หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาการภาวนา

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 16 กุมภาพันธ์ 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    [​IMG]


    หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ

    ....คัดจากหนังสือหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ...
    หมวดสมาธิ และปัญญา


    1.คำถาม


    ขณะนี้ผมเพิ่งหัดทำสมาธิ ก่อนทำสมาธิจะสวดมนต์ครึ่งชั่วโมงมีบทสวดชินบัญชร, ชัยมงคลคาถา , คาถาเมตตาหลวงของหลวงพ่อเมตตาหลวง หลังจากนั้นก็แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลแล้วนั่งสมาธินาน 5 -25 นาที แล้วแต่วัน โดยใช้บทบริกรรมพุทโธพร้อม ลมหายใจเข้าออก พุทธเข้า-โธออก ปัญหาของผมคือว่าจิตของผม ยังฟุ้งซ่านคิดโน่นนี่ ตลอดไม่ค่อยจะอยู่กับลมหายใจ และคำบริกรรมน้อยมากที่จะอยู่หลายอยากจะขอคำ แนะนำว่าควรจะทำอย่างไร การฝึกสมาธิก็คือสติใช่ไหมครับ แต่นี่มันคล้ายๆไม่มีสติกับงานที่ทำอยู่

    2.คำถาม


    พระอาณาปานสติเฉพาะตัวหลวงปู่มีเคล็ด หรืออุบายอย่างไรบ้างเพื่อความงอกงามของศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ ญาณทัสนะเป็นพิเศษ

    3.คำถาม


    ผมเคยอ่านหนังสือพบว่า เวลาขณะที่จิตฟุ้งซ่านมากๆ ไม่ควรจะทำสมาธิ ภาวนา เพราะเหตุใด จริงไหม

    4.คำถาม


    อีกประเภทหนึ่ง ถามว่าท่านทำนิโรธสมาบัติเพื่อประโยชน์อันใด

    5.คำถาม


    ลูกกราบองค์หลวงปู่ เมื่อทำสมาธิแล้วจะทำจิตให้นิ่งอันเดียวนี้ช่างยากเหลือเกิน เป็นเพราะลูกมีบาปมากใช่ไหมค่ะ กราบองค์หลวงปู่กรุณาแนะนำด้วยเจ้าค่ะ


    --------------------------------------------------------------------------------------

    1.คำตอบ

    ก่อนทำสมาธิได้สวดมนต์ชินบัญชร , ชัยมงคล , และบริกรรมเมตตาหลวงแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลแล้ว นั่งสมาธิตั้งแต่ 5 -25 นาที ใช้บทบริกรรมพุทโธพร้อมลมหายใจเข้า ออก พุทธเข้า-โธออก แต่จิตยังฟุ้งซ่าน คิดโน้นคิดนี้ก็จริงอยู่ เมื่อเป็นดังนี้ ก็อย่าได้ เอามากนัก จะเอาแต่เมตตาก็ต้องให้เห็นคุณชั้นนี้ก่อน หรือจะเอาแต่พุทเข้า-โธออก ก็ต้องให้เห็นคุณชั้นนี้ไปเสียก่อน อย่าจับๆ จดๆ คว้านั้น คว้านี่มากมายนัก มันจะกลายเป็นขี้โลภกรรมฐาน งานชิ้นนั้นก็จะทำ งานชิ้นนี้ก็จะทำ ตกลงไม่ได้เห็นผลซักงานเลย ถ้าเราภาวนาอันใดจิตรวมลงไป รสชาติของจิตรวมก็เป็นรสชาติอันเดียวกันกับเราภาวนาอันอื่นๆ


    2.คำตอบ


    พระอาณาปานสติมีเคล็ดมากพระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ย่นลงมารวมในอานาปานสติได้ไม่ลำบาก เพราะเป็นกองทัพที่มีกำลังมาก ยกอุทาหรณ์ เช่น เราจะพิจารณา " พุทโธ " ก็คุณของพุทโธก็ดี ธัมโม สังโฆก็ดีกลมกลืนกันกับพุทโธอยู่แล้วคล้ายเชือก 3 เกลียว และก็มีอยู่ ( พระคุณ) ทุกลมหายใจเข้าออกอีกด้วย ข้ออื่นยังมีอยู่อีกเช่น สกลกาย สกลใจก็ดีที่เรียกว่ากองนามรูปก็มีอยู่ทุกลมหายใจอีกด้วยข้ออื่นมีอยู่ อีกเช่นไตรลักษณ์ก็มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกอีกด้วย แม้พระนิพพานอันทรงอยู่มีอยู่จะเหนือผู้รู้ขึ้นไปก็ตาม ก็ทรงมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกอีกด้วย เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างทั้งสังขาร และวิสังขารมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว เราก็ไม่ได้ส่งส่ายหาธรรมทั้งปวงเพราะแม่เหล็กย่อมดึงเข็มทิศชี้ไปหาสิ่ง เหล่านี้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละคน ทั้งนั้นเพราะพระบรมศาสนาไม่ได้สอนให้พวกเราโง่ ธรรมบทเดียวก็ส่งต่อพระนิพพานได้ทั้งนั้น แม้ศีล สมาธิ ปัญญาหรือวิมุติที่เรียกว่าไตรสิกขาก็มีความหมายอันเดียวกันกับแปดหมื่นสี่ พันพระธรรมขันธ์นั่นเอง ญาณทัสนะเป็นพิเศษนั้นคือ เห็นตามเป็นจริงในขณะนั้น รู้ตามเป็นจริงในขณะนั้นไม่สำคัญตัวว่าเป็นเรา เขาในขณะนั้น อุปาทานก็แตกกระเจิงไปเองไม่ได้ต้องทำท่าทำทางให้แตก


