หลวงปู่สอนว่า...(หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 26 กันยายน 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    หลวงปู่สอนว่า

    โดย พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)


    [​IMG]


    อันความตายนั้น จงระลึกดูให้รู้แจ้งด้วยสติ ปัญญาของตนเอง ยกจิตใจตั้งให้มั่นอย่าได้หวั่นไหว เจ็บจะเจ็บไปถึงไหนก็แค่ตาย อยู่ดีสบายอยู่ไปถึงไหนก็แค่ตาย แก่ชราแล้วไม่ตายไม่ได้ เมื่อมาถึงบุคคลผู้ใดจะให้ผู้อื่นช่วยไม่ได้ ต้องภาวนาให้พ้นจากความตาย ความตายนั้นมีทางพ้นไปได้ อยู่ที่การละกิเลส ล้างกิเลสในใจให้หมดสิ้น
    [​IMG]
    กิเลสกองไหนที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ขุ่นมัวให้รีบตัดรีบละออกไป เลิกไม่ได้ ละไม่ได้ก็ให้นึกถึงความตาย ใครจะใส่ร้าย ป้ายสี ก็ให้นึกว่าเขาจะต้องตาย เราคือกายกับจิตก็ต้องตายจากกันไป จะมาโกรธ มาโลภ มาหลง มายึดหน้าถือตายึดอะไรต่อมิอะไรไปทำไม จงปล่อยวางให้มันหมดสิ้นไป
    [​IMG]
    โลกธรรม ๘ ประการ มีความสบายกายสบายใจ ก็มีความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือมีสุขมีทุกข์อยู่อย่างนี้ มีสรรเสริญก็ต้องมีติเตียนนินทาเป็นธรรมดาของโลกอย่างนี้ มีลาภเสื่อมลาภได้ เป็นธรรมดาอย่างนี้ มียศเสื่อมยศมันมีเป็นธรรมดาอย่างนี้ จิตผู้รู้ภาวนาไปอยู่ที่ไหน ทำไมไม่เร่งภาวนาให้มันหลุดพ้นไปเสียที
    [​IMG]
    เกิดแล้วต้องตาย ไม่ตายวันนี้วันหน้าก็ตาย ไม่ตายเดือนนี้เดือนหน้าก็ตาย ไม่ตายปีนี้ปีต่อไปก็ตายได้ ให้รู้ไว้ ให้เข้าใจไว้ แล้วจิตใจอย่าได้มัวเมา หลงใหลไปกับกิเลสกาม วัตถุกาม มาหลงร้องไห้หัวเราะอยู่นี้ ไม่มีที่สิ้นสุด ก้อนทุกข์กองทุกข์เต็มตัวทุกคน จงภาวนาดูให้รู้แจ้งด้วยสติปัญญา ไม่ใช่คนอื่นจะมาทำให้ปฏิบัติให้ไม่มีตัวเองนั่นแหละปฏิบัติตัวเอง
    หมายเหตุ


    • กิเลสกาม คือกิเลสที่ทำให้เกิดความอยาก ได้แก่ ราคะ โลภะ อิจฉา เป็นต้น
    • วัตถุกาม ได้แก่ กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าปรารถนา
    [​IMG]
    อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนทำบาปตนก็ได้รับทุกข์เอง ตนทำบุญบุญก็ให้ความสุขแก่บุคคลนั้น บุญ-บาปเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน ใครทำบาปบาปย่อมให้ผล ใครทำบุญกุศล บุญกุศลย่อมตามให้ผล แต่ว่าบางอย่างบางประการนั้นไม่ทันกับใจกิเลสมนุษย์ ก็เลยเข้าใจว่าทำบุญก็ไม่เห็นผล แต่ว่าบาปนั้นไม่ทำก็เห็นผล
    [​IMG]
    อบรมจิตใจด้วยการบริกรรมภาวนา ด้วยการนึกถึงความทุกข์ความเดือดร้อนในโลกนี้ นึกถึงความแก่ชรา ความเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อมันมาถึงแล้วมันมีความเจ็บปวดทุกขเวทนา ต้องฝึกฝนอบรมจิตใจของเราในทางสมาธิภาวนา ทำใจให้สงบระงับด้วยการนึกน้อมเอาพุทธคุณ คือคุณพระพุทธเจ้ามาเป็นอารมณ์ แม้เราจะนึกพุทโธ พุทโธอยู่ก็ตามก็ให้ถือว่า ธัมโมก็อยู่ที่นั้น สังโฆก็อยู่ด้วยกัน
    [​IMG]
    กิเลสมาร หมายถึงจิตใจที่เรายังเลิกละปลดปล่อย กิเลส ราคะ ตัณหาไม่ได้ ราคะ ตัณหา นั่นแหละคือตัวมาร ที่คอยหลอกลวงอยู่ในใจนั้น ถ้าผู้ใดใจไม่มั่นคง ก็หลงใหลไปตามการหลอกลวงของมารกิเลส ไม่ยอมละ ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมปล่อยวาง กิเลสก็ติดอยู่ในตัว ติดอยู่ในกาย ในวาจา ในจิตในใจ คือ ใจเราไปติดกิเลส ไม่ใช่กิเลสมาติดอยู่ในใจของเรา จิตใจของเราไม่ภาวนาละกิเลสแต่ภาวนาเอากิเลส กิเลสก็มาอยู่ในกาย ในวาจา ใจจิตในใจของเราเต็มหมด
    [​IMG]
    ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือความหลง เมื่อมีไฟ ๓ กองนี้อยู่ในใจ มันก็ร้อนเป็นไฟ นั่งที่ไหน นอนที่ไหนก็ร้อนระอุด้วยไฟ เพราะไฟนั้นเป็นของเร่าร้อน ผูกมัดรัดรึงจิตใจคนเราให้หลงให้ติดข้องอยู่ เวลาภาวนาท่านจึงให้ละออกไปปล่อยออกไป ให้หลุดไปสิ้นไป เอาให้หลุดให้พ้น ให้สงบระงับ แม้ยังไม่หลุดพ้นก็ให้ภาวนาทุกคน ให้ใจสงบระงับตั้งมั่นทุกๆ คืนไป จนมีกำลังความสามารถอาจหาญ ก็จะตัดละได้ด้วยตนเอง
    [​IMG]
    ธรรมดากิเลสเป็นมาร เป็นภัยอันตราย คำว่ามารก็คือว่าเป็นผู้ฆ่าผู้ทำลาย ใครไปหลงกลมารยาของมารแล้วก็เสียทุกครั้งไป ฉะนั้น เราทุกคน จงอย่าได้ปล่อยจิตใจให้คิดนึกไปภายนอก จงนึกเตือนใจของตนอยู่ทุกเวลาว่า พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา ธัมโม สังโฆ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา คือให้ใจมาสงบตั้งมั่นอยู่ภายในไม่ให้ไปตามอาการภายนอก
    [​IMG]
    อย่าไปคิดว่าเวลาเราแก่ หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือใกล้ๆ จะแตกจะตาย แล้วจึงภาวนา ถ้าคิดอย่างนั้นก็เป็นอันว่าคิดผิด เพราะเวลาอยู่ดีสบายนี้แหละเป็นเวลาที่เราจะต้องริเริ่มภาวนาให้ได้ให้ถึง กิเลสอะไรที่ยังไม่ออกจากจิตใจเรา ก็จะได้ละกิเลสนั้นเสีย
    [​IMG]
    ให้พากันตั้งอกตั้งใจภาวนากันจริงๆ เอาจิตใจดวงผู้รู้ภายในมาจี้จุดหลงของใจเรา ความหลงของใจไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน หลงในรูป หมายถึง คน สัตว์ สิ่งของ บ้านเรือน เคหสถานอันใดก็ตาม ถ้าจิตใจไปหลงก็จะไปข้องอยู่กับที่นั้น ถ้าจิตไม่หลงก็วางเฉยได้ จิตใจก็เย็นสบายเป็นสุข ไม่ทุกข์ร้อนประการใด เราทุกคนควรปฏิบัติบูชาภาวนาอย่างนี้ให้ได้ทุกๆ คืน ไม่มีใครจะช่วยเราได้เท่ากับตัวเราเอง
    [​IMG]
    การภาวนาอย่าเข้าใจว่าเป็นของยาก ไม่ว่ากิจกรรม การงานอะไร อย่างหยาบๆ ก็ดี ถ้าเราไม่ทำไม่ประกอบก็ยิ่งเป็นอุปสรรค แต่ถ้าเราตั้งใจทำจริงๆ แล้ว มันมีทางออก ภาวนาไป รวมจิตใจเชื่อตามความเป็นจริง เชื่อต่อคุณพระพุทธเจ้าจริงๆ เชื่อต่อคุณพระธรรมจริงๆ เชื่อต่อคุณพระอริยสงฆ์สาวกจริงๆ แล้วบุคคลผู้นั้นก็มีทางที่จะได้บรรลุมรรคผล เห็นแจ้งในธรรม ในปัจจุบันชาตินี้
    [​IMG]
    อะไรๆ ทุกอย่าง ถ้าคนเราทำลงแล้วมันต้องได้ไม่มากก็น้อย ถ้าไม่ทำเลิกล้มความเพียร ชอบสบายอยู่เฉยๆ แต่เราอย่าเข้าใจว่าเราจะอยู่เฉยได้ ในเมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วยปัจจุบันกะทันหันขึ้นมาจะเฉยอยู่ไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อความเจ็บมา อุบายธรรมไม่ทัน เราก็หลง ยึดไปถือไป วุ่นวายไป ถ้าเรารู้เท่ารู้ทัน ปล่อยวางได้ทุกลมหายใจเข้าออก จิตใจก็เย็นสบายเป็นสุขไม่ทุกข์ร้อนประการใด
    [​IMG]
    อุบายธรรมต่างๆ ที่กำหนดจดจำไปประพฤติปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับบุญบาปเก่าเราทำมามากหรือไม่ บุญบารมีใหม่ ใจปัจจุบันของเราตั้งมั่นหรือไม่ ใจปัจจุบันเป็นหลักสำคัญที่เราทุกคน ทุกดวงใจจะ "ประมาท" ไม่ได้ พระพุทธเจ้า พระองค์เตือนว่า ผู้ไม่ประมาทย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ผู้ประมาทมัวเมาเป็นไปเพื่อความเสื่อม
    [​IMG]
    วันคืนเดือนปี หมดไป สิ้นไป แต่อย่าเข้าใจว่าคืนนั้นหมดไป วันคืนไม่หมด ชีวิตของแต่ละบุคคลหมดไปสิ้นไป มันหมดไปทุกลมหายใจเข้าออก ฉะนั้นให้ภาวนาดูว่าวันคืนล่วงไป เราทำอะไรอยู่ ทำบุญหรือทำบาป เราละกิเลสได้หรือยัง เราภาวนาใจสงบหรือยัง
    [​IMG]
    เรามัวเพลิดเพลินอะไรอยู่ ไปมัวเสียอกเสียใจอย่างไรอยู่ ทำไมไม่ภาวนา ทำไมไม่ละกิเลส ภาวนาให้มันหมดสิ้นไป เวลาความแก่มาถึงเข้าหรือเวลาความเจ็บไข้มาถึงเข้าจิตก็ว้าวุ่น ยิ่งความตายจะมาถึง เราละกิเลสไว้ก่อนหรือยัง ก็ตอบได้ด้วยตนเองว่ายังไม่หมด เมื่อยังไม่หมดเรามัวไปทำอะไรอยู่ ชีวิตของคนเราหมดไป เหมือนจุดเทียนขึ้นมาแล้ว ไฟมันก็ไหม้ไส้เทียนจนหมด เราทำอะไรอยู่ ไม่พินิจพิจารณา ต้องเตือนใจของตนเองว่าเราภาวนาแล้วหรือยัง อย่าประมาท คือภาวนาทุกลมหายใจเข้าออก
    [​IMG]
    จะไม่ให้หลงจริงๆ ต้องภาวนาให้รู้จักรู้แจ้งเข้าไประงับจัดจิตใจภายใน จนถึงขั้นละความหลงความไม่รู้อันมีอยู่ในตัวในใจของตัวเองให้ได้ ไม่ให้จิตโลเลอยู่ในวัฏสงสาร ให้มาแจ้งว่าเกิดมาเป็นทุกข์อย่างนี้ เจ็บไข้ได้พยาธิเป็นอย่างนี้ อะไรทุกอย่างให้เตือนจิตอันนี้อยู่ จิตใครจิตเรา ไม่ใช่คนอื่นไปเตือนให้ สติ คือ ความระลึกได้จากจิตของตนเองระลึกภาวนาขึ้นมา อะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ อะไรดับไป
    หมายเหตุ


