หนังสือ"ธรรมะ" แค่หนังสือขายดีคงไม่พอ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย paang, 25 กันยายน 2005.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    บทความพิเศษ
    พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี อาจารย์พิเศษ บัณฑิตวิทยาลัย มจร.


    [​IMG]
    ----------------------------------------------------------------------------------------------------

    หลายปีมานี้หนังสือธรรมะกลายมาเป็นหนังสือขายดี บางเล่มขายดีอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นหนังสือธรรมะ เพราะมียอดขายถล่มทลายกว่า 100,000 เล่ม หลายคนดีใจต่อตัวเลขหนังสือขายดีเหล่านี้ หลายคนดีใจที่ใครต่อใครก็หันมาอ่านหนังสือธรรมะ แต่-- ท่ามกลางกระแสที่น่าชื่นชมที่ชาวพุทธไทยหันมาสนใจธรรมะกันนั้น หากมองอย่างฉุกคิดสักหน่อยก็จะพบว่า ในเรื่องที่น่ายินดีนั้น ก็มีเรื่องให้น่าเป็นห่วงอยู่ด้วยเหมือนกัน

    ประเด็นอะไรบ้างที่น่าเป็นห่วง ?

    1. การประยุกต์ธรรมให้สมสมัย โดยผู้เขียนหลายคนพยายามนำศาสตร์ร่วมสมัยมาตีความธรรมะของพระพุทธองค์ มองอย่างเผินๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หากมองอย่างพินิจ ก็จะพบว่าบางทีการพยายามทำให้ธรรมะเป็นเรื่องทันสมัย หากผู้เขียนทำอย่างหละหลวมก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้เหมือนกัน เช่น

    หนังสือเรื่อง "เหตุเกิด พ.ศ.๑" เป็นต้น หนังสือเล่มนี้ คือตัวอย่างหนึ่งของการพยายามตีความธรรมะหรือพุทธจริยาด้วยศาสตร์ร่วมสมัย แต่เพราะขาดความรอบรู้ และไม่ลึกซึ้งในวิธีวิทยาที่ใช้มากพอ จึงแทนที่หนังสือเล่มนี้จะก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในพุทธธรรม และพุทธจริยา ก็กลายเป็นการทำให้พุทธธรรมและพุทธจริยามัวหมองลงไป ผู้สนใจประเด็นดังกล่าวนี้ สามารถอ่านได้จากงานเขียนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ชื่อ "ตื่นกันเสียทีจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.๑"

    2. การพยายามประยุกต์พุทธธรรมให้มีลักษณะเป็น "ธรรมะฮาวทู" เหมือนกับหนังสือฮาวทูทั่วๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่แปลมาจากหนังสือของต่างประเทศ น่าสังเกตว่า เวลานี้มีหนังสือธรรมะในลักษณะธรรมะฮาวทูออกมามากมาย

    ข้อที่น่าเป็นห่วงก็คือ การนำธรรมะไปอธิบายเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับองค์ความรู้ของฝรั่ง หรือองค์ความรู้อื่นๆ ที่ตนต้องการนำเสนอ แต่เป็นเพราะขาดความเข้าใจในพุทธธรรมมากพอ จึงยิ่งอธิบายยิ่งทำให้พุทธธรรมขาดความลุ่มลึกลงไป หรือยิ่งห่างไกลออกไปจากความหมายเดิมและวัตถุประสงค์เดิมที่ท่านนิยมใช้กันอยู่ในพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น การอธิบายเรื่อง อุเบกขา ว่าเป็น "การวางเฉย" โดยไม่มองว่า ในความหมายเดิมนั้น ท่านแปลกันมาว่าอย่างไร ท่านให้วางเฉยในสถานการณ์ไหน ไปๆ มาๆ เลยสอนกันว่า เรื่องไหนก็ตามที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ก็ควรจะวางเฉยเสีย เมื่อสอนกันอย่างนี้ เลยพลอยให้กลายเป็นคน "เฉยเมย" ได้โดยไม่รู้ตัว

    หลักธรรมทางพุทธศาสนาทุกข้อที่พระพุทธเจ้านำมาแสดงนั้นมักจะมี "วัตถุประสงค์" เฉพาะข้อ เฉพาะบท พร้อมทั้งยังมี "บริบท" (context) ประกอบด้วยเสมอไป ไม่ใช่เห็นสอนกันมาอย่างไร ก็สอนต่อกันไปอย่างนั้น ความข้อนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เผยแผ่พุทธศาสนาจะด้วยการเขียนหรือด้วยการพูดก็ตาม ควรระวังสังวรเอาไว้ด้วยเสมอ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเผยแผ่หรือการประยุกต์ธรรมะในลักษณะ "ว่าเอาเอง" หรือเอา "อัตโนมัติ" ของตัวเองมาแทนคำอธิบายที่ถูกต้องถ่องแท้ของท่านซึ่งสอนกันมาแต่เดิมในพระไตรปิฎก

