อมตธรรม หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย TupLuang, 17 กันยายน 2008.

  1. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371

    <CENTER>อมตธรรม</CENTER>
    <DD>ต่อไปเป็นเวลาที่เราจะได้ปฏิบัติจิตตภาวนา สร้างกำลังศรัทธาของเรา ที่สามารถที่จะทำได้ การภาวนานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการที่จะปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับความสงบ เป็นเครื่องอบรมจิต ตามหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจิตของเรา ถ้าไม่ได้รับ การอบรมแล้ว จะมีความรู้ ความฉลาด ความสามารถ เป็นไปไม่ได้ <DD> <DD>พวกที่มีความรู้ ความฉลาด มีกำลังสามารถในด้านจิตใจ ล้วนแต่ได้รับการอบรม ฝึกหัดปฏิบัติมาทั้งนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระองค์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พระองค์ได้ขวนขวาย ฝึกหัดปฏิบัติ ฝึกฝนอบรมจิตใจของพระองค์ ไม่ใช่วันเดียว หรือเดือนเดียว หรือปีเดียว พระองค์ปฏิบัติมาเป็นอสงไขยชาติ พระองค์จึงได้ปัญญา ดวงตาเห็นธรรม <DD> <DD>เราทั้งหลาย บางคนมาทำครู่เดียว ขณะเดียว ก็ให้จิตเป็นไปให้ถึงสวรรค์ ถึงนิพพาน ตามความอยากของตนเองเป็นไปไม่ได้ <DD> <DD>ธรรมทั้งหลายมาจากเหตุ ถ้าเหตุมีกำลังพอ ผลก็จะต้องมีความสมบูรณ์ บริบูรณ์ ตามเหตุ ถ้าเหตุไม่พอ เราจะต้องการผลเกินไปกว่าเหตุ เป็นไปไม่ได้ ถ้าเหตุกับผลไม่เท่ากัน หรือเกินกัน ก็ไม่เรียกว่าธรรม ที่เรียกว่าโลก โลกนั้น มีความโลภมากต้องการลงทุนนิดๆ หน่อยๆ ก็อยากได้มากๆ ยิ่งกว่าทุน ยิ่งกว่าเหตุ เพราะฉะนั้น โลกกับธรรมจึงเป็นคู่แข่งกัน ต่างกัน ไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน ถ้าหากว่าโลกกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว ท่านก็ไม่เรียกว่าโลก ท่านก็ไม่เรียกว่าธรรม ท่านก็เรียกว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ว่าธรรมนั้นเป็นสภาวะแห่งความจริง มั่นคงแน่นอน ตรงกับเหตุกับผล <DD> <DD>ผู้ใดทำเหตุ เช่นว่า ทานเป็นเหตุ ผลของทานก็สมแก่เหตุ เพียงแต่ทานอย่างเดียว เราจะให้ถึงความสุขอย่างสูงยิ่งกว่าเหตุ เพื่อให้ได้ผลที่เกิดขึ้นนั้นให้เป็น รูปาวจรภูมิ รูปาวจรภพ หรือ อรูปวจรภูมิ อรูปาวจรภพ หรือ โลกุตตรภูมิ โลกุตตรภพ ด้วยเฉพาะทานอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ <DD> <DD>ส่วนการทำบุญให้ทานนั้น เป็นผลเกื้อกูล ให้อำนวยความสุข เมื่อเราทั้งหลายเกิดมาใน กามาวจรภูมิ คือ เป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้สมบูรณ์ บริบูรณ์ ด้วยกำลังที่ตนกระทำ ให้เกิดในสวรรค์ ชั้นใดชั้นหนึ่ง เรียก กามาพจรสวรรค์ <DD> <DD>เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลาย เหตุกับผลเสมอกัน ถ้าหากว่า เราอยากจะปฏิบัติให้มีกำลังกุศล ให้เพิ่มพูนทวีขึ้นอีก ก็จำเป็นจะต้องมีการรักษาศีล มีการอบรมสมาธิภาวนา นี้เป็นหลักย่อๆ <DD> <DD>เราทั้งหลาย ไม่ควรมองข้ามว่า การภาวนาเป็นธรรมชั้นสูง แล้วเรามุ่งมั่นแต่ภาวนาอย่างเดียว เพื่อให้พ้นทุกข์ ถ้าหากไม่มีฐานรองรับแล้ว ถ้าหากไม่มีศีลเป็นเครื่องรองแล้ว ภาวนาก็ยากที่หมดจดบริสุทธิ์ ยากที่จะสมบูรณ์ บริบูรณ์ <DD> <DD>เพราะเหตุใด? เพราะถ้าเราไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมวาจาแล้ว จิตใจของเราก็สะอาดได้ยาก สงบได้ยาก บริสุทธิ์ได้ยาก เพราะกายก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะกระทบกระเทือนไปถึงจิต วาจา คำพูดของเรา ถ้าเราไม่สำรวมระวังที่เรียกว่า รับศีลแล้ว คำพูดเหล่านั้น ไปทำลายความสงบ ไปทำลายความสะอาด ทำลายความบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น บางคนพยายามที่จะภาวนา อยากให้พ้นทุกข์ อยากจะให้ได้โลกุตตระภูมิ อยากจะได้พระนิพพาน แต่พอเลิกจากการภาวนาแล้ว ไม่มีการสำรวม ไม่มีการระวัง ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ เข้าได้กับพวกชุมนุมชนทุกอย่าง เวลาได้รับทุกข์โทษขึ้นมาแล้ว ก็มาภาวนา พุทโธ พุทโธ เพียง 30 นาที 40 นาที ให้ได้พระนิพพาน เป็นไปไม่ได้ เหตุกับผลไม่ตรงกัน ไม่เท่าเทียมกัน<DD> <DD>เพราะเหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงพยายามมีทั้งทาน มีทั้งศีล มีทั้งภาวนาสมบูรณ์ บริบูรณ์ <DD> <DD>ส่วนทานนั้น นับตั้งแต่บริจาควัตถุภายนอก ข้าวของเงินทอง ที่หามาได้ด้วยความสุจริต ตลอดถึงสละเรี่ยวแรงกำลังวังชา ช่วยเหลือสงเคราะห์ ขวนขวายในกิจการงาน ที่ให้เกิดผล เกิดประโยชน์ <DD> <DD>ตัวอย่างเช่น เรามาสร้างวัด สร้างวา เหล่านี้เป็นต้น ปรากฏขึ้นมา เราลงทุนลงแรง ทั้งวัตถุ ทั้งข้าวของ ทั้งทรัพย์เหล่านั้น ทั้งร่างกายของเรา ก็เสียสละ เสียสละความสนุกสนาน เสียสละความสะดวกสบาย ถ้าหากว่าเลิกงานแล้ว ถ้าหากเรามานั่งดูโทรทัศน์ นอนตามลำพัง นี่ก็ได้รับความสบาย ถือว่าเป็นความสุข โดยทางที่ดูเผินๆ เราก็เสียสละความสุขนั้นๆ อุตส่าห์เข้ามาวัด เข้ามาฝึกหัด เข้ามาอบรม มาประพฤติปฏิบัติ นี้ก็เป็นการเสียสละเหมือนกัน บางวันก็มีกิจการงานจำเป็นจริงๆ เราก็เสียสละผลประโยชน์ รายได้ ลาการลางานออกมา การค้า การขาย ก็ปิดร้าน มาเสียสละส่วนนั้นเสีย แต่เราก็ไม่ขาดทุน เราปิดทางหนึ่ง แต่ก็มาเปิดรายได้ เรียกว่า อริยทรัพย์ คือมาจำศีล มาภาวนา ไหว้พระสวดมนตร์ภาวนา