หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ตอบปัญหาธรรม [สติปัฏฐาน ๔]

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 3 สิงหาคม 2013.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
    แสดงธรรมและตอบปัญหาธรรม
    เรื่องสติปัฏฐาน ๔ (ตอนที่ ๑)


    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เป็นอาจารย์กรรมฐานแนวการเจริญสติ ผู้มีชื่อเสียงและสำคัญยิ่งท่านหนึ่ง หลวงพ่อได้ตอบปัญหาธรรมของคุณประสาน ชำนิงาน และคุณบูชา บูชาธรรม ที่วัดเจริญราษฎร์ อ.บ้านค่าย จ. ระยอง เมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๓๖


    อุบาสก ::

    ตอนนี้ที่ผมสงสัย ตนเองก็เคยนั่งสมาธิช่วงที่อยู่ญี่ปุ่น เพิ่งจะกลับมาได้ ๒ อาทิตย์ ไปเรียนมา ๕ ปี แล้วก็ทำงาน ๒ ปีครับ ช่วงนั้นก็รู้ตัวว่าตัวเองเครียด ก็พยายามนั่งสมาธิ แล้วก็ได้ผลจากสมาธิมากพอสมควร แต่มาตอนหลังนี้เครียดมากขึ้น ก็เลยสงสัย รู้สึกว่าอยากจะตัดความเห็นแก่ตัวทิ้ง เพราะรู้ว่าความวุ่นวายที่มันร้อนรนตอนนี้ก็เพราะความเห็นแก่ตัว คือคิดอะไรทำอะไรเพื่อตัวเองนี่มันร้อนแล้วเครียด

    เคยมีอยู่ช่วงหนึ่ง มีประสบการณ์ว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรที่จะมาเป็นของตัวเรา ช่วงนั้นมีความสุขมากครับกับการนั่งสมาธิ แต่ก็เป็นอยู่ช่วงเดียวก็เลยมีความรู้สึกว่าความสุขแบบนั้นมีอยู่ เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เลย พยายามนั่งสมาธิมาตลอด แต่ตอนนี้สงสัยก็คือ จากสมาธิแล้วไปวิปัสสนา หรือว่าอย่างกรรมฐาน ๔๐ กองมันหมายถึงอะไร แล้วเขาบอกว่ากรรมฐานต้องเหมาะกับจริตแต่ละคน มันหมายความว่าอย่างไร


    หลวงพ่อ ::

    ฟังนะ หลวงพ่อจะพูดให้ฟัง สมาธิที่คุณนั่งได้สงบอันนั้น มันเป็นผลของสมถะแล้วก็ได้ความสุข แต่ความสุขแบบนั้นมันเป็นอุปสรรค มันเปลี่ยนไม่ใช่สุขถาวรเปลี่ยนได้ ไม่ใช่ความสงบแบบผลของวิปัสสนา ความสงบของสมถะ ถ้าเปรียบก็เหมือนกับศิลา (ความสงบ) ทับหญ้า (กิเลส) พอยกหินออกหญ้า (กิเลส) ก็งอกขึ้นมา หลวงพ่อก็เคยประสบมา จนติดใจไปไหนมาไหนคิดถึงแต่ห้องพระ ไปทำงานอยากให้มันค่ำอยากเข้ามานั่งในห้องพระ บางวันเปิดประตูเข้ามานี่ยังไม่เสร็จเลยมันสงบ มีความสุขมาก ไปทำงานก็คิดถึงแต่ห้องพระ แต่ยังมีความโกรธ มีความทุกข์ มีความโง่อยู่ แต่ว่าความโกรธ ความโลภ ความหลงไม่ได้แตะต้องเลย (มันถูกทับไว้เหมือนศิลาทับหญ้า) ความสงบนั้นเป็นผลของสมถะ ให้รู้ไว้อย่าไปคิดว่านั่นเป็นอะไร

    หลวงพ่อบอกได้เลยว่ามันเป็นผลจากสมถะ นั่นแหละสงบ ถ้าจะเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิแบบเฉียดๆ ไม่ตรง ไม่ตรง เฉียดๆ บางคนก็จะนั่งอยู่แต่ในห้องไม่ทำมาหากิน แล้ว ๑๐ ปี ๒๐ ปีก็ยังโกรธ ยังทุกข์อยู่ มันสู้ไม่ได้ สู้กับโลกไม่ได้ มีปัญหาขึ้นมาก็รีบเข้าไปหนีผู้หนีคน เข้าไปนั่งสมาธิ มันเป็นอย่างนั้น กรรมฐานทั้งหมดที่ตามตำราว่าไว้ ๔๐ กอง หมายถึงอาการต่างๆ ๔๐ อย่าง นำมาศึกษาเป็นกสิน เป็นนิมิต เป็นปิติ เป็นจินตญาณต่างๆ สร้างขึ้นเป็นรูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง

