เรื่องเด่น อยากรอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ต้องทำอย่างไร?

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 2 กรกฎาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    แม้ที่ผ่านมา จะไม่มีอะไรสามารถต้านทานภัยธรรมชาติได้ แต่เราก็ยังสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ และเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว วันนี้เราขอนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับภัยธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อผู้คนเป็นจำนวนมากว่ามีอะไรบ้าง และจะมีวิธีเอาตัวรอดอย่างไร หากตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว

    5(2624).jpg

    ภัยจากน้ำป่า


    e0b894e0b888e0b8b2e0b881e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4e0b897e0b8b2e0b887.jpg

    เป็นภัยธรรมชาติที่มีสาเหตุหลัก มาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องจนเกินควบคุม เป็นเหตุให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ดังกล่าว

    วิธีการเอาตัวรอดจากน้ำป่า


    1. สังเกตสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ

    ก่อนเกิดน้ำป่าไหลหลาก มักจะมีการสัญญาณเตือนที่สามารถสังเกตได้ คือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ว่ามีปริมาณมากหรือน้อย และแม่น้ำในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นใดบ้าง

    หากระดับน้ำเริ่มสูง และสีของน้ำในแม่น้ำเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงขุ่น มีท่อนไม้ กิ่งไม้ถูกพัดพามาเรื่อย ๆ รวมถึงกระแสน้ำเริ่มมีความรุนแรงขึ้น นั่นแสดงว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำป่าค่อนข้างสูง

    2. สิ่งที่ต้องเตรียม

    เมื่อเริ่มสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ ก็ขอให้รีบเตรียมขนสิ่งของที่อาจได้รับความเสียหายไว้ที่สูงทันที รวมถึงการจัดเก็บเอกสารสำคัญ (เอกสารราชการต่าง ๆ, สมุดบัญชีธนาคาร, สิ่งของมีค่าอื่น ๆ) เตรียมเครื่องนุ่งห่ม น้ำและอาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้ประทังชีวิตในยามฉุกเฉิน โดยไม่จำเป็นต้องรอประกาศเตือนจากเจ้าหน้าที่

    3. น้ำเชี่ยว ไม่ควรเอารถไปขวาง

    คุณไม่ควรขับรถฝ่ากระแสน้ำไม่ว่าจะเป็นการขับรถฝ่าแม่น้ำสายเล็ก ๆ หรือถนนที่มีน้ำท่วม เพราะรถของคุณอาจถูกกระแสน้ำพัดไปได้

    4. เมื่อสั่งอพยพ ต้องไปทันที

    ขอให้คุณจำไว้ให้ดีว่า เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งให้อพยพหนีน้ำป่า ก็ต้องรีบออกจากพื้นที่ทันที อย่ามัวรีรอ เพราะห่วงบ้านหรือทรัพย์สินอื่น ๆ เนื่องจากน้ำป่าเป็นกระแสน้ำที่มาเร็ว และรุนแรงมาก

    ภัยจากดินโคลนถล่ม


    มักเกิดขึ้นในฤดูฝน โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิด “ดินโคลนถล่ม” คือ บริเวณที่ลาดเชิงเขาหรือภูเขาสูงที่มีฝนตกหนักเป็นเวลานาน จนทำให้น้ำฝนไหลซึมลงไปในชั้นดินจนกระทั่งชั้นดินชุ่มน้ำ ไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ เป็นเหตุให้ดินมีการเคลื่อนที่ลงมาตามลาดเขาได้ง่ายขึ้น

    วิธีการเอาตัวรอดจากดินโคลนถล่ม


    1. เสียงเตือนตามสาย

    ช่วงฤดูฝนเป็นอีกหนึ่งช่วงสำคัญที่มักมีเสียงประกาศเตือนภัย ทั้งจากหน่วยงานส่วนกลางอย่าง “กรมอุตุนิยมวิทยา” หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ดังนั้น เมื่อมีการแจ้งเตือนตามสาย อย่าได้ละเลยหรือประมาท เพียงคิดว่า เตือนมาหลายครั้ง แต่ไม่เคยเกิดอะไรขึ้น เพราะภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราไม่อาจกำหนดเวลาแน่นอนได้

    2. อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ?

