หมดเกิดหมดตาย อุบาสก เปลี่ยน รักแซ่

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 4 ตุลาคม 2010.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    หมดเกิดหมดตาย อุบาสก เปลี่ยน รักแซ่

    [​IMG]

    สัปดาห์ก่อนเสนอเรื่อง คุณลุงหวีด บัวเผื่อน ฆราวาสบรรลุธรรม พลอยให้นึกถึงชีวิตอุบาสกผู้ประเสริฐอีกท่านหนึ่งนั่นคือ อุบาสก เปลี่ยน รักแซ่.....

    โดย...ภัทระ คำพิทักษ์


    สัปดาห์ก่อนเสนอเรื่อง คุณลุงหวีด บัวเผื่อน ฆราวาสบรรลุธรรม พลอยให้นึกถึงชีวิตอุบาสกผู้ประเสริฐอีกท่านหนึ่งนั่นคือ อุบาสก เปลี่ยน รักแซ่
    ประวัติอุบาสกเปลี่ยนไม่มีอะไรมากกว่า เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2415 เป็นผู้มีจิตเมตตา โอบอ้อมอารี เป็นที่นับถือของเพื่อนบ้านซึ่งตั้งนิวาสถานอยู่คือ ต.ห้วยจำปา อ.เมือง จ.ราชบุรี พออายุ 73 ปี คือใน พ.ศ. 2488 ได้สละการครองเรือนออกมาปฏิบัติธรรม เป็นผู้ชายคนเดียวในสถานปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย อุบาสิกา กี นานายน หรือ ก. เขาสวนหลวง ผู้เป็นหลาน ละขันธ์ไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ปี พ.ศ. 2508 สิริรวมอายุ 94 ปี
    21 ปีแห่งการละการครองเรือนออกมาปฏิบัติธรรมนั้นเริ่มจากหลักไมล์หลักแรกเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2488 วันนั้นท่านและอุบาสิกา แดง รักแซ่ และอุบาสิกา กี นานายน ได้พากันออกเรือนมาปฏิบัติธรรมที่เขาสวนหลวง
    ตลอด 21 ปีถัดมานั้นอุบาสกเปลี่ยนดำรงตนอยู่ตามครรลองต่อไปนี้




    “ท่านชอบอยู่เงียบสงบแต่เพียงผู้เดียว เป็นผู้มักน้อย สันโดษและไม่ชอบคลุกคลี แม้ทำกิจการงานก็ชอบทำอยู่เงียบๆ คนเดียว ตลอดถึงเรื่องอาหารการรับประทาน ท่านชอบเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ชอบอาหารจุกจิก หรือชอบอาหารหลายอย่าง ประจำวันใช้ผักจิ้มน้ำพริกไม่ใคร่ๆ ได้รับประทานเนื้อสัตว์ แม้อย่างนี้ก็มีร่างกายแข็งแรง ตามธรรมดาเมื่อรับประทานอาหารแล้ว ก็มักไปอยู่ในป่ารวกตามเชิงเขา เพราะบริเวณของสถานปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวงติดกับเชิงเขา ท่านออกกำลังถางป่าบ้างเล็กน้อยแล้วผักผ่อนอยู่คนเดียวเงียบๆ มีปกติพูดน้อย มีการปฏิสันถาร ผู้อยู่ผู้ไปด้วยคำพูดที่ให้เกิดประโยชน์ในด้านจิตใจเสมอ วันหนึ่งๆ จะไม่พูดเรื่องอื่น

    ท่านเป็นผู้อ่อนน้อม ไม่มีทิฐิมานะ แม้จะได้รับคำชี้แจงเหตุผลหรือแนะนำอย่างไร ก็ไม่เคยแสดงความกระด้างเป็นผู้มีความเคารพธรรมอยู่เป็นนิตย์ ท่านมีคารวะต่อผู้แนะนำคือ อุบาสิกากี ผู้เป็นหลาน ด้วยความกตัญญูธรรมอย่างปราศจากการถือตัวในเรื่องเพศเรื่องวัย โดยถือเอาคุณวุฒิเป็นใหญ่...” (จากหนังสือการปฏิบัติธรรมของอุบาสก เปลี่ยน รักแซ่)

    แล้วผลการปฏิบัติธรรมของท่านเป็นอย่างไร?