นี้ก็เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ เป็นกำลังทางจิตใจ หรือจะพูดแบบให้ทันสมัย ก็เรียกว่า อาหารทางใจ ส่วนเงินทองนั้น อาหารทางกาย เราได้มาทำนุบำรุง <DD> <DD>บางคนผู้ฉลาด พอมีอาหาร พอบำรุงร่างกาย พออยู่ได้แล้ว เขาก็แบ่งเวลาหาอาหารทางใจ คือ ธรรมะ เรียกว่า ภาวนา <DD> <DD>เพราะฉะนั้น การภาวนานี่ ทำใจของเราให้มีกำลังในทางความสะอาด ในทางความบริสุทธิ์ ในทางความสงบ แล้วเป็นเหตุให้เกิดความสุข ตามลำดับต่อไป เพราะใจของเรา ถ้าสะอาดหมดจดแล้ว อาจจะมีผลตลอดถึงร่างกายของเรา ก็สะอาดในกายกรรม การกระทำใดๆ ก็ย่อมไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีสิ่งที่เป็นโทษติดตัว ตามให้ใจมัวหมองต่อไปอีก การพูดใดๆ ที่จิตใจสะอาดแล้ว คำพูดเหล่านั้น ก็ล้วนแต่เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ มีคุณต่อเรา และมีคุณต่อผู้ฟัง เป็นคำที่สะอาด หมดจด บริสุทธิ์ ให้เกิดผล ห่างจากเวร จากภัย ให้ได้มาซึ่งความสงบสุข คำพูดที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ที่เราเห็นชัดสิ้นสงสัยนี้ คือ คำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระองค์ปรินิพพานไปนานถึง ๒๐๐๐ กว่าปีแล้ว คำพูดของพระองค์ยังกึกก้องอยู่ในโลก มีคุณค่าอันสูง เป็นสรณะที่พึ่งของเราทั้งหลาย คำพูดของพระองค์นั้นก็คือ ได้แก่พระธรรมคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงแสดงตรัสไว้ดีแล้ว เรียกว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธฺมโม พระธรรมที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เราหยิบยกมาพิจารณา คำว่า ดีแล้ว ถ้าเราสอดส่องให้เข้าใจลึกซึ้งแล้ว เราก็สามารถถือเอาประโยชน์ เป็นเหตุให้เกิดศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส เป็นอาหารทางใจได้อย่างสำคัญยิ่ง เกิดศรัทธาเลื่อมใสในธรรม คำสอนของพระองค์ ว่ามีผล มีประโยชน์แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ เราก็ไม่เป็นผู้หิวโหย ได้รับความสุข ไม่หิวโหยทางจิตใจ เราก็สมควรที่จะนำอาหารเหล่านั้นมาบริโภค บำรุงจิตใจของเรา ให้อิ่มหนำสำราญ ให้สมบูรณ์ บริบูรณ์ในธรรมนั้นๆ เราก็พยายามตั้งใจศึกษา ปฏิบัติ ถ้าเราเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว การปฏิบัติไม่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยเพราะการประพฤติธรรมนั้น เป็นงานที่ละเอียด เท่านั้นเองที่เรียกว่ายาก แต่งานที่ละเอียดนี้ ถ้าเราเข้าใจแล้ว ไม่ต้องแบก ไม่ต้องหาม ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องขาย ไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลย