หลักความเชื่อ "กฎแห่งกรรม"

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย J.Sayamol, 21 กุมภาพันธ์ 2009.

  1. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    หลักความเชื่อ "กฏแห่งกรรม" ... โดย ศ.ดร. แสง จันทร์งาม

    องค์ประกอบของกรรมประการที่ 3 คืออะไร

    .......เมื่อมีแรงกระตุ้นใจ (กิเลสหรือคุณธรรม) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ 1 และเจตนาซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ 2 แล้ว ต่อจากนั้นก็เกิดองค์ประกอบที่ 3 ต่อไป
    .......องค์ประกอบที่ 3 ได้แก่ การลงมือกระทำด้วยแรงกระตุ้นของกิเลสและเจตนา ตามปกติคนเราลงมือกระทำ 3 ทางด้วยกันคือ

    .......ทางใจ ได้แก่ การคิด ท่านเรียกว่า มโนกรรม เช่น โกรธขึ้นมาแล้ว (แรงกระตุ้นใจ) อยากให้เขาเจ็บใจ (เจตนา) คิดหาถ้อยคำและวิธีการที่จะด่า ให้เขาเจ็บใจตลอดเวลาที่คิดอยู่ในใจนั้น เขากำลังทำกรรมทางใจหรือมโนกรรมตลอดเวลา

    .......ทางวาจา ได้แก่ การพูด ท่านเรียกว่า วจีกรรม เช่นเมื่อคิดหาคำด่าได้เป็นที่พอใจแล้ว ก็เปล่งเสียงด่าออกมาจริง ๆ

    .......ทางกาย ได้แก่ การลงมือกระทำทางกาย ท่านเรียกว่า กายกรรม เช่นเมื่อด่าเขาแล้ว ยังไม่พอใจยังไม่หายโกรธ จึงลงมือตบตีเขาอีก

    เมื่อเกิดแรงกระตุ้นใจขึ้นมาแล้ว คนเราทำกรรมครบทั้ง 3 ทางทุกครั้งหรืออย่างไร

    .......ไม่ครบทั้ง 3 ทางเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่าง คือ แรงกระตุ้นใจกับพลังใจของแต่ละบุคคล

    .......ถ้าแรงกระตุ้นใจอ่อน เช่นโกรธเพียงเล็กน้อย คิดด่าเขาอยู่ในใจแล้วก็หยุดเพียงแค่นั้น
    .......ถ้าแรงกระตุ้นใจขนาดกลางๆ คิดด่าเขาแล้วยังไม่จุใจ ออกปากด่าเขาจริง ๆ แต่แล้วก็หยุดเพียงแค่นั้น
    .......ถ้าแรงกระตุ้นใจรุนแรงมาก โกรธมา คิดด่า ด่าออกมาจริง ๆ แล้วยังไม่พอใจต้องลงมือตบตีเขาอีก เลยครบทั้ง 3 ทาง

    .......ที่ว่าขึ้นอยู่กับพลังใจนั้น หมายความว่าคนที่ไม่เคยฝึกฝนอบรมจิตใจทางดีงามมาก่อน ไม่มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา หรือมีแต่น้อย เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมามักจะถูกความโกรธเข้าครอบงำเต็มที่ แล้วทำกรรมอกุศลครบทั้ง 3 ทาง แต่คนที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาดี ในศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เมื่อประสบกับเหตุการณ์ชวนให้โกรธ ก็ไม่โกรธมาก ถ้าโกรธก็มีสติสัมปชัญญะ มีขันติ อดทนและทมะ ระงับ ยับยั้งใจ คิดด่าในใจเพียงนิดหน่อยแล้วก็หยุดเพียงแค่นั้น บางคนอาจจะไม่คิดด่าเลยกลับจะแผ่เมตตาแก่คนที่ทำให้ตนโกรธเสียอีก

    มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมทั้ง 3 นี้ คนเราทำกรรมไหนก่อน

