หลวงปู่บุดดาถาวโร รัตตัญญู ผู้แก่มรรคผลนิพพาน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 13 ตุลาคม 2010.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    หลวงปู่บุดดาถาวโร รัตตัญญู ผู้แก่มรรคผลนิพพาน







    มีพระสุปฏิปันโนหลายรูปเคยพูดถึง หลวงปู่บุดดา ถาวโร เสียงนั้นล้วนเป็นไปในทางเดียว.....






    โดย...ภัทระ คำพิทักษ์






    [​IMG]


    มีพระสุปฏิปันโนหลายรูปเคยพูดถึง หลวงปู่บุดดา ถาวโร
    เสียงนั้นล้วนเป็นไปในทางเดียว


    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กล่าวไว้ว่า “...หลวงพ่อบุดดานี่เป็นพระสำคัญอยู่นะ ทางด้านจิตใจสำคัญอยู่...พอเชื่อแน่ในใจแล้ว ผู้เฒ่านี่เป็นพระสำคัญ ในสำนวนโวหารพูดอะไรออกมามันก็แปลกๆ อยู่ มันแปลกมาจากใจนั่นละ จะแปลกมาจากไหน ใจไม่แปลกมันก็ไม่แปลกถ้าใจแปลก มันแปลกทั้งนั้น กิริยาแสดงออกมามันแปลก มันแปลกออกมาจากหัวใจ ผู้เฒ่าสำคัญอยู่องค์หนึ่ง...”
    ที่สรุปไว้อย่างรวบรัด ชัดเจนที่สุดมาจาก หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

    “ยอดเยี่ยมที่หนึ่งเลย แก่ทั้งอายุ แก่ทั้งพรรษา แก่ทั้งมรรคผลนิพพาน”

    ที่ว่าแก่ทั้งอายุ เพราะสิริรวมอายุมากถึง 100 ปี 7 วัน
    แก่ทั้งพรรษา เพราะนับได้ 73 พรรษา
    แก่ทั้งมรรคผลนิพพาน เพราะท่านบรรลุมรรคผลนิพพานมาตั้งแต่ยังหนุ่ม





    [​IMG]




    ชีวิตของหลวงปู่บุดดาเป็นชีวิตที่เหมือนเส้นตรง กล่าวคือ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2437 พออายุ 21 ปี เข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์สังกัดทหารบกปืน 3 จังหวัดลพบุรี อยู่ 2 ปี แล้วกลับมาทำไร่ทำนาอยู่ 4 ปี ก่อนอุปสมบท ขณะอายุได้ 28 ปี จากนั้นก็เจริญวัย เจริญธรรม มาอย่างยาวนาน ก่อนละขันธ์ในวันที่ 12 ม.ค. 2537
    ดูเหมือนว่าเส้นตรงเส้นนี้มิได้เริ่มจากจุดแรกที่การถือกำเนิดในครอบครัว ชาวนาของนายน้อย-นางอึ่ง มงคลทอง เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ม.ค. 2437 ที่บ้านหนองเต่า ต.พุดา อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี แต่เริ่มต้นมาไกลกว่านั้นมาก เพราะอายุ 10 ปีก็ระลึกชาติได้ แต่ไม่ว่าใครจะสนใจในสิ่งที่เด็ก 10 ขวบพูดหรือไม่ก็ตาม สิ่งนั้นก็คงอยู่ในใจของหลวงปู่บุดดาเรื่อยมา เพราะหากวิเคราะห์จากคำพูดของท่านที่มีต่อสาวที่เข้ามาติดพันในช่วงที่ท่าน เป็นทหารหนุ่มนั้น แสดงให้เห็นว่า ชายหนุ่มผู้นี้ตรึกอยู่ในธรรมอย่างชัดแจ้ง


    “กลับไปเถอะ ฉันเป็นทหารตัวเมีย ไม่ชอบผู้หญิง ถ้าไปเจอทหารตัวผู้คนอื่นเข้าจะลำบาก...” หนุ่มบุดดาบอกกับสาวๆ




    [​IMG]


    ท่านเดินเข้าโบสถ์อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเนินยาว ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2465 โดยมี พระครูธรรมขันธ์สุนทร (ม.ร.ว.เอี่ยม) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเรือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการไพล เป็นพระอนุสาวนาจารย์