    ความนี้ปรากฏชัดว่า เมื่อชุมชนปฏิบัติธรรมแห่งนั้นได้ให้ท่านแสดงข้อปฏิบัติบนหอประชุมธรรม ท่านก็กล่าวแต่เพียงสั้นๆ เช่น “รู้ว่าง วางเฉย ไม่มีอะไร”

    “จิตใจเป็นธรรม ผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ กองกิเลส”
    “รู้อยู่ก็ว่างอยู่”
    “รู้ว่าอะไรๆ มันก็ไม่เที่ยงแล้วจะไปยึดอะไร”
    “ดับหมด เป็นหมด หมดเกิด หมดตาย”
    “นามรูปขันธ์ห้าไม่เที่ยงใครจะไปบังคับบัญชามันได้ ก็มันไม่มีตัวของมันเอง”

    “รู้เอง เป็นเอง เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบานด้วยธรรม” ฯลฯ

    เมื่อมีผู้ไปสนทนาธรรมก็มักจะได้ยินข้อธรรมแบบดาบเดียวทะลุหัวใจที่ล้วนแต่เกิดจากการปฏิบัติ อาทิ

    “ผมใช้ภาวนา ธรรมดา รู้อยู่”
    “พิจารณาแยกออกหมดแล้วมันก็ไม่มีอะไร” ฯลฯ

    เรื่องราวที่ทรงพลังที่สุดของอุบาสกเปลี่ยน คือเหตุการณ์ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายแห่งชีวิต เดือน ส.ค.-ก.ย. 2508 เรื่องราวในช่วงนี้กลายมาเป็นบันทึกประวัติส่วนใหญ่ของท่าน

    เดือน ส.ค. 2508 อุบาสกเปลี่ยน เริ่มป่วยพอมีคนไปเยี่ยมแล้วถามว่าเป็นอย่างไร? ท่านก็ตอบว่า “ไม่เป็นไรอยู่เฉยๆ ว่างๆ รู้ตัวเอง ปล่อยตัวเองเสียแล้ว ก็ไม่เจ็บป่วยอะไร”

    พอมีคนให้ยาว่า รับประทานแล้วจะชื่นใจ ท่านก็ว่า “ไม่ต้องก็ได้ จิตใจมันก็เบิกบานสดชื่นอยู่แล้ว” พอว่าจะทำแป้งมาให้รับประทานจะได้ระงับเวทนาท่านก็ว่า “ก็เวทนาไม่มีแล้วจะมาดับอะไร” ต่อมามีผู้ถามว่า แล้วเวทนาไม่รวบ ไม่รัดคุณตาบ้างรึ ท่านก็ว่า “ทำไมไม่รวบ ทำไมไม่รัด แต่รู้ดับ รู้ปล่อยเสียแล้ว มันก็ไม่มีอะไร”

    ครั้นต่อมาลูกสาวเชิญแพทย์มาตรวจอาการ แพทย์ถามว่า เป็นอย่างไรได้คำตอบว่า “ก็ไม่เป็นไร สบายดี อยู่ว่างๆ วางเฉย ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย จิตใจเป็นธรรม”
    ใครไปถามอาการป่วยว่าเป็นอย่างไร ท่านก็ตอบเป็นธรรมอย่างหมดจดทุกครั้งไป อาทิ “จิตใจเป็นธรรม นำผู้ปฏิบัติออกจากกองทุกข์กองกิเลส จิตใจรู้ว่าง ไม่มีอะไร ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย อยู่ที่ว่างๆ เสียแล้วก็ไม่มีอะไร รู้เอง เห็นเอง จิตใจอยู่ที่ไม่ยึดถือ มันก็ว่างจากทุกข์”
    เมื่ออาการกำเริบขึ้นตามลำดับ อุบาสิกากี ก็ได้สอบทานอารมณ์ของท่านอยู่ตลอดเวลา ในช่วงต้นเดือนนั้นเองท่านก็บอกหลานซึ่งเป็นผู้บอกธรรมว่า “จิตมันวิเวก”
    แล้วทั้งสองท่านก็ได้สนทนากันโดยมีความที่น่าสนใจดังนี้