    ทีนี้จริตบางคนก็บอกว่า ราคะจริตก็ต้องเจริญอสุภกรรมฐาน โทสจริตต้องเจริญกรรมฐานแบบแผ่เมตตาอะไรต่างๆ ซึ่งกลับกันตามที่หลวงพ่อศึกษาดูแล้ว อาจจะจริงแบบนั้นก็ได้ แต่ว่ามันยังเป็นการกลบเกลื่อนยังไม่ตกไปสิ้นไป เวลาใดที่มีราคะเกิดขึ้นต้องพิจารณาอสุภกรรมฐานมองเห็นเป็นสิ่งขยะแขยงไป เป็นของไม่ดี น่าเกลียด โสโครก จะมองแบบนั้นก็ตกเป็นความคิดล้างความคิด เป็นสังขารแก้สังขาร เกิดจากความคิด เมื่อมันเป็นอย่างนั้นเราก็คิดเอาแบบไม่งาม น่าเกลียด โสโครก เป็นความคิดล้างความคิด มันก็อยู่แค่นั้น มันไม่ถาวร

    บัดนี้ เราก็มาประสบกับกรรมฐานแบบสติปัฏฐาน ๔ มันแก้ได้หมดทุกอย่าง จะเป็นราคะจริต โทสจริต โมหะจริต กรรมฐานแบบสติปัฏฐาน ๔ แก้ได้ ราคะจริตก็หมดไป โทสจริตก็หมดไป อันนี้ออกก่อนใครทั้งหมดเป็นไปตามภูมิวิปัสสนา อย่างสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส มันก็ชักสะพานออก ราคะไม่มีที่ตั้ง โทสะไม่มีที่ตั้ง ยิ่งมาเห็นรูปธรรม นามธรรม มันก็ยิ่งชักพื้นฐานของที่ตั้งของสังขารของกิเลสออกแล้วก็เกิดปิติ ความโกรธ ความโลภ ความหลงออกก่อนใคร นอกนั้นเป็นเรื่องของอารมณ์ จบอารมณ์แล้วเป็นเรื่องของกามราคะ ปฏิฆะ ทำอาสวะทั้งหลายให้สิ้นไป

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน ๔ นี่เป็นกรรมฐานที่สากล ถ้าหลวงพ่อพูดนะแก้ได้หมด ถ้าใครไม่เคยเจริญสติปัฏฐาน ๔ อาจจะงง ราคะจริต โทสจริตต้องเจริญกรรมฐานแบบนั้นแบบนี้ ถ้าได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วล่ะก้อ กรรมฐานทุกอย่างรู้หมด อารมณ์ของกรรมฐานเป็นอย่างไร อะไรเป็นกรรมฐาน อะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา รู้หมดใช้สอนได้หมด แบบสมถะก็รู้ แม้แต่เราไปสอบอารมณ์คน เราไปถามเราก็รู้ เขาพูดอะไรให้ฟัง เขาอยู่ตรงไหนเราก็รู้

    สติปัฏฐาน ๔ มันจะเป็นกรอบของกรรมฐานทั้งหมด อันใดเป็นสมถะ อันใดเป็นวิปัสสนา เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงสอนเรื่องสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นสิ่งที่ครบวงจรของกรรมฐาน จะยุบหนอ - พองหนอ สัมมาอรหัง พุทโธ อานาปานสติ พอที่จะรู้จัก เพราะฉะนั้นเรื่องสติปัฏฐาน ๔ นี้ ถ้าเรารู้ทุกอย่างของกรรมฐาน ๔๐ อะไรคือกรรมฐาน อะไรคืออารมณ์ อะไรคือบริกรรม อะไรคือจินตญาณ อะไรคือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส อะไรคือศีล คือสมาธิ คือปัญญา อะไรคือญาณ อะไรคือฌาณ อะไรคือมรรค อะไรคือผล หลุดจากอะไรถึงชื่อว่าวิมุตติ ประสบพบเข้าจึงรู้ เช่นเรื่องของศีลนี่ ไม่ได้รู้หรอกว่าศีลเป็นอะไร พอมีศีลแล้วจึงค่อยรู้จัก เห็นแล้วจึงเห็น เห็นต่อเมื่อมันมี เป็นต่อเมื่อมันเป็น (เรามักจะคิดเห็น เป็นก่อนเป็น ถึงก่อนถึง มีก่อนมี อันนี้ไม่ใช่ของจริง)