    • วัฏสงสาร หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด
    [​IMG]
    เวลาความตายมาถึงเข้า กายกับจิตจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ เรียกว่าแยกกันไป จิตทำบาปไว้ก็ไปสู่บาป จิตทำบุญไว้ก็ไปสู่บุญ จิตละกิเลสราคะ โทสะ โมหะได้ก็ไปสู่นิพพาน จิตละไม่ได้ก็มาเวียนตายเวียนเกิด วุ่นวาย อยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในโลก มนุษย์ทั้งหลายก็ยังไม่หมดไปจากโลก ยิ่งในปัจจุบันนี้ ยิ่งมากกว่าในสมัยก่อนมันเกิดมาจากไหน ก็เกิดมาจากจิตที่เต็มไปด้วยอวิชชา-ความไม่รู้ ตัณหา-ความดิ้นรน ไม่สงบตั้งมั่น ก็สร้างตัวขึ้นมาในแต่ละบุคคล แล้วก็มาทุกข์มาเดือดร้อน วุ่นวายอยู่ในวัฏสงสารอย่างนี้แหละ
    [​IMG]
    จงทำความเพียรพยายาม ทำใจให้สงบตั้งมั่น มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีความรู้ความฉลาด ความสามารถอาจหาญ ให้เกิดมีขึ้นในตัว คือภาวนาอย่าได้ท้อถอย หรือมีสติอยู่ทุกเวลา สตินี้คือระลึกได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติมีมากเท่าไรยิ่งดี แต่อย่างอื่นต้องได้ระวัง อย่างอื่นมากไป ถ้าไม่รู้เท่าทันก็มีโทษ แต่สติความระลึกได้ว่าเราทำอะไรอยู่เราภาวนาละกิเลสได้ทุกลมหายใจเข้าออกหรือไม่ สิ่งเหล่านี้แหละที่เตือนใจเราให้มีความมานะอดทนในการทำความดีให้ได้ตลอดไป
    [​IMG]
    จงตั้งใจปฏิบัติภาวนาในจิตใจของตนให้ได้ ใจคนอื่นผู้อื่นเขาจะดีก็เรื่องของเขา เขาจะชั่วก็เรื่องของเขา เราจะไปแก้ไขบางอย่างมันแก้ไม่ได้เพราะกรรมที่เขาทำมันให้ผล เขาทำบุญบุญก็ให้เขา เขาทำบาปบาปก็ให้เขา เราทำบุญบุญก็ให้เรา เราทำบาปบาปก็ให้เรา ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงเตือนว่าให้รีบเร่งตั้งใจภาวนาละกิเลส จนอะไรๆ ทั้งหมดนั้น รวมลงไปที่คำว่า ปัญญา ปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือว่า "นัตถิ ปัญญาสมา อาภา" แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
    </B>[​IMG]
    คนทำบุญไว้ บุญให้ผล คนทำบาปไว้ บาปให้ผล จะมาแก้ที่ปลายเหตุไม่ได้ แก้ไม่ตกแก้ไม่ได้ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้นเหตุอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจภาวนาพิจารณาอยู่ในหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งโลก ทั้งรูป ทั้งนาม ทั้งเรา ทั้งเขา อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้ ต้องเรียนรู้ศึกษาให้เข้าใจ
    [​IMG]
    คนเราสมัยนี้ไม่สนใจในธรรม จึงได้รับทุกข์ เมื่อรับทุกข์แล้วจะไปให้ไม่ทุกข์ไม่ได้ มันมาจากเหตุ ทำเหตุทุกข์ก็ได้ทุกข์ ทำเหตุสุขก็ได้สุข นี่เป็นอุบายเตือนเราท่านทั้งหลายให้ปฏิบัติภาวนาละกิเลส ไม่ใช่ให้ง่วงเหงาหาวนอน ฟุ้งซ่านรำคาญใจ วุ่นวายไปหมด
    [​IMG]
    อุบายใด ธรรมใด ข้อใดก็ตาม เอามานึกเจริญ มัดจิตใจของเราให้สงบระงับไม่ให้ฟุ้งรำคาญไปที่อื่นเสียก่อน จึงจะเข้าใจในคำว่า " พุทธศาสนา" ถ้าใจของผู้ปฏิบัติภาวนายังตั้งมั่น รวมลงเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวไม่ได้ ก็จะยังไม่เข้าถึงสรณะ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
    หมายเหตุ


    • สรณะ หมายถึง ที่พึ่ง ที่ระลึก
    [​IMG]
    คนหูเบาคือคนใจเบา ทำสมาธิภาวนาในใจของตนไม่ได้ เบาไปหมด ใครมาสรรเสริญเยินยอขึ้นมา ก็ดีอกดีใจ เข้าใจว่าดีตามที่เขาสรรเสริญเยินยอยกย่องให้ จะไปดีได้อย่างไร ถ้าเราไม่ทำดีเราไม่ทำบุญให้ทานไม่รักษาศีล ไม่ภาวนา ไม่ละกิเลสราคะ โทสะ โมหะในใจของเราก็เอาดีไม่ได้
    [​IMG]
    นั่งภาวนาก็กลัวตาย หนีไปไหนจึงไม่ตาย มันต้องตายวันยังค่ำ แต่ยังไม่ถึงเวลาเท่านั้น บุญยังรักษาพวกเราทั้งหลายไว้ บุญได้แก่การละบาป บำเพ็ญบุญ ทำดีด้วยกาย พูดดีด้วยวาจา คิดดีในทางจิต ที่เราภาวนา พุทโธ พุทโธ ก็เรียกว่าเอาจิตดวงผู้รู้ที่อยู่ในตัวนี้แหละมาคิดดี มาเจริญดี
    [​IMG]
    คำว่าตั้งใจนั้นต้องตั้งหมดทั้งตัว ใจจะตั้งได้กายก็ต้องตั้ง จุดสำคัญก็ให้เอาจิต เอาใจของตนให้อยู่มั่นคงในศีล ในธรรม อย่าเป็นคนใจเบา หูเบา ถูกติเตียนนินทา ก็เลิกล้มความดีงาม เคยทำบุญทำทานก็ทำไม่ได้ เคยรักษาศีลก็รักษาไม่ได้ ใครจะติเตียนนินทาเป็นเรื่องของผู้ติเตียนนินทา คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก คนเกิดมาแล้ว หูต้องได้ยินเสียงเสียงดีเสียงชั่ว ก็ต้องมีเข้ามาในหู ไปห้ามไม่ให้ผู้อื่นว่าไม่ได้ ภาวนาพุทโธ ตั้งใจลงไปให้มั่นคงเหมือนแผ่นดิน แผ่นดินไม่หวั่นไหวฉันใด ใจเราก็อย่าได้หวั่นไหวฉันนั้น
    [​IMG]
    รูปหมายถึงตัว นามหมายถึงจิต รูปนามนี้ให้เห็นว่าไม่เที่ยงและให้เห็นว่าเป็นทุกข์ด้วย ที่เรามายึดมาถือว่าตัวเราของเราอยู่ ก็เพราะความไม่รู้ จงรู้เห็นว่าอันร่างกายสังขาร จิตใจนี้ที่ยังมีกิเลส ความโกรธ โลภ หลง อยู่ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นความหลง ความไม่รู้ในใจของตัวเองนำมาปรุงแต่ง สิ่งที่ไม่เที่ยงก็จะเอาให้เที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์ก็จะให้เป็นสุข มันเป็นไปไม่ได้ จึงให้นึกเอาจนใจสงบ ตั้งมั่น เที่ยงตรงคงที่ลงไป จนมีสติ มีสมาธิ จนเกิดปัญญาญาณ รู้แจ้งในกาย ในจิตของตัวเอง จิตใจของเราจะมีความสุขสบาย ไม่เดือดร้อน วุ่นวายประการใด
    [​IMG]
    ทุกข์อยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่ใจยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นคือมั่นในชาติ ในตระกูล ในตัว ในตน ในสัตว์ ในบุคคล ความยึดอันนี้แหละที่ยึดไม่ให้มีทุกข์ ให้มีความสุข มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับว่าเราจะไม่ให้แก่ ก็แก่เรื่อยไป ต้องรู้ว่าแก่เพราะอะไร ก็เพราะว่าจิตมายึดถือ เมื่อจิตมายึดมาถือ จิตจึงมาเกาะอยู่ มาเกิด มาแก่ชรา เจ็บไข้ได้พยาธิ ผลที่สุดก็ถึงซึ่งความตาย
    [​IMG]
    จงดูอยู่ รู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออกว่า เราจะต้องทำใจของเราให้มีความสงบตั้งมั่นอยู่ในเวลาปัจจุบัน คือเดี๋ยวนี้เวลานี้อยู่ตลอดเวลา เห็นความแก่อยู่ตลอดเวลา เห็นความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกขเวทนาอยู่ตลอดเวลา เห็นความตายอยู่ทุกเวลา ความจริงความตายก็ตายอยู่ทุกเวลา แต่ว่าความขาดสติสัมปชัญญะจึงมองไม่เห็น
    อันฟังธรรมจากที่อื่น จะต้องเป็นกาล เป็นเวลา แต่ฟังธรรมอยู่ในจิตในใจ ในกาย วาจา จิต ของตนนั้น ให้มีอยู่ทุกเวลา กายนั่งอยู่ที่ไหน ใจก็เพียรเพ่งอยู่ในกายที่นั่งนั้น เห็นว่านี่เป็นกองทุกข์อย่างนี้แหละ เห็นเป็นความแก่ ความชรา มรณะอยู่ในตัวตลอดเวลา
    [​IMG]
    จิตใดที่เพลิดเพลินลุ่มหลงไปตามรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วให้ชี้หน้าตาของตัวเองว่านี้แหละเพราะความหลง ไม่มารู้จักรู้แจ้ง รู้จริงอยู่ในตัวในใจ จึงหลงศีล หลงธรรม หลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าอยู่ที่อื่น ความจริงอยู่ที่กาย วาจา จิตของคนเราทุกๆ คน
    หมายเหตุ


    • โผฏฐัพพะ หมายถึง อารมณ์ที่จะพึงถูกต้องด้วยกายเช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
    • ธรรมารมณ์ หมายถึง อารมณ์ทางใจ สิ่งที่ใจนึกคิด
    [​IMG]
    ตัวเราแต่ละบุคคลนั้น คือเสมือนหนึ่งเป็นตู้พระไตรปิฎก เป็นที่บรรจุพระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสชี้แจงแสดงนั้นเอง มันอยู่เต็มตัวเรา เดี๋ยวนี้จิตไม่มาเพียรเพ่งดูที่นี้ มัวส่งจิตใจไปที่อื่น จึงไม่รู้ มันมีอยู่เราก็ไม่เห็น เพราะไม่รู้ ไม่เป็นปัจจุบันจึงให้รวมจิตรวมใจเข้ามาในปัจจุบัน ทุกลมหายใจเข้าออก จิตใจดวงผู้รู้ก็มีอยู่ที่นี้แหละ
    [​IMG]
    อย่าไปมัวยึดถืออดีต อนาคต คนโน้น คนนี้ เขาว่าให้เรา เขาดูถูกเรา อย่าไปวุ่นวาย คนอื่นปากของเขามี เขาก็ว่าไป คนมีปาก มีใจ เขาก็ว่าไปอย่างนั้นแหละ อย่าไปหลง จงนึกเตือนใจ สอนใจ สอนตัวของเราให้ได้ สอนตัวเวลานี้ เดี๋ยวนี้อยู่ตลอดเวลา จิตใจสบายได้ก็คือพร้อมในใจ เมื่อพร้อมเมื่อใด เวลาใด ก็สงบ เมื่อสงบตั้งมั่นเมื่อใด เวลาใด สติปัญญาก็เกิดขึ้นที่นั้นแหละ
    [​IMG]
    เราทุกคนก็ต้องโอปนยิกธรรม น้อมเข้ารวมเข้ามา สอนตัวเองเข้ามาให้ได้อยู่ทุกวันเวลาแล้ว มรรคผล นิพพานก็ไม่ต้องไปหาที่อื่น มันอยู่ที่ความเพียร ความหมั่น ความขยัน ในการภาวนาไม่ให้ขาด นั่งก็ภาวนา นอนก็ภาวนา หลับแล้วก็แล้วไป ตื่นขึ้นก็ภาวนาต่อให้เป็นวงจรอยู่ตลอดเวลา จิตใจก็ย่อมมีกำลัง มีความสามารถ อาจหาญไม่ท้อแท้อ่อนแอในหัวใจ
    หมายเหตุ


    • โอปนยิกธรรม หมายถึง พระธรรมที่ควรน้อมนำเข้ามาไว้ในใจ
    [​IMG]
    เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ร่างกายรูปขันธ์เขาเจ็บไข้ได้ป่วย จิตใจของคนเราจะเจ็บที่ไหน มันเป็นธาตุนามธรรม ฆ่าก็ไม่ตาย ขายก็ไม่ได้เงิน มันเรื่องของจิตใจของเราให้มั่นคงหนักแน่นลงไปในตัวในใจ จะนึกเจริญอะไรก็ให้มีสติ ทำอะไรก็ให้มีสมาธิให้มั่นคงจริงจัง ไม่ใช่ให้เลื่อนไปลอยมา หวั่นไหวสั่นสะเทือน กลัวตายอยู่ไม่ได้ ต้องให้เลยตาย คำว่าเลยตาย คือให้แจ้งชัดในใจของตัวเอง จนกระทั่งว่าความตายมาถึง เราก็จะไม่ให้หลงในที่ภาวนา ในที่ตั้งใจนี้ เมื่อทำได้ในใจของตนแล้ว ไม่ต้องไปหาที่อื่น มีอยู่ในกาย ในวาจาจิตของทุกๆ คน
    [​IMG]
    เราได้ตั้งใจสักวันสักคืนไหม นั่งสมาธิให้มันตายสักชาติหนึ่ง มีแต่นั่งพอเป็นพิธี แล้วก็นอน คือมันบ่ตั้งใจ ตั้งใจนั่งภาวนาให้มันได้อย่างขนาดหลวงปู่มั่น ท่านนั่งภาวนาเดินจงกรม ท่านแบ่งเวลาอย่างว่าคืนหนึ่งตั้งแต่พลบค่ำมาแล้วก็เดินจงกรม เดิน ๒ ชั่วโมง ประมาณ ๒ ทุ่ม ขึ้นไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิภาวนาอีก ๒ ชั่วโมงก็พอดี ๔ ทุ่ม ท่านก็จำวัด จำวัด ๔ ชั่วโมงอย่างช้าตี ๒ ท่านก็ตื่น ตื่นตอนเช้าท่านก็เดินจงกรม ๒ ชั่วโมง ขึ้นไหว้พระสวดมนต์ นั่งภาวนาอีก ๒ ชั่วโมงก็พอดีแจ้งสว่างไปบิณฑบาต อันนี้คือว่าใจท่านมั่นคง ไม่หวั่นไหว
    [​IMG]
    ไหว้พระให้ได้ทุกคืน ทำวัตรเช้า-เย็นด้วยตนเอง สวดมนต์ด้วยตนเอง นั่งสมาธิภาวนาด้วยตนเอง และทุกคราวที่นั่งต้องให้จิตใจสงบตั้งมั่นแล้วจึงค่อยกราบพระ ไหว้พระ ก่อนจะหลับจะนอนก็ตั้งใจว่าเราจะตื่นเวลานั้นเวลานี้ ไม่ใช่นอนจนกระทั่งตื่นเอง เวลาเรามาเกิด มาปฏิสนธิในท้องแม่ รู้หรือไม่ว่านั่ง-นอนอยู่ในท้องแม่ ๑๐ เดือนมันทุกข์ขนาดไหน ทำไมไม่ตาย เวลานั่งสมาธิภาวนา ๒-๓ ชั่วโมง กิเลสก็บอกว่าอย่าไปนั่งนาน เดี๋ยวตายนะ ให้มันตายสักชาติก็ยังนั่งภาวนาจึงจะสู้กิเลสในใจของตัวได้
    [​IMG]
    อสุภกรรมฐานในตัวเรา ให้พิจารณาตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า อัฏฐิกัง กระดูก ๓๐๐ ท่อน ดูร่างกายให้เห็นเป็นอสุภกรรมฐานให้เห็นว่าร่างกายของเราของเขา ไม่มีที่ไหนสวยงามเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ จนกระทั่งเห็นของตัวเองว่าเป็นของปฏิกูลจริงๆ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะออกมา ผู้ใดเป็นเพศชายเมื่อเห็นเพศหญิงก็ไม่ให้เห็นเป็นของสวยงาม และเพศหญิงเมื่อเห็นเพศชายก็ไม่ให้เห็นเป็นของสวยงาม ก็ก้อนอสุภกรรมฐานอันเดียวกัน
    หมายเหตุ