    เพราะรอการเริ่มต้นชีวิตในสมณเพศมานาน หลังจากอุปสมบทท่านจึงเริ่มต้นฝึกกรรมฐานกับพระอุปัชฌาย์อย่างเอาจริงเอาจัง สิ้นพรรษาแรกแล้วจึงเริ่มออกธุดงค์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 40 ปี ก่อนจะรับนิมนต์ หลวงปู่เย็น ทานรโต มาอยู่จำพรรษาด้วยกันที่วัดกลางชูศรีเจริญสุข ต.บ้านพักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2523 และอยู่จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้เรื่อยมาจนถึงอวสานแห่งชีวิต


    มีสองเหตุการณ์ที่กลายเป็นหลักไมล์สำคัญแห่งการภาวนาของหลวงปู่บุดดา
    เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นหลังจากออกธุดงค์ครั้งแรกจากลพบุรีไปยังหนองคายแล้ว ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดผดุงธรรม จ.ลพบุรี ณ ที่นี่เอง ที่พิษแห่งราคะได้กำเริบอย่างหนัก แม้จะหาทางระงับอย่างไรก็ดูท่าจะเอาไม่อยู่ สุดท้ายไม่รู้จะทำอย่างไร เลยคว้าบริขารออกเดินเข้าป่าลึกแถบ จ.เพชรบุรี


    วันหนึ่งในกลางป่านั่นเอง ท่านได้ปรารภกับตัวเองว่า “ราคะเอ๋ย เราอยู่วัดก็ห้ามเจ้าไม่ฟัง ห้ามหัวค่ำมาเช้ามืด ห้ามเช้ามืดมาหัวค่ำ เอ๊า...บัดนี้เจ้าอยู่ที่ไหนรีบมาซะ ประเดี๋ยวเสือจะมากินเราแล้ว...” ว่าแล้วก็เข้ากลดนั่งภาวนาอยู่ ไม่นานนักได้ยินเสียงเสือคำรามขึ้นลั่นป่า แล้วมีเสียงสิ่งมีชีวิตเคลื่อนตรงเข้ามาหาทุกขณะ สุดท้ายเจ้าสิ่งนั้นเหมือนกับมาหยุดอยู่ที่เบื้องหน้า


    “ตอนนั้นอาตมานึกแต่ว่า ราคะเอ๋ย เจ้าตายวันนี้แหละ แต่แปลกราคะมันไม่ยอมโผล่มาให้เห็นอีกเลย จิตมันนิ่งสงบ มีแต่ความรู้สึกที่เบาสบายเหมือนตัวจะลอยอย่างงั้นแหละ กระทั่งรุ่งเช้าคลายออกจากสมาธิ จึงรู้ว่า...เรานั่งอยู่นี่ ไม่ได้ลอยไปไหน อ๊าว...เสือก็หาย ราคะก็หาย โอ้...ไอ้ราคะของเรานี่มันกลัวเสือ มันเปิดหายไปเลยนับแต่นั้น...”


    ราคะเปิดหายไปตั้งแต่รอยต่อพรรษาที่ 2




    [​IMG]

    จากนั้นมาท่านก็ออกธุดงค์ไปเรื่อย ย้อนกลับไปที่หนองคายอีกครั้งข้ามไปฝั่งลาว ทะลุไปเขมร เลยไปถึงไซง่อน ประเทศเวียดนาม กลับมาเมืองไทยฝ่าเขา ลงห้วย เรื่อยไป


    เหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นเมื่อได้พบกับ หลวงพ่อสงฆ์ พระหมสระ แล้วออกธุดงค์ด้วยกันจนจบกิจด้วยกันทั้งคู่


    ท่านพูดถึงบุคลิกของหลวงพ่อสงฆ์กัลยาณมิตรธรรมผู้สูงวัยกว่าท่าน 10 ปีว่า “ติดตำรา ถือลูกประคำห้อยคอ...”


    วันหนึ่งท่านทั้งสองพากันจาริกมากระทั่งถึงถ้ำภูคา อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ณ สถานที่แห่งนี้เองที่คืนหนึ่งทั้งสองรูปได้สนทนาธรรม โดยหลวงพ่อสงฆ์ได้ถามหลวงปู่บุดดาขึ้นว่า “...ยังถือวินัยอยู่หรือ”



    “...ไม่ถือวินัยได้ไง ถ้าเราจะเดินผ่านต้นไม้-ของเขียวก็ต้องระวัง...มันจึงเป็นอุปาทานทำความ เนิ่นนานต้องช้ามาถึง 4 พรรษา” หลวงปู่บุดดา ตอบ
    หลวงพ่อสงฆ์ว่า “วินัยมันมีสัตว์-มีคนรึ”



