หลักพระพุทธศาสนา(สำหรับผู้ไม่เคยสนใจมาก่อน)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ยศวดี, 5 เมษายน 2012.

  1. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    โดยหลวงปู่วัย จัตตาลโย


    ผมขอย่อให้เป็นหัวข้อสั้นๆ เพื่อสะดวกแก่การจดจำดังนี้

    ๑. มีบางคนที่ยังไม่เข้าใจพุทธศาสนาดีพอ หรือรู้ยังไม่จริง แต่งหนังสือเรื่องกรรมและเรื่องเกิดใหม่ โดยอาศัยหลักจากลัทธิอื่น มาใส่ทั้งดุ้น แล้วให้ชื่อว่าเป็นหนังสือพระพุทธศาสนาที่แท้จริง เอาสิ่งที่ไม่ใช่พุทธมาเป็นพุทธ จึงเป็นอันตรายกับผู้อ่าน โดยเฉพาะชาวยุโรป อ่านแล้วหลงเข้าใจผิดเรื่องของพระพุทธศาสนา

    ๒. เรื่องกรรม หลักที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และบุคคลผู้ทำย่อมได้รับกรรมนั้น เป็นหลักที่มีมาก่อนพุทธกาล มีอยู่ในทุกศาสนาใหญ่ ๆ จึงจะถือหลักข้อนี้ข้อเดียวเท่านั้น เป็นหลักของพุทธศาสนาไม่ได้ เพราะพุทธศาสนามีพฤติกรรมที่สามารถลบล้างกรรมดี และกรรมชั่วได้โดยเด็ดขาดและเป็นผู้อยู่เหนือกรรมได้ เมื่อปฏิบัติจนบรรลุมรรค ผล นิพพาน (รู้วิธีปฏิบัติอย่างไร จึงจะพ้นกรรม ได้ตลอดกาล พ้นกฎของกรรม พ้นไตรลักษณ์ พ้นโลกทั้งสาม คือ ยมโลก มนุษย์โลก และเทวโลกได้อย่างถาวร จุดนี้ต่างหากที่ศาสนาอื่น ๆ ไม่มี มีแต่พุทธศาสนา)

    ๓. พระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนา พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติให้ผู้ปฏิบัติรู้-เห็นความจริงว่า คน สัตว์ วัตถุธาตุใดๆ ในโลกเป็นไตรลักษณ์ ยึดถืออะไรไม่ได้ หมายความว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ รู้อยู่ สัมผัสอยู่นั้น มันไม่ทรงตัว เป็นเพียงแค่สภาวะธรรม เท่านั้น มันเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่อุปาทานคิดว่ายึดว่าเป็นตัวเป็นตน

    ๔. จุดยากที่สุดของพุทธศาสนา คือ เรื่องไม่มีคน ไม่มีสัตว์ มีแต่ตัวกรรมหรือสภาวะธรรม (กรรม) ที่เคลื่อนไปเป็นไตรลักษณ์ จึงมีผู้สงสัยกันมากว่า เมื่อไม่มีคนแล้ว จะมีการเกิดหรือการตายได้อย่างไรกัน

    ๕. ชาวต่างชาติจึงเขียนตำรา โดยอาศัยหลักพุทธศาสนาที่ได้รับมาผิดๆ (เป็นมิจฉาทิฏฐิ) จึงมาเขียนผิดๆ ตู่คำสอนของพระพุทธองค์ หรือสงสัยทำให้ปฏิบัติไปสู่สีลพตปรามาส เช่น ยึดประเพณี ธรรมเนียม กริยาท่าทาง โดยการวางแบบไว้ตายตัว จนกลายเป็นพิธีหมด ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่มีในพุทธกาลเลย

    ๖. ชาวต่างประเทศและชาวไทยบางคน ยึดคัมภีร์เป็นหลักใหญ่ ไม่เชื่อไม่ไว้วางใจพุทธบริษัทชาวเอเชีย จึงต้องอ่านพระไตรปิฎกทั้งหมด ด้วยตนเองก่อน จึงจะรู้พุทธศาสนา ก็ยิ่งไม่ถูกขึ้นไปอีก เพราะธรรมะแท้จริงนั้นถ่ายทอดกันไม่ได้ทางเสียงหรือทางตัวหนังสือ พวกติดตำราจึงเมาตำรา ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ปริยัติ กลายเป็นงูพิษ ตามอัลลคัททูปมสูตร

