อธิปไตย ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]ท่านพ่อลี ธัมมธโร[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table> <center> อธิปไตย </center>
    อธิปไตย ความปรารภรำพึงของคนในโลกนี้ มี ๓ ประการ คือ ๑. ธรรมาธิปไตย คือ ข้อปฏิบัติที่จะให้บุคคลพ้นไปจากความทุกข์
    ๒. โลกาธิปไตย ปรารภโลกเป็นใหญ่
    ๓. อัตตาธิปไตย ปรารภตนเป็นใหญ่
    โลกาธิปไตยและอัตตาธิปไตยทั้ง ๒ นั้น เป็นทางซึ่งจะนำบุคคลไปสู่ความทุกข์ ความไม่สมหวัง ฉะนั้นจึงควรศึกษาในธรรม ๓ ประการนี้ให้เข้าใจว่า ให้คุณและโทษแก่ผู้ปฏิบัติธรรมอย่างไร
    โลกาธิปไตย คือ การปรารภโลกเป็นใหญ่ เรื่องของโลกนั้น ไม่มีสิ่งใดเป็นของแน่นอนเลย ลองพากันคิดดูซิว่า ตั้งแต่ตัวเราเกิดมาในโลก แต่จำความได้จนบัดนี้ สิ่งที่ผ่านมาแล้วในชีวิตนั้นมีอะไรบ้างที่เป็นของดีที่สุด? สบายที่สุดสำหรับตัวเรา? และอะไรเป็นสิ่งที่เราชอบที่สุด? ถ้าจะตอบแล้วก็จะต้องบอกได้ว่า สิ่งที่สมใจในโลกนี้มีอยู่เพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมใจเสีย ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าจะให้เจ้าของตอบเองแล้ว ก็จะตอบว่า ไม่มีอะไรสมใจเลย ! มีแต่ความทรมานใจทั้งนั้น มีเพื่อนก็เบียดเบียนเรา มีทรัพย์ก็เดือดร้อนมีเงินทองก็เป็นทุกข์ หมู่คณะก็ไม่เป็นไปตามใจเราคิด ญาติพี่น้องลูกหลานก็มีแต่ความวุ่นวาย รวมความแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเป็นสุขแก่ตัวเราเลย มีเงินก็ร้อน มีเพื่อนก็ทุกข์ หมู่คณะก็ไม่ราบรื่นชื่นบาน นี่แหละกระแสของโลกมันเป็นอย่างนี้
    โลกนั้นมันมีอยู่ถึง ๘ เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมล้วนแต่มีความกล้า สามารถห้ำหั่นเชือดเฉือนชีวิตมนุษย์ให้วอดวายไปได้อย่างไม่ปรานีเลย ฉะนั้นดวงจิตของผู้ใดไหลไปตามกระแสของโลกแล้ว ก็จะมีแต่ความทุกข์ร้อนโศกเศร้า
    “ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”
    ท่านจึงกล่าวว่า จิตของผู้ใดพ้นไปจากโลกธรรมได้ ผู้นั้นก็จะพ้นจากความโศก มีความเกษมสำราญผ่องแผ้ว มีมงคลอยู่เป็นนิจ
    เหลี่ยมของโลก ๘ เหลี่ยมนี้ ก็คือ เหลี่ยมลาภ เหลี่ยมยศ เหลี่ยมสุข และเหลี่ยมสรรเสริญ ด้านหนึ่งทั้ง ๔ เหลี่ยมนี้เป็นเหลี่ยมที่มีคมกล้ามาก เพราะเป็นสิ่งที่เราพึงพอใจ เราก็ลับมันบ่อยๆ ยิ่งลับมันก็ยิ่งคมกล้าขึ้นทุกที ในที่สุดมันก็กลับมาเชือดคอตัวเราเองตายเลย อีกด้านหนึ่งก็มีอยู่ ๔ เหลี่ยมเหมือนกัน แต่มันไม่ค่อยคมนัก ที่มันทื่อนั้น ก็เพราะเราไม่ชอบใช้มัน ไม่ต้องการมัน จึงไม่ใคร่ลับมัน จึงเป็นเหลี่ยมทื่อๆ ไม่คมไม่กล้ามีดเล่มใดไม่คม มีดเล่มนั้นก็ฆ่าคนไม่ตาย เหลี่ยม ๔ เหลี่ยมนี้ ก็คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ทุกข์ นินทา สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่มีคนปรารถนาทั้งสิ้น แต่มันก็ต้องมีอยู่ในโลก
