หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาธรรมะ (หมวดธรรมะ)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 19 ธันวาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
    ตอบปัญหาธรรมะ (หมวดธรรมะ)


    1. คำถาม

    เรื่องฐิติจิตเดิมแท้นั้นหลานเข้าใจดีเพราะเห็นอยู่ทุกวันนี่คือโทษที่หลาน ไม่รู้จักศัพท์ปริยัติเอง แต่อยากทราบว่าจิตพระนิพพานคือจิตที่มีรสชาติสุขุมเพราะจิตไม่ยึดมั่นจาก กิเลสที่ละได้แล้วใช่ไหมครับ ผมคาดเอาจากการปฏิบัติของผม (จิตไม่ยึดในธรรมด้วย)


    คำตอบ

    เรื่องฐิติจิต จิตเดิมแท้เป็นจิตล้วนๆ แต่กิเลสมาเกยมาพาดคล้ายๆกับพระอาทิตย์เป็นธรรมชาติเดิม อยู่แต่เมฆหมอกก็คล้ายกับกิเลสนั่นเอง แต่อย่าเข้าใจว่าจิตเป็นพระนิพพาน พระนิพพานเป็นจิต ดังนี้ เพราะเหตุว่าจิตเป็นผู้เคารพพระนิพพาน ไม่ใช่พระนิพพานเคารพจิตใช้เพียงคำว่าจิตหลุดพ้น จากความสกปรกคือกิเลส แต่จิตไม่ใช่พระนิพพาน เหตุนั้นท่านจึงบัญญัติว่า รูป จิต เจตสิกนิพพาน ดังนี้ จะว่าจิตไม่ยึดมั่นในที่ทั้งปวง จะว่าปัญญา และสติไม่ยึดมั่นอันสมดุลย์กันอยู่กับจิต จิตก็ดี สติก็ดี ปัญญาก็ดี เป็นกองทัพธรรมรวมกันอยู่ก็ว่าได้ สิ่งไหนที่บัญญัติว่าจิต และบัญญัติว่าพระนิพพาน จิตกับพระนิพพานไม่ได้แย่งเก้าอี้กัน จิตก็เป็นจิตตามสมมติ

    พระนิพพานก็เป็นพระนิพพานตามสมมติ แต่รสธรรมของพระนิพพานนั้นไม่ใช่สมมติเสียแล้ว และก็ใครเป็นผู้เสวยพระนิพพานเล่า จิตเสวยพระนิพพาน หรือพระนิพพานเสวยจิต ก็ต้องตอบให้สมคุณค่าว่า พระนิพพานนั่นเองเสวยรสของพระนิพพาน ไม่ได้เป็นหน้าที่จิตไปแย่งเสวยคำพูดเหล่านี้หลวงปู่ไม่เคยได้ยินท่านผู้ใด พูดให้ฟังดอกมันเกิดขึ้นอัตโนมัติของหลวงปู่นี่เอง แม้หลวงปู่จะมีกิเลสมากเท่าภูเขาก็ตาม แต่อัตโนมัติที่มันรู้ส่วนตัวที่เรียกว่าสันทิฏฐิโก หลวงปู่ลงโอแบบนั้น จะถูกหรือผิดก็ให้พระธรรมเป็นผู้ตัดสิน หลวงปู่ไม่กล้าตัดสินเอง (เดี๋ยวจะตีความหมายว่ามานะทิฏฐิ ถือตัว อุปาทาน)


    2. คำถาม

    พระนิพพานฟากผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมายนั้นคืออย่างไร


    คำตอบ

    พระนิพพานฟากผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมายนั้น คือไม่ยึดตนเป็นผู้รู้ ผู้รู้เป็นตนดังกล่าวแล้วนั้นเอง ผู้รู้เป็นแต่สักว่ารู้ ก็เป็นแต่ว่ารู้ตะพึดตะพืออยู่เช่นนั้นเอง เมื่อไม่ยึดถือว่าผู้รู้เป็นตน ตนเป็นผู้รู้ ผู้รู้ก็ดี ผู้ยึดถือก็ดีก็จบกัน ณ ที่นั้นเอง ที่เราไม่มี ของเราไม่มีนั้นเพราะมีแต่สังขารและกองทุกข์ และถ้าสำคัญว่าเรามีในพระนิพพาน พระนิพพานมีในเราก็ต้องเอาเราไปเสวยอีกยกเราเทียมพระนิพพาน เรียกว่าไม่เคารพพระนิพพานก็ว่าได้

