หลักการภาวนาใจ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 15 พฤศจิกายน 2008.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    หลักการภาวนาใจ


    ธรรมปฏิบัติ : หลักการภาวนาใจ


    โดย หลวงปู่เทสก์ เทสธํสี วัดหินหมากเป้ง จ. หนองคาย 1

    1 มีนาคม 2548


    วันนี้จะอธิบายถึงเรื่องหลักของโลก หลักของธรรม ในการทำกิจการงานทั้งปวง มันต้องมีหลักจึงจะมั่นคง ถ้าไม่มีหลักมันก็เหลวไหล โลกถ้าไม่มีใจมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ธรรมถ้าไม่มีใจมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ใจเป็นของสำคัญ

    ถ้าพูดถึงเรื่องใจแล้วมักจะเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องของกัมมัฏฐาน แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น เรื่องของพุทธศาสนาทั้งหมดต้องพูดถึงเรื่องใจทั้งนั้น อย่างจะทำบุญทำทานก็ต้องมีกุศลเจตนาก็เป็นเรื่องใจ รักษาศีลก็วิรัติเจตนา เจตนาก็คือใจ ทำสมาธิภาวนา ก็คือสำรวมใจ ให้เป็นเอกัคคตารมณ์ ก็ใจนั่นแหละ ปัญญาเกิดขึ้นรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างก็ใจนั่นเองรอบรู้ เหตุนั้นจึงว่าพระพุทธศาสนาสอนใจทั้งนั้น แต่คนเราไม่ค่อยเข้าใจ สอนถึงเรื่องใจว่าเป็นเรื่องของกัมมัฏฐาน ว่าเป็นเรื่องของวัด ชาวบ้านไม่ต้องหรอกอย่างนี้เป็นต้น

    เหตุนั้น สอนศาสนาจึงสอนไม่ถูก คือไม่สอนเข้าถึงใจนั่นเอง แต่ก็พูดถึงเรื่องใจอยู่เหมือนกัน คนไม่เอาใจใส่ในการงาน คนไม่มีสติพลั้งเผลอหลงลืมทำอันนั้นอันนี้ จับจดอะไรต่างๆ ก็พูดถึงเรื่องใจเหมือนกัน แต่หากไม่เอาตัวใจจริงๆ
    วันนี้จะพูดกันถึงเรื่องใจ เรื่องสมาธิต้องหัดที่ใจก่อน ถ้าหากเราไม่รู้จักใจไม่เห็นตัวใจ หัดสมาธิก็ไม่ทราบว่าจะไปหัดตรงไหน คำบริกรรมที่เราเคยอบรมมาจะเป็นอานาปานสติก็ดี พุทโธก็ดี หรืออะไรต่างๆ ก็ตาม เราภาวนาให้ใจไปอยู่กับที่คำบริกรรม ให้จิตมันแน่วแน่อยู่กับอันนั้น คำบริกรรมนั้นเป็นเพียงสักแต่ว่าเครื่องล่อให้จิตไปรวมอยู่ที่เดียวเท่านั้น แต่แท้ที่จริงจิตมันเป็นสมาธิเต็มที่แล้ว มันปล่อยวางคำบริกรรมเอง ตัวตนก็ไม่มี หาย ว่างหมด แต่ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่เห็นอีก เพราะไปถือเอาความว่าง ความไม่มีอะไร มันต้องมีผู้รู้อีก ที่ว่าว่าง ว่าสงบ ว่าสุข ว่าเห็นภาพนิมิตอะไรต่างๆ จึงให้ถือเอาผู้รู้นั้น ภาพนิมิตและสิ่งที่เห็นต่างๆ นั้น ใจส่งออกไปเห็น มันอยู่นอกจากใจ ใจนั้นส่งไปเห็นภาพนิมิตต่างๆ แล้วก็ติดในภาพนิมิตนั้นๆ ลืมย้อนกลับเข้ามาหาตัวจริงคือผู้รู้ แล้วเราก็จับเอาตัวจิต ตัวผู้รู้นั่นไม่ไปหลงยึดถือสิ่งที่เห็นนั้นๆ สิ่งที่เห็นนั้นๆ ก็หายไป แต่ตัวจิตไม่ได้หายไปด้วย ถ้าหากไปยึดสิ่งที่เห็น ไม่ยึดเอาตัวจิตตัวใจ สิ่งที่เห็นนั้นหายไป ก็เลยหายไปหมด แต่มีบางคนที่หัดชำนิชำนาญจนนิมิตเกิดบ่อยๆ หรืออยู่กับนิมิตอันนั้น แต่ถ้าถามถึงความจริงแล้วคนนั้นหาได้รู้ตัวใจไม่

