หนังสือโพธิธรรมทีปนี2 พระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย saksit5455, 3 กันยายน 2011.

  1. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    นิืมิตก่อนมรณะ

    กาลเมื่่อม่านดำแห่งชีวิตค่อยๆ รูดปิดเข้ามารำไร ซึ่งได้แก่เวลาที่คนเราั้ทั้งหลายใกล้จะถึงแดนมฤตยูสิ้นใจตาย แล้วไปบังเกิดในโลกอื่นต่อไปนั้น ในมรณาสันนวิถี คือวิถีจิตที่ใกล้จะตาย คตินิมิตารมณ์ คือนิมิตต่างๆอันบ่งบอกถึงคติแห่งโลกที่ตนจะต้องไปเกิด หลังจากที่ได้ดับจิตตายไปจากโลกนี้แล้ว ย่อมจักมาปรากฎให้คนี่กำลังจะตายเห็นได้อย่างชัดเจนทางมโนทวาร คือทางใจ เขาเห็นของเขาคนเดียว คนอื่นที่ยังไม่ตายไม่เกี่ยว คือไม่เห็นด้วย ก็คตินิมิตที่ปรากฎนี้ บางทีก็เป็นภาพที่ตนเคยเห็น บางทีก็เป็นภาพที่ตนไม่เคยเห็น แต่โดยมากภาพนิมิตที่ตนไม่เคยเห็นทั้งนั้น แบ่งเป็นประเภทได้ดังต่อไปนี้

    ก. ถ้าผู้ที่กำลังจะตายนั้น จักไปเกิดเป็นสัตว์นรกใน "นิรยภูมิ" เมื่อจักขาดใจตาย เขาย่อมจะเห็นนรกนิมิต เช่น เห็นเป็นเปลวไฟนรกอันร้อนแรงนักหนา เห็นหม้อเหล็กแดงในนรก เห็นไม้งิ้วหนามเหล็ก เห็นฝูงปีศาจราชทูตซึ่งมีร่างพิกลที่ตนไม่เคยเห็นมาก่อน มันถือไม้ค้อนเหล็กจะตีกระบาล หรือถือหอกเหล็กโตเท่าลำตาลทำท่าจะพุ่งมาที่ทรวงอก หรือทำท่ามาฉุดกระชากลากไปลงนรก เห็นเป็นแร้งกาและหมานรก มันกำลังจะพากันมาฉีกกัดเลือดเนื้อของตัวกิน เช่นนี้เป็นต้น เมื่อเขาเห็นนรกนิมิตนี้อย่างชัดเจน ย่อมจะมีความตกใจสะดุ้งกลัวใจสั่นระรัว ได้รับทุกขเวทนาทางใจเป็นอันมาก หากส่งเสียงร้องได้ในขณะนี้ ก็จะร้องโวยวายให้คนทั้งหลายช่วยเหลือ เป็นที่น่าสังเวชสลดใจและน่าสงสารเป็นยิ่งนัก เพราะนิมิตนี้เป็นเครื่องชี้ให้รู้ว่าเขาผู้นั้นต้องไปลงนรกอย่างแน่นอน

    ข. ถ้าผู้ที่กำลังจะตายนั้น จักได้ไปเกิดเปรตอสุรกายใน "เปตติวิสัยภูมิ" เมื่อจักขาดใจตาย เขาย่อมเห็นเปรตอสุรกายนิมิต เช่น เห็นหุบเขา หรือถ้ำอันมืดมิด เห็นเป็นแกลบและ้ข้าวลีบมากมาย เห็นเป็นสถานที่อันแห้งแล้งแสนจะทรมานอดอย่าก เห็นเป็นเปรตอสุรกายมีร่างกายใหญ่โตและผอมโซน่าเกลียดน่าชัง เนื้อตัวสกปรกรุงรังไม่น่าดู เห็นเป็นน้ำเลือดน้ำหนองน่ารังเกียจน่าสะอิดสะเอียนเป็นที่ยิ่งดังนี้เป็นต้น ในด้านความรู้สึกนั้นเล่า ในขณะนี้เขาก็ให้รู้สึกหิวอาหารและเกิดมีอาการกระหายน้ำเป็นกำลัง นิมิตเช่นกล่าวนี้ ย่อมปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มใสในมโนทวาร ซึ่งเป็นการชี้ให้รู้ล่วงหน้าว่าเขาผู้นั้นต้องไปเกิดเป็นอสุรกายแน่นอน

