หยดน้ำบนใบบัว (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ตอนที่ 19 แสงธรรม ส่องทาง

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย TupLuang, 25 ตุลาคม 2008.

  1. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    ตอนที่ 19 แสงธรรม ส่องทาง


    นับแต่ปี 2493 เป็นต้นมา หลวงตาเมตตาอบรมธรรมปฏิบัติ เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนา แก่พระเณรและฆราวาสเสมอมา บรรดาลูกศิษย์ลูกหาผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับแสงธรรมของพระพุทธองค์เป็นลำดับ ไม่จำกัดว่าเป็นพระหรือฆราวาส ไม่จำกัดว่าเป็นหญิงหรือชาย พยานในธรรมก็ย่อมประจักษ์ขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติเป็นลำดับไปเช่นกัน ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า

    "...ภาคปฏิบัติก็คืองานอันหนึ่งของเรา ทำไมงานเรามีด้วยการประพฤติปฏิบัติ ผลทำไมจะไม่มีได้เล่า เหตุกับผลเป็นของคู่เคียงกันมาแต่ไหนแต่ไร ทำไมเราทำมันจะไม่มีผล เมื่อเหตุเป็นไปสมควรแก่ผลจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว..."

    ฉะนั้น เมื่อท่านเหล่านี้ต่างเพียรสร้างเหตุให้สมบูรณ์ขึ้นทุกขณะ ผลอันควรย่อมเกิดขึ้นได้และนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นในจิตใจของท่าน กระทั่งไม่เห็นวัตถุสิ่งของเงินทองลาภยศบริษัทบริวารหรือยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ เป็นของประเสริฐเลิศเลอยิ่งกว่า "ธรรม" สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องอาศัยเครื่องอำนวยความสะดวกแก่ร่างกายให้พอเป็นพอไปเท่านั้น แต่เรื่องของ "จิตใจ" นั้น ท่านถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าอย่างหาประมาณมิได้เลย

    ธรรมเทศนาที่หลวงตาแสดงแก่พระเณรผู้เข้ามาศึกษาอบรม...รุ่นแล้วรุ่นเล่า มิได้แตกต่างกัน คือท่านจะย้ำอยู่เสมอว่า

    "...การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ จะยากลำบากเพียงไร ก็ให้ถือว่าเป็นงานอันตนจะพึงทำ หลีกเลี่ยงไปไม่ได้ ถ้าต้องการพ้นจากทุกข์ซึ่งกีดขวางกดถ่วงจิตใจอยู่ตลอดเวลานี้ ให้จิตใจเป็นอิสระ อย่าพึงท้อถอยทางความเพียร อย่าไปคำนึงว่าวาสนามากวาสนาน้อย ในขณะที่จะทำความดีมีการเดินจงกรมนั่งสมาธิเพื่อมรรคผลนิพพาน เป็นต้น

    ถ้าจะคิดว่าอำนาจวาสนาน้อยในขณะที่จิตเลื่อนลอยเผลอตัวออกไป พอระลึกได้ก็ให้ทราบว่านี่เป็นการสั่งสมในการตัดทอนนิสัยวาสนาของตนให้ด้อยลงไปโดยลำดับ ถ้ามากกว่านี้ นิสัยวาสนาก็จะขาดสูญไปเพราะความชั่วเป็นสิ่งทำลายหรือเผาผลาญให้วอดวายไป

    การทำความดีอยู่ตลอดเวลาก็คือ การสร้างอำนาจวาสนาขึ้นภายในจิต เพื่อจะปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึกมีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไปนั่นแล ใครจะไปสร้างวาสนาที่ไหน ถ้าไม่สร้างที่ใจ วาสนาจะมากน้อยเพียงไร ก็เกิดขึ้นที่ใจเป็นผู้สร้างได้

    เราอย่าเข้าใจว่ามรรคผลนิพพานจะเหินห่าง จะอยู่ห่างกันจากปฏิปทาคือข้อปฏิบัติ เช่นเดียวกับบันไดมีความเกี่ยวเนื่องกันกับบ้านเรือน ตึกรามบ้านช่องจะสูงเพียงไร บันไดเลื่อนติดแนบไปทุกๆ ชั้นของบ้านของเรือน คำว่า ธรรมะ จะสูงขั้นไหนซึ่งเป็นฝ่ายผล ...ธรรมฝ่ายเหตุคือข้อปฏิบัตินี้จะพึงติดแนบกันไปทุกขั้นทุกภูมิ เพราะผู้ที่จะก้าวเข้าถึงธรรมขั้นนั้นๆ ก็ต้องเป็นไปตามธรรมขั้นเหตุ คือทางดำเนิน..."