    เหลี่ยมคนนั้นมันคมอย่างไร? “ยโส” คือ เหลี่ยมยศ เกียรติ เมื่อใครได้ไปประดับตัวเข้าแล้ว มันทำให้คนนั้นพองตัวโตมากกว่าตัวจริง ไม่ต้องดูอื่นไกลดอก อย่างพระสงฆ์เรานี่แหละ เมื่อยังเป็นพระเล็กๆน้อยๆธรรมดาอยู่ ก็เดินไปไหนมาไหนได้สะดวกคล่องแคล่วไปตามถนนหนทาง ซอกเล็กซอกน้อยที่ไหนๆก็เดินไปได้ตามสบายใจ แต่พอเขาเอายศมาสวมเข้าหน่อยเท่านั้น ตัวชักจะใหญ่ผิดธรรมดาเสียแล้ว ถนนที่เคยเดินได้ก็แคบไป จะเดินไปไหนก็ไม่สะดวก ขาก็ใหญ่ก้าวไม่ออก เท้าก็หนักยกไม่ขึ้น ก้นก็ใหญ่กว่าที่นั่ง จะนั่งที่ไหนก็ไม่เหมาะ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนไปดอก ที่ไม่เป็นดังนี้ก็มี หรือ ฆราวาสบางคนพอไปโดนเหลี่ยมยศนี้เข้า ตัวก็พองใหญ่ขึ้นมา จนไปไหนเกือบไม่รอด มือก็หนักจนจะยกไหว้พระก็ไม่ค่อยขึ้น ขาก็ใหญ่ เดินไปวัดไปวาฟังเทศน์รักษาศีลก็มาไม่ได้ เพราะกลัวเหลี่ยมจะเสีย คมจะร่อย นี่ก็เป็นเครื่องประหารความดีของตนเหลี่ยมหนึ่ง
    เหลี่ยมลาภ นั้น ก็ได้แก่โภคทรัพย์ เงินทอง พอมีมากเข้าชักเกิดความตระหนี่เสียดาย จะทำบุญให้ทานก็ไม่กล้าทำมาก เพราะกลัวมันจะหมด เหตุนั้นคนรวยมักจมอยู่ในลาภและขี้เหนียว ส่วนคนจนทำหมดแล้วก็หาใหม่ ทำบุญทำทานไม่ใคร่เสียดาย มือไม้แขนขาก็ไม่ใหญ่โต ไปวัดวาได้คล่องแคล่ว สะดวกง่ายไม่ติดขัด
    เหลี่ยมสุข เหลี่ยมนี้ก็คมมาก คือสุขเกิดจากไหนแล้วติดอยู่นั่นแหละ เช่น สุขเกิดจากเพื่อนก็ติดอยู่ในเพื่อน สุขเกิดจากลูกหลานก็ติดอยู่ในลูกหลาน สุขเกิดจากอัตภาพร่างกาย คือ เที่ยวเตร่ กิน นอน ฯลฯ ก็จมอยู่ในอัตภาพร่างกาย ไม่ยอมเสียสละความสุขเพื่อแลกกับความดี เพราะกลัวความสุขมันจะหลุดร่วง ก็เป็นห่วงเป็นใย จะไปรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ก็ทำไม่ได้ เพราะมันต้องข่มเหง บีบบังคับตัวเอง จะอดข้าวเย็นวันเดียวก็กลัวหิวกลัวเป็นลม จะดูหนังดูละครก็ไม่ได้ ไม่ได้นอนเบาะนอนฟูกก็เจ็บตัวไม่สบาย จะทำสมาธิก็กลัวเมื่อยเหลี่ยมนี้ก็เป็นเครื่องประหัตประหารความดีของตน เหลี่ยมหนึ่ง
    เหลี่ยมสรรเสริญ ก็คมกล้าเช่นเดียวกัน เมื่อใครถูกสรรเสริญเยินยอเข้าแล้ว ตัวมันก็ชักจะลอยจนไม่ใคร่ลง ฟังคำสรรเสริญก็เพลิดเพลินหวานหูจับใจจนลืมตัว หลงตัวนึกว่าตัวดีพอแล้ว ก็ไม่คิดขวนขวายที่จะทำความดีอย่างอื่นต่อไป