    • อสุภกรรมฐาน หมายถึง อุบายในการกำหนดสภาพไม่งาม (ซากศพ) เป็นอารมณ์กรรมฐาน
    [​IMG]
    ชีวิตของคนเราไม่นาน ชีวิตนี้มีน้อยที่สุด เวลาเรายังไม่ตาย ก็ได้ข่าวคนนั้นว่าตาย ที่เขาเอาไปฝังทิ้ง หรือเอาไปเผาไฟ เพื่อไม่ให้กลิ่นมันเหม็นจมูกเขาต่างหาก เราต้องพิจารณา ต้องทำด้วยกำลังศรัทธาของเรา ทำไมพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงเกิดอสุภกรรมฐานเห็นแจ้งในจิตในใจได้ เห็นคนก็เห็นก้อนอสุภกรรมฐาน เห็นคนก็เห็นความตายของคนนั้น
    [​IMG]
    ร่างกายสังขารของคนเรานี้ โดยธรรมชาติเป็นของไม่สวยไม่งาม พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่าให้พิจารณาเป็นอสุภกรรมฐาน คำว่าอสุภะ คือว่าของเปื่อย ของเน่า ของปฏิกูล อย่าไปเห็นรูปร่างกายของตัวเองเป็นของสวยของงาม เป็นของมั่นคงถาวร มันรอวันตายอยู่ทุกคนแหละ ตายแล้วก็เน่าเปื่อย ฉะนั้น พากันคิดอ่านพิจารณาสอนตัวเอง ตั้งใจให้มั่นคง ดูให้ทั่วถึงภายนอกเป็นอย่างไร ภายในเป็นอย่างไร
    [​IMG]
    พุทโธในใจ มัดจิตใจของตนให้อยู่ ไม่ให้ไปไหน ไม่ให้จิตขาดสติ ต้องมีสติ ทำอะไรให้มีความรอบคอบในกาย วาจา จิตของตัวเอง จนเกิดความรู้ความฉลาด ความสามารถอาจหาญในใจของตัวเอง จนกำจัดกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ได้หมดสิ้น
    [​IMG]
    เราจะไปคิดเพียงว่าใจไม่สงบระงับ หลวงพ่อจะให้อุบายใดสงบระงับเท่านั้นก็บ่พอ ให้นั่งภาวนาทุกคืนจนเลยตายนั่นแหละ ถ้าเลยตายแล้วก็ไม่กลับมาตายอีก ถ้ายังกลัวตาย ก็มาตายมาเกิดอย่างนี้แหละ ยังไม่ได้ถอนรากแก้วกิเลสในกาย วาจา จิตของตนเอง มายึดว่าตัวกูของกู ตัวเราของเรา เราเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นอะไร ก็เป็นอสุภกรรมฐานนั่นแหละ ฉะนั้น จงพากันลุกขึ้นภาวนาด้วยตนเอง ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นท่านชี้ไว้ บอกไว้เท่านั้น เวลาเราจะรู้ได้ เข้าใจได้ ต้องกำหนดพิจารณาจนเห็นจนเข้าใจด้วยสติปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่คนอื่นมาพิจารณาให้ได้
    [​IMG]
    อย่าเป็นกบนั่งเฝ้ากอบัว มันไม่รู้ว่าดอกบัวมีกลิ่นหอมอย่างไร คนเราที่เกิดมาไม่ภาวนา ไม่บำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ก็จะมาเฝ้าตัวไว้เหมือนกบเฝ้ากอบัว อยู่บนหัวก็ไม่รู้สึก จิตใจมาเกิด มายึดถืออยู่ในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้หลายสิบปีแล้ว ก็เป็นกบเฝ้ากอบัวอยู่ ไม่พินิจพิจารณา ฉะนั้นต่อไปให้พากันตั้งใจขึ้นมาใหม่ อยู่ให้ใจมืดมนเกียจคร้านกลัวตายอยู่ไม่ได้
    [​IMG]
    การเจ็บปวด อย่าไปยึดถือก็แล้วกัน ให้ถือเสียว่าทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น มันไม่คงทน ถ้าใจของเราเข้มแข็งไม่มายึดถือทุกขเวทนาที่เราว่าเจ็บปวดนั้นมันหายไปได้ คือจิตไม่มาสำคัญผิดคิดว่าเราเจ็บ ธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ มันเจ็บ เจ็บไปถึงไหนก็เป็นเรื่องของสังขาร เจ็บมากที่สุดก็ไม่ถึงตาย บอกจิตใจไว้เพื่อมิให้จิตใจกระวนกระวาย ให้วางเฉยได้ภาวนา อุเบกขาจิต "จิตวางเฉย" เมื่อจิตวางเฉยได้ จะภาวนาบทใด ข้อใด จิตใจก็รวมได้ คือไม่มายึดหน้าถือตาไม่มายึดตัวถือตน ยึดตระกูล
    [​IMG]
    สติ ก็จิตนั่นแหละ ระลึกขึ้นมาเตือนจิตดวงที่รู้อยู่ภายในนั้น ให้รู้สึกตัวอยู่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่เกิดขึ้นก็เตือนให้รู้ รู้จนกระทั่งว่าตายอย่าไปกังวลอะไร คนอื่นเขาตายให้เราเห็นทั้งโลกไม่รู้ไม่เห็น หรือตัวเราจะไม่เจ็บไม่ไข้ ไม่ตายมีที่ไหน ไม่ต้องวุ่นวาย วางให้ได้ ถอนให้ได้ เมื่อวางได้ ถอนได้ ก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน
    [​IMG]
    "ข้ามตาย" ข้ามตายก็คือไม่ต้องตายอีก ข้ามตายไม่ได้ก็จะกลับมาตายอีก ตายก็ช่างมันปะไร ธาตุดิน-น้ำ-ไฟ-ลม มันตาย จิตไม่ได้ตาย ภาวนาในใจให้แน่วแน่ "มรณัง เม ภวิสสติ" จนไม่กลัวตาย ไม่กลัวเจ็บ ไม่ให้วิตกวิจาร กลัวนั้นกลัวนี้ กลัวไปก็ไม่พ้นได้
    [​IMG]
    การฟังธรรมให้เอาหูฟัง ไม่ได้เอาตาฟัง ทวารตาปิดได้ ไม่เหมือนทวารหู เมื่อเราหลับตาแล้วสิ่งแรกที่ต้องรำลึกก็คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ต้องนึกถึงพระเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ของพระพุทธเจ้าที่โปรดสั่งสอนไว้ทุกอย่างทุกประการ น้อมนึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยแล้วจึงภาวนาทุกลมหายใจเข้าออก ดูที่ลมหายใจเข้า-ออก ใจมันตั้งหรือยัง ถ้าไม่ตั้งก็ยกจิตใจตั้งขึ้นมา จิตคิดไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องตามไป
    [​IMG]
    ธรรมดารูปขันธ์ของมนุษย์ที่เกิดมาแล้วใครจะไปห้ามไม่ให้มันแก่ไม่ได้ มันก็แก่ไป ถึงเวลาจะเจ็บไข้ได้ป่วย ใครจะห้ามมันก็ไม่ฟัง เมื่อถึงเวลาจะตายใครก็ห้ามไม่ได้ เมื่อห้ามไม่ได้แล้วพระพุทธเจ้าท่านจึงให้ห้ามใจของเราไม่ให้ฟุ้งซ่านรำคาญไปที่อื่น ให้รวมจิตรวมใจเข้ามา พระพุทธองค์ท่านภาวนา ท่านไม่ได้นึกอะไรมาก ท่านเอาลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้แหละเป็นภาวนา
    [​IMG]
    อาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ เราจึงได้เจริญวัยใหญ่โตมาได้จนบัดนี้ ต้องนึกถึงคุณบิดา มารดา ผู้บังเกิดเกล้า ผู้ทะนุบำรุงให้ทุกอย่างทุกประการ จนกระทั่งตัวเราทั้งกาย ทั้งจิต เจริญวัยใหญ่โตมาจนเลี้ยงดูรักษาตนเองได้ก็เรียกว่าเป็นบุญ เป็นกุศล
    [​IMG]
    การที่เรากราบไหว้บูชาสักการะพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสนี้ ท่านว่า เป็นบุญกุศลอันมหาศาล เป็นนิสัยปัจจัยต่อเนื่องถึงนิพพาน ฉะนั้นเราต้องฝึกหัดจิตใจของเรา ให้เลื่อมใสในคุณพระพุทธเจ้า ในคำว่าพุทโธ พุทโธ พุทธังหมายถึงพระพุทธเจ้า จิตใจของเราถ้าเลื่อมใสในคุณพระพุทธเจ้าแล้ว นึกน้อมให้ดี เจริญให้ดี เอามามัดจิตใจของเราให้อยู่ ใจของเราจะสงบระงับเยือกเย็นสบาย ไม่ทุกข์ร้อนประการใด
    [​IMG]
    กิเลส โลภ-โกรธ-หลง ล้วนแล้วแต่เป็นมารคอยฆ่าคุณงามความดีของเราอยู่ อย่าได้ไปเชื่อไปหลง จงพยายามทำจิตใจของเราให้เว้นจากบาปเหล่านี้ให้หมด มานึกน้อมอยู่ในใจของเราว่า ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลาย เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าตลอดชีวิต
    [​IMG]
    ในกาย วาจา จิต ของเรานี้ ให้มีศรัทธาความเชื่อในคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมวินัย คุณพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลาย เราจะได้น้อมนึกรำลึกถึงคุณพระ เมื่อใจเราถึงคุณพระ พระย่อมรักษา ยังมีชีวิตอยู่พระก็รักษา ตายไปแล้ว พระก็ตามรักษาให้ไปในที่สุขสบาย พระนั้นก็คือจิตใจของเราที่ภาวนา พุทโธ พุทโธ อยู่นี่เอง
    [​IMG]
    นั่งสมาธิภาวนา ทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ ตั้งใจทำได้ ครั้นทำไปนานๆ ความขี้เกียจ ขี้คร้านเกิดขึ้น ก็เลิกล้มความพากเพียรพยายาม ผลที่สุดก็มาบ่นให้แก่ตัวเองว่า "ทำไมหนอ เราก็ตั้งอกตั้งใจฟังเทศน์ฟังธรรม นั่งสมาธิภาวนา แต่มรรคผล นิพพานก็ไม่มีบังเกิดขึ้นในจิตในใจของเราเลย" หรือว่า "ทำบุญทำทานมามากมาย เยอะแยะแล้ว แต่ทำไมเล่าภัยอันตรายต่างๆ จึงมักมาเกิดให้แก่ตัวเราเอง ความสุขมีน้อย ความทุกข์มีมาก" ก็เข้าใจว่าผลทานผลศีลของตนคงไม่ให้ผล จึงได้รับแต่ความทุกข์ทรมาน อันนี้ถือว่าไม่กำหนดภาวนาให้ดี บาป-กุศลที่คนเราได้รับอยู่นั้น ไม่เฉพาะแต่ชาตินี้อย่างเดียว บาปใดที่เราไม่ได้ทำมาในชาตินี้ก็ให้ถือว่าชาติก่อนหนหลังเราเคยทำบาปอกุศลไว้มาก ความทุกข์ที่เราไม่ปรารถนาก็มีเกิดขึ้นได้
    [​IMG]
    คำว่าบริกรรม สิ่งที่นึกน้อมนั้น เป็นบทแรก ข้อแรกที่ทุกๆ คนผู้ภาวนา จะต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่ง บางคนก็ได้เห็นคนตาย เห็นแล้วจิตสลดสังเวชก็ให้กำหนดเอามรณกรรมฐานความตายนั้นแหละมานอนใจ จิตใจก็จะสงบระงับตั้งมั่นได้ เมื่อตั้งมั่นได้ อยู่ได้ สงบได้ เย็นสบายได้ ก็เป็นต้นทางเป็นปากทางที่จะให้เกิดความรู้ ความฉลาด เพื่อตัดละกิเลสในใจของตนได้
    [​IMG]
    ทุกข์-สุขนี้เปรียบเหมือนกลางคืน-กลางวัน กลางวันเหมือนกับบุญ กลางคืนเหมือนกับบาปให้ผล ทำไมมืดจึงมาหาเราทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ แจ้งสว่างเราปรารถนาทำไมไม่ได้ ความทุกข์ทำไมได้มากกว่าความสุข นี้คือว่าเราไม่ตั้งอกตั้งใจภาวนาดูให้รู้แจ้งด้วยปัญญาอันชอบ กฎเกณฑ์ กฎกรรมมันเป็นไปตามกฎ ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว คนบางเหล่านั้นไม่ได้ภาวนา เพียรเพ่งดู ก็มักคิดว่าผลบุญไม่มี มีแต่ผลบาป ทำบุญบุญก็ไม่ช่วยมีแต่บาปให้ผล สิ่งเหล่านี้นั้นมีเหตุมีปัจจัยเพียงพอ จึงให้ผลเป็นสุข ให้ผลเป็นทุกข์ สุข-ทุกข์นั้น ถ้าไม่ภาวนาให้รู้ ก็เข้าใจว่าทุกข์นั้นเป็นเพราะคนอื่นทำให้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ตัวเองนั่นแหละทำเอง
    [​IMG]
    คนมีที่ไหน กระดูกก็มีที่นั่น เราจะมาหลงกระดูก มันไม่สมควร ดูกองกระดูกของตัวเองให้รู้แล้ว คนอื่นก็มีเหมือนกัน มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน จะไปลุ่มหลงมัวเมาทำไมกัน ให้เอาสอนจิต ตายแล้วตัวเราเองจะเผาตัวเองก็ไม่ได้ ตายก็ไปสู่ภพหน้า ภพในต่อไป
    [​IMG]
    สอนคนอื่นนั้นง่ายกว่าสอนตัวเอง สอนตัวเองนั้นยากเพราะใกล้เลยมองไม่เห็น คนอื่นอยู่ไกลเลยมองเห็น ผิด ถูก ชั่ว ดี ของเขา ฉะนั้นต้องตั้งอกตั้งใจภาวนา ข้อสำคัญที่สุดก็คือทำอยู่เสมอๆ เป็นการปฏิบัติบูชาภาวนา อย่าไปคอยว่าวันไหนสบายอกสบายใจแล้วค่อยภาวนา ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไม่ภาวนา อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องทำให้เป็นข้อวัตร ปฏิบัติ ตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จิตใจก็จะมีกำลังมีความสามารถไปโดยลำดับ
    [​IMG]
    การปฏิบัติภาวนาไม่ต้องรั้งรอ เพราะคนเราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงตนวันไหน คืนไหน เวลาใดไม่มีใครรู้ เรารู้แต่ว่าเราเกิดวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้นแต่วันตายไม่มีใครรู้ จะรู้ได้ก็โน้นแหละตายไปแล้ว
    [​IMG]
    ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนกับสังขาร จิตใจให้อยู่เหนือสังขาร เมื่อมีความทุกข์ไม่ต้องบ่นให้อดทนเอา อะไรทั้งหมด ถ้ามีขันติความอดทนย่อมได้ชัยชนะ คนไม่มีอดทน เจ็บอะไรเป็นอะไรก็บ่นไปก่อน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยน้อยหนึ่งก็เป็นมาก ถ้าถึงคราวเป็นมากก็ตายไปเลย เพราะไม่มีความอดทน จิตใจให้เข้มแข็งอยู่ภายใน จิตใจอย่างท้อแท้อ่อนแอ ให้กล้าหาญ เผชิญความทุกข์ เดือดร้อนในตัวในใจให้ได้
    [​IMG]
    ใจคนเรานี้ ถ้าย่นย่อเข้ามาแล้วมีอยู่น้อยนิดเดียว คือจิตใจดวงหนึ่งมีความรู้สึกครองอยู่ในร่างกายทุกคน แล้วมีสังขารมาร ใจกิเลสมาร คอยมาต่อเนื่องจากดวงใจที่รู้อยู่ออกไปภายนอก ตามไปดิ้นรนวุ่นวายไปตามกามตัณหา ความรักใคร่พอใจในรูปรส กลิ่น เสียง จิตใจที่กามราคะตัณหานี้จะไประงับดับที่ไหน ท่านให้มาระงับดับที่จิตใจนี้แหละ ทำใจของตัวเองไม่ให้หลงใหลไปกับความรักและความชัง สังขารมาร กิเลสมารต่างๆ จิตใจอย่าได้ใฝ่หา ทำใจให้อยู่เป็นดวงหนึ่งดวงเดียว อารมณ์เรื่องราวใดๆ ที่เกิดขึ้นภายนอก ภายในก็ตาม ต้องระลึกอยู่ว่า "อยู่ในท่ามกลางรู้ อยู่ในท่ามกลางอยู่" อย่าได้ไปตามความยินดี ยินร้ายในโลกนี้ ถ้าเคลื่อนไปตามความยินดี ยินร้ายในโลก เป็นทุกข์ในใจ เป็นทุกข์ในโลก เป็นทุกข์เต็มโลก
    [​IMG]
    ดูจิตใจของเรา เอาจิตใจของเราให้มีความหมั่น ขยันภาวนา พุทโธ อยู่ทุกเวลา จะภาวนาบทใด ข้อใด ก็ให้ตั้งใจนึก ตั้งใจเจริญลงไปทุกลมหายใจเข้า-ออก เรื่องใดที่เป็นเรื่องภายนอก ออกจากที่เราตั้งจิตเจตนาภาวนาแล้ว ไม่ให้เขยื้อนเคลื่อนที่ไปที่อื่น ความลังเลสงสัยที่เกิดขึ้นในใจก็ดับที่ใจ ละที่ใจ ปล่อยวางที่ใจนั้นแหละ
    [​IMG]
    ในตัวคนเรานี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "กว้างศอก ยาววา หนาคืบ" มีอยู่เท่านี้ เราก็ภาวนาอยู่ภายในหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ดูกายภายในเต็มไปด้วยโลหิต เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ร่างกายสังขารจะอยู่ได้ ก็หล่อเลี้ยงด้วยการบริโภคอาหาร นำของโสโครกปฏิกูลเข้าไปเลี้ยงดูร่างกายสังขารนี้ เพราะร่างกายนี้เป็นของโสโครกปฏิกูล ได้มาจากของโสโครกปฏิกูล จึงได้มีการเลี้ยงดู รักษาด้วยของโสโครกปฏิกูล
    [​IMG]
    เมื่อตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ผ่านไปแล้ว มันผ่านแต่เวลา แต่มันไปเก็บไว้ในธรรมารมณ์ อารมณ์ในจิตมันยึดไว้ ถือไว้ ส่วนใดดี ชอบคอพอใจก็ติดอยู่ ข้องอยู่ ไม่รู้จักปล่อยวางอารมณ์นั้นออกไป อารมณ์ใดที่ไม่ชอบพอก็ขัดเคืองอยู่ในจิตในใจจนเกิดอิจฉา อาฆาต พยาบาท จองเวรซึ่งกันและกัน
    [​IMG]
    เมื่อขาดสติก็ขาดสมาธิ เมื่อขาดสมาธิก็ขาดปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขาร จงโอปนยิกธรรม รวมเข้ามาสงบเข้ามา เรื่องภายนอกให้อยู่ภายนอก อย่าไปเก็บเข้ามา ตั้งจิตเจตนาในจิตในใจของตนลงไปให้แน่วแน่ ให้มั่นคงเหมือนแผ่นดิน แผ่นดินไม่หวั่นไหว จิตใจเราก็อย่าได้หวั่นไหว อย่าได้ประมาท
    [​IMG]
    จิตหลง จิตมักคิดไปว่าจะมีความสุขอย่างนั้น จะเอาความสบายอย่างนี้ ที่ไหนในโลกในความสุขความสบาย พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "เกิดมาแล้วก็เต็มไปด้วยทุกข์" เมื่อเกิดมาแล้ว ความแก่ชรา ไม่เอาก็ไม่ได้ ก็มันเป็นไปอย่างนี้ทำไมไม่ดู ทำไมไม่รู้ ทำไมไม่พิจารณา เมื่อเกิดมาแล้ว จะเลือกเอาแต่ว่าให้มีความสุขสบาย ความเจ็บไข้ได้ป่วยภัยพิบัติต่างๆ ไม่ต้องการได้ที่ไหน สภาวะธาตุ สภาวะธรรม สภาวะโลก เขาเป็นอยู่อย่างนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาก็มีทั้งโรคภัย ไข้เจ็บ อุปัทวเหตุต่างๆ นานา ที่จะมาพาให้คนเราเกิดทุกข์โทมนัสคับแค้นแน่นใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ มันมีเต็มอัตราอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่ไปที่ไหน ก็ทุกขัง อริยสัจจัง ทั้งนั้น จงดู จงรู้ จงพิจารณา อย่าไปมัวเพลิดเพลิน ลุ่มหลง มัวเมา เก็บเอากิเลส ตัณหามาคิด ไม่จบไม่สิ้น
    [​IMG]
    มรณกรรมฐาน เห็นคนก็ให้เห็นความตายของคน เห็นสัตว์ก็ให้เห็นความตายของสัตว์ มันอยู่ช่วงเวลาน้อยนิดเดียวเท่านั้น เหลือชีวิตของคนเราไว้แค่ลมหายใจ สูดเข้าไปแล้วออกมาไม่ได้ ก็ตาย ออกมาแล้วสูดเข้าไปไม่ได้ก็ตาย ให้นึกให้เจริญอยู่ทุกลมหายใจว่า"เราต้องตาย"ตัวเราของเราไม่มี มีแต่ตาย อย่าได้พากันประมาท ผู้ใดไม่นึกถึงความตายที่จะมาถึงตน ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท
    [​IMG]
    ใครจะมาว่าเราก็เป็นเรื่องปากเขา จิตเรามีหน้าที่ภาวนาไม่ต้องไปมัวว่าคนโน้นคนนี้ ติคนโน้น ชมคนนี้ ได้ประโยชน์อะไร ภาวนาในใจดีกว่าสงบกาย สงบวาจา สงบจิต ให้มีสติอยู่ทุกเวลา ยืนให้มีสติ เดินให้มีสติ ทำอะไรให้มีสติ พูดอะไรให้มีสติ อย่าเพียงแต่ว่า พูดอะไร พูดได้ก็พูดไป ขาดสติ จิตใจเลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน ไม่มีเวลาจบ ไม่มีเวลาสิ้น นั่นแหละชื่อว่าตัณหาดิ้นรนวุ่นวายไปตาม กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา จิตไม่สงบระงับ ไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนา เพราะหลงใหลไปตามอาการภายนอก จิตไม่หยุด จิตไม่อยู่ จิตไม่รู้ภายใน รู้ภายนอก รู้ไปทำไม รู้ภายใน รู้กาย รู้จิตของตัวเองดีกว่า
    หมายเหตุ


    • กามตัณหา หมายถึง ความอยากในกาม
    • ภวตัณหา หมายถึง ความอยากเป็น อยากมี
    • วิภวตัณหา หมายถึง ความไม่อยากเป็น ไม่อยากมี
    [​IMG]
    คำว่าสงบ ไม่ใช่นิ่งเฉยเหมือนคนตาย สงบก็คือว่าพูดอยู่ก็ได้ชื่อสงบ คือพูดในสิ่งที่เป็น บุญ กุศล ชักจูงจิตใจของตนและบุคคลผู้อื่นให้เกิดศรัทธาความเชื่อ เลื่อมใสอันมั่นคง ผู้ใดฟังก็จะได้นำไปพินิจพิจารณาว่า ทำอย่างไรจิตใจจึงจะสงบระงับได้
    [​IMG]
    อะไรที่เป็นกิเลสให้ละให้วางอย่าไปยึดมั่นถือมั่น ยึดมากเป็นทุกข์มาก ยึดน้อยเป็นทุกข์น้อย ไม่ยึดเลยทุกข์ก็ไม่มี ทุกข์ทั้งหลายอยู่ที่ตัวอุปาทานความยึดถือ เมื่อจิตไม่ยึดถือ จิตรู้จักปล่อยวาง ทุกข์มันมี มันก็มีอยู่ที่ก้อนทุกข์ของเขาต่างหาก เมื่อจิตไม่ไปยึดไปถือมันก็ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน เหมือนไฟมันจะร้อนแค่ไหนก็เป็นเรื่องของไฟ ถ้าเราไม่เอามือไปแหย่ ไปจดเข้า มันจะร้อนได้อย่างไร มันก็ร้อนอยู่ที่ไฟ ไม่ร้อนที่ตัวเรา
    [​IMG]
    โลกนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งที่คนเราต้องการปรารถนาคือความดี ความสุขสะดวกสบายทุกสิ่งทุกอย่าง มันได้น้อยเต็มที แต่สิ่งที่กั้นไว้ไม่ให้มี นี่มันเป็นอย่างนี้ กฎธรรมดาของบุญและบาป ดี ชั่ว มันบันดาลอยู่มันมีทั้งสุขทั้งทุกข์ในโลกนี้
    [​IMG]
    เมื่อความสุขบังเกิดขึ้น ก็ให้มองเห็นว่า สุขกายสบายใจที่เป็นอยู่มาจากบุญ บุญนั้นไม่ได้มาจากทานอย่างเดียว มาทุกทิศทุกทางแต่ท่านย่อเข้ามาเป็น ทาน ศีล ภาวนา บารมีต่างๆที่พระพุทธเจ้า พระอริยเจ้า ท่านบำเพ็ญก็อยู่ในทาน ศีล ภาวนานั้น
    [​IMG]
    ความสงบกาย วาจา จิต ให้มีอยู่ทุกเวลา แล้วความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ จะไม่เกิดมีขึ้นแก่บุคคลผู้ทำจิต ทำใจให้สงบนั้นเลย มีแต่ความสุขสบายกาย สบายใจ อยู่ที่ไหนก็อยู่ด้วยภาวนา ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไปที่ไหนก็ไปด้วยปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อยู่ที่ไหน ไปที่ไหนก็ดี คนดีอยู่ไหนที่นั้นก็ดี
    [​IMG]
    คำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ที่กาย วาจา จิต ของทุกคน ต้องกำหนดพิจารณาดูให้ดี อย่ามัวมายึดถือตัวเราของเรา โดยไม่เห็นแจ้งด้วยปัญญาอันชอบ โดยไม่ได้พิจารณาจนเบื่อหน่าย คลายออกจากกิเลสเหล่านี้ จะมายึดถือเอาแค่นี้ ก็เลยได้แต่ความลุ่มหลงมัวเมาต่อเนื่องอยู่ไม่จบไม่สิ้น กิเลสราคะโทสะโมหะ ก็ไม่เหือดแห้งไปได้เลย
    [​IMG]
    สงบแต่ปาก ใจไม่สงบก็ไม่ได้ ต้องให้ใจสงบ ใจสงบก็คือว่าเมื่อฟุ้งซ่านรั่วไหลไปที่อื่น ก็ให้คอยระวัง นึกน้อมสอนใจของตัวเองด้วยว่า ความเกิดเป็นทุกข์ เกิดมาแล้วเป็นทุกข์อย่างนี้แหละ จะไปเอาสุขที่ไหนในโลก ที่ไหนมันก็ทุกข์เท่าๆ กัน เอาสิ่งเหล่านี้มาเตือนใจตัวเอง
    [​IMG]
    พูดติเตียนนินทาผู้อื่นนั้นพูดได้ทุกคน อันนี้เป็นบาป ติเตียนตนไม่ติ ติผู้อื่นเป็นความผิดความหลงอันหนึ่ง ฉะนั้นคำพูดอะไรที่เป็นไปเพื่อมงคล ท่านให้ชื่อว่า"สัมมาวาจา" วาจาชอบ คือพูดแต่สิ่งที่ชอบ ที่ดี ก็ชื่อว่าสงบ ไม่ใช่นั่งเฉยเหมือนพระพุทธรูป พูดอยู่ก็สงบ ทำอยู่ก็สงบ ยืนเดินอยู่ก็สงบ คือว่าสงบอยู่ในทานศีลภาวนา นั่นแหละ
    [​IMG]
    อันคนอื่นสรรเสริญเยินยอ ก็อย่าไปดีใจ คนอื่นติเตียน นินทาก็อย่าไปเสียอกเสียใจ เพราะความสรรเสริญ นินทา มีอยู่ในโลกนี้ก่อนพระพุทธเจ้ามาตรัสก็มีอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้ามาตรัส จนดับขันธ์เข้าสู่นฤพานนานสองพันปีกว่าก็มีอยู่อย่างเก่า เราเกิดมาชาตินี้ ความสรรเสริญ นินทาก็มีอยู่อย่างเก่านั้นเอง
    [​IMG]
    ผู้นั่งสมาธิภาวนาง่วงเหงาหาวนอน มีนิวรณ์ทั้ง ๕ ทับถมจนตัวเองไม่มีอิสระธรรม กามฉันท์-ความรักใคร่พอใจยังมีอยู่ในใจ พยาบาท-ความอาฆาตจองเวรแก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ถีนมิทธะ-ความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจกุกกุจจะ-ความฟุ้งซ่าน รำคาญ วิจิกิจฉา-ความลังเลสงสัย นิวรณ์คือเครื่องกั้น ถ้าใครมีนิวรณ์ทั้ง ๕ อยู่ในใจ เมื่อภาวนารวมใจไม่ลงไม่เป็นหนึ่ง สมาธิก็ไม่ตั้งมั่น
    [​IMG]
    สมาธิคือคนใจมั่นคง ไม่ว่าจะทำสิ่งใดตั้งใจทำ ไม่ว่าจะพูดสิ่งใดตั้งใจพูด จะคิดสิ่งใดตั้งใจคิด ภาวนาพุทโธในใจให้ได้ จิตใจจะเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวได้ แล้วคนทั้งหลายทั่วไป มักจะถามบ่อยๆ ว่าจะใช้อุบายใดวิธีไหน ที่จะทำให้จิตใจข้าพเจ้านี้สงบระงับได้ง่ายที่สุด ยากไม่เอาจะเอาสบายที่สุดก็เลยไม่ได้ ไม่เข้าใจ นั่นคือว่าเรายังทำไม่พอเจริญยังไม่มาก พระพุทธองค์ท่านจึงใช้อุบายว่า"นึกให้มากเจริญให้มาก"
    [​IMG]
    การปฎิบัติต้องทำให้มาก เจริญให้มาก พิจารณาให้มาก จนกระทั่งเกิดปัญญาวิชาความรู้ขึ้นมา ไม่หลงใหลไปตามกิเลสกาม วัตถุกาม จนได้สติ ได้สมาธิ มีปัญญา เกิดญาณอันวิเศษ ละกิเลสราคะ โทสะ โมหะในตัว ในกาย วาจาจิตของตัวเราได้ จึงได้ชื่อว่าเข้าใจ เข้าในอุบายธรรม เข้าในใจไม่อยู่นอกใจ
    [​IMG]
    ดูใจภายใน ภาวนาภายใน ภายนอกจะเป็นอะไรเป็นเรื่องของภายนอก บางอย่างแก้ไม่ได้ มาจากผลของกรรม คนเราทำไว้อย่างไร ก็จะได้รับผลอย่างนั้น ใครจะแก้ได้ แก้ในใจนั่นแหละไม่ให้ไปทุกข์ไปร้อนกับความติเตียน นินทาว่าร้ายป้ายสี
    [​IMG]
    ตราบใดยังมีชีวิตลมหายใจอยู่ "อย่าได้ประมาท" ผู้ใดประมาทก็เหมือนคนตายแล้ว คนตายแล้วทำอะไรไม่ได้ ตายแล้วก็เน่าพอง ใครทำบาปหยาบช้าทารุณก็ลงไปตกนรก ใครทำบุญกุศล ไม่ประมาทก็ไปสู่เทวโลก พรหมโลก ใครละกิเลส ราคะ โทสะ โมหะได้เด็ดขาด ไม่มีกิเลสอยู่ในกายในตัวจิตก็จะไปสู่นิพพาน "นิพพานัง ปรมัง สุขัง" นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
    </B>[​IMG]
    ถ้าละกิเลสไม่หมด ก็ยังมาเกิดอีก เกิดมาอีกก็แก่ไปอีก แก่ไปอีกก็เจ็บไข้ได้ป่วยไปอีก เจ็บไข้ได้ป่วยหนักเข้าก็ตายไปอีก วนอยู่อย่างเก่านั้นแหละ ฉะนั้น "มรณัง เม ภวิสสติ" เตือนจิตของตนเองให้ได้ ทุกคนย่อมมีความตายเป็นผลที่สุด
    [​IMG]
    ทุกลมเข้าไป ทุกลมออกมา สติรับรู้ รับเห็นอยู่ ไม่ให้หลงใหลไปกับคน สัตว์ วัตถุธาตุทั้งหลาย ยังดวงจิตดวงใจให้ผ่องใส สะอาด หนักแน่นในธรรมปฏิบัติ ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา ไม่ให้จิตหลงใหล แกว่งไปมาในที่ใดๆ รวมเข้าไปในปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา อดีตมันล่วงเลยไปแล้วจะไปแก้ไขก็ไม่ได้ อนาคตกาลยังไม่มาถึง จะไปก็ไม่ได้ อดีตล่วงไปจากปัจจุบัน เหมือนกันหมดทุกตัวสัตว์ตัวคนที่เกิดมา
    [​IMG]
    อวิชชา แปลว่าไม่รู้ ไม่รู้ต้น ไม่รู้ปลาย ไม่รู้อยู่ จิตจึงได้วนเวียน หลงใหลเข้าใจผิดว่าโลกนี้ยังมีสุขซ่อนอยู่ ความจริงแล้วในมนุษย์โลกก็ดี เทวโลกก็ตาม พรหมโลกก็ช่าง ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในกองทุกข์ กองภัย ต้องมีภัยอันตรายรอบด้าน
    [​IMG]
    การนั่งสมาธิภาวนาอย่ากลัวตาย มันไม่ตายง่ายๆ เดี๋ยวนี้ยังไม่ถึงเวลา บุญกุศลที่เราได้บำเพ็ญมาช่วยอุดหนุนไม่ให้เรามีโรคภัยไข้เจ็บอันรุนแรงนับเป็นอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ นี่คือว่าบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้ทำบุญ ทำทาน รักษาศีลแล้ว ผลอันนั้นย่อมมี มีอยู่ในใจ วาจา ร่างกาย ของเราทุกคน แต่เป็นของละเอียดอ่อนมองไม่เห็น ถ้าใจเราสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิเมื่อใด ก็จะเห็นผลด้วยตนเอง
    [​IMG]
    อะไรที่เราว่าเป็นนั้น เป็นนี้ นั้นไม่เป็นอยู่ได้ตลอดไป เพราะว่าเกิดมาแล้วมีความเจริญขึ้น เมื่อเจริญแล้ว ก็เสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดกัปตลอดกัลป์ จิตใจของผู้มีความลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตั้งมั่นอยู่ในธรรมะปฏิบัติ มีแต่ความไหวหวั่นพรั่นพรึง ก็หวังแต่ส่วนที่ดี ในโลกธรรมนั้นก็มีส่วนดีอยู่ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ไม่ดีอยู่ครึ่งหนึ่ง ต้องรู้เท่าทัน ใจก็เป็นกลาง ไม่ทุกข์ร้อนกับสิ่งทั้งหลาย
    [​IMG]
    บทภาวนาบทใดก็ดีทั้งนั้น ถ้าภาวนาได้ทุกลมหายใจ ก็เป็นอุบายธรรมอันดีทั้งนั้น ความตั้งมั่นในสมาธิภาวนาของจิตใจคนเรานั้น ย่อมมีเวลาเจริญขึ้น มีเสื่อมลงเป็นธรรมดา ถ้าเรามารู้เท่านั้นว่า การรวมจิตใจเข้าเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว เป็นความสงบสุขเยือกเย็นอย่างแท้จริง ก็ให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา อย่าได้มีความท้อถอย เมื่อใจไม่ท้อถอยแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะมาทำใจให้เราท้อแท้อ่อนแอได้ เพราะคนเรามีใจเป็นใหญ่เป็นประธานสำเร็จได้ด้วยใจทั้งสิ้น
    [​IMG]
    การเกิดมาเป็นคนก็เป็นนรกอันหนึ่ง ท่านว่าเป็น "นรกบุคคล" คือว่าเกิดมาก็มีทุกข์เป็นของแต่ละบุคคล ทุกข์ในความเกิดนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า "ชาติความเกิดเป็นทุกข์" ต้องกำหนดให้เห็นด้วย สติปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ผู้อื่น เทศน์สั่งสอนแล้วก็เชื่อตามไปทีเดียว เราไม่เห็นแจ้งเห็นจริงในความเกิดนั้น ก็เข้าใจว่าเป็นความสุข แท้ที่จริงไม่เป็นความสุข
    [​IMG]
    ดับความเกิดเป็นทุกข์ ดับที่ไหน ก็ดับที่จิตไม่รู้ จิตหลงไม่ให้มี ให้มีจิตรู้คือว่ารู้จักคิดอย่างไรเห็นบาป อย่าไปคิด เจริญภาวนา บริกรรมเป็นความคิดที่ดีงาม เราก็เจริญ ให้รู้จักการละบาปละสิ่งที่ไม่ดีออกไป นั่นชื่อว่าผู้บำเพ็ญภาวนา ผู้บำเพ็ญตบะธรรม
    [​IMG]
    เมื่อคิดเป็นบาป พูดออกก็เป็นบาป ทำอะไรก็ไปในทำนองคลองบาปนั่นแหละ มาจากจิตใจทั้งนั้น เมื่อใจภาวนาพุทโธอยู่เป็นใจบุญ ใจบุญ ใจกุศลในตัวเรานั้น คิดอะไรก็เป็นบุญ เมื่อพูดจาปราศรัยออกมาก็เป็นบุญ เป็นกุศล ทำดี พูดดี คิดดี ภาวนาอยู่ในใจทุกเวลาจิตใจของผู้นึก ผู้เจริญเช่นนี้ ก็มีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใสสะอาด ไม่โกรธให้ใคร ไม่โลภอยากได้ของใคร ไม่หลงใหลไปตามกิเลสกาม วัตถุกาม
    [​IMG]
    "ภาวนามัย" บุญสำเร็จด้วยการภาวนา ทำดีทั้งกลางวัน กลางคืน ยืนเดินนั่งนอน ทุกอิริยาบถ ถึงกระนั้นก็ตาม กิเลสมาร สังขารมาร ก็ไม่วายจะมาโกหกให้คนลุ่มหลงมัวเมา ดิ้นรนวุ่นวายตามอำนาจกิเลส ไม่ยอมให้ปฏิบัติบูชานั่งสมาธิภาวนา เครื่องหลอกลวงทางตาได้แก่รูป ทางจมูกได้แก่กลิ่น ทางลิ้นทางปากได้แก่รสอาการเย็นร้อนอ่อนแข็งมากระทบร่างกาย เป็นเครื่องหลอกลวงให้ใจหลง ไม่รู้ไม่เข้าใจ เลยมีแต่ทุกข์ สุขไม่รู้อยู่ไหน
    [​IMG]
    กิเลสราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา เมื่ออยู่ในจิตในใจของบุคลผู้ใด บุคคลผู้นั้นก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ความเร่าร้อน ไม่สงบระงับเยือกเย็นสบาย เพราะไม่ภาวนาแก้ไขใจตัวเอง มัวไปแก้ไขที่อื่น ไม่โอปนยิกธรรม ไม่น้อมเข้ามา ไม่รวมเข้ามา ไม่สงบเข้ามา
    [​IMG]
    การนั่งสมาธิภาวนา ต้องทำให้ติดต่อเนื่องกันไป ไม่ใช่ใจดีก็ทำ ใจร้ายก็เลิกล้มไป อย่างนี้ไม่ได้ วันหนึ่งๆ คืนหนึ่งๆ มีเวลาเมื่อใดให้รีบนึกรีบเจริญ โดยเฉพาะความตายมันใกล้เข้ามาแล้ว มันชิดอยู่ในตัวคนเราก็ว่าได้ อาศัยความประมาทมัวเมา มันหลอกลวงอยู่ในใจ ก็เข้าใจว่าความแก่ ความเจ็บไข้ ความตายมันยังอยู่ข้างหน้า
    [​IMG]
    ความหลงมีมานานแล้ว เราอย่าไปหลงต่อไปอีกไม่จบไม่สิ้น จงนึกเตือนใจตนเองไห้ได้เสมอว่าจำเป็นแล้ว เราต้องเกิด เราได้เกิดมาแล้วเราต้องปฏิบัติบูชาภาวนาจนได้ปัญญาฝึกสอนจิตของตน ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อตั้งใจอยู่ในความไม่ประมาทได้ทุกเวลาแล้ว ความสุขใจย่อมปรากฏในตัวในใจของเรานั่นเอง
    [​IMG]
    ความตายเป็นอุบายเตือนใจเราได้ดีที่สุด แต่คนส่วนมากเมื่อนึกถึงความตาย การเห็นผิดก็เกิดขึ้น เข้าใจว่าถ้าเรานึกถึงความตายก็เหมือนกับตัวเองจะตายเร็วเข้าจึงไม่นึกพิจารณา นี้เป็นอุบายเตือนจิตที่มักลุ่มหลง ขาดสติสัมปชัญญะ ให้มาเตือนตนเองว่า สัตว์-คนทั้งหลายตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ เมื่อมรณภัยมาถึงเข้าก็จำเป็นต้องทิ้งสิ่งทั้งหลายไว้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนพุทธบริษัทไว้ว่า "ให้นึกถึงความตายทุกลมหายใจ"
    [​IMG]
    โลกนี้กว้างใหญ่ไพศาลเท่าไร พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นอุบายสอนใจได้เต็มโลก แต่เดี๋ยวนี้ เราขาดสติความระลึกได้ ขาดสมาธิความตั้งมั่น ขาดปัญญาพินิจพิจารณา จึงได้เลินเล่อ เผลอเรอเกิดมาปีหนึ่ง สิบปี ยี่สิบปี สามสิบปีสี่สิบปี ห้าสิบปี ก็หมดไป จิตใจยังตั้งมั่นไม่ได้ สติสัมปชัญญะก็ยังไม่บริบูรณ์คือไม่เข้าใจในการภาวนา ไม่รู้รวมจิตเข้ามาภายใน ได้แต่ปล่อยให้เร่ร่อน มัวเมาไม่มีที่สิ้นสุด
    [​IMG]
    ความตายนี้ ถ้านึกเจริญได้แล้วเป็นของวิเศษ เป็นธรรมวิเศษได้ เพราะเวลาดูคนที่เขาตายไปแล้วเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็มีแต่ห่วงอาลัยในชีวิตของตน แต่เวลาเขาตาย เขาได้อะไรไป เราก็ต้องเอามาเพียรเพ่งภาวนาให้จิตใจของเราดู เมื่อถึงเวลาเราตายก็เหมือนกันนั้นเหละ อันมรณภัยคือความตายนี่เหละ ถ้าผู้ใดพินิจพิจารณาลงสู่จิตใจให้ถึงจนหายหลงหายลืมได้ จิตจะถึงได้ซึ่งความสบาย
    [​IMG]
    มรณภัยคือความตายนี้เป็นจริง เป็นของแท้ ให้พากันรีบเร่ง พากันตั้งใจปฏิบัติ ให้เข้าใจเข้าอยู่ในที่ภาวนา อย่าให้จิตใจฟุ้งซ่านไปที่อื่น ถ้าจิตฟุ้งซ่านหนีไปที่อื่นแล้วเอามาไม่ได้ เอาไม่ไหวฉะนั้น ต้องทำ ต้องปฏิบัติ ต้องฝึกหัด ฝึกหัดกาย วาจา จิต และที่ท่านให้นึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณะ มรณังก็ดี ฝึกจิตทั้งนั้น
    [​IMG]
    คำว่าจิต คำว่าใจนั้น ไม่ต้องไปหาเป็นก้อนเป็นหน่วย จิตใจนั้นเหมือนกับอากาศ เหมือนกับลม จะดูด้วยตาหนังก็ไม่เห็น เพราะมันเป็นธาตุนามธรรม แต่มีกำลัง ถ้าผู้ใดไม่ได้ตั้งใจให้มั่นคงแล้ว ก็พ่ายแพ้กับมารกิเลส สังขารมาร จิตปรุงจิตแต่ง ถ้าไม่ตั้งจิตภาวนาจริงๆ สังขารมาร จะหลอกลวงตลอดเวลา
    [​IMG]
    ถ้าตั้งจิตลงไปแล้ว นั่งขัดสมาธิแล้ว นั่งบัลลังก์แล้ว นั่งในที่สบายแล้วก็ไม่ต้องหวั่นไหว หวั่นไหวไปทำไม การหวั่นไหวสั่นสะเทือนนั้นเรียกว่าขาดสติ สมาธิ ปัญญา ขาดญาณอันวิเศษที่จะละกิเลสให้หมดไปสิ้นไป มันก็หวั่นไหวไปหมด
    [​IMG]
    พุทโธ พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี้ ที่นี้ที่ไหน ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติทั้งหลายพึงรู้แจ้ง ปัจจัตตัง จำเพาะจิต รู้จำเพาะจิตใจของตัวเอง ไม่ต้องไปรู้ที่อื่น รู้ที่อื่นไม่เที่ยงแท้แน่นอน รู้ที่จิตที่ใจของตนนี่แหละเรียกว่าเที่ยงแท้แน่นอน
    [​IMG]
    ผู้บำเพ็ญภาวนา จงดูแผ่นดิน ทำจิตใจของตนให้เหมือนแผ่นดิน ใครจะมาว่าร้ายก็ไม่หวั่นไหว ใครจะว่าดี ยกย่องสรรเสริญ เทิดทูนให้ ก็อย่าไปเชื่ออย่าไปหลงอะไรๆทุกอย่าง พระพุทธเจ้าท่านรวมเข้ามาว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง" นามและรูปกายใจนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เกิดมาในภพใดชาติใด ก็ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีอยู่อย่างเดียวจิตภาวนาไม่ต้องเปลี่ยนแปลง นึกเจริญอะไร ก็ให้เจริญสิ่งนั้นๆ จนรู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง แล้วจะไปหวั่นไหวทำไมเล่า
    [​IMG]
    ความเที่ยงแท้แน่นอนในโลกนี้ จะเอาที่ไหนไม่มี ผู้ปฏิบัติจงรู้เท่าทันรู้เท่าทันแล้วก็ปล่อยวาง อย่าเข้าไปยึดถือ อย่าเข้าไปยึดถือว่าตัวกูของกู ตัวข้า ของข้า ตัวเรา ของเรา เรานั้นเป็นนั่นเป็นนี่ ตัวเราของเราไม่มี มีแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีแต่หลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งโลก
    [​IMG]
    ธรรมะอันแท้จริงไม่หวั่นไหวไม่สั่นสะเทือนฉะนั้น ผู้ปฏิบัติอย่าได้มีความท้อถอย จงเป็นผู้ตั้งใจมั่นลงไปในจิตทุกเวลา ไม่ว่าเวลานั้นจะเป็นเวลากลางคืนกลางวัน ฝนตก น้ำท่วม อะไรก็ตาม อย่าได้หวั่นไหว สิ่งเหล่านั้นเป็นธรรมดาโลก มันเกิดอยู่ในโลก มันเปลี่ยนอยู่ในโลก มันเกิดมันตายอยู่ในโลกอย่างนี้ แต่ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่หยั่งลงสู่ธรรม จึงไม่รู้ จิตไม่สงบก็ไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่แจ้ง ฉะนั้นจงทำใจให้ตั้งมั่นทุกลมหายใจเข้าออก ก็เป็นเครื่องบอกกรรมฐาน แสดงถึงความแก่ชราก็มีทุกลมหายใจ แสดงถึงความเจ็บปวดเจ็บไข้ได้ป่วย พยาธิ โรคา มีอยู่ได้ทุกลมหายใจเข้าออก มรณะภัยคือความแตก ความดับของรูป นาม กาย ใจก็มีอยู่ทุกลมหายใจ
    [​IMG]
    ตราบใดรูป นาม กาย ใจ ยังตั้งอยู่ มีอยู่ในจิตใจนี้ ให้ตั้งภาวนาเรื่อยไป ไม่ต้องไปหลงใหล ตามความดีใจ เสียใจ โลกทั้งหลายเขาจะหวั่นไหวสั่นสะเทือนอย่างไร ก็เป็นเรื่องโลกเขา ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้รู้ธรรม เห็นธรรม ไม่ต้องไปหวั่นไหวกับสิ่งที่เป็นอยู่ มีอยู่นี้ การที่มีอยู่ เป็นอยู่นี้ มีมาตั้งแต่โลก ตั้งฟ้า ตั้งแผ่นดินมาก็เป็นอยู่อย่างนี้
    [​IMG]
    จิตใจเมื่อยึดอะไร ถืออะไรเข้าไปแล้ว ก็มีแต่ความเร่าร้อนเพราะความยึดมั่นถือมั่นในตัว ในตน ในสัตว์บุคคล เมื่อจิตใจหลงใหลยึดมั่นถือมั่น ทุกข์ทั้งหลายแหล่ก็ทับถมใจ จิตใจก็ลุกขึ้นทำความเพียรภาวนาไม่ได้ เพราะกิเลสกาม วัตถุกามทับถมจิตใจของผู้ปฏิบัติ จิตใจก็เมามัวไป มืดไป ไม่แจ้งใสบริสุทธิ์ จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นภาวนา ปฏิบัติบูชา อย่าได้มีความท้อแท้อ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นวันไหน เวลาใดก็ตาม ให้ถือว่าเป็นเวลารู้เท่ารู้ทันรู้อยู่รู้แจ้ง รู้ตามความเป็นจริงอยู่ภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติ ไม่ต้องทำใจให้เร่าร้อน ด้วยกิเลสตัณหา มานะทิฏฐิ จงระงับดับไป ไม่ต่อเติมส่งเสริม สิ่งใดชั่ว อย่าได้คิด อย่าได้พูด อย่าได้ทำ สิ่งใดดีให้เจริญเรียกว่าเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ยังจิตใจให้สามารถอาจหาญได้ทุกเวลา
    [​IMG]
    ไม่ว่าจะแลดูไปที่ไหน โลกนี้ก็เป็นอนิจจังความไม่เที่ยงทั้งหมด เป็นโลกที่เต็มไปด้วยกองทุกข์เพราะว่าทุกขังเต็มโลกอยู่อย่างนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีเต็มโลก เราอย่ามายึดว่าตัวกูของกู ตัวข้าของข้า ไม่ให้มันแก่ เจ็บ ตาย ไม่มีทางที่จะทำได้ มีอยู่ทางเดียวก็คือเลิก ละ ออกจากจิตใจของตัวเอง ให้รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง รู้ปล่อย รู้วาง รู้เลิก รู้ละ ภายในจิตใจ และให้อยู่ภายในจิตใจนั้นอย่างเดียว สิ่งอื่น เรื่องอื่น ไม่ต้องเอามาเกี่ยวข้อง เพราะสิ่งทั้งหลายมีเกิดที่ไหน ก็ต้องมีดับที่นั่น
    [​IMG]
    เวลาไหนไม่มีทุกข์ ไม่มีหรอก มันมีทุกข์อยู่ตลอดเวลา เวลาใดจะมีเวลาเที่ยงแท้แน่นอน มั่นคงยั่งยืนไม่มี มีแต่ความไม่เที่ยงทั้งนั้น เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วนเวียนไปมาอยู่ในวัฏสงสาร ไม่จบไม่สิ้น เรียกว่าอำนาจของตัณหาพาให้เป็นไป จึงได้รับความเร่าร้อน วุ่นวายด้วยกิเลสกาม วัตถุกาม จงเป็นผู้มีเพียรเพ่งอยู่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ดูให้แจ้ง ทำให้เห็นจริง จะเห็นว่ามันไม่เที่ยงแท้แน่นอนทั้งหมด ไม่ควรไปยึดไปถือ ไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูของกู ตัวข้าของข้า ข้าเป็นนั้นเป็นนี้
    [​IMG]
    คนไม่ตั้งใจนั้น คอยแก้อยู่เสมอ แก้ให้หลุดออกจากความดีไหลไปสู่ความชั่วเสียหาย ผลที่สุดความเดือดร้อนทั้งตนและบุคคลผู้อื่นก็ย่อมบังเกิดมีขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงกำชับกำชาว่า "การภาวนาไม่ให้ทอดธุระ" เมื่อระลึกได้เมื่อใด เวลาใด ก็ให้นึกได้เจริญได้ในเวลานั้น
    [​IMG]
    ความประมาทนั้นแหละเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทนั้นคือมีสติ ความระลึกอยู่ เตือนจิตใจ ของตนไม่ให้ประมาทมัวเมา "มรณัง เม ภวิสสติ" เราต้องตาย ไม่มีใครมายืนอยู่ในโลกนี้ตลอดไปไม่ตาย อย่าว่าแต่มีวิญญาณครอง มีจิตใจครองอย่างมนุษย์สัตว์สิ่งเดรัจฉานในโลกเลย แม้ต้นไม้ก็ยังตาย คนก็ตาย สัตว์ก็ตาย ความแตก ความทำลายของรูป นาม กาย ใจ ไม่มีใครห้ามได้
    [​IMG]
    ตั้งใจภาวนาอยู่เสมอว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ความตายเป็นธรรมดา เราต้องพลัดพรากจากของรัก เมื่อผู้ใดมานึก มาเจริญในธรรมเหล่านี้อยู่ จิตใจจะสบาย พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ว่า เป็นธรรมที่เราต้องนึกถึงอยู่เนืองๆ ติดต่อกันไป สิ่งเหล่านี้เราหนีไม่พ้น ต้องเอามาพิจารณา ทำจิตของตนให้ผ่องใสจนปราศจากมลทินโทษทั้งหลาย
    [​IMG]
    การภาวนานั้น ต้องภาวนาให้ได้ทุกอิริยาบถ ทุกลมหายใจเข้า-ออก ต้องปฏิบัติไปนานๆ จึงจะเข้าใจ ให้เราทำไปทีละน้อย โดยไม่ประมาท ไม่ว่าจะอยู่ที่นี้ อยู่ที่ไหนก็ตาม ในคืนหนึ่งๆ ก่อนจะหลับนอน ให้กราบพระ ไหว้พระ สวดมนต์ ทำสมาธิให้ใจสงบระงับ เยือกเย็นสบายเสียก่อนจึงค่อยหลับนอน เราต้องตั้งใจตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้เป็นต้นไปว่า บุญ-กุศลเรายังอยู่ รักษาชีวิตเรามาด้วยบุญ-กุศลนี้ เราจึงได้มานั่งภาวนาเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ก็ให้เพียรพยายามทำใจของเราให้มีความสงบระงับตั้งมั่นไปทุกวันคืน อย่าได้ประมาท ผู้ใดไม่ประมาทภาวนาอยู่ทุกลมหายใจ ผู้นั้นแหละจะได้รับความสุขกายสบายใจชั่วชีวิต
    [​IMG]
    รู้ที่ไหนก็ที่นั้นแหละ รู้ไปข้างหน้าก็ไม่เอารู้ไปข้างหลังก็ไม่เอา ให้มารู้ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ขณะนี้ คือถ้ารวมเข้าอย่างนี้ละกัน "ทัน-ได้ความ" ระลึกอยู่ที่นี้ตั้งใจอยู่ที่นี้ ภาวนาอยู่ที่นี้ ไม่ให้หลงไปตามอาการภายนอก อาการภายนอกเป็นทางหลง ทางไม่รู้ทั้งนั้น
    [​IMG]
    ให้มีความรู้สึกอยู่ทุกลมหายใจ เวลาลมออกมามันเคลื่อนจากไหนก็ตามรู้ออกมา พ้นจมูกไปแล้วก็แล้วไป สูดเข้ามาใหม่ก็ตามดูเข้าไป ความจริงก็ไม่ได้ตามไปที่ไหน จิตดวงผู้รู้มันอยู่ในที่เก่า ธาตุลมมันผ่านเข้าผ่านออก ถ้าจิตนิ่งแน่วเป็นดวงเดียวนึกอยู่ในคุณพระพุทธเจ้า พุทโธในตัวในใจ ก็จะมีความรู้สึกอยู่ในตัวในใจนั้นแหละ
    [​IMG]
    ร่างกาย สังขาร รูป นาม กาย ใจ ของ คนเรานั้น เป็นก้อนทุกข์เป็นกองทุกข์อยู่ในตัวแล้วไม่มีใครไปแตะต้องมัน ก็ทุกข์ของมันเอง แก่ของมันเอง เจ็บของมันเอง ตายไปของมันเอง จะร้องไห้น้ำตาไหลเท่าไร มันก็ไม่กลับมาอีก ฉะนั้น จงทบทวน กระแสเข้ามาภายในว่า จิตใจอยู่ที่ไหน รู้ที่ไหน ก็อยู่ที่นั่น รู้ลมเข้าลมออก ตรงไหน จิตก็อยู่ที่นั่นแหละ ทำความเพียรเพ่งอยู่ในจิตใจอันนั้นอยู่ จะปรุงแต่งไปไหนก็อย่าได้หลงตาม
    [​IMG]
    ตายแล้ว ถ้าไม่หมดกิเลสก็เกิดอีก เพราะกิเลสมันพาเกิด พาตาย เพราะจิตที่ยังหลงใหลอยู่ในความโกรธ โลภ หลง ยึดตัวถือตน เป็นจิตที่ยังหลงอยู่ ยังไม่แจ้งในจิตในใจถ้าตายเมื่อใดก็เกิด ถ้าแจ้งในจิตในใจแล้ว เมื่อความตายมาถึงเข้า ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน ไม่จัดว่าตาย ท่านว่านิพพาน
    [​IMG]
    ที่ว่า "ให้รวมเข้ามา" น่ะ ถ้าหมายถึงผู้ปฏิบัติแล้ว มันไม่ได้รวมมาหรอก มันมีอยู่แล้วมีอยู่ในตัวนี่แหละ ทีนี้เพื่อแก้ความหมายที่เราหมายอยู่ข้างนอกนั้น ท่านก็ว่าไม่ต้องไปหมายข้างนอกให้รวมเข้ามา สงบเข้ามา มาสู่จิตใจดวงผู้รู้อยู่ คือใจเรา ในรู้อยู่นี้มีอยู่ ๔ อาการ เวทนา หมายถึง สุข-ทุกข์-เฉยๆ สัญญา คือ จิตจำหมาย สังขาร คือ จิตปรุงแต่งนึกอะไรต่อมิอะไร วิญญาณ คือจิตที่รู้ตามอาการของอายตนะกระทบมา
    หมายเหตุ


