หลวงปู่จ้อย พุทฺธสโร ผู้มีจิตทันแล้วซึ่ง โลภะ โมหะ โทสะ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 29 สิงหาคม 2010.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    หลวงปู่จ้อย พุทฺธสโร ผู้มีจิตทันแล้วซึ่ง โลภะ โมหะ โทสะ

    หลวงปู่จ้อยมีชื่อเสียงในภาคตะวันออกและภาคกลาง รวมทั้งผู้สนใจเรื่องพระเครื่อง เพราะผู้ใช้พระเครื่องที่ท่านปลุกเสกแล้วมีประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีมากมาย ว่ากันถึงขนาดเข้าสมรภูมิไหนก็ตามแมลงวันไม่ได้กินเลือด...

    โดย...ภัทระ คำพิทักษ์



    เมื่อต้นเดือนนี้ มีพระดีละขันธ์ไปเงียบๆรูปหนึ่ง

    หลวงปู่จ้อย พุทฺธสโร หรือ พระครูวิทิตพัฒนาการ เจ้าอาวาสวัดหนองน้ำเขียว ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มรณภาพด้วยอาการสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 8 ส.ค.

    เรื่องราวของหลวงปู่จ้อยไม่เป็นที่ทราบกันมากนัก พูดกันแต่ว่า ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เชิด จันทสุวัณโณ วัดลาดบัวขาว พระเกจิร่วมยุค หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งมีชื่อเสียงว่า เป็นผู้เรืองวิทยาคมสามารถรักษาโรคภัยต่างๆ ได้ด้วยมีดอีโต้ ฉะนั้นเมื่อมีผู้กล่าวถึงประวัติของหลวงปู่จ้อยก็มักจะเล่าเท้าความไปถึงประวัติของหลวงปู่เชิดเป็นหลัก โดยมีเรื่องราวของท่านผสมพอเป็นกระษัยเท่านั้น

    หลวงปู่จ้อยมีชื่อเสียงในภาคตะวันออกและภาคกลาง รวมทั้งผู้สนใจเรื่องพระเครื่อง เพราะผู้ใช้พระเครื่องที่ท่านปลุกเสกแล้วมีประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีมากมาย ว่ากันถึงขนาดเข้าสมรภูมิไหนก็ตามแมลงวันไม่ได้กินเลือด ถ้าลงน้ำปลิงไม่เกาะ สำหรับผู้เคยไปกราบท่านมักจะมีเรื่องเล่าถึงประสบการณ์แปลกๆ อยู่เสมอ แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งหนึ่งที่คู่ขนานไปกับชื่อเสียงจากคำร่ำลือแบบโลกๆ นั่นคือ ท่านเป็นพระสมถะ เจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นอาจิณ อยู่อย่างสันโดษ

    ศิษย์บางคนให้ภาพส่วนนี้ว่า “ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ใช้ตู้เย็น ศิษย์ถวายรถเก๋งป้ายแดงก็ไม่รับ”

    เคยมีผู้ไปเรียนถามประวัติ ท่านกลับบอกว่า ไม่ได้จดจำมากนัก เมื่อท่านละขันธ์เสียแล้วเรื่องราวต่างๆ จึงเหลืออยู่ไม่มากชะรอยว่า ในวันข้างหน้า คงเหลือแต่ตำนาน

    หลังท่านดับขันธ์ศิษย์กลุ่มหนึ่งได้พยายามแกะร่องรอยจากเอกสารหลักฐานต่างๆ และสืบค้นสอบถามจนได้ความว่า หลวงปู่จ้อยมีนามเดิมว่า วัชรินทร์ จาดแก้ว เป็นชาวแปดริ้วโดยกำเนิด เกิดวันอธิบดี แรม 5 ค่ำ เดือน 88 (8 สองหน) ปีขาล จุลศักราช 1288 รัตนโกสินทรศก 145 หรือตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 29 เดือน ก.ค. 2468 ในสกุล จาดแก้ว มีโยมบิดาชื่อ ห่วง โยมมารดาชื่อ เกิด จาดแก้ว มีพี่น้อง 8 คน เป็นชาย 4 หญิง 3 คน เป็นบุตรคนที่ 4 เรียงตามลำดับได้ดังนี้