    ค. ถ้าผู้ที่กำลังจะตายนั้น จักได้เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานใน "ดิรัจฉานภูมิ" เมื่อเขาจักขาดใจตาย เขาย่อมเห็นดิรัจฉานนิมิต เช่นเห็นเป็นทุ่งหญ้า ป่าไม้ เชิงเขา ราวไพร ชายน้ำ กอไผ่ ภูเขา บางทีก็เห็นเป็นรูปสัตว์ต่างๆ มาปรากฎ เช่นเห็นเป็นเนื้อถึก โค กระบือ หมู หมา เป็ด ไก่ เหี้ย นก หนู จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งกือ ไส้เดือน เหล่านี้เป็นต้น นิมิตดังกล่าวมานี้ ย่อมปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มใสในมโนทวาร ซึ่งเป็นการชี้ให้รู้ล่วงหน้าว่า เขาผู้นั้นตายไปแล้วต้องเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานแน่นอน

    ง. ถ้าผู้ทำกำลังจะตายนั้น จักได้กลับมาเกิดเป็นคนใน "มนุษยโลก" เรานี้อีก เมื่อเขาจักขาดใจตาย ย่อมเห็นมนุสสนิมิต เช่น เห็นเป็นก้อนเนื้อเล็กๆ อยู่ในครรภ์ เห้นเป็นครรภ์แห่งมารดาในชาติหน้า ซึ่งจะมาถึงแก่ตนในขณะนี้ เห็นเป็นบ้านเมืองและมนุษย์หญิงชาย คือผู้คนทั้งหลายเช่นนี้เป็นต้น นิมิตแห่งความเป็นคนดังกล่าวนี้ ย่อมปรากฎให้เห็นชัดเจนแจ่มใสในมโนทวาร ซึ่งเป็นการชี้ให้รู้ล่วงหน้าว่า เขาผู้นั้น ครั้นตายไปแล้วจักได้กลับมาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกนี้อีกอย่างแน่นอน

    จ. ถ้าผู้ที่กำลังจะตายนั้น จักได้ไปเกิดเป็น "เทพบุตรเพทธิดา" ณ แดนสุขาวดีสวรรค์เทวโลก เมื่อเขาจักขาดใจตายไปนั้น เขาย่อมเห็นเทวนิมต เช่น เห็นเป็นทิพยวิมาน เห็นทิพยสถานอันน่ารื่นรมย์ชื่นบาน เห็นเป็นต้นไม้สวรรค์ปาริชาตอันสวยสดงดงาม เห็นปราสาทราชวังอันวิจิตรตระการตา ซึ่งหาดูไม่ได้ในมนุษยโลก เห็นเ็ป็นสิริไสยาสน์ที่นอนทิพย์อันประเสริฐแล้วไปด้วยแก้วและทองปรากฎอยู่ในทิพยวิมาน ซึ่งตนไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย บางทีก็เห็นเป็นเทพบุตรเทพธิดาชาวฟ้าชาวสวรรค์พากันมาขับระบำฟ้อนเป็นที่เิริงสราญ หน้าตาชื่นบานยิ้มแย้มแจ่มใสประดับกายด้วยอาภรณ์อันประณีตสวยงามน่าดูน่าชม และมาชวนให้ตนไปอยู่ด้วยกันในสรวงสวรรค์ด้วยน้ำใจไมตรี เช่นนี้เป็นต้น นิมิตเหล่านี้ปรากฎให้เห็นชัดเจนในมโนทวาร ซึ่งทำให้ผู้จะถึงกาลกิริยาตายนั้น มีจิตใจเพลิดเพลินเกิดความยิ้มย่องผ่องใสโสมนัส บัดนี้ถ้ามีผู้สังเกตดูหน้าตาของเขาก็จักรู้ได้ว่า เขาจะหลับตาตายอย่างสุขสงบและไปพบสุคติอย่างแน่แท้ ในไม่ช้า เพราะเทวนิมิตนี้ชี้ให้รู้ล่วงหน้าว่า เขาผู้นั้นครั้นตายไปแล้ว จักได้ไปเกิดในแดนสุขาวดี มีควมสุขเป็นเทวดาชาวฟ้าได้เสวยทิพยสมบัติอย่างแน่นอน

