หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 31 พฤษภาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    [​IMG]

    ผลงานที่ทรงคุณค่าของ อ.วศิน อินทสระ
    ปราชญ์ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งสภาการศึกษามหามกุฎราช์วิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ได้อธิบายถึงหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ตอบปัญหาที่คาใจคนหลายยุคหลายสมัยไว้เกือบทุกแง่มุม เช่น คนดีทำไมจึงมีชีวิตตกต่ำ ทำบุญละลายบาปได้หรือไม่ กรรมที่พ่อแม่ทำแต่ลูกเป็นผู้ได้รับ คนตายแล้วไปเกิดอีกเพราะอะไร เหตุที่บุคคลระลึกชาติได้ การเวียนว่ายตายเกิดจะสิ้นสุดเมื่อใด เป็นต้น เพื่อเป็นกุญแจดอกสำคัญไขไปสู่ความสว่างไสวในปัญหาชีวิต เพราะรู้แจ้งว่า ผลทุกอย่างย่อมมีมาเพราะเหตุช่วยให้ตระหนักได้อย่างลึกซึ้งว่าการเกิดของเรามีความหมาย และจะพัฒนาศักยภาพแห่งความดีงามในตัวเราอย่างมีเป้าหมายและเจริญงอกงามถึงขีดสุดได้อย่างไร



    ตอนที่ 1 กฎแห่งกรรม

    หลักกรรม หรือกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า “บุคคลทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาย่อมต้องรับผลแห่งกรรมนั้น” แต่เนื่องจากกรรมบางอย่าง หรือการกระทำบางคราวไม่มีผลปรากฏชัดในทันที ผู้มีปัญญาน้อยจึงมองไม่เห็นผลแห่งกรรมของตน ทำให้สับสน และเข้าใจไขว้เขว เพราะบางทีกำลังทำชั่วอยู่แท้ ๆ กลับมีผลดีมากมาย เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หลั่งไหลเข้ามาในชีวิต ตรงกันข้าม บางคราวกำลังทำความดีอยู่อย่างมโหฬาร แต่กลับได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ มีผลไม่ดีมากมาย เช่น ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย ถูกสบประมาท และความเจ็บไข้ ได้ป่วยหลั่งไหลเข้ามาในชีวิต ความสลับซับซ้อนดังกล่าว ทำให้ผู้รับผลของกรรมสับสน เกิด ความไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความชั่วจริงๆ หรือ? เป็นความดีจริงๆ หรือ?

    ตามความเป็นจริงแล้ว กรรมชั่วที่เขากำลังทำอยู่ยังไม่ทันให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ก่อนถึงวาระให้ผลในขณะที่คนผู้นั้นกำลังทำชั่วอยู่ จึงทำให้เขาได้รับผลดี ถ้าเปรียบทางวัตถุก็จะมองเห็นง่ายขึ้น เช่น คนๆหนึ่งกำลังปลูกต้นไม้อันเป็นพิษอยู่ มีผลไม้หอมหวานอร่อยสุก มากมายในสวนของเขา เขาได้ลิ้มรสอันอร่อยของผลไม้ซึ่งเขาปลูกไว้ก่อนต่อมาต้นไม้มีพิษออกผลในขณะที่เขากำลังปลูกต้นไม้ที่มีผลอร่อยอยู่ เขาบริโภคผลไม้มีพิษรู้สึกได้รับทุกขเวทนา ข้อนี้ฉันใด กรรมกับผู้กระทำกรรมก็ฉันนั้น กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว แต่เพราะกรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อสุกเต็มที่แล้ว (Maturation) และมีความสลับซับซ้อนมาก จึงทำให้งง ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งก็เพราะสติปัญญาของคนทั่วไปมีอยู่อย่างจำกัด เหมือนแสงสว่างน้อยๆไม่พอที่จะส่องให้เห็นวัตถุอันสลับซับซ้อนอยู่ มากมายในบริเวณอันกว้างใหญ่ และบริเวณนั้นถูกปกคลุมอยู่ด้วยความมืด เมื่อใดดวงปัญญาของเขาแจ่มใสขึ้น เขาย่อมมองเห็นความเป็นจริง ปัญญาของเขายิ่งแจ่มใสขึ้นเพียงใด เขาย่อมสามารถมองเห็นเรื่องกรรมและความสลับซับซ้อนของชีวิตมากขึ้นเพียงนั้น เหมือนแสงสว่างมีมากขึ้นเพียงใด ผู้มีจักษุปกติย่อมสามารถมองเห็นวัตถุอันละเอียดมากขึ้นเพียงนั้น

    สิ่งใดละเอียดมากเช่นเชื้อจุลินทรีย์ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์เขาใช้เครื่องมือคือกล้องจุลทรรศน์ซึ่งมีอานุภาพขยายเป็นพันๆ เท่าของวัตถุจริง จึงทำให้มองเห็นได้ สิ่งใดอยู่ไกลมาก ระยะสายตาธรรมดาไม่อาจทอดไปถึงได้ นักวิทยาศาสตร์เขาใช้กล้องส่องทางไกล จึงสามารถมองเห็นได้เหมือนวัตถุซึ่งปรากฏอยู่ ณ ที่ใกล้ ข้อนี้ฉันใด

    ผู้ได้อบรมจิตและปัญญาแล้วก็ฉันนั้น เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิตสามารถเห็นได้ละเอียด รู้ได้ไกลซึ่งเรื่องกรรมและผลของกรรมชนิดที่สามัญชนมองไม่เห็นหรือมองให้เห็นได้โดยยาก ทั้งนี้เพราะท่านมีเครื่องมือคือปัญญาหรือญาณ สามัญชนไม่มีปัญญาหรือญาณเช่นนั้น จึงมองไม่เห็นอย่างที่ท่านเห็น เมื่อท่านบอกให้ บางคนก็เชื่อตาม บางคนไม่เชื่อ ใครเชื่อ ก็เป็นประโยชน์แก่เขาเอง ทั้งด้านการดำเนินชีวิตและจิตใจหาความสุข ได้เองผู้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมได้กำไรกว่าผู้ไม่เชื่อ คือทำให้เว้นชั่ว ทำดีได้มั่นคงยั่งยืนกว่าผู้ไม่เชื่อ ทำให้เป็นคนดีในโลกนี้ จากโลกนี้ไปแล้วก็บันเทิงในโลกหน้า เมื่อประสบปัญหาชีวิตอันแสบเผ็ด ก็สามารถทำใจได้ว่ามัน เป็นผลของกรรมชั่ว เมื่อประสบความรื่นรมย์ในชีวิตก็ไม่ประมาท มองเห็นผลแห่งกรรมดีและหาทางพอกพูนกรรมดีต่อไป


    ตอนที่ 2 ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริงหรือ

    เรื่องนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง แต่ที่คนส่วนมากยังลังเล หรือเข้าใจผิดไปบ้างก็เพราะความสลับซับซ้อนของกรรมและการให้ผลของมัน การได้ดีหรือได้ชั่วนั้นถ้าเอาวัตถุภายนอกเป็นเครื่องตัดสินก็ลำบากหน่อย ต้องรอคอย บางทีขณะที่กำลังรอคอยอยู่นั้น ผลของกรรมอื่นแทรกแซงเข้ามาเสียก่อน ยิ่งทำให้ผู้ทำกรรมซึ่งกำลังรอคอยผลอยู่นั้นงงและไขว้เขวไปใหญ่

    ผลภายนอกและผลภายในของกรรมผลภายนอก คือผลที่ตนเองและคนอื่นมองเห็นได้ง่ายอย่างธรรมดาสามัญ เพราะมันมาเป็นวัตถุสิ่งของหรือสิ่งสมมติ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ ความเพลิดเพลิน ความมีหน้ามีตาในสังคมเพราะมีทรัพย์เกื้อหนุนให้เป็น หรือในทางตรงกันข้าม เช่น เสื่อมทรัพย์ อัปยศ ถูกนินทาติเตียน มีความทุกข์ต่างๆ รุมสุมเข้ามา เช่น ความเจ็บป่วย ความต้องพลัดพรากจากปิยชน มีบุตร ภรรยา (สามี) เป็นต้น

    ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั้น คนทั้งหลายพากันฝังใจเชื่อว่าเป็นผลดี หรือผลของกรรมดี ส่วนเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาติเตียนและทุกข์นั้นเป็นผลชั่ว หรือผลของกรรมชั่ว แต่ในชีวิตปัจจุบันที่เห็นๆ กันอยู่หาได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่ ลาภอาจให้เกิดขึ้นโดยทุจริตมิจฉาชีพก็ได้ โดยสุจริตสัมมาชีพก็ได้, ยศอาจเกิดขึ้นโดยประจบสอพลอก็ได้ โดยประกอบการงาน อย่างขยันหมั่นเพียรก็ได้, สรรเสริญอาจเกิดขึ้นเพียงเพราะผู้สรรเสริญเข้าใจผิด หรือเพราะเป็นพวกเดียวกันมีอคติอยู่ในใจก็ได้ เพราะมีคุณความดีจริงก็ได้, ส่วนความสุข ความเพลิดเพลินนั้นเกิดขึ้นได้หลายวิธี สุดแล้วแต่ชอบ, บุคคลชอบสิ่งใด เมื่อได้สิ่งนั้นตามปรารถนาก็รู้สึกสุขเพลิดเพลินไปพักหนึ่ง เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่สมใจปรารถนาก็เป็นทุกข์

    ในฝ่ายเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์ ก็มีนัยเดียวกันกับฝ่ายลาภ ยศ คืออาจเกิดขึ้นเพราะการทำดี หรือทำชั่วก็ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ทำความดีโดยการบริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณกุศลเป็นจำนวนล้าน ทรัพย์นั้นของเขาต้องลดจำนวนลง จะเรียกว่าเสื่อมลาภได้หรือไม่ คนทำความดีอาจถูกถอดยศก็ได้ เมื่อทำไม่ถูกใจของผู้มีอำนาจให้ยศหรือถอดยศ คนทำดีอาจถูกติเตียนก็ได้ ถ้าคนผู้ติเตียนมีใจไม่เป็นธรรม หรืออคติจงใจใส่ร้ายเขา คนทำดีอาจต้องประสบทุกข์ก็ได้ เพราะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำกาย และความเจ็บใจ เช่นความลำบากกายลำบากใจในการเลี้ยงดูบุตรและสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี ซึ่งท่านเรียกว่า ความทุกข์ ที่ต้องลงทุน (Pre-Payment)
    ผลภายนอกเป็นของไม่แน่นอนอย่างนี้ ถ้าถือเอาผลภายนอกมาเป็นเครื่องตัดสินผลของกรรมย่อมทำให้สับสน เพราะบางคราวผลที่เกิดขึ้น สมแก่กรรม แต่บางคราวไม่สมแก่กรรม เท่าที่บุคคลพอจะมองเห็นได้ในระยะสั้น

    ส่วน ผลภายใน คือ ผลที่เกิดขึ้นแก่จิตใจของผู้ทำ เป็นผลที่แน่นอนกว่า คือคนทำความดี รู้สึกตนว่าได้ทำความดี จิตใจย่อมผ่องใสขึ้น จิตสูงขึ้น ส่วนคนทำชั่ว รู้สึกตนว่าเป็นคนทำชั่ว จิตย่อมเศร้าหมองไป อาการที่จิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วนั่นเองเป็นผลโดยตรงของกรรมดี กรรมชั่ว สุข ทุกข์ของบุคคลอยู่ที่อาการเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วของดวงจิตมากกว่าอย่างอื่น ทรัพย์สินสมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ จะได้มามากเพียงใดก็ตาม ถ้าใจเศร้าหมอง ทุรนทุรายอยู่ด้วยโลภ โกรธ หลงอยู่เสมอแล้ว สิ่งเหล่านั้นหาสามารถให้ความสุขแก่เจ้าของเท่าที่ควรไม่ ตรงกันข้ามกลับเป็นสิ่งให้ทุกข์เดือดร้อนเสียอีก ผู้มีใจผ่องแผ้วเต็มที่เช่นพระอรหันต์ แม้ไม่มีทรัพย์สมบัติภายนอกที่ชาวโลกกระหายใดๆ เลย แต่ท่านมีความสุขมาก เป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 3 กรรมแบ่งออกเป็น 12 ประเภท


    ในตอนนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้รายละเอียดแห่งกรรม จึงขอกล่าว ถึงกรรม 12 ซึ่งจัดตามหน้าที่ จัดตามแรงหนักเบา และจัดตามกาลที่ให้ผล เมื่อทราบคำจำกัดความของกรรมประเภทต่างๆ แล้ว ผู้อ่านบางท่านที่ยังไม่เข้าใจก็อย่าเพิ่งใจร้อน ทำใจเย็นๆ ไว้ก่อน และขอให้อ่านต่อไป จะเข้าใจดีขึ้นอย่างแน่นอน


    กรรมจัดตามหน้าที่มี 4 ชนิด คือ

    1. ชนกกรรม - กรรมที่ก่อให้เกิด หรือส่งให้เกิดในกำเนิดต่างๆ เปรียบเสมือนมารดาของทารก ชนกกรรมนี้เป็นผลของอาจิณณกรรมบ้าง ของอาสันนกรรมบ้าง

    2. อุปถัมภกกรรม - กรรมอุปถัมภ์ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงนางนม มี ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี

    3. อุปปีฬกกรรม - กรรมบีบคั้น มีหน้าที่บีบคั้นกรรมดีหรือชั่วให้เพลาลง

    4. อุปฆาตกรรม หรือ อุปัจเฉทกกรรม - กรรมตัดรอน มีหน้าที่ตัดรอนกรรมทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล


    กรรมจัดตามแรงหนักเบามี 4 ชนิด คือ

    1. ครุกรรม - กรรมหนัก ฝ่ายดีหมายถึงฌาน วิปัสสนา มรรคผล ฝ่ายชั่วหมายถึงอนันตริยกรรม 5 คือ ฆ่ามารดา, ฆ่าบิดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อโลหิต, ทำสงฆ์ผู้สามัคคีกันให้แตกกัน

    2. อาจิณณกรรม หรือ พหุลกรรม - กรรมที่ทำจนเคยชิน หรือทำมากทำสม่ำเสมอกรรมนี้จะให้ผลยั่งยืนมาก

    3. อาสันนกรรม - กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต มีอานุภาพให้บุคคลไปสู่สุคติหรือทุคติได้ ถ้าเขาหน่วงเอากรรมนั้นเป็นอารมณ์เมื่อจวนตาย

    4. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม - กรรมสักแต่ว่าทำ คือ ทำโดยไม่เจตนา


    กรรมจัดตามกาลที่ให้ผลมี 4 ชนิด คือ

    1. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน

    2. อุปัชชเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไปถัดจากชาติปัจจุบัน

    3. อปราปรเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลหลังจากอุปัชชเวทนียกรรม คือให้ผลเรื่อยไปสบโอกาสเมื่อใดให้ผลเมื่อนั้น

    4. อโหสิกรรม - กรรมที่ไม่ให้ผล เลิกแล้วต่อกัน
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 4 รายละเอียดของกรรม

    เมื่อกรรมนำไปปฏิสนธิในภพใหม่ คือคนที่ทำกรรมดีไว้ย่อมไปเกิด ในภพที่ดี คนทำกรรมชั่วไว้มากไปเกิดในภพที่ชั่ว กรรมที่ส่งให้เกิดนั้น เรียกว่า ชนกกรรม (ชนก-ให้เกิด) สมมติว่าชนกกรรมฝ่ายดีส่งเขาให้เกิดในตระกูลที่ดี มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินสมบัติและบริวาร มีตระกูลสูง เขาเกิดเช่นนั้นแล้วไม่ประมาท หมั่นหาทรัพย์เพิ่มเติม รักษาทรัพย์เก่าให้มั่นคง มีความเคารพนบนอบต่อผู้ควรเคารพ ถนอมน้ำใจบริวารด้วยการสงเคราะห์ เอื้อเฟื้อ พูดจาไพเราะ ทำประโยชน์ให้และวางตนเหมาะสม การกระทำ เช่นนั้นเป็นอุปถัมภกกรรม ช่วยส่งเสริมผลของกรรมดีเก่า รวมกับกรรมใหม่ ทำให้เขามั่งคั่งมากขึ้น มีบริวารดีมากขึ้น

    ตรงกันข้าม ถ้าเขาได้ฐานะเช่นนั้นเพราะกุศลกรรมในอดีตส่งผลให้ แล้วเขามัวเมาประมาท ผลาญทรัพย์สินด้วยอบายมุขนานาประการเช่นเกียจคร้านทำการงานและคบมิตรเลว เป็นต้น กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นอุปปีฬกกรรม บีบคั้นเขาให้ต่ำต้อยลงจนสิ้นเนื้อประดาตัว บริวารก็หมดสิ้น ถ้าเขาทำชั่วมากขึ้น กรรมนั้นจะกลายเป็นอุปฆาตกรรม ตัดรอนผลแห่งกรรมดีเก่าให้สิ้นไป กลายเป็นคนล่มจม สิ้นความรุ่งเรืองในชีวิต

    อีกด้านหนึ่ง สมมติว่า บุคคลผู้หนึ่งเกิดมาลำบากยากเข็ญขัดสนทั้งทรัพย์และบริวาร รูปร่างผิวพรรณก็ไม่งาม เพราะอกุศลกรรมในชาติก่อนหลอมตัวเป็นชนกกรรมฝ่ายชั่ว เมื่อเกิดมาแล้วเขาประกอบกรรมชั่วซ้ำเข้าอีก กรรมนั้นมีสภาพเป็นอุปถัมภกกรรมช่วยสนับสนุนกรรมเก่าให้ทวีแรงขึ้น ทำให้ฐานะของเขาทรุดหนักลงไปกว่าเดิม

    แต่ถ้าเขาผู้เกิดมาต่ำต้อยเช่นนั้นแล้วไม่ประมาท อาศัยความเพียรพยายามในทางที่ชอบ ถือเอาความอุตสาหะเป็นแรงหนุนชีวิต รู้จักคบมิตร ดี กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นอุปปีฬกกรรม บีบคั้นผลของอกุศลกรรมเก่าให้เพลากำลังลง เขามีความเพียรในทางที่ชอบมากขึ้น ขวนขวายในทางบุญกุศลมากขึ้น กรรมของเขาแปรสภาพเป็นอุปฆาตกรรมหรืออุปัจเฉทกกรรม ตัดรอนผลแห่งอกุศลกรรมเก่าให้ขาดสูญ จนในที่สุดเขาเป็นคน ตั้งตนได้ดี มีหลักฐานมั่นคง

    ที่กล่าวมานี้ คือกรรมที่จัดตามหน้าที่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าหน้าที่ของกรรม ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ให้เกิด อุปถัมภ์ บีบคั้น และตัดรอน