    ๗. เรื่องที่เราควรขวนขวายมีเรื่องเดียว คือ เรื่องความดับทุกข์อย่างแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร สมัยพุทธกาลศึกษาปริยัติกันไม่กี่นาที หรือไม่กี่วัน พระพุทธเจ้าทรงแนะหัวข้อธรรมให้ไปปฏิบัติก็เข้าป่าหรือนำไปปฏิบัติให้เกิดมรรคผล บางท่านก็สามารถบรรลุธรรมในทันที ในที่นั่งนั้นเอง หรือเฉพาะพระพักตร์นั่นเอง

    ๘. การบวชมี ๓ อย่าง (ในปัจจุบัน)

    ก) บวชแต่กาย ใจไม่ได้บวชด้วย

    ข) บวชแต่ใจ กายไม่ได้บวชด้วย

    ค) บวชทั้งกายและทั้งใจ

    ในพุทธกาลเขาบวชเพื่อความหลุดพ้นอย่างเดียว

    ๙. อนัตตากับสุญญตา เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ยากที่บุคคลทั่วไปจะพึงเข้าใจได้ถูกและตรง

    ๑๐.อมิตาภะ แปลว่า สิ่งที่มีแสงสว่างอันคำนวณไม่ได้ หรือบางทีเรียก อมิตายุ แปลว่า สิ่งที่มีอายุคำนวณไม่ได้

    ๑๑. แต่พวกนิกายเซ็น แปลอมิตาภะว่า เป็นจิตเดิมแท้อย่างที่เว่ยหล่างเรียก และฮวงโปเรียกว่าความว่าง นิกายเซ็นถือว่าสิ่งที่มีแสงสว่าง ไม่มีประมาณ หรือสิ่งที่มีอายุ คำนวณไม่ได้นั้นไม่มี มีแต่ความว่าง

    ๑๒. ความจริงพุทธศาสนาสอนให้คนเห็นทุกข์ เพราะตราบใดที่คนยังไม่เห็นทุกข์ ก็พ้นทุกข์หรือดับทุกข์ไม่ได้ และสอนให้หาต้นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ แล้วดับที่ต้นเหตุนั้นๆเสีย สรุปว่าให้คนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ได้ โดยที่ใจไม่ทุกข์ตามโลก

    ๑๓. สันติภาพมีในโลกของสัตว์เดียรัจฉานทั่วไป มากกว่าในหมู่มนุษย์

    ๑๔. ความเบียดเบียนที่น่ากลัวที่สุด คือ ความเบียดเบียนตนเอง อารมณ์จิตของเรานั่นแหละ เบียดเบียนตนเองมากที่สุด ร้ายกาจที่สุด (หากคิดดีบุญก็เกิด หากคิดไม่ดีบาปก็เกิด) (อหิงสาเท่ากับความไม่เบียดเบียน)

    ๑๕. ความกลัวของพุทธบริษัทที่แท้จริง คือ กลัวทุกข์ หรือกลัวข้าศึกภายใน (อารมณ์จิตตนเองทำร้ายตนเอง-เบียดเบียนตนเอง อันเป็นภัยใหญ่ยิ่งกว่าภัยใด ๆ ทั้งหมด) โดยเฉพาะก่อนจะตาย หากจิตเบียดเบียนตนเองก็ไปสู่ทุคติ เพราะมีจิตเศร้าหมองหรือมีกิเลส

    ๑๖. ชาวต่างชาติบางคนวิจารณ์ไว้ว่า พุทธศาสนาเป็น negative จึงเท่ากับตู่พุทธศาสนา เพราะเขายังมีอารมณ์ยึดถูกและผิด (positive และ negative) ยึดดี ยึดเลว หรือยึดสมมุติทางโลกอยู่ จิตจึงมีอคติ ๔ (ความลำเอียง ๔) จึงมองไม่เห็นตัวอัพยากฤตธรรม หรือสายกลาง หรืออุเบกขา หรือ อทุกขม สุขเวทนา

    ๑๗. บางคนแปลสุญญตาว่า ความว่างเปล่า เลยจัดพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฏฐิไป คือพวกจัดพุทธศาสนาเป็น negative ความจริงแล้ว positive หรือ negative ถูก-ผิดนั้นเป็นอุปาทานชนิดหนึ่ง ซึ่งทางพุทธให้ละเสีย จึงจะหลุดพ้นได้