    “มีตัวซี ถ้าไม่มีตัวจะถือวินัยได้ยังไง...วินัยก็ผู้ถือนั่นเอง ...เสขิยวัตร 75 เป็นตัวไม่ได้หรอก ...เนื้อหนัง กระดูก ตับไต ไส้พุง มันไม่ใช่ตัวถือวินัย...ตัวถือวินัยเป็นธรรมนี่”
    ...ฯลฯ...
    ระหว่างถามตอบกันอยู่นั้น จู่ๆ หลวงปู่บุดดาก็นิ่งเงียบ แต่ตาค้างเบิกโพลงอยู่อย่างนั้นนานประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงกลับมาพูดได้อีกครั้ง


    ช่วง 2 ชั่วโมงนั้น เริ่มจาก “พอปัญญา-บารมีเกิดขึ้นตกลงกันได้ว่า เอ๊ะ! ไม่มีจริงๆ เน้อ ...ผู้ถือไม่มี มีแต่ระเบียบของธรรมเท่านั้น ไปถือมั่น-ยึดมั่นไม่ได้นี่”

    และแล้ว...


    “มันรู้สึกสว่างแจ้งไปหมด รู้สึกว่าไม่มีตัวตน เห็นชัดทุกอย่างรอบตัวว่า เป็นปรมัตถธรรม สิ่งสมมติขึ้นมา ทุกอย่างเป็นธรรมหมด ไม่ใช่ของใคร สัพพัญญูพุทธะ ปัจเจกพุทธะ สาวกพุทธะ มันไม่มีตัวมีตน ธรรมต่างหากที่ทรงไว้ คงอยู่ในจิตของตนเอง พูดกันแต่เรื่องปริยัติ ปฏิบัติ ไม่มีใครชนะใครหรอก มันติดอยู่ในสมมติบัญญัติต่างหาก

    “รู้อดีต ปัจจุบัน อนาคตของตัวเอง ไม่ใช่ไปเรียนพระพุทธเจ้าเป็นใคร ไปนิพพานอย่างไร นั่นเขาเรียกนิพพานในอนาคต รู้ตัวเองดีกว่า ให้รู้ว่า กายกับจิตมันเนื่องกันอย่างไร คนขับรถต้องนำรถไป ไม่ใช่ให้รถมันนำพาไป ถ้าไม่รู้ทางก็เข้าป่าเข้ารก”

    “สัพพัญญูพุทธะ?” มีความหมายว่าอย่างไร?


    “ถ้าเรารู้ว่าธรรมภายในไม่เกิดไม่ตาย ธรรมภายนอกก็ไม่เกิดไม่ตาย ปริยัติก็เป็นธรรม ปฏิบัติก็เป็นธรรม ปฏิเวธก็เป็นธรรมที่ศีลเป็นธรรม สมาธิเป็นธรรม ปัญญาตรัสรู้แล้วเป็นธรรมหมด นี้เรียกว่า ทางตรัสรู้ สิ้นไปแห่งอาสวะ สิ้นไปแห่งอวิชชาทั้งหมด อวิชชาสังโยชน์ไม่มี อวิชชานุสัยไม่มีใช้ได้ เรียกว่าเป็นผู้เจริญในพุทธศาสนา เจริญตัวเองนี่เอง เจริญตัวเองเรียกว่า สัพพัญญูพุทธะก็ได้ตามพระพุทธเจ้า


    “พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูพุทธะตรัสรู้ก่อนเพื่อน ปัจเจกพุทธตรัสรู้ สาวกพุทธตรัสรู้ ตรัสรู้อริยสัจเหมือนกัน คือ รู้ทุกข์เกิดกับจิตนั่นเอง สมุทัยก็เกิดกับจิตนั่นเอง มรรคสัจก็เกิดกับจิต นิโรธสัจเหนือนาม เหนือรูปนิโรคสัจรู้แจ้งแล้วไม่เกิดไม่ตายนั่นเอง


    “มรรคสัจก็เกิดกับจิต นิโรธสัจเหนือนาม เหนือรูป นิโรธสัจรู้แจ้งแล้วไม่เกิดไม่ตาย...เป็นผู้หมดทุกข์ หมดเกิด หมดแก่ หมดเจ็บ หมดตาย ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครแก่ ไม่ใครเจ็บ ไม่มีใครตาย นั่นแหละเป็นแก่นศาสนา...”