    3.คำตอบ


    ที่ว่าจิตฟุ้งซ่านนั้นไม่ควรทำสมาธิตอบว่า…จิตฟุ้งซ่านนั่นเองจะได้ถูกข่มเหงเข้าในสมาธิ ด้วยบริกรรมให้พอ จดจ่ออยู่กับกรรมฐานที่ตั้งไว้ถ้าบริกรรมไม่พอหรือเพ่งให้เป็นอารมณ์เดียว ไม่พออยู่ในเป้าอันเดียว มันก็ไม่ยอมลงเหมือนกัน ถ้าจิตฟุ้งซ่านเราไม่เข้าสมาธิแล้ว มันยิ่งไปกันใหญ่ เทียบกันกับเราเลี้ยงโค มีหญ้ากินอยู่ มันไม่สันโดษกินก็ต้องผูกมัด ผูกล่ามไว้ โบราณท่านกล่าวว่าเรือข้ามทะเล เมื่อคลื่นจัดก็ต้องทอดสมอ มิฉะนั้นเรือจะคว่ำและเดินผิดท่าฉันใดก็ดีเมื่อมันฟุ้งซ่านเราไม่ดัดสันดาน มันให้ตั้งอยู่ในกรรมฐานอันใดอันหนึ่ง มันก็เคยตัวเพราะมันไม่ถูกทรมานด้วยพระสติพระปัญญา คำว่าฟุ้งซ่านก็คือรำคาญใจนั่นเอง มันอิงกับโมหะโดยไม่รู้ตัว


    4.คำตอบ

    ถ้าพิจารณาแล้วก็ทำเพื่อประโยชน์ 2 ทาง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นบ้างกรณีเพื่อจะสงเคราะห์คนนั้นคนนี้บ้างแล้วก็เข้านิโรธสมาบัติ เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติผู้ใดมีบุญวาสนาก็จำเป็นจะได้ไปใส่บาตร ให้ท่านผู้นั้นก็จะได้อนิสงส์ปัจจุบันทันตา ส่วนท่านจะออกจากนิโรธสมาบัติเราจะทราบได้ด้วยวิธีใดนั้น มันก็เป็นของยากตอนนี้ เพราะท่านจะเข้านิโรธสมาบัติท่านก็ไม่ได้มาบอกเรา หรือเราเห็นท่านนั่งอยู่ที่เก่าถึง 7 วัน แต่เราก็ไม่ได้นั่งเฝ้าท่านอยู่ด้วยว่าจิตของท่านตั้งอยู่ในที่ใด ท่านพลิกไปพลิกมาหรือไม่ แต่บางท่านเข้านิโรธสมาบัติสมัยทุกวันนี้ บางทีก็ได้ทราบข่าวเปรยๆ ว่า ท่านฉันนมอยู่บางทีก็ได้ทราบว่าท่านเข้าได้จริงๆ และก็มีผู้อยู่เบื้องหลังคอยเทอดท่าน เพราะแอบกินอามิสกับท่านบ้างก็อาจเป็นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นของตัดสินยาก


    5.คำตอบ


    เรื่องภาวนา เราจะให้มันนิ่งอยู่หน้าเดียวดิ่งในเป้าที่เราเพ่งอยู่มันก็ย่อมเป็นไปไม่ ได้ เพราะสมาธิทั้งหลายอยู่ใต้อำนาจอนิจจังอันละเอียด เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา มันจะถอนออกมาก็ช่างมัน เราต้องสังเกตว่า ออกมาแล้วอย่างนี้มีกามวิตกความตริในทางกามหรือไม่มีพยาบาทวิตกความตริในทางพยาบาทหรือไม่ มีวิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียนหรือไม่ ถ้าไม่มีธรรม 3 ประการนี้รบกวนจิตใจเรา ก็ปล่อยให้จิตใจนั้นอยู่ตามสบายนั่นเถิด มีการมีงานก็ทำไปไม่มีโทษ เพราะเรามีสติอยู่กับตัวไม่ใช่จะตันขี้ตันเยี่ยวมันไม่ให้มันนึกไปทางไหน มันนึกไปทางดีแล้วก็ปล่อยมัน ไม่มีโทษ แม้การงานที่ถูกคือเว้นจาก ฆ่าสัตว์ , ลักทรัพย์ , ประพฤติผิดในกาม เรียกว่าการงานชอบ เราก็ต้องปล่อยมันให้มันทำตามสะดวกของมัน ส่วนสัมมาวาจาเล่ามันไม่พูดเท็จ , ไม่พูดส่อเสียด , ไม่พูดคำหยาบคาย , ไม่พูดเพ้อเจ้อ เราก็ต้องปล่อยให้มันพูดซิ ส่วนด้านจิตใจอีก ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน , ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น , เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม คือ เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น สิ่งทั้งหลายที่ปรารภมานี้ เราก็ต้องปล่อยมันให้อยู่ตามสบายไม่ต้องไปเคี่ยวเข็ญเย็นค่ำมันดอก เท่านี้ก็คงจะพอเข้าใจแล้วนะ

    คัดลอกจาก https://sites.google.com/site/phraaja/la


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 ตุลาคม 2012

แชร์หน้านี้

Loading...