    • อายตนะ หมายถึง เครื่องติดต่อ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
    [​IMG]
    จะหยุด จะอยู่ ไม่หยุด ไม่อยู่ อย่างไรก็เรื่องของจิต หน้าที่ของเราทุกคนต้องมีข้อวัตร ให้มีสติ สมาธิตั้งใจให้มั่น รวมจิตรวมใจให้มาอยู่ภายใน ไม่ให้ไปตามอาการภายนอก จิตใจคนเราอยู่ภายในหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ให้อยู่ภายในนี่แหละ ไม่ต้องคิดไปที่อื่น ถ้ามันจากนี้ไปก็บ่มีที่สิ้น ที่สุดเอาอะไรไม่ได้ คิดไกลออกไปก็ยิ่งหลงเท่านั้น เอาให้ใกล้เข้ามา ให้มาทำความรู้สึกที่นี้ มาภาวนาที่จิตใจดวงที่มีความรู้อยู่
    [​IMG]
    ตามธรรมดาจิตใจที่ยังตั้งไม่ได้นั้น เมื่อกระทบอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา จิตก็พลอยไม่ดีไปด้วย ความประพฤติปฏิบัติของตัวเองก็ย่อมเอนเอียงไปทางฝ่ายต่ำ ฉะนั้น เมื่อเราระลึกได้ตามเยี่ยงอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บำเพ็ญมา ล้มแล้วก็ลุกขึ้น คนที่ล้มแล้วไม่ลุก เพิ่นว่าประมาท
    [​IMG]
    ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มันไม่ได้อยู่ที่ชื่อ มันอยู่ที่ใจ เมื่อใจเราตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติวันไหนก็เห็นว่าเหมือนวันนี้ทั้งนั้นแหละ คืนไหนก็เหมือนคืนนี้ เราจะตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจังตลอดกาลนอกจากภาวนาระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ก็ระลึกถึงว่า "มรณัง เม ภวิสสติ" เราเกิดมาชาตินี้อย่าเข้าใจว่าเราจะ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่ตาย ไม่พลัดพรากจากของรักของชอบใจนั้นไม่มี
    [​IMG]
    มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายไม่ต้องการความทุกข์ แต่หารู้ไม่ว่า ความสุขและความทุกข์นั้นอยู่ภูมิชั้นเดียวกัน ตัวคนเรานั้นก็พลอยกระทบอยู่ซึ่งความสุขและความทุกข์นั้น แต่เมื่อกระทบมาแล้ว ความทุกข์นั้นรุนแรง คำว่ารุนแรงก็อยู่ที่ความยึดถือ
    [​IMG]
    เมื่อเวลาทุกข์ใดบังเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติทั้งหลายก็ลืมภาวนา และภาวนาไม่ทั่วถึง จิตมันก็ท้อถอยตกต่ำว่า "ทำไมหนอเราเกิดมาจึงได้รับแต่ความทุกข์" ทั้งๆ ที่จิตใจของแต่ละบุคคลมุ่งอยู่แต่ความสุขแต่ว่าความสุขนั้นมีน้อย ความทุกข์มีมาก ความจริงมากน้อย มันเท่ากันนั้นแหละ
    [​IMG]
    "แก้ทุกข์" ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านว่า "ไม่ต้องไปแก้มันหรอก" ทุกข์-สุขอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่นั่นแหละ สุข-ทุกข์มันกองอยู่เท่าๆ กัน แต่ ทุกข์มาก ทุกข์น้อยเป็นที่อุปาทานขันธ์ จิตใจไม่ภาวนาคอยไปยึดถือ ความจริงแล้ว สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมชั่วทำได้ง่าย ความจริงมันไม่ยากไม่ง่ายกว่ากันหรอก แต่ว่าจิตมันชอบก็เหมือนว่ามันง่ายเพราะเรายังไม่เลิก ละ ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นโทษของกิเลสราคะ โทสะ โมหะ
    [​IMG]
    จิตให้ปักแน่นลงไปในภาวนา ไม่ต้องไปเอายศเอาอย่างกับใคร ไม่ต้องไปมุ่งเอาลาภ ยศสรรเสริญกับบุคคลผู้ใด ทำใจให้เฉยไว้เหมือนแผ่นดิน นั่นแหละจิตใจจึงจะเข้าสู่ความสงบระงับ ไม่ให้ใจหวั่นไหวสั่นสะเทือนง่ายๆ เร่งภาวนาให้ข้ามไป พ้นไป เมื่อมันกระทบมาก็ให้เหมือนกับลมกระทบเสาหิน ไม่หวั่นไหว
    [​IMG]
    สัตว์ทั้งหลายมองไม่เห็นว่า ความตายจะมาตัดทอนชีวิตของสัตว์ตลอดเวลา เพราะความตายเป็นภัยอันสุดท้ายในชีวิตของคนและสัตว์ทั้งหลาย ความตายไม่ใช่ว่าจิตตาย ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มาประชุมเป็นอยู่กันนี่แหละ มันแยกกัน มันตายกันไป
    [​IMG]
    ความระลึกได้ในใจ นั่นแหละเป็นตัวสติ สติปัฏฐาน ๔ ระลึกอยู่ในกาย ในรูปร่างกายของตัวเองระลึกอยู่ในเวทนา ในจิตในธรรม ไม่ให้ออกหนีจากนี้ ให้อยู่ในกาย ในจิต ดูกาย ดูจิตของตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้าหลงลืมกาย จิต ขาดสติเมื่อใดกิเลสมาร สังขารมารก็ดึงไป ลากไป เข็นไป บังคับบัญชาไป
    หมายเหตุ