    เหลี่ยม ๔ เหลี่ยมนี้ ล้วนเป็นเครื่องประหารตนเองให้เสื่อมจากความดีทั้งสิ้น เพราะความสุขอย่างนี้มันเหมือนกับสีที่เขาฉาบทาบ้านให้สวยๆงามๆ มันเป็นอามิสซึ่งอาศัยชั่วคราว แล้วก็จะต้องเสื่อมไป กระเทาะไป หลุดร่วงไป ถ้าใครมาแลเห็นสิ่งเหล่านี้ว่า มันเป็นเครื่องประดับอยู่ตามถนนหนทาง อย่าให้มาติดตัวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใครมายึดถือว่าเป็นของๆตนจริงๆจังๆ ก็จะต้องได้รับความไม่สมหวังในวันหนึ่ง คือ การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ทุกข์ นินทา เพราะกฎธรรมดาก็มีอยู่ว่า ของสิ่งใดที่มันเจริญขึ้นเท่าใด ก็ต้องมีความเสื่อมได้เท่านั้น ไม่เสื่อมเมื่อเป็น ก็เสื่อมเมื่อตาย มันคงที่อยู่ไม่ได้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก
    เมื่อเรารู้ความจริงอันนี้ คราวประสบเหลี่ยมดีก็ไม่ควรดีใจจนลืมตัว และเมื่อประสบเหลี่ยมชั่วก็ไม่ควรท้อแท้เสียใจจนใจเสีย ธุระหน้าที่ของเราที่เคยทำอย่างไร ก็ต้องทำไปตามหน้าที่ ไม่ควรปล่อยความดีของตนให้เสียไปเพราะโลกธรรม ๘ อย่างนี้ ซึ่งท่านเรียกว่า “โลกาธิปไตย”
    “อัตตาธิปไตย” ปรารภตนเป็นใหญ่คือ ตนเห็นอย่างไร ชอบใจอย่างไร ก็ทำไปอย่างนั้น การทำทางกายก็ไม่ได้นึกถึงความผิดความถูก ทำไปตามชอบใจของตน จะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม มิได้คำนึงถึงความผิดความถูก เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ชอบใจแล้วก็ทำไป ทางวาจาตนเห็นดีพอใจก็พูดตามความชอบใจของตน จะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมมิได้คำนึงถึง ทางจิตความคิดของตนแล่นไปในอารมณ์อันใด เรื่องอันใดที่ตนชอบก็ปล่อยไปตามเรื่องของตน ไม่ได้คำนึงถึงความดีความชั่วผิดถูกในทางอันเป็นธรรม ขึ้นชื่อว่าชอบใจทำได้ทั้งนั้น เช่นเราเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ดี คนอื่นเขาไม่ชอบ แต่เราชอบใจเราก็จะทำ บางทีสิ่งที่ดีแต่เราไม่ชอบ เราก็ไม่ทำบางทีเราชอบใจและเห็นว่าดีด้วย แต่เราไม่ปฏิบัติ สิ่งที่ดีนั่นแหละแต่เราทำไม่ได้ ในเรื่องของธรรมะแล้ว เราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ต้องข่มหัวใจให้มันทำให้ได้ ต้องเอาธรรมมาเป็นชีวิต เอาชีวิตมาเป็นธรรม จึงจะใช้ได้ผู้ปฏิบัติจะต้องทิ้ง “อัตตาธิปไตย” อย่านำมาใช้กับตนเป็นอันขาด
    “ธรรมาธิปไตย” ปรารภธรรมเป็นใหญ่นี้เป็นหลักสำคัญของผู้ปฏิบัติ หลักหน้าที่ของพุทธมามกะ ก็คือ ๑. บำเพ็ญตนให้อยู่ในศีล ๒. บำเพ็ญใจให้อยู่ในสมาธิ ๓. ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่ในธรรม ไม่ลุอำนาจแก่กิเลส