    เจ้าของพื้นที่ย่อมรู้ดีอยู่แล้ว ว่าจุดที่ตนอยู่นั้น เป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยธรรมชาติหรือไม่ โดยหากพื้นที่ของคุณถูกจัดว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง อาทิ เคยเกิดน้ำป่า หรือถูกแจ้งเตือนว่าอาจเกิด ก็ขอให้เตรียมสิ่งของจำเป็นให้พร้อมอพยพทันที

    3. เส้นทางเลียบภูเขา จัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง

    ถ้าเป็นไปได้ ขอให้คุณหลีกเลี่ยงการสัญจรในพื้นที่เลียบภูเขาในช่วงที่มีฝนตกหนัก เพราะดินอาจชุ่มน้ำมาก จนลื่นไถลลงมาทับคุณหรือรถได้

    4. สติ เป็นสิ่งที่สำคัญ

    ต่อให้คุณจะเตรียมพร้อมรับมือดีแค่ไหน แต่ก็อาจเกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้น หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ขอให้คุณตั้งสติให้ดี และรีบปฏิบัติตามสิ่งที่เจ้าหน้าที่เคยแนะนำไว้

    ภัยจากไฟป่า


    b894e0b888e0b8b2e0b881e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4e0b897e0b8b2e0b887-1.jpg

    อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาทิ เกิดฟ้าผ่า หรือกิ่งไม้เสียดสีกัน แต่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดไฟป่า คือ มนุษย์ที่มีความตั้งใจจุดไฟ เพื่อทำไร่เลื่อนลอย หรือล่าสัตว์ โดยไม่คำนึงว่า ไฟที่จุดขึ้นมา จะลุกลามสร้างความเสียหายกับใครบ้าง

    และช่วงเวลาที่มักเกิดไฟป่า คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพอากาศแห้งและร้อนจัด

    วิธีการเอาตัวรอดจากไฟป่า


    1. สัญญาณเตือน

    วันหนึ่งที่คุณเดินเข้าป่า แล้วจู่ ๆ ได้กลิ่นเหม็นไหม้ หรือเห็นควันพวยพุ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจกำลังเกิดไฟป่า และขอให้รีบออกจากบริเวณดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

    2. ป้องกันควันอันตราย

    เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น นอกจากคุณต้องพยายามหนีออกมายังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว สิ่งที่ต้องรีบทำอีกอย่าง คือ การป้องกันควันไฟ หากคุณมีผ้าและน้ำเปล่าติดตัวไปด้วย ขอให้เอาผ้ามาชุบน้ำหมาด ๆ และปิดจมูก เพื่อป้องกันการสำลักควัน

    3. ทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

    ขณะเกิดเหตุ หากมีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย ขอให้คุณทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด แต่หากอยู่เพียงลำพัง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ ขอให้คุณตั้งสติและพยายามหลบหนีออกมาในเส้นทางที่คุณเข้าไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าเส้นทางดังกล่าวยังไม่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า

    ภัยจากคลื่นสึนามิ


    b894e0b888e0b8b2e0b881e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4e0b897e0b8b2e0b887-2.jpg

    ถือเป็นอีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่ดูเหมือนจะไกลตัวเรามาก กระทั่งปลายปี 2547 ได้เกิดโศกนาฏกรรมในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ริมฝั่งทะเลอันดามัน หลังเกิดแผ่นดินไหว ตรงบริเวณนอกฝั่งด้านตะวันตก ทางตอนเหนือของหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้หลายประเทศที่อยู่ฝั่งทะเลอันดามันได้รับความเสียหาย และเริ่มตื่นตัว พร้อมหามาตรการป้องกันคลื่นสึนามิ รวมถึงประเทศไทยด้วย

    วิธีการเอาตัวรอดจากคลื่นสึนามิ


    1. สัญญาณเตือนจากทะเล

    หากคุณสังเกตเห็นว่า น้ำในทะเลลดลงอย่างผิดปกติ ขอให้หันหลังวิ่งหนีออกจากบริเวณชายหาดทันที เพราะนั่นหมายความว่า คลื่นสึนามิกำลังจะเคลื่อนตัวเข้ามาหาคุณแล้ว

    แต่สำหรับประเทศที่มีการติดตั้งทุ่นสัญญาณเตือนสึนามิ เจ้าหน้าที่จะกดสัญญาณเตือน พร้อมเร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงทันที

    2. ที่หลบภัย

    ยากที่จะคาดการณ์ว่า คลื่นสึนามิซึ่งกำลังซัดเข้ามาจะมีความสูงระดับใด ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำเพื่อความปลอดภัย คือ การวิ่งขึ้นไปยังจุดที่สูงที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้ อาทิ ตึกสูง ภูเขาสูง หรือไปยังจุดปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่แจ้งไว้