    1.นายเจือ จาดแก้ว (ถึงแก่กรรม)
    2.นางแดง นาคกลบุตร (ถึงแก่กรรม)
    3.นายละมั่ง จาดแก้ว (ถึงแก่กรรม)
    4.พระวัชรินทร์ พุทฺธสโร (นามเดิม วัชรินทร์ จาดแก้ว)
    5.นายจำรัส จาดแก้ว
    6.นายจำลอง จาดแก้ว
    7.นางจำเริญ ปลื้มใจ (ถึงแก่กรรม)
    8.นางแป้งหอม สุนทรวิจารณ์


    ท่านอุปสมบทเมื่ออายุได้ 20 ปี และเจริญในธรรมมา 65 พรรษาจึงดับขันธ์ แต่เอาเข้าจริงแล้วเส้นทางธรรมของท่านยาวกว่านี้มาก ว่ากันว่า หลวงปู่จ้อยมีอุปนิสัยใฝ่ธรรมมาตั้งแต่เด็ก ขณะเพื่อนรุ่นเดียวกันเล่นรื่นเริงตามประสา เด็กชายจ้อยกลับไม่สนใจเรื่องราวเหล่านั้น เอาแต่การศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ กิจวัตรประจำวันก็มักจะวนเวียนอยู่ในละแวกวัดวาอารามซึ่งเป็นที่ศึกษาคือ วัดลาดบัวขาว ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

    พอโตขึ้นมาก็ไม่คิดแสวงหาคู่ชีวิตแต่งงานแต่งการสร้างครอบครัวเช่นคนทั่วไป
    เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดลาดบัวขาว ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2489 ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน 6 แรม 8 ค่ำ เวลา 14.10 น. โดยมีพระครูสุคตาลงกต วัดโพธิ์ อ.บางคล้า เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูผล วัดบ้านกล้วย กิ่ง อ.คลองเขื่อน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูภิภัตรจิตตากร (พระอาจารย์ผิว) วัดลาดบัวขาว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทฺธสโร”

    แม้จะได้อุปสมบทตามความตั้งใจ แต่ใช่ว่าจุดมุ่งหมายในขณะนั้นจะเป็นการครองเพศบรรพชิตไปตลอดชีวิตไม่ หากแต่จะอุปสมบทเพียงหนึ่งพรรษา แล้วจะออกไปช่วยบิดามารดาซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัยร่วงโรยทำไร่ทำนา
    แต่ยิ่งอยู่ใจยิ่งโน้มเอียงเข้าสู่พระธรรมวินัยมากขึ้นๆ
    ความใฝ่ในธรรมนี้ลึกซึ้งอย่างไรสะท้อนได้จากการสอบได้นักธรรมเอกในปี พ.ศ. 2500


    [​IMG]

    หากคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่และความเป็นไปในปี พ.ศ.นั้นแล้ว การที่มีพระภิกษุวัดบ้านนอกสอบได้นักธรรมเอกนั้น นับว่าต้องมีความเพียรพยายามและมีสติปัญญาอย่างเอกอุเลยทีเดียว

    หลวงปู่จ้อยไม่ได้ศึกษาแต่เรื่องปริยัติ ในทางปฏิบัติก็เคร่งยิ่ง โดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยการพิจารณากสิณ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอารมณ์

    หลวงปู่จ้อยใช้เวลา 9 ปีแรกจำพรรษาอยู่ที่วัดลาดบัวขาว ร่ำเรียนปริยัติธรรมและศึกษาจากหลวงปู่เชิดไปพร้อมๆ กับการฝึกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน กระทั่ง พ.ศ. 2497 ญาติโยมผู้ศรัทธาในพระสุปฏิปันโนจาก ต.หัวกุญแจ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้มานิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดกุณฑีธาร (วัดหัวกุญแจ) แต่ก็อยู่ฉลองศรัทธาได้ปีเดียว เพราะหลังออกพรรษาคราวนั้น พอทราบข่าวจากสหธรรมิกว่า วัดหนองน้ำเขียว วัดเก่าแต่ครั้งสมัยต้นยุครัตนโกสินทร์รกร้าง ขาดคนดูแล ชาวบ้านที่นั่นเป็นคน “ดุ” เป็นแหล่ง “ยาสั่ง” พระที่ไหนไปจำพรรษาก็อยู่ไม่ได้ ท่านจึงตัดสินใจเคลื่อนกงล้อธรรมไปที่วัดหนองน้ำเขียวทันทีในปี พ.ศ. 2498