    เป็นอันว่าก่อนที่จะดับจิตตายลงไปนั้น คตินิมิตย่อมบังเกิดปรากฎเป็นต่างๆ กันดังกล่าวมา ทีนี้เราจะพากันกลับไปว่าถึงเรื่องมรณทุกข์ที่กล่าวค้างไว้ มรณะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางใจ เพราะได้เห็นนิมิตที่ไม่ดี คือเมื่อบุคคลผู้กำลังจะตายนั้น ได้ประสบพบเห็นนิมิตที่ไม่ดี อันมาปรากฎในมโนทวารซึ่งได้แก่
    นรกนิมิต
    เปรตอสุรกายนิมิต
    ติรัจฉานนิมิต

    ได้เห็นนิมิตร้ายๆ เหล่านี้ อันเป็นเครื่องชี้ให้ทราบล่วงหน้าว่า เขาตายไปแล้วจักได้ไปเกิดในทุคติภูมิ คือโลกชั่วร้ายเหล่านั้นอย่างแน่นอน เช่นนี้แล้ว เขาจักเกิดความรู้สึกอย่างไร? แน่นอน.... เขาย่อมจะรุ้สึกไม่สบายเกิดความกระวนกระวายได้รับทุกขเวทนาทางใจเป็นอันมาก เพราะเหตุที่มรณะหรือความตยย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ทางใจเป็นอันมาก เพราะเหตุฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า มรณะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางใจของบุคคลผู้กำลังจะตาย

    โดยเหตุนี้ มรณะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจตามที่ได้พรรณนามาแล้ว ดังนั้น ท่านพระโบราณาจารย์จึงประพันธ์เป็นโศลกนี้ไว้ว่า
    ความทุกข์ของคนชั่ว ผู้มองเห็นนิมิตแห่งกรรมชั่วช้าลามกแห่งตน และความทุกข์ของคนดีผู้อาลัยรักในสิ่งที่ตนรัก ซึ่งจำจะต้องพลัดพรากจากไป ความทุกข์อันเป็นทุกข์ทางใจของบุคคลทั้ง ๒ จำพวกนี้ ย่อมมีโดยไม่แปลกกัน

    อนึ่ง ความทุกข์อันเกิดจากการตัดซึ่งข้อต่อและเส้นเอ็นเป็นอาทิ ซึ่งเกิดขึ้นในร่างกายที่เหลือจักทนทานได้ จะทำตอบแก้ไขอย่างไรก็มิได้ทั้งสิ้น ซึ่งเกิดขึ้นแก่เหล่าสัตว์ทุกจำพวก ผู้มีฐานแห่งดวงหฤทัยกำลังถูกลมร้ายเสียดแทง

    ความทุกข์ดังกล่าวมานี้ ย่อมมีมรณะคือความตายเห็นเหตุเป็นตัวการ เพราะฉะนั้นมรณะคือความตาย ท่านกล่าวว่าเป็นทุกข์ ดังนี้.