    3. การสอนเรื่อง "กรรม" ผ่านหนังสือประเภท " กฎแห่งกรรม" จำนวนมากมายในท้องตลาดเวลานี้ ก็น่าเป็นห่วงยิ่งนักว่า เรื่องกรรมที่สอนกันอยู่นั้น เป็นหลักกรรมในพุทธศาสนาหรือเป็นหลักกรรมในศาสนาอื่น และหรือเป็นหลักกรรมที่ "ว่าเอาเอง" กันแน่ อย่านึกว่า การสอนเรื่องกรรมเพื่อให้คนกลัวบาปกลัวกรรม แล้วทำให้คนแห่เข้าวัดได้เป็นจำนวนมากนั้น เป็นความก้าวหน้าในการเผยแผ่พุทธศาสนา บางทีจำนวนคนที่แห่กันมาเข้าวัดมากๆ นั้น ก็ไม่ใช่เครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการเผยแผ่พุทธศาสนาแต่เพียงด้านเดียว ตรงกันข้าม บางทีกลับเป็นภาพสะท้อนของความล้มเหลวในการเผยแผ่พุทธศาสนาก็ได้ด้วยเหมือนกัน

    หลักกรรมในพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนกันมาแต่เดิมนั้น ทรงนิยามความหมายของกรรมลงไปอย่างชัดเจนว่า "กรรม" หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือระบุให้ชัดยิ่งไปกว่านั้นก็ว่า "เจตนา" นั่นเองเป็นตัวกรรม แต่ความหมายของกรรมอย่างที่สอนกันอยู่เวลานี้ เป็นอย่างนี้กันหรือเปล่า นอกจากนั้นแล้ววัตถุประสงค์ที่ทรงสอนเรื่องกรรมก็มีอยู่อย่างน้อย 4 ประการ คือ

    1. ทรงสอนเรื่องกรรม เพื่อให้มนุษย์รู้จักการพึ่งตัวเอง ไม่ใช่รอคอยพึ่งพระเป็นเจ้า การสอนกรรมในแง่นี้ เป็นการปฏิเสธลัทธิพระเจ้าบันดาล หรือลัทธิเทวาปาฏิหาริย์ต่างๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่า คือ ผู้อยู่เบื้องหลังความเป็นไปในวิถีชีวิตมนุษย์

    2. ทรงสอนเรื่องกรรม เพื่อให้มนุษย์ได้มองเห็นความจริงตามสภาวสัจจะว่า สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ดำเนินไปในลักษณะเป็นห่วงโซ่แห่งความสัมพันธ์ของความเป็นเหตุและผล หรือเหตุปัจจัย สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี การสอนในแง่นี้ก็เพื่อปฏิเสธลัทธิกรรมเก่าของศาสนาเชนและศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมักสอนให้มนุษย์ "ยอมจำนนต่อกรรมเก่า" อย่างไม่คิดสร้างสรรค์สิ่งใดให้ตนเองก้าวไปข้างหน้า แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เราสามารถจัดสรรชีวิตของตัวเองได้แม้ในปัจจุบันด้วยการสร้างเหตุปัจจัยที่ดี ผลก็จะดีเอง นี่คือการสอนให้มนุษย์เข้าใจความจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ยอมสยบอยู่กับความจริงแห่งชีวิตสำเร็จรูปที่ถูกลิขิตมาเรียบร้อยแล้ว

    3. ทรงสอนเรื่องกรรม เพื่อให้มนุษย์มีโอกาสในการพัฒนาตัวเองอย่างทัดเทียมกันบนพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ผู้มีศักยภาพทางปัญญาอันเอกอุ และมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเสมอหน้ากัน การสอนหลักกรรมในแง่นี้ก็เพราะต้องการให้โครงสร้างอันอยุติธรรมในทางสังคมอินเดียโบราณหมดไป (คนอินเดียโบราณเชื่อมั่นในวรรณะ 4 ว่า คนทุกคนถูกพระพรหมกำหนดมาให้เกิดในวรรณะต่างๆ เมื่อเกิดมาในวรรณะไหนก็ต้องสังกัดวรรณะนั้น แนวความเชื่อเช่นนี้ เป็นการปิดโอกาสไม่ให้มนุษย์ได้พัฒนาตัวเอง ก่อให้เกิดการรังแก ข่มเหงกัน เอาเปรียบกันระหว่างคนต่างวรรณะมาจนทุกวันนี้)

    เพื่อให้การทำลายโครงสร้างอันอยุติธรรมทางสังคมนี้หมดไปได้จริงๆ พระองค์ถึงกับเปิดโอกาสให้คนจากทุกวรรณะได้เข้ามาบวชในพุทธศาสนา การสอนหลักกรรมในความหมายที่ 3 นี้ จึงเป็นการสอนที่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยในข้อที่ว่า ให้มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกัน

    4. ทรงสอนเรื่องกรรม เพื่อให้มนุษย์รู้จักรับผิดชอบชีวิตของตนอย่างดีที่สุด เพราะกรรมที่เราทำจะกลายเป็น "ผู้กำหนดชะตากรรม" ของเราเองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การสอนในแง่นี้มีหลักอยู่ว่า "ทำดี ย่อมได้ดี ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว เหมือนการหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น" ข้อสำคัญประการหนึ่งของการสอนหลักกรรมในข้อนี้ก็คือ ทำให้มนุษย์มีศรัทธาในระบบศีลธรรม/จริยธรรมในการดำเนินชีวิต รู้จักถูก ผิด ดีชั่ว และทำให้สังคมมีบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่เข้มแข็ง

    หลักกรรมในพุทธศาสนา เป็นเรื่องซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ลึกลับซับซ้อน ไม่น่ากลัว และไม่ใช่เรื่อง "กรรมเก่า" แต่เพียงอย่างเดียว "กรรมเก่า" เป็นเพียง "ส่วนหนึ่ง" ของหลักกรรมในพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของหลักกรรมในพุทธศาสนา แต่น่าสังเกตว่า เดี๋ยวนี้ ผู้สอนหลักกรรมหลายท่าน มักสอนเน้นหลักกรรมแต่ในแง่กรรมเก่า และกรรมเก่าเหล่านั้นก็สอนเน้นแต่ในด้านอกุศลเสียแทบทั้งสิ้น จนคนทั่วไปเริ่มเข้าใจผิดว่า "กรรม" หมายถึงแต่กรรมชั่วเท่านั้น ทั้งยังเป็นกรรมชั่วที่ส่งผลถึงชีวิตของผู้คนในปัจจุบันอย่างชนิดแทบทุกเรื่องอีกด้วย (=กรรมลิขิต) เมื่อเชื่อกันเช่นนี้ก็เลยพลอยให้มี "พิธีตัดกรรม" แปลกๆ เกิดตามขึ้นมาอีกด้วย

    การตัดกรรมตามหลักพุทธศาสนา สามารถทำได้ด้วยการทำความดี หลีกหนีความชั่ว และอย่างสูงหมายถึงการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 แล้วบรรลุคุณธรรมไปตามลำดับชั้นจนหมดกิเลสอยู่เหนือบุญเหนือบาป เหนือกฎแห่งกรรม เหนือความโลภ ความโกรธ ความหลง มาดำรงตนอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะอันสมบูรณ์ทุกลมหายใจเข้าออก ประการสำคัญ ใครอยากตัดกรรมคนนั้นต้องปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง ไม่ใช่ไปให้ใครก็ไม่รู้ซึ่งตั้งตนเป็นเจ้าลัทธิผู้รู้เรื่องกรรมมาทำหน้าที่ตัดกรรมให้ แล้วก็ต้องจ่ายค่าทำพิธีตัดกรรมกันแพงๆ

    ผู้เขียนเองเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่ทำงานเผยแผ่พุทธศาสนาอยู่ในปัจจุบัน และปรารถนาจะเห็นคนไทยหันมาสนใจธรรมะไม่น้อยไปกว่าที่ชาวพุทธทั่วๆ ไปอยากเห็น แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดเสมอมาก็คือ ในการเผยแผ่พุทธศาสนานั้น ต้องมีความเคารพต่อพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์อย่างหนักแน่น จะคิด เขียน พูด ก็พยายามที่จะนำเสนอพุทธศาสนา "ตัวแท้" อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ไม่ใช่ สอน/เผยแผ่พระพุทธศาสนาฉบับ "ว่าเอาเอง" แต่แต่งตัวให้ดูเหมือนเป็นพุทธศาสนาที่แท้

    จริงอยู่ ที่การเผยแผ่พุทธศาสนานั้นจำเป็นที่จะต้องปรับประยุกต์ให้หลากหลายเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงของมวลชนร่วมสมัย แต่ในการประยุกต์นั้น หากทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือทำเพราะหวังผลประโยชน์บังหน้า บางทีก็เป็นการ "เกลี่ยมลทิน" ลงในพระพุทธศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาอันผุดผ่องของพระพุทธเจ้าต้องมัวหมองลงไป

    การทำงานเผยแผ่พุทธศาสนานั้น จะใช้เพียง "ความปรารถนาดี" เป็นที่ตั้งอย่างเดียวคงยังไม่พอ แต่ยังจะต้องมี "ความรู้ดี" และ "ความประพฤติดี" เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย จะอ้างว่าพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คนหันมาสนใจพุทธศาสนาด้วยความปรารถนาดี โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ (ว่าจะชอบธรรมหรือไม่) แค่นี้คงไม่ได้ เพราะในความปรารถนาดีที่ขาดความรู้นั้น การทำคุณอาจกลายเป็นการทำบาปไปก็เป็นได้

    ขอฝากเรื่องนี้ไว้ให้ชาวพุทธพิจารณาร่วมกันด้วย
     

แชร์หน้านี้

Loading...