    • สติปัฏฐาน ๔ หมายถึง การเจริญสติตั้งไว้ในฐาน ๔ ฐาน คือ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เพื่อให้รู้สภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และไม่ติดอยู่ข้องอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
    [​IMG]
    ทุกสิ่งทุกอย่างแสดงหลักความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของ รูป นาม กาย ใจ อยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่จะมั่นคงยั่งยืน ที่จะควรลุ่มหลงมัวเมา ต้องภาวนาดูให้รู้แจ้งด้วยปัญญา สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มีความไม่เที่ยงอยู่ใน ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ในกาย จิต ความนึกคิดต่ออะไรก็ตาม ก็แสดงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่ในตัว
    [​IMG]
    คนใดประมาทมัวเมา ไม่ได้นึกถึง ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ จิตใจจะเศร้าหมอง ขุ่นมัว ว้าวุ่นไปหมด ฉะนั้น จงนึก จงเจริญอยู่เสมอว่า ชีวิตเรานั้นน้อยนิดเดียว ไม่ใช่มากมายประการใด ชีวิตจริงๆ ก็อยู่แค่ลมหายใจเข้า-ออกแค่นี้เอง
    [​IMG]
    พระพุทธเจ้าท่านเลิก ละกิเลสได้หมดสิ้น เราทำไมทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ มีใครเป็นผู้ห้ามไม่มีบุคคลใดมาห้าม จิตใจของเราไม่เพ่งเล็งเห็นทุกข์โทษภัยในวัฏสงสาร จึงได้มาหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์สัญญากิเลสตัณหาอย่างนี้แหละ ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจขึ้นมาในเวลานี้ก็จะเสียเวลา เพราะความแก่ชราไม่ไว้หน้าใคร ได้เวลาก็ต้องแก่ชรา ได้เวลาเจ็บก็ต้องเจ็บ ได้เวลาตายก็ต้องตาย
    [​IMG]
    ปัญญาคือแสงสว่างของสมาธิจิตที่ตั้งมั่น "นัตถิ ปัญญาสมา อาภา" แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี จิตคนเราถ้าสงบก็สว่าง สว่างในใจ ใจสว่าง ก็คือใจสงบ ระงับตั้งมั่นอยู่ ในคุณพระรัตนตรัย อยู่ในกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง ปัญญาจะช่วยแก้ไขจิตใจไม่ให้วุ่นวายกับเรื่องภายนอกได้
    [​IMG]
    ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจ ปฏิบัติบูชาให้ดี ตั้งแต่บัดนี้แล้ว ก็จะเสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้มรรคผลนิพพานเพราะมัวรั้งรอ อ้างกาล อ้างเวลาอยู่ ต่อไปอย่าพากันอ้างกาล อ้างเวลา เวลาไหนก็ให้ถือว่าเป็นเวลาปฏิบัติบูชาภาวนาทั้งนั้น
    [​IMG]
    เวลานั่งสมาธิภาวนา ตาไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องดูอะไร เอาจิตใจดูใจของเรานั่นแหละ มันคิดฟุ้งซ่านไปไหน หลงไปในอารมณ์ใดๆ เอาตาใจนั้นสอนใจของเรา ผู้อื่นสอนยังห่างไกล จิตใจเราจะเข้าใจในธรรมะปฏิบัตินั้น ตัวเองจะต้องสอนตัวเอง
    [​IMG]
    "นัตถิ ตัณหาสมา นที" แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี แม่น้ำลำคลองยังเต็มในฤดูฝน แต่ราคะ โทสะ โทหะ ตัณหาในใจมนุษย์และเทวดา อินทร์ พรหมนั้น ไม่มีวันพอ ได้เท่าไรก็ได้ไปเถิด ความอิ่มความพอไม่มี ใจมันอยากได้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ตายแล้วเขาเอาเงินเอาทองยัดใส่ปากให้ ก็ยังไม่อิ่ม เราจะมาเกิดต่อไปข้างหน้าไม่จบไม่สิ้น ถ้าไม่ภาวนา ละกิเลสเดี๋ยวนี้ เวลานี้ให้หมดสิ้นไป
    [​IMG]
    คนเราไปเห็นว่า อาจมที่ถ่ายออกมาเป็นของโสโครกปฏิกูลเป็นอสุภะไม่งาม เราหารู้ไม่ว่าอาจมนั้นก็ออกไปจากรูปขันธ์ของคนเรานั่นเอง ตัวอสุภกรรมฐานก็คือ ก้อนร่างกายของคนเราทุกคน ตราบใดที่เรายังเห็นว่า ร่างกายเราเป็นของสวยงามของงาม ก็เรียกว่าอสุภกรรมฐานไม่มี
    [​IMG]
    คนที่เขาตายให้เราเห็น เขาเอาอะไรไปได้เมื่อเอาอะไรไปไม่ได้ ทำไมจิตคนเรามันถึงไปห่วงคนโน้นคนนี้ ทั้งๆ ที่เกิดมาก็ตัวคนเดียวเวลาตายไปก็ตัวคนเดียวตายไป รูป ร่างกาย ตัวเองก็เอาไปไม่ได้ เอาไปได้แต่จิตใจที่เป็นบุญ-บาป พาให้เกิดให้ตายอยู่ในโลกนี้มา
    [​IMG]
    ใจเอาไปวางที่ไหนมันจะเฉย คำว่าวางเฉยก็คือจิตใจผู้รู้อยู่ภายในนี้ จงให้มีสติ ระลึกอยู่ ไม่ให้ขาดสติ คอยเตือนจิตอยู่ทุกเวลาว่าอะไร ๆ กระทบมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้วางเฉย ไว้ไม่ต้องไปสุข ทุกข์ กับสิ่งทั้งหลาย ทำใจให้เฉย พุทโธ พุทโธให้มาก จนอารมณ์เรื่องราวภายนอก เข้าไปไม่ถึงจิต ถ้ามันยังเข้าไปถึงจิตก็นั่นแหละมันยังไม่เฉย อุเบกขาจิต ยังไม่มี
    [​IMG]
    พุทโธในจิตดวงที่รู้อยู่ พุทโธไปไม่เอา เอาพุทโธอยู่ พุทโธอยู่ได้แก่จิตใจของเราเอง คือดวงที่มีความรู้อยู่ ส่วนจิตสังขารเมื่อคิดนึกอะไร ปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว ก็แส่ส่ายออกไปข้างนอกนั้นไม่เอาละทิ้ง ตัดให้ขาดออกไป
    [​IMG]
    ทำใจให้วางเฉยทุกอย่าง ดวงจิตที่รู้ว่าเฉยอยู่ที่ไหนก็ที่นั้นแหละเป็นที่ตั้งมั่นลงไปเป็นสมาธิ ภาวนา ขณิกสมาธิ ก็อยู่ตรงนี้ อุปจารสมาธิก็อยู่ตรงนี้ อัปปนาสมาธิก็อยู่ตรงนี้ นี่ก็คือว่ารู้ที่ไหนก็ที่นั่นแหละเอาปัจจุบันธรรมเป็นที่ตั้ง จะทำให้จิตใจเยือกเย็นสบายตลอดไป
    หมายเหตุ