    หมายเหตุ ฟาก = เป็นคำอีสาน แปลว่า "เลยไปอีก"


    3. คำถาม

    ที่หลวงปู่สอนว่าอย่าสำคัญตนเป็นไตรลักษณ์ หรือเป็นลมเข้าลมออก คำว่า "ตน" หมายถึงอะไร หมายถึงจิตใจใช่ไหมเจ้าค่ะ จิตที่พาไปนิพพาน สวรรค์ นรก แล้วแต่ผู้ปฏิบัติดีชั่ว ปล่อยวาง แต่เราไม่ยึดถือจิต ปล่อยไว้เฉยๆ ลูกเข้าใจถูกต้องไหมเจ้าค่ะหลวงปู่


    คำตอบ

    อย่าสำคัญตนเป็นไตรลักษณ์ อย่าสำคัญไตรลักษณ์เป็นตนก็ดี อย่าสำคัญตนเป็นจิตอย่าสำคัญจิตเป็นตน ก็ดี อย่าสำคัญตนเป็นขันธ์ 5 ขันธ์ 5เป็นตนก็ดี สิ่งทั้งหลายมันลงไปรวมอยู่ที่ใจ และผู้รู้เป็นต้นไม่สำคัญผู้รู้ และใจมีตนก็สะดวกดี เพราะสิ่งทั้งหลายมันลงไปรวมอยู่ที่นั้น ถอนรากถอนโคนอันนั้นก็ใช้ได้


    4. คำถาม

    ในขันธ์ 5 นี้ ขันธ์ไหนสำคัญกว่าขันธ์ทั้งหมด และสำคัญอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ขอนิมนต์อธิบายให้แจ่มแจ้งเพื่อกระผมจะได้เข้าใจ และนำไปประพฤติปฏิบัติตามด้วย


    คำตอบ

    ในขันธ์ 5 วิญญาณขันธ์สำคัญกว่าขันธ์อื่น วิญญาณขันธ์ กับมโนขันธ์นั้นมีความหมายเป็นอันเดียวกัน แปลเป็นไทยว่า "ใจ" ที่สำคัญกว่านั้นเพราะวิญญาณขันธ์ คือใจเป็นเจ้ากี้เจ้าการเป็นเจ้าการเจ้างาน เจ้าปรุงเจ้าแต่ง ถ้าสมประสงค์ก็ติดอยู่เรียกว่าราคะ ถ้าสมประสงค์เล่าก็หงุดหงิดขึ้น ถ้าเป็นกลางก็วางเฉยซะ ที่ถูกกับกิเลสก็คือสุขเวทนา ที่ไม่ถูกกับกิเลสก็คือทุกขเวทนา

    ที่อยู่เป็นกลางก็คืออุเบกขาเวทนา สุข ทุกข์ อุเบกขาก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวน และแตกสลายทั้งนั้น ก็อยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์อีกเช่นกัน เหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงสั่งสอนซ้ำๆ ซากๆ ไม่ให้ยึดถือว่าเป็นเรา เขา สัตว์ บุคคลทั้งนั้น ส่วนผู้ที่จะยึดถือ หรือไม่ยึดถือนั้นมอบให้เจ้าตัวเป็นผู้มีอิสระ จึงตรงกับคำว่า "สันทิฎฐิโก" ลงโอนั้นเอง "ปัจจัตตัง" รู้เฉพาะตนค้นเฉพาะใจ เห็นแยบในเฉพาะใจเป็นบัลลังก์

    อนึ่ง วิญญาณขันธ์นี้ถ้ามีกิเลสตามสิงก็เป็นวิญญาณปฏิภพ สามารถนำภพไปเกิดได้ขอเทียบวิญญาณ ต่อไปว่า วิญญาณคล้ายกับเหล็ก กิเลสคล้ายกับสนิม ถ้าไม่มีวิญญาณก็คือใจ กิเลสก็ไม่มีที่อาศัย ถ้าไม่มีเหล็ก สนิมก็ไม่มีที่อาศัย แต่ทว่าเหล็กดีก็ไม่มีสนิม เช่นเหล็กสแตนเลสเป็นต้น จิตพระอรหันต์ก็ดี วิญญาณพระอรหันต์ก็ดี เป็นวิญญาณโต้งๆ ตามสมมติตามปรมัตถ์ เป็นจิตโต้งตามสมมติตามปรมัตถ์ แต่...แต่...แต่ ไม่มีใครไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของก็กลายเป็นของว่างอยู่ตามธรรมชาติ เป็นธรรมอันว่างก็ว่า

