หยดน้ำบนใบบัว (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ตอนที่ 24-26 สงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย TupLuang, 1 พฤศจิกายน 2008.

  1. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    ตอนที่ 24 โรงพยาบาล


    ด้านวัตถุและเครื่องอุปโภคบริโภค

    การสงเคราะห์ด้านโรงพยาบาลนี้ หลวงตาท่านเอาใจใส่มาโดยตลอด และนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ท่านเคยกล่าวว่า

    "...สภาพของคนไข้ที่ต่างรอคอยความหวังจากหมอเป็นสภาพที่น่าสงสารมา คนไข้ก็คือคนจนตรอกจนมุม เมื่อวิ่งมาหาหมอ หากหมอไม่มีเครื่องมือที่ดีที่ทันสมัยก็ก้าวไม่ออกรักษาให้ไม่ได้ และสภาพคนชนบทเป็นคนยากจนเสียส่วนมาก

    การบำบัดรักษา ถ้าพอเป็นไปได้ก็ควรให้รักษาใกล้บ้าน จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองมากในการเดินทางตลอดสถานที่พักอาศัยการกินอยู่หลับนอน..."

    ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้จนถึงปัจจุบัน ท่านสงเคราะห์สถานพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 100 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เตียง เครื่องช่วยชีวิตเด็ก เครื่องช่วยหายใจเด็กทารก เครื่องดูดของเหลว เครื่องช่วยคลอด กล้องจุลทรรศน์ เตียงทำฟันพร้อมอุปกรณ์ ฯลฯ

    นอกจากนี้แล้ว ท่านยังบริจาคในด้านอื่นๆ อีกมากมายเช่น รถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ สร้างตึกผู้ป่วย สร้างตึกรวมเมตตามหาคุณ สร้างตึกสงฆ์อาพาธ ห้องผ่าตัด ฯลฯ ตั้งเป็นกองทุนตึกอุบัติเหตุ กองทุนศูนย์พิทักษ์ดวงตา กองทุนสงเคราะห์คนพิการและผู้ยากจนไร้ที่พึ่ง ฯลฯ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารคนไข้และเจ้าหน้าที่ ค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ฯลฯ กระทั่งซื้อที่ดินให้ รวมประเภทของรายการต่างๆๆ เท่าที่พอรวบรวมได้ เกินกว่า 500 รายการ (รายการที่ซ้ำกัน แม้จะมีจำนวนมากกว่า 1 ชิ้นขึ้นไป ก็นับเป็น 1 รายการ)

    เยี่ยมโรงพยาบาล

    ในระยะหลายปีมานี้ ท่านมักจะออกเยี่ยมโรงพยาบาลต่างๆ อยู่เป็นประจำ พร้อมนำข้าวสาร อาหารสด อาหารแห้ง ผ้าขาว ฯลฯ บรรทุกเต็มรถเท่าที่รถจะสามารถรับน้ำหนักได้ไหว เพื่อนำไปแจกโรงพยาบาล

    พร้อมกันนี้ ท่านจะถือโอกาสตรวจดูด้วยว่ายังขาดตกบกพร่องในเครื่องไม้เครื่องมืออันใดบ้าง การนำของไปแจกในที่ต่างๆ นั้น ท่านมีเหตุผลหลักเกณฑ์ ดังนี้

    "...ไปไหนๆ แต่ละโรงๆ นี้เป็นล้านๆ แสนๆ นี้รู้สึกจะเริ่มมีน้อยแล้วเดี๋ยวนี้ มีแต่ล้านๆ ขึ้นไป ไปนี่ไม่ใช่ไปให้เครื่องมือแพทย์เท่านั้นนะ ยังไปดูหมออีก ดูพยาบาลอีก กิริยามารยาทของหมอเป็นยังไง เวลาเกี่ยวข้องกับคนไข้ ดูอากัปกิริยาของเขาเป็นยังไงๆ ดูไปหมด ไม่ใช่แต่ว่าใครจำเป็นอะไรๆ แล้วเอามาให้ๆ อย่างนั้นไม่ได้ เราไม่ทำอย่างนั้น ให้ทั้งสิ้นของด้วย

    ดูทั้งน้ำใจ ดูทั้งกิริยามารยาทความประพฤติดีงามของหมอและพยาบาลด้วยเป็นยังไง จะพอพยุงเครื่องมือของเรานี้ไปได้ไหม เพื่อประโยชน์แก่คนไข้ได้จริงหรือไม่หรือเสียเงินเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรต้องดูอีก แล้วเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นยังไง หมอเหล่านี้เป็นหมอพ่อค้า พยาบาลพ่อค้าหรือเป็นหมอเป็นพยาบาลเพื่อรักษาคนไข้ เพื่อเอาหัวใจคน เอาชีวิตจิตใจคนจริงจังหรือเป็นยังไงบ้าง ดูไปหมด ไปทุกแห่งทุกหน ไปดูอย่างนั้นนะที่เราไปโน้นไปนี้วันนี้เปิดเสียให้ชัดเจน เราไม่เคยพูดแหละคำอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไปปฏิบัติหน้าที่อย่างนี้แหละอยู่ ไปเรื่อยๆ...แล้วก็ดูสภาพของโรงพยาบาล ดูสภาพของเครื่องมือ ถ้าตรงไหนมีความจำเป็นมาก ทุ่มให้เลยเทียว เอ้าขาดอะไรๆ บอกมาๆ บอกเท่าไรให้เท่านั้นๆ ให้เลยเป็นล้านๆ นั่งครู่เดียวเอาไปสองล้านสามล้านก็มี นั่นอย่างนั้นละ ถ้าถึงใจ เอาจริงเรา ถ้าไม่ถึงใจ สตางค์หนึ่งก็ไม่ให้..."