    3. คลื่นสึนามิ อาจมีมากกว่า 1 ลูก

    การเกิดคลื่นสึนามิในครั้งหนึ่ง อาจมีมากกว่า 1 ลูก และเพื่อความปลอดภัยของคุณเอง ไม่ควรออกจากจุดปลอดภัย จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่

    ภัยจากแผ่นดินไหว


    “แผ่นดินไหว” เป็นภัยที่ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และอันตรายจากแผ่นดินไหวไม่ได้มีเพียงแรงสั่นสะเทือนในครั้งแรก แต่ยังรวมถึง “อาฟเตอร์ช็อก” ที่ตามมาอีกด้วย สำหรับพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดของไทย คือ พื้นที่ภาคเหนือ

    วิธีการเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว

    กรณีอยู่ภายในบ้าน


    1. หากคุณอยู่ภายในบ้าน ขอให้เข้าไปหลบอยู่ใต้โต๊ะ พร้อมหาหมอนหรือสิ่งของมาวางเหนือศรีษะ เพื่อรองรับแรงกระแทกจากของที่อาจตกลงมา
    2. ไม่ควรรีบร้อนออกจากบ้าน เพราะคุณอาจได้รับอันตรายจากสิ่งของที่หล่นลงมาจากที่สูงได้
    3. ถ้าขณะเกิดเหตุ คุณอยู่ใกล้บริเวณหน้าต่างหรือประตู ขอให้เปิดทิ้งไว้ก่อน เพราะหากสถานการณ์เริ่มไม่ปลอดภัย ก็สามารถออกจากบ้านได้ทันที
    4. หากแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ตอนที่คุณกำลังเปิดเตาแก๊สทำอาหาร ขอให้รีบปิดทันที แต่หากไม่ได้เปิดใช้เตาแก๊ส ก็ควรตรวจสอบว่าปิดวาล์วแก๊สแล้วหรือไม่
    5. ไม่ควรอยู่ใกล้เฟอร์นิเจอร์สูง ๆ อาทิ ตู้หนังสือหรือตู้เย็น เพราะอาจล้มทับตัวคุณได้

    กรณีอยู่ภายนอกอาคาร


    1. ขอให้คุณหาสถานที่ปลอดภัย อย่างพื้นที่โล่งกว้างของสวนสาธารณะเป็นสถานที่หลบภัยชั่วคราวก่อน และไม่ควรเข้าไปในบ้านหรืออาคารที่ดูไม่แข็งแรงเด็ดขาด

    กรณีอยู่บนตึกสูง


    1. ขอให้รีบออกมาจากตึกดังกล่าวทันที เพราะตึกแต่ละแห่งอาจถูกออกแบบมาให้รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ไม่เท่ากัน
    2. ไม่ควรใช้ลิฟท์ เพราะหากเกิดไฟดับ คุณต้องติดอยู่ในลิฟท์เป็นเวลานาน ขอให้ใช้บันไดหนีไฟแทน

    อย่างไรก็ดี แม้ว่าแผ่นดินไหวจะหยุดแล้ว ก็อย่าเพิ่งสบายใจ เพราะหลาย ๆ ครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว มักจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา ฉะนั้นขอให้ติดตามสถานการณ์จากวิทยุหรือโทรทัศน์ก่อน

    ภัยจากวาตภัย


    b894e0b888e0b8b2e0b881e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b89ae0b8b1e0b895e0b8b4e0b897e0b8b2e0b887-3.jpg

    วาตภัย หรือ พายุฤดูร้อน มักเกิดขึ้นช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี โดยความรุนแรงของพายุฤดูร้อนในแต่ละครั้ง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างยิ่ง

    วิธีการเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว

    กรณีอยู่ภายบ้านหรืออาคาร


    ไม่ควรอยู่ใกล้ระเบียง เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า และพายุอาจพัดสิ่งของ อาทิ กระถางต้นไม้ มากระแทกคุณได้
    ขอให้รีบปิดประตู และหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันมิให้แรงลมเข้ามาพัดสิ่งของภายในที่พัก

    กรณีอยู่กลางแจ้ง


    1. ควรอยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง อาทิ ต้นไม้ ป้ายโฆษณา เป็นต้น
    2. ขอให้รีบออกจากพื้นที่โล่งแจ้งอย่างลานกว้าง อาทิ ลานจอดรถ สนามกอล์ฟ เพราะแรงลมอาจพัดสิ่งของมากระแทกคุณ

    ขอบคุณที่มา

    https://www.sanook.com/travel/1411089/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 3 กรกฎาคม 2018

แชร์หน้านี้

Loading...