    หลวงตาเทศน์ให้กำลังใจแก่ศิษย์พระเณรและฆราวาสในคราวที่เกิดความทุกข์ ความลำบากท้อแท้ใจในการปฏิบัติธรรมว่า

    "...ยากลำบากไม่ใช่อะไรพาให้ยากนะ ถ้าว่าจะสร้างความดีนี้มันหากมีเครื่องขัดเครื่องข้องขึ้นภายในใจ นั้นแหละคือกิเลสมันกีดมันขวางเรา ไม่ใช่ธรรมกีดขวางไม่ให้ทำ

    ขึ้นชื่อว่าความดีแล้วมันไม่อยากให้ทำ นั่นคือกิเลสมันขวางไว้ๆ...ถ้าเราได้ทำตามใจของเราแล้ว ฝืนมันทำแล้ว ต่อไปก็ไม่ได้ฝืน กำลังมันอ่อนลงๆ ทีนี้ไม่ได้ทำอยู่ไม่ได้ แน่ะ อำนาจของความดีมีอย่างนั้น...

    นี่เกิดมาชาตินี้ไม่ดีแล้ว เกิดแก้มืออีกไม่ได้นะ กรรมของเรามียังไงก็ต้องไป นี่พอเหมาะเป็นจังหวะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว และพร้อมกับได้พบพุทธศาสนา พุทธศาสนาคือศาสนาเอก ผู้สิ้นกิเลสเป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าของเราเป็นผู้สิ้นกิเลส ไม่มีศาสนาใดที่เป็นผู้สิ้นกิเลสครองศาสนาสั่งสอนสัตวโล มีศาสนาพุทธ พุทธๆ นี่เท่านั้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ขึ้นชื่อว่าพุทธศาสนาแล้ว ต้องเป็นศาสนาของท่านผู้สิ้นกิเลส...

    ไม่ใช่ศาสนาจะมีตลอดไปนะ มีเป็นวรรคเป็นตอน เช่น เวลานี้ก็พุทธศาสนาของเรายังมี พอหมดจากนี้แล้ว กว่าจะไปถึงศาสนาพระอริยเมตไตรยนี้ นั่นแหละท่านเรียกว่า สุญญกัป...ไม่มีคำว่าบาปว่าบุญในหัวใจสัตวโลก ทั้งๆ ที่บาปบุญคุณโทษนรกสวรรค์มีอยู่ดั้งเดิมก็ตาม แต่ใจสัตวโลกยังไม่ยอมรับ สิ่งที่ยอมรับคือความอยากความทะเยอทะยาน ความเกรี้ยวกราด อะไรทุกอย่างขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้วมันไปรวมนั้นหมด ให้ดูดให้ดื่ม ให้พออกพอใจ มองเห็นหน้ากันมีแต่กัดแต่ฉีกกันทั้งนั้น...

    ถ้าเกิดเช่นนั้นแล้วเรียกว่ากรรม ผู้ที่มีกรรมหนาที่สุดจึงต้องไปเกิดในย่านนั้น...ก็ไม่มีที่จะได้สร้างบุญสร้างกุศล เพราะไม่มีใครแนะนำสั่งสอนรู้ได้ สิ่งที่สัตว์ทั้งหลายทำอยู่ทุกวัน ทำอยู่ด้วยความดูดดื่มก็มีแต่ความชั่วช้าลามก มีแต่ฟืนแต่ไฟอันเป็นผลเผาไหม้ ไม่มีส่วนดีเลย นี่เราไม่ได้เกิดในช่วงสุญญกัป เราเกิดในช่วงพุทธกัปคือกัปพระพุทธเจ้าอยู่เวลานี้ จึงให้พากันขวนขวาย...

    เวลานี้เราได้เกิดมาพบพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นบุญลาภของเรา กิจโฉ มนุสส ปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นบุญลาภอันประเสริฐ แน่ะ ออกจากนั้นก็ กิจฉัง สัทธัมมัสสวนัง ยังได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอีก ก็เป็นบุญลาภอีกอันหนึ่งเพียงเท่านี้ก็พอแล้วเรา ท่านว่า กิจโฉ พุทธานมุปปาโท เพราะการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้านั้น เป็นบุญลาภอันประเสริฐสุดของสัตวโลก นี่คำสอนของท่านที่เป็นองค์แทนศาสดามีอยู่ ให้ได้ยึดคำสอนของท่านนี้แลคือองค์แทนศาสดา จะไม่ผิดพลาด ให้พากันอุตส่าห์พยายาม..."

    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8856
     

แชร์หน้านี้

Loading...