หลักธรรมของ พระอจารย์เสาร์ กันตสีโลเถระ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย แดนโลกธาตุ, 6 กันยายน 2006.

  1. แดนโลกธาตุ

    แดนโลกธาตุ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กันยายน 2006
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    7
    ค่าพลัง:
    +23,977
    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="94%" align=center border=0><TBODY><TR><TD class=postbody vAlign=top><HR>
    [​IMG]

    หลักธรรมของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
    วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี

    (1) วิธีระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย

    ...อนึ่ง เมื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ถึงระลึกดังนี้ก็ได้ว่า เพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ลุกโพลงรุ่งเรืองไหม้สัตว์เผาสัตว์ ให้รุ่มร้อนอยู่เป็นนิตย์ในภพทั้ง 3 เลิงกิเลสนั้น คือ ราคะ ความกำหนัดยินดี โทสะ ความเคืองคิด ประทุษร้าย และโมหะ ความหลงไม่รู้จริง

    ราคะ โทสะ โมหะ ทั้ง 3 นี้ ท่านกล่าวว่า เป็นเพลิงเพราะเป็นเครื่องร้อนรนกระวนกระวายของสัตว์ เพลิงทุกข์ นั้นคือ ชาติ ความเกิด คือ ขันธ์ อายตนะและนามรูปที่เกิดปรากฎขึ้น ชรา ความแก่ทรุดโทรมคร่ำคร่า และ มรณะ ความตายคือ ชีวิตขาดกายาแตกวิญญาณดับ

    โสกะ ความเหือดแห้งใจเศร้าใจ ปริเทวะ ความบ่นเพ้อคร่ำครวญร่ำไร ทุกข์ ทนยากเจ็บปวดเกิดขึ้นในกาย โทมนัส ความเป็นผู้มีใจชั่วเสียใจ อุปายาส ความคับแค้นอัดอั้นใจ

    ทุกข์ มีชาติเป็นต้นเหล่านี้ ท่านกล่าวว่าเป็นเพลิง เพราะเป็นทุกข์ให้เกิดความร้อนรนกระวนกระวายต่างๆ แก่สัตว์ เพลิงกิเลส เพลิงทุกข์เหล่านี้ ยกพระพุทธเจ้าเสียแล้วไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งในโลกดับได้ แต่ผู้ที่จะรู้ว่าเป็นเพลิงเครื่องร้อนเท่านั้นก็หายากเสียแล้ว ผู้ที่จะดับเพลิงนั้นจะได้มาแต่ไหนเล่า ก็ในโลกหมดทั้งสิ้นไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งดับได้ จึงพากันร้อนระกระวนกระวายอยู่ด้วยเพลิงหมดทั้งโลก ก็ไม่รู้สึกตัวว่าเพลิงมันไหม้มันเผาเอาให้เร่าร้อนอยู่เป็นนิตย์ เพราะอวิชชาความหลงไม่รู้จริง

    สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งของเราพระองค์ตรัสรู้ชอบตรัสดีแล้วเอง ตรัสรู้แจ้งเห็นจริง ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ของพระองค์ได้แล้ว คือทำให้แจ้งซึ่งกิเลสนิพพานได้แล้ว ทรงสั่งสอนสัตว์ให้รู้ตามเห็นตาม ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ด้วยพระองค์นั้น จึงเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ ประเสริฐกว่าสัตว์ เป็นผู้อัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนักควรเลื่อมใสจริงๆ

    สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม พระธรรมที่เป้นที่พึ่งของเรามีพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ทรงคุณคือดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ของสัตว์ผู้ปฏิบัติชอบ ช่วยให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นได้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน พระธรรมนั้น ท่านทรงคุณ คือดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ได้อย่างนี้ จึงเป็นอัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริงๆ

    สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ พระสงฆ์ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาค ที่เป็นที่พึ่งของเรา ท่านปฏิบัติดีแล้ว ทำให้บริบูรณ์ใน ศีล สมาธิ ปัญญา บรรลุมรรคผลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ดังเลิงกิเลสเลพิงทุกข์ของตนได้แล้ว สั่งวสอนผุ้อื่นให้รู้ตามเห็นตาม ดับเพลิงกิเลสเพลิงทกุข์ได้ด้วย และเป็นเขตให้เกิดบุญเกิดกุศล แก่เทวดา มนุษย์มากมายนัก พระสงฆ์นั้นท่านปฏิบัติดีอย่างนี้ จึงเป็นอัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริงๆ

    เมื่อนึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 3 รัตนะนี้ ตรึกตรองด้วยปัญญา ครั้นเห็นจริงเกิดความเลื่อมในขึ้นแล้ว จะนึกแต่ในใจหรือจะเปล่งวาจาว่า