    “อุบาสก : ‘จิตมันวิเวก’
    อุบาสิกา : อย่างนั้นหรือ
    อุบาสก : รับคำ
    อุบาสิกา : อย่างนั้นซิ นี่มันวิเวกจากอารมณ์อะไรหมด อารมณ์อะไรกระทบไม่ได้ ปรุงไม่ได้อย่างนั้นแหละ
    อุบาสก : (รับคำ) สงบเข้า มันวิเวกถึงความรู้ว่า นี่มันของไม่เที่ยงทั้งนั้น ว่างเปล่า หมดจากตัวตน สงบเอง สว่างเอง มันลึก
    อุบาสิกา : ค่ะสงบเอง ว่างเอง มันลึก ถูกแล้วมันลึกนี่แหละเป็นประโยชน์อย่างสูง ที่คุณลุงรู้เองในภายในลึกๆ นี่นะมีประโยชน์มาก|ทีเดียว เพราะว่าความรู้อะไรที่เป็นเครื่องปรุงแต่งนั้น มันปรุงส่วนนี้ไม่ได้ มันไปรู้ในส่วนลึกเสียแล้ว ความปรุงแต่ง มันก็อยู่แต่ข้างนอกใช่ไหม?
    อุบาสก : (รับคำ)
    อุบาสิกา : ทีนี้ส่วนลึกนั่น มันไม่มีปรุงแต่งแล้วใช่ไหม?
    อุบาสก : (รับคำ)
    อุบาสิกา : อย่างนั้นซิ นี่ นับว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ของคุณลุงแล้ว ที่รู้เข้าไปในด้านลึกได้ ที่มันหมดความหมายความปรุงไปได้อย่างนี้ นี่แหละเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทีเดียว ถ้าหากว่า หมดลมไปในขณะที่จิตรู้อยู่ในลักษณะที่เป็นเองในส่วนลึก ไม่มีตัวเป็นตัวเป็นตนเลยอะไรเลย เป็นสภาพธรรมล้วนๆ แล้วละก็นั่นแหละ ไม่ต้องมีหมายอะไรขึ้นมาอีก เป็นการดับสนิทความทุกข์โดยประการทั้งปวง จะได้ไม่ต้องเกิดใหม่อีกต่อไป รู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ นะ
    อุบาสก : (รับคำ)
    อุบาสิกา : ฉันขอโมทนาด้วยเป็นอย่างมากทีเดียวสำหรับผู้ที่ปฏิบัติได้อย่างนี้ นี่นับว่ามีสรณะ หรือสมมติว่ามีที่พึ่งในจิตใจของตนเอง คือว่า พึ่งความดับไม่เหลือก็ได้ หรือว่าไม่ต้องพึ่งอะไรแล้วก็ได้ ความจริงมันไม่ต้องพึ่งอะไรแล้ว เพราะจิตมันว่าง ไม่ยึดถือเกี่ยวเกาะอะไรทั้งหมด มันก็เลยไม่ต้องพึ่งอะไรทั้งหมด มีแต่ความดับไป ปล่อยไปตามธรรมชาติทั้งหมด กายมันจะเป็นอะไรก็เป็นไปตามเรื่องของขันธ์ ตัวผู้เป็นนั้นไม่มี จะมีการเคลื่อนไหวก็เคลื่อนไหวไปตามธรรมดาของรูปของนามที่มีความรู้สึกตามธรรมชาติ ความรู้ที่เข้าไปรู้ด้านลึกที่เป็นจิตวิเวก จากความปรุงความคิดนึกโดยประการทั้งปวง นี่เป็นยอดของธรรมะ ถ้าใครฟังถูกฟังออกก็จะได้รับประโยชน์มาก