    ไม่ทอดทิ้งถิ่นกันดาร

    โรงพยาบาลบางแห่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เป็นที่ลำบากหลายสิ่งหลายประการ ท่านก็ไม่ลืมที่จะไปเยี่ยมเยียนและอนุเคราะห์ ดังตัวอย่างนี้

    "...วันนี้ก็จะไปโรงพยาบาลภูหลวง ไปดูอีกทุกห้อง ห้องไหนมีความจำเป็นอะไร ก็จะช่วยเหลือกันไป เพราะเป็นโรงพยาบาลอยู่ที่คับแคบตีบตันอั้นตู้ลำบากลำบน ไปก็เอาข้าวเอาของไปเต็มรถๆ เทปัวะๆ ไป

    คือถ้าตรงไหนที่อยู่ท่ามกลางของอู่ข้าวอู่น้ำ เราก็ไม่ค่อยสนใจนักนะ ถึงจะเป็นโรงพยาบาลเล็กก็ตาม แต่อยู่ท่ามกลางของอู่ข้าวอู่น้ำ ไม่ค่อยอดอยากขาดแคลนอะไรมากนัก เราก็ไม่ช่วย อย่างอื่นพวกข้าวพวกอาหารการกินไม่ค่อยช่วยมาก ช่วยแต่เครื่องมือแพทย์ไป

    ถ้าที่ไหนขาดแคลนอย่างนั้น เราช่วยทุกด้านเลย เครื่องมือแพทย์ก็ช่วย อาหารการกินก็ช่วย เช่น อย่างภูหลวงนี้ไม่มีข้าวภูเรือ ก็ยิ่งอยู่ในภูเขาด้วยซ้ำ ไม่มีข้าวนายูง ไม่มีข้าว ทางคำตากล้า ก็ไม่มี น้ำท่วม คำตากล้าไม่ได้ทำนากัน น้ำท่วม เหล่านี้เราไปทั้งนั้นแหละ นี่ก็ยังส่องดาวนี้อีก นี่เริ่มแล้ว ทางส่องดาวนี้เริ่มแล้ว อยู่ในหุบเขา ไปหาที่หุบเขาๆ ที่จำเป็นๆ..."

    แม้โรงพยาบาลที่อยู่ไกลออกไปมากๆ ท่านก็ไม่เคยลืมหรือทอดทิ้ง เมื่อโอกาสอำนวยให้เมื่อใดท่านจะรีบไปเยี่ยมทันที ดังนี้

    "...วันนี้เราก็จะไปละ เอาของไปโรงพยาบาลคำชะอีกและดอนตาล ไกลนะ วันนี้ สงสาร มันอยู่ด้วยกัน 2 โรง จึงเอาไปไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ว่าเต็มรถนะ หากไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะแบ่ง 2 โรงอยู่ใกล้กัน ถ้าไปโรงเดียวก็เต็มรถ เทปัวะเลย ได้มาก เอาไป 2 โรงก็ต้องแบ่งครึ่ง แต่รถนั้นเต็มรถ วันนี้จะเป็น 2 โรง มันไกล 3 ชั่วโมงกว่า กว่าจะถึง...ไปส่งแล้วกลับ ขนาดนั้นค่ำพอดีๆ..."

    ด้านธรรมะ

    หากมีโอกาสฟังเทศน์ของท่านอยู่ประจำ จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า ท่านมีความห่วงใยสงสารคนเจ็บป่วยมาก ท่านสอนเสมอว่า

    "...มนุษย์เราจะยากดีมีจนบุญหนักศักดิ์ใหญ่หรืออาภัพวาสนาอย่างไร ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เกิดมาด้วยบุญด้วยกรรม และกรรมย่อมจำแนกแจกแจงสัตว์ให้มีความประณีตเลวทรามต่างกัน แล้วเกิดไปตามวิบากแห่งกรรมของตนๆ

    ดังนั้น ท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน แต่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน เพราะหากมนุษย์ไม่ช่วยสงเคราะห์มนุษย์ด้วยกันแล้วใครจะช่วย เรื่องความเจ็บป่วยนั้น ถ้าใครโดนเข้า ใครก็ทุกข์ทั้งนั้นเจ็บไปแค่หนึ่ง แต่ครอบครัวพี่น้องพ่อแม่ก็ป่วยทางใจ ป่วยด้วยความห่วงใยอีกเท่าไร จึงควรเห็นใจกัน..."

