หลักการพิสูจน์ตนของตน โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ฉลาดน้อย, 13 มิถุนายน 2013.

แท็ก: แก้ไข
  1. ฉลาดน้อย

    ฉลาดน้อย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +1,721
    หลักการพิสูจน์ตนของตน

    โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


    วัดป่าสาลวัน

    ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา


    วันนี้มีความรู้สึกปีติยินดีที่ได้มาพบท่านทั้งหลาย และได้แสดงธรรมสู่ท่านทั้งหลายฟัง ธรรมะที่จะแสดงไม่ใช่ธรรมะของผู้บรรยาย เพราะว่าไม่ใช่ธรรมะของผู้บรรยายแต่ผู้เดียว ธรรมะของท่านทั้งหลายก็มีด้วย

    ถ้ามาตั้งปัญหาถามตนเองว่าธรรมะคืออะไร เราจะได้คำตอบว่า "ธรรมะคือกายกับใจ" ทำไมจึงว่าธรรมะคือกายกับใจ ก็เพราะเหตุว่ากายกับใจเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมนี้เป็นสิ่งที่เป็นมาโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของมนุษย์ บิดามารดาเป็นมนุษย์ ลูกหลานเกิดมาก็เป็นมนุษย์ อันนี้คือธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ สิ่งที่มีกายกับใจอย่างอื่น เช่นสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น พ่อแม่เขาเกิดมาเป็นอย่างไร เขาก็เกิดมาเช่นนั้นโดยธรรมชาติ เมื่อเรามีกายกับใจเป็นสมบัติของเรา เราก็มีธรรมะกันทุกคน มีธรรมะเป็นสมบัติของตัวเอง ในเมื่อเรารู้ว่าธรรมะเป็นของเราคือกายกับใจ โดยลำดับต่อไปเราจะปฏิบัติต่อธรรมะของเราอย่างไร

    กายกับใจเมื่อเกิดขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนแล้วก็มีความเจริญขึ้น โตขึ้น ในเมื่อโตเต็มที่แล้วมันก็เจริญลง ในที่สุดมันก็เจ็บ ตาย นี่คือความเป็นไปของธรรมะของคนเรา ความเจริญอันนี้หลักธรรมะท่านว่ามันอนิจจัง มันไม่เที่ยง คือพอมันเกิดมาแล้วตัวเล็กๆ มันจะอยู่เพียงตัวเล็กๆ แค่นั้นไม่ได้ เพราะกฎธรรมชาติของมันจะต้องเจริญเติบโต พอโตเต็มที่แล้วมันก็โทรมลง คือแก่ลงๆ ร่างกายเคยโตสูงใหญ่มันก็หดเล็กลงๆ ทุกที ในที่สุดเมื่อสิ้นสุดอายุไปแล้ว มันก็เจ็บตาย นี่คือความเป็นจริงของธรรมะของเราคือกายกับใจ ธรรมะนี้พระพุทธเจ้าเรียกว่า "สภาวธรรม" สภาวธรรมนี้เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ

    ดังนั้น การศึกษาธรรมะนี้ท่านจึงให้เอาใจนี้ค้นคว้าดูสภาวะความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เริ่มต้นตั้งแต่มันเจริญเติบโตขึ้น แล้วก็แก่ลงๆ ตามสภาพความเป็นจริง ในที่สุดก็ต้องสลายตัวคือตาย ความเปลี่ยนแปลงอันนี้ใครจะชอบใจก็ตามไม่ชอบใจก็ตาม โดยธรรมชาติของมันจะเป็นอย่างนั้น เราทุกข์เพราะความแก่ ความเจ็บ ความตาย เราทุกข์เพราะความแก่เราก็ไม่ชอบ ความเจ็บเราก็ไม่ชอบ ความตายเราก็ไม่ชอบ ลองคิดดูว่า สิ่งที่เราไม่ชอบนั้น เราปรารถนาให้มันอยู่ มันอยู่ได้ไหม ในเมื่อมันอยู่ไม่ได้ ความรู้สึกของเรานี่มันฝืนสภาพความเป็นจริง ทั้งๆ เราก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่ามันไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา แต่เราก็อดที่จะฝืนกฎธรรมชาติของมันไม่ได้ เพราะเหตุที่เราจะฝืนกฎธรรมชาติของมันไม่ได้นี่เองจึงเป็นทุกข์ เพราะไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย อันนี้คือความเป็นจริงโดยธรรมชาติ ในฐานะที่เราท่านทั้งหลายตั้งใจศึกษาธรรมะ อยากรู้ความจริงของธรรมะ คือต้องการรู้ความจริงของกายและใจของเรานั่นเอง