    ธรรมะในด้านจิตใจของคุณลุงนับว่าเป็นพิเศษ การพูดจาก็ไม่ได้พูดไปเรื่องอื่น แม้แขกจะไปมาเยี่ยมเยียนก็พูดอยู่แต่เรื่องไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนจิตว่างจิตเป็นธรรมเหล่านี้ ไม่มีการเล่าเรื่องอาการเจ็บป่วยเหมือนคนธรรมดาที่เขาไม่รู้จึงพูดเพ้อเจ้อแต่เรื่องเจ็บที่นั่น ปวดที่นี่ ส่วนคุณลุงไม่มีเลยที่จะไปเอาใจใส่กับโรคทางกายมีแต่ความรู้ทางจิตใจอยู่เรื่อย”

    วันต่อๆ มาลุง-หลานก็ได้สนทนาธรรมกันอีกอย่างต่อเนื่อง

    บางถ้อยคำนั้นอุบาสกเปลี่ยนบอกว่า “มันปีติ จิตมันว่างเปล่า ไม่มีตัวไม่มีตนก็อยู่เฉยๆ ว่างๆ จิตใจเป็นธรรม”

    อุบาสิกากีจึงรับว่า อ้อเพราะเหตุนี้เองที่คุณลุงไม่รับประทานยาเพราะมีธรรมโอสถแล้ว เมื่อปล่อยวางได้ก็ไม่มีใครทุกข์ จากนั้นจึงถามว่า ความรู้ที่ว่างข้างในนั้น มันชุ่มชื่นหรือ?

    อุบาสกเปลี่ยนตอบว่า “มันชุ่มชื่น มันเกิดมีปีติ ว่างเปล่าไม่มีอะไร มันว่าของมันเอง สงบแล้ว ว่างเปล่าไม่มีตัว จิตนี้มันเบิกบานของมันเอง”
    ครั้นถามว่า การที่เบิกบานอยู่ภายในนั้นถึงไม่ได้รับประทานอาหาร แต่มันก็มีกำลังอยู่ภายในหรือเปล่าก็ได้ความว่า “มีกำลังอยู่ภายใน”

    อุบาสิกากีอธิบายว่า อุบาสกเปลี่ยนรู้สึกว่า “ว่าง” ได้เพราะ “วางได้” ถ้าวางไม่ได้มันก็วุ่น

    เรื่องอย่างนี้ต้องหัดกันตั้งแต่ยังดีๆ อยู่ คือ ต้องทำจิตให้ว่าง รูปก็ว่างจากตัวตน เวทนาก็ว่างจากตัวตน วิญญาณก็ว่างจากตัวตน ถ้าทำได้พยายามเหมือนอุบาสกเปลี่ยน ตอนปลายของชีวิตความรู้ก็จะแจ่มแจ้งมากขึ้น ทำอย่างนั้นได้จึงเรียกว่า เป็นผู้แก่สติ แก่ปัญญา

    ต่อมาเมื่อถามอุบาสกเปลี่ยนอีกว่า เป็นอย่างไร ท่านว่า จิตใจเป็นธรรม จิตใจว่างเปล่าหมดจดสิ้นเชิง หยุดดู หยุดรู้ จิตใจว่าง

    อุบาสิกากีว่า อันนี้ฟังให้ดี จิตที่ว่างสอบได้ในตัวเอง นี่ธรรมะเป็นโอปนยิโกควรจะน้อมเข้ามาใส่ตัวถ้าไม่น้อมเข้ามาก็ไม่รู้ ต้องมีการพิจารณา ต้องมีการน้อมเข้ามาให้เห็นชัดแจ้ง อะไรมันเป็นของเที่ยง?

    อะไรเป็นของมีตัวตนที่ไหน?

    ต้องพิจารณาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จนพิจารณากันให้เห็นความเป็นธาตุ ในที่สุดต้องคืนทิ้ง ความเป็นธาตุก็คืนไปสู่ความเป็นธาตุ ต้องพิจารณาให้ชัดใจอยู่ทุกขณะทีเดียว ถึงแม้ว่าจะกำลังทุกข์อย่างไรก็ตามก็ดูที่นั่น ปล่อยที่ทุกข์นั่นแหละ แล้วจิตใจมันก็เหนือทุกข์ได้เหมือนคุณลุง...