    ตามที่หลวงพ่อศึกษาดู หลักสติปัฏฐาน ๔ มีแล้วจึงเห็น เป็นแล้วจึงรู้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง หลุดไปแล้วจึงรู้สึกว่ามันน่าเกลียด แต่ก่อนอยู่กับมันไม่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเกลียด พอสิ่งเหล่านั้นหลุดออกไปมันก็สะอาดบริสุทธิ์ สมมุตว่าใจนั้นมันเคยอยู่กับสภาพอารมณ์ต่างๆคลุกเคล้าอยู่กับท่านผู้รู้ ว่านกอยู่บนฟ้าไม่เห็นฟ้า ปลาอยู่ในน้ำไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนอยู่ในดินไม่เห็นดิน หนอนอยู่ในคูตรไม่เห็นคูตร ต่อเมื่อใดมันออกจากสภาวะนั้นก็หลุด มันก็เหมือนเราอาเจียน สิ่งนี้มีอยู่ในท้องเราเราไม่รู้ พอมันหลุดออกไป ไปเอาคืนก็ไม่เอาใช่ไหม ? หรือบ้วนน้ำลายออกไปใครจะเอาน้ำลายกลับคืน ฉะนั้นความโกรธ ความโลภ ความหลงมันหลุดออกไป จึงรู้ว่ามันไม่ดีก็รู้ว่าความโกรธ ความโลภ ความหลงมันไม่ดี แต่ว่านี่มันเห็นไม่ใช่รู้ พอมันเห็นก็เอามาอีกไม่ได้ จะทุกข์ทำไมเราเห็นความทุกข์มันก็หลุด จะโศกทำไม เหมือนกับเรามันสะอาดแล้ว

    จิตมันสะอาดจะให้ไปคิดอย่างนั้นอีกมันทำไม่ได้ จะให้ไปโกรธ โอ้ย มันตกใจเพียงแต่คิดมันก็ตกใจ จะไปแสดงความโกรธหน้าบูดหน้าบึ้งไปดุไปด่ามันจะไปทำได้อย่างไร นี่มันมีแล้วจึงรู้ มีศีลแล้วจึงรู้ มีสมาธิแล้วจึงรู้ มีปัญญาแล้วจึงรู้ เราอยู่ในร่มแล้วใครจะเป็นบ้าไปนั่งตากแดดอยู่อย่างนั้นไม่เคยประสบกับร่มสักที สมมตินะคุณประสาน (อุบาสก) ไปนั่งตากแดดอยู่โน่นตั้งแต่เกิดมาจนอายุ ๓๐ ปี บัดนี้วันดีคืนดีมาอยู่ในร่ม การสัมผัสร่มกับการสัมผัสแดดมันต่างกัน ใครบอก ? มีใครบอกไหม ไม่มีใครบอกอะไร มันรู้ปัจจัตตัง รู้เอง เกิดสภาวธรรมแล้วจะไปนั่งอยู่กลางแดดได้อย่างไร ร้อนอย่างนั้น ไม่ว่ามีอะไรจะมาผลักไสไปอยู่ในแดด มันก็ไม่จนตัวอยู่ในสภาพอย่างนั้น มันก็หาทางอยู่ที่ความไม่ทุกข์ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง



    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
    แสดงธรรมและตอบปัญหาธรรม
    เรื่องสติปัฏฐาน ๔ (ตอนที่ ๒)


    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เป็นอาจารย์กรรมฐานแนวการเจริญสติ ผู้มีชื่อเสียงและสำคัญยิ่งท่านหนึ่ง หลวงพ่อได้ตอบปัญหาธรรมของคุณประสาน ชำนิงาน และคุณบูชา บูชาธรรม ที่วัดเจริญราษฎร์ อ.บ้านค่าย จ. ระยอง เมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๓๖


    อุบาสก ::

    หลวงพ่อบอกว่า สติปัฏฐานมี ๔ อย่าง คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา


    หลวงพ่อ ::

    จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา อันนั้นเป็นหลักวิชาการ ถ้าจะพูดถึงหลักปฏิบัติจริงๆ ก็คือ มีสติดูกาย อะไรที่มันคิดไม่ไปกับความคิด มีสติดูถ้าดูอยู่อย่างนี้ก็เห็นเวทนา เห็นมันคิด เห็นธรรมเป็นกฎของมัน เวทนาของกายก็ดู เวทนาของจิตก็ดูไม่ต้องไปหา อันนี้คือกายานุปัสสนา คือเวทนานุปัสสนา ไม่ต้องหาหรอก เวทนามาให้เห็นเอง ธรรมมันมาให้เห็นเอง ความคิดมันเกิดขึ้นเรารู้ แต่ว่าเรามีสติดูกาย มันคิดมันเกิดขึ้นมาเวทนามาให้เห็นเลย เมื่อมันเกิดมาให้เราเห็นเราก็รู้มัน พอรู้สึกตัว ตัวรู้สึกนี้แหละที่ว่านั่นคือเวทนา แต่เราไม่ได้พูดเป็นภาษาคำพูด ความรู้สึกตัวมันจะรู้ว่าเวทนาสักว่าเวทนา เวทนาที่แท้คือสติกำหนดไม่ใช่คำพูด มันเป็นความรู้สึก พอมีความรู้สึกตัว มันก็ทำให้แจ้งได้เรื่องเวทนา ทำให้แจ้งได้เรื่องจิต เรื่องธรรม เป็นกุศลหมด เมื่อมีสติดูกายอย่างเดียวมันก็เท่ากับดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ครบหมด