    ๑๘. พวกนิกายเซ็นของมหายาน จึงสอนเรื่องจิตว่างห้ามคิด ห้ามปรุง ถือยึดความว่างเป็นของวิเศษ มองกิเลสก็เป็นอนัตตา เพราะจิตว่าง ไม่ใช่ศีล-สมาธิ-ปัญญาฆ่ากิเลส คิดเอาเองว่าความว่างฆ่ากิเลสได้

    ๑๙. หมวดธรรมที่สำคัญๆในพุทธศาสนา เช่น หมวดอริยสัจ, หมวดอริยมรรคมีองค์ ๘, หมวดสิกขาสาม, หมวดไตรลักษณ์, หมวดปฏิจสมุปบาท, หมวดหัวใจพระพุทธศาสนา (โอวาทปาฏิโมกข์) หมวดเหล่านี้ก็ยังมองกันคนละแง่ละมุม ไม่ลงรอยกันเป็นเพราะ

    ก) ถือเอาความหมายของคำนั้นๆผิด

    ข) ถือเอาความหมายบางคำผิด ทำให้ผิดจุดประสงค์เดิมไปเลย (ขาวเป็นดำ-ดำเป็นขาว)

    ค) พวกฉงน สงสัย ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ยิ่งเขียนคำอธิบายเพิ่มเติมมาก ก็ยิ่งไกลความจริงออกไป

    ง) พวกหลงผิดเข้าป่าไปเลย

    จ) แม้อภิธรรมก็เช่นกัน ตัวอย่างหมวดปฏิจสมุปบาท เพราะเขาจับหลักยังไม่ได้ (มีภูมิจิต มีภูมิธรรม หรือบารมีแค่ไหนก็รู้ได้แค่นั้น)

    ๒๐.หลวงปู่วัยสรุปว่า ไม่ต้องไปศึกษาเรื่องอะไร นอกจากเรื่องตัวก ู- ของกู (ท่านหมายถึงให้พิจารณาขันธ์ ๕ หรือร่างกาย หรือสักกายทิฏฐิข้อเดียวพอ แต่ข้อนี้พระพุทธเจ้าเลือกสอนแต่เฉพาะพวกพุทธจริต พวกดอกบัวพ้นน้ำ แล้วหรืออุคคติตัญญูเท่านั้น)

    หมายเหตุ

    ผมได้รับหนังสือเล่มนี้ในงานวันเกิดของหลวงปู่วัยฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้อ่านแล้ว ๓ จบ เห็นว่ามีประโยชน์มากสำหรับพุทธบริษัท จึงได้บันทึกเอาไว้ เมื่อนำมาอ่านใหม่ เมื่อวันที่ ๒ มิ.ย. ๒๕๔๙ เห็นว่ามีประโยชน์มากสำหรับผู้ขี้เกียจอ่านหนังสือ และผู้ที่ยังมีพื้นฐานของพระธรรมในพุทธศาสนาน้อย มีโมหะจริตและศรัทธาจริตสูง คือ เชื่อง่ายโดยขาดปัญญาทางพุทธ สนใจแต่ปริยัติแต่ไม่ค่อยปฏิบัติ จึงยังไม่รู้จริง-รู้ไม่ตรงตามความเป็นจริง ในคำสั่งสอนของพระองค์ ของจริงอยู่ที่ผล มิใช่อยู่ที่ตำรา จึงขอให้ท่านผู้อ่านกรุณาอ่าน แล้วใช้ปัญญาคิดพิจารณาตามธรรมะที่หลวงปู่วัย ท่านเขียนไว้ เมื่อท่านได้ศึกษาตามหลักฐานที่หลวงปู่วัยท่านเขียนไว้เข้าใจแล้ว ท่านก็จะแยกได้ว่า สิ่งใดเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือสิ่งไหนเป็นพุทธ อันไหนเป็นสัมมาทิฏฐิ อันไหนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้ท่านพิจารณาด้วยตัวของท่านเอง ขอให้ผู้อ่านทุกท่านจงโชคดี


    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
    www.tangnipparn.com
    สาธุ สาธุ สาธุ เจ้าคะ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 เมษายน 2012

แชร์หน้านี้

Loading...