    5. คำถาม

    การบำเพ็ญเพียรมีหลักใหญ่ คือฝึกสติสัมปชัญญะ ( สติปัฏฐาน 4) พิจารณาลงในพระไตรลักษณ์ แล้วยังมีอะไรอีกครับ


    คำตอบ

    คำถามว่า การทำความเพียร มีหลักใหญ่คือสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน 4 พิจารณาลงในพระไตรลักษณ์ กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี พิจารณาลงในไตรลักษณ์ให้เป้าอันเดียวเป็นเชือก 4 เกลียวแล้วให้เข้าใจว่าผู้รู้จักไตรลักษณ์ตามเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เป็นอนัตตาธรรมชั้นสูง "แล้วยังมีอะไรอีกไหมครับ" นั้น

    ตอบว่า...ไม่มีอะไรอีก มีแต่พิจารณาเนืองๆ ให้ชำนาญเท่านั้น เพราะเหตุว่าพระบรมศาสดาเทศน์อยู่ 45 พรรษา เราเอามารวมไว้ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ซึ่งปะปนกันอยู่แต่เราก็สามารถแยกออกได้ในเวลาที่ต้องการแยก คือแยกอนัตตาออกจากอนิจจังกับทุกขังซะเพราะเหตุว่ารสชาติของพระนิพพานเป็น อนัตตาธรรมอันเย็นสนิท ไม่ผสมกับอะไรใดๆ

    ด้วยจะเอาอนิจจังกับทุกขังในฝ่ายกองนามรูปไปบวกกับอนัตตาอนุปาทิสสนิพพานที่ ดับกิเลสไปด้วยพร้อมเบญจขันธ์ก็ไม่ถูก เป็นมิจฉาทิฏฐิในชั้นอันละเอียด เพราะไม่เป็นหน้าที่จะเอาจิตไปบวกกับอนุปาทิสสนิพพานธรรม ก็เรียกว่าไม่รู้จักฐานะของธรรมเอาธรรม ที่เป็นนามขันธ์ไปบวกกับธรรมอันพ้นจากรูปขันธ์นามขันธ์ไปแล้ว เดี๋ยวก็จะถูกกล่าวตู่ว่าไม่แตกฉานในธรรม ไม่มีปฏิสัมภิทาญาณในตัว


    6. คำถาม

    คำขอธรรมะ วันนี้ลูกขอถือโอกาสของพรจากหลวงปู่ เพราะว่าปีเก่ากำลังจะหมดไปแล้วก็จะเริ่มปีใหม่ในไม่ช้านี้แล้ว ลูกจึงต้องขอเขียนจดหมายมารับโอวาทจากหลวงปู่ เพื่อลูกจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติเป็นแนวทางที่จะนำให้หลุดพ้นจากเรื่องภพ เรื่องชาติที่มันมีแต่ความทุกข์อยู่ร่ำไป ที่จะหาความสิ้นสุดไปไม่ได้เลย พอเรื่องนี้หายไปก็มีเรื่องใหม่มาแทน

    บ้างก็มาพูดทำให้เราโกรธก็มี บ้างก็โกรธเราก็มี แต่ลูกก็พยายามทำใจไม่ให้โกรธตอบอยู่เสมอ ก็ด้วยธรรมะของหลวงปู่ที่ทรงเทศน์โปรดลูก ลูกถึงทำได้อย่างนี้ ทุกวันนี้ลูกจึงได้ถืออุเบกขา, ขันติ และก็แผ่เมตตาไปพร้อมๆ กันครับหลวงปู่ ฉะนั้นวันนี้ลูกจึงจำเป็นต้องเขียนจดหมายมาขอธรรมะจากหลวงปู่ เพื่อจะได้เป็นกำลังต่อสู้กับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ขอให้หลวงปู่ช่วยเมตตาแก่ลูกด้วยเทอญ