    แพทย์-พยาบาล ต้องมีเมตตาธรรม

    เมื่อมีโอกาสอันควร ท่านจะแนะเตือนด้วยความเมตตา แก่บรรดาแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเสมอๆ ดังตัวอย่างหนึ่งท่านแสดงธรรมแก่คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข มีท่านรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนี้

    "...วันนี้ได้พูดถึงเรื่องโรงพยาบาล โรงพยาบาล กับ หมอ เป็นของสำคัญอยู่มาก หมอนั้นสำคัญอยู่ที่นอกจากเรียนหลักวิชาแห่งหมอมาแล้ว นั้นเป็นทางเดินกลางๆ แต่อัธยาศัยใจคอและจิตวิทยาของหมอที่จะปฏิบัติต่อคนไข้นั้นเป็นสิ่งลึกลับ แต่จำต้องนำมาใช้สำหรับหมอ เวลาคนไข้ได้ป่วยเจ็บหัวตัวร้อน วิ่งเข้ามาหาหมอ กิริยามารยาทที่นิ่มนวลอ่อนหวานที่เป็นพื้นมาจากความเมตตาของหมอนั้น ต้องออกแสดงก่อนอื่น ก่อนยาที่จะเข้าถึงตัวคนไข้

    ความเอาอกเอาใจให้ความอบอุ่นแก่คนไข้นั้น เป็นยาขนานแรก ซึ่งจะต้องเข้าถึงคนไข้ก่อนอื่น จากนั้นก็ปฏิบัติไปตามหน้าที่ ด้วยความเมตตาของหมอ เพราะคำว่าหมอนี้โลกทั้งหลายเขายอมรับ ยอมรับให้ศักดิศรีดีงาม ยอมรับนับถือให้ความเคารพทุกสิ่งทุกอย่าง ไว้วางใจกับหมอ

    เพราะหมอนั้นถือกันว่าเป็นแบบพิมพ์ เป็นศักดิ์ศรีดีงามของชาติไทยหรือของโลก โลกเขาจึงยอมรับ เมื่อเราก้าวเข้ามาสู่ความเป็นหมอ เริ่มตั้งแต่เรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ ก็เริ่มมีเกียรติแล้ว...โลกยอมรับนับถือเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเป็นหมอออกมา โลกยิ่งยอมรับมากขึ้น นับถือมากขึ้น

    เพราะฉะนั้น การต้อนรับโลกที่นับถือนั้น เราจึงต้อนรับด้วยความเมตตาเป็นพื้นฐานของหมอ หมอต้องมีความเมตตาเป็นพื้นฐาน สมบัติเงินทองข้าวของสิ่งเหล่านั้น เป็นสิ่งเป็นผลพลอยได้เท่านั้น เมตตาที่มีต่อคนไข้ทั้งหลายที่เขามาพึ่งพาอาศัย เขามาขอความอบอุ่นจากเรานั้น เป็นเรื่องที่ หมอ จะต้องปฏิบัติ และพยาบาลจะต้องปฏิบัติให้ถึงชาวบ้านทุกๆ รายไป นี่เป็นหลักสำคัญ

    โรงพยาบาลจึงเป็นโรงชุบชีวิตของสัตวโลกทั้งสองอย่าง คือ โรงพยาบาลหมอเกี่ยวกับโรคทางร่างกายหนึ่ง โรงพยาบาลหรือสถาบันอันใหญ่หลวงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้มีความจำเป็นอย่างน้อยเสมอกัน มากกว่านั้นทางด้านจิตใจคือธรรมเป็นของสำคัญมาก..."

    คนไข้กับหมอ ดั่ง "พ่อแม่ลูก"

    โรงพยาบาลที่ท่านเมตตานำพวกอาหารไปสงเคราะห์ในแต่ละวันๆ นั้น โดยมากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่นั้นๆ

    จะเคารพท่านถือท่านเป็นเสมือนพ่อแม่ เวลาท่านนำของไปแจกแต่ละครั้งๆ หลังจากที่ได้ซักถามว่ามีสิ่งใดขาดหรือไม่แล้ว ในระยะหลังนี้บางครั้งท่านจะถือโอกาสสอนเตือนแก่หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ เพราะท่านก็ถือเหมือนลูกเหมือนหลานของท่านเช่นกัน ดังตัวอย่างที่ท่านนำมาเล่าแบบขำขันให้ฟัง ดังนี้

    "...คนไข้เข้ามาเขาฝากเป็นฝากตาย ฝากทุกสิ่งทุกอย่าง ครอบครัวเหย้าเรือน เขาฝากมาหาหมอหายาหาพยาบาลหมดจะว่าไง เขามาหาแล้วหน้าบึ้งใส่เขามีอย่างเหรอ แบบนี้ก็มีแต่แบบหน้าหมาไม่ใช่หน้าคน เราว่างั้น ก็บอกชัดๆ อย่างนี้แล้ว เขาก็อดหัวเราะไม่ได้ เขาหัวเราะ.. เราอย่าเห็นว่า เราเป็นถึงหมอ คนไข้เป็นทุคตะเข็ญใจหรือเป็นหมาตัวหนึ่งเข้ามานี้ ด้อมๆ เข้ามาในโรงพยาบาล ไม่เป็นเช่นนั้นนะ