    อุบาสก ::

    แต่ถ้าจิตนี้ไม่มีสมาธิพอก็ไม่รู้


    หลวงพ่อ ::

    ขณะที่เรามีความรู้สึกตัวอยู่นี้ ไม่ไปไหนพยายามรู้สึกตัวจะไม่เรียกว่าเป็นสมาธิหรือ ? ความใส่ใจกับความเคลื่อนไหวตลอด สมาธิเกิดจากการใส่ใจกับสภาพอันหนึ่ง การเติมความรู้สึก การเติมความใส่ใจให้อยู่กับอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง นี่เรียกว่าสมาธิแต่บางทีเราไม่รู้อาการ สมาธิคือความใส่ใจกับอะไรอย่างหนึ่ง เช่นเราดูลมหายใจ หรือเราเดินจงกรมก็ใส่ใจอยู่กับสิ่งนั้น มันมีการใส่ใจอยู่เรียกว่ามันมั่นอยู่ตรงนั้น ขณะที่เรามีความกำหนดรู้อยู่มันก็มิได้คิดไปอย่างอื่นก็เป็นศีลไปในตัว เพราะชื่อว่ารักษากาย รักษาวาจา รักษาใจอยู่ เป็นทั้งศีล เป็นทั้งสมาธิ เป็นทั้งปัญญา ขณะที่เรารู้สึกตัวอยู่นี่เป็นการทำดีทั้งสามทาง ทั้งกาย วาจา ใจ มันสมบูรณ์แล้ว

    บางคนบอกว่ามัวรักษาสติไม่มีศีลไม่ได้นะ เขาพูดแบบไม่ได้เห็นไม่ได้สัมผัส เอาสติอย่างเดียวไม่ได้ไม่มีศีล อะไรคือศีล การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อยชื่อว่าศีล อันนี้เรารักษากระทั่งใจ เช่นกายนี้ก่อนที่มันจะฆ่าคน ใจมันคิด แต่นี่เราเพียงคิดเรารู้มันแล้วมันก็ไม่แสดง ไม่มีคำสั่งอะไรที่จะสั่งกาย แต่ถ้าอันไหนใจมันสั่งมันทำ

    บัดนี้พอมันคิดปั๊บขึ้นมาเรายังไม่ได้ทำเลยเรารู้แล้ว เห็นความโกรธเราไม่ทำ เราเห็นความหลงไม่ทำ รอบรู้อย่างนี้เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา

    ขณะที่เรามีสติ (การเรียกกลับมาที่ใจ) ดูกายครบสมบูรณ์ที่สุด เป็นการทำดีทั้งสามทวารทั้งกาย วาจา ใจ แล้วก็เป็นทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ก่อนที่เราจะรู้สึกได้มันผ่านอะไรมา แต่ก่อนเราคิดไปถึงไหนเป็นสุขเป็นทุกข์ท่องเที่ยวมาแล้ว มาอยู่ที่ความรู้สึกตัวถึงจุดนี้แล้ว แต่ก่อนคิดไปไหนเราไม่รู้ บัดนี้มานี้แล้ว ความรู้สึกตัวมันไม่ไปไหนได้ มันอยู่ตรงนี้เรียกว่าปฏิปทา คือกลับแก้อยู่เสมอ ทำดีให้มากที่สุด ความดียกให้สัมปชัญญะ (ความรู้สึกที่ตัวของเราเอง) เป็นความดี (คือกุศล)


    อุบาสก ::

    เรารู้ว่าโลภไม่ดีแต่โลภไปแล้ว จริงๆ แล้วมันไม่ได้ยอมรับ แล้วทำอย่างไรมันถึงจะยอมรับล่ะครับ


    หลวงพ่อ ::

    รู้ความโกรธไม่ดี ความโลภไม่ดี ความทุกข์ไม่ดี มันรู้แต่ความรู้นี้ยังแก้มันไม่ได้ คราวนี้ไม่ต้องรู้ให้มาก มาทำเอามาสร้างสติ เราอยู่กับความรู้นานๆความหลงมันก็จะหมดไป