    .......แล้วแต่ปริมาณของแรงกระตุ้นใจ ถ้าแรงกระตุ้นใจน้อยก็ทำมโนกรรมก่อน คือ คิดก่อน แต่ถ้าแรงกระตุ้นใจแรงมาก เช่นโกรธมาก ๆ บางทีก็ออกมาทางกายกรรมเลย เช่น ตบตี ทุบต่อย ตีรันฟันแทงทันที คิดไม่ทัน พูดไม่ทัน เช่นคนบางคนโกรธขึ้นมามาก ๆ อาจจะฆ่าได้แม้กระทั่งกระทั้งบุตรภรรยาของตน

    มโนกรรม วจีกรรม กายกรรมทั้ง 3 นั้น กรรมไหนสำคัญที่สุด

    .......ก็แล้วแต่สถานการณ์ ในขณะที่นั่งคิดวางแผนงานอยู่คนเดียว มโนกรรมน่าจะสำคัญที่สุด ในการประชุมพิจารณาแผนงาน วจีกรรมน่าจะสำคัญที่สุด ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ศีล และวินัย กายกรรมน่าจะสำคัญที่สุด เช่นเพียงแต่คิดและพูดว่าจะฆ่าเขา แต่ไม่ลงมือฆ่า ก็ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกตำรวจจับ แต่ถ้าฆ่าเขาจริง ๆ (กายกรรม) ตำรวจจะจับทันที

    ในทางพระพุทธศาสนา ท่านถือว่า มโนกรรม สำคัญที่สุดมิใช่หรือ

    ถูกต้องแล้ว มโนกรรมสำคัญที่สุด เพราะเหตุผล 3 ประการ คือ

    ....... มโนกรรมคือการคิด ทำได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องลงทุนลงแรงใด ๆ นั่งอยู่เฉย ๆ ก็ทำได้ คนจึงชอบทำมโนกรรม คือชอบคิดเรื่อยเปื่อยไป

    ....... ในการทำมโนกรรมคือการคิด คนรู้สึกปลอดภัย เพราะไม่มีใครรู้ใครเห็น แม้จะนั่งอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก แล้วคิดไปฆ่าใคร คิดไปข่มขืนใคร คิดไปปล้นธนาคาร ก็ไม่มีใครจับได้ รู้สึกปลอดภัยดี เพราะรู้สึกว่าตนปลอดภัยนี้แหละ คนจึงชอบคิด และมักจะแส่ไปแต่ในทางไม่ดีเป็นส่วนมาก แต่อย่าลืมว่า เพียงแต่เราคิด เราก็ได้ทำกรรมแล้ว ผลเกิดขึ้นแล้ว

    เพราะฉะนั้น โบราณจึงเตือนไว้ว่า อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา

    .......เมื่อเราคิดมาก ๆ เข้า บ่อย ๆ เข้า สะสมพลังกรรมไว้มาก ๆ เข้า พลังกรรมนั้นจะกระตุ้นให้เราพูดออกมาหรือทำออกมาจริง ๆ เช่นคนที่คิดจะลักของเขา ในที่สุดก็จะลักจริง ๆ เพราะว่า คนเราทำอะไรพูดอะไรตามความคิด อย่างที่กล่าวกันว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

    องค์ประกอบที่ 4 ของกรรมคืออะไร

    .......องค์ประกอบที่ 4 ของกรรม คือ ผลของกรรม ท่านเรียกว่า กรรมวิบาก มาจากคำบาลีว่า กัมมวิปากะ คำว่า วิปากะ หรือวิบากแปลว่า ผล (ในภาษาไทย เรานำเอาคำว่าวิบาก มาใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ยาก ลำบาก เช่น ทางวิบากแปลว่า ทางที่ยาก ลำบาก สำหรับการเดินทาง เข้าใจว่าคงจะเอาคำว่า วิบากไปสัมพันธ์กับลำบาก เพราะทั้ง 2 คำลงท้ายด้วยคำว่า บาก เหมือนกัน) เมื่อเราทำกรรมทางใดทางหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ผลของกรรมก็เกิดขึ้นทันที