    ส่วนกาลที่ให้ผล และแรงหนักเบาของกรรมนั้นมีความสัมพันธ์กัน มาก คือกรรมหนัก (ครุกรรม) ทั้งฝ่ายดี และฝ่ายชั่ว จะให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็น (ทิฏฐธัมมเวทนีย์) ส่วนกรรมที่เป็นอาจิณ หรือพหุลกรรมนั้น ถ้ายังไม่มีโอกาสให้ผลในชาติปัจจุบันก็จะยกยอดไปให้ผลในชาติถัดไป (อุปัชชเวทนีย์) และชาติต่อๆไป (อปราปรเวทนีย์) สุดแล้วแต่โอกาส ที่ท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันเข้าเมื่อใดกัดเมื่อนั้น

    กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต (อาสันนกรรม) นั้น มักให้ผล ก่อนกรรมอื่น เพราะจิตไปหน่วงอารมณ์นั้นไว้แน่นไม่ว่าเป็นฝ่ายดีหรือ ฝ่ายชั่ว กรรมนั้นใกล้จุติจิตและใกล้ปฏิสนธิจิต ท่านว่า แม้บางคราวจะ มีกำลังน้อยก็ให้ผลก่อนกรรมอื่น เปรียบเหมือนรถติดไฟแดง เมื่อไฟเขียวอันเป็นสัญญาณให้รถไปได้เปิดขึ้น รถคันหน้าแม้มีกำลังวิ่งน้อยก็ออกได้ก่อน พอผ่านสี่แยกไปแล้ว รถที่มีกำลังดีกว่าย่อมแซงขึ้นหน้าไปได้

    ในตำรา ท่านเปรียบผลของอาสันนกรรมว่าเหมือนวัวที่ขังรวมกัน อยู่ในคอก รุ่งเช้ามารอกันอยู่ที่ประตูคอก พอนายโคบาล (คนเลี้ยงโค) เปิดประตูคอก วัวตัวใดอยู่ใกล้ประตูที่สุดจะเป็นแม่โค ลูกโคหรือโคแก่ ก็ตาม ย่อมออกมาได้ก่อน แต่เนื่องจากกำลังเพลา พอออกมาในที่โล่งแล้ว วัวตัวใดมีกำลังมากวัวนั้นย่อมเดินขึ้นหน้าไป ผลของอาสันนกรรมให้ผลก่อนก็จริงแต่ให้ผลในระยะสั้น เมื่อสิ้นแรงของอาสันนกรรมแล้วก็เป็นโอกาสของอาจิณณกรรมหรือพหุลกรรมคือกรรมที่ตนทำจนเคยชิน ทำจน เป็นนิสัย

    ส่วนกรรมที่ทำโดยไม่เจตนา ที่เรียกว่า กตัตตากรรม หรือกตัตตาวาปนกรรม สักแต่ว่าทำนั้นให้ผลน้อยที่สุด กำลังเพลาที่สุด เมื่อกรรมอื่นไม่มีจะให้ผลแล้ว กรรมนี้จึงจะให้ผล เป็นเหมือนหนี้รายย่อยที่สุด

    กรรมใดคอยโอกาสให้ผลอยู่ แต่ไม่มีโอกาสเลยจึงเลิกแล้วต่อกัน ไม่ให้ผลอีก กรรมนั้นเรียกอโหสิกรรม เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่เก็บไว้นานเกินไปหรือถูกคั่วให้สุกด้วยไฟเสียแล้ว ไม่มีโอกาสงอกขึ้นได้อีก (เรื่องนี้ มีรายละเอียดเพิ่มเติมตอนที่ว่าด้วย กรรมจะหยุดให้ผลด้วยเหตุ ๓ ประการข้างหน้า) กรรมเป็นเรื่องสลับซับซ้อนมาก แต่ผู้มีปัญญาก็พอตรองตามให้เห็นจริงได้ เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ยากเกินไปจน ตรองตามด้วยปัญญาแล้วก็ไม่เห็น และไม่ง่ายเกินไปจนไม่ต้องตรองตาม ก็เห็นกรรมบางอย่างบุคคลทำโดยไม่เจตนาก็จริง แต่ก่อผลสุขและทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้ ผู้ทำกรรมเช่นนั้นย่อมได้รับผลตอบแทนมาในทำนองเดียวกัน คือได้รับสุขหรือทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นโดยปราศจากเจตนาของผู้อื่น เช่นเขา ยิงนกแต่ไปถูกคนเข้า หรือเขายิงคนอื่น ไพล่ไปถูกอีกคนหนึ่งโดยเหตุ บังเอิญ นี้เป็นผลแห่งกตัตตากรรม
    บุคคลหนึ่งโยนก้อนหินลงไปทางหน้าต่าง บังเอิญก้อนหินนั้นไปถูกคนหนึ่งเข้า หัวแตก กรรมของเขาเป็นกตัตตากรรม เมื่อถึงคราวที่กรรมนี้จะให้ผล ย่อมให้ผลในทำนองเดียวกัน

    ในฝ่ายดี เช่น บุคคลผู้หนึ่งเอาของเหลือไปเททิ้งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใคร แต่บังเอิญสุนัขมาได้อาศัยกินรอดชีวิตไปได้ กรรมนั้นของเขาเป็น กตัตตากรรม เมื่อถึงคราวเขาจะได้รับผลแห่งกรรมนั้น ย่อมได้รับในทำนองเดียวกัน จริงอยู่ พระพุทธองค์ตรัสว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” นั้น หมายเอากรรมอื่นทั้งปวง ยกเว้นกตัตตากรรม กรรมอย่างเดียวทำหน้าที่หลายอย่าง

    บางทีกรรมอย่างเดียวกันนั่นเอง เรียกชื่อต่างออกไปตามหน้าที่ กาล และความหนักเบา ตัวอย่างเช่น การฆ่ามารดาบิดาจัดเป็นกรรมหนัก (ครุกรรม) เมื่อให้ผลในปัจจุบัน เช่นถูกฆ่าตอบ หรือต้องถูกจองจำได้รับทุกข์ทรมานในชาติปัจจุบัน พอเขาสิ้นชีพลงไปเสวยทุกข์ในนรก กรรมนั้นเป็นอุปัชชเวทนียกรรม กรรมนั้นเที่ยวติดตามให้ผลอยู่ภพแล้วภพเล่า กรรมนั้นเป็นอปราปรเวทนียกรรม เมื่อให้ผลจนเต็มที่แล้วสมควรแก่เหตุแล้ว ก็เลิกให้ผล หรือผู้ทำกรรมนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์เสียก่อน สิ้นชาติ สิ้นภพแล้วกรรมนั้นตามให้ผลไม่ได้อีก จึงกลายเป็นอโหสิกรรม เปรียบเหมือนบุคคลคนเดียวเรียกได้หลายอย่าง เช่น เป็นลูกของพ่อแม่ เป็นพ่อของลูก เป็นสามีของภรรยา เป็นนายของลูกน้อง เป็นครูของศิษย์ เป็นต้น

    กรรมที่บุคคลทำแล้ว จะให้ผลครั้งเดียวพ้นไปก็หาไม่ ย่อมตามให้ผลครั้งแล้วครั้งเล่า ชาติแล้วชาติเล่าจนกว่าจะสิ้นแรงหมดไป เปรียบเหมือนต้นไม้ที่บุคคลปลูกไว้เพียงครั้งเดียว แต่ให้ผลเป็นร้อยๆ ครั้งจนกว่าจะตายไป ส่วนอาสันนกรรม คือกรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนตาย จะเป็นฝ่ายดี ฝ่ายชั่วก็ตาม ที่ว่าให้ผลก่อนนั้นเพราะมีช่วงใกล้ชิดกับการปฏิสนธิในภพใหม่ จึงให้ผลทันทีในขณะที่บุคคลเคลื่อนจากภพเก่าสู่ภพใหม่นั่นเอง แต่ให้ผลในระยะสั้นดังกล่าวแล้ว การตามให้ผลยั่งยืนเป็นหน้าที่ของ อาจิณณกรรม คือกรรมที่บุคคลทำเป็นประจำ

    สมมติว่า บุคคลผู้หนึ่งทำความดีด้วยกาย วาจา ใจเป็นอันมาก หมั่นประกอบบุญกุศลตลอดชีวิต แต่ชีวิตปุถุชนย่อมเคยประกอบกรรมชั่วมาบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าในขณะใกล้ตายเขามิได้ระลึกถึงบุญกุศลของเขาเลย กลับระลึกแต่บาปเล็กน้อยที่เคยทำ แรงบาปนั้นจะให้ผลทันที ส่งให้เขาถือปฏิสนธิในกำเนิดที่ต่ำทราม เช่นนรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะลำบากยากเข็ญอยู่ชั่วระยะหนึ่งเพียง ๗ วัน ๑๕ วัน หรือ ๑ เดือน ๑ ปี เป็นอาทิ แล้วผลแห่งอกุศลกรรมนั้นจะหมดกำลัง เปิดโอกาสให้ผลบุญกุศลที่เขาเคยสั่งสมไว้เป็นประจำให้ผลต่อไป เขาจะประสบความสุขความเจริญได้ที่พึ่งที่พักพิงอย่างดี และมีความสุขตลอดชีวิตใหม่

    ในทางตรงกันข้าม บุคคลอีกผู้หนึ่งทำความชั่วเป็นอาจิณ แต่ถึงกระนั้น เขาก็เคยทำกรรมดีมาบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อเวลาจวนตาย เขาระลึกถึงแต่กรรมดีที่เคยทำ เช่นเคยถวายอาหารแด่พระสงฆ์ เคยช่วยเหลือ คนเจ็บ เคยช่วยชีวิตสัตว์ให้รอดตายเป็นต้น เขามิได้ระลึกถึงกรรมชั่ว ระลึกถึงแต่กรรมดีนั้น หรือญาติพี่น้องให้เขาได้ให้ทาน รักษาศีล เจริญพระพุทธคุณในขณะนอนเจ็บเตรียมตัวตายอยู่ เขาระลึกถึงแต่ความดี แม้เพียงเล็กน้อยนี้ หากตายลงในขณะจิตเช่นนั้น เขาจะต้องไปถือปฏิสนธิในกำเนิดที่ดีก่อน แต่เนื่องจากผลแห่งกรรมดีน้อยมาก จึงหย่อนกำลังให้ผลเพียงเล็กน้อยแล้วหมด จึงเปิดโอกาสให้กรรมชั่วต่างๆ ที่เขาเคยทำไว้รุมล้อมให้ผลต่อไป ทำให้เขาต้องรับทุกขเวทนา ประสบความเสื่อมต่าง ๆ แม้เขาพยายามทำดีมากที่สุด แต่แรงแห่งอกุศลกรรมในอดีตคอยรังควานให้รำคาญเดือดร้อนอยู่ร่ำไป เพราะไม่มีแรงใดเสมอด้วยแรงกรรม


    คนที่ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ กรรมที่ทำเมื่อจวนตาย มีความหมายมากสำหรับเขา เหมือนแผ่นกระดาษที่ว่างเปล่า สีอะไรตกลงไปก็เด่นชัดมาก
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 5 การมองไม่เห็นกรรม

    กรรมดีหรือชั่วจะคอยติดตามบุคคลผู้ทำอยู่เสมอเหมือนเงาตามตัว แต่การที่คนมองไม่เห็นการตามของกรรมก็เพราะดำเนินชีวิตอยู่ในทางมืด เหมือนบุคคลไม่เห็นผู้ติดตามตนอยู่ในที่มืด พอเข้าสู่ที่สว่าง ถ้าเขาเหลียวไปมอง ย่อมเห็นได้ บุคคลที่ได้รับการอบรมจิตให้สงบ สะอาด และสว่างขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งมองเห็นกรรมและผลของกรรมละเอียดประณีตขึ้นเท่านั้น

    แต่กรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อสุกงอมเต็มที่แล้ว มันมีระยะฟักตัวตามสมควร บุคคลผู้มีปัญญาน้อยจึงเห็นได้ยาก อนึ่งชีวิตของมนุษย์สั้นเกินไป เพียงชีวิตเดียวไม่เพียงพอในการพิสูจน์กรรมให้ตลอดได้ การฟักตัวของกรรมก็เหมือนการมีครรภ์ของสตรี เมื่อครบกำหนดจึงคลอด หรือเหมือนการสุกของผลไม้ ย่อมต้องอาศัยเวลาตามสมควร การรอคอยของกรรมอาจใช้เวลาเป็นร้อยปี พันปี หรือหมื่นปีก็ได้ แม้รอคอยนานถึงปานนั้น และมีความสลับซับซ้อนมากเพียงใด กรรมก็สามารถหาตัวผู้ทำได้ถูกต้องเสมอ ท่านเปรียบเหมือนลูกโคแม้จะรวมอยู่ในฝูงโคเป็นอันมากก็สามารถหาแม่ของมันพบ หรือเหมือนเด็กที่รู้เดียงสาแล้ว ย่อมจำแม่ของตนได้

    ดังนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดีเป็นเครื่องตอบแทน ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว การที่บุคคลลังเลสงสัยในเรื่องนี้ ก็เพราะไปตัดสินเอาตามปรากฏการณ์บางอย่างภายนอก อันมีลักษณะเป็นมายา หลอกหลอน

    คนที่ทำความชั่วไว้มาก ความชั่วจะคอยรบกวนจิตใจของเขาให้กังวลอยู่เสมอ แม้จะปรากฏแก่คนอื่นให้ดูเหมือนว่ามีความสุข แต่ภายในใจของเขาเอง ใครจะเป็นคนรู้ว่ามีสุขทุกข์อันใดทับถมอยู่บ้าง

    คนที่ชอบบ่นว่า ทำดีไม่ได้ดี นั้น อาจเป็นเพราะเขาทำดีไม่ถูกต้อง หรือทำดีไม่เป็น หรือมิฉะนั้นก็ใจร้อนเกินไป ตีโพยตีพายอยากได้ผลเร็วๆ ในขณะที่ความดียังไม่ทันให้ผล

    การทำดีเป็นหน้าที่ของบุคคลผู้รักดี ส่วนการให้ผลเป็นหน้าที่ของ กรรม เหมือนการไถหว่านเป็นหน้าที่ของชาวนา ส่วนการออกรวงเป็นหน้าที่ของต้นข้าว ย่อมออกรวงตามเวลาอันสมควร เมื่อยังไม่ถึงเวลาอันสมควร จะอ้อนวอนสักเท่าไรก็หาสมปรารถนาไม่ แต่พอถึงเวลาออกรวง ใครจะอ้อนวอนไม่ให้ออกก็ไม่ได้ เรื่องการให้ผลของกรรมก็ทำนองเดียวกันนี้
    ผลของกรรมชั่วคอยติดตามบีบคั้น ส่วนผลของกรรมดีคอยติดตามประคับประคองช่วยเหลือผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ การมองชีวิตต้องมองในระยะยาวและกว้างไกล จึงจะเป็นวิถีชีวิตโดยตลอด
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 6 ทำบุญละลายบาปได้จริงหรือไม่

    มีปัญหาที่คนทั่วไปสนใจมากอยู่ข้อหนึ่ง คือการทำบุญล้างบาปหรือทำบุญละลายบาป จะได้หรือไม่? การทำบุญละลายบาปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือใช้ความดีละลายความชั่วให้เจือจาง เช่นความชั่วเกิดขึ้นในใจ เมื่อความดีเกิดขึ้น ความชั่วย่อมถอยไป ถ้าความดีเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ให้โอกาสแก่ความชั่ว ความชั่วก็เกิดขึ้นไม่ได้ เรียกว่าเอาความดีมาไล่ความชั่วหรือละลายความชั่ว

    อีกอย่างหนึ่ง ความชั่วที่บุคคลทำลงไปแล้วซึ่งจะต้องมีผลในโอกาสต่อไป ถ้าผู้นั้นเร่งทำความดีให้มากขึ้นจนท่วมท้นความชั่ว ผลของกรรมชั่วนั้นก็จะค่อยๆ จางลงจนไม่มีอานุภาพในการทำอันตรายให้ทุกข์ เปรียบเหมือนกรด (เอซิด) ซึ่งมีคุณสมบัติทำลายชีวิตได้ แต่ถ้าเติมด่าง(อัลคอไลน์) ลงไปเรื่อยๆ กรดนั้นก็เจือจางลง หมดคุณสมบัติในการทำลายให้โทษ เปรียบอีกอย่างหนึ่ง เหมือนเกลือกับน้ำ สมมติว่าเอาเกลือกำมือ หนึ่งใส่ลงไปในน้ำแก้วหนึ่ง น้ำนั้นจะเค็มมากเพราะน้ำน้อย แต่ถ้าเราเอาเกลือจำนวนนั้นใส่ลงไปในถังน้ำใหญ่ๆ ความเค็มจะไม่ปรากฏแม้เกลือจะยังมีอยู่เท่าเดิม มันกลายเป็นมีเหมือนไม่มี ที่ทางพระท่านเรียก “อัพโพ หาริก” แปลว่า “มีเหมือนไม่มี” เรียกไม่ได้ว่ามีหรือไม่มี เหมือนน้ำในก้อนดินแห้งหรือในเนื้อไม้ เรารู้ได้ว่ามีความชื้นอันเป็นคุณสมบัติของน้ำ เมื่อ เราจุดไฟเผามีควันขึ้นมา เอาน้ำเกลือในแก้วซึ่งเค็มมากนั้น เทลงไปในถังใหญ่ๆ แล้วเติมน้ำ ลงไปเรื่อยๆ โดยไม่เติมเกลือ ในที่สุดน้ำนั้นจะไม่ปรากฏความเค็มเลย เพราะจำนวนน้ำเหนือจำนวนเกลือมากนัก ข้อนี้ฉันใด การทำความดี ละลายความชั่ว หรือละลายผลแห่งกรรมชั่วก็เป็นฉันนั้น ในที่นี้ความชั่วเปรียบเหมือนเกลือ ความดีเปรียบเหมือนน้ำ ในทางกลับกัน กรรมดีเล็กน้อยอาจถูกกรรมชั่วละลายได้เช่นกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีพระพุทธภาษิตอ้างอิงดังนี้

    “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรม นั้นนำเขาไปสู่นรก บางคนทำบาปเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน แต่บาปนั้นให้ผลเพียงในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น (ทิฏฺฐธมฺมเวทนียํ) ไม่ปรากฏผลอีกต่อไป”