    คำตอบ

    จดหมายนั้นหลวงปู่ได้รับทราบแล้ว เป็นจดหมายที่มีธรรมะอันลึกซึ้งมากเป็นสัมมาทิฏฐิของจดหมาย เพราะไม่ได้กล่าวเรื่องโลกๆ มาปะปนเลยเป็นเยี่ยงอย่างจดหมายอันดีของยอดฆราวาสอย่างเต็มภูมิจึงสมกับคำ ว่า "ปัณฑิโต ฆรามาวสัง" บัณฑิตเป็นผู้ครองเรือน หลวงปู่ย่อมเบาใจมากที่ลูกๆ สนใจในธรรมะชั้นสูงเพื่อหลุดพ้นในสงสารหลวงปู่รู้ชัดแล้วว่าลูกๆ มีแว่นดวงใจมีแว่นดวงธรรมประจำขันธสันดานอยู่ไม่ว่างวาย

    ถึงแม้ว่าอย่างต่ำๆ ก็เป็นวิชาพรหมโลกอยู่ในอุ้งมือใจของลูกๆ แล้ว เป็นมนุษย์เต็มภูมิ เป็นเทวดาและเทวบุตร ก็เต็มภูมิ ถ้าจิตใจฆราวาสสนใจอย่างลูกๆแล้ว ทั่วทั้งโลกสงครามใดๆ ก็ไม่มีในระหว่างประเทศต่อประเทศ ในเฉพาะประเทศของตนๆ ตลอดถึงจังหวัดและอำเภอ และหมู่บ้าน และครอบครัว และมิตรสหายเป็นของหาได้ยากนักลูกๆ เอ๋ย ลูกได้สร้างบารมีมาในภพก่อนๆ จนถึงบัดเดี๋ยวนี้ ถ้าจะเทียบใส่เหล่าดอกบัวในครั้งพุทธกาลก็เป็นดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว และกำลังตูมอยู่ เหลือแต่จะบานเท่านั้น

    อนึ่ง หลวงปู่ต้องขออภัยกับลูกๆ เพราะไม่ได้ตอบจดหมายโดยด่วน ทั้งนี้เนื่องด้วยจุกๆ จิกๆ กับแขกที่มาหา แขกที่มาหาเป็นคนหลายชั้น ชั้นที่มาในธรรมะโดยตรงหลวงปู่ก็สะดวกในธรรมวินัย ที่มาแบบโลกๆ หลับตามาไม่ลืมตา คือตาปัญญา หลวงปู่ก็หนักใจหนักธรรมมาก แต่มันเป็นเรื่องของโลกของสังขารนานาจิตตังไม่เสมอภาค คล้ายๆ กับแผ่นดินที่มีสูงต่ำลุ่มดอนตลอดถึงต้นไม้ผักหญ้า

    เรื่องธรรมะที่ลูกๆ พิจารณาอยู่นี้ มันก็ถูกอยู่แล้วเต็มร้อยเปอร์เซนต์เป็นเรื่องส่อแสดงให้เห็น
    ว่าลูกๆ ดับความเพลินดับความลืมตัวความลืมใจลืมธรรมไม่ไว้ใจในสงสาร อุบายที่จะให้เข็ดหลาบในวัฏสงสารทวียิ่งขึ้น พร้อมทั้งวิมุติที่หลุดจากความหลงของตนไปในตัวก็คือพิจารณากองทุกข์พร้อมกับ ลมออก-เข้า ให้ติดต่ออยู่เป็นเนืองนิจ ให้ปัญญาเห็นกองทุกข์ทั้งอดีตทั้งอนาคตทั้งปัจจุบันในขณะเดียวเสมอหน้ากลอง

    โดยมิได้แยกอนิจจังออกต่างหาก และไม่แยกอนัตตาออกต่างหาก และไม่แยกทุกขังออกต่างหาก ธรรม 3 กาลนี้กลมเกลียวกันอยู่ในขณะเดียวพร้อมกับลมออกเข้า ยอดพุทโธ ธัมโม สังโฆ และเมตตาทั้งปวง หรือกรรมฐานใดทั้งปวงในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญาหรือที่เรียกว่าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ก็รวมลงในจุดเดียวกันนั้น แล้ว เพราะเป็นสถานีใหญ่ มหาสมรภูมิใหญ่ลงรวมในที่นั้นแล้วอย่าส่งส่ายสงสัยไปทางอื่น พิจารณาให้ยิ่งให้ติดต่อ จะเข้าเวลาไหนก็ให้เข้าได้โดยเร็วพลัน จะออกเวลาไหนก็ออกได้โดยเร็วพลัน