    ในกรณีแห่งทุกขอริยสัจธรรมทั้ง ๓ คือชาิติทุกข์ ชราทุกข์และมรณทุกข์ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ มีข้อที่เราท่านควรจักทราบไว้ในที่นี้อีกก็คือว่า ชราทุกข์และมรณทุกข์เป็นสภาพที่เป็นอนิฏฐะ คือเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นสิ่งที่น่ากลัว คนเราต่างก็พากันเกลียดชังไม่ชอบทั้งสิ้น แต่ทุกคนก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น ต้องประสบพบปะด้วยกันทุกคน ไม่มีทางที่จะหนีให้พ้นไปได้เลย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกคนมีชาติ คือความเกิด ชาติทุกข์นี่แหละเป็นต้นเหตุให้่มีชราทุกข์และมรณทุกข์ เมื่อมีความเกิดแล้วก็ย่อมจักต้องมีความแก่และความตายติดตามมาอย่างแน่ๆ เพราะทุกข์ทั้ง ๓ นี้มีกิจกรรมสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น ในพระคัมภีร์ สัมโมหวิโนทนี ท่านจึงกล่าวเป็นเนื้อความอุปมาไว้ โดยใจความดังต่อไปนี้
    ถูกลวงไปฆ่า
    ยังมีชายใจร้าย ๓ คน ผูกอาฆาตในบุรุษคนหนึ่งอย่างจับจิตจับใจ พยายามแสวงหาอุบายที่จะฆ่ามาหลายหนแล้วแต่ไม่สำเร็จ ถึงกระนั้นก็ไม่ละความพยายาม คราวหนึ่งพวกเขาทั้ง ๓ พยายามวางแผนพิฆาตขึ้นอย่างแนบเนียน ครั้นวางแผนสำเร็จเห็นพ้องต้องกันเป็นอันดีแล้ว แผนการพิฆาตก็เริ่มต้น...

    โดยชายใจร้ายคนที่ ๑ ค่อยอ่อนน้อมเข้าไปหาบุรุษผู้เป็นเหยื่อสังหาร แล้วสำแดงอาการเป็นมิตรไมตรี พอเริ่มสนิทสนมกันดีแล้วก็ออกปากชักชวนว่า

    "ดูราสหายรัก! ที่วนอุทยานสถานป่าโน้นน่ารื่นรมย์ยินดี มีสถานที่เที่ยวมากมาย น่าพักผ่อนหย่อนใจนัก ขอสหายรักจงไปเที่ยวกันให้เป็นที่สำราญเถิด เราจักพาไปเอง"

    ครั้นบุรุษผู้ชะตาขาดด้ฟังการพรรณนาความรื่นรมย์แห่งป่า ก็ยินดีปรีดารับตกลงใจให้พาไปทันที พอไปถึงพนาลีราวอรัญก็หมดหน้าที่ของเจ้าคนปากดีคนที่หนึ่ง

    ฝ่ายเจ้าชายใจร้ายคนที่ ๒ ซึ่งคอยท่าอยู่ในป่า เมื่อเห็นบุรุษผู้เคราะห์ร้ายชะตาขาดถูกลวงมาได้สำเร็จ ก็โผล่หน้าออกมาจากป่า ตรงเข้าจับบุรุษนั้นมัดกับต้นไม้ให้มั่นแล้วร้องบอกว่า

    "หน้าที่คือการโบยการตีเจ้านี่ให้มีอาการค่อยบอบช้ำไปทีละน้อยๆ จนกำลังเสื่อมถอยหมดสมรรถภาพไปนั้น เป็นหน้าที่ของข้าจำด้ไหมเล่า ข้าทำเองไม่ยากหรอก"

    ครั้นบอกดังนี้แล้ว ก็เริ่มโบยเริ่มตีที่โน่นที่นี่จนทั่วสรรพางกาย จนบุรุษผู้เคราะห์ร้ายมีกำลังเสื่อมถอย มีร่างกายชำรุดหมดสมรรถภาพและมีอาการร่อแร่ใกล้จะตายเต็มทีแล้ว ก็เป็นอันว่าหมดหน้าที่ของเจ้าคนมีฝีมือในการทรมานคนที่สอง

