็เพราะวัยมันสูงขึ้น ความแข็งแรงก็ลดน้อยลง เป็นธรรมดาของร่างกาย ให้วางอารมณ์จิต กายทำงานได้แค่ไหนก็ให้พอใจแค่นั้น อย่าให้ขาดทุน ส่วนงานทางจิตจุดนี้ต้องเร่งหนัก เพราะจิตไม่เหนื่อย ไม่ต้องพักอย่างกาย หากรู้จักเดินสายกลางเอาไว้ ยิ่งร่างกายไม่ดี ยิ่งจักต้องรักษากำลังใจ หรือปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้นด้วยความไม่ประมาทในชีวิต ยิ่งร่างกายแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นชัดเท่าไหร่ ก็ยิ่งจักต้องพยายามตัดห่วง ตัดกังวล ตัดอาลัยทั้งหมด ให้พยายามชำระจิตให้ผ่องใส มุ่งไปสู่พระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น จำไว้ชีวิตของคนเราเกิดคนเดียว ตายก็ตายคนเดียว อย่าไปห่วงใยใครทั้งหมด เพราะในขณะที่ใกล้จักตายแล้ว ไม่มีใครช่วยเราได้ แม้แต่เราเองก็ช่วยใครไม่ได้ ตนเท่านั้นแหละที่เป็นที่พึ่งแห่งตน ให้มุ่งชำระจิตของตนเองเพื่อไปในถิ่นที่ตนต้องการ ต้องการพระนิพพานจักต้องลดละซึ่งกิเลสคือ ความโกรธ โลภ หลงให้หมดไปด้วย และในขณะเดียวกัน อย่าทิ้งภาพกสิณพระนิพพาน ตราบใดที่สังโยชน์ ๑๐ ไม่ขาดสะบั้น ทางลัดก็จงอย่าทิ้ง (รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน) เพราะไม่แน่ใจว่ากรรมปาณาติบาต จักมาตัดรอนชีวิตของร่างกายเมื่อไหร่

    ๑๑. “ต้องหมั่นถนอมสุขภาพของร่างกายตนเองเอาไว้ด้วย อย่าพึงตรากตรำ หรือเบียดเบียนร่างกายของตนเองให้มากเกินไป ให้พิจารณาว่า จักอยู่อย่างไรกาย-วาจา-ใจ จักไม่ถูกเบียดเบียน โดยอาศัยสังโยชน์ ๑๐ เข้าเทียบ จึงจักเห็นหน้าเห็นหลังของกาย วาจา ใจ ที่ถูกเบียดเบียนอยู่ ปฏิบัติกันไปปฏิบัติกันมา หมั่นเพียรย้อนหน้า-ย้อนหลังดูอารมณ์ของจิต ดูกิริยาของวาจา ดูอาการของกายของตนเองบ้าง จักได้รู้ว่า ผลของการปฏิบัติเวลานี้ถอยหลังหรือก้าวหน้ากันแน่ และเวลานั้นจงอย่าคิดเข้าข้างตนเองเป็นอันขาด เพราะถ้าหากคิดเข้าข้างตนเองแม้แต่นิดเดียว อุปาทานก็จักเอาไปกินทันที และจักไม่เห็นความเบียดเบียนตามความเป็นจริง”

    ๑๒. “อย่าไปสนใจกับจิตของบุคคลอื่น ให้รักษาดูแลจิต อบรมจิตของตนเองให้มาก และพึงสำรวจจิตของตนเองดูว่า เวลาที่ผ่านไปได้พึงทำกิจที่สมควรเพื่อพระนิพพานหรือไม่ วันหนึ่ง ๆ ปฏิบัติธรรมได้เท่าไหร่ หรือปล่อยจิตให้มีอารมณ์นอกลู่นอกทางพระกรรมฐาน เพื่อพระนิพพานไปเท่าไหร่ และได้ใช้กำลังใจหรือบารมี ๑๐ ประการ พร้อมที่จักตัดสังโยชน์ที่คั่งค้างอยู่สักเท่าไหร่ เหล่านี้จักต้องดูเอาไว้ด้วย อย่าสักแต่ว่ามีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ โดยที่ไม่มีจุดหมายปลายทางเอาเสียเลย ว่าขณะนี้ชีวิตร่างกายมันใกล้ความตายเข้าไปทุกที

    ๑๓. “อย่าทำใจให้ย่นย่อต่ออุปสรรคทั้งปวง ให้มองทุกอย่างเป็นเรื่องของกรรมฐาน และจำไว้ว่า อย่าไปแก้ปัญหาที่ใคร ให้แก้ปัญหาทั้งหมดที่จิตของตนเอง ชีวิตนี้สุดท้ายแล้ว เรื่องที่จักให้ไม่มีอุปสรรคของชีวิตเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนที่เกิดมามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ การเกิดก็เนื่องด้วยยังไม่หมดกรรม จิตยังเป็นทาสของกิเลสอยู่ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องพบกับอุปสรรคขัดข้องนานาประการ อันเนื่องด้วยกฎของกรรมแต่ก่อนเก่าทั้งสิ้น ดังนั้น ยิ่งปรารถนาจักไปพระนิพพานในชาตินี้ก็ยิ่งมีอุปสรรคมากขึ้น เพราะคิดจักหนีแล้วจากบาปอกุศล ก็ยิ่งพบอุปสรรคหนักอย่างนี้เป็นของธรรมดา พิจารณาให้ลงเป็นของธรรมดา แล้วจักคลายความหนักใจลงได้

    ๑๔. “อย่าไปคิดว่าใครดี อย่าไปคิดว่าใครเลว ให้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง หรือตามกรรมก็จักลงตัวธรรมดาได้ พิจารณาตรงนี้ให้มาก ๆ เพราะถ้าหากจิตลงจุดนี้ได้ จักสบายใจ และอยู่ได้อย่างมีความสุขมากที่สุด พิจารณาลงกรรมใครก็กรรมมัน แล้วจิตจักสบายใจที่สุด ไม่ยุ่งกับจริยาของผู้อื่นอีก ดั่งคำอุทาน ๔ ประโยคที่พระองค์ทรงตรัส เมื่อทรงบรรลุเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ ได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกในโลก ความว่า

    ก) สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี

    ข) สุขเพราะหมดตัณหา ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้ว

    ค) สุขเพราะหมดความเบียดเบียนตนเองแล้ว (พ้นภัยตนเองแล้ว)

    ง) สุขอย่างยอด เพราะหมดความถือตัวถือตนแล้ว (หมดมานะทิฏฐิ)

    ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๙
    รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
    ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com

    <!-- / message -->
    <!-- / message --><!-- edit note -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...