    คนไข้มาแต่ละคนคน พระเจ้าแผ่นดินแห่มานะ พระเจ้าแผ่นดินไม่แห่มายังไง ก็เงินเต็มกระเป๋า ตราพระเจ้าแผ่นดินตีตรามาเห็นไหมล่ะ คนไข้เขามีคุณค่าต่อหมอขนาดไหน เราต้องคิดบ้างซิ... คนไข้คนหนึ่งกับหมอเป็น อัญญมัญญัง อาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าไม่มีคนไข้ หมอก็หมดความหมาย โรงพยาบาลล้มหมด ที่ตั้งกันอยู่อาศัยกันอยู่ทุกวันนี้ พอเป็นไปได้ทั้งฝ่ายหมอฝ่ายคนไข้ก็เพราะต่างคนต่าง อัญญมัญญัง ซึ่งกันและกัน อย่าเห็นว่าทางไหนสูงกว่ากัน ถ้า อัญญมัญญัง แล้ว อยู่ด้วยกันได้มนุษย์เรา

    ...เพราะเรื่องคนไข้กับหมอแยกกันไม่ออก เหมือนพ่อแม่กับลูก เราจะว่าเป็นเทวดากับหมาได้ยังไง เราก็บอกถึงว่า

    เงินในกระเป๋าเขามาแต่ละคน พระเจ้าแผ่นดินแห่มานะว่างั้น...คนหนึ่งกระเป๋าเป้งๆ มา เขาให้ด้วยน้ำใจมีเยอะนะ เขาให้ค่าหยูกค่ายาเป็นธรรมดา เขาให้ด้วยน้ำใจของหมอ น้ำใจของพยาบาลที่มีคุณแก่คนไข้ของเขา แล้วเขาตั้งใจให้ด้วยน้ำใจมากกว่านั้นอีกนะ มีเยอะนะ..."
     
  2. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    ตอนที่ 25 สงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส


    ความเมตตาสงเคราะห์โลกของหลวงตา มิใช่ว่าจะสิ้นสุดเพียงที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น ท่านยังให้ความเมตตาเผื่อแผ่ไปถึงผู้ด้อยโอกาสในที่ต่างๆ อาทิ สถานสงคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญาปากเกร็ด สถานสงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกระทั่งผู้ประสบภัยธรรมชาติร้ายแรงตามภูมิภาคต่างๆ ท่านก็ยังให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหตุผล ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนเป็นที่พึ่งทางใจแก่ผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก

    ดังนั้น การสงเคราะห์จึงมีหลายแบบต่างๆ กันไป เช่น ค่าจ้างพี่เลี้ยงผู้อภิบาลเด็กพิการทางสมองและปัญญา ค่าก่อสร้างอาคารสถานที่และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เป็นต้น ความเมตตาอย่างหาประมาณมิได้ ในส่วนนี้ของท่าน จึงแผ่ครอบคลุมกว้างขวางทั่วประเทศ ตามเหตุผลอรรถธรรมที่ควรเป็น ซึ่งท่านเคยกล่าวไว้บ้าง ดังนี้

    "...ไม่ว่าแต่โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ต่างๆ เราก็ให้ เช่น อย่างสถานสงเคราะห์บ้านข้าวสารนี้เราก็ช่วย...ที่อื่นเราก็ช่วย ไม่ช่วยแต่ที่แห่งเดียว แล้วคนทุกข์คนจนมีความจำเป็นยังไงบ้างที่ควรจะช่วยเป็นรายบุคคลๆ นั้น เราช่วยมาตลอด อันนี้กว้างขวางมากไปหลายจังหวัด ภาคไหนก็ไปหมด บางทีส่งแต่เงินไปให้ก็มี บางทีเจ้าของไปดูเอง ปลูกบ้านให้ก็มี ซื้อที่ให้ก็มี ทั้งซื้อทั้งที่ปลูกบ้านให้ก็มี นี่เรียกว่า ช่วยรายบุคคลที่จำเป็น ช่วยทั่วไป แต่นี้เราไม่ค่อยพูดไม่ค่อยประกาศระบุชื่ออะไรแหละ ให้แล้วเงียบไปเลยๆ เพื่อรักษาเกียรติเขา สิ่งที่ควรจะพูด เราก็พูดได้ เช่น รายที่ออกทางหนังสือพิมพ์แล้ว เป็นการเปิดเผยแล้ว เวลาเราช่วย เราก็พูดบ้าง ถ้าเป็นเรื่องไม่มีหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องมาพูดขอความช่วยเหลือกันโดยเฉพาะๆ นี้ เราก็ให้เป็นเรื่องเฉพาะๆ ไปเลย แล้วเหมือนไม่ให้ ให้แล้วผ่านไปๆ เรื่อยๆ อันนี้ช่วยตลอด..."