    • ขณิกสมาธิ หมายถึง สมาธิชั่วขณะ
    • อุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิที่จวนจะแน่วแน่
    • อัปปนาสมาธิ หมายถึง สมาธิที่แน่วแน่ จิตตั้งมั่นสนิท
    [​IMG]
    การภาวนาละกิเลสไม่ใช่ของทำเล่น ทำจริงๆ ปฏิบัติจริงๆ ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กิเลสอันใดที่ยังมีอยู่เพียรละเพียรถอนออกไป ใครจะมาละ มาถอนมาทำบำเพ็ญภาวนาให้ ไม่มีใครช่วยได้ ตัวเองไม่ช่วยตัวเอง ผู้อื่นจะช่วยได้อย่างไร ไม่มีทาง
    [​IMG]
    ช้าง ม้า โค กระบือ เขายังหัดได้ ทำไมเราจะมาหัดตัวเองไม่ได้ มันติดข้องพัวพันอะไรต้องตั้งใจขึ้นมาทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งหมดตัวนั่นแหละ เรียกว่าตั้งใจ คิดไปในสิ่งใดไม่ดี ไม่มีประโยชน์ไม่ต้องคิด เลิก ละความคิดชั่ว เหลวไหลนั้นเสีย
    [​IMG]
    พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า ให้ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสสะอาด ไม่ให้มีความโกรธ โลภ หลง นอนเนื่องอยู่ในใจ ให้ละความชั่วสร้างความดี ก็ได้แก่การปฏิบัติบูชาภาวนานั่นเอง
    [​IMG]
    "วิริเยน ทุกขมัจเจติ" บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร เมื่อมีความเพียรหมั่นขยันไม่ท้อแท้แล้วสำเร็จได้ทุกคนไม่ใช่ความเพียรที่พูดนี้ แต่ประกอบการกระทำกาย วาจา ใจ มีความเพียรเพื่อจะละกิเลสที่มีอยู่นั่นแหละ จึงจะเป็นไปเพื่อพ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร
    [​IMG]
    "นามรูปัง อนิจจัง" นามรูปไม่เที่ยง "นามรูปัง ทุกขัง" นามรูปนี้แสดงความทุกข์อยู่ตลอดเวลา "นามรูปัง อนัตตา" นามรูปนี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา บอกไม่ได้ ว่าไม่ฟัง คือมันไม่ใช่ตัวของเรา เป็นเพียงแต่เรามาอาศัยเขาอยู่ระยะหนึ่งเท่านั้น แต่จิตหลงก็มาคิดว่า ตัวกูของกู มันจะเป็นของเราได้อย่างไร บอกได้ ว่าฟังหรือ
    [​IMG]
    จิตผู้ใด รู้ได้ เข้าใจตามโอวาทของพระพุทธเจ้า คำว่า "ชีวิตเป็นของน้อย" ก็จะตั้งใจภาวนาเต็มที่ เพราะเราไม่รู้ว่าวันตายจะมาถึงเวลาใดรู้ได้แต่วันเกิด เมื่อเรารู้วันเกิด ไม่รู้ตาย ไฉนจะมาประมาทมัวเมาอยู่เล่า สิ่งอื่นไม่สำคัญ สำคัญที่กาย วาจา จิตของเราต้องตั้งอยู่ในทานบารมี ศีล บารมี เนกขัมมบารมี เป็นการฝึกฝนให้บุญ-กุศล เกิดขึ้น ระวังรักษาไม่ให้บาปมาเกาะอยู่
    หมายเหตุ