    จากนั้นเป็นต้นมาท่านพลิกชีวิตชาวบ้านร้านถิ่นทั้งใกล้ทั้งไกลด้วยธรรมรส พลิกวัดรกร้าง มีเพียงศาลาอุโบสถเก่าโทรมๆ ให้กลายเป็นวัดสมกับเป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐานมากระทั่งละขันธ์

    ศิษย์ท่านว่า หลวงปู่ไม่ใคร่สอนวิถีทางแห่งการปฏิบัติแก่ผู้ใด หากไม่ได้เรียนถามก่อน ท่านจะ “สงบเสงี่ยม ไม่เปิดเผย ไม่โอ้อวดหรือกล่าวยกตนให้เกิดศรัทธาแก่ผู้มาเข้าพบ แม้ว่าปฏิปทาการปฏิบัติของท่านผ่านมาจากประสบการณ์ในการปฏิบัติจริงในทุกประการก็ตาม”

    10 ปีที่แล้ว คณะ “โลกลี้ลับ” ถามและบันทึกเอาไว้ คำตอบนั้นแสดงถึงหนทางแห่งการดำเนินของท่านดังนี้

    “พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ทุกคนรู้ว่า ตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ แต่ก็ยังยึดไอ้นั่นของกู ไอ้นี่ของกู ยึดเอาหมดเลย นี่พูดได้แต่ตายแล้วเอาไปไม่ได้ สังขารตัวเองก็เอาไปไม่ได้...

    ...ท่านบอกว่า กระดูกพระอรหันต์จะขาว แต่กระดูกของมนุษย์จะดำ คือ ขาวทั้งจิตใจ ขาวทั้งการปฏิบัติ การกระทำของท่าน เพราะไม่มีอะไรมาแปดเปื้อน ฉะนั้นเราควรสร้างความขาวให้เกิดขึ้นในตัวของเราเอง แล้วเราจะไปเกิดในภพไหนชาติไหน เราก็ขาว ถ้าคนขาวไม่ต้องมาเกิดแล้ว คนดำก็ยังต้องเกิด
    สิ่งที่เราหามาได้เราสร้างเอง เผาเอง แล้วเราจะดิ้นรนไปทำไมให้เป็นทุกข์
    ให้รู้จักพอเพียงมีความประมาณตน คนที่ไม่จนแต่ไปเป็นหนี้เขาเพราะอะไร เพราะความอยาก อย่างอยากได้รถไม่มีก็ไปกู้หนี้ยืมสินเขามาก็กลายเป็นหนี้เขา ถ้าเรารู้จักประมาณตน รู้จักพอ ที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว ไปไหนมาไหนก็สะดวกแล้ว ประกอบธุรกิจก็ไม่ขาดทุนแล้ว ข้อนี้คือความสมบูรณ์ของมนุษย์ มีความสุขกาย สุขใจ สบายกาย สบายใจ ไม่มีทุกข์กาย ทุกข์ใจ ก็สบายแล้ว นี่คือความประสงค์หลักๆ

    จะขอฝากเรื่อง อนิจจังเป็นของไม่เที่ยง

    อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตัวมีตนแล้วไม่ได้ยึดไว้ก็เป็นทุกข์เป็นทุกข์เพราะเราอยาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา สำหรับเรื่องนี้นั้นพระพุทธเจ้าท่านสร้างมาแต่อเนกชาติ ท่านว่า เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที ตั้งแต่ยังไม่พบ ฌาน บัดนี้ได้พบฌานแล้วได้ สมบัติ แล้ว ช่างจะสร้างเรือนให้ก็รับไม่ได้อีกแล้วหักแล้ว จิตของเราไม่มีอะไรมาปรุงแต่งแล้ว คือเปิดประตูพระนิพพานแล้ว หมดภาระ ปลง ภาระ ละภาระ แต่ที่ยังมีชีวิตอยู่มีสังขารอยู่ก็บอกกันไป ถ้ายังพอช่วยเขาได้ก็ช่วยไป