    ฝ่ายเจ้าชายใจร้ายคนที่ ๓ ผู้มีน้ำใจเหี้ยมโหดเพราะมีนิสัยติดจะดุกว่าเพื่อน ซึ่งรอคอยจะทำหน้าที่ของตนมานานแล้ว ครั้นเห็นบุรุษที่ตนมุ่งร้ายหมายจะฆ่านั้นมีอาการร่อแร่ใกล้จะตายเพราะได้รับการทรมานมานานแล้ว และบัดนี้ก็ถึงวาระหน้าที่ของตน มันจึงโผล่พรวดออกมาจากป่าทึบ พร้อมกับดาบอันคมกริบกระสันมั่นในมือ แล้วร้องคำรามด้วยน้ำเสียงอันดุดันว่า

    "หน้าที่คือการตัดศีรษะของเจ้านี่นั้น มันเป็นหน้าที่ของข้าซึ่งเป็นคนสุดท้าย เพราะฉะนั้นข้าจะตัดศีรษะในบัดนี้เองไม่ยากอะไรดอก"

    ครั้นบอกดังนี้แล้ว ก็ควงดาบอย่างคล่องแคล่วด้วยท่วงทีลีลาแห่งการฆ่าคน... และแล้วกลหนึ่งหนึ่งแห่งดาบเพชฌฆาตก็เริ่มขึ้น ดาบที่เงือดเงื้อขึ้นจ้องจังก้าก็ฟาดฟันลงที่คอของบุรุษผู้ชะตาขาดนั้นอย่างสุดกำลัง ยังผลให้บุรุษผู้เคราะห์ร้ายถึงกับศีรษะขาดกระเด็น และมีอันเป็นถึงแก่กาลกิิริยาตายไปในขณะนั้นทันที!

    พฤติการณ์ของสามชายที่ออกอุบายวางแผนพิฆาตลวงเอาบุรุษผู้ชะตาขาดไปห่าในป่าได้สำเร็จดังกล่าวมา ก็ย่อมมีอุปมาเปรียบเทียบกันได้กับพฤติการณ์ของสามทุกขอริยสัจ คือชาติทุกข์ - ชราทุกข์ - มรณทุกข์ ซึ่งมีสภาวะร่วมกันเข้าห้ำหั่นบั่นทอนชีวิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวง คือ

    ชาติทุกข์ ทำหน้าที่ให้สัตว์บุคคลทั้งหลายพอใจยินดีในการเกิดใหม่ในโลกทั้งหลาย โดยให้ความหวังว่า การไปเกิดใหม่ในโลกต่างๆ นั้น แสนจะสุขสบายเป็นชีวิตมีรสมีชาติน่าอภิรมย์ยินดี ชักชวนให้สัตว์บุคคลเพลิดเพลินพอใจ แล้วพาไปสู่ความเกิดจนสำเร็จ ซึ่งเปรียบได้กับชายใจร้ายคนที่ ๑ ซึ่งออกอุบายหลอกลวงบุรุษชะตาขาด โดยพรรณนาความรื่นรมย์แห่งป่าแล้วจึงพาเข้าสู่ป่าได้สำเร็จ

    ชราทุกข์ ทำหน้าที่เบียดเบียนสังขารร่างกายแห่งสัตว์บุคคลผู้เกิดแล้วค่อยๆ เบียดเบียนทำลายให้ทุรพล ให้ชำรุดทรุุดโทรมหมดสมรรถภาพลงไปทีละน้อยๆ จนกระทั่งแก่ชรามีอาการร่อแร่ใกล้จะลงป่าช้าอย่างแน่นอนแล้ว นั่นแหละจึงเป็นอันว่าหมดหน้าที่ของตน

    มรณทุกข์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นมฤตยูเข้าประหารชีวิตแห่งสัตว์บุคคลทั้งหลาย ให้ถึงแก่ความตายลงไปอย่างไร้ความปราณี ซึ่งในกรณีนี้ย่อมเปรียบได้กับชายใจร้ายคนที่ ๓ ผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาต ใช้ดาบอันคมกล้าตัดศีรษะแห่งบุรุษผู้ถูกลวงมาฆ่า ให้ถึงแก่กาลกิริยาตายลงไปในที่สุด ด้วยประการฉะนี้