    สมมติว่าความหลงมันมีตัวมีตน ก่อนที่มันจะรู้ต้องหลงก่อน ก่อนจะทำต้องหลง ก่อนจะทุกข์ต้องหลง ถ้าไม่หลงมันก็ไม่รู้ โลภเป็นผลของความหลง ทุกข์เป็นผลของความหลง โกรธเป็นผลของความหลง มันมีอยู่สองอย่าง หนึ่งรู้ สองหลง เวลาหนึ่งความรู้จะไปอยู่กับความหลงจะไปห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นความรู้จึงใช้ไม่ได้ ทำไมจึงว่าใช้ไม่ได้ ความโกรธดีไหมทุกคนรู้ว่ามันไม่ดีแต่ทำไมเราจึงโกรธ ทำไมเราจึงทุกข์


    อุบาสก ::

    เราสู้มันไม่ได้


    หลวงพ่อ ::

    ก็ให้เรามาทำความรู้สึกตัว เห็นมันเป็น ไม่ใช่รู้มันเป็น ภาวะที่มันเป็นมัน ไม่ลืมมันก็เป็นธรรมชาติของมัน อย่างกายนี้ก็เป็นธรรมชาติของมัน เวลาเราไปเหยียบหนาม มันก็หยุดหาวิธีแก้ของมัน ไม่ต้องมีใครบอก แต่ความทุกข์เกิดจากใจ มันไม่รู้ทั้งๆ ที่ความทุกข์อยู่กับตนเองทั้งวันทั้งคืน เมื่อหนามตำยังรู้จักบ่งออก แต่ที่เกิดกับใจนั้นไม่รู้ ยิ่งโกรธก็ยิ่งใส่ใจ เขาว่ากะเราๆๆๆ ทำไมจึงทำกะเราอย่างนั้น ให้เหยื่อมันเข้าไป จิตมันไม่รู้หรอกถ้าไม่สอน

    ทีนี้วิธีสอนจิต เวลาทำความรู้สึกตัว พอมันหลงคิดไป อ้าวไม่ใช่เราไม่ใช่มานั่งคิด มาสร้างความรู้สึกตัว คอยสอนมันทีหนึ่ง คิดทีหนึ่ง รู้ทีหนึ่ง คิดสองทีรู้ทันสองที คิดร้อยทีรู้ทันร้อยที เรียกว่ารู้เท่าทันเหมือนกับเราสอนเด็กเวลาเด็กมันผิด อือผิดนะไม่ทำนะ กระทั่งเด็กรู้ว่ามันผิด จนเด็กเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ถูก แต่ถ้าเด็กมันผิดแล้วเราไม่บอกให้แก้ไข เด็กมันจะรู้ได้อย่างไร

    การสอนตัวเองก็เหมือนกันวิชากรรมฐานนี้มันครบสมบูรณ์ พอมันผิดแล้วมันแก้ทันที พอมันหลงคิดไปมันแก้ได้ทันที พอมันหลง เอาความรู้ไปใส่ พอมันผิดเอาความถูกไปใส่ เรามีแต่แก้เปลี่ยนเป็นดีไปอยู่เรื่อย ทำความร้ายให้กลายเป็นความดี ทำความผิดให้กลายเป็นถูก คอยแต่แก้ผิดไปก็แก้ไป พัฒนาตัวรู้ให้มากขึ้นตัวผิดก็น้อยลง ไม่อยู่กับความผิด อยากจะโกรธก็ไม่โกรธ อยากจะหลงก็ไม่หลง มันเป็นธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ มันเป็นของมันเองไม่ต้องห่วง สติปัฏฐาน๔นี้ช่วยให้เราพ้นทุกข์


    อุบาสก ::

    อย่างกรรมฐานที่ควบคุมกายนี้..... มันจะข้ามไปถึงจิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา ได้อย่างไรครับ


    หลวงพ่อ ::

    สมมุติว่า.... เอ้า ลองทำดู เราเอามือวางอยู่ที่เข่านี้ เดี๋ยวนี้มืออยู่ที่ไหน ?


    อุบาสก ::

    อยู่ที่เข่าครับ


    หลวงพ่อ ::

    อะไรรู้ว่ามืออยู่ที่เข่า


    อุบาสก ::

    จิตใจรู้ ก็มันคิด


    หลวงพ่อ ::