    อย่างที่บอกว่าให้หาทางพ้นทุกข์ แต่พวกเรากลับไปแสวงหาความเป็นทุกข์ ไม่รู้จะเรียกร้องอะไร มีจิตดวงเดียวก็เที่ยวไปเที่ยวไปแล้วก็กลับมาสภาพเดิมเหมือนเข้าถ้ำ เมื่อจิตออกจากถ้ำก็เที่ยวไปแทนที่ว่าจิตออกจากถ้ำแล้ว กลับมาเข้าถ้ำตามเดิมไม่ได้ก็หมายความว่าร่างกายมันสลายแล้ว มันเข้าไม่ได้แล้ว ต้องไปแล้ว เหลือจิตไว้เป็นอารมณ์ปรุงแต่ง ถ้าจิตดวงนี้ใสสะอาดเขาก็ไม่ต้องไปสู่ภพสู่ชาติอีก ถ้าจิตยังมีความขุ่นข้องก็ต้องไปเสวยเคราะห์ไปเป็นทุกข์ ท่านสอนว่า ให้รู้จักพระ รู้จักตน รู้จักท่าน ที่ให้รู้นี่หมายถึงให้รู้พระรัตนตรัย คือ

    พระพุทธ คือ พระพุทธเจ้า
    พระธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า
    พระสงฆ์ คือ สุปฏิปันโน

    รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย บูชาธูปดอกหนึ่งคือพระพุทธ ดอกสองคือพระธรรม ดอกสามคือพระสงฆ์ นี่เรียกว่าบูชาพระรัตนตรัย ถ้าบูชาดอกเดียวก็ได้แต่พระพุทธองค์เดียว พระรัตนตรัยนี้มีสมบัติเป็นสามประการ เราเรียกว่า ไตรสมบัต


    ทุกวันนี้พระมีน้อย คนที่ได้มาบวชในเวลานี้ถือว่าโชคดีเพราะเวลานี้มีพระมาแล้ว พระพุทธเจ้าก็มีอยู่ เรียกว่ารัตนตรัยนี้ยังอยู่มนุษย์ที่สมบูรณ์คือ มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพ พลานามัยดี มีปัจจัยภายนอกทรัพย์สมบัติพอที่จะบวชได้ ก็เรียกว่าเป็นคนมีโชคดีเทียบกับคนอีกหลายล้านที่ไม่ได้บวช แต่ที่อยู่ไม่ได้เพราะอะไร ก็เพราะกิเลส ตัณหา มันดึงไป ที่บอกว่าตัวเองด้อยโอกาสนั้นไม่ด้อยหรอก แต่เพราะเราไม่ให้โอกาสเขา ถ้าให้โอกาสเขา เขาก็ไปได้ ที่มาเรี่ยไรเงินแล้วบอกจะไปช่วยผู้ด้อยโอกาส จริงๆ เขาไม่ด้อยหรอก เรานั่นแหละไปทำให้เขาด้อย เราเอารัดเอาเปรียบเขาเกินไป

    การช่วยเหลือก็ช่วยทางน้ำคำบ้าง ช่วยทางน้ำใจบ้าง ช่วยทางปัจจัยบ้าง เราก็จะอยู่ร่วมกันได้ เราจะไปเอาอย่างเดียวก็มีแต่สันติสุข ทำอะไรก็มีแต่ความโปร่งใส ผ่องใส ใจไม่เศร้าหมอง อย่าใช้แต่ปัญญาควรเอาสติไปควบคุมไว้ พวกเราเดี๋ยวนี้โดยมากจะใช้ปัญญามากไป สติไม่ค่อยใช้

    คนเรามีเงินมีความรู้สูงไม่ใช่จะเป็นคนดีเสมอไป เรียนรู้แต่พอประมาณดีกว่า ไม่ต้องส่งเสียให้เรียนสูงมากๆ สูงไปแล้วต้องการอะไร เดี๋ยวนี้สมัยนี้เรียนสูงขึ้นไปเพราะต้องการเงินเพราะปริญญาเอก ปริญญาโทเงินเดือนก็สูง คนเราจึงแข่งขันกันในการเรียน พอเรียนสูงๆ แล้วมากระโดดตึกตายก็น่าเสียดาย ฉะนั้นเราควรจะปูพื้นฐานค่อยๆ ไปจะดีกว่า อย่าโลดโผนถึงเรามีก็พอมีอย่าโลดโผน ถึงเราจนก็อย่าจนจนตัน ให้พอประมาณ คนเราความอยากมีมาก อย่างอยากได้รถแต่ไม่มีเงินก็ไปกู้รัฐบาล กู้ธนาคารมาซื้อรถ ก็ต้องเป็นหนี้เขา คนจนไม่มีมีแต่คนเป็นหนี้