    หลักพิสูจน์ความเป็นตัวของตัวเราเอง คนเรามีโอกาสที่จะเป็นได้หลายๆ อย่างในตัวคนๆ เดียวนั้นเอง ในความรู้สึกของเรา เรารู้ว่าเราเป็นคนโดยสมบูรณ์ อันนี้เป็นความจริง เพราะรูปร่างหน้าตาของเราก็เหมือนกับคนอื่นๆ เขา แต่ในตัวคนๆ หนึ่งหรือมนุษย์คนหนึ่ง ตั้งแต่เช้าจนถึงปัจจุบันนี้ เราได้คอยเอาใจใส่พิจารณาตัวเองบ้างหรือไม่ว่าเราเป็นอะไรมาแล้วสักกี่อย่าง ดังนั้น ในหลักธรรมะท่านได้วางหลักให้พิสูจน์ตัวเองมีอยู่ ๔ ประการ

    ๑. มนุสสมนุสโส กายเป็นมนุษย์ จิตใจก็เป็นมนุษย์

    ๒. มนุสสติรัจฉาโน กายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นเดรัจฉาน

    ๓. มนุสสเทโว กายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นเทวดา

    ๔. มนุสสเปโต กายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นเปรต

    มนุสสมนุสโส กายเป็นมนุษย์จิตใจเป็นมนุษย์ โดยปกติแล้วมนุษย์เป็นผู้มีจิตใจสูง มนะแปลว่าใจ อุษย์หรืออุสโส แปลว่า สูง ฉะนั้น มนุษย์จึงแปลว่า ผู้มีจิตใจสูง สูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์นี้เป็นสิ่งสูงสุด เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ผู้สามารถใช้ความฉลาดนั้นไม่มีอะไรเหนือมนุษย์ มนุษย์ทำได้ทุกอย่าง มนุษย์สามารถสร้างได้แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า พระพรหม เทพ เปรต อสุรกาย ทั้งสัตว์เดรัจฉาน อยู่ในตัวมนุษย์นี้ทั้งนั้น เมื่อพูดถึงตัวของมนุษย์ เรามีกาย มีรูปร่างเป็นมนุษย์ เราทดสอบดูจิตใจของเราเองว่าเราเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์หรือไม่ โดยนิสัยของมนุษย์จะต้องมีความเมตตา มีความปรารถนาดีต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตด้วยกัน นี้เป็นประการหนึ่ง มนุษย์มีความปรารถนาที่จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ยากลำบากให้คนอื่นและสัตว์อื่น นี้เป็นคุณสมบัติของมนุษย์เมื่อสรุปแล้วมนุษย์ผู้มีศีล ๕ สมบูรณ์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก ใครก็ตามมีศีลมีธรรม มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีความรัก ความปรารถนาดีในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ผู้นั้นร่างกายเป็นมนุษย์ ใจก็เป็นมนุษย์สมบูรณ์ ตามหลักพระศาสนาท่านว่า ศีล ๕ คือ มนุษยธรรม คือธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นมนุษย์

    มนุสสติรัจฉาโน ท่านเคยโกรธ เคยเคียดแค้นใครไหม เคยคิดจะฆ่าจะตีใครไหม ถ้าในจิตใจท่านมีความโกรธ เคียดแค้น อยากจะตบจะต่อยจะตี คิดอยากจะละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติ บุคคลอยู่ในความคุ้มครองของบุคคลอื่น ถ้าหากท่านมีความคิดเช่นนี้ เป็นความคิดที่ปราศจากกฎหมายและศีลธรรม การฆ่าก็ผิดกฎหมายผิดศีลธรรม การข่มเหงรังแกก็ผิดกฎหมายผิดศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆ่าให้ตายยิ่งผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง และผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรงเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่ท่านเกิดอารมณ์โกรธแล้วอยากฆ่า อยากด่า อยากตี อยากทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ในขณะนั้นร่างกายของท่านเป็นมนุษย์แต่จิตใจของท่านเป็นเดรัจฉาน

    ในข้อที่ ๓ ถ้าในขณะใดจิตของท่านมีความสงบเยือกเย็น มีความละอายต่อบาป มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าที่จะทำบาปทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ในขณะนั้นจิตใจท่านเป็นเทวดา แม้ว่ากายของท่านจะเป็นมนุษย์ก็ตาม เรียกว่า มนุสสเทโว