ล้วนแต่มีแล้ว อยู่ในตัวของเราทั้งนั้น <DD> <DD>ธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงสอน ไม่ใช่ว่าไม่มี พระองค์สอนให้สำรวมกาย กายของเรามีแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มี เพียงแต่เรามีสติ ระลึกสำรวมเท่านั้น พระองค์สอนให้สำรวมวาจา คำพูดของเราก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่เรามาเลือกพูดคำที่เกิดประโยชน์ ให้ได้รับความสงบ ความเย็นใจแก่ตัวเราเอง ส่วนภาวนาทางจิตใจของเราก็มี แล้ว สติเครื่องระลึกก็มีแล้ว ความรู้ตัวก็มีอยู่ทุกๆคน ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่เราขาดการประกอบ คือ เจริญ เพราะฉะนั้น ธรรมะส่วนไหนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราสอนให้เจริญ เราก็ควรเจริญ เช่นว่า สติควรเจริญ ควรระลึกเสมอๆ เหมือนว่า กายคตาสติ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เราพิจารณากายในกาย <DD> <DD>พิจารณาเพราะเหตุใด? ถ้าเราไม่พิจารณา เราก็มีความหลง สำคัญผิด เข้าใจผิด เพราะเราไม่ได้พิจารณา เพราะความเข้าใจผิดนี้เอง เราทั้งหลายจึงไม่พ้นจากทุกข์ จึงเวียนว่ายตายเกิด รับความกระทบกระเทือนแสนสาหัสตลอดเวลา ตลอดปี ตลอดเดือน กระทบกระเทือนอยู่เสมอ ไม่มีสิ่งไหนที่ทำให้เราสมหวังสักอย่าง เรามีความปรารถนาในอนาคตอยู่เรื่อยไป แต่ก่อนเมื่อเรายังเป็นเด็ก เป็นเด็กเล็กอยู่ นึกว่าโตขึ้นมาเราก็จะมีความสุข พอโตขึ้นมาแล้วหาความสุขไม่ได้ ไม่ทราบว่าหายไปไหน ที่เราหวัง เราก็ปรารถนาขอให้เรียนสำเร็จก่อน เราก็มีความสุข พอเรียนสำเร็จไปแล้ว ก็ยังไม่มีความสุข ต้องหางานทำ หาการหางานทำได้แล้ว ก็ยังไม่เป็นความสุข ต้องรับจ่ายเงินทองข้างของ อยู่กิน ใช้บริโภค นุ่งห่ม เรามาบริโภคได้อิ่มครู่หนึ่ง ก็หิวแล้ว ต้องไปหากินอีก ได้เครื่องใช้สอยมา เดี๋ยวก็อันนั้นหมด อันนั้นสิ้นไป ความสุขอยู่ที่ไหนเล่า? เมื่อมันหมดอยู่ตลอดเวลา มันหายไป อยู่ตลอดเวลา มันรั่วไหลอยู่ตลอดเวลา <DD> <DD>ความสุขของเรา เมื่อไหร่ล่ะมันพอ เมื่อสิ่งเหล่านั้นรั่วไหลไปหมดแล้ว ความสุขมันก็หมดไปตาม <DD> <DD>เพราะฉะนั้น ความสุขที่เกิดขึ้น อาศัยอามิส อาศัยวัตถุ ที่พระพุทธเจ้าว่าเป็นความสุข ไม่ควรมั่นใจ ไม่ควรถูกใจ ว่าเราได้ความสุขแล้ว ไม่ควรไปอิ่มในจิตในใจ เพราะมันหมดไปอยู่ตลอดเวลา <DD> <DD>พระพุทธเจ้าจึงสอนไม่ให้ประมาทให้มีสติพิจารณาอยู่เสมอตลอดเวลา ให้เกิดความรู้ตัว ตัวเรานี้มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจะพึ่งสิ่งนี้ให้เป็นความสุขที่มั่นคงแท้แน่นอนไม่ได้ ส่วนความสุขที่มั่นคงนั้น เกิดขึ้นอาศัยเหตุคือ ปัญญา