    ก็จิตนั่นแหละ พอเรามีสติอยู่ เราก็สอนจิตได้ มันรู้อยู่ที่จิตนั่นแหละ นี่ก็เรื่องของจิตแล้วเป็นจิตตานุปัสสนา มันก็รู้อยู่รู้ต่อกันยาวๆ เป็นสายโซ่ ในนั้นมีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม เอาไปเอามาก็เป็นผู้รู้ รู้รู้ มันไปไหนไม่เคยพรากจากกาย จิตไปไหนมันก็รู้อยู่ พอมันไปแล้วก็กลับมา รู้ยาวๆ จิตก็ค่อยๆบริสุทธิ์ ยิ่งรู้สึกนานๆ จิตก็ยิ่งบริสุทธิ์ พอมีสติรู้อยู่ก็จะทำความดี ทำความดีทำความรู้สึกตัว มีความรู้สึกตัวก็ละความชั่ว คนมีความรู้สึกตัวก็จิตบริสุทธิ์เพราะละกรรมชั่ว

    มันไม่ได้มากมายหลายอย่าง พระธรรมกำมือเดียวแท้ๆ คือแม้นว่ากิเลส ๑,๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ พระธรรม ๘๔,๐๐ พระธรรมขันธ์ สรุปแล้วก็คือกาย วาจา ใจ ขอให้เรามีความรู้สึกตัวอยู่ ให้ละความชั่วทำความดี ขณะที่เรารู้สึกตัวก็ละความชั่วอยู่ ขณะที่มีความรู้สึกตัวก็ทำความดี ขณะที่มีความรู้สึกตัวจิตก็บริสุทธิ์ ไม่ได้คิดไปไหน ชีวิตของเราเป็นอย่างนี้ ปกติอยู่อย่างนี้ ความปกติเป็นศีล ความใส่ใจในการทำเป็นสมาธิ ความรอบรู้ว่ามันผิดมันถูก เวลามันผิดไปคิดแก้ เป็นเรื่องของปัญญา

    ทำไมจึงหาทางแก้ เพราะเราก็บอกแล้วว่าให้มีสติ เวลามีสติทีไรความง่วง ความทุกข์ ความฟุ้งซ่านก็หมดไป มันก็เห็นคุณค่าของความรู้สึกตัว กายมันสอน ใจมันสอน สอนให้เราเห็นไม่มีที่ปิดบัง ธรรมชาติมันสอนมา สมมุติอย่างหนึ่ง บัญญัติอย่างหนึ่ง ปรมัติอย่างหนึ่ง ให้รู้ รู้ไม่ใช่รู้เฉยๆ มันหลุดมันพ้นนะ ไม่ใช่รู้จำ มันรู้แจ้ง มันพบเห็นไม่ใช่คิดเห็น


    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
    แสดงธรรมและตอบปัญหาธรรม
    เรื่องสติปัฏฐาน ๔ (ตอนที่ ๓)


    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เป็นอาจารย์กรรมฐานแนวการเจริญสติ ผู้มีชื่อเสียงและสำคัญยิ่งท่านหนึ่ง หลวงพ่อได้ตอบปัญหาธรรมของคุณประสาน ชำนิงาน และคุณบูชา บูชาธรรม ที่วัดเจริญราษฎร์ อ.บ้านค่าย จ. ระยอง เมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๓๖


    อุบาสก ::

    ตอนนี้ทุกข์ ไม่ทราบว่าอย่างนี้ เรียกว่ารู้ตัวใช่ไหมครับ


    หลวงพ่อ ::

    เห็นมันทุกข์ เห็นมันทุกข์ ถ้าเป็นผู้ทุกข์ไม่ใช่ ภาวะที่เห็นนี้มันไม่เป็นอะไรทั้งหมด ภาวะที่เห็นมันไม่เปรอะเปื้อนอะไร ผู้ที่มีสติแล้ว มันสุขก็เห็นไม่ได้เป็นผู้สุข มันทุกข์ก็เห็นไม่ได้เป็นผู้ทุกข์ เมื่อเห็นไปนานๆ ก็ชัดขึ้นๆ ภาวะที่เห็นเหมือนกันไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปรอะเปื้อน ๘๔,๐๐๐ อย่างที่เกิดกับกายกับใจมา เห็นไปหมดไม่มีอะไร

    บางคนปวดขา บางคนบอกว่า “หลวงพ่อวันนี้ผมเบื่อ” เคยสอบอารมณ์ คุณพูดไม่ถูก ถ้าเป็นนักกรรมฐานไม่พูดอย่างนี้ ถ้าคุณจะพูดให้ถูก “วันนี้ผมเห็นมันเบื่อ ผมเห็นมันคิด ความคิดมันบังคับผมขนาดนี้ แต่ก่อนผมไม่รู้มัน เดี๋ยวนี้ผมรู้มันแล้ว”