    “บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก? คือบุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต มิได้อบรมปัญญา มีคุณธรรมน้อย ใจต่ำ บุคคลเช่นนี้แหละ ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก “บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อย แต่บาปนั้นให้ผลอันแสบเผ็ดเพียงในชาติปัจจุบันแล้วไม่ให้ผลอีกต่อไป? คือบุคคลผู้ได้อบรมกายแล้ว อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณธรรมมาก มีใจใหญ่อยู่ด้วยคุณ มีเมตตาเป็นต้น อันหาประมาณมิได้

    <SB>“เปรียบเหมือนบุคคลใส่ก้อนเกลือลงไปในจอกน้ำเล็กๆ น้ำนั้นย่อมเค็ม เพราะน้ำน้อย แต่ถ้าใส่ก้อนเกลือนั้นลงไปในแม่น้ำคงคา น้ำในแม่น้ำคงคาจะไม่เค็มเพราะก้อนเกลือนั้นเลย เพราะน้ำมีมาก ฉันใด</B>

    “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำบาปเล็กน้อย บาปนั้นนำเขาไปสู่นรก (เพราะเขามีคุณน้อย) บางคนทำบาปเล็กน้อย บาปนั้นให้ผลเพียงในปัจจุบัน ไม่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป (เพราะเขามีคุณมาก) ฉันนั้น” 1 คนที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเพียงเล็กน้อยเหมือนน้ำในถ้วยเล็กๆ เมื่อทำบาป บาปย่อมให้ผลมาก ส่วนคนมีคุณมากเหมือนน้ำใน แม่น้ำ เมื่อทำบาป บาปให้ผลเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่ให้ผลเลยก็ได้ คุณธรรมหรือความดี จึงมีอานุภาพทำลายบาป ล้างบาปไปในตัว

    บุคคลยิ่งมีคุณธรรมสูงมากขึ้นเพียงใด โอกาสที่จะล้างบาปหรือละลายบาปก็มีมากขึ้นเพียงนั้น เพราะคุณความดีหรือความบริสุทธิ์ของใจ นั้น มีคุณสมบัติ มีอานุภาพในการทำลายบาป ดังพระพุทธภาษิตว่า

    “หม้อที่คว่ำ ย่อมคายน้ำออก ไม่ทำให้น้ำไหลเข้าไปข้างใน ฉันใดผู้อบรมแล้ว ทำให้มากแล้วซึ่งอริยมรรคมีองค์ 8 ก็ย่อมคายบาปคายอกุศลธรรมออก ไม่ให้บาปอกุศลธรรมเข้าไปข้างใน ฉันนั้น”

    2 “ผู้มีกายสะอาด วาจาสะอาด ใจสะอาด ไม่มีอาสวะ คือกิเลสที่ หมักหมม นักปราชญ์เรียกผู้สะอาด สมบูรณ์ด้วยความสะอาดเช่นนั้นว่าเป็นผู้ล้างบาปได้”

    3 ด้วยประการดังกล่าวมานี้ แสดงว่าการทำความดีละลายความชั่ว ในใจ และการทำความดีละลายผลแห่งกรรมชั่วที่ทำลงไปแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนผู้เคยผิดพลาดได้กลับตัว

    <SB>ในเรื่องชีวิตธรรมดา</B> สมมติว่ามีใครคนหนึ่งเคยทำความเดือดร้อนเจ็บช้ำใจให้แก่เรา ต่อมาเขารู้สึกตัวรีบทำความดีต่อเรา และทำเป็น การใหญ่ เราเห็นใจเขา กลับรักเขา ให้อภัยในความผิดพลาดของเขา จริง อยู่สิ่งที่เขาทำลงไปแล้วนั้นก็เป็นอันทำแล้ว ทำคืนไม่ได้ แต่ความดีใหม่ที่ เขาทำลงไปเป็นอันมากนั้นย่อมมีผลลบล้างความชั่วได้ นอกจากนั้นยังมีกำไรเสียอีก

    อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนคนเคยเป็นหนี้ เมื่อได้ใช้หนี้แล้ว ใช้หมดแล้วยังมีเงินเหลือให้ผู้ที่เขาเคยเป็นหนี้อีกมากมาย อย่างนี้เจ้าหนี้ย่อมจะพอใจเป็นอันมาก เขาได้ชื่อว่าเคยเป็นหนี้เท่านั้น หนี้สินหาได้ติดตัวเขาอยู่จนบัดนี้ไม่ การทำชั่วเหมือนการก่อหนี้ ส่วนการทำดีเหมือนการปลดเปลื้องหนี้ และการให้หนี้ การทำความดีจึงดีกว่าการทำชั่ว

    อีกตอนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงปรารภพระองคุลิมาลแล้วตรัสว่า “บาปกรรมที่บุคคลทำแล้ว ย่อมละเสียได้ด้วยกุศลกรรม บุคคลเช่นนั้นย่อมยังโลกให้สว่างเหมือนดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น”

    นี้แสดงว่า บุคคลสามารถละลายหรือล้างบาปกรรมด้วยกุศลกรรมได้ ความจริงเรื่องนี้ ทำให้ผู้ที่เคยทำชั่ว มีกำลังใจในการทำความดีในการกลับตัว ไม่ถลำลึกลงไปในความชั่ว คนที่เคยทำความชั่วมา ถ้าเขารู้สึกตัวแล้วและพยายามทำความดี อาจทำความดีได้มากกว่าและเป็นคนดี ได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยทำชั่วมาเสียอีก

    <SB> “การทำผิดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์</B> แต่ถ้าค้นพบความผิดแล้วแก้ไขและตั้งใจว่าจะไม่ทำอีกเป็นซ้ำสอง ก็น่ายกย่องนับถือยิ่งขึ้น”1 รวมความว่า ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น บาปย่อมล้างได้ด้วยบุญ กรรมชั่วล้างได้หรือละลายได้ด้วยกรรมดี แต่ต้องใช้เวลานาน กุศลกรรม ที่แรงๆ เช่น อรหัตมรรค อรหัตผล สามารถลบล้างความชั่วในใจได้หมด และมีอานุภาพห้ามผลแห่งกรรมชั่วเก่าๆ ที่เคยทำมาแล้วได้หมดสิ้น จะให้ผลอยู่บ้างก็เฉพาะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น พอท่านนิพพานแล้วผลกรรมต่าง ๆ ก็เป็นอโหสิกรรมไปหมดสิ้น
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 7 ก่อนให้ผลบุญ บาปอยู่ที่ใด


    สาเหตุแห่งความฝัน ๔ ประการ คือ

    1. กรรมนิมิต -กรรมดีหรือชั่วในอดีต จะมาให้ผล

    2. จิตนิวรณ์ หรือ จิตอาวรณ์ -จิตไปผูกพันอยู่กับสิ่งใดมากๆ ก็อาจฝันถึงสิ่งนั้นได้

    3. เทพสังหรณ์ -เทวดานำข่าวมาบอก อาจเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายก็ได้

    4. ธาตุกำเริบ -ร่างกายไม่ปกติ อาจทำให้ฝันไปได้แปลกๆ

    อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บุญหรือบาปที่บุคคลทำแล้ว เมื่อยัง ไม่ให้ผล มันไปอยู่ที่ใด? ตอบว่ามันติดตามผู้ทำอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่มองไม่เห็น แต่บางที เมื่อกรรมจะให้ผล กรรมนั้นมาปรากฏในความฝันก่อนก็มี ที่ท่านเรียกว่า กรรมนิมิต เป็นหนึ่งในสาเหตุแห่งความฝัน 4 ประการหนึ่ง คนที่จะตายด้วยอุปัทวเหตุมักฝันอะไรบางอย่างที่ทำให้เจ้าตัว ไม่สบายใจ หรือมีความสังหรณ์ใจแปลกๆ นั่นแสดงถึงอิทธิพลแห่งกรรมซึ่งเตือนบุคคลผู้นั้นล่วงหน้าก่อน ผู้มีจิตบริสุทธิ์บางคนสามารถรู้วันตายของตนล่วงหน้าเป็นเวลาหลายๆ วัน หลายๆ เดือน พระพุทธเจ้าเองก็ทรง กำหนดวันปรินิพพานของพระองค์ล่วงหน้าไว้ 3 เดือน

    อนึ่ง ถ้าเราพิจารณาถึงธรรมชาติบางอย่าง เช่น ต้นไม้มีผล อาทิ มะม่วง เมื่อมันยังไม่ออกผล ผลนั้นไปอยู่ที่ใด เมื่อมันออกผลคราวหนึ่งแล้วปีหน้ามันจะต้องออกอีก ผลซึ่งจะออกในปีหน้านั้นไปรออยู่ที่ใด?

    เรื่องต้นมะม่วงกับผลมะม่วง ฉันใด เรื่องกรรมกับผู้ทำกรรม ก็ฉันนั้น กรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อถึงคราวถึงสมัย เมื่อมันสุกงอมเต็มที่เท่านั้น กรรมดีหรือชั่วมิได้ให้ผลครั้งเดียวพ้นไป แต่จะส่งผลอยู่เสมอๆ จนกว่าจะหมดแรงของมัน เหมือนมะม่วงให้ผลทุกปี จนกว่าต้นมันจะแก่ล้มตายไปในที่สุด

    อีกอย่างหนึ่ง คนที่ทำกรรมลงไปแล้ว วิบากแห่งกรรมสั่งสมอยู่ในจิตใจของตน เมื่อสั่งสมมากเข้า ถึงเวลาที่วิบากกรรมจะให้ผลเสียครั้งหนึ่งก่อน สมมติว่าเป็นกรรมชั่ว วิบากของกรรมชั่วที่มีอยู่ในสันดานจะเป็นสิ่งบันดาล โดยจูงใจให้บุคคลนั้นพูด คิด หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลร้ายนั้นๆ ถ้าเป็นกรรมดีก็มีผลตรงกันข้าม คือวิบากของกุศลกรรม อันมีอยู่ในสันดานจะเป็นสิ่งบันดาล โดยจูงใจให้ผู้นั้นพูด คิด หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลดีนั้นๆ วิบากแห่งกรรมจึงเป็นสิ่งมองไม่เห็นตัว ที่น่ากลัวที่สุด บางทีวิบากแห่งกรรมส่งความตายมาถึงบุคคลหนึ่ง มาคุมไปจากในบ้านโดยที่ตัวเขาเองก็มองไม่เห็น พี่น้อง ลูกเมียก็ไม่เห็น แต่ทำให้เขารู้สึกร้อนใจอยู่ในบ้านไม่ได้ ต้องออกไปนอกบ้าน ทั้งๆ ที่ไม่มีธุระจำเป็นแต่ประการใด อีก 10 นาทีต่อมาปรากฏว่าถูกรถชนตายเสียแล้ว หรือได้รับอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งอันสมควรแก่กรรม
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 8 การหยุดให้ผลของกรรม


    กรรมจะหยุดให้ผลด้วยเหตุ 3 ประการ คือ

    1. หมดแรง คือให้ผลจนสมควรแก่เหตุแล้ว เหมือนคนได้รับโทษ จำคุก 2 ปี เมื่อถึงกำหนดแล้วเขาย่อมพ้นจากโทษนั้น นอกจากในระหว่าง 2 ปีที่ถูกจองจำอยู่ เขาจะทำความผิดซ้ำเข้าอีก ถ้าในระหว่างถูกจองจำอยู่ เขาทำความดีมาก อาจได้ลดโทษลงเรื่อยๆ การให้ผลของกรรมก็ทำนองเดียวกัน โดยปกติธรรมดามันจะให้ผลจนหมดแรง นอกจากเวลาที่กำลังให้ผลอยู่นั้น บุคคลผู้นั้นทำชั่วเพิ่มขึ้น มันก็จะให้ผลรุนแรงมากขึ้น ถ้าเขาทำความดีมากขึ้น ผลชั่วก็จะเพลาลงในขณะที่กรรมดีกำลังให้ผล ถ้าเขา ทำดีเพิ่มขึ้น ผลดีก็จะมีกำลังมากขึ้น ถ้าเขาทำกรรมชั่วในขณะนั้น ผลของกรรมดีก็จะเพลาลง

    2. กรรมจะหยุดให้ผลเมื่อกรรมอื่นเข้ามาแทรกแซงเป็นครั้งคราว คือกรรมดีจะหยุดให้ผลชั่วคราวเมื่อบุคคลทำกรรมชั่วแรงๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมชั่วอันมีกำลังเชี่ยวกรากนั้นให้ผลก่อน ถ้าขณะที่กรรมชั่วกำลังให้ผลอยู่ มันจะหยุดให้ผลชั่วคราวเมื่อบุคคลผู้นั้นทำกรรมดีแรงๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กรรมดีให้ผลก่อน นี่หมายเฉพาะที่จำเป็นและเร่งด่วน เท่านั้น โดยปกติเมื่อกรรมอย่างหนึ่งให้ผลอยู่ กรรมอื่นๆ ก็จะรอคอย เปรียบเหมือนเมื่อพระราชามีพระราชภารกิจบางอย่างอยู่ หากมีราชกิจอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่รีบด่วนนัก ราชบุรุษหรืออำมาตย์มนตรีย่อมพักราชกิจนั้นไว้ก่อน จะนำความกราบบังคมทูลต่อเมื่อราชกิจที่ทรงอยู่ (เช่นทรงต้อนรับแขกเมืองอยู่) เสร็จไปแล้ว ถ้าหากเป็นราชกิจรีบด่วนจริงๆ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็สามารถนำความกราบบังคมทูลได้ทันที การรับสั่งด้วยแขกเมืองก็ต้องหยุดไว้ก่อน

    ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการยากที่จะเข้าใจหรือเห็นกรรมและผลของกรรมโดยตลอดในช่วงชีวิตเดียว ฉะนั้น เรื่องกรรมและสังสารวัฏจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าใจเรื่องกรรมโดยตลอดต้องพูดกันเรื่องสังสารวัฏ เมื่อมีสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องสาวไปหากรรมดีกรรมชั่วในอดีต จึงจะสมบูรณ์

    3. บุคคลผู้ทำกรรมได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดวัฏฏะคือการ เวียนว่ายตายเกิดเสียได้ มีชีวิตอยู่เป็นชาติสุดท้าย ไม่เกิดในภพใหม่อีก กรรมย่อมหมดโอกาสให้ผลอีกต่อไป วิญญาณของท่านผู้นั้นบริสุทธิ์หมด เชื้อ เหมือนเมล็ดพืชที่สิ้นยางเหนียวแล้ว ปลูกไม่ขึ้นอีกต่อไป กรรมจะมีโอกาสให้ผลอยู่บ้างก็เฉพาะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เช่นกรรมของพระมหาโมคคัลลานะ กรรมของพระองคุลิมาลเป็นอาทิ เมื่อท่านนิพพาน แล้ว กรรมต่างๆ ทั้งดีและชั่ว ไม่ว่ารุนแรงเพียงใดก็หมดโอกาสให้ผลเปรียบเหมือนบุคคลวิ่งหนีสุนัข สามารถว่ายน้ำข้ามไปฝั่งโน้นได้แล้ว เหลือวิสัยของสุนัขที่จะไล่ตามไปได้ เมื่อบุคคลผู้นั้นไม่กลับมาสู่ฝั่งนี้อีก สุนัขซึ่งเฝ้าคอยอยู่ก็จะตายไปเอง

    อนึ่ง ความไม่ควรแก่การเกิดอีกของบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงสุดเพราะได้พัฒนาจิตอย่างดีที่สุดแล้วนั้น เปรียบเหมือนเมล็ดพืชซึ่งได้พัฒนาตัว มันเองอย่างดีที่สุดแล้วจนเมล็ดลีบเนื้อมาก เมล็ดพืชเช่นนั้นนำไปปลูก ไม่ขึ้นอีก ไม่ว่าได้ดินได้น้ำดีเพียงใด เป็นการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดของเมล็ดพืชเช่นนั้น
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 9 กรรมมีผลเนื่องถึงผู้อื่น


    ปัญหาอีกประการหนึ่งที่น่าพิจารณา คือ ความดี ความชั่ว ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ มีเฉพาะตน หรือคนอื่นอาจทำให้เราบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองได้

    ถ้าความดี ความชั่ว ใครทำ ใครได้ ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้แล้ว ไฉนเล่าเมื่อมารดาบิดาเป็นคนดี ลูกหลานจึงได้รับเกียรติ ได้รับความยกย่องนับถือด้วย เมื่อมารดาบิดาไม่ดี ตระกูลไม่ดี เหตุไรบุตรธิดาและคนในตระกูลจึงต้องได้รับอัปยศด้วย หรือเมื่อมารดาบิดามั่งมีหรือยากจน บุตรธิดาจึงพลอยมั่งมีหรือยากจนไปด้วย ความไม่บริสุทธิ์อาจป้ายสีกันได้ ความบริสุทธิ์อาจประกาศยกให้กันได้

    ถ้าเป็นดังที่ว่านี้ก็น่าจะขัดแย้งกับพระพุทธภาษิตที่ว่า “สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้” ขออธิบายข้อความนี้ดังต่อไปนี้ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน ใครอื่นจะทำอีกคนหนึ่งให้บริสุทธิ์ไม่ได้” นั้น หมายความว่า บุคคลทำชั่วเองย่อมเศร้าหมองเอง ทำดีเองย่อมผ่องแผ้วเอง ทรงหมายถึงความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ชั้นใน-ภายในความรู้สึกสำนึกของตน ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ที่คนอื่นถือว่าบริสุทธิ์หรือความเศร้าหมองที่คนอื่นเขาป้ายสีให้

    สมมติว่า คนผู้หนึ่งฆ่าคนตาย แม้จะไม่มีใครรู้เห็น เขาผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ในข้อนี้ ส่วนอีกคนหนึ่งไม่ได้ฆ่าใคร แต่หลักฐานภายนอกผูกมัดเพราะถูกใส่ความ เขาต้องได้รับโทษทางกฎหมายเช่นถูกจำคุกหรือถูกปรับ คนทั้งหลายเห็นว่าเขาเป็นอาชญากรหรือฆาตกร แต่ในความเป็นจริงเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ความเป็นจริงกับปรากฏการณ์ภายนอกมิใช่จะตรงกันเสมอไป ในกรณีดังกล่าวจะเห็นว่าความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตนจริง คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองหาได้ไม่ พระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกใส่ความเรื่องนางสุนทรีและนางจิญจมาณวิกา คนเชื่อไปก็มาก แต่ความบริสุทธิ์ยังเป็นของพระองค์อยู่ตลอดเวลา

    ส่วนความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ในสายตาของคนทั้งหลายอื่น และในสายตาของศาลนั้นไม่แน่เสมอไป คนผิดแท้ ๆ อาจกลายเป็นคนบริสุทธิ์ได้ เมื่อหลักฐานที่จะเอาผิดไม่เพียงพอ คนถูกคนบริสุทธิ์แท้ ๆ อาจกลายเป็นคนไม่บริสุทธิ์ได้ ถ้าหลักฐานที่ผู้อื่นสร้างขึ้นมีมากพอที่จะปรักปรำให้เขาต้องเป็นคนผิดในสายตาของศาล เพราะศาลย่อมพิจารณาคดีตามหลักฐานพยานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย แล้วลงความเห็นไปตามหลักฐานนั้น