    ๔. อาคันตุกทุกข์

    นอกจากสภาวทุกข์ทั้ง ๓ คือ ชาติทุกข์ - ชราทุกข์ - มรณทุกข์ ดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็ย่อมมีทุกข์ที่จะมาปรากฎในห้วงหทัยแห่งสัตว์บุคคลทั้งหลายอีกได้เป็นบางครั้งบางคราว ซึ่งทุกข์เหล่านี้มีชื่อเรียกว่าอาคันตุกทุกข์ คือทุกข์ที่จรมา เพื่อรวบรัดเวลาให้สั้นเข้า จึงจะขอกล่าวทุกข์เหล่านี้ ตามที่ปรากฎมีใน สัจจวิภังค์ อย่างย่อๆ ดังต่อไปนี้
    โสกะ ได้แก่ความโศกเศร้า
    ปริเทวะ ได้แก่ความคร่ำครวญพิไรร่ำ
    ทุกขะ ได้แก่ความไม่สบายกาย
    โทมนัส ได้แก่ความไม่สบายใจ
    อุปายาสะ ได้แก่ความขุ่นแค้นใจ
    อัปปิเยหิ สัมปโยคะ ได้แก่ความประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ไม่พอใจ
    ปิเยหิ วิปปโยคะ ได้แก่ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาสิ่งที่พอใจ
    ยัมปิจฉัง น ลภติ ตัมปิ ทุกขัง ได้แก่ความทุกข์ซึ่งเกิดจากการไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนา

    จึงเป็นอันว่า บัดนี้ท่านผุ้มีปัญญาทั้งหลายก็ได้รับทราบรายชื่อแห่งทุกข์มาพอสมควรแล้วว่า ที่ว่าทุกข์ๆ นั้นมีเป็นประการใดบ้าง? ทีนี้ปัญหาที่พวกเราควรจะย่างเข้าไปศึกษาพิจารณาเป็นลำดับต่อไป ก็คือว่า ทุกข์อยู่ที่ไหน

    ทุกข์อยู่ที่ไหน

    สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ ทรงเชี่ยวชาญในการแสดงพระธรรมเทศนาเป็นพระบรมศาสดาเอกในโลก เพราะทรงรู้แจ้งในพระจตุราริยสัจธรรม ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาแสดงที่อยู่แห่งความทุกข์เอาไว้โดยพระบาลีเป็นอาิทิว่า

    ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกขา
    "อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ คือเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์"

    โดยพระพุทธวจนะนี้ เราก็ย่อมหาที่ตั้งแห่งความทุกได้แล้วว่า ทุกข์ทั้งหลายอันมีมากมายนั้น มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ไหน ถูกแล้ว ตั้งอยู่ที่อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้ง เป็นที่อยู่แห่งความทุกข์ ทีนนี้ก้มีคำถามต่อไปว่า

    อุปาทานขันธ์ ๕ คืออะไรบ้าง?

    อุปาทานขันธ์ ๕ นั้นคือ

    ๑. รูปอุปาทานขันธ์
    ๒. เวทนาอุปาทานขันธ์
    ๓. สัญญาอุปาทานขันธ์
    ๔. สังขารอุปทานขันธ์
    ๕. วิญญาณอุปาทานขันธ์


    อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เมื่อจะสรุปลงรวมกันเข้าเพื่่อให้เข้าใจจดจำได้ง่ายๆ ก็สรุปลงเป็นสภาพธรรม ๒ ประการเ่ท่านั้น คือ เป็นรูป ๑ เป็นนาม ๑ โดยมีวิธิีการสรุปดังนี้

    รูป... ได้แก่รูปอุปาทานขันธ์
    นาม...ได้แก่ เวทนา- สัญญา - สังขาร - วิญญาณอุปาทานขันธ์

    รูปและนามอันสรุปมาจากอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ได้แก่อะไร? รูปและนามอันสรุปมาจากอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ ถ้าจะว่าให้ฟังกันง่ายๆ ก็ได้แก่รูปกายและจิตใจของแต่ละสัตว์แต่ะบุคคลนั่นเอง เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ถ้าพบเห็นคำว่า "อุปาทานขันธ์ ๕" ก็ดี หรือคำว่า "รูปนาม" ก็ดี ก็พึงเข้าใจเถิดว่าหมายถึงสิ่งเดียวกัน คือหมายถึงรุปกายและจิตใจนั่นเอง! รูปกายและจิตใจนี้เป็นสถานที่ตั้งแห่งความทุกข์ ความทุกข์ทั้งหลายย่อมเกิดและอาศัยอยู่ที่รูปกายและจิตใจนี่เอง ถ้าไม่มีรูปกายและจิตใจแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่มี การที่ความทุกข์ทั้งหลายจะเกิดมีขึ้นได้แก่เพราะเหตุว่า มีรูปกายและจิตใจเป็นสถานที่เกิดอาศัยเป็นสำคัญ หากจะมีปัญหาว่า ความทุกข์ทั้งหลายซึ่งเกิดและอาศัยเป็นอยู่ในรูปกายและจิตใจดังว่ามานั้น มันได้ทำคุณประโยชน์อะไรเพื่อเป็นการสนองคุณให้สมแก่การที่รูปกายและจิตใจให้มันเกิดและอาศัยอยู่บ้างหรือเปล่า? เปล่า.. ความทุกข์ทั้งหลายมันไม่เคยทำคุรประโยชน์อะไร ให้แก่รูปกายและจิตใจเลยแม้แต่สักนิดเดียว นอกจากจะไม่ทำคุณประโยชน์ให้แล้ว มิหนำซ้ำยังกลับนำความจัญไรมาให้แก่รูปกายและจิตใจอย่างมากมายอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความทุกข์ทั้งหลายย่อมได้ชื่อ่าเป็นสภาวะเนรคุณคือไม่มีคุณมีแต่โทษโดยส่วนเดียว ฉะนั้นเมื่อมันเกิดและอาศัยอยู่ในรูปกายและจิตใจ หรือที่เรียกตามศัพท์ธรรมะว่าอุปาทานขันธ์ ๕ แล้วก็ย่อมจะมุ่งหน้าทำการเบียดเบียนทำลายอุปาทานขันธ์ ๕ เรื่อยไปเป็นนิตย์ ในกรณีที่ความทุกข์นำความจัญไรมาให้แก่อุปาทานขันธ์ ๕ โดยการเบียดเบียนทำลายอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เสมอเป็นนิตย์นั้น มีความอุปมาดังต่อไปนี้
    ขึ้นชื่อว่าไฟ ย่อมมีปกติทำลายเบียดเบียนเชื้อไฟอยู่เสมอเป็นธรรมดา

    ขึ้นชื่อว่าเครื่องประหาร ย่อมมีปกติทำลายเบียดเบียน คือแทงทะลุเป้าเป็นธรรมดา

    ขึ้นชื่อว่าสัตว์ซึ่งมีปกติกินเลือด เช่นเหลือบ ยุง เป็นต้น ย่อมทำการเบียดเบียนกัดดูดสัตว์ที่มีเลือด คือ โค กระบือ และมนุษย์เราเป็นต้นอยู่เสมอเป็นธรรมดา

    ขึ้นชื่อ่าโจรผู้ปล้นฆ่าชาวบ้านเป็นอาชีพ ย่อมทำการเบียดเบียนปล้นฆ่าชาวบ้านชาวเมืองอยู่เสมอเป็นธรรมดา
    อุปมาดังกล่าวมานี้ฉันใด ความทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งเกิดและอาศัยอยู่ในอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ย่อมมีปกติเบียดเบียนทำลายอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เสมอเป็นธรรมดาฉันนั้นเหมือนกัน ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า "ทุกขอริยสัจมีการเบียดเบียนกันเป็นลักษณะ" ดังนี้