ถ้าเราสามารถอบรมจิตใจด้วยจิตตภาวนา สร้างปัญญาให้เกิดขึ้น ธรรมะอันเป็นของจริงอย่างประเสริฐ ที่เรียกว่า สัจจธรรม เป็นของที่มั่นคงแล้ว จิตใจของเราก็จะได้ถึงสภาพแห่งความมั่นคง สภาวะแห่งธรรมอันมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง มีอยู่ประจำ อยู่ตลอดเวลา ไม่มีหิว ไม่มีโหย ไม่มีทุกข์ ไม่มีอยาก ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย เมื่อถึงสภาวะแห่งความจริงอยู่ตลอดเวลา อยู่อย่างนั้น <DD> <DD>เพราะเหตุนั้น เราท่านทั้งหลาย ความสุขที่เรามุ่งมั่นด้วยอามิสนั้น ตามหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้ค้นพบและพระองค์ปฏิบัตินำพร่ำสอนเรามานี้ เป็นธรรม สวากขาโต พระองค์กล่าวดีแล้ว กล่าวถูกถ้วนแล้ว ไม่มีผิด <DD> <DD>ถ้าเราตรวจตาม ส่องตาม เราสามารถรู้ได้ด้วยสติปัญญา ธรรมนี้แหละ ไม่ใช่จิตได้อริยภูมิแล้ว จึงจะรู้ มันต้องรู้ก่อน แล้วจึงได้สำเร็จมรรคผล ไม่ใช่สำเร็จแล้วจึงรู้ ต้องรู้ก่อน ต้องเห็นก่อน ต้องมีความสงบก่อน ต้องมีความสุขก่อน จึงจะได้ <DD> <DD>เพราะฉะนั้น เราทั้งหลาย หนทางอันใดเป็นไปเพื่อความระลึก เป็นไปเพื่อความรู้ เป็นไปเพื่อความสงบ เรียกว่า อุปสมะ เป็นไปเพื่อความสงบก็ดี เป็นไปเพื่อสมาธิตั้งมั่นก็ดี สิ่งเหล่านี้แหละ เราควรเจริญ ควรปฏิบัติ ให้มีขึ้นในตัวของเรา ให้เกิดความรู้สึกว่า เราได้เจริญเต็มที่ ธรรมะเหล่านี้มีอยู่ในจิตใจ จิตใจของเราก็อิ่มอยู่ในธรรม <DD> <DD>เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เป็นอาหารประจำวันในจิตใจของเรา จิตใจของเราไม่ได้ต้องการข้าว น้ำ โภชนา อาหารอย่างอื่น ต้องการธรรม คือ ความจริงที่เกิดขึ้นจากเราฝึกฝน อบรม ที่เราเจริญสติ เจริญปัญญา ให้สามารถรู้เห็นความจริงแล้ว เราก็จะได้ที่พึ่งอันประเสริฐ ที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งอันอุดมสูงสุด <DD> <DD>เพราะฉะนั้น เราทั้งหลาย ที่ได้ตั้งใจมุ่งมั่นเข้ามา เพื่อจะปฏิบัติ ฝึกหัด อบรม สะสมอาหารทางจิตใจ เราได้ตั้งใจถูกทางแล้ว เพราะใจนี้ ถ้าหากว่าฝึกฝนดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาจริงๆ แล้วก็สมบัติทางจิตใจนั้นไม่บกพร่อง ไม่เคยเสื่อมสูญ ใช้เท่าไรไม่เคยหมด <DD> <DD>ตัวอย่างเหมือนกับเราเป็นอาจารย์หรือเป็นอาจารย์ ไม่ว่า อาจารย์ทางสอนวิชาใดๆ ก็ตาม จะเป็นวิชาหมอก็ตาม วิชาบัญชีก็ตาม วิชาวิทยาศาสตร์ใดๆ ก็ตาม ไม่เคยพบว่า ความรู้ของอาจารย์หมดไป หมดไปเพราะให้แก่ลูกศิษย์ เราใช้มาจนเด็ก จนใหญ่ จนตายไปแล้ว ก็ยังไม่หมด ยังมีอยู่ไม่เคยบกพร่อง ยิ่งใช้เท่าไรยิ่งฉลาด ยิ่งคล่องแคล่ว ยิ่งว่องไว นี้แหละ เราเปรียบเทียบอย่างนี้แหละ เราเห็นได้ อ้อ! ทรัพย์ทางใจนี้ เป็นสิ่งที่ใช้ไม่หมด <DD> <DD>เพราะฉะนั้น ทางโลกเห็นอำนาจทรัพย์ทางใจ จึงทุ่มเท เสียเงิน เสียทอง ให้ลูก ให้หลานศึกษาเล่าเรียน ความรู้ทางจิตใจ ถึงแม้เงินทองหมดไปก็ตาม ถ้าได้ความรู้ฝังไว้ในใจ เราก็ได้รับความพอใจ เพราะว่า เขาสามารถจะใช้วิชาความรู้ของเขา ผลออกมาอย่างสมบูรณ์ บริบูรณ์ไม่หมดสิ้น ถ้าเขาไม่มีธรรม ไม่มีทรัพย์สมบัติทางจิตใจแล้ว ให้เงินสักกี่ล้าน สักกี่โกฏิ มันก็หมด ไม่อยู่ไปตลอดชีวิต ใช้ไม่กี่ปีก็หมด เสื่อมสูญ ได้รับความทุกข์ เดือดร้อน ตามมาภายหลัง เราเปรียบเทียบภายนอก แม้สมบัติ จิตใจ ในทางวิชาการ ทางโลก ยังมีประโยชน์เกื้อกูลในทางโลก ส่วนสมบัติทางจิตใจ ที่เรียกว่า ธรรม ที่เรียกว่า อมตธรรม คือ ธรรมที่ใกล้ตายแล้ว มันจะเปลี่ยนได้อย่างไร ? ต้องเป็นธรรมะที่จริงอย่างประเสริฐ มั่นคง แล้วเราก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องอาศัยสมบัติทางโลกอีกสมบัติ ทางธรรมมันมีสมบูรณ์ บริบูรณ์แล้ว <DD> <DD>เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทั้งหลาย พยายามฝึกหัดอบรม ทำสมบัติทางจิตใจ คือ สมาธิ ภาวนาให้จิตใจผ่องใส สะอาดหมดจด ถึงสภาพแห่งความสุขที่แท้จริง รู้ความเป็นจริงแล้วนั่น เราจะถึงสภาวะธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยิน ได้ฟังแล้ว พากันกำหนด จดจำ นำมาอบรมจิตใจของเรา ให้ได้มาซึ่งความเอิบอิ่มไปด้วยธรรม การยินดีในธรรมชนะเสียซึ่งความยินดีทั้งปวง รสแห่งพระสัจจธรรม ชนะเสียซึ่งรสทั้งปวง <DD> <DD>เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลาย ควรให้ได้ชิมรสของพระสัจจธรรม ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งชนะสิ่งทั้งปวงได้ <DD> <DD>ต่อไปนี้ จะหยุดการบรรยาย ตั้งใจปฏิบัติตาม สมควรแก่เวลา จึงค่อยเลิกกัน </DD><DD> </DD><DD> </DD>​
    คัดจากหนังสือ "ธรรมลังการ" พิมพ์เนื่องในโอกาสหลวงปู่เจริญอายูครบ ๘๑ ปี เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓

    http://goldfish.wimutti.net/tesana/ajsuwat05.html
     
  2. โสภา จาเรือน

    โสภา จาเรือน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    2,013
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,332
    อนุโมทนาสาธุบุญ


    ละความชั่วด้วยศีล ทำความดีด้วยทาน จิตเบิกบานด้วยภาวนา
     
  3. wara43

    wara43 ทีมผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 เมษายน 2006
    โพสต์:
    9,108
    ค่าพลัง:
    +16,130
    [​IMG]ขอกราบโมทนาสาธุครับ สาธุ...
     

แชร์หน้านี้

Loading...