    คราวนี้ เรื่องความดีความชั่วหรือบุญบาปที่บุคคลหนึ่งทำแล้ว ผลมาเกี่ยวเนื่องถึงอีกบุคคลหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะชีวิตของคนเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องถึงกัน อย่างที่โบราณว่า “ปลาข้องเดียวกัน มักต้องเน่าเหม็นด้วยกัน” หรือ “ของหอมมักทำให้เครื่องรองรับพลอยหอมไปด้วย”


    เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ เราควรพิจารณากรรมต่างๆ ดังนี้
    1. กรรมส่วนบุคคล
    2. กรรมของครอบครัว
    3. กรรมของหมู่คณะหรือสังคม
    4. กรรมของประเทศชาติ
    5. กรรมของโลก

    กรรมส่วนบุคคล นั้น ใครทำคนนั้นได้รับเพียงคนเดียว คือเขาทำประโยชน์ส่วนตนของเขา เช่นการศึกษาหาความรู้ ใครทำคนนั้นก็ได้รับเฉพาะตน เขาศึกษาเล่าเรียนเพียงคนเดียว จะให้ญาติพี่น้องพ่อแม่ ผู้ไม่ศึกษาเล่าเรียนพลอยรู้ไปด้วยหาได้ไม่ ต่อเมื่อเขารู้แล้วนำความรู้มาสั่งสอนบอกเล่า นั่นแหละคนอื่นจึงจะพลอยรู้ไปด้วย

    แต่เมื่อกล่าวโดยอ้อม เขาผู้ศึกษาสูง มีความรู้ดี ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ อยู่ในครอบครัวใด ในหมู่คณะใด ครอบครัวนั้น หมู่คณะนั้นก็พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย ถ้าเขาใช้ความรู้ประกอบกรรมดีถึงระดับชาติ ชาติก็พลอยได้รับเกียรติ ได้รับประโยชน์จากเขาด้วยเหมือนกัน บางทีเขาทำประโยชน์ระดับโลกอย่างเช่นพระพุทธเจ้าและนักวิทยาศาสตร์บางคน เช่น หลุยส์ ปาสเตอร์ เป็นอาทิ โลกก็พลอยได้รับสิ่งดีงามไว้ประจำโลก เพราะอาศัยอัจฉริยบุคคลเช่นนั้น

    นี่กล่าวในทางดี ในทางชั่วก็ทำนองเดียวกัน คนๆ เดียวอาจทำให้โลกเดือดร้อนได้กรรมของครอบครัว นั้น คือคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน คนใด คนหนึ่งทำดีหรือชั่ว มั่งมีหรือยากจนลง ผลย่อมตกแก่ครอบครัวด้วย เช่น พ่อแม่ทำดีมีชื่อเสียง ลูกๆ ก็พลอยมีหน้ามีตา พ่อแม่ยากจนลง ลูกๆ ก็พลอยลำบากไปด้วย ฯลฯ

    กรรมของหมู่คณะหรือสังคมหรือสถาบัน ก็ทำนองเดียวกัน มีความเกี่ยวเนื่องถึงกัน คนในหมู่คณะเดียวกัน มีความสัมพันธ์กันทางชื่อเสียงเกียรติยศ หรือความเสื่อมอัปยศ อย่านึกว่าเราทำของเราคนเดียว เราอยู่ในสถาบันใด สถาบันนั้นย่อมต้องพลอยเสียชื่อหรือได้ชื่อไปด้วย

    ส่วน กรรมของประเทศชาติ เป็นกรรมระดับชาติ แม้บุคคลผู้เดียวทำ ก็อาจเป็นประโยชน์แก่ชาติทั้งชาติหรือเป็นภัยแก่ชาติได้ ยิ่งผู้ซึ่งเป็น ตัวแทนของชาติเช่นทูต ทำสิ่งใดลงไปย่อมหมายถึงการกระทำของชาติ อีกผู้หนึ่งคือผู้ซึ่งเป็นประมุขของชาติเช่นพระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดี ทำสิ่งใดลงไปย่อมกระทบกระเทือนถึงชาติเสมอ อาจให้คนรักชาตินั้นหรือเกลียดชาตินั้นก็ได้

    อนึ่ง คนมากด้วยกันรวมกันเป็นประเทศชาติ ต่างคนต่างทำกรรมชั่วกันมากบ้างน้อยบ้าง นานๆ เข้าผลแห่งกรรมชั่วรวมกลุ่มกัน เนื่องจากมนุษย์ทำกรรมเหมือนๆกันไม่มีใครลงโทษใครได้ ผลแห่งกรรมรวม บันดาลให้ธรรมชาติลงโทษมนุษย์เสียครั้งหนึ่ง เช่น เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง แผ่นดินไหวบ้านเรือนพังพินาศเสียหายมากมาย เดือดร้อนกัน ทั้งชาติ นี่เป็นกรรมของชาติ แม้คนดีคนบริสุทธิ์ก็พลอยเดือดร้อนด้วยเพราะเป็นบุคคลในชาติ หลายชาติเดือดร้อน โลกก็เดือดร้อน คนในโลกวุ่นวาย ระส่ำระสาย ค่าครองชีพสูงทั่วโลก ประชาชนหาได้ไม่พอเลี้ยงชีพ หาความสงบสุขได้ยากนี่ กรรมของโลก

    ด้วยประการฉะนี้ ผู้มีใจไม่คับแคบก่อนทำก่อนพูดอะไร จึงควรคำนึงถึงผลดีผลเสียอันจะตกแก่ครอบครัว สังคม ชาติและโลกไว้ด้วยไม่เพียงแต่คำนึงถึงตนเพียงผู้เดียว กรรมบางอย่างบิดาเป็นคนทำแต่บุตรเป็นผู้ได้รับ เป็นเรื่องน่าพิศวงมาก เช่น บิดาไปตัดมือลิงเพราะลิงได้ทำสิ่งมีค่าของตนเสียหาย ขณะนั้นภรรยาของเขากำลังตั้งครรภ์ เมื่อภรรยาคลอดปรากฏว่าบุตรของเขา มือขาดมาแต่ในครรภ์ มือข้างเดียวกับมือลิงที่ถูกตัด เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์สายชีววิทยาอาจให้เหตุผลทางโรคบางอย่างของมารดาหรือบิดาอันเป็นเหตุให้ลูกต้องเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงทั้งมารดาและบิดามิได้เป็นโรคอย่างที่หมอหรือนักวิทยาศาสตร์สงสัยนั้นเลย

    เรื่องนี้หลักกรรมและการเกิดใหม่ตอบว่าอย่างไร? ตอบว่า ถ้ามารดาบิดาไม่มีโรคประจำตัวอันเป็นเหตุให้เด็กเป็นอย่างนั้น ก็เป็นเพราะกรรมที่พ่อไปตัดมือลิงด้วยความโกรธแค้น “ทำไม พ่อทำ ผลร้ายจึงตกแก่ลูก?” ได้กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่า นอกจากกรรมส่วนบุคคลแล้ว ยังมีกรรมของครอบครัวอีกด้วย พ่อทำความดี มีลาภ มียศ ผลดียังตกถึงลูกได้ ทำไมเมื่อพ่อทำไม่ดี ผลร้ายจะตกแก่ลูกบ้างไม่ได้


    หลักกรรมและการเกิดใหม่มีทางอธิบายได้ 2 ทาง คือ

    1. กรรมได้จัดสรร ให้วิญญาณซึ่งเคยทำกรรมอย่างเดียวกับบิดาของเขาในชาตินี้มาเกิด คือเด็กคนนั้นอาจเคยตัดมือลิงในชาติใดชาติหนึ่งในอดีตมาแล้ว

    2. กรรมที่รุนแรงมากย่อมหาโอกาสให้ผลโดยเร็ว แต่ยังหาโอกาสสำหรับบุคคลผู้เป็นบิดาไม่ได้ จึงไปลงโทษแก้แค้นเอาที่ลูก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการทรมานจิตใจผู้เป็นบิดาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

    การลงโทษของกรรมแบบนี้ เปรียบเหมือนคนผู้หนึ่งไปฆ่าบิดาอัน เป็นที่รักของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เด็กหนุ่มนั้นมีความพยาบาทรุนแรงเที่ยวตามผู้ฆ่าบิดาตน แต่ไม่อาจหาพบได้ หรือบางครั้งหาพบแล้วแต่บุคคล ผู้นั้นกำลังอยู่ในภาวะแวดล้อมอารักขาของมิตรสหายมากมาย เขาจึงไม่สามารถฆ่าตอบได้ จึงไปซุ่มอยู่ใกล้บ้านของบุคคลผู้ฆ่าบิดาตนเพื่อคอยโอกาสเหมาะ เมื่อเห็นบุตรของผู้นั้นออกมาจากเรือนเห็นว่าทำร้ายได้โดยง่ายและเป็นทางหนึ่งที่จะระบายความแค้นของตนให้คลายลงจึงประหารเด็กคนนั้นเสีย ตามธรรมดาบุตรย่อมเป็นที่รักยิ่งของบิดามารดา เมื่อบุตรถูก ประหาร บิดาย่อมรู้สึกเสียใจ ปวดร้าวยิ่งกว่าถูกฆ่าเองเสียอีก

    ทำนองเดียวกันนี้ กรรมที่บุคคลทำแล้วถ้าก่อความทารุณแสบเผ็ดให้แก่คนอื่นสัตว์อื่น กรรมจะพยายามให้ผลอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สาหัสทันตาเห็น หากยังไม่มีโอกาสให้ผลแก่ผู้ทำโดยตรง เพราะกรรมดีคอยแวดล้อมอยู่ ก็จะให้ผลแก่ครอบครัว เพื่อก่อความสะเทือนใจแก่บุคคลนั้น

    อนึ่ง โดยธรรมดา มารดาบิดาที่เห็นลูกคลอดมามีอวัยวะไม่สมบูรณ์ไม่สมประกอบนั้นเป็นความปวดร้าวทรมานไปตลอดชีวิต คลอดมาแล้วตายเสีย ยังจะให้ความเสียใจเพียงครั้งเดียว การลงโทษแห่งกรรมแบบนี้เป็นการลงโทษที่แสบเผ็ดมาก
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 10 กรรมและการให้ผลของกรรม


    เมื่อกล่าวโดยหลักใหญ่ กรรมมี 4 อย่าง คือ

    1. กรรมดำ มีวิบากดำ
    2. กรรมขาว มีวิบากขาว
    3. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว
    4. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว และเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมหนึ่ง มีพระพุทธาธิบาย ดังนี้

    4.1. กรรมดำ ให้ผลดำ คือ กาย วาจา ใจ อันเป็นไปเพื่อความ เบียดเบียน บุคคลนั้นย่อมเกิดในโลกที่มีการเบียดเบียน เมื่อเกิดในโลกที่มีการเบียดเบียนเช่นนั้น เขาย่อมได้กระทบกับผัสสะที่มีการเบียดเบียน ย่อมได้เสวยเวทนาอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียน มีความทุกข์โดยส่วนเดียว เช่นสัตว์นรกทั้งหลาย นี่แหละคือกรรมดำ มีผลดำ

    4.2. กรรมขาว มีผลขาว หมายถึง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของบุคคลใดไม่มีการเบียดเบียน ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน บุคคลนั้นย่อมเกิดในโลกที่ไม่มีการเบียดเบียน เมื่อเกิดในโลกที่ไม่มีการเบียดเบียนย่อมกระทบกับผัสสะที่ไม่มีการเบียดเบียน (คือไม่มีเรื่องแห่งการเบียดเบียนกัน) เขาย่อมได้รับเวทนาอันไม่มีการเบียดเบียน (คือสุขเวทนา) เป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่นเทพเจ้าเหล่าสุภกิณหะ นี่แหละคือกรรมขาว มีผลขาว

    4.3 กรรมทั้งดำทั้งขาว มีผลทั้งดำทั้งขาว คือกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมของบุคคลใดเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนบ้าง บุคคลนั้นย่อมเกิดในโลกที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ย่อมกระทบกับผัสสะอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง (คือต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง) เขาย่อมเสวยเวทนาอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบ้าง เกลื่อนกล่นไปด้วยสุขและทุกข์ ดังเช่นมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก วินิบาตบางพวก นี่แหละคือกรรมทั้งดำทั้งขาว มีผลทั้งดำทั้งขาว

    4.4 กรรมไม่ดำไม่ขาว มีผลไม่ดำไม่ขาว คือเจตนาที่จะละกรรม ทั้งปวง ทั้งกรรมดำ กรรมขาว และกรรมทั้งดำทั้งขาว กรรมเช่นนี้แหละย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เช่นกรรมของพระอรหันต์

    กรรมดำ คือ อกุศล ทุจริตกรรมขาว คือ กุศล สุจริต กรรมทั้งดำทั้งขาว คือ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งทุจริตและสุจริต กรรมไม่ดำไม่ขาว คือ กรรมของพระอรหันต์ สักแต่ว่าเป็นกิริยา ไม่มีผลเป็นสุขหรือทุกข์อีกต่อไปคนที่มีบาปมาก ไปนรก คนที่มีบุญมาก ไปสวรรค์ชั้นดี คนที่มีทั้งบุญทั้งบาป มาเกิดเป็นมนุษย์ เกลื่อนกล่นอยู่ด้วยสุขและทุกข์ สัตว์ดิรัจฉานบางพวกที่มีความสุขตามฐานะของตนก็เพราะมีกุศลวิบากอยู่ด้วย มนุษย์ชั้นสูงแม้จะมั่งมีแต่มีความทุกข์เจือปนอยู่ด้วยก็ เพราะอกุศลวิบากติดตามอยู่ด้วยเหมือนกัน

    พระอรหันต์เป็นผู้ละบุญและบาปได้ การกระทำของท่านทั้งหมดเป็นเพียงกิริยา ไม่ก่อให้เกิดวิบากอันจะให้ผลต่อไป ท่านอยู่เหนือความดีความชั่ว เหมือนครูซึ่งอยู่เหนือการสอบได้สอบตก ไม่ต้องดีใจเสียใจ เพราะการสอบได้สอบตก นอกจากพลอยอนุโมทนาต่อการสอบได้ของคนอื่นซึ่งยังเป็นนักเรียนอยู่

    อนึ่ง ในโลกนี้เหมือนมหาสาคร หรือมหาสมุทรซึ่งเกลื่อนกล่นอยู่ด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด บุคคลในโลกเหมือนผู้แหวกว่ายอยู่ในมหาสาครอันท่านเรียกว่า “สังสารสาคร” โอกาสที่จะเป็นเหยื่อของปลาร้ายคือความชั่วนั้นมีมาก คนทำความดี ตั้งตนไว้ชอบ เปรียบเหมือนผู้อยู่ในเรือ ธรรมเปรียบเหมือนเรือ ข้อนี้ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ทรงแสดงธรรมไว้เพื่อให้เป็นเรือหรือแพสำหรับข้ามฝั่ง คนที่อาศัยเรือขึ้นฝั่งได้แล้ว ก็ทิ้งเรือไว้ ณ ฝั่งนั้นเอง ไม่ต้องเข็นเรือขึ้นบก หรือแบกเรือขึ้นไปด้วย

    ด้วยเหตุนี้ อริยสาวกเมื่อถึงฝั่งคือพระนิพพานแล้ว ก็ทิ้งเรือคือธรรมเสียด้วย ตรงกับที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เราสอนให้ละแม้ซึ่งธรรม ไม่ต้องกล่าวถึงอธรรม

    อีกอุปมาหนึ่ง อริยบุคคลเหมือนช่างไม้ ธรรมเหมือนเครื่องมือช่างไม้ เมื่อทำเรือนหรือสัมภาระที่ต้องการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่างไม้ก็เก็บเครื่องมือเสีย ไม่วางระเกะระกะไว้

    อีกอย่างหนึ่ง กิเลสเปรียบเหมือนโรค ธรรมเหมือนยาบำบัดโรค เมื่อใช้ยาจนหายโรคแล้วก็ไม่ต้องใช้ยาอีกต่อไป เรียกว่าเป็นผู้ละได้ทั้งโรคและยา
    พระอรหันต์ผู้ละบุญและบาปได้แล้ว จึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว มีผลไม่ดำไม่ขาว กุศลกรรมนั้น แม้จะให้ผลเป็นสุขก็จริง แต่มีความทุกข์แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ด้วย เหมือนตัวหนอนในดอกไม้ เพราะกุศลกรรมที่มีตัณหาอุปาทานเชื่อมโยงอยู่ด้วยนั้น ย่อมก่อให้เกิดภพใหม่ชาติใหม่ เมื่อมีชาติก็ต้องมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะโทมนัสสะ ตามมาเป็นขบวน ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญา มีบารมีหรืออุปนิสัยในทางธรรม จึงมองเห็นความเกิดเป็นความทุกข์ เห็นสมุทัยคือตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จึงพยายามเพื่อละกรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล เพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์โดยสิ้นเชิง

    กิเลสกรรม วิบาก 3 อย่างนี้สืบต่อกันเป็นวัฏฏะ กิเลสเป็นเหตุให้เกิดกรรม เมื่อมีกรรมก็มีวิบาก คือผล ผลดีบ้าง ชั่วบ้าง ก่อให้เกิดกิเลสต่อไป เวียนกันอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นสุด พอสิ้นกิเลส กรรมก็หมด วิบากก็หมด
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 11 มาตรฐานแห่งความดีความชั่ว


    อะไรคือความดี? อะไรคือความชั่ว? เป็นปัญหาทางจริยศาสตร์ ซึ่งนักปราชญ์ทางนี้ได้ถกเถียงกันเป็นอันมาก๑ และตกลงกันไม่ค่อยได้เพราะมีขอบเขตกว้างขวางมาก อะไรคือคุณธรรม? ก็เป็นปัญหาที่ตอบยากเช่นเดียวกัน นักปราชญ์ทั้งหลาย แม้เป็นถึงศาสดาผู้ตั้งศาสนาที่มีคนนับถือ ทั่วโลกก็ยังบัญญัติคุณธรรมไว้ไม่ตรงกัน ยิ่งหย่อน กว้างแคบกว่ากัน ความชั่วกับความผิด เป็นอันเดียวกันหรือไม่ ความดีกับความ ถูกต้อง เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน หมายความว่า ความถูกต้องอาจ ไม่เป็นความดีเสมอไปหรืออย่างไร? นี่ก็เป็นปัญหาทางจริยศาสตร์เช่น เดียวกัน คนส่วนมากมักถือเอาความสุข ความสมปรารถนาในชีวิตปัจจุบันเป็นมาตรฐานวัดความดี คือความดีต้องมีผลออกมาเป็นความสุข ความสมปรารถนา เป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ส่วนความชั่วต้องมีผลตรงกันข้าม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่แน่เสมอไป ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ว่าด้วยผลภายในผลภายนอก ที่ว่านี้หมายถึงผลของกรรมนั้นโดยตรง
    ในแง่ของพระพุทธเจ้าทรงให้แนวคิดไว้ว่า “กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง กรรมนั้นดี บุคคลทำกรรมใดแล้ว เดือดร้อนภายหลังกรรมนั้นไม่ดี”