    ถ้าธรรมส่วนนี้ชัดแล้ว สิ่งที่พอใจ และไม่พอใจก็ถูกขับไสไปในตัวแล้ว ถึงจะเอามาบดเอื้องบ้างในคราวที่ลืมสติก็จะไม่ได้ถือสา จะคลายออกเองโดยทันที ถ้าพิจารณาแยบคายแล้วจะมีญาณพิเศษแบบเย็นๆ ว่าเบื่อหน่ายว่าคลายว่าหลุดว่าพ้น (พ้นจากทะเลหลง) เมื่อพ้นจากทะเลหลงแล้วทะเลอื่นๆ ที่เป็นบริวารก็พ้นไปในตัว

    ท้ายนี้ด้วยเดช พุทธ ธรรม สงฆ์ ที่ลูกๆ ตั้งคิวเจตนาไว้ดี ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมอันใดที่รู้ตาม
    เป็นจริงในธรรมส่วนสูงนี้ และรู้ตามเป็นจริงในธรรมส่วนสูงนี้ และปฏิบัติตามเป็นจริงในธรรมส่วนสูงนี้ บรรดาท่านผู้มีเจตนาเหมือนลูกๆ นี้มีเท่าใด จงพ้นไปจากสังขารทั้งปวง และกองทุกข์ทั้งปวงอยู่ทุกเมื่อเถิด

    ป.ล. คำว่าปัจจุบันชาติหมายย่อเข้ามาก็คือ ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั่นเอง เพราะจะหลุดจะพ้น
    จากความหลงตอนไหนๆ ก็ดี ก็ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมเท่านั้น ไม่ใช่จิตอดีตไม่ธรรมอดีตไม่ใช่จิตอนาคต ไม่ใช่ธรรมอนาคต แม้ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมก็ดีพยายามไม่สอดแทรกไม่ยึดถือเป็นเจ้าของ เพราะสมมติ

    ปัจจุบันธรรมตามเดิมวิญญาณปฏิสนธิจึงจะไม่เข้าไปแบกไม่เข้าไปหาม จดหมายฉบับนี้ขอให้ลูกเอาไว้ในที่สูง อ่านเสมอๆ อย่าให้หายเพราะเป็นทรัพย์ธรรมที่หลวงปู่ให้ไม่ปิดบังให้ถือว่าเป็นทรัพย์ ชั้นสูงของพระพุทธศาสนาอันทรงมีอยู่ทุกกาล


    7. คำถาม

    ได้อ่าน และพบเห็นในหนังสือบางเล่มว่านิพพานอยู่เหนือรูป-นามไกลแสนไกล หากเป็นเช่นนั้นทำไมรูป-นามจึงจะไปถึง และเข้าถึง ตามความเข้าใจของกระผมนิพพาน และรูป-นามเป็นอันเดียวกัน เปรียบดังช้างตัวเดียวก็มีขันธ์ 5 และอายตนะ12 อยู่ในตัวครบทุกประการแล้ว


    คำตอบ

    การที่หนังสือบางเล่มว่า นิพพานอยู่เหนือรูปเหนือนามไกลแสนไกลอันนั้นก็เป็นการถูกเพราะรูปนามไม่ใช่ พระนิพพาน ถึงแม้จิตก็ไม่ใช่พระนิพพานด้วยเหตุนั้นท่านจึงบัญญัติว่า รูป จิต เจตสิกนิพพาน ดังนี้ นิพพานจึงไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่นิพพานแต่อาศัยจิตเป็นทางเดินถึงพระนิพพานเพราะสามารถรวมไตรสิกขา ในจิตนั้นได้