    ผลของกรรมมี 2 อย่าง คือ ผลโดยตรง กับผลโดยอ้อม

    ผลโดยตรงของกรรม หมายความว่าอย่างไร ได้แก่อะไร

    .......ผลโดยตรงของกรรม หมายถึงผลที่เกิดขึ้นทันทีโดยธรรมชาติ ในจิตใจของผู้กระทำกรรม หลังจากทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว ที่ว่าเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หมายความว่ามันเกิดขึ้นตามหลักแห่งเหตุผลในธรรมชาติ ผู้ทำกรรมจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่สำคัญเลย เมื่อกระทำกรรมแล้ว มันก็เกิดขึ้นเองในใจโดยอัตโนมัติ

    .......ผลโดยตรงของกรรมนี้ เป็นพลังงานชนิดหนึ่ง จะเรียกว่าพลังงานกรรมหรือกัมมพละ (Karmic energy) ก็ได้ มันเกิดขึ้นเองในจิตใจของผู้ทำกรรม เมื่อได้ทำกรรมเสร็จแล้ว

    .......เราจะเข้าใจพลังกรรมได้ดีขึ้น ถ้าเราเทียบกับพลังกาย (physical energy) ถ้าเรายกแท่งเหล็กหนัก 1 กิโลกรัมด้วยมือขวา เป็นครั้งแรก เรารู้สึกว่ามันหนักพอสมควร เราจะต้องออกแรงมากพอดู ตอนออกแรงยกนั้นเทียบได้กับการทำกรรมแต่พอเราออกแรงไปแล้ว.ธรรมชาติจะสร้างพลังงานทดแทนขึ้นมาในกล้ามเนื้อแขนของเรา พลังงานทดแทนนี้เป็นพลังงานกาย อยู่ในกล้ามเนื้อ แบบเดียวกับพลังงานกรรมอยู่ในจิตใจ เมื่อเรายกน้ำหนักแล้ว พลังงานกายเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติในกล้ามเนื้อ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม มันเกิดขึ้นเองฉันใด พลังงานกรรมก็เกิดขึ้นเองฉันนั้น

    ถ้าว่าโดยคุณภาพ พลังกรรมมีกี่อย่าง อะไรบ้าง

    โดยคุณภาพ พลังกรรมมี 3 อย่าง คือ

    1.พลังกรรมฝ่ายกุศลหรือฝ่ายดี เกิดจากการกระทำกรรมดี หรือกุศลกรรม
    2.พลังกรรมฝ่ายอกุศลหรือฝ่ายชั่ว เกิดจากการกระทำกรรมชั่วหรืออกุศลกรรม
    3.พลังกรรมฝ่ายอัพยากตะ คือฝ่ายเป็นกลาง ไม่จัดเป็นดีหรือชั่ว เกิดจากการกระทำที่ไม่พอจะจัดเป็นดีหรือชั่วได้

    เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นกลาง ๆ
    .......เราใช้องค์ประกอบทั้ง 4 ของกรรมที่กล่าวแล้ว (กิเลส เจตนา กรรม ผลกรรม) เป็นเกณฑ์ตัดสิน

    .......กรรมใด เกิดจากแรงกระตุ้นใจดี เจตนาดี การกระทำดีและก่อให้เกิดผลดีแก่ตนและผู้อื่น การกระทำนั้นถือว่า เป็นกรรมดี 100% เช่น เราเห็นคนยากจนเกิดความสงสารเห็นใจ (แรงกระตุ้นใจ) ตั้งใจจะช่วยให้พ้นทุกข์ (เจตนาดี) จึงสละเงินช่วยเขา (การกระทำดี) และเขาก็ได้ประโยชน์จากการเสียสละของเรา (ผลกรรมดี)

    .......กรรมใดเกิดจากแรงกระตุ้นใจชั่ว มีเจตนาชั่ว เป็นการกระทำชั่ว ก่อให้เกิดผลเสียหาย กรรมนั้นเป็นกรรมชั่ว 100% เช่น คนเกิดความโลภขึ้นมา (แรงกระตุ้นใจชั่ว) ตั้งใจจะลักทรัพย์ (เจตนาชั่ว) ลงมือลักทรัพย์จริง ๆ (การกระทำชั่ว) เจ้าของทรัพย์เกิดความเสียหายและความทุกข์ (ผลชั่ว)