    ข้อสุดท้าย มนุสสเปโต ท่านเคยมีความคิดเกียจคร้านต่อการงาน ไม่สนใจ ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน คอยหลบหลีกงานในหน้าที่ แสดงถึงจิตใจของท่านปล่อยวางละประโยชน์ที่พึงได้พึงถึงให้เวลามันผ่านไปโดยไม่ได้อะไรอย่างเต็มที่ ถ้าความคิดเช่นนี้มันเกิดขึ้นมา แสดงว่าในขณะนั้นกายท่านเป็นมนุษย์ จิตใจของท่านเป็นเปรต เปรต แปลว่า ผู้ละไปแล้ว คือละทิ้งทั้งความดี สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ไม่เอาใจใส่ นี่แหละลักษณะของมนุสสเปโต

    นี่คือหลักพิสูจน์ตัวเอง ผู้ที่มุ่งที่จะปฏิบัติธรรม หวังความเจริญก้าวหน้าแก่ตัวเอง ก็ให้หลักพิสูจน์ตนเอง เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ก็ต้องส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้ยิ่งๆ ขึ้น เมื่อมีจิตใจเป็นเทวดาก็ส่งเสริมความเป็นเทวดาให้ยิ่งๆ ขึ้น ถ้าในขณะใดรู้ว่าจิตใจของเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เราก็พยายามกำจัดมันเสีย โดยใช้ มานะ ขันติ ความอดทน หรือข่มจิตข่มใจให้ชนะตนเอง

    หลักมนุษยธรรมที่เราควรจะยึดเป็นหลักปฏิบัตินั้น ได้แก่ ศีล ๕ ข้อ ซึ่งทุกท่านคงเข้าใจ พระพุทธเจ้าสอนให้เราละความชั่วประพฤติความดี ตรงจุดที่เราจะละความชั่วจะต้องยึดหลักของศีล ๕ นี่แหละ ความชั่วที่เราทำลงไปแล้ว มันมีผลเพิ่มของบาปกรรมสะสมเอาไว้ เพราะไปเสวยทุกข์ในภพหน้าชาติหน้า ก็คือละเมิดศีล ๕ ข้อ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังที่เราเคยได้รับฟังธรรมว่า เราจะไปพบสุคติก็เพราะศีล เราจะสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ก็เพราะศีล เราจะถึงนิพพานก็เพราะศีล ดังนั้น ศีล ๕ จึงเป็นหลักประกันความปลอดภัยของสังคม

    พระพุทธเจ้าสอนเพียงว่า "มนุษย์ทั้งหลายอย่าฆ่ากัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่าข่มเหงรังแกกัน" เพียงแค่นี้ก่อน และทุกๆ ท่านก็พยายามทำจิตทำใจเอาไว้ว่า เราจะไม่ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน เราจะไม่เบียดเบียนมนุษย์ด้วยกัน เราจะไม่ข่มเหงรังแกมนุษย์ด้วยกัน ถ้าท่านตั้งปณิธานเอาไว้อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลข้อต้นคือ ปาณาติบาต ยังไม่ต้องกล่าวถึงการฆ่าสัตว์เดรัจฉานก่อน โดยนิสัยธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ นี่เราทราบกันอยู่แล้วว่ามนุษย์มีใจสูง เพราะมีศีล ๕ ข้อเต็ม บริสุทธิ์บริบูรณ์ ความเป็นผู้มีศีลนี้ทำให้เราเป็นผู้มีคุณธรรมอันหนึ่ง คือเมตตาธรรม คือความรัก ความปรารถนาดีในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จิตใจของมนุษย์เป็นจิตใจสูง ย่อมแผ่อิทธิพลไปถึงสัตว์เดรัจฉานด้วยเหมือนกัน เมื่อฆ่ามนุษย ์ไม่ได้ก็ฆ่าสัตว์เดรัจฉานไม่ได้เหมือนกัน เป็นนิสัยธรรมชาติของมนุษย์

    สิ่งที่สนับสนุนให้เกิดฆ่ากัน ได้แก่ ศีล ๔ ข้อข้างท้าย คือ อทินนาทาน การลักขโมยของที่เขาไม่อนุญาต ก็เกิดความโกรธแค้นถึงฆ่ากันได้ กาเมสุมิจฉาจาร การละเมิดสิทธิบุคคลที่เขามีเจ้าของหวงแหน เช่น ลูกเมียเขา เป็นต้น ก็เป็นชนวนให้เกิดฆ่ากัน มุสาวาท พูดจาเท็จ โกหกพกลม เป็นเหตุให้เสียทรัพย์ ก็เป็นเหตุให้ฆ่ากัน สุราเมรัย โดยธรรมชาติเป็นของมึนเมา ทำลายสติ เกิดทะเลาะวิวาทก็เกิดฆ่ากันได้

    เพราะฉะนั้นศีล ๕ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ จึงเป็นหลักประกันสังคมและทรัพย์สมบัติของแต่ละบุคคล ย่อมเกิดความสงบสุขได้สมบูรณ์

    ที่มา ::
     

แชร์หน้านี้

Loading...