    การพูดก็เหมือนการสวดมนต์ภาวนา ถ้าสวดไม่ได้จะนั่งฟังกันได้ไหม การเจริญสมาธิเราต้องการอะไร มีอะไรมาเป็นเครื่องเร้า ให้เอา พุทโธ เป็นหลักยึด พุทก็ตื่น โธก็เบิกบาน เราถึงได้กำหนดพุทโธๆ ถ้าเราจะฝึกสมาธิเพื่อประกอบการงาน งานนั้นจะเรียบร้อย สร้างแต่พอกำลังของเรา ความรู้จึงต้องเชิญ อย่างแรกต้องเชิญพระพุทธก่อนแล้วตามด้วยการเชิญพระธรรม และเชิญพระสงฆ์ตามลำดับ

    ถ้าคนใดไม่ลืมตัว ไม่ประมาทรู้จักพระ รู้จักตน รู้จักท่าน คนนั้นก็สบาย แต่ทีนี้ส่วนมากคนเรานั้น พระก็ไม่รู้จัก ก็เลยลืมตนลืมตัว คนลืมตนลืมตัวจะเอาดีที่ไหนได้ อันนี้ไม่ได้ ถ้าเราจะเป็นคนดีก็อย่าลืมตัวลืมตนต้องสร้างโอกาส อย่ารอฟ้าลิขิต สิ่งที่ไม่เคยพบก็เสาะแสวงหาให้ได้พบ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็จงเปิดหูเปิดตาให้ได้เห็น สิ่งที่ไม่เคยได้ยินก็ได้ยิน จงเรียนไป หมั่นหาความรู้ไป จากไม่รู้ไปสู่ความรู้ จากรู้ไปสู่ความรู้ยิ่งขึ้นไป เมื่อเราวิ่งขึ้นสู่ความสูงเรารู้ว่าเรารอดแล้วรอดน้ำ รอดดิน รอดเหว รอดอะไร ไปรอดมารอด เพราะสิ่งนี้จะมีอานุภาพรอดพ้นจากภยันตรายได้

    การธุดงค์ที่ผ่านมามันก็เหมือนกับสถานที่นั้นเราเคยไปมาแล้ว เคยผ่านมาแล้ว มาคราวนี้เราก็ไปแผ่เมตตาให้เขาอยู่อย่างผาสุก อยู่เย็นเป็นสุข ให้สถานที่น่ารื่นรมย์ น่าอยู่ น่าสงเคราะห์ น่าเกื้อกูลกัน มันถึงจะมีความสุข ให้เกิดระเบียบ ระเบียบก็คือความสงัด สามัคคีต้องสันติด้วย ถ้าสามัคคีไม่มีสันติมันก็แตกแยก ทะเลาะกันอย่างคนสองคนทะเลาะกัน เราจะไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก ใครแพ้ใครชนะ ต้องให้เขาหยุดก่อน คนที่หยุดก็คือคนถูก คนที่ยังเถียงอยู่ตลอดส่วนมากจะเป็นคนผิดพูดมากก็ผิดมาก พูดน้อยก็ผิดน้อย

    การเดินทางมีอยู่สองทาง ทางหนึ่งไปสู่สุคติ (ทางดำเนินที่ดี สถานที่ดีที่สัตวโลกซึ่งทำกรรมดีตายแล้วไปเกิด ได้แก่มนุษย์และเทพ) อีกทางหนึ่งไปสู่ทุคติ (ภูมิชั่วทางดำเนินที่มีความเดือดร้อนสถานที่ไปเกิดอันชั่วที่เกิดที่ไม่ดี มากไปด้วยทุกข์ ได้แก่ นรก เปรต) แล้วทางไหนที่ไปสู่สุคติ ทางไหนไปสู่ทุคติ ให้พวกเราเว้นทางที่ไปสู่ทุคติ ขอให้ไปทางสุคติเหมือนคำที่ท่านบอกไว้ว่า “สีเลนะ สุคะติง ยันติ คนจะเป็นสุขได้เพราะมีศีล สีเลนะ โภคะสังปะทา บริโภครับได้เพราะศีลฯ” จะไปสู่สุคติได้เพราะศีล ศีลนี้มันอยู่ที่ใจ กายเป็นศีล วาจาเป็นศีล ใจเป็นศีล ก็เรียกว่าอยู่ในภพธรรม เป็นพุทธคุณ ธรรมคุณสังฆคุณ นี่คือ ดวงแก้วสามดวง ดวงหนึ่งพระพุทธ ดวงหนึ่งพระธรรม ดวงหนึ่งพระสงฆ์ นี่คือ แสงสว่างส่องสันดานสัตว์ให้สว่างไสว จึงจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงได้