    ศีลเบื้องต่ำ “เหฏฐิมศีล” คือ รักษากายวาจาใจไม่ให้เป็นบาปอกุศล ได้แก่การรักษาศีล ๕ ซึ่งชำระมลทิลโทษหยาบๆ ทางกาย วาจา เป็นศีลที่ทำสัตว์ ให้เป็นคน ไม่ให้ตกไปในอบาย ศีลกลางทำคนให้เป็นเทพเรียกว่า “มัชฌิมศีล” เป็นศีลของเทพยดา ได้แก่การสำรวมอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดโทษ เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ “อินทรียสังวรศีล” ทำคนให้เป็นเทวดา แต่ก็ยังไม่พ้นจากการเกิดตาย เพราะเทวดานั้นเมื่อหมดบุญแล้วก็ต้อง “จุติ” กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ยังต้องเวียนว่ายอยู่ใน “วัฏสงสาร” ผู้ใดที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะท่านย่อมเรียกว่า “สัตว์” ทั้งสิ้น อย่างคนเรานี้ท่านก็เรียกว่า “สัตวมนุษย์” คำว่า “สัตว์” แปลว่าผู้ข้องอยู่ในความดีความชั่ว “ข้อง” แปลว่า “ติด” หรือ “ขวาง” สัตว์ที่มีกายขวางท่านจึงเรียกว่า “เดียรัจฉาน” สัตว์เดียรัจฉาน ถ้าผู้ใดทำจิตของตนให้พ้นจากความชั่วเสียได้ ผู้นั้นก็ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นสัตว์เป็นมนุษย์และเทวดา ตายไปแล้วก็ไปอยู่พรหมโลก ซึ่งท่านเรียกว่า “พรหม” มีกายเป็นทิพย์ ไม่ต้องมีรูปหยาบ ได้แก่ผู้ที่เจริญสมาธิภาวนา ละความชั่วทางใจ ได้ถึงฌานสมาบัติชั้นอนาคา ต่อจากนี้ไปก็เจริญจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากอาสวกิเลส เข้าถึงอรหัต บรรลุถึงพระนิพพานเป็นที่สุด
    เหฏฐิมศีล เป้นเครื่องปกปิดทางกาย วาจา ไม่ให้อกุศลกำเริบ มัชฌิมศีล เป็นเครื่องปกปิดรักษาอายตนะทั้ง ๖ ได้ให้สะอาด ความสะอาดของอายตนะทั้ง ๖ หมายความว่า ไม่ให้มีกิเลส ๓ ตัวกำเริบ ในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนศีลเบื้องสูง ได้แก่ อุปริมศีล (ศีลใน) คือการบำเพ็ญสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้นในทางใจ กล่าวคือ
    ๑. “ปาณาติบาต” ไม่ฆ่าสัตว์ คือไม่ฆ่าตัวเอง เช่น เวลาที่เรามีอกุศลจิตเกิดขึ้น แต่ไม่คอยระวังกำจัดเสีย ปล่อยให้ความชั่วนั้นๆไหลเข้ามา ความดีของตนก็ต้องตาย เพราะดวงจิตของเราข้องอยู่ในความดีความชั่วบางทีก็เอาชั่วมาฆ่าดี บางทีก็เอาดีมาฆ่าชั่ว อย่างนี้เรียกว่า ฆ่าตัวของตัวเอง