    ตามแง่นี้ เราจะมองเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า คนทำชั่วบางคนได้รับความสุขเพราะการทำชั่วนั้นในเบื้องต้น ถ้าเขาเพลิดเพลินในการทำ ชั่วนั้นต่อไป ไม่รีบเลิกเสีย เขาจะต้องได้รับความทุกข์ในตอนปลาย ส่วนคนทำความดีบางคน ได้รับความทุกข์ในเบื้องต้น แต่ถ้าเขามั่นอยู่ในความดีนั้นต่อไป ไม่ยอมเลิกทำความดี เขาย่อมต้องได้รับความสุขในเบื้องปลาย ตรงกับข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

    “เมื่อกรรมชั่วยังไม่ให้ผล คนชั่วอาจเห็นกรรมชั่วเป็นกรรมดี แต่เมื่อกรรมชั่วให้ผล เขาย่อมเห็นกรรมชั่วว่าเป็นกรรมชั่ว ส่วนคนดี อาจ เห็นกรรมดีเป็นกรรมชั่ว เมื่อกรรมดียังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดกรรมดีให้ผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีเป็นกรรมดี”

    โดยนัยดังกล่าวนี้ ถ้ามองกรรมและผลของกรรมในสายสั้น อาจทำความไขว้เขวบ้างในบางเรื่อง แต่ถ้ามองในสายยาว จะเห็นถูกต้องทุก เรื่องไป ความเป็นไปในชีวิตคนเป็นปฏิกิริยาแห่งกรรมของเขาทั้งสิ้น ถ้ามองในสายสั้นก็จะยังไม่เห็น แต่ถ้าเรามองเหตุผลสายยาวก็จะเห็น ทฤษฎีเรื่องการเกิดใหม่ (อันเป็นเหตุผลของกรรมในสายยาว) จึงต้องควบคู่กัน ไปกับเรื่องกฎแห่งกรรม แยกจากกันไม่ได้ เพราะถ้าแยกจากกันเมื่อไร บุคคลก็จะมองเห็นเหตุผลในเรื่องกรรมเพียงสายสั้นเท่านั้น

    สมมติว่า วันหนึ่งเป็นชาติหนึ่ง เหตุการณ์ในวันนี้อาจเกี่ยวโยงไปถึงเหตุการณ์ในอีกร้อยวันข้างหน้า เหตุการณ์เมื่อร้อยวันก่อนอาจเกี่ยวโยงมาถึงเหตุการณ์ในวันนี้ ในทำนองเดียวกัน เหตุการณ์เมื่อพันชาติมาแล้ว อาจมาเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ในชาตินี้ คนสามัญอาจงง แต่ท่านผู้ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับเรารู้ว่า เมื่อ ๒๐ ปีก่อน เราเรียนหนังสือมาอย่างไร เราจึงมามีความรู้อยู่อย่างวันนี้

    ในเหตุผลสายสั้น คนขโมยเงินย่อมได้เงิน เงินมันไม่ได้ทักท้วงใครว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว ถ้ามองกันเพียงวันเดียว อาจเห็นการขโมยเป็นทางดี เพราะได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยหาความสุขสำราญได้ แต่ผลที่ตามมาอีกชั้นหนึ่ง คือความเดือดร้อนใจของผู้ขโมยนั่นเอง ซึ่งจะต้องมีอยู่อย่างแน่ๆ ไม่ต้องสงสัย และถ้าเจ้าทรัพย์หรือตำรวจจับได้ เขาต้องได้รับโทษตามกฎหมาย อาจติดคุกหรือถูกประหารชีวิต บางทีในขณะที่เขาได้รับโทษนั้น เขากำลังประกอบกรรมดีบางอย่างอยู่ ระยะเวลาห่างจากวันที่เขา ขโมยถึง 250-300 วัน หรือ 2-63 ปีก็ได้ 9-10 ปีก็ได้ นี่คือตัวอย่างที่ พอมองเห็นกันได้

    อนึ่ง ความเกี่ยวข้องระหว่างบุคคลในทางดีหรือไม่ดี ทางเกื้อหนุนหรือเบียดเบียน ตัวเขาเองนั่นแหละเป็นคนรู้ เพราะความเกี่ยวข้องเหล่านั้นถูกเก็บรวบรวมไว้ในวิญญาณอันท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏตราบเท่าที่กิเลสยังมีอยู่ เมื่อเจอกันเข้าในชาติใดชาติหนึ่ง ความรู้สึกของวิญญาณย่อมบอกให้เรารู้ว่าเคยเป็นมิตรเป็นศัตรูกันมาอย่างไร

    มาตรฐานเครื่องตัดสินกรรมดีกรรมชั่วอีกอย่างหนึ่งตามแง่ของพระพุทธเจ้า คือ กรรมใดทำแล้ว ทำให้กิเลสพอกพูนขึ้น กรรมนั้นเป็น กรรมชั่ว ส่วนกรรมใดทำแล้วเป็นไปเพื่อความขัดเกลากิเลส ทำให้กิเลสเบาบางลง กรรมนั้นเป็นกรรมดี กล่าวให้ชัดอีกหน่อยหนึ่งว่า ทำอย่างใดพูดอย่างใด และคิดอย่างใด ทำให้โลภ โกรธ หลง เพิ่มพูนขึ้นในสันดานหรือในจิต อันนั้นเป็นกรรมชั่ว ส่วนกรรมดีก็ตรงกันข้าม

    มาตรฐานนี้ค่อนข้างสูงหน่อย พ้นจากสำนึกของคนสามัญ กล่าวคือ คนทั่วไปไม่ค่อยนึกในแง่นี้ เมื่อเอาลักษณะตัดสินธรรมวินัย 8 ประการมาพิจารณาก็จะยิ่งเห็นชัดขึ้นว่า มาตรฐานแห่งความดีของพระพุทธองค์นั้นอยู่ที่การลดโลภ โกรธ หลง ยิ่งลดได้มากเท่าใด ยิ่งดีมากเท่านั้น ลดได้หมดเกลี้ยงก็ดีถึงที่สุดทรงแสดงลักษณะตัดสินธรรมวินัย ประการ แก่พระนางมหา ปชาบดีภิกษุณีไว้ดังนี้ ธรรมใดเป็นไปเพื่อ :-

    1 . ความกำหนัด (สราคะ)
    2. การประกอบตนอยู่ในทุกข์ (สังโยคะ)
    3. สะสมกิเลส (อาจยะ)
    4. ความมักใหญ่ อยากใหญ่ (มหิจฉตา)
    5. ความไม่สันโดษ (อสันตุฏฐิตา)
    6. ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ (สังคณิกา)
    7. ความเกียจคร้าน (โกสัชชะ)
    8. ความเลี้ยงยาก (ทุพภรตา)

    ทั้ง 8 นี้ พึงทราบเถิดว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา ส่วนธรรมใดเป็นไปเพื่อ :-

    1. ความคลายกำหนัด (วิราคะ)
    2. การไม่ประกอบตนไว้ในกองกิเลส (วิสังโยคะ)
    3. การไม่สะสมกองกิเลส (อปจยะ)
    4. ความปรารถนาน้อย (อัปปิจฉตา)
    5. ความสันโดษ (สันตุฏฐิตา)
    6. การไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ (อสังคณิกา)
    7. ความไม่เกียจคร้าน คือความเพียรติดต่อสม่ำเสมอ (วิริยารัมภะ)
    8. ความเลี้ยงง่าย (สุภรตา)

    พึงทราบเถิดว่า ทั้ง 8 นี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา เมื่อเอาลักษณะทั้ง 8 ประการนี้มาตัดสินว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรเว้น อะไรควรทำ แล้วจะเห็นว่ามาตรฐานแห่งกรรมดีของพระพุทธองค์นั้นอยู่ในระดับสูง และเป็นการแน่นอนว่า ความดีเช่นนี้ย่อมมีจุดจบใน ตัวเอง คือไม่ใช่ความดีเพื่อลาภ ยศ ชื่อเสียง หรือเพื่อจุดมุ่งหมายอื่น แต่เป็นความดีเพื่อความดี ความดีเพื่อพ้นจากความวนเวียนในสังสารวัฏ เพราะถือว่าการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั้น แม้จะเกิดดีเพียงไร ก็ยังเจืออยู่ด้วยทุกข์ ต่างกันแต่เพียงรูปแบบของความทุกข์เท่านั้น แต่ในเนื้อหาแล้วเป็นความทุกข์เหมือนกัน เช่นชาวนาก็ทุกข์อย่างชาวนา พ่อค้า ข้าราชการ พระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ ล้วนแต่ต้องทุกข์ในรูปแบบของตนๆ

    ในความหมายอย่างสูงที่ว่า “ความดีเพื่อความดี” นี้ ทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นซึ่งพระพุทธภาษิตที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ”

    การทำดี คือการกระทำที่ประกอบด้วยคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อฯ สิ่งที่เขาจะได้รับอย่างแน่นอนคือคุณธรรมที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เขาทำ นั่นคือการได้ดี ใจของเขาย่อมสูงขึ้น สะอาด สว่างขึ้นตามสัดส่วนแห่งคุณธรรมที่เพิ่มขึ้น

    เสียงสรรเสริญ ก็ไม่ใช่เครื่องวัดความดีที่แน่นอนเสมอไป ในหมู่โจรย่อมสรรเสริญโจรที่เก่งกล้า อันธพาลที่สามารถคุมอันธพาลด้วยกันได้ย่อมได้รับเสียงสรรเสริญจากกลุ่มอันธพาลด้วยกัน บัณฑิตย่อมได้รับเสียงสรรเสริญจากหมู่บัณฑิต แต่ได้รับเสียงติเตียนจากหมู่คนพาล

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้รับสรรเสริญ จึงต้องพิจารณาดูก่อนว่าใครเป็น ผู้สรรเสริญ ถ้าบัณฑิตสรรเสริญก็เชื่อได้ว่าเสียงสรรเสริญนั้นมาจากคุณธรรมหรือการทำความดี

    การทำชั่ว คือการกระทำที่ไร้คุณธรรม ที่ว่าได้ชั่วก็เพราะมีนิสัยชั่วเกิดขึ้นในจิต ถ้าทำบ่อยๆ นิสัยชั่วก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนเกาะแน่นเป็นลักษณะนิสัยของผู้นั้นยากที่จะแก้ไขได้ เหมือนดินพอกหางหมู ความชั่วหรือนิสัยชั่วที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ นั้น ย่อมชักนำเขาไปในทางที่ชั่ว ในที่สุดเขาก็จะพบกับหายนะอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะวิบากชั่วซึ่งแฝงอยู่ในจิตของเขานั่นเองจะคอยกระซิบ กระตุ้นเตือนให้บุคคลผู้นั้นคิด พูด กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลร้าย คือทำให้เขาตัดสินใจผิด ก้าวผิด เมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผลเพราะวิบากแก่กล้าสุกรอบแล้วนั้น แม้คนมีปัญญาก็อับปัญญา ซึ่งท่านเปรียบว่า นกแร้งมีสายตาไกลสามารถมองเห็นซากศพได้เป็นร้อยๆโยชน์ แต่พอถึงคราวเคราะห์ (ถึงคราวกรรมจะให้ผล) บ่วงอยู่ใกล้ก็มองไม่เห็น เดินเข้าไปติดบ่วงจนได้ ตรงกันข้าม ถ้าถึงคราวกรรมดีจะให้ผล วิบากแห่งกรรมซึ่งสั่งสมอยู่ในจิต ย่อมบันดาล ให้เขาทำ พูด คิดไปในทางที่ถูกอันจะนำไปสู่ผลดีอันนั้น

    พิจารณาในแง่นี้แล้ว ควรเว้นกรรมชั่ว สั่งสมแต่กรรมดี เพื่อจะได้ มีวิบากอันดีอยู่ในจิต นี่คือการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ย้ำอีกทีว่า คนประพฤติกระทำอย่างใดย่อมได้ความเป็นอย่างนั้นขึ้นในตน เช่น หัดเป็นโจรเป็นนักเลง ย่อมได้ความเป็นโจรเป็นนักเลงขึ้นในตน หัดเป็นคนดีในทางไหน ย่อมได้ความเป็นคนดีในทางนั้นขึ้นในตน

    ด้วยเหตุนี้ คนที่มีความปรารถนาจะเป็นอย่างใด แล้วเริ่มหัดประพฤติกระทำอยู่เสมอๆ เขาย่อมได้เป็นอย่างนั้นแน่นอน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เร็วหรือช้าสุดแล้วแต่คุณสมบัตินั้นจะสุกรอบหรือแก่กล้า (Maturation) เมื่อใด นี่คือคำอธิบายพระพุทธภาษิตที่ว่า บุคคลทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ย่อมต้องรับมรดกแห่งกรรมนั้น
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 13 หลักกรรม


    โคบาลเห็นผิดสังเกตเช่นนั้นจึงเดินเข้าไปดู เห็นเด็กน้อยนอนอยู่เกิดความรักดังบุตรของตนจึงรีบอุ้มไปเรือน มอบให้ภรรยาเลี้ยงไว้อย่างบุตร นางกาลีแอบดูอยู่เห็นเหตุการณ์นั้นทั้งหมด เศรษฐีมอบทรัพย์ให้อีกหนึ่งพันกหาปณะเพื่อให้กาลีไปซื้อเด็กคนนั้นมา

    ครั้งที่ 2 เศรษฐีให้นำเด็กนั้นไปทิ้งไว้ที่ทางเกวียนหน้าประตูเมือง ด้วยหวังให้โคเกวียนเหยียบ ถ้าโคไม่เหยียบ ล้อเกวียนคงบดขยี้แหลกในการเดินทางครั้งนั้นนายกองเกวียนซึ่งนั่งอยู่ที่เกวียนคันหน้าได้เห็นเหตุการณ์ประหลาดซึ่งไม่เคยเห็น คือเมื่อโคเดินมาถึงที่แห่งหนึ่งได้สลัดแอกออก แม้ชาวเกวียนจะพยายามสวมเข้าอีกกี่ครั้งกี่หน มันก็สลัดแอกออกทุกครั้งไป ยืนนิ่งไม่ยอมเคลื่อนไหว ทำอยู่อย่างนี้จนสว่าง นาย กองเกวียนลงไปดูเห็นเด็กน้อยนอนขวางทางอยู่ บังเกิดความรักเหมือนลูก จึงนำไปเลี้ยงไว้ เศรษฐีทราบเข้าให้ซื้อเด็กมาอีก

    ครั้งที่ 3 เศรษฐีให้นำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าผีดิบ ด้วยหวังว่าสุนัขหรืออมนุษย์คงทำร้ายเด็กถึงตายแน่ ครั้งนั้น คนเลี้ยงแพะคนหนึ่งนำแพะหลายร้อยตัวไปเลี้ยงใกล้ป่าช้า แม่แพะตัวหนึ่งเที่ยวกินใบไม้ เข้าไปใกล้พุ่มไม้นั้น เห็นเด็กน้อยแล้วมีความเอ็นดู จึงคุกเข่าลงให้เด็กดื่มนม ร่างของมันเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่ยังมีน้ำใจกรุณา

    เมื่อคนเลี้ยงแพะร้องไล่ “เห เห” อยู่ แม่แพะก็หาเคลื่อนไหวไม่ คนเลี้ยงแพะจึงเดินเข้าไปใกล้ คิดว่าจะตีเสียให้สมดื้อ แต่แล้วเขาต้องวางไม้เมื่อเห็นภาพอันน่าประทับใจยิ่งนัก คือเห็นแม่แพะกำลังคุกเข่าให้เด็กดื่ม นมอยู่ เขามองดูด้วยความชื่นชมพลางเปรยว่า “เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ยังรู้จักถนอมชีวิตของผู้อื่น แต่บุคคลผู้ทำให้ชีวิตนั้นเกิดขึ้นแล้ว หารับผิดชอบถนอมชีวิตไม่ ช่างน่าละอายเจ้าเหลือเกิน” คนเลี้ยงแพะนำเด็กนั้นไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เศรษฐีให้นางกาลีไปซื้อมาอีก

    ครั้งที่ 4 เศรษฐีให้นำเด็กไปทิ้งที่ภูเขาเป็นที่ทิ้งโจร นางกาลีได้ทำ ตามนั้น ณ ที่นั้นมีกอไผ่ใหญ่มากกอหนึ่งขึ้นที่เชิงเขา เจริญเติบโตไปตามแนวภูเขา ปลายของกอไผ่ประสานกันแน่นหนาเป็นพุ่มใหญ่ เมื่อเด็กถูก ทิ้งลงไปนั้น เสมือนตกลงไปในเปลผ้า ในวันเดียวกันนั้นหัวหน้าช่างสาน มีความต้องการไม้ไผ่ จึงชวนบุตรไปตัดไม้ไผ่แถวนั้น เมื่อต้นไผ่ไหว เด็ก ก็ร้องออกมา ช่างสานและบุตรได้ปีนขึ้นไปทางข้างภูเขาด้านหนึ่งเห็นเด็กนอนอยู่ เกิดความรักจึงนำไปเลี้ยงไว้ เศรษฐีให้คนไปซื้อมาอีก

    เมื่อเศรษฐีพยายามฆ่าอยู่เช่นนี้เด็กก็เติบโตเป็นดรุณมีนามว่าโฆสกะ เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่สำหรับเศรษฐีแล้วเขาเป็นเหมือนหนามที่แทงอยู่ ในนัยน์ตา เศรษฐีไม่สามารถมองเด็กตรงๆ ได้ จึงพยายามหาอุบายฆ่าเด็กอยู่ตลอดเวลา