    แต่ขอให้เข้าใจอีกว่า อย่าไปเข้าใจว่าพระนิพพานเป็นของตั้งอยู่ และไปๆ มาๆ พระนิพพานไม่ได้ตั้งอยู่ เป็นเพียงแต่ว่า "ทรงมีอยู่" และใครเป็นผู้ทรงพระนิพพานก็พระนิพพานเท่านั้นทรงพระนิพพานได้ รูปขันธ์นามขันธ์ย่อมทรงพระนิพพานไม่ได้ ผู้จะถึงพระนิพพานก็ต้องเบื่อหน่ายความหลงของเจ้าตัวที่ไปยึดเอารูปขันธ์นาม ขันธ์มาเป็นตัว ตน เรา เขา สัตว์ บุคคล ก็คล้ายๆ กับว่าไปกำเอาแดดเอาลมมาเป็นตัวตน เรา เขา แล้วก็ชกมวยกับเงาของตน เป็นความเห็นไม่มีแก่นสารไร้เหตุไร้ผลแต่พระนิพพานทรงนอกเหตุนอกผลเสียแล้ว เพราะเหตุว่าเหนือดีเหนือชั่วไปแล้วเหตุจะทำให้ดีให้ชั่วผลจะรับก็ไม่มีอีก ด้วยเพราะเหตุไม่มีผลจะมีมาจากประตูใดเล่า

    เอ้า...มรรค 7 เบื้องต้น เว้นอรหัตผลเสีย เหลือนอกนั้นเป็นมรรคและผลโยงกันอยู่ในตัวไม่ขึ้นอยู่กับผู้รู้ และไม่รู้ ไม่ขึ้นอยู่กับผู้เชื่อ และไม่เชื่อ ส่วนอรหัตผลนั้นเป็นผลขาดตอน ไม่เชื่อมมาจากมรรค คือเหตุ ขอให้เข้าใจว่ามรรคก็ดี เหตุก็ดี พืชก็ดี กรรมก็ดี จัดเข้าในฝ่ายเหตุฝ่ายมรรค ส่วนผลของเหตุ ผลของพืช ผลของกรรม ผลของมรรคและผลของกิริยาอีกผลในส่วนนี้มีความหมายอันเดียวกันส่วนไปทางดีทาง ชั่วแล้ว

    แต่เหตุแต่กรรมแต่พืชกิริยาเป็นประมาณ ส่วนผลของสิ่งเหล่านี้ แม้จะปรารถนาหรือไม่ปราถนาก็ได้รับตามส่วนควรค่าของเหตุพืชกรรมดังกล่าวแล้ว นั้น จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวไม่เป็นปัญหา และใครจะเป็นผู้รู้ตัว และไม่รู้ตัวเล่า ก็พระสติพระปัญญาเท่านั้นจะรู้ตัว ซึ่งสัมปยุตกันอยู่กับจิต จะว่าสัมปยุตกันอยู่กับวิญญาณก็ถูก เพราะจิตกับวิญญาณนั้นแปลเป็นไทยก็ได้ความว่า "ใจ" อันเดียวเท่านั้น แม้มนัสก็แปลว่าใจ มโนก็แปลว่าใจเป็นต้น

    และขอให้เข้าใจว่ารูปและนามไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ ผู้ที่ไม่ยึดถือรูปนามว่าเป็นตัว ตน เรา เขา สัตว์ บุคคลนั่นเองจึงจะรู้รสพระนิพพานได้ และขอให้เข้าใจว่าผู้ตาดีย่อมสนเข็มได้ง่าย ผู้ตาฟางก็ตรงกันข้าม ของที่หนักผู้มีกำลังแบกได้ ผู้ไม่มีกำลังก็ตรงกันข้าม เหล่านี้เป็นต้น น้ำมหาสมุทรปลาขาวปลาซิวเขาบอกว่า ลึกมาก ส่วนปลาปิมิงคละเขาก็บอกว่าไม่พอแวกว่ายเสียแล้ว เหล่านี้เป็นต้น

    สิ่งเหล่านี้มันต้องขึ้นอยู่กับบารมีที่สร้างมาแก่กล้า หรือหย่อนกว่ากัน เหตุนั้นจึงมีธรรมรับรองว่า "กัมมุนา วัตตติ โลโก" สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม กรรมและผลของกรรมเป็นเบี้ยบำเหน็จบำนาญของสัตว์อยู่ทุกอิริยาบถของใจ ใจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ไม่เป็นปัญหา ใจที่อ่อนบารมีย่อมไม่ค่อยจะรู้ตัวได้ง่าย เงากายเป็นของหยาบเงาใจนั้นจะมีแสงสว่างหรือไม่มีก็ติดตามไปทั้งนั้น

    เงาของใจนั่นเองที่เรียกว่าผลของกรรม พะอรหันต์ทรงเหนือกรรม และผลของกรรมนั้นไม่สงสัยเลย เพราะเป็นอโหสิกรรมไปแล้ว เป็นอโหสิเหตุก็ว่า อโหสิพืชก็ว่า เอาล่ะคงพอเข้าใจแล้วในเรื่องนี้ ทำไมจึงตอบมาก ถ้าไม่ตอบมากก็เกรงจะสงสัยไป