    คนที่เห็นความคิด เช่น เห็นความสุขไม่ใช่เป็นผู้สุข จะเกิดภาวะนั้นขึ้นมา จะออกมาดู แต่ก่อนอยู่ ตอนนี้ออกมาดูมาเห็น เห็นแล้วไม่เป็น นี่เป็นพรหมจรรย์แล้ว ภาวะที่เห็น เห็นแล้วไม่เป็นนี่พรหมจรรย์เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่โกนหัวห่มผ้าเหลืองแล้วจึงถือว่าเป็นพรหมจรรย์ อยู่ตรงไหนก็ได้เห็นแล้วไม่เป็น เห็นความสุขแต่ไม่เป็นผู้สุข เห็นความทุกข์แต่ไม่เป็นผู้ทุกข์ เป็นต้น นี่พรหมจรรย์บริสุทธิ์สิ้นเชิงไม่เปรอะเปื้อนกับอะไร เห็นหนึ่งเดียวไม่เปลี่ยนแปลง เป็นจุดยืนของนักปฏิบัติ เป็นมรรคเป็นผล

    หลวงพ่อได้หลักฐานตัวนี้ หลวงพ่อมีความมั่นใจชีวิตไปไหนก็ได้ กายนี้หลอกไม่ได้ ใจนี้หลอกไม่ได้ รู้มันหมดแล้ว ๒๐ กว่าปีนี้ เรื่องของกายเรื่องของใจนี่ มันจะหลอกให้ทุกข์หลอกให้สุข ก็มองซินั่นเป็นทุกข์ นั่นเป็นสุข เป็นเวทนาเป็นความคิด พอมันเกิดเราก็ชี้มันปั๊บมันก็ดับไป พอไม่รู้ มันก็หลอก มันคอยเล่นกลเพื่อไปสุขทุกข์กับมัน


    อุบาสก ::

    มันต้องเอาตัวไปปฏิบัติ


    หลวงพ่อ ::

    เออ......สัมผัส การปฏิบัติต้องสัมผัส หลวงพ่อว่าอาจารย์จริงๆ ก็คือคลำไป ความผิดสอนให้ไม่ผิด ความหลงสอนให้ไม่หลง ความทุกข์สอนให้ไม่ทุกข์ ก็อย่างที่หลวงพ่อบอก เวลาใดที่ทุกข์ความไม่ทุกข์มันก็มีอย่าไปจน มีไหมความไม่ทุกข์ เดี๋ยวนี้โกรธไหมนั่งอยู่นี่ไม่โกรธมันก็มีอยู่ บางทีมันโกรธไหมก็มองว่าไม่โกรธซิจะไปจนกับมันทำไม เวลาใดมีทุกข์ก็มองดูความไม่ทุกข์ เวลาใดมันหลงก็มองดูความไม่หลง เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ ความทุกข์เหมือนกับหน้ามือความไม่ทุกข์เหมือนกับหลังมือ หัดเปลี่ยน สติมันจะบอกเป็นทุกข์ไม่ทุกข์เห็นแล้ว ถ้าเห็นแล้วก็หมดไป ไม่มีอำนาจไม่มีอะไร คนไม่เห็นยิ่งมีเหตุมีปัจจัยให้เหยื่อมันไป ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนั้นควรจะเป็นอย่างนี้ เหตุปัจจัยลิขิตชีวิตของเขาไป จิตใจไม่ได้อยู่ไม่ได้รู้สึก


    อุบาสก ::

    ตัวเองไม่เป็นอิสระของตัวเอง


    หลวงพ่อ ::

    ไม่เป็นอิสระ ความคิดบังคับเอาไป งานก็เอาชีวิตของเราไปกินหมด จะทำอะไรกับชีวิตของเราดี คนเดี๋ยวนี้..... เพียงแต่สมมติก็เป็นแล้ว เป็นเรื่องขาดทุนกำไร เป็นสุขเป็นทุกข์ แต่พอเรามีสติก็รู้มันไปอย่างนี้นะ หลวงพ่อว่าปลอดภัยมากที่สุด ถ้าไม่ได้ตรงนี้ยังไม่ปลอดภัยยังมีสิ่งลิขิตชีวิตเราได้ มันไม่อิสระยังจะให้ทุกข์ก็ได้ มันจะให้ยินดีก็ได้ยินร้ายก็ได้ เดี๋ยวเสียใจเดี๋ยวดีใจ ไม่แน่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร สัจธรรมยังไม่เสื่อมไม่เสียไปไหน แต่คนเราไม่ค่อยใส่ใจ แทนที่จะชนะแทนที่จะรู้ก่อนอื่นใดทั้งหมด ในทางตรงกันข้ามอย่างอื่นเรากลับชนะมามาก


    อุบาสก ::

    แต่ยังทุกข์อยู่ดี


    หลวงพ่อ ::

    น่าจะเอาชนะสิ่งนี้ก่อนอื่นใดเหงื่อไม่ออกสักนิดเดียว ถ้าเรามาทำความรู้สึกตัว ทำความเห็นให้แจ้ง พยายามตื่นเมื่อพ้นภัยนี้แล้วเราก็ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ช่วยโลกได้