    ตัวใจจริงแท้น่ะมันไม่เห็นหรอก ถ้าอยากจะเห็นใจ ทดลองดูด้วยตนเองก็รู้ได้ เรากลั้นลมหายใจสักพักหนึ่ง แล้วสังเกตดูว่ามีอะไรบ้างอยู่ในนั้น บอกว่าไม่มีเลยนอกจากความเฉย อดีต อนาคตไม่มี เฉยอยู่ตัวกลางตัวเดียว วางเฉยอยู่เท่านั้นแหละ อันนั้นแหละตัวใจ คือผู้วางเฉย แล้วก็รู้ว่าวางเฉย แต่ว่ามันอยู่ ไม่ได้นาน ชั่วระยะอึดลมหายใจเท่านั้น พอระบายลมออกมาก็ส่งไปตามลมอีก สมกับที่ว่าลมหายใจจริงๆ

    ถ้าจะทำสมาธิจริงๆ จังๆ แล้ว ต้องภาวนาคำบริกรรมอย่างอธิบายมาในเบื้องต้น อานาปานสติก็ดี หรือพุทโธ ก็ดี จนกระทั่งเห็นจิตของตนอยู่ในพุทโธหรืออยู่ในอานาปานสติ แล้วอย่าไปยึด เอาอันนั้น ให้ค้นคว้าหาตัวผู้รู้นั่นอีก ผู้นึกว่าพุทโธ ผู้นึกว่าอานาปานสติ พอ จับตรงนั้นได้แล้ว ลมหายใจก็ดี หรือ พุทโธก็ดี ก็จะหายไปหมด เข้าถึงตัวกลาง นั่นจึงจะเป็นของเป็นจริงแท้ อดีต อนาคตไม่มี แล้วก็ไม่ได้คิดอะไรทั้งหมด สมกับพุทธภาษิตที่ท่านว่า ปภสฺสรมิทํ จิตฺตํ จิตเป็นของเลื่อมประภัสสร กิเลสเป็นอาคันตุกะจรมาต่างหาก ไม่ใช่จรมา แต่จิตเราไปยึดเอา มันจึงกลับเข้ามามีเรื่องยุ่งเหยิงขุ่นมัว ถ้าหากทำสมาธิภาวนา จิตจะกลับเลื่อมประภัสสรอีก จิตนี้ถ้าหากเศร้าหมองตลอดเวลา หรือเป็นสิ่งที่เศร้าหมองอยู่เดิมแล้ว ทำอย่างไรๆ มันก็ผ่องใสไม่ได้ อย่างดินเผาหรือเหล็กก็ดี มันผ่องใสอยู่แล้ว ตกอยู่ในดินในน้ำถึงอะไรจะมาเกรอะกรังให้เศร้าหมองก็ตาม ถ้าขัดเจียระไนออกก็ใสตามเดิม จิตของเราก็เหมือนกัน จิตของพระพุทธเจ้าและของสาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน มันของผ่องใสมาแต่เดิม ให้ค้นหาตัวเดิมให้ได้เสียก่อน ตัวเดิมแท้ตัวนั้นจะเป็นหลักที่จะหัดทำสมาธิภาวนา ให้จับเอาผู้รู้นั้นเป็นหลักไว้เสียก่อน ถ้าไม่ได้หลักก็เหลวไหลเหมือนกัน จะทำมากี่ปีๆ ก็เหลวไหล จะทำดีวิเศษเท่าไรก็เหลวไหล ถ้าจับใจ ตัวตรงนั้นได้มั่นคงดีแล้ว มันหากค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่สำเร็จมรรคผลนิพพาน ลุล่วงสว่างหมดทีเดียวตามความคาดคะเนของปุถุชนคนเรา

    จับใจตัวที่มันเป็นกลางให้มันสว่างไสวอยู่เสมอๆ มันเศร้าหมอง เราก็พิจารณาให้มันผ่องใส ให้มันสะอาดอยู่อย่างนั้น กิเลสทั้งหลายมันจะค่อยหมดไป ค่อยน้อยไปหายไปและจะหมดไปเอง อย่าไปรีบร้อนเลย ทำกิเลสหมดเร็วมันก็เกิดขึ้นมาเร็วเท่านั้น ที่เขาทำให้หมดเร็วๆ นั่นน่ะ เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาเร็ว ยิ่งเกิดขึ้นมามากกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำไป เรื่องของกิเลสมันหลายอย่าง สลับซับซ้อนเหลือที่จะคณานับจะพรรณนาไปก็หลายอย่าง ขอให้เห็นตัวใจนั้นเสียก่อน ให้ชำระตัว ใจนั้นให้ผ่องใสเสียก่อน ความเศร้าหมองก็เศร้าหมองตรงนั้น ผ่องใสก็ผ่องใสตรงนั้น เศร้าหมองเพราะกิเลส ผ่องใสเพราะหมดจากกิเลส อดีต อนาคตมันก็เป็นของเศร้าหมอง เป็นกิเลสทั้งนั้น อย่าไปอยากรู้อยากเห็นอะไรต่างๆ นานาเลย รู้นั่นรู้นี่ต่างๆ หลายอย่าง หากจะรู้มันรู้ของมันเองหรอก เห็นเทพบุตรเทพธิดา อินทร์ พรหม นรก สวรรค์ เห็นโน่น เห็นนี่ อะไรต่างๆ ไปใหญ่โต เห็นก็มาเศร้าหมองใจนั่นแหละ ใจไปอยู่กับเรื่องที่ เห็นนั่น ยินดีพอใจกับเรื่องนั้น เข้าใจว่าจิตผ่องใสจึงค่อยเห็น แต่ที่เห็นนั้นเห็นอดีต อนาคต มันเป็นสัญญาไม่ใช่หรือ สัญญาความจดจำ เราจำไว้แต่ก่อนจะไม่จำอย่างไร อย่างเห็นเทพบุตร เทพธิดา อย่างกับรูปภาพที่เราเคยเห็นในโบสถ์นั่นแหละ เห็นนรกสวรรค์ก็เห็นอย่างภาพที่เขาเขียนไว้นั่นแหละ เมื่อเห็นแล้วจิตไม่เห็นผ่องใสอะไรขึ้นมาเลย เราทำใจให้ผ่องใสเท่านั้นล่ะก็หมดเรื่อง ถูกต้องตามพระพุทธศาสนาคำสั่งสอนไว้แล้ว ตัวใจตัวนั้นเป็นของสำคัญ ให้พิจารณาให้ลึกซึ้ง และให้ยึดเป็นหลักไว้