    อะโห พุทโธ พระพุทธเจ้าที่เป็นที่พึ่งของเรา ท่านทรงคุณคือดับกิเลส เครื่องร้อนใจของสัตว์ได้ นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เป็นอัศจรรย์ น่าเลื่อมใสจริงๆ

    อะโห ธัมโม พระธรรมที่เป็นที่พึ่งของเรา ท่านทรงคุณคือดับกิเลสเครื่องร้อนใจของสัตว์ได้ นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริงๆ

    อะโห สังโฆ พระสงฆ์ที่เป็นที่พึ่งของเรา ท่านปฏิบัติดีแล้ว เป้นเขตบุญอันเลิศ หาเขตบุญอื่นยิ่งกว่าไม่มี เป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริงๆ

    ภาวนาดังนี้ ก็ได้ดีทีเทียว

    อนึ่ง ผู้ใดได้ความเชื่อความเลื่อมในในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 3 รัตนะนี้แล้ว ผู้นั้นได้ชื่อว่าเลื่อมใสแล้วในที่อันเลิศ ผลที่สุดวิเศษเลิศใหญ่ยิ่งกว่าผลแห่งกุศลอื่นๆทั้งสิ้น ย่อม มีแก่ผู้เลื่อมใสใจรัตนะทั้งสามนั้น

    ....อนึ่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้ เป็นรัตนะอันเลิศวิเศษยิ่งกว่ารัตนะอื่นๆหมดทั้งสิ้น ย่อมให้สำเร็จความปรารถนาแก่สัตว์ผู้ที่เลื่อมในได้ทุกประการ เหตุนั้น เราทั้งหลาย จงอุตสาห์นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เกิดความเลื่อมใสทุกๆวันเถิด จะได้ไม่เสียทีประสบพบพระพุทธศาสนานี้


    (2) วิธีเจริญเมตตา

    อนึ่ง เมื่อจะเจริญเมตตา พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า

    สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
    อะเวรา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
    สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
    อะพยาปัชยา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความเจ็บไข้ลำบากกายลำบากใจเลย
    สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
    อะนีฆา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
    สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
    สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น

    เมตตาภาวนานี้ เป็นข้าศึกแก่พยายาทโดยตรง เมื่อเจริญเมตตานี้ ย่อมละพยาบาทเสียได้ด้วยดี เมตตานี้เชื่อว่า เจโตวิมุต เพราะเป็นเครื่องหลุดพ้นจากพยาบาทของใจ มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่กว่าทานและศีลหมดทั้งสิ้น เหตุนั้น เราทั้งหลาย จงอย่าประมาทในเมตตาภาวนานี้เลย อุตสาห์เจริญเถิด จะได้ประสบอานิสงฆ์วิเศษต่างๆ ซึ่งว่ามานี้ เทอญฯ.....


    (3) วิธีเจริญอสุภะ

    อนึ่ง เมื่อจะเจริญอสุภะ พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า

    อัตถิ อิมัสมิง กาเย ของไม่งามเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดมีอยู่ในกายนี้ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
    มังสัง นหารู อัฏฐิ อัฏฐิมิญชัง วักกัง คือ เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
    หะทะยัง ยะกะนัง กิโลมะกัง ปิหะกัง ปัปผาสัง คือ เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด
    อันตัง อันตะคุณัง อุทะริยัง กะรียัง คือ ไส้ใหญ่ สายเหนี่ยวไส้ ราก ขี้
    ปิตตัง เสมหัง ปุพโพ โลหิตัง เสโท เมโท คือ น้ำดี น้ำเสมหะ น้ำเหลือง (หนอง ) น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น
    อัสสุ วะสา เขโฬ สังฆาณิกา ละสิกา มุตตัง คือ น้ำตาม น้ำมันเปลง น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำเยี่ยว