    ๒. “อทินนาทาน” บางทีใจมันก็ไปขนเอาความดีความชั่วของคนอื่นเขา มาวิตกวิจารไปในเรื่องของคนอื่น ดวงจิตอย่างนี้เรียกว่า เป็นโจร หรือขโมย เพราะความดีความชั่วของเขา ไม่เคยถามว่า เขาจะหวงจะให้หรือเปล่าก็เก็บมาคิด ไม่มีสาระ เป็นโทษฐานลักขโมย โดยมากมักจะเก็บเอาขี้หมูราขี้หมาแห้ง ชอบเพ่งแต่ความชั่วของคนอื่นเขา แม้เขามีดีอยู่บ้างก็ไม่มองเห็น ถือแต่ความคิดเห็นของตัวเป็นประมาณ กลายเป็นพาลไม่รู้ตัว
    ๓. “กาเมสุมิจฉาจาร” จิตคิดไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ต่างๆ บางทีแช่ดองอยู่ในความโลภ โกรธ หลง อย่างนี้ได้ชื่อว่าผู้นั้นเสพซึ่งกาเมสุมิจฉาจาร คือ จิตไม่บริสุทธิ์ เกี่ยวข้องกังวลอยู่ในกิเลสกาม พัสดุกาม อยู่เสมอ
    ๔. “มุสาวาท” การพูดปด โกหกพกลม ทำไมจึงว่า พกลม? ก็เพราะมันพกเอาแต่ลมเข้ามาไว้ทั้งนั้นไม่มีความสัจความจริงในตัวเลย เช่นไปวัดก็ไปไม่จริง ทำสมาธิก็ทำไม่จริง ตัวไปวัดแต่ใจมันไปอยู่บ้าน หูฟังเทศน์แต่ใจไปนึกถึงสิ่งอื่น บางทีกายมานั่งสมาธิทำความดีเหมือนดังพระพุทธเจ้า ปากก็บริกรรม “พุทโธๆ” แต่ไม่ใช่ “พุทโธ”พระพุทธเจ้า เป็น “พุทโธ”ที่เหมือนกับคนเขามาด่าว่าเสียดสีให้เจ็บช้ำน้ำใจ หรือตกอกตกใจ ก็อุทานขึ้นมาว่า “พุทโธ่ พุทโธ่” กายนั่งสมาธิแต่ใจมันเปิดเปิงไปในอารมณ์ต่างๆ ไปกินอารมณ์อดีตบ้างอนาคตบ้าง ไม่มีเนื้อไม่มีหนัง ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย เป็นการมุสาวาทพูดปด เขาเรียกว่าโกหกตัวเอง และโกหกคนอื่นด้วย โกหกคนอื่นนั้นอย่างไร? คือเวลาที่เรากลับไปบ้าน ใครเขาถามว่า “วันนี้ไปไหนมา?” ก็ตอบเขาว่า “ไปวัดไปฟังเทศน์” กายมันไปแต่ใจมันไม่ได้ไป กายมันฟังเทศน์แต่ใจมันไม่ได้ฟัง อย่างนี้ก็ย่อมจัดว่าเป็นมุสาวาท
    ๕. “สุราเมรยมัชชปมาทฐาน” ความมึนเมาต่างๆ คือ ตัวหลง ตัวเผลอ ตัวขาดสติ เมื่อเราพิจารณากาย, เวทนา, จิต, ธรรม ตามนั้น ใจของเราจะต้องนิ่ง กำหนดอยู่ในสิ่งเหล่านี้จริงๆ จึงจะเป็น “กรรมฐาน” ถ้าเราเผลอสติไป ขาดสัมปชัญญะความรู้ตัว ดวงจิตตกไปสู่ทางผิด คือ “มิจฉาสมาธิ” เดินเปะปะ ไม่ตรงทางเหมือนคนเมาดื่มสุราจัดๆ ก็เซไปหน้ามาหลัง บางทีก็หมอบกลิ้งอยู่ข้างทาง ความเสื่อมเสียก็ย่อมจะบังเกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง
    ผู้ใดมาระมัดระวังใจของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาสมาธิ ทำความบริสุทธิ์ในศีล ๕ ประการนี้ ผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่าบำเพ็ญ สีลปรมัตถปารมี เคารพธรรมเป็นใหญ่กว่าโลกกว่าตัวเอง เป็น ธรรมาธิปไตย สมควรแก่ผู้ปฏิบัติ นี่แหละได้ชื่อว่าเป็น “พุทธมามกะ” อันแท้จริง ซึ่งจะนำตนก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์ทั้งปวง
     

แชร์หน้านี้

Loading...