    หลวงปู่บุดดาบรรลุธรรมเมื่ออายุ 32 ปี




    [​IMG]


    หลายสิบปีต่อมาหลวงปู่พูดถึงเหตุการณ์ในคืนนั้นว่า “จบกลางคืนต่อหน้าท่าน (หลวงพ่อสงฆ์)”
    3 วันต่อมาหลวงพ่อสงฆ์ก็ “จบ” เช่นเดียวกัน


    “เช้ามาท่านก็ไปถาม เอ๊ะ ทำไมไม่มีสัตว์ไปนรกไปสวรรค์ล่ะ ไม่มีคนล่ะ หลวงปู่อุทาน “โอ๊ย มันไม่มีมาแต่ไรแล้ว ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเทศน์ปฐมเทศนามาแล้ว นรกสัตว์สร้างเอาเอง สวรรค์สัตว์สร้างเอาเอง ไม่มีสัตว์สร้างสัตว์จะไปสวรรค์ นรก ได้อย่างไร...ท่านก็บอกว่า ท่านไม่ถือนาม ถือรูป ไม่มีถือธาตุ ถือขันธ์อะไรแล้ว หลงนาม หลงรูป มันก็หลงเกิด หลงตายอีกซิ...”


    ก่อนจะแยกกันที่ถ้ำภูคาในปี พ.ศ. 2470 นั้น หลวงพ่อสงฆ์และหลวงปู่บุดดาได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้ที่ถ้ำภูคาองค์หนึ่ง
    ความ ที่หลวงปู่บุดดาเป็นผู้แก่ทั้งอายุ แก่ทั้งพรรษานี่เอง ท่านจึงเป็นรัตตัญญูได้มีโอกาสได้พบได้เห็นได้รู้จักได้สนทนาธรรมกับพระสงฆ์ ที่มีชื่อเสียงในแต่ละยุคสมัยหลายรูป อาทิ



    พระครูมุณีอ่อน ซึ่งท่านว่าเป็น “รุ่นเก่า...ใช้เรือแจวเทศน์ตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปถึงราชบุรี จากกรุงเทพฯ ไปถึงปราจีนบุรี” หลวง พ่อเงิน พุทธโชติ หรือหลวงพ่อเงิน บางคลาน จ.พิจิตร หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบาง นมโค จ.สุพรรณบุรี หลวงพ่อจง พุทธัสสโร วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อรุ่ง ฆํคสุวณฺโณ วัดหนองสีนวล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร วัดสัตหีบ หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองหลวง จ.นครสวรรค์ เจ้าคุณอุบาลี (จันทร์ สิริจันโท) พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครูบาศรีวิชัย พุทธทาสภิกขุ ธัมมวิตักโกภิกษุ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก ฯลฯ


    [​IMG]




    ปี พ.ศ. 2475 ท่านก็เข้ามาพำนักอยู่ที่วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ ช่วงปีนั้นเองที่ได้พบและสนทนาธรรมกับธัมมวิตักโกภิกษุ หรือที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันในนาม เจ้าคุณนรฯ หรือพระภิกษุนรรัตนราชมานิต เป็นเวลา8 วัน
    กับพุทธทาสภิกขุนั้นท่านพบกันหลายครั้ง ที่ จ.เพชรบุรี ที่กรุงเทพฯ แม้กระทั่งไปพำนักที่สวนโมกข์เป็นเวลา 8 วัน


    การพบกับครูบาศรีวิชัย ซึ่งขณะนั้นต้องอธิกรณ์แล้วลงมาที่กรุงเทพฯ นั้นนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชีวิตของท่าน นั่นคือ เมื่อครูบาศรีวิชัยทักว่า “เฮาเป็นนายฮ้อยก็ต้องให้เขาฮู้ว่า เป็นนายฮ้อยไม่ใช่นายสิบ”
    นับแต่นั้นมา หลวงปู่บุดดาจึงพาดสังฆาฏิติดตัวเรื่อยมามิได้ขาด
    ครั้งหนึ่งมีศิษย์ถามท่านว่า ทำยังไงจึงจะถึงนิพพานเร็วๆ ท่านว่า “ดูปัจจุบันบ่อยๆซี่...”