    ครั้งที่ 5 เศรษฐีมีเพื่อนเป็นช่างหม้ออยู่คนหนึ่ง คิดว่าอาศัยมือช่างหม้อ คงทำลายชีวิตของโฆสกะได้ จึงนัดหมายกับช่างหม้อเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้โฆสกะถือจดหมายไป ข้อความในจดหมายว่า “เด็กคนนี้เป็นลูกที่เลว เมื่อมาถึงแล้วจงสับให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วโยนลงไปในเตาเผาหม้อ เราจะให้ค่าจ้างแก่ท่านหนึ่งพันกหาปณะ เมื่องานเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีรางวัลพิเศษอีก”

    โฆสกะอ่านหนังสือไม่ออก นำจดหมายฆ่าตัวเองไป พอดีขณะนั้นบุตรแท้ๆ ของเศรษฐีกำลังเล่นขลุบอยู่หน้าบ้านกับเพื่อนๆ กำลังแพ้มาก เห็นโฆสกะเดินมา โฆสกะเป็นคนเล่นขลุบเก่ง จึงเรียกให้ช่วยแก้มือเอาเงินคืน รับอาสาจะไปส่งจดหมายพ่อให้เอง

    ช่างหม้อไม่รู้จักลูกชายเศรษฐี เมื่อได้รับจดหมายก็ทำตามคำสั่ง สับเด็กจนละเอียดแล้วโยนลงเตาเผาหม้อ ตกเย็นโฆสกะกลับเข้าไปในบ้าน เศรษฐีเห็นเช่นนั้นประหลาดใจจึงถาม ได้ทราบเรื่องราวทั้งปวงแล้วตกใจมาก คร่ำครวญว่า “อย่าฆ่าลูกฉัน อย่าฆ่าลูกฉัน” ประคองแขนทั้ง 2 วิ่งร้องไห้ไปยังบ้านช่างหม้อ แต่สายเสียแล้ว

    ช่างหม้อเห็นดังนั้นจึงกล่าวกับเศรษฐีว่า “ท่านเศรษฐีอย่าเอะอะไปสิ่งใดที่ท่านสั่งให้ข้าพเจ้าทำ ข้าพเจ้าได้ทำสิ่งนั้นเรียบร้อยแล้ว”

    เศรษฐีนั้นถูกความโทมนัสใหญ่หลวงท่วมทับเหมือนถูกภูเขาใหญ่ทับอยู่บนอก ตามทำนองแห่งบุคคลผู้ประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้ายตน
    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประทุษร้ายต่อผู้ไม่คิดประทุษร้ายย่อมได้รับฐานะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 10 อย่างโดยพลันคือ

    1. ประสบทุกขเวทนากล้าแข็ง
    2. ประสบความเสื่อม
    3. การแตกทำลายแห่งสรีระ (ตาย)
    4. อาพาธหนัก
    5. จิตฟุ้งซ่าน
    6. อุปสรรค เหตุขัดข้องจากผู้ใหญ่
    7. การถูกกล่าวหาเรื่องร้ายแรง
    8. เสื่อมญาติ
    9. เสื่อมทรัพย์
    10. ไฟ หรือไฟป่าอาจไหม้บ้าน

    เมื่อบุคคลนั้นตายแล้ว ย่อมเกิดในนรก นี่คือที่จะได้รับอันเป็นส่วนอนาคต หลังจากนั้นแล้ว เศรษฐียิ่งเกลียดชังโฆสกะมากขึ้น ความเกลียดชังนี้เองเร่งเร้าให้เศรษฐีพยายามขวนขวายฆ่าโฆสกะให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาเขียนจดหมายถึงผู้จัดการผลประโยชน์ในชนบทของเขาว่า เด็กคนนี้เป็นบุตรเลว เมื่อมาถึงแล้วจงฆ่าเสียแล้วทิ้งในหลุมคูถ ดังนี้แล้วมอบจดหมายให้โฆสกะถือไป (นับเป็นครั้งที่ 6 ที่เศรษฐีพยายามฆ่าโฆสกะ)

    โฆสกะรับหนังสือสั่งฆ่าตัวเองใส่ชายพกแล้วถามบิดาว่า “จะได้เสบียงอาหารที่ไหน?” เศรษฐีตอบว่า “ในระหว่างทางมีบ้านเศรษฐีคนหนึ่งเป็นเพื่อนของข้า (บอกชื่อเศรษฐีนั้น) แกไปถึงที่นั้นแล้วบอกว่ามาจากบ้านข้า เขาจะให้ที่พักและจุนเจือเรื่องอาหารการกิน ไปเถอะไม่ต้องกังวล”

    โฆสกะไปถึงบ้านนั้น บอกชื่อของเศรษฐีผู้เป็นบิดาตนก็ได้รับการรับรองด้วยดี ภรรยาของเศรษฐีรู้สึกมีเมตตาจิตต่อโฆสกะเป็นพิเศษ

    เศรษฐีบ้านนั้นมีธิดาสาวสวยคนหนึ่ง ขณะเดียวกับที่มารดาของเธอกำลังต้อนรับโฆสกะอยู่นั้น เธอได้ใช้ให้หญิงสาวใช้ของเธอไปซื้อของบางอย่างที่ตลาด เมื่อมารดาของเธอเห็นเข้าจึงเรียกมาใช้ให้ปูที่หลับนอนปัดกวาดห้องให้โฆสกะเสียก่อน จึงไปตลาดช้าและกลับช้าไปหน่อย

    ลูกสาวเศรษฐีจึงถามนางว่า ทำไมจึงกลับมาช้ากว่าปกติ นางได้เล่าให้ฟังว่ามีแขกมาพักที่บ้าน “ใคร? เขาชื่ออะไร?” ธิดาเศรษฐีถาม “ได้ยินคุณนายเรียก โฆสกะๆ เจ้าค่ะ” หญิงรับใช้ตอบพอได้ยินคำว่า โฆสกะ เท่านั้น ความรักก็แล่นเข้าจับใจของหญิงสาว มันเป็นความรักที่ได้สั่งสมติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ความจริงธิดาเศรษฐีนั้นหาใช่ใครที่ไหนไม่ เธอคือนางกาลีภรรยาของนายโกตุหลิกนั่นเอง (นายโกตุหลิกก็คือโฆสกะเวลานี้) เมื่อนายโกตุหลิกตายแล้ว นางได้พยายามทำความดีต่อไป แม้จะยากจนทรัพย์แต่ไม่จนใจ นางพยายามเอาแรงกายเข้าช่วยเหลือนายโคบาลในเรื่องบุญกุศล เมื่อสิ้นชีพจึงไปบังเกิดในเทวโลกจุติจากเทวโลกแล้วมาบังเกิดในตระกูลเศรษฐี เพราะกุศลวิบากที่นางได้ทำในสมัยที่เป็นนางกาลี

    ด้วยประการฉะนี้ พอได้ยินคำว่า โฆสกะ เท่านั้น ปุพพสิเนหะ (ความรักเก่า) จึงท่วมหัวใจของนาง สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    “ความรักเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดด้วยเหตุ 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เพราะการเคยรักกันมาในชาติก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน เหมือนดอกบัวเกิดในน้ำย่อมอาศัยน้ำ หรือเปือกตมเกิดขึ้น”

    เมื่อปลอดคน ธิดาเศรษฐีลงไปข้างล่าง เห็นโฆสกะนอนหลับอยู่ มีจดหมายติดชายพกอยู่ด้วย “จดหมายอะไรหนอ?” นางคิดฉงนความอยากรู้อยากเห็นและความรัก ทำให้เธอดึงจดหมายออกจากชายพกของโฆสกะ นำไปอ่านที่ห้อง ทราบเรื่องโดยตลอดแล้วอุทานออกมาว่า “คนๆนี้ช่างโง่จริง เอาจดหมายสั่งฆ่าตัวติดชายพกแล้วเที่ยวไปทั่ว บ้านทั่วเมือง น่าสงสารเหลือเกิน ถ้าเราไม่เห็น ไหนเลยจะรอดชีวิตไปได้” เธอฉีกจดหมายนั้นทิ้งแล้วเขียนจดหมายขึ้นใหม่ฉบับหนึ่ง ความว่า “โฆสกะนี้เป็นบุตรคนโตของเรา เราประสงค์จะให้แต่งงานกับบุตรีของสุมงคลเศรษฐี (ชื่อสมมติ) สหายของเรา เมื่อหลานเราได้รับจดหมาย นี้แล้วจงรีบปลูกบ้าน 2 ชั้นให้บุตรเรา ให้มีปราการ (กำแพง) ที่มั่นคง มียามคุ้มครองรักษาแล้วจัดการแต่งงานให้กับสุมนา (ชื่อสมมติ ได้แก่ตัว ผู้เขียนจดหมายนั่นเอง) บุตรีของสุมงคลเศรษฐี ขอให้หลานทำให้ดีที่สุดแล้วส่งข่าวให้เราทราบ” เมื่อเขียนจดหมายเสร็จแล้วก็ใส่ไว้ชายพกของโฆสกะดังเดิม รีบขึ้นสู่ปราสาทชั้นบน ผู้จัดการผลประโยชน์ของเศรษฐีได้ทำทุกอย่างตามจดหมายที่เขา ได้รับจากมือของโฆสกะ แล้วส่งข่าวไปให้เศรษฐีทราบ

    เศรษฐีนั้นได้รับข่าวแล้ว เกิดโทมนัสอย่างใหญ่หลวงรำพันออกมาว่า “เราต้องการทำสิ่งใดแก่โฆสกะ สิ่งนั้นหาเป็นไม่ เราไม่ต้องการให้สิ่งใดเกิดขึ้นแก่โฆสกะ สิ่งนั้นก็เกิด สิ่งร้ายที่โยนให้โฆสกะ กลับกลายเป็นสิ่งดีไปหมด”
    นี่แหละ บุคคลผู้อันกุศลกรรมคุ้มครองแล้ว ย่อมไม่ประสบภัยพิบัติไม่ว่าใครจะคิดร้ายสักปานใด ส่วนผู้ที่ไม่มีกุศลกรรมคุ้มครอง มีแต่เวรานุเวรติดตาม ย่อมประสบอันตรายเอง

    ความโศกถึงบุตรที่ตายไปหนึ่ง ความแค้นที่ทำอันตรายใดๆ แก่โฆสกะ ไม่ได้หนึ่ง มีผลกระทบกระเทือนต่อร่างกายมาก เศรษฐีนั้นล้มป่วยลง

    สุมนา ภรรยาของโฆสกะ เป็นหญิงฉลาดคาดการณ์ล่วงหน้าว่าการปองร้ายของเศรษฐีอาจไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น อาจมีแผนการร้ายอะไรอื่นต่อไปอีก จึงสั่งคนรับใช้ในบ้านไว้ว่า ถ้าคนของเศรษฐีบิดาเลี้ยงของโฆสกะมาที่บ้านด้วยธุระเกี่ยวกับโฆสกะแล้ว อย่าบอกให้โฆสกะทราบ จงบอกให้นางรู้ก่อนแต่ผู้เดียว
    ฝ่ายเศรษฐีบิดาเลี้ยงของโฆสกะ เกรงว่าเมื่อตนตายไปสมบัติจักตกแก่โฆสกะ จึงให้คนไปตามโฆสกะมาเพื่อบอกให้รู้กันต่อหน้าว่า โฆสกะไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติใดๆ เลย ให้ผู้จัดการผลประโยชน์หรือทนายความ ประจำตระกูลเป็นพยานเอาไว้

    คนของเศรษฐีมาถึงบ้านของโฆสกะและสุมนา (ชื่อสมมติ) แจ้งว่าเศรษฐีป่วยต้องการพบโฆสกะผู้เป็นบุตร สุมนาถามว่า เศรษฐีป่วยหนัก หรือไม่ เมื่อทราบว่าไม่หนัก จึงขอร้องให้บุรุษผู้นั้นพักที่บ้านของตนก่อน จนกว่าเธอจะยอมให้

    เมื่อเศรษฐีส่งคนมาในวาระที่ 2 ก็ได้การต้อนรับในทำนองเดียวกัน พอวาระที่ 3 เศรษฐีป่วยหนักมาก สุมนาทราบดังนั้นจึงบอกสามี และเดินทางมายังบ้านของเศรษฐี สุมนานัดหมายกับสามีว่า เมื่อไปถึงแล้วให้สามียืนอยู่ด้านปลายเท้าของเศรษฐี ส่วนตนจะยืนอยู่ด้านเหนือศีรษะ นอกจากนี้แล้วยังให้คนของตนอารักขาอยู่ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ทุกอย่างเป็นไปตามที่นัดหมาย ผู้จัดการผลประโยชน์ได้เรียนให้ท่านเศรษฐีทราบว่า บัดนี้ โฆสกะผู้บุตรได้มาถึงแล้ว
    เศรษฐีให้ผู้จัดการผลประโยชน์รายงานให้ทราบว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหมดมีอยู่เท่าใด เมื่อผู้จัดการผลประโยชน์รายงานให้ทราบหมดแล้ว เศรษฐีมีความประสงค์จะกล่าวว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหมดเราไม่ให้แก่โฆสกะ แต่เราให้แก่... แต่เมื่อถึงคราวพูดจริงเศรษฐีกลับพูดเรื่องให้ก่อน พูดเรื่องไม่ให้ทีหลัง

    พอเศรษฐีพูดว่า “เราให้... เท่านั้น สุมนาเกรงว่าเขาจะพูดคำอื่นต่อไปอีก จึงแสร้งทำเป็นโศกาดูร คลุกศีรษะลงบนอกของเศรษฐี คร่ำครวญ รำพันต่างๆ ทำนองลูกที่มีความอาลัยต่อพ่อจนสุดจะทนได้ จนเศรษฐีต้องตายโดยมิได้พูดอะไรออกมาอีกเลย

    พระเจ้าอุเทน ราชาแห่งโกสัมพี ทรงทราบว่าเศรษฐีมีบุตรอยู่คนหนึ่งคือโฆสกะ และทรัพย์ทั้งปวงตกแก่โฆสกะ จึงรับสั่งให้โฆสกะเข้าเฝ้า

    บังเอิญวันที่โฆสกะเข้าเฝ้านั้น ฝนตกหนัก น้ำท่วมกระทั่งพระลาน หลวง โฆสกะกระโดดโลดเต้นไปในน้ำ พระราชาประทับทอดพระเนตรอยู่ที่ใกล้พระบัญชร เมื่อโฆสกะเข้าเฝ้าทรงปลอบโยนว่า “บิดาของท่านหาชีวิตไม่แล้ว อย่าเสียใจ อย่าเศร้าโศกเลย เราจะมอบตำแหน่งเศรษฐีให้แก่ท่านสืบไป”

    ในขณะที่โฆสกะเดินทางกลับนั้น เขาค่อยๆ เดินลงน้ำ ค่อยๆ ไป ไม่ กระโดดโลดเต้นเหมือนคราวไปเฝ้าพระราชา ฝ่ายพระเจ้าอุเทนทอดพระเนตร อยู่ที่ช่องพระแกล ได้เห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้ราชบุรุษไปตามโฆสกะมาเฝ้า อีกครั้งหนึ่ง ตรัสถามว่า ทำไมเมื่อมาจึงกระโดดโลดเต้นมา แต่เมื่อกลับค่อยๆ เดินไป

    โฆสกะกราบทูลว่าเมื่อมานั้นเป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง แต่เมื่อกลับพระราชาพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้แล้ว เศรษฐีจะทำอย่างเด็กชาวบ้านหาสมควรไม่

    พระราชาทรงดำริว่า “บุคคลผู้นี้ฉลาด รู้การอันควรและไม่ควรแก่ตน เขาควรแก่ตำแหน่งเศรษฐีอย่างยิ่ง เราควรยกย่องเขาให้ปรากฏ” ดังนี้ พระราชทานสิ่งอันเป็นสัญลักษณ์แห่งเศรษฐีอย่างละร้อย

    โฆสกะนั้นยืนบนรถ ทำประทักษิณพระนคร ทำนครโกสัมพีให้เอิกเกริกแล้ว ฝ่ายสุมนาภรรยาของโฆสกะได้ยืนมองดูสามีอยู่ที่หน้าต่าง เห็นสามีพร้อมด้วยเกียรติยศอันยิ่งใหญ่จึงพูดกับนางกาลี (หญิงคนใช้ที่นำโฆสกะไปทิ้งหลายครั้ง) ว่า “ดูเถิด กาลี โฆสกะได้สมบัติใหญ่เห็นปานนี้เพราะเราแท้ๆ”

    เมื่อนางกาลีสงสัยเรียนถาม นางจึงเล่าให้ฟังตั้งแต่โฆสกะนำจดหมายฆ่าตัวติดชายพกไป... นางกาลี จึงเล่าเรื่องเบื้องต้นของโฆสกะให้สุมนาฟังเหมือนกัน ขณะที่โฆสกะกลับมานั้น สุมนาระลึกอยู่ว่า โฆสกะได้สมบัติเห็นปานนี้เพราะตนโดยแท้ จึงหัวเราะขึ้น โฆสกะเห็นอาการหัวเราะของภรรยาเหมือนมีเลศนัยอยู่จึงถามว่าหัวเราะเพราะเหตุไร? นางเล่าเรื่องของเขาให้ฟังตั้งแต่ถือจดหมายฆ่าตัวไป และสรุปว่าที่ได้สมบัติเห็นปานนี้เพราะนางได้ช่วยเหลือ โฆสกะฟังแล้วไม่เชื่อ หาว่าภรรยาปั้นเรื่องขึ้น ต่อเมื่อนางกาลียืนยันและเล่าเรื่องแต่ต้นให้ฟังอีกคนหนึ่ง โฆสกะจึงเชื่อและได้สลดใจเป็นอันมาก ปลงสังเวชว่า “กรรมของเราหนักแท้ คงมีเวรานุเวรติดตามมา เราพ้นจากความตายเห็นปานนี้ คงเพราะบุญช่วยคุ้มครองรักษา เราจะประมาทไม่ได้แล้ว ต้องรีบขวนขวายทำบุญกุศล”

    ตั้งแต่นั้นมา โฆสกะได้สละทรัพย์วันละพันกหาปณะเพื่อทำอาหารเครื่องอุปโภคแจกจ่ายแก่คนกำพร้า คนยากจน และคนทุพพลภาพ ตั้งให้กฎุมพีผู้หนึ่งชื่อมิตต์เป็นผู้จัดแจงทาน

    เรื่องของโฆสกะที่นำมาเล่าประกอบนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่ากรรมมิได้สูญหายไปเมื่อบุคคลตายแล้ว แต่จะติดตามให้ผลอยู่ตลอดเวลา ส่วนชั่วทำให้ตกต่ำลำบาก ส่วนดีช่วยคุ้มครองรักษา ผู้ที่กุศลกรรมคุ้มครองแล้วย่อมตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    ตอนที่ 14 หลักกรรม (ต่อ)