    ผม นั้นงอกอยู่ตามหนังศรีษะดำบ้างขาวบ้าง ขน นั้นงอกอยู่ตามขุมขนทั่วร่างกาย เว้นไว้แต่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บ นั้นงอกอยู่ตามปลายมือ ปลายเท้า ฟัน นั้นงอกอยู่ตามกระดูก คางข้างบน ข้างล่าง สำหรับบดเคี้ยว อาหารชุ่มอยู่ด้วยน้ำลายเป็นนิตย์ หนัง นั้นหุ้มทั่วกาย ผิดนั้นลอกออกเสียแล้วมีสีขาว เนื้อ นั้นมีสีแดงเหมือนกะชิ้นเนื้อสัตว์ เอ็น นั้นรึงรัด รวบโครงกระดูดไว้ มีสีขาว กระดูด นั้นเป้นร่างโครงค้ำแข็งอยู่ในกาย มีสีขาว เยื่อในกระดูก นั้นมีสีขาวเหมือนกะยอดหวายที่เผาไฟอ่อนแล้ว ใส่ไว้ในกระบอกไม้ฉะนั้น เยื่อในขมอง ศรีษะ นั้นเป็นยวงๆ เหมือน กะเยื่อในหอยจุบแจง ม้าม นั้นคือแผ่นเนื้อมีสีแดงคล้ำๆ สองแผ่นมีขั้วอันเดียวกัน เหมือนกะผลมะม่วงสองผลมีขั่วอันเดียวกันฉะนั้น อยู่ข้างซ้ายเคียงกับหัวใจ เนื้อหัวใจ นั้นมีสีแดง สัณฐานดังดอกบัวตูม ตั้งอยู่ท่ามกลางอก ตับ นั้นคือแผ่นเนื้อสองแผ่นสีแดงคล้ำตั้งอยู่ข้างาขาวเคียงเนื้อหัวใจ พังผืด นั้นมีสีขาว เหนี่ยวหนังกับเนื้อ เอ็นกับเนื้อ กรดูกดับเอ็นติดกันไว้บ้าง ไต นั้นเป็นชิ้นเนื้อสีดำคล้ำเหมือนกะลิ้นโคดำอยู่ชายโครงซ้าย ปอด นั้น เป็นแผ่นเนื้อสีแดงคล้ำ ชายเป็นแฉกปกเนื้อหัวใจอยู่ท่ามกลางอก ไส้ใหญ่ นั้นปลายข้างหนึ่งอยู่คอหอย ปลายข้างหนึ่งอยู่ทวารทบไปทบมามีสีขาวชุ่มอยู่ด้วยเลือดในท้อง สายเหนี่ยวไส้ใหญ่ นั้นมีสีขาว ราก นั้นคือของที่กลืนกินแล้ว สำรอก ออกมาเสียฉะนั้น คูถ นั้นคือของที่กินขังอยู่ในท้องเสียแล้ว ถ่ายออกมาฉะนั้น น้ำดี นั้นสีเขียวคล้ำๆ ที่เป็นฝักตั้งอยู่ท่ามกลางอก ที่ไม่เป็นฝักซึมซาบอยู่ในกาย น้ำเสมหะ นั้นมีสีขาวคล้ำๆ เป็นมวกๆ ติดอยู่กับพื้น ไส้ข้างใน น้ำเหลือง (หนอง) นั้น มีอยู่ในที่สรีระมีบาดแผลเป็นต้น น้ำเลือด นั้นมีอยู่ตามขุมขนสในกาลเมื่อร้อนหรือกินของเผ็ด น้ำมันข้น นั้นมีสีเหลืองติดยอุ่กับหนังต่อเนื้อ น้ำตา นั้นไหลออกจากตาในกาลเมื่อไม่สบาย น้ำมันเปลว นั้นเป็นเปลวอยู่ในพุงเหมือนกับเปลวสุกร น้ำลายนั้น ใสบ้าง ข้นบ้าง น้ำมูก นั้นเหลวบ้าง ข้นบ้าง เป็นยวงออกจากนาสิก น้ำไขข้อ นั้นติดอยู่ตามข้อกระดูก น้ำเยี่ยว นั้นเกรอะออกจากรากและคูถ

    อะยะเมวะ กาโย กายคือประชุมส่วนเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด นี้นั่นแหละ อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนตั้งแต่เท้าขึ้นมา อะโธ เกสะ มัตถะกา เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป ตะจะปะริยันโต มันมีหนังหุ้มอยู่ที่สุดรอบ ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เชคุจโฉ ปฏิกกุโล แต่ล้วนเป็นของไม่งาม มีกลิ่นเหม็น ปฏิกูลน่าเกลียดหมดทั้งสิ้น

    อสุภกัมมัฏฐาน (อสุภสัญญา) นี้ เป็นข้าศึกแก่ราคะความกำหนัดยินดีโดยตรง ผู้ใดมาเจริญอสุภะเห็นเป็นของไม่งามในกาย เห็นกายเป็นของไม่งาม ปฏิกูลน่าเกลียด จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่กำหนดยินดี ดับราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรส คือ พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสรรเสริญกายะคตาสติอสุภกัมมัฏฐานนี้ว่า

    "ผู้ใดได้เจริญกายะคตาสตินี้ ผู้นั้น ได้เชื่อว่าบริโภค ซึ่งรส คือ นิพพาน เป็นธรรมมีผู้ตายไม่มี อมตธรรม ดังนี้ นิพพาน นั้นก็ดับราคะ โทสะ โมหะ นั้นเอง เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอย่าได้ประมาทในกายะคตาสตินี้เลย อุตส่าห์เจริญเถิด จะได้ประสบพบพระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง เลิศกว่าธรรมหมดทั้งสิ้น....."