    ทุกข์...เพราะภัย

    ครั้งหนึ่ง พี่น้องชาวลาวประสบภัยเดือดร้อน มีผู้อพยพจำนวนมากมายต่างหนีร้อนมาพึ่งเย็นชั่วครู่ชั่วยามที่จังหวัดหนองคาย คราวนั้นหน่วยราชการต่างอลหม่าน ด้วยไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรกับผู้อพยพเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องฉุกละหุกเฉพาะกิจเร่งด่วน ทั้งจะต้องดูแลเรื่องอาหารการกินการอยู่ ที่พักหลับนอนขับถ่าย เกี่ยวกับสาธารณูปการต่างๆ พอได้พักได้อาศัยกันไปก่อนชั่วครู่ชั่วยาม จึงเป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจแก่หน่วยที่รับผิดชอบอยู่ไม่น้อยทีเดียว

    เมื่อท่านทราบถึงเรื่องนี้ เพื่อช่วยกันเข้าอุ้มภาระใช้จ่ายของหน่วยราชการ และที่สำคัญ ด้วยความเมตตาสงสารต่อพี่น้องชาวลาว ซึ่งไม่มีสิ่งใดแตกต่างกันเลยเรื่องเลือดเนื้อเชื้อไข เพราะอดีตเป็นพี่เป็นน้องกันตลอดเรื่อยมา สิ่งสกัดกั้นมีเพียงแม่น้ำโขงเท่านั้นเอง อีกทั้งท่านว่าต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดตายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อประสบกับความทุกข์อย่างสาหัสทั้งทางกายและตื่นตระหนกเสียขวัญทางใจเช่นนี้ด้วยแล้ว ท่านจึงรีบแสดงความเมตตาเข้าช่วยเหลือทันที ดังนี้

    "...เช่นอย่างพวกเวียงจันทน์ พวกประเทศลาวข้ามมา...ก็มาเต็มอยู่นี้ โหหลายหมื่นเต็มอยู่ที่หนองคาย ดูเหมือนเราไปแจกของถึง 3 ครั้งด้วยกัน...แจกถึง 2-3 วันถึงหมดๆ แต่ละครั้งนี่นะ ครั้งแรกก็ไม่เท่าไหร่ ครั้งที่ 2 กับที่ 3 นี่หนักมาก แจกเอาอย่างเต็มเหนี่ยว คือแจกด้วยความยุติธรรม ที่ให้เสมอกันหมด ไปสำรวจเอาตัวเลขมาเลย ไม่เอาครอบครัว เอาตัวเลขมีเท่าไหร่แจก... เพราะฉะนั้น มันถึงนาน คนเขาแจกช่วยกันเยอะนะ อย่างคนที่มารับมันก็มาก 2 วัน 3 วันรถสิบล้อนี่ โอ้โห จอดกันเป็นแถวเลย ข้าวเต็มเอี๊ยดๆ...และเครื่องกระป๋องก็เหมือนกันอีก รถสิบล้อๆ ถ้าหากว่ามันขาดตรงไหนๆ ให้เขาวิ่งไปตลาด โห ตลาดเขาถามเลย

    "จะเอาไปไหนนักหนาล่ะ ?"

    พอว่า "อาจารย์มหาบัว" แล้ว โฮ้ย คือเขาเสียดายที่ไม่ได้เตรียมเอาไว้ขายนี่ เวลาไปมันไม่พอละซิ เข้าไปร้านนั้นแล้วไปร้านนี้ กว้านเอาร้านนั้นร้านนี้ ให้เขาลงบัญชีเรียบร้อยไว้ ลงบัญชีไว้หมด พอเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาจ่ายตามนั้นเลยทันที นอกนั้นไม่ได้คำนึงละ เรื่องเงินเรื่องทองนี่น่า นี่เท่าไรเอามา ว่างั้นเลย บอกเอามา พอเสร็จแล้ว เราค่อยสั่งจ่ายทีเดียวปั๊บเลย หนองคายนี้ก็ 3 ครั้งนะ..."

    ช่วยเงียบ...อยู่ใต้ดิน

    ความเมตตาของท่านในผู้ประสบทุกข์ภัยต่างๆ ยังมีอีกหลายประการแจกแจงไม่หมดสิ้น จะขอยกมาแสดงบ้าง ดังนี้

    "...ไฟไหม้ที่ไหนๆ เราจะเข้าถึงก่อนๆ ทั้งนั้น รถนี้ โถ...รถสิบล้อๆ นี่เป็นอัธยาศัยมาดั้งเดิม ไฟไหม้ที่ไหนๆ อำเภอนั้น อำเภอนี้ เราจะยกขบวนไปเลย...ทางไหนบ้างมีอยู่เรื่อยๆ นะ ไฟไหม้ที่ไหนๆ ทางอำเภอบ้านดุงบ้าง ที่ไหนบ้างนะ ก็ให้เขาแจกแบบเดียวกัน เครื่องกระป๋องก็เต็มรถ เต็มรถเลย บ้านดุงนี้ดูว่าเหลือไปทางไหนบ้างนะ ไปทางโรงเรียน อะไรบ้าง...