    ผลแห่งกรรมตามนัยแห่งจูฬกัมมวิภังคสูตร
    ในจูฬกัมมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (พระไตรปิฎก เล่ม 14 หน้า 376) พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่สุภมาณพถึงเหตุที่บุคคลและสัตว์ทั้งหลายแตกต่างกันเพราะกรรมของตน ๆ มีนัยดังนี้
    “สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับมรดกกรรม มีกรรม เป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมนั่นแหละจำแนกสัตว์ให้ทรามและดี”

    สุภมาณพ ทูลว่า ข้อความที่ทรงแสดงนั้นยังย่อนัก ขอให้ทรงแสดงโดยพิสดาร เพื่อเขาจักได้เข้าใจโดยแจ่มแจ้ง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโดยพิสดาร แต่ในที่นี้จะขอย่อความมา ดังนี้

    1.บุคคลบางคน มีปกติฆ่าสัตว์ มีใจทารุณโหดร้าย เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีอายุสั้น

    2. บุคคลบางคน มีปกติเว้นจากการฆ่าสัตว์ มีใจเอ็นดูกรุณาต่อสัตว์ เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีอายุยืน

    3. บุคคลบางคน ชอบเบียดเบียนสัตว์ให้เดือดร้อนลำบาก เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีโรคมาก

    4. บุคคลบางคน ไม่ชอบเบียดเบียนสัตว์ เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีโรคน้อย

    5. บุคคลบางคน มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ เมื่อสิ้นชีพย่อมไปนรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม คือผิวไม่สวย

    6. บุคคลบางคน ไม่มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้นใจ ไม่ด่าตอบ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท มีใจอ่อนโยน ไม่กระด้าง เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีรูปร่างผิวพรรณงาม น่าดู น่าเลื่อมใส

    7. บุคคลบางคน มีใจมักริษยาเขา มีใจคิดประทุษร้ายเขา อยากให้สมบัติของเขาพินาศ เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีศักดิ์น้อย วาสนาน้อย

    8. บุคคลบางคน ไม่ริษยาเขาในลาภ สักการะ ความนับถือ ไม่คิดประทุษร้ายเขา ไม่อยากให้สมบัติเขาพินาศ เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มีศักดิ์สูง

    9. บุคคลบางคน ตระหนี่เหนียวแน่น ไม่ให้ทานไม่สงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์ เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้ยากจน มีโภคะน้อย มีสมบัติน้อย

    10. บุคคลบางคน เป็นผู้มีใจเสียสละ ชอบให้ทานสงเคราะห์ เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้มั่งคั่งพรั่งพร้อมไปด้วยโภคสมบัติ

    11. บุคคลบางคน ถือตัวจัด กระด้าง ไม่เคารพผู้ควรเคารพ เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เกิดในตระกูลต่ำ

    12. บุคคลบางคน ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด เคารพคนที่ควรเคารพ เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เกิดในตระกูลสูง

    13. บุคคลบางคน ไม่ชอบสอบถามความสงสัยของตนกับท่านผู้รู้ ผู้ฉลาด ไม่ไต่ถามว่า อะไรเป็นกุศล อกุศล อะไรควรประพฤติ อะไรไม่ควรประพฤติ อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ เมื่อสิ้นชีพย่อมตกนรก เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้โง่เขลา

    14. บุคคลบางคน มีนิสัยชอบสอบถามท่านผู้รู้ หมั่นเข้าหาท่านผู้รู้ ฯลฯ เมื่อสิ้นชีพย่อมไปสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้ฉลาดรอบรู้ แหลมคม มีปัญญามาก

    พระศาสดาตรัสในตอนท้ายของพระสูตรนี้ว่า “ดูก่อนมาณพปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอายุน้อยก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีอายุน้อย ฯลฯ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก ก็นำไปสู่ความเป็นผู้มีปัญญามาก ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน... กรรมจำแนกสัตว์ให้ ทรามและดี”

    ตามนัยแห่งพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นว่า บุคคลสั่งสมกรรมอย่างใดย่อมได้รับผลแห่งกรรมอย่างนั้นของตน ประกอบกรรมอันนำไปสู่ความเป็นอย่างใด ย่อมได้รับความเป็นอย่างนั้น สรุปลงในหลักสั้นๆ ที่ว่า “ทำดี ได้รับผลดี, ทำชั่ว ได้รับผลชั่ว” ผลแห่งกรรมตามนัยแห่งมหากัมมวิภังคสูตร เมื่อพูดถึงจูฬกัมมวิภังคสูตรแล้วก็ควรพูดถึงมหากัมมวิภังคสูตรเสียด้วย ในมหากัมมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (พระไตรปิฎก เล่ม 14 หน้า 389) กล่าวถึงข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องกรรมและผลของกรรมแก่พระอานนท์ คือตรัสกับพระอานนท์ ใจความว่า

    มีบุคคลอยู่ 4 จำพวก คือ

    1. ผู้ทำชั่วทั้งทางกาย วาจา ใจ ตายไปแล้วไปตกนรกก็มี ทั้งนี้เพราะบุคคลพวกนี้ได้ทำกรรมชั่วต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ

    2. ผู้ทำชั่วทั้งทางกาย วาจา ใจ ตายแล้วไปสวรรค์ก็มี เพราะบุคคลพวกนี้ทำกุศลกรรมไว้มากในชาติก่อนๆ กุศลกรรมนั้นยังมีแรงให้ผลอยู่ ส่วนกรรมชั่วที่เขาทำใหม่ ยังไม่ทันให้ผล

    3. ผู้ทำสุจริตทั้งทางกาย วาจา ใจ เมื่อสิ้นชีพแล้วไปสวรรค์ก็มี เพราะคนพวกนี้ทำความดีติดต่อกันตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบัน

    4. ผู้ทำความดีทางกาย วาจา ใจ ตายแล้วไปนรกก็มี เพราะคนพวกนี้ได้ทำความชั่วไว้มากในชาติก่อนๆ อกุศลกรรมนั้นยังมีแรงให้ผลอยู่ กุศลกรรมที่เขาทำใหม่ยังไม่มีโอกาสให้ผล

    อนึ่ง นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ขณะจิตที่จวนตาย ยังมีส่วนประกอบอีก คือในขณะที่จวนจะตาย ถ้าจิตของผู้ใดยึดมั่นอยู่ในกุศลกรรม ผู้นั้นย่อมไปสุคติสวรรค์ก่อน จิตของผู้ใดยึดมั่นอยู่ในอกุศลกรรม ผู้นั้นย่อมไปนรกก่อน ตามอิทธิพลของอาสันนกรรม ดังอธิบายมาแล้วในเบื้องต้น

    ข้อความในวัตถูปมสูตรหนึ่ง ยืนยันความสำคัญของจิตเมื่อจวนตายอีกเหมือนกันว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา, จิตฺเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา แปลว่า เมื่อจิตเศร้าหมองเป็นอันหวังทุคติได้ เมื่อจิตไม่เศร้าหมองเป็นอันหวังสุคติได้” ถอดความอีกทีหนึ่งว่า บุคคลจะไปสุคติหรือทุคติก็สุดแล้วแต่จิตของตนเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว แม้ชีวิตปัจจุบันก็มองเห็นความจริงข้อนี้ได้ ผลแห่งกรรมที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เรื่องชีวิตและกรรม มีความสลับซับซ้อนมากดังพรรณนามา คนที่ มองชีวิตและกรรมในสายสั้น จึงไม่อาจเข้าใจชีวิตและกรรมอย่างแจ่มแจ้งโดยตลอดได้

    แม้ผู้ได้ญาณระลึกชาติหนหลังได้ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) และได้ญาณรู้อนาคต (อนาคตังสญาณ) แต่ได้ระยะสั้นเพียงชาติ 2 ชาติ ก็ยังหลงเข้าใจผิดได้ เพราะเห็นผู้ประกอบกรรมชั่วในปัจจุบันบางคนตายแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ เห็นผู้ทำกรรมดีบางคนตายแล้วเกิดในนรก เขา ไม่มีญาณที่ไกลกว่านั้น จึงไม่อาจเห็นกรรมและชีวิตตลอดสายได้ ส่วนผู้มีญาณทั้งในอดีตและอนาคตไม่มีที่สิ้นสุดเช่นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถเห็นกรรมและชีวิตได้ตลอดสาย ทรงสามารถชี้ได้ว่า ผลอย่างนี้ๆ มาจากกรรมอย่างใด

    มีตัวอย่างแห่งกรรมมากมายที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า บุคคลนั้นๆ ได้ประสบผลดีผลชั่วอย่างนั้นๆ อันแสดงถึงผลกรรมที่สามารถให้ผลข้ามภพข้ามชาติ จะขอนำบางเรื่องมาประกอบการพิจารณาในที่นี้

    1. ภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อจักขุบาล ท่านทำความเพียรเพื่อบรรลุมรรคผล จนตาบอดทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นผลของกรรมที่เมื่อชาติหนึ่ง พระจักขุบาลเป็นหมอรักษาโรคตา ประกอบยาให้คนป่วยตาบอดโดยเจตนา เพราะคนป่วยทำทีบิดพลิ้วจะไม่ให้ค่ารักษา เรื่องนี้ปรากฏในอรรถกถาธรรมบทภาคหนึ่ง เรื่องจักขุบาล

    2. ชายคนหนึ่ง ชื่อจุนทะ มีอาชีพทางฆ่าหมูขาย คราวหนึ่งป่วยหนัก ลงคลาน ๔ ขาร้องครวญครางเสียงเหมือนหมู ทุกข์ทรมานอยู่หลายวันจึงตาย เรื่องนี้ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท ภาคหนึ่ง เรื่องจุนทสูกริก

    3. ชายคนหนึ่งมีอาชีพทางฆ่าโคขายเนื้อวันหนึ่งเนื้อที่เก็บไว้ เพื่อบริโภคเอง เพื่อนมาเอาไปเสียโดยถือวิสาสะ จึงถือมีดลงไปตัดลิ้นโค ที่อยู่หลังบ้านมาให้ภรรยาทำเป็นอาหาร ขณะที่เขากำลังบริโภคอาหารอยู่นั้นลิ้นของเขาได้ขาดหล่นลงมา เขาคลาน 4 ขา เหมือนโค ร้องครวญครางทุกข์ทรมานแสนสาหัสและสิ้นชีพพร้อมกับโคหลังบ้าน เรื่องนี้ปรากฏในอรรถกถาธรรมบทภาค ๗ เรื่องบุตรของนายโคฆาต

    4. ภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อติสสะ เป็นแผลเปื่อยพุพองรักษาไม่หาย พระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ไปช่วยดูแลให้อาบน้ำอุ่น แสดงธรรมให้ฟัง พระติสสะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกับนิพพานในวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าที่เป็นแผลพุพองนั้นเพราะชาติก่อน พระติสสะเป็นพรานนก จับนกขายเป็นอาหาร ที่เหลือก็หักปีกหักขาไว้เพื่อไม่ให้มันบินหนี เรื่องนี้ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท ภาค 2 เรื่องปูติคัตตติสสะ

    5. พระนางโรหิณี พระขนิษฐาของพระอนุรุทธพระญาติของพระพุทธเจ้า ทรงเป็นโรคผิวหนังอย่างแรง ทรงละอายจนไม่ปรารถนาพบ ผู้ใด เมื่อพระอนุรุทธเถระมาถึงเมืองกบิลพัสดุ์ พวกพระญาติต่างก็มาชุมนุมกัน เว้นแต่พระนางโรหิณี พระอนุรุทธจึงถามหา ทราบความว่าพระนางเป็นโรคผิวหนัง พระเถระให้เชิญพระนางออกมาแล้วทรงแนะนำให้ทำบุญโดยให้ขายเครื่องประดับต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่ แล้วนำทรัพย์มาสร้างศาลาโรงฉัน ท่านขอแรงพระญาติที่เป็นชาย ให้ช่วยกันทำโรงฉัน

    พระนางโรหิณีทรงเชื่อ เมื่อสร้างโรงฉัน 2 ชั้นเสร็จแล้ว ทรงปัดกวาดเอง ทรงตั้งน้ำใช้น้ำฉันสำหรับพระภิกษุสงฆ์เอง ถวายขาทนียะ โภชนียาหารแก่ภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน โรคผิวหนังของพระนางค่อย ๆ หายไปทีละน้อยจนเกลี้ยงเกลา โรคนี้เป็นโรคที่เกิดแต่กรรม ต้องเอาบุญมาช่วยรักษา ลดอิทธิพลแห่งกรรมจนไม่มีอานุภาพในการให้ผลอีกต่อไป เหมือนคนกินยาเข้าไปปราบเชื้อโรค

    วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยที่โรงฉันของพระนางโรหิณี แล้วตรัสให้พระนางทราบว่าโรคนั้นเกิดขึ้นเพราะกรรมของพระนางเอง ในอดีตกาล พระนางโรหิณีเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี มีจิตริษยาหญิงนักฟ้อนคนหนึ่งของพระราชา ได้ทำเองด้วย ให้คนอื่นทำด้วย คือการเอาผงเต่าร้างหรือหมามุ้ยโรยลงบนสรีระของหญิงนักฟ้อนคนโปรดของพระราชา นอกจากนี้ยังให้บริวารเอาผงเต่าร้างไปโปรยบนที่นอนของหญิงนักฟ้อนคนนั้นอีกด้วย

    หญิงนักฟ้อนคันมาก เป็นผื่นพุพองขึ้นมา ได้รับทุกขเวทนา แสนสาหัส นี่คือบุพพกรรมของพระนางโรหิณี พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า พึงละความโกรธความถือตัวเสีย

    เรื่องนี้ ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท ภาค 6 เรื่องพระนางโรหิณี

    6. ในอรรถกถาสาราณียธรรมสูตร ภาค 3 หน้า 110-112 เล่าไว้ว่า ในพุทธกาลมีภิกษุรูปหนึ่ง มีนิสัยชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ได้ปัจจัยอะไรมาก็แบ่งปันแก่ภิกษุอื่นเสมอๆ ด้วยอานิสงส์นี้ ท่านกลายเป็นผู้มีโชคดีในเรื่องลาภอย่างประหลาด ในที่บางแห่ง ภิกษุอื่นไปบิณฑบาตไม่ได้อาหาร อะไรเลย แต่พอภิกษุรูปนั้นไป ปรากฏว่ามีคนมีจิตคิดทำบุญใส่บาตรให้ท่านจนเต็ม ท่านได้นำอาหารเหล่านั้นมาแบ่งให้ภิกษุอื่นๆ จนหมดคราวหนึ่ง

    พระเจ้าแผ่นดินมีพระประสงค์จะถวายผ้าแก่พระทั้งวัด มีผ้าเนื้อดีที่สุด 2 ผืน (คงจะเป็นผ้านุ่ง คือผ้าสบงผืนหนึ่ง ผ้าห่มคือจีวรผืนหนึ่ง) พระรูปนั้นทราบเข้าจึงพูดไว้ล่วงหน้าว่า ผ้าเนื้อดี 2 ผืนนั้น จะต้องตกมาถึงท่านอย่างแน่นอน อำมาตย์ได้ทราบเรื่องนี้ จึงนำเรื่องไปทูลกระซิบพระราชา พระราชาเป็นผู้ถวายผ้าเอง ก็ทรงสังเกตผ้าที่วางซ้อนๆกันอยู่ พอมาถึงลำดับภิกษุหนุ่มรูปนั้น ก็เป็นผ้าเนื้อดีทั้ง 2 ผืน ทั้งอำมาตย์และพระราชาต่างมองหน้ากันเป็นเชิงประหลาดใจ

    เมื่อทำพิธีถวายผ้าเสร็จแล้ว พระราชาเสด็จเข้าไปหาภิกษุหนุ่มรูปนั้น ด้วยเข้าพระทัยว่าพระรูปนั้นเป็นพระอรหันต์มีญาณวิเศษอย่างแน่นอน จึงตรัสถามว่าพระคุณเจ้าได้บรรลุโลกุตรธรรมตั้งแต่เมื่อไร ภิกษุหนุ่มถวายพระพรว่า ยังไม่ได้บรรลุอะไรเลย แต่ที่รู้ว่าผ้าเนื้อดีจะต้องตกแก่ตนนั้นก็เพราะท่านเป็นผู้บำเพ็ญสาราณียธรรมคือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่เป็นนิตย์ ตั้งแต่เริ่มบำเพ็ญมาก็ได้ผลอย่างประหลาดอยู่เสมอ คืออะไรที่ดีที่สุด ถ้ามีการแจกกันโดยไม่เจาะจง สิ่งนั้นก็ต้องตกมาถึงท่าน พระราชาทรงชื่นชมยินดีและทรงอนุโมทนา

    7. ในคัมภีร์อปทาน (อันเป็นพระประวัติที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึง เรื่อง ในอดีตของพระองค์) พระไตรปิฎก เล่ม 32 ตั้งแต่หน้า 471 พระองค์ได้ทรงเปิดเผยถึงอดีตกรรมของพระองค์ อันเป็นเหตุบันดาลให้เกิดผลแก่พระองค์ในปัจจุบันมากเรื่องด้วยกัน ขอนำมากล่าวเพียงบางเรื่องดังนี้

    7.1 ชาติหนึ่ง พระองค์เป็นนักเลงชื่อปุนาลิ กล่าวใส่ความพระ ปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้ายพระองค์เลยแม้แต่น้อย ผลของกรรมนั้นทำให้พระองค์ต้องตกนรกอยู่นาน ในพระชาติสุดท้ายถูกนางสุนทรีใส่ความว่าพระองค์ได้เสียกับนาง เป็นเรื่องอื้อฉาวมากเรื่องหนึ่งในพุทธกาล

    7.2 ชาติหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ใส่ความสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสัพพาภิภู (พระนามของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ชื่อสาวก) สาวกนั้น ชื่อนันทะ ด้วยผลกรรมนั้น พระองค์ต้องตกนรกอยู่นาน ในพระชาติสุดท้ายที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ความว่าได้เสียกับนางในพระคันธกุฎีจนนางมีครรภ์ เป็นเรื่องอื้อฉาวที่สุดในพุทธกาล

    7.3 ชาติหนึ่ง พระองค์ทรงฆ่าน้องชายต่างมารดาเพราะอยากได้ทรัพย์เพียงผู้เดียว โดยผลักน้องชายลงซอกเขาเอาหินทุ่ม ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ในพระชาติสุดท้ายที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงถูกพระเทวทัตปองร้ายเอาศิลาทุ่ม แต่เพราะกรรมนั้นเบาบางมากแล้วจึงไม่ถูกอย่างจัง ถูกเพียงสะเก็ดเล็กน้อยที่นิ้วพระบาทเท่านั้น* ผลแห่งกรรมที่พิสูจน์ได้ในปัจจุบัน