    อุบาสิกากีอธิบายอีกว่า คำว่า “จิตใจว่างเปล่า หมดจดสิ้นเชิง” นี้เป็นความรู้แจ้ง เห็นแจ้ง เป็นการเจริญวิปัสสนา อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก รู้แจ้งเห็นแจ้งกระทั่งปล่อยวางออกไปได้เด็ดขาด
    จิตใจว่างนี้เป็นวิปัสสนาแท้ตลอดเวลา เมื่อมีความรู้ภายในเสียแล้วมันก็ไม่มายึดถือรูปนาม แต่ปล่อยวางอยู่ภายใน เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
    จิตใจว่างก็ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย

    อีก 2 วันต่อมา อุบาสิกากีมาเยี่ยมอีกหนและหนนี้เป็นหนสุดท้าย เวลานั้นอุบาสกเปลี่ยนพูดไม่ได้แล้ว แต่พยายามจะพูด หลานจึงว่า “นิ่งเถิดคุณลุง ปล่อยวางเรื่อย ให้ความรู้เข้าข้างในไว้นะคะ”

    ท่านว่า ความรู้ที่มันเข้าภายในได้แล้ว ไม่ต้องพูด ให้มันว่างหมดจดสิ้นเชิง ทิ้งไปเลย เป็นอย่างไรเป็น|ไป...เหนือสุข เหนือทุกข์ วางหมด ดับหมด...ไม่ยึดมั่นถือมั่น กายทุกข์ๆ ไป ข้างในไม่ทุกข์ พ้นทุกข์อยู่ข้างในจิต จิตมันพ้น จิตมันว่าง

    ถ้ายังกลัวทุกข์อยู่ ยังไม่กล้าสู้ดูทุกข์ ก็ไม่มีเวลาหลุดพ้นไปได้
    ...ถ้าว่างสิ้นเชิงไปได้ ไม่ยึดมั่น ถือมั่น เป็นตัวเราของของเราเสียได้ก็เป็นการพ้นไปในด้านจิต หลุดพ้นเป็น นิพพาน จิตที่ว่างสิ้นเชิงนั่นแหละ ดับทุกข์ดับกิเลสหมด “จิตว่างสิ้นเชิง” นั้นรวบยอด
    ...ไม่มีคนเกิด ไม่มีคนตายก็นับว่าเป็นการรู้ที่สุดของความทุกข์ ที่ความทุกข์ตามเข้าไปไม่ถึง ทุกข์อยู่ที่รูปนามขันธ์ห้า แต่สภาพธรรมอย่างนั้นมันเหนือมันพ้นไป

    ...ทุกข์มันมีอยู่ข้างนอกทั้งนั้น มีที่รูปนามขันธ์ห้า ที่เป็นตัวทุกข์ ทีนี้จิตมันว่างไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็พ้นไปแล้ว...คุณลุงได้ปล่อยวางออกไปได้นับว่าเป็นของประเสริฐ เป็นการพ้นทุกข์ทันทีแม้จะดับแตกลงไปก็ดับลงไปได้สนิท ไม่มีเชื้อ ดับหมด ปล่อยหมด ดับได้หมด ดับมันอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ให้เหลือ นี่คุณลุงพ้นทุกข์ได้เด็ดขาดไปเลย แล้วเกิดมาชาตินี้ก็เป็นชาติสุดท้าย

    ...ปล่อยวาง...ให้เด็ดขาดไปเสียเลย เป็นสมุจเฉทปหาน พอละก็ขาดกระเด็นออกไปทีเดียว ไม่มีการยึดถือให้มันถึงขนาดขาดกระเด็นออกไปเลย ทั้งๆ ที่ยังมีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่อย่างนี้ แต่จิตมันปล่อยขาดออกไปแล้ว มันไม่รู้สึกเป็นตัวเราของเราแล้ว การเคลื่อนไหวก็ทำไปตามหน้าที่ของขันธ์ คุณลุงทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจิตภายในจึงว่างสิ้นเชิงไปได้...”


    แล้วคืนนั้นอุบาสกเปลี่ยนก็ละขันธ์ จบการเดินทางอันยาวนานลงขณะอายุได้ 94 ปี

    --------------
    ที่มา : โพสต์ทูเดย์
    หมดเกิดหมดตาย อุบาสก เปลี่ยน รักแซ่
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...