    • เนกขัมมบารมี หมายถึง ความปลอดโปร่งจากสิ่งเย้ายวน ซึ่งก็คือการออกจากกาม
    [​IMG]
    บุญ-บาปทำแล้วอย่าเข้าใจว่าไปอยู่ที่อื่น ทำบาป-บาปก็มาอยู่ที่ตัว ทำบุญ-บุญก็มาอยู่ที่ตัว เป็นเงาติดตัวอยู่ตลอดเวลา รักษาศีลให้ทานไหว้พระสวดมนต์ นั่งภาวนา เรียกว่าทำบุญ บุญนั้นใครทำใครได้ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งทำ คนหนึ่งไม่ทำแล้วไม่ได้ จะได้ก็ตรงที่เราอนุโมทนา - ยินดีกับบุญกุศลที่เขากระทำ
    [​IMG]
    ให้ทานข้าวของ วัตถุภายนอกก็เป็นบุญแต่ยังไม่ลึกซึ้ง ให้ทำบุญภายในใจให้เป็นบุญอยู่เสมอ ภาวนาพุทโธ นึกน้อมเอาคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอยู่ภายในนี่แหละบุญภายใน
    [​IMG]
    อภัยทานเป็นทานอันสูงส่ง เมื่อผู้อื่นล่วงเกินเรา ต้องเตรียมใจให้อภัยแก่เขาที่ไม่รู้ คนไม่รู้เขาก็ทำ-คิดไปตามความไม่รู้ของคนไม่ได้ปฏิบัติบูชาภาวนา ใจเราผู้ภาวนาต้องให้อภัย ไม่ต้องไปทำความเดือดร้อนต่อกันไปอีก เรียกว่า อโหสิกรรม
    [​IMG]
    บุญ-บาปทุกคนทำมาด้วยกันทั้งนั้น ต่างแต่ว่าทำมาก-น้อยต่างกัน ถ้าภาวนาจริงๆ บาปไม่มากเท่าไร ก็หลุดลอยออกไปได้ แต่ถ้าทำบาปเพิ่มเข้าไปเรื่อย ก็ไม่มีทางหมด บาป-บุญทำแล้วก็อยู่ในตัวเราเป็นของลึกซึ้งมองไม่เห็น ก็จะเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปถามคนอื่นว่า ทำบุญ-บาปแล้วไปอยู่ที่ไหน
    [​IMG]
    ภาวนาให้จิตใจเป็นบุญ การนั่งสมาธิภาวนาฝึกฝนอบรมกาย วาจาจิตของตัวเองให้เป็นบุญเรียกว่า "บุญภายใน" เมื่อใจภาวนาเป็นบุญพูดจาปราศรัยอะไรออกมาก็เป็นบุญ จะทำสิ่งใดก็เป็นบุญ ฉะนั้นบุญบาปให้รวมเข้ามา มาละที่จิตนี่แหละให้จิตละบาปบำเพ็ญบุญ
    [​IMG]
    นึกน้อมเอาคุณพระพุทธเจ้ามาไว้ในจิตในใจก็ว่า "ทำไม่ได้ นึกไม่ได้" แต่เวลานึกคิดไปในทางเป็นบาป-อกุศล ทำไมมันคล่องแคล่วว่องไว คิดได้ทำได้ โดยไม่ต้องหาครู หาอาจารย์ ก็ทำได้ ทำบุญนั้นทำไม่ค่อยถูก แต่ทำบาปทำได้คล่องแคล่ว บาปนั้นพอแล้วไม่ต้องทำอีก บุญนั่นแหละยังน้อยอยู่ให้รีบทำ
    [​IMG]
    การภาวนาอย่าไปเลือกเวลา อย่าไปเลือกว่าเราเด็กอยู่ เราแก่แล้ว ภาวนาไม่ได้ การภาวนาไม่ใช่การแบกเสา หามต้นไม้ เป็นการนึก การเจริญ ทำจิตใจให้สงบ ประพฤติดี ปฏิบัติชอบประกอบในสิ่งที่เป็นบุญกุศลอยู่ทุกเวลา เมื่อทำอยู่เสมอก็เปรียบเหมือนตักน้ำใส่ตุ่ม ตักได้มากเท่าไรใส่ได้เรื่อย มันก็เต็มง่าย ถ้าไปคอยน้ำฟ้า น้ำฝนมาตกใส่ ก็ไม่ทันการณ์
    [​IMG]
    อะไรก็ดีหมด มันดีมาจากใจ ใจดีก็ดีหมดใจเสียก็เสียหมด ท่านจึงให้ภาวนาพุทโธในใจ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ จะนึกว่าความเกิดเป็นทุกข์นำทุกข์มาเตือนใจก็ได้ ความแก่เป็นทุกข์ นำความแก่ชรามาภาวนาก็ได้ ความตายเป็นทุกข์ นำความตายมาภาวนาก็ได้ บางคนไปข้องอยู่ว่า อุบายใดหนอจึงจะถูกกับจริตจิตใจ ความจริงถ้าทำให้มาก เจริญให้มากแล้ว มันเป็นไปได้ทุกอุบายนั่นแหละ
    [​IMG]
    การปฏิบัติบูชาภาวนา เป็นสิทธิของบุคคลเรา เราต้องการเร็วเราก็ไปให้เร็ว เดิน-วิ่งให้เร็วก็ถึงจุดหมายปลายทางเร็ว ถ้ามัวช้าเก็บดอกไม้ข้างทางอยู่ ดอกนั้นก็สวย ดอกนี้ก็สวย เลยไปไม่ถึงไหน อยู่แค่นั้นแหละ
    [​IMG]
    การภาวนาทำความเพียรละกิเลส ไม่ว่าอยู่ในป่า ในถ้ำที่ไหนก็เราทำเองทั้งนั้น แม้นจะอยู่ในบ้าน ในเรือน ก็ให้ถือว่า บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของเรานั้นก็เป็น "วัดบ้าน" ของเรานั่นเอง เมื่อเราอยู่ในวัดบ้านก็ต้องภาวนาทุกคืน ถ้าคืนไหนไม่สงบระงับดี ก็ให้ภาวนานาน ๆ สวดมนต์นานๆ
    [​IMG]
    เมื่อเรายังไม่ได้ ยังไม่ถึง อินทรีย์บารมียังไม่แก่ เราก็ต้องทำให้แก่ แก่ก็คือว่า ทำบุญ ให้ทานตลอดไปจนหมดชั่วชีวิต รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ขึ้นโดยลำดับ ไหว้พระ สวดมนต์ ไม่ให้จิตใจท้อถอย สวดมนต์ ไหว้พระเป็นอุบายเสริมสร้างบุญบารมีภายในจิตใจให้เจริญงอกงาม ฉะนั้นไม่ควรท้อถอย
    [​IMG]

    ---------------
    ขอบคุณที่มา:
    http://www.geocities.com/palapanyo/budhajaro/hlp.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 กันยายน 2009
  2. Nutthawut

    Nutthawut เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มิถุนายน 2007
    โพสต์:
    162
    ค่าพลัง:
    +479
    อนุโมทนาเป็นอย่างสูงงง เลยจ๊ะ หามานานแล้ว
    ชอบมาก ธรรมะจากพระที่ไม่กลับมาเกิดแล้ว ขอบพระคุณอีกครั้งครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...