    มีเรื่องราวอยู่มากมายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตคน อันแสดงให้เห็นถึงผล ของกรรมอันพิสูจน์ได้ในชาติปัจจุบัน คนที่รู้เรื่องนี้ดีกว่าใครหมดก็คือ ตัวเอง คือผู้ทำกรรมนั่นเอง ผลชั่วบางอย่างมาเผาอยู่ที่ใจ แม้คนภายนอกไม่รู้ไม่เห็น แต่ตัวเองย่อมรู้เห็นอยู่ทุกวัน ผลดีบางอย่าง คนอื่นไม่เห็นแต่มันมาคอยปลอบประโลมให้ความอบอุ่นใจ เย็นใจแก่ผู้ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันเหมือนโรคภายใน โรคภายนอก และสุขภาพที่ดีหรือสุขภาพที่เลวของแต่ละคนนั่นแหละ คนที่ซาบซึ้งดีที่สุดคือตัวของตัว

    มีผลกรรมบางอย่างซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้งทั้งแก่ตนเองและคนทั้งหลายอื่น เห็นผลแล้วสาวไปหาเหตุได้แน่ชัด

    ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการให้ผลของกรรมดังกล่าว ซึ่งข้าพเจ้าขอรวบรวมมาไว้ในที่นี้เฉพาะบางเรื่อง

    1. ในงานฌาปนกิจศพที่วัดมะกอก หรือวัดอภัยทายาราม ข้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง เจ้าภาพได้มอบเงินให้ทาง โรงครัวของวัดเป็นผู้จัดการเรื่องอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคน โดยมีหญิงวัย 40 คนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมและจ่ายของ แม่ครัวผู้นั้นได้ไปซื้อเนื้อมาเตรียมไว้ 7 กิโล คงจะยังไม่ได้เก็บให้ดี สุนัขตัวหนึ่งมากินเนื้อหมด หญิงแม่ครัวโกรธแค้นมากผูกอาฆาตว่าจะฆ่ามันให้ได้ เจ้าภาพบอกว่า เมื่อสุนัขกินเนื้อเสียแล้วก็ช่างมันเถอะ จะไปซื้อมาให้ใหม่ ขอให้ทำอย่างอื่นไปก่อน

    แต่แม่ครัวผู้นั้นหายอมไม่ เมื่อเจ้าภาพออกไปแล้วนางจึงจัดแจงต้มน้ำร้อนด้วยหม้ออวยใบใหญ่ แล้วแกก็ออกไปซื้อเนื้อมา 1 กิโล หั่นไว้เป็นชิ้นๆ พอน้ำร้อนเดือดพล่านดีสมใจแล้วแกก็เอาชิ้นเนื้อที่หั่นไว้ไปโยนล่อสุนัขตัวนั้น มันคิดว่าคนเมตตามัน มันจึงตามกินเหยื่อล่อใกล้เข้ามาๆ จนถึงใกล้หม้อน้ำซึ่งกำลังเดือด ขณะที่มันกำลังกินเหยื่อ ก้มหน้าก้มตา ขบเคี้ยวอยู่นั้น หญิงแม่ครัวยกหม้อน้ำร้อนเทราดตัวมันอย่างสะใจ น้ำร้อน รดลวกจนทั่วตัว ขนหลุดร่วง เนื้อหนังสุกไปทั้งตัว กระโดดโหยงขึ้นสุดตัวแล้วกระเสือกกระสนไปนอนตายในที่ไม่ไกลนัก หญิงนั้นมีท่าทางสะใจ

    คืนแรกที่ตั้งศพสวดพระอภิธรรมผ่านพ้นไปโดยเรียบร้อย ในวันรุ่งขึ้น รายการบำเพ็ญกุศลเป็นไปตามกำหนด ตอนเลี้ยงเพลมีการลำเลียง อาหารที่ต้มแกงจากข้างล่างเสร็จแล้วส่งขึ้นไปตักจัดตระเตรียมบนศาลาการเปรียญ พวกคนครัวเป็นผู้ส่งจากข้างล่าง คนบนศาลาคอยรับไปตัก จัดใส่ภาชนะ โดยส่งและรับกันเป็นหม้อเป็นชามกะละมังและเป็นเข่งกันทีเดียว

    แม่ครัวคนที่เอาน้ำร้อนลวกสุนัขแกคงลืมเรื่องราวไปแล้ว ได้ยกหม้อข้าวหม้อแกงลำเลียงส่งร่วมกับคนอื่นด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส แกปรี่เข้าไปยกหม้อแกงขนาดใหญ่ที่กำลังร้อนระอุตั้งอยู่บนเตา ออกแรงยกเอามาชูส่งขึ้นไปบนศาลา สองแขนชูหม้อแกงขึ้นสูงอยู่ระดับศีรษะเล็กน้อย ทันใดนั้นมีชายคนหนึ่งที่อยู่บนศาลาก้มลงเอื้อมมือจะจับที่หูหิ้วทั้งสองข้างคนรับยังไม่ทันรับ แต่คนส่งคิดว่าเขารับแล้วจึงปล่อยมือทันที หม้อแกงเอียงคว่ำเทราดลงมาตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า แกล้มลงสะบัดตัวดิ้นเร่าๆ เนื้อหนังสุกไปทั่ว คนหลายคนรีบพานางส่งโรงพยาบาล แต่ช้าไปเสียแล้วหมอช่วยอะไรไม่ได้ แกมีชีวิตต่อมาอีกเพียง 3 ชั่วโมงก็ขาดใจตาย เพราะทนพิษความทุกข์ทรมานไม่ไหว

    2. หลายปีมาแล้วมีข้าราชการคนหนึ่ง รับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เขาเป็นคนใจเหี้ยมโหดขาดเมตตากรุณาต่อสัตว์ โดยเฉพาะหมาแมวเขาจงเกลียดจงชังนัก เมื่อเขาพบเข้าจะรังแกมันทันที เตะบ้าง ปาด้วยท่อนไม้ ก้อนดิน ก้อนหิน สุดแล้วแต่จะทำอย่างไรได้สะดวกในเวลานั้น เพื่อนจะเตือนด้วยความหวังดีสักเท่าไร เขาก็หาฟังไม่ เพราะเขาเห็นชีวิตสัตว์เช่นแมวหมาไม่มีคุณค่าอะไร บ่ายวันหนึ่ง เขาเจอแมวดำตัวหนึ่ง กำลังหลับอยู่ใต้ร่มไม้ใบดก คนใจบาปเกิดมันเขี้ยวขึ้นมาทันที เขาเดินไปหาก้อนอิฐขนาดใหญ่มา เหวี่ยงทุ่มแมวเคราะห์ร้ายด้วยกำลังแรง มันสะดุ้งโหยงแล้วชักดิ้นชักงอตายไปทันที

    เวลาล่วงไป 4-5 เดือน ชายคนนั้นป่วยเป็นโรคชักกระตุก ดิ้นงอไป-มา หายใจไม่ออก ทางบ้านรีบส่งโรงพยาบาล ที่โรงพยาบาล ผู้เล่าได้เห็นอาการของเขาชักดิ้นชักงอไป-มา เหมือนแมวที่เขาทุ่มตาย สุดวิสัยที่หมอจะช่วยเหลือได้ เขาตายไปเหมือนแมวดิ้นตายนั่นเอง

    สองเรื่องนี้รวบรวมเก็บความจากนิตยสาร “ศุภมิตรรายเดือน” ข้อเขียนของอาภรโณ ซึ่งผู้เขียนเล่าว่าได้ฟังเรื่องทั้งสองนี้จากจ่าผู้หนึ่งซึ่งได้พบเห็นด้วยตนเอง

    3. จีนผู้หนึ่ง มีอาชีพทางเชือดไก่ขาย เวลาเช้าจะนำไก่ที่ฆ่าแล้วใส่ ถังสังกะสีสำหรับตักน้ำ เอาไม้คานใส่ระหว่างหูหิ้วของถัง และหาบผ่านวัดไปตลาดเสมอ ตอนบ่ายขายไก่ได้แล้วก็กินเหล้าเดินกลับ นานๆ ก็เชือดคอตัวเองเสียครั้งหนึ่ง จนคอมีรอยแผลเป็น ผู้เขียนเป็นเด็กเรียนหนังสืออยู่ในวัดได้เห็นและรู้จักเอง แกชื่อกัง ใครๆ เรียกแกว่าเจ๊กกัง ครั้งหลังสุดดูเหมือนแกเชือดคอตนเองจนตาย

    <SB>4. จีนคนหนึ่งที่ตลาดพลู</B> ธนบุรี มีอาชีพฆ่าหมู คราวหนึ่งไม่สบาย ส่งเสียงร้องเหมือนหมู ร้องเรียกเมียซึ่งแต่งงานด้วยกันไม่ถึงเดือนให้เอาอ่าง (รองเลือด) มาให้ เอามีดหมูมา พอได้ของเหล่านี้มาพร้อมแล้วก็ขาดใจตาย
    ข้อ 3, 4 นี้รวบรวมจากหนังสือ “คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา” ของ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ หน้า 362

    5. ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชายคนหนึ่งชื่อดำ เป็นชาวนาเกลือ แขวงบางละมุง จังหวัดชลบุรี นายดำหาเลี้ยงชีพในทางรับจ้าง คราวหนึ่งไปรับจ้างเฝ้าไข่จะละเม็ดที่เกาะคราม มีจีนผู้ร้ายมาขโมยไข่เนืองๆ เป็นเหตุ ให้นายดำโกรธเคืองมาก พยายามคอยจับอยู่เสมอ

    คืนหนึ่ง นายดำซุ่มอยู่ เห็นผู้ร้ายคนจีนมาลักไข่จึงเข้าจับได้พร้อมทั้งของกลาง เอาเชือกผูกมัดขโมยไว้อย่างมั่นคง เอาไม้ตีบ้าง เอามีดฟันบ้างตามใจชอบ แต่ขโมยก็ยังไม่เป็นอันตรายสมใจ จึงไปหาหลาวมาสวนทวารหนัก จนจีนขาดใจตาย นายดำได้นำศพจีนคนนั้นไปฝังไว้อย่าง มิดชิดจนแน่ใจว่าลับตาคนดีแล้วก็คงอยู่ต่อมาตามปกติ

    ภายหลังนายดำเลื่อมใสในศาสนา ถึงกับบวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดหนองเกตใหญ่หลายพรรษา จนได้เป็นสมภารปกครองวัดนั้นตลอดมา เมื่อจวนมรณภาพมีอาพาธเป็นโรคบิด ยังมีกำลังพอเดินได้ ไปถ่ายอุจจาระที่ถานก็ถ่ายไม่ออก ภายหลังรู้สึกปวดมวนจึงเดินลงจากกุฏิไปถานอีก ถานนั้นอยู่ในหมู่ต้นกล้วยซึ่งมีทั้งเล็กใหญ่และหน่อมากมาย แม้ท่านจะพยายามถ่ายสักเท่าไรก็หาออกไม่ จึงขยับตัวลุกขึ้นยืนหมายจะกลับไปกุฏิ เวลานั้นท่านรู้สึกว่ามีอะไรเป็นก้อนดำมืดเคลื่อนเข้ามาตรงหน้าท่าน ท่านก็ซวนล้มลงนั่งทับหน่อกล้วยลงไปเต็มแรง หน่อกล้วยนั้นสวนเข้าไปในทวารพอดี เมื่อกลับมากุฏิแล้วให้เด็กไปตัดหน่อกล้วยนั้นมาไว้ ชี้ให้ผู้มาเยี่ยมดูเล่าเรื่องที่ท่านเคยใช้หลาวสวนทวารจีนขโมยให้ฟังว่าผลกรรมมาถึงแล้ว สมภารดำได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่หลายวันก่อนถึงมรณภาพ

    6. สมภารดำตามเรื่องที่ 5 นั้น มีพี่น้องหลายคน ในจำนวนนั้น น้องสาวคนหนึ่งของสมภารดำชื่อเปรม เมื่อเปรมยังเด็กอยู่ ผู้ใหญ่เคยให้ เฝ้าข้าวเปลือกซึ่งได้นำออกมาผึ่งแดดไว้ วันหนึ่งขณะที่เปรมกำลังเฝ้าข้าวเปลือก มีแม่ไก่ตัวหนึ่งพาลูกเล็ก ๆ 13 ตัวมาจิกคุ้ยเขี่ยกัน เปรมแล เห็นแล้วเกิดขัดใจขึ้นมา จึงเอาท่อนไม้เหวี่ยงปาไปเต็มแรง ไม้นั้นตกลงดินก่อนแล้วสะท้อนไปแทงเอาตาข้างซ้ายของแม่ไก่ ทำให้ตาข้างซ้ายนั้นบอดต่อมา

    เปรมแต่งงานแล้วมีลูก 13 คน (เท่าลูกไก่) เวลานั้นนางมีอายุล่วงเข้ามัชฌิมวัย วันหนึ่งหน้าฟาดข้าว คนในบ้านเอารวงข้าวที่เกี่ยวแล้วมาฟาดบนปากถังเพื่อให้เมล็ดข้าวร่วงลงก้นถัง ตามธรรมเนียมที่ใช้ กันในแถบนั้น เมื่อถึงคราวหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน คนเหล่านั้นก็หยุดตามเวลา แต่ข้าวที่ยังไม่ได้ฟาดเหลืออยู่อีก 1 ฟ่อน นางเปรมจึงหยิบไปฟาดเพื่อให้หมดเสียทีเดียว บังเอิญข้าวเมล็ดหนึ่งกระเด็นเข้าตาของนาง แทงถูกแก้วตาซ้าย ทำให้ปวดร้าวเหลือประมาณ ทุรนทุรายน่าสังเวชยิ่งนัก พวกพ้องช่วยกันรักษาพยาบาลตามกำลังสามารถ แต่อาการปวดหาคลายลงไม่ ต่างปรึกษากันที่จะหาหมอมารักษาต่อไป นางเปรมทราบเรื่องจึงห้ามเสีย บอกว่า ผลกรรมของตนตามมาทันแล้ว หมอวิเศษอย่างไรก็คงรักษาให้หายไม่ได้ ในที่สุดตาข้างซ้ายของนางก็บอดเช่นเดียวกับแม่ไก่

    7. ชายผู้หนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองหมู อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี มีอาชีพทางเป็นพ่อค้าเกวียน ได้ซื้อข้าวบรรทุกเกวียนไปขายอยู่เสมอ เขาเป็นคนโหดร้าย ใจอำมหิต ใช้สัตว์พาหนะโดยปราศจากเมตตาปรานี ให้อดหญ้า อดน้ำ กรำแดด กรำฝน สัตว์พาหนะต้องทุรนทุรายด้วยงานหนักและอดน้ำกรำแดดอยู่เสมอ ซ้ำเขาคอยพูดหลอกลวงสัตว์อยู่เสมอว่าไปถึงตำบลโน้นก่อนเถิด จึงค่อยหยุดพักกินน้ำกินหญ้า แต่เมื่อถึงเข้าแล้วก็หาหยุดไม่กลับผัดเพี้ยนในที่ข้างหน้าต่อ ๆ ไปอีก สัตว์พาหนะนั้นได้รับความกระวนกระวายเพราะกระหายน้ำเป็นกำลัง เมื่อถึงที่ที่ได้ดื่มน้ำก็มีแต่น้ำขุ่นข้นเจือด้วยเปือกตม

    เขาได้ใช้สัตว์พาหนะโดยทำนองนี้ตลอดมาจนเขาชราภาพ เมื่อป่วย ใกล้จะสิ้นชีวิตได้แลเห็นนิมิตต่างๆ เป็นต้นว่า ดุมและกงเกวียนหมุนอยู่ที่หน้าอก ครวญครางเรียกให้บุตรและภรรยามาช่วย ครั้นกลับได้สติขึ้นมา ก็สั่งสอนลูกหลานว่าอย่าเอาเยี่ยงตน จะใช้สัตว์พาหนะให้มีใจสงสารปรานีมัน พูดแล้วก็ครวญครางต่อไปอีก และร้องบอกว่ากระหายน้ำเหลือเกิน เมื่อบุตรภรรยาเอาน้ำมาให้ก็ดื่มไม่ได้ แสดงอาหารหอบและหิวกระหายทำนองเดียวกับสัตว์พาหนะที่ตนเคยทรมานมา เมื่อจะบริโภคน้ำได้บ้าง ถ้าเป็นน้ำใสก็ดื่มไม่อร่อย ต้องน้ำขุ่นๆ จึงจะอร่อยและพอใจ เขาเสวยทุกขเวทนาอยู่ดังนี้หลายวันจึงสิ้นชีพ

    8. หลวงชี (พระแก่) รูปหนึ่ง มีความขยันขันแข็ง ปลูกต้นไม้และผักต่างๆ ไว้มากที่บริเวณกุฏิของท่าน ชาวบ้านใกล้เคียงได้อาศัยท่านมากเหมือนกัน คนไหนมาขอ ท่านก็ให้โดยดี แต่คนไหนลักขโมยเอา ท่านบ่น ด่าว่าไปต่าง ๆ นานา ต่อมาวันหนึ่งชายชาวบ้านผู้เป็นพาลคนหนึ่ง คงมา ลักผักหรือผลไม้ของท่านเข้า เมื่อถูกท่านบ่นก็โกรธแค้นอาฆาตคิดจะฆ่าท่านเสีย จึงให้ภรรยาทำขนมแล้วเอายาพิษคลุกเข้าไว้ ให้คนนำไปถวายหลวงชีรูปนั้น บังเอิญนำไปเมื่อพ้นเพล ท่านฉันเพลเสียแล้ว จึงเก็บขนม ไว้ใต้เตียง เพื่อไว้ให้เด็กที่ชอบมาเล่นในวัดบริเวณกุฏิท่านเสมอๆ

    เย็นวันนั้น เด็กคนหนึ่งมาเล่นที่บริเวณกุฏิของท่าน ท่านจึงเรียกมาและให้ขนมกิน ไม่ช้ายาพิษได้ซ่านไปในกายของเด็ก พระก็ไม่ทราบจะช่วยอย่างไร จึงบอกกล่าวให้พ่อแม่เด็กมารับตัวไปรักษา เด็กคนนั้นเป็นลูกของชายผู้เอายาพิษคลุกขนมถวายพระนั่นเอง เด็กถึงแก่ความตายในวันนั้น

    ข้อ 5, 6, 7, 8 รวบรวมเก็บความจากหนังสือเรื่อง “ภพอื่นและเรื่องควรคำนึง พิสูจน์บุญ-บาปในปัจจุบัน” รวบรวมโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ และวัฒนา โอสถานุเคราะห์



    ที่มาของข้อมูล

    http://bannpeeploy.exteen.com
     

แชร์หน้านี้

Loading...