    เพราะเราเอาไปแจกมากจริงๆ ไม่ใช่เล่นๆ นะ จนของที่ไปแจกนั้น พวกเครื่องกระป๋องเหลือเลย เขาเลยขอไปทางไหนๆ บ้าง เราก็ให้ไป เพราะเราตั้งใจเอามาแจกอยู่แล้วนี่ ของเหลือเท่าไรๆ ก็แยกออกไปตามโรงร่ำโรงเรียน ส่วนนี้เราก็ได้สมบูรณ์ตามจำนวนที่เรากำหนดเอาไว้ ได้เสมอกัน เหลือจากนั้นไปอีก เพราะเราเอาไปเผื่อมากมายนี่ เขาก็แยกไปโรงเรียนอะไรต่ออะไรบ้าง ก็อย่างนั้นนะ นี้ก็ไม่ให้ใครลงข่าวนะ ไม่ให้ลงทำแบบใต้ดินๆ ตลอดมา..."
     
  3. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    ตอนที่ 26 สงเคราะห์สัตว์


    ความเมตตาสงสารต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายนี้ หลวงตาเคยให้เหตุผลว่า "...ชาติชั้นวรรณะไม่มี ลงในคำเดียวว่า สัพเพ สัตตา อันว่าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ครอบหมดเลย เสมอภาคเลย เห็นอกเห็นใจกันทั่วถึงหมดเลย นี่ละธรรมพระพุทธเจ้า ฟังเอาซิ...

    คือสัตว์ทุกตัวเกิดมาได้ด้วยอำนาจของกรรมทั้งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของชาติชั้นวรรณะยศถาบรรดาศักดิ์อะไร เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของกรรม กรรมเป็นพื้นฐานให้เกิด นอกนั้นก็แตกเป็นแขนงออกไป สุจริตบ้าง ทุจริตบ้าง แล้วแต่จะเกิด นั่นเป็นเรื่องนอกต่างหาก หลักของกรรมเป็นหลักใหญ่

    เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน แม้แต่ สัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่ให้ดูถูกเขา เวลานี้เขาเสวยกรรม อยู่ในวาระของกรรมของเขาอย่างนั้นๆ เป็นชั้นๆ ไปเลย ท่านจึงไม่ให้ประมาท มันเป็นวาระๆ อย่างคนลงมาจากน้ำจากหลุมจากบ่อขึ้นภูเขา ทีแรกก็อยู่ใต้ก้นบ่อ พอขึ้นมาแล้ว เขาขึ้นภูเขาสูงกว่าเราอีก กรรมไม่แน่นอน แล้วแต่ใครสร้างของใครเอาไว้...

    ...เขาก็รักสุข เกลียดทุกข์ มีหิวมีอิ่ม มีเจ็บป่วย มีราคะตัณหา มีจิตวิญญาณเช่นเดียวกับมนุษย์เรา ตัวจิตนี้เองเป็นตัวพาท่องเที่ยวให้เราไปเวียนว่ายตายเกิด...เพราะนี้ขึ้นอยู่กับวาระของกรรมที่ให้เสวยผลดีชั่ว อย่างไรตามวาระที่เราสร้างกรรมมา จึงไม่ควรประมาทเขา ไม่ควรเบียดเบียน ไม่ควรรังแกและไม่ควรฆ่าเขา การเบียดเบียนเขาก็คือ เบียดเบียนตัวเรานั่นเอง..."

    สัตว์พิการ ไม่ถูกทอดทิ้ง

    เหตุนี้เอง เมื่อท่านทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากลำบากของบ้านสัตว์พิการ (ซอยพระมหาการุณย์ ปากเกร็ด) ซึ่งเป็นบ้านที่รับเลี้ยงสัตว์หลายประเภททั้งปกติและพิการจำนวนมากหลายร้อยชีวิต ด้วยความสงสารสัตว์เหล่านี้ ท่านจึงอนุเคราะห์ ช่วยซื้อที่ดิน สร้างอาคาร ช่วยเหลือค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และค่าใช้จ่ายต่างๆ ฯลฯ

    การเข้าไปช่วยเหลือบ้านสัตว์พิการแห่งนี้ ท่านเล่าถึงความเป็นมาโดยย่อ ดังนี้

    "...ที่ปากเกร็ด หมาตั้งสามสี่ร้อยตัว เขาออกทางหนังสือพิมพ์ เราเห็นในหนังสือพิมพ์ก็ตามไปดู ไปดู โอ้โห มีแต่หมาพิการยั้วเยี้ยๆ ไปดูสภาพของมัน แล้วเป็นยังไง ถามสภาพความเป็นอยู่ของเจ้าของที่เลี้ยงหมา ถามทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งถึงค่าน้ำค่าไฟ ค่าบริการต่างๆ รอบด้าน เกี่ยวกับหมานี้ เดือนหนึ่งหมดเท่าไร