    ปัจจุบันของกาย ปัจจุบันของจิต หากกายสงบ จิตสงบก็เป็นสมถะ กายและจิตเกิดดับเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นตัวปัญญาสัมมาทิฏฐิ
    “เมื่อเห็นจิตสงบ กายสงบ จิตสงบอยู่ในปัจจุบันเป็นสมถะ เป็นองค์มรรค 8 พอเห็นกายกับจิตเกิดดับก็เป็นวิปัสสนาขององค์มรรค 8 แก้ปัจจุบันต่างหากเล่า กิเลสก็แก้ที่ปัจจุบัน ขันธมารก็แก้ปัจจุบัน ไม่มีกิเลสมาร เกิดได้ก็แก้ได้ ขันธมารก็แก้ได้ที่ปัจจุบัน มีสังขารมารเทวบุตรมารจำแลงรูปต่างๆ เป็นอดีตล่วงแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่มาอีก ปัจจุบันก็มาเอากับมัน...อยู่ที่กายปัจจุบัน จิตปัจจุบัน พุทธะก็อยู่นี้ ธรรมะก็อยู่นี้ สังฆะก็อยู่นี้ ปริยัติอยู่ปัจจุบัน ปฏิบัติก็ปัจจุบัน ปฏิเวธก็ปัจจุบัน เอโกธัมโม ธรรมมีอันเดียว ธรรมไม่เกิดไม่ตาย ก็เข้านิพพานตรงนี้”
    ท่านว่า “หนังแผ่นเดียวเป็นนิโรธ หนังหลายแผ่นเป็นสมุทัย”

    หนังแผ่นเดียวเป็นนิโรธเพราะ “มีหนังแผ่นเดียวมองดูเถอะ เป็นนิโรธเองได้”
    คำขยายความอีกหน่อยคือ “...ถ้าเราไม่มีอุปาทาน เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่เราสบาย เรานั่งอยู่ที่นี้ นั่งดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เป็นนิโรธหมด กามาสวะ มิจฉาสวะไม่มี กายนิโรธมีอย่างนี้...”

    ท่านว่า สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมที่มีอุปการะอย่างยิ่ง
    เมื่อมีสติตั้งมั่น ตื่นอยู่ไม่เศร้าหมองปราศจากทั้งดีทั้งชั่ว เพราะถ้ารู้เท่าทันอารมณ์ดีชั่วเป็นกลางทั้งภายในภายนอกก็ไม่หลงตามทางดีและ ทางชั่ว
    ศีลของเราก็เรียบร้อย
    กายวาจาใจ ไม่หวั่นไหว ก็เป็นสมาธิ
    ปัญญารอบรู้ในกองสังขารก็รู้เท่าทางปรุงความดีและความชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ก็ชื่อว่า ปัญญา


    หลงสมมติ หญิง ชาย ไม่รู้จริง ศีลก็ตั้งไม่ได้ เพราะศีลขาดสมาธิ ความมั่นใจก็ไม่มี ปัญญาความรอบรู้ก็ไม่มี จะหาความสุขมาจากไหน ฉะนั้นควรใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความจริงทั้งภายนอก ภายใน เดิน ยืน นั่ง นอน พิจารณาอิริยาบถทั้ง 4 อย่าให้ขาด ตลอดจนปัจจัยทั้ง 4 ว่า สักแต่เป็นธาตุ ทุกสิ่งทุกประการไม่ว่าสัตว์ บุคคล ล้วนแต่เป็นธาตุ
    “ไม่เกิด ไม่ดับ คืออะไร คือ พ้นจากกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร ที่มีอยู่ ตัวไม่เกิดไม่ดับ คือ ธรรมะ พ้นไป ว่างไปแล้วจากอาสวะ จึงเป็นผู้พ้นทุกข์”

    หลวงปู่บุดดาซึ่งแข็งแรงมาตลอด ได้เริ่มอาพาธตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2536 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทั่งท่านละสังขาร “พ้นไป” เมื่อเวลา 19.10 น. วันที่ 12 ม.ค. 2537



    ---------------
    ที่มา : โพสต์ทูเดย์
    หลวงปู่บุดดาถาวโร รัตตัญญู ผู้แก่มรรคผลนิพพาน
    รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
     
  2. gatsby_ut

    gatsby_ut เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    821
    ค่าพลัง:
    +14,291
    [​IMG]


    สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ<O:p
    การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง<O:p


    อภิวาท วันทาโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
     
  3. รัก_D

    รัก_D เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 กันยายน 2008
    โพสต์:
    290
    ค่าพลัง:
    +1,096
    ข้าแดพระสงฆ์ผู้สิ้นอาสวะกิเลสทั้งหลาย ข้าพเจ้า ขอนอบน้อม กราบเท้า หลวงปู่ ครูบาอาจารย์ ด้วยจิตที่เคารพท่านถึงที่สุด ทุกท่านครับ สาธุ สาธุ สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...