    ใจกับจิต มันต่างกัน จิตอันหนึ่ง สติอันหนึ่ง อันเดียวกันนั่นแหละ แต่ลักษณะมันต่างกัน จิต คือ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ใจน่ะไม่คิด แต่ไปเรียกว่าจิต สติ คือความตั้งใจให้มั่น หรือผู้รักษา นั่นก็แปลว่าใจอยู่แล้ว ก็ตั้งมั่นลงไป ปัญญาที่รอบรู้ก็รู้ตัวใจนั่นอีก ถ้ามีใจจะไม่มีปัญญาอย่างไร

    ใจเป็นของกลาง อยู่ตรงกลางๆ ไม่มีบาปมีบุญ ไม่มีดีมีชั่ว มันจึงผ่องใส ไม่มีอดีต อนาคต สารพัดทุกอย่างไม่มีทั้งหมด ถ้าหากว่าตั้งใจอยู่ตรงกลางแล้ว ทำความรู้สึกเฉยๆ เราหัดได้อย่างนี้มันจะได้ไม่พาให้เรากวัดแกว่งไปในที่ต่างๆ จะให้มันคิดก็ได้ ไม่ให้คิดก็ได้ อยู่ในบังคับของตนแล้ว ถ้าอยากจะให้คิดก็คิด มันมีสติรู้ตัวรู้เรื่องอยู่ทุกอย่าง ถ้าไม่คิดมันก็เฉย ให้รู้จักว่ามันเฉยอยู่ นั่นแหละจึงว่าใจเป็นของเรา แต่หากบังคับจิตไม่ได้ ให้จิตบังคับตนเอง ทุกสิ่งทุกอย่างมันเดือดร้อนวุ่นวายเพราะจิต

    ใจเป็นจิตอย่างที่ได้อธิบายให้ฟังมาแล้ว ถ้ากลับมาเป็นใจแล้วไม่มีอะไร อย่างเราคิดโกรธคนอื่น ใครก็ตามที่เราไม่ชอบใจจิตมันไปคิดไม่พอใจ น้อยใจ โทมนัส คับแค้นใจ อะไรต่างๆ กับคนอื่น ถ้าเอาใจให้เป็นกลางๆ แล้วเรื่องอย่างนั้นก็ไม่มี ไม่เดือดร้อนวุ่นวายอะไร จึงว่าเอาสติไปรักษาจิต ควบคุมจิต จึงจะเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อเป็นใจได้ หลักของการภาวนาต้องอาศัยอันนี้ จึงจะได้หลักมั่นคง ถ้าไม่มีหลักแล้วก็จะไม่มั่นคง

    (แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.. 2524)
     
  2. wvichakorn

    wvichakorn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    3,684
    ค่าพลัง:
    +9,239
    " เรื่องสมาธิต้องหัดที่ใจก่อน ถ้าหากเราไม่รู้จักใจไม่เห็นตัวใจ "

    ขออนุโมทนาค่ะ
     
  3. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,792
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,020
    ชอบกระทู้นี้มากครับ กระทู้นี้เเก่นสําคัญ เมนหลักของพุทธศาสนาเลย ปล่อยว่างอย่างเดียวครับ ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีอะไรเลย ว่างเปล่า
     
  4. fonsirada

    fonsirada สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤษภาคม 2006
    โพสต์:
    29
    ค่าพลัง:
    +22
    อยากทราบว่ามีใครบ้างที่เข้าถึงใจแบบที่พระอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ใช้เวลานานเท่าไหร่ ในการนั่งวิปัสสนา จิตจึงจะสว่าง ช่วยเล่าปรากฏการณ์ที่เกิดจริงกับตัวท่านให้ทราบหน่อยค่ะ เอาแค่จากเริ่มนั่งถึงจุดที่จิตสว่างเป็นประภัสสรค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...