    เขาว่า ถ้าธรรมดาแล้วก็เดือนละแสน แต่นี้มันไม่มีเงินแสนซิที่จะเลี้ยงหมา บางวันเครียดเสียจนกระทั่งนอนไม่หลัง เป็นยังไงถึงเครียด โอ๊ย หมาก็ร้องพอหมา คนก็ทุกข์พอคน หมาร้องหิวโหย ไม่มีอะไรจะให้กิน เจ้าของก็หมดไม่มีอะไรจะกิน อาชีพเพียงเป็นครูเท่านั้น เมื่อเห็นหมาก็สงสาร เอามาเลี้ยงๆ พอคนอื่นเห็นเราเลี้ยงหมาตัวหนึ่ง เขาก็เอามาทิ้งไว้ที่หน้าบ้านๆ แล้วก็เลี้ยงเรื่อยๆ มาจนกระทั่งป่านนี้แหละ บางวันเครียดเสียจนนอนไม่หลับ หมาก็ร้อง พอหมา คนก็ทุกข์พอคน ว่างั้น เราก็เลยถามถึงเรื่องราวต่างๆๆ เขาบอกว่าหมดเดือนละแสน เราเลยให้เดือนละหนึ่งแสนเลย ตั้งแต่บัดนั้นมาหลายปีแล้วนะ ให้เดือนละหนึ่งแสนๆ ถ้าหากว่าขัดข้องอะไร จำเป็นอะไร ให้บอกอีกนะ รถเราก็จะให้ เขาบอกเขาไม่เอารถ เราให้มอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง

    เขาบอกว่าอาศัยรถเพื่อนฝูงได้อยู่ไม่เป็นไร...นอกจากนี้ก็ซื้อที่ให้หนึ่งไร่เลย แต่ก่อนเขามีอยู่หนึ่งไร่ เราซื้อให้อีกหนึ่งไร่แล้วสร้างตึกให้อีกหนึ่งหลัง สบายทุกวันนี้ หมาปากเกร็ดสบาย...

    "สุนัขปลอดภัย...ไม่จรจัด"

    บ้านเลี้ยงสุนัขอีกแห่งหนึ่งบนถนนพุทธมณฑลสาย 3 ซึ่งมีสุนัขกว่าร้อยตัวที่ต้องเป็นภาระดูแลอยู่ที่นี่ ท่านก็ได้ให้การช่วยเหลือ ดังท่านเล่าความเป็นมาว่า

    "...ไปกรุงเทพฯ อีกคราวนี้ เขาก็เขียนจดหมายมาหาเรา เพราะจดหมายเราเบื่อพอแล้วนะ มันจดหมายอะไร จดหมายยุ่งนี่นะ เอามาอ่าน ใจอ่อนทันที เขาพูดถึงเลี้ยงหมา ไม่มีเงิน ติดหนี้ติดสินเขาพะรุงพะรัง เพราะการเลี้ยงหมานั่นเอง สงสารหมา ไม่รู้จะทำยังไง ก็ไปกู้ยืมเพื่อนฝูงมาซื้ออาหารให้หมากิน เจ้าของก็จนตรอกจนมุม เวลานี้ติดหนี้ท่วมหัว หมาบางวันก็อิ่ม บางวันก็หิวจะตาย ร้องครวญครางจะตาย แต่เจ้าของก็จะตาย ไม่ทราบจะทำยังไง ถ้าท่านจะเมตตาได้ก็จะเป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง เขาเขียนจดหมายมา พอเห็นเท่านั้น เราให้พระตามไปเลยนะวันหลัง เขาบอกบ้านเลขที่ไว้เรียบร้อยที่กรุงเทพฯ ตามไปดูก็ยั้วเยี้ยๆ ตามที่บอก ถามเขาให้ชัดเจนนะ ทุกสิ่งทุกอย่างถามให้ชัดเจน พอถามเสร็จแล้วก็มา เจ้าของเขาก็ตามมา มาถึงเราก็ถามกับเจ้าของเขาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย เขาบอกว่าติดหนี้อยู่สำหรับเลี้ยงหมา เลี้ยงหมานี้เดือนหนึ่งหมดประมาณเท่าไร หมดประมาณหมื่นห้าว่างั้น เดือนหนึ่งให้พอเหมาะพอดีประมาณหมื่นห้า...หนี้ทั้งหมดนั้นหามาเลี้ยงหมานะ เราเห็นใจ

    ...เอา เราจะใช้ให้ เดี๋ยวนี้ส่งไปแล้ว พอมาถึงปั๊บก็ส่งปุ๊บเลย...เดือนละหมื่นห้านั้น เราให้เป็นเดือนละสามหมื่นประจำทุกเดือนไปเลย ให้เป็นเดือนละสามหมื่น เรียกว่าทบครึ่ง เผื่อเอาไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว (ใช้หนี้) ก็ให้พร้อมไปเลย...

    เราก็จะจ่ายให้ตามนั้นหมดเลย... หมาที่สวนแสงธรรมกำลังทุกข์ เราจึงช่วยทุกข์ พออ่านจดหมายว่าหมา ใจอ่อนเลยนะ เลยคำว่าวุ่นจดหมาย วุ่นนี่มายังไงกัน เลยหมดเลยคำว่าวุ่น อ่อนทันทีเลย ให้ตามไปดูในวันหลัง ได้ความมาอย่างนั้นละ ก็เป็นอันว่าเปลื้อง แล้วหนี้... เราก็จะให้คนนี้ ให้เขาอยู่เลี้ยงหมา ที่ไร่หนึ่งนั้นให้เลี้ยงหมาหมดเลย บุญของเขา บุญของหมา...