    8. คำถาม

    ขันธ์ 5 เป็นรูปเป็นนามได้หรือไม่ถ้าเป็นได้เอาอะไรเป็นรูปปรมัตถ์นามปรมัตถ์ให้ ตอบ...ภาวนามยปัญญา ไม่ให้ตอบจินตามยปัญญา ให้ตอบแก่นๆ เปลือก และกระพี้ไม่เอา


    คำตอบ

    ถามว่า ขันธ์ 5 เป็นรูปเป็นนามได้หรือไม่ ตอบว่า...เป็นรูปเป็นนามอยู่โดยตรงๆ แล้ว รูปังแปลว่ารูป นามมังแปลว่าชื่อมัน ถ้าเป็นได้เอาอะไรเป็นรูปปรมัตถ์นามปรมัตถ์ ตอบว่า...ธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นรูปปรมัตถ์ ธาตุ 4 นั้น สิ่งไหนที่เป็นของแข็งสิ่งนั้นจัดเป็นปฐวีธาตุ สิ่งไหนที่เป็นของเหลวซึมซาบ ได้จัดเป็นอาโปธาตุ สิ่งไหนพัดไปมาได้จัดเป็นวาโยธาตุ สิ่งไหนอบอุ่นหรือร้อนจัดเป็นเตโชธาตุจะแยกรูปธาตุรูปธรรมก็ว่า รูปโลกก็ว่า รูปสังขารก็ว่า จะบรรยายดังต่อไปนี้

    ธาตุดิน มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังพืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า กระโหลกศรีษะและเยื่อในสมองศรีษะ

    ธาตุน้ำ มีดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร

    ธาตุไฟ มีไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายไฟที่เผาอาหารให้ย่อย ไฟ 4 ก็เรียก

    ธาตุลม มีลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลม 6 ก็ว่า (ที่กล่าวมานี้เป็นรูปปรมัตถ์)

    ส่วนนามปรมัตถ์นั้น คือเวทนาความเสวยอารมณ์มีสุข ทุกข์ อุเบกขา เป็นต้น

    สัญญา ความจำได้หมายรู้ คือจำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เป็นต้น

    ส่วนวิญญาณ นั้นก็คือวิญญาณ ทั้ง 6 เราดีๆ นี่เอง คือจักขุวิญญาณ วิญญาณทางดวงตา โสตวิญญาณ วิญญาณทางหู ฆานะวิญญาณ วิญญาณทางจมูก ชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น กายวิญญาณ วิญญาณทางกาย มโนวิญญาณ วิญญาณทางใจ ทั้งหลายเหล่านี้แหละเรียกว่านามธรรมก็ว่า นามธาตุก็ว่า นามโลกก็ว่า

    และขอให้เข้าใจว่า รูปก็ดี นามก็ดี อยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์เสียแล้ว เกิดขึ้นก็แปรปรวน และแตกสลายไป ดินแตกไปเป็นดิน น้ำแตกไปเป็นน้ำ ไฟแตกไปเป็นไฟ ลมแตกไปเป็นลม ที่เรียกว่ารูปธาตุ รูปธรรม รูปขันธ์นี่เอง ส่วนนามธาตุ นามธรรม นามขันธ์ นามโลกก็ว่าทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นแปรปรวนอีกดับอีก หาระหว่างมิได้ คืออยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์ดังกล่าวมาแล้วนั้นเอง

    พระบรมศาสดาสอนให้รู้ตามเป็นจริงให้ปฏิบัติตามเป็นจริง ให้หลุดพ้นตามเป็นจริงโดยไม่เหลือ พิจารณาตามเป็นจริงนั้นอย่างไร...คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา เขา สัตว์ บุคคลนั่นเอง เรียกว่าสังขารสูญในเงื่อน 2 คือไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา และกองทุกข์อ้ายกิเลสตัวหลงๆ จะบัญญัติว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็หาเป็นไปตามกิเลสไม่ จึงสอนให้รู้ตามเป็นจริงดังกล่าวแล้วนั้น

    ที่มา
    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8569

     

แชร์หน้านี้

Loading...