    (4) วิธีเจริญมรณสติ

    อนึ่ง เมื่อจะเจริญมรณสติ ถึงเจริญดังนี้ ก็ได้ว่า
    ชายว่า ธัมโมมหิ มะระณัง อนตีโต
    หญิงว่า มะระณะ ธัมมามหิ มะระณัง อนตีตา
    แปลว่า "เรามีความตายเป็นธรรมดา ล่วงความตายไปไม่ได้แล้ว"

    ความตายนั้น คือสิ้นลมหายใจ กายแตก วิญญาณดับ

    อนึ่ง พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า อะธุวัง ชีวิตัง ชีวิตของเรามันไม่ยั่งยืน ธุวัง มะระณัง ความตายของเรามันยั่งยืน อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง เราคงจะตายเป็นแน่ มะระณะปะริ โยสานัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตัง เม อะนิยะตัง ชีวิตของเรามันไม่เที่ยง มะระณัง เม นิยะตัง ความตายของเรามันเที่ยงแล้ว

    อนึ่ง พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า สัพเพ มะรันติ จะ สัตว์ที่ตายอยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี มะริงสุ จะ มะรันติ จะ สัตว์ที่ตายอยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี มะริงสุ จะ มะริสสะเร ที่ตายดับสูญไปแล้วก็ดี จักตายต่อไปข้างหน้าก็ดี ตะถาวาหัง มะริสสามิ เราก็จะตายดับสูญไปเช่นนั้น เหมือนกันนั่นแหละ นัตถิ เม เอตถะ สังสะโย ความสงสัยในความตาย นี้ไม่มีแก่เรา เราไม่สงสัยในความตายนี้แล้ว

    เหตุนั้น เราจงเร่งขวนขวายก่อสร้างบุญกุศลซึ่งเป็นที่พึ่งของตนเสียให้ได้ทันเป็นมีชีวิตอยู่นี้เถิด อย่าให้ทันความตายมาถึงเข้า ถ้าความตายมาถึงเข้าแล้ว จะเสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้ทีเดียว

    ผู้ใดได้เจริญมรณสติ นึกถึงความตายได้เห็นจริง จนเกิดความสังเวชได้ ผู้นั้นย่อมไม่เมาในชีวิต ละอาลัยในชีวิตเสียได้เป็นผู้ไม่ประมาท รีบร้อนปฏิบัติละบาป บำเพ็ญบุญกุศล ชำระตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์ โดยเร็วพลัน เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรั้สสรรเสริญมรณสติที่บุคคเจริญทำให้มากนี้ว่า มีผลานิสงส์ยิ่งใหญ่มากนัก นับเข้าพระนิพพานเป้นธรรมมีผู้ตายไม่มี ดังนี้ มรณสติ มีผลานิสงส์มากอย่างนี้

    อนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งไว้ ให้คิดถึงความตายให้ได้ทุกวันๆมาในอภิณหะปัจเวกขณ์ เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอุตส่าห์เจริญมรณสติ คิดถึงความตายให้เห็นจริงจนเกิดความสังเวชให้ได้ทุกวันๆ เถิด จะได้ประสบผลอานิสงส์ที่วิเศษ เป็นเหตุไม่ประมาทในอันก่อสร้างบุญกุศลซึ่งเป็นที่พึ่งของตน ที่นึกถึง คุณพระรัตนตรัย เจริญเมตตา อสุภะ และมรณสติ ทั้ง 4 อย่างซึ่งว่ามานี้ ท่านกล่าวว่า จตุรารักข์ เพราะเป็นธรรมป้องกันปกครองรักษาผุ้ที่เจริญนั้น ให้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายวิบัติทั้งสิ้นได้ และเป็นทางสวรรค์และนิพพานด้วย เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอุตส่าห์เจริญให้ได้ทุกๆ วันเถิด อย่าให้ขาดได้เลย จะได้เป็นความดี ความชอบ อย่างยิ่งของเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้เทอญฯ.....

    นี่คือ วิธีเจริญ "จตุรารักข์"

    พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นรัตนะ อันเลิศวิเศษยิ่งกว่า รัตนะอื่นๆ หมดทั้งสิ้น ย่อมให้สำเร็จตามปรารถนาแก่สัตว์ผู้เลื่อมใสได้ทุกประการ.....
    </TD></TR><TR><TD> </TD></TR></TBODY></TABLE>
     

แชร์หน้านี้

Loading...