    อุบาสก ::

    ผมมีความรู้สึกว่า จะมีอะไรก็แล้วแต่ถ้าเป็นมนุษย์ที่ดีไม่ได้ มีไปก็เปล่าประโยชน์ มันก็ไปทำทุกข์ให้ผู้อื่น ทำทุกข์ให้ตัวเองอีก ก็เลยมีความรู้สึกว่า มันต้องเป็นมนุษย์ที่ดีก่อน ตัวเองต้องพัฒนาพอสมควรแล้วจึงไปสอน


    หลวงพ่อ ::

    หลวงพ่อเคยพูดกับหลายคน ความทุกข์นี่น่าจะเอาชนะได้ก่อนเรื่องอื่น ความโกรธเป็นเรื่องที่เอาชนะได้ นี่เราทุกข์ไปจนตาย โกรธไปจนตาย หลงไปจนตาย ทั้งๆ ที่ไม่มีตัวมีตน ยุงมันยังมีตัวตนวางไข่ได้ แต่ความโกรธ ความทุกข์ ความโลภ ความหลง ไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าจะสู้ก็ไม่ต้องมีกระบอกฉีดยาอะไร เพียงแต่เรามาทำความรู้สึกตัวเฉยๆ ใส่ใจกับมันลองดู ความไม่ทุกข์ ความหลุดพ้น ทุกคนมีสิทธิ์ อย่าสละสิทธิ์เสีย ต้องพยายาม


    อุบาสก ::

    ผมจะพยายาม


    หลวงพ่อ ::

    นี่หลวงพ่อจะให้แบบไว้นะ เวลาใดที่มันทุกข์มองเห็นความไม่ทุกข์ ลองหัดเปลี่ยนตรงนั้นลองดู อย่าหมดตัวคำว่าอย่าหมดตัวเข้าใจไหม อย่าหมดตัวกับความทุกข์ อย่าหมดตัวกับความโกรธ อย่าหมดตัวกับความหลง เวลามันหลงเปลี่ยนเป็นความไม่หลงก็ได้ เปลี่ยนทีนั้นเปลี่ยนทีนี้เอาไปเอามาก็เบาบางจางคลายลง ถึงแม้จะไม่ถึง ๑๐๐% แต่ก็ว่างขึ้น

    ใจปกติเรียกว่ามัชฌิมา , ( ถ้าดีใจ ๑๐๐% (ขึ้นบนสุด) , เสียใจ ๑๐๐% (ลงล่างสุด) เรียกว่าจิตของปุถุชน) ข้างบนเรียกว่าอิฏฐารมณ์ความพอใจในอะไรก็ได้หรืออารมณ์บวก , ข้างล่างเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ (เสียใจ) หรืออารมณ์ลบ มันจะวิ่งไปที่นี่ทุกที (ข้างบนสุด) วิ่งไปถึงที่นี่ทุกที (ข้างล่างสุด) เวลามีอะไรเกิดขึ้นก็จะวิ่งไปหาเขาแล้ว

    บัดนี้มาลองดู พอจะขึ้นไปถึงนี้ (ดีใจ) ยับยั้งมันไว้ , ถ้ามันจะลง (เสียใจ) ยับยั้งมันไว้ แล้วตั้งต้นใหม่ เวลาใดมันทุกข์เปลี่ยนมัน ถึงแม้ว่าทุกข์จะยังไม่หมดแต่ก็จะเหลือทุกข์ไม่ถึง ๑๐๐% นะ เออ..... ไม่ทุกข์ก็ได้ โกรธทำไม ทุกข์ทำไม ความไม่ทุกข์ก็มีอยู่ ความไม่โกรธก็มีอยู่ เอาไปเอามาก็เหลือ ๒๕% ได้ไหม ?..... ได้น่ะ

    ครั้งแรกอาจไม่ได้ อาจจะเหลือ ๙๐% ทำไปทำมาหลายครั้งหลายหน ก็ง่าย ง่ายที่จะรู้...... จนในที่สุดพระพุทธเจ้าว่าภูเขาศิลาแลงไม่สะเทือนเพราะแรงลม ผู้มีธรรมไม่สะเทือนเพราะนินทาสรรเสริญ จะได้มาเสียไปก็อยู่ตรงนี้ เรื่องใจฟูใจแฟบเป็นอาการของใจ ใจเราอยู่ตรงนี้ (เส้นกลาง) คนมีจิตใจแบบนี้ทำอะไรได้ดีที่สุด จะช่วยเหลือคนอื่นจะทำงานทำการก็ดีเป็นใจปกติ


    ที่มา::
     

แชร์หน้านี้

Loading...