    กรรมบางอย่างอาจจะมีดีหรือชั่ว 3 อย่าง ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นกรรมดีหรือชั่ว 75%
    กรรมบางอย่าง อาจจะดี 2 อย่าง ชั่ว 2 อย่าง ถ้าอย่างนั้นก็เป็นกรรมดีหรือชั่ว 50%
    กรรมบางอย่างอาจจะมีดีหรือชั่วเพียง 1 อย่าง ถ้าอย่างนั้นก็เป็นกรรมดีหรือชั่วเพียง 25%

    ในบรรดาเกณฑ์ตัดสินคุณภาพกรรมทั้ง 4 นั้น อย่างไหนมีน้ำหนักมากกว่าเพื่อน

    จะขอวิเคราะห์ดูน้ำหนักขององค์ประกอบทั้ง 4 ไปตามลำดับ

    .......แรงกระตุ้นใจ เป็นตัวเหตุสำคัญที่ทำให้คนกระทำกรรมและเป็นตัวฐานรองรับพลังกรรม การกระทำที่มีแรงกระตุ้นใจรองรับ สักแต่ว่ากระทำไปตามเหตุปัจจัยเช่นการกระทำของพระอรหันต์ ไม่จัดว่าเป็นกรรม ท่านเรียกว่าเป็นเพียงกิริยาอาการ

    .......แต่ว่าแรงกระตุ้นใจนั้น ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง มักจะกระตุ้นให้คนทำอกุศลกรรม แต่ก็ไม่แน่เสมอไป บางทีอกุศลมูล กระตุ้นให้กระทำกุศลกรรมก็มี เช่นความโลภ อยากถูกล๊อตเตอรี่ กระตุ้นให้คนทำบุญ บางทีกุศลมูล ทำให้คนทำอกุศลกรรมก็มี เช่น ความสงสาร (กรุณา) คนจน กระตุ้นให้บางคนไปปล้นคนรวยมาช่วยคนจนก็มี

    .......ด้วยเหตุนี้ น้ำหนักของแรงกระตุ้นใจจึงไม่มากที่สุด ถ้าคิดเป็นตัวเลข คงจะได้ราว ๆ 20 ใน 100

    .......เจตนาน่าจะเป็นองค์ประกอบที่มีน้ำหนักมากที่สุด พระพุทธเจ้าถึงตรัสไว้ว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า "เจตนาเป็นตัวกรรม" เพราะฉะนั้น จึงให้น้ำหนัก 45 ใน 100

    .......การกระทำเป็นขั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์ของกรรม เป็นตัวก่อนให้เกิดพลังกรรมเป็นตัวแสดงออกของแรงกระตุ้นใจและเจตนา เป็นตัวส่งผลกระทบต่อผู้อื่นจึงมีความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากเจตนา ของให้น้ำหนัก 25 ใน 100

    .......ผลที่เกิดจากพลังกรรม เช่นความสุขใจหรือทุกข์ใจ ลาภ ยศ สรรเสริญสุข หรือเสื่อลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่มีความแน่นอนจึงให้น้ำหนักเพียง 10 ใน 100

    .......จากที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ทันทีว่า เจตนาและการกระทำมีน้ำหนักมากกว่าแรงกระตุ้นใจและผลที่เกิดขึ้น ดังนั้นในการตัดสินใจจะทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรดูเจตนาและการกระทำเป็นหลัก และพยายามทำเจตนาและการกระทำให้เป็นกุศลเข้าไว้ ถ้า 2 อย่างนี้เป็นกุศลแล้ว ผลดีจะเกิดขึ้นเอง