    ไม่ลืม...สัตว์ในวัด

    ความเมตตาส่วนนี้ท่านถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งชนิดที่ท่านไม่ยอมให้บกพร่องเลย นั่นคือ ความเมตตาต่อสัตว์ที่อยู่ในวัดป่าบ้านตาด ซึ่งมีอยู่หลายประเภท เช่น ไก่ป่า กระรอก กระจ้อน กระแต ฯลฯ

    ท่านคอยสังเกตเอาใจใส่ดูแลเรื่องอาหาร น้ำ ตลอดมา โดยเน้นเดือนพระเณรที่มักเผลอลืมให้อาหารสัตว์อยู่เสมอว่า

    เขาอยู่กับเรา เขาก็อาศัยเรา เราจะใจจืดใจดำไม่สนใจการกินอยู่ของเขานั้น ไม่ควรอย่างยิ่ง เราก็หิว เขาก็หิว เรามีปากมีท้อง เขาก็มีปากมีท้องเช่นกัน อย่าเป็นพระแบบใจดำๆ สิ่งใดพอจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันก็ช่วยเหลือกันไป จึงจะสมกับเป็นลูกศิษย์ตถาคตผู้มีเมตตาธรรม

    เหตุนี้เอง ภายในวัดจึงมีที่สำหรับให้น้ำให้อาหารแก่กระรอกกระแต มีการทำเป็นร้านเล็กๆ สูงระดับอกกระจายอยู่ทั่ววัด กะจำนวนได้มากกว่าร้อยจุด ร้านกระรอกทุกร้าน ท่านเน้นย้ำว่า ควรมีข้าวเหนียว กล้วยสุกหรือผลไม้สุกในปริมาณพอดีกับที่เขาต้องการ ไม่มากไปจนบูดเน่าเหม็น หรือน้อยไปจนขาดเขิน ควรเหลือไว้บ้างพอดีๆ

    การให้อาหาร ก็โดยพระเณรฆราวาส จะมาเอากล้วยหรือผลไม้อื่นๆ จากโรงเก็บซึ่งเป็นจุดกลาง จากนั้นก็นำไปวางไว้ตามจุดให้อาหารที่ตนรับผิดชอบบริเวณใกล้กุฏิ พวกไก่ป่าจะมีกระสอบข้าวสารหักวางไว้ที่จุดกลางเสมอๆ เพื่อไว้ให้พระเณรฆราวาสตักใส่ถัง แล้วเอาไปหว่านในจุดให้อาหารทั่ววัดตามเขตรับผิดชอบของตน และคอยหมั่นสังเกตน้ำกินของสัตว์ด้วย ไม่ปล่อยให้พร่องไป

    สิ่งเหล่านี้เป็นข้อปฏิบัติที่พระเณรผู้มาศึกษาอยู่กับท่านทุกระยะนับแต่ตั้งวัดเป็นต้นมา ต่างองค์ต่างรับผิดชอบใส่ใจดูแลสัตว์ในวัดเสมอมาทุกรุ่นๆ ไป เมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณของท่าน ดังที่ได้บรรยายมาแต่ต้นนี้ ย่อมไม่สามารถจะพรรณนาให้หมดให้สิ้นได้อย่างแน่แท้ สิ่งที่พอจะสื่อได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ คำกล่าวของท่านเองที่ว่า

    "...ธรรมเป็นธรรมชาติที่นิ่มนวลอ่อนโยน เมื่อเข้าสัมผัสสัมพันธ์กับใจผู้ปฏิบัติ ผู้มีความเชื่อความเลื่อมใสแล้ว จิตใจนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่นิ่มนวลอ่อนโยนไปด้วยเมตตาจิต ไม่เคยมีก็มี ความไม่เคยเสียสละก็เสียสละได้เพื่อผู้อื่น เพราะความเมตตา สามารถมองเห็นเขาเห็นเราว่ามีสาระสำคัญเช่นเดียวกันได้ เพราะความเมตตาเมื่อธรรมมีอยู่ในจิตดวงใดมากน้อย จิตดวงนั้นต้องแสดงออกทางกิริยาให้เห็นปิดไว้ไม่อยู่ ยิ่งจิตที่บริสุทธิ์ด้วยแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะนิ่มนวล ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าจิตดวงนั้น ให้ความเสมอภาค ให้ความเมตตาแก่สัตว์ทั่วๆ ไป ไม่พูดเพียงมนุษย์เท่านั้น

    แม้สัตว์เดรัจฉานชนิดใดก็ตาม ไม่กล้าดูถูกเหยียดหยาม ไม่กล้าทำลาย ให้ความเสมอภาคตามความจริง และเมตตาโดยสม่ำเสมอ ไม่มีคำว่าจะเป็นลุ่มๆ ดอนๆ ว่าคราวนั้นมีเมตตา คราวนี้ไม่มี เพราะจิตนั้นเป็นจิตเมตตา ดวงเมตตาทั้งดวงก็คือจิตดวงที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว..."

    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8856
     

แชร์หน้านี้

Loading...