    การนั่งวิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่บางทีก็ปรากฏภาพหลวงปู่หลวงตาองค์นั้นองค์นี้เข้ามา เหมือนกับมาสังสรรค์มานั่งอยู่ด้วยกันอย่างนี้ กระแสธรรมท่านยังอยู่ สื่อสัมพันธ์ยังมีเพราะมีธรรมะสื่อร่วมกัน เป็นสาระผูกพันกันอยู่ เป็นสาระธรรมไม่ว่ายุคใดๆ ก็จะรู้จักกันไปหมดแล้วรู้จักกันทางไหน ก็เคยไปรักษาศีลด้วยกัน นั่นจึงเป็นเหตุให้รู้จักกันเพราะศีล ศีลนำพาให้รู้จักกันทำอุโบสถร่วมกันทำกิจกรรมอะไรร่วมกัน คือรู้จักกันในศีลในธรรม อยู่ในข้อวัตรปฏิบัติเดียวกัน ไม่ว่าพระหรือฆราวาสถ้าตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัยก็เข้าถึงกระแสธรรมได้หมด ธรรมที่สำเร็จแล้วถึงขั้นพระอรหันต์ถึงขั้นนั้นได้ แต่ญาติโยมปุถุชนธรรมดาจะได้แค่อนาคา (มี)...

    ...ธรรมนี้มีให้เลือกเฟ้นเอาตามอุปนิสัย ที่มี 84,000 พระธรรมขันธ์ โดยแยกออกเป็น 3 หมวด

    หมวด 1 เรียกว่า พระวินัย
    หมวด 2 เรียกว่า พระสูตร
    หมวด 3 เรียกว่า พระอภิธรรม

    รวมแล้วเรียกว่า พระไตรสรณะ ก็ได้มาเป็น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวช ทีนี้เรียกภายนอกภายในมันก็ขึ้นอยู่ที่วัตถุเวลานี้วัตถุเยอะปลูกบ้านก็มีแต่สวยๆ สิ่งเหล่านี้แหละมันคือ วัตถุ เมื่อเรามีวัตถุ มีการศึกษา การศึกษามีอยู่สองทาง ศึกษาทางโลก ก็เป็นสุขทางโลก ศึกษาทางธรรม ก็ได้ทั้งทางโลกทางธรรม รู้โลกรู้ธรรม รู้ธรรมเราก็เอาธรรมไปรักษาโลก ...

    ...การเข้าไปรู้ตัวสภาวะนี้ก็เป็นการรู้อาการของจิตทั้งหลาย ท่านบอกว่าเป็นรัฐบุรุษบ้าง เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงบ้าง นี่เป็นไปตามหมวดธรรม ถ้าใครรู้ก็มีสติ มีปัญญา มีวิริยะ เป็นปัญญา ทางธรรม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม รักษาดีแล้ว เท่ากับรักษาได้หมด”

    แล้วหลวงปู่จ้อยเองล่ะรักษาได้อย่างไร?

    ใครที่ไม่ได้ติดแต่รูป ฤทธิ์ ปาฏิหาริย์จะได้ยินท่านพูดเองว่า จิตของท่าน “ทันแล้ว ซึ่ง โลภะ โมหะ โทสะ”

    หลายคนมาได้ยินเรื่องนี้เอาเมื่อสาย เพราะท่านมรณภาพไปเสียแล้วในท่านั่ง เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ขณะอายุ 84 ปี 10 วัน 64 พรรษา


    ***หมายเหตุ : ขอขอบคุณ คุณชัยวัฒน์ ติญญนนท์ และ คุณวินิต วงศ์ปิยนันทกุล ผู้เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล***


    -------------------
    [​IMG]
    หลวงปู่จ้อย พุทฺธสโร ผู้มีจิตทันแล้วซึ่ง โลภะ โมหะ โทสะ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. greenice

    greenice เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    760
    ค่าพลัง:
    +1,390
    ขอกราบเพื่อส่งดวงวิญญาณของหลวงปู่ผู้ซึ่งเป็นพระแท้สู่แดนอันสุข สงบ .สาธุ สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...