    กรรมที่เป็นกลาง ๆ (อัพยากตกรรม) นั้น มีลักษณะอย่างไร

    .......กรรมที่เป็นกลาง ๆ มักจะเกิดจากแรงกระตุ้นใจที่ไม่ชัดเจน เจตนาก็ไม่ชัดเจนการกระทำก็สักแต่ว่า เป็นการกระทำที่เป็นปกติวิสัยในชีวิตประจำวัน เช่นการกิน การดื่ม การเดินไปมา การถ่ายทุกข์ การนั่น การนอน การทักทายปราศรัยกันเป็นต้น การกระทำเหล่านี้ จะว่าดีก็ไม่ใช่ ไม่ดีก็ไม่เชิง เป็นกลาง ๆ
    ......
    .แต่ถ้ามีแรงกระตุ้นใจชัดเจนขึ้น เช่น โกรธเพื่อนบ้าน มีเจตนาร้าย เช่น อยากให้เขาเกิดทุกข์ จึงแอบไปถ่ายทุกข์ไว้ที่หน้าบ้านเขา การถ่ายทุกข์นั้นก็เป็นอกุศลกรรมไป

    ในชีวิตประจำวันของคนโดยเฉลี่ย การกระทำส่วนใหญ่เป็นอัพยากตกรรม (กรรมกลาง ๆ)

    พลังกรรมกับบุญ หรือบาปต่างกันอย่างไร
    .......ไม่ต่างกันเลย พลังกรรมฝ่ายกุศลท่านเรียกว่า บุญ พลังกรรมฝ่ายอกุศลท่านเรียกว่า บาป บุญ และบาป เป็นคุณภาพจิตอิงอาศัยอยู่กับ จิต ไม่มีตัวไม่มีตน เป็นสิ่งนามธรรม

    .......แต่แม้จะเป็นสิ่งนามธรรม เราก็สามารถสังเกตดูลักษณะของบุญและบาปในจิตใจของเราได้

    .......บุญ มีอำนาจทำให้จิตสว่าง สะอาด สงบ ปิติสุข คนที่ทำความดีอยู่เสมอจะสังเกต เห็นลักษณะของบุญในจิตใจของตนได้อย่างชัดเจน
    .......บาป มีอำนาจทำให้จิตมืดมัว สกปรก วุ่นวาย ห่อเหี่ยว และเป็นทุกข์

    คนที่ไม่นับถือศาสนาใด ๆ หรือนับถือศาสนาอื่น เขาไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาปเวลาเขาทำดี หรือทำชั่วแล้ว จะเกิดบุญหรือบาปในใจของเขาหรือไม่
    .......บุญ และบาปเป็นพลังกรรมเกิดขึ้นเองทันทีในจิตใจของผู้กระทำกรรม ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ไม่ว่าเขาจะเชื่อหรือก็ตาม พลังกรรมก็เกิดขึ้น แบบเดียวกับพลังกาย คนที่ออกกำลังกายอยู่เสมอ พลังกายย่อมเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ทำกรรมชั่ว ย่อมได้บาป คนที่ทำกรรมดีย่อมได้บุญ ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด ศาสนาใด บาปบุญเป็นของสากล

    พลังกรรมทำหน้าที่อะไรบ้าง

    พลังกรรมทำหน้าที่สำคัญ 4 ประการคือ

    -กระตุ้นให้คนทำกรรมนั้นซ้ำอีก พลังกรรมจะเพิ่มมากขึ้นทุกครั้งที่คนทำกรรม
    -พลังกรรมจะช่วยรักษากระแสชีวิตไว้
    -พลังกรรมทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด
    -พลังกรรมเป็นผู้กำหนดวิถีชีวิตของคน

    ___________________________

    เนื้อหานำมาจากหนังสือ อริยธรรม เล่มที่ ๑๓ ,จัดทำโดยกลุ่มศรัทธาธรรม-เชียงใหม่

    จากหัวข้อในเล่ม: พระพุทธศาสนาสำหรับผู้เริ่มศึกษา (ตอนที่ 10) บทที่ 2 หลักความเชื่อ กฎแห่งกรรม

    http://www.dhammachak.net/board/viewtopic.php?t=251
     

แชร์หน้านี้

Loading...