    ก็ทุกขอริยสัจธรรมนี้ ย่อมปรากฎมีแก่บรรดาสัตว์บุคคลทุกหมู่เหล่าและทุกชีวิตไม่มีใครี่จะหลีกเีลี่ยงพ้นไปได้ ไม่ว่าจะตายจะเกิดสักกี่แสนกี่โฏฎิชาติก็ตาม ก็ย่อมจักต้องประสกับความทุกข์อยู่เสมอร่ำไป เพราะความทุกข์นี้ไซร้ เป็นสิ่งที่ขุดออกไปให้หลุดพ้นจากสันดานได้ยากนักหนา สมกับนามของมันที่ ว่า "ทุกข์" ซึ่งแปลว่าสภาพที่จะขุดให้หลุดพ้นออไปจากจิตสันดานได้โดยยาก ด้วยประการฉะนี้

    ทุกขสมุทัยอริยสัจธรรม

    อริยสัจธรรมอันดับที่ ๒ มีชื่อว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ ซึ่งแปลว่า อริยสัจคือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์

    การที่ทุกขสมุทัยอริยสัจปรากฎโฉมหน้าขึ้นมาเป็นอันดับที่สองรองจากทุกขอริยสัจเช่นนี้ ก็มีสาเหตุว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ผุ้ทรงตรัสรู้พระจตุราริยสัจอย่างแท้จริง เมื่อทรงประกาศให้ชาวโลกได้ทราบว่าสัตว์กำลังตกอยู่ในกองทุกข์ ด้วยอริยสัจข้อที่หนึ่งดังกล่าวมาแล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงชี้แจงว่า ความทุกข์ทั้งหลายที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่ทุกฃีวิตนั้น มันมีเหตุเกิด มิใช่เกิดมาลอยๆ โดยหาเหตุผลมิได้ และเพื่อจะทรงป้องกันความเข้าใจผิดของประชาชนทั้งหลาย ที่มักจะเข้าใจผิดกันอยู่เสมอ เช่นเข้าใจว่า
    ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นจากพรหมลิขิต คือมีพระพรหมวิเศษซึ่งมีนากรใดก็ไม่ทราบได้ และมีนิสัยใจคอกับทั้งกรรมเวรอันใดก็ไม่รู้แต่สู้อุตส่่าห์ขยันลิขิตชีวิตของมนุษย์และสัตว์ ให้ได้รับภัยพิบัติและให้ได้รับความทุกข์ต่างๆ นานา

    ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นจากเทวดาสาปแช่ง ! คือมนุษย์และสัตว์ ซึ่งได้รับความทุกข์อยู่ในขณะนี้ ก็เพราะมีความผิดต่อเทวดา มีความผิดต่อพระเจ้าผู้มีฤทธิ์ ซึงสถิตอยู่ ณ สวรรค์เมืองห้ามาก่อน เลยถูกเทวดาหรือพระเจ้าถีบส่งให้ลงมาเกิด ได้รับทุกข์ทรมานเพื่อเป็นการไถ่ถอนบาปของตนที่ทำไว้แต่ครั้งไหนก็ไม่ทราบ
    ความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากพวกผี ปีศาจ ราชทูตมันแกล้ง! คือความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งหลายเป็นอเนกประการที่มนุษย์และสัตว์ได้รับนั้น เกิดขึ้นเพราะการกระทำผิดต่อผีเจ้าผีป่าซาตานเหล่านั้นมันโกรธ มันจึงเลยแกล้งบันดาลให้ได้รับความทุกข์ต่างๆ นานาที่อำนาจแห่งผีจะกระทำได้
    เพื่อทรงป้องกันความเข้าใจผิดดังกล่าวนี้ โดยมีพระพุทธประสงค์จะทรงชี้แจงให้ชาวโลกด้ทราบถึงเหตุแห่งความทุกข์อย่างแท้จริง จึงได้ตรัสอริยสัจธรรมข้อที่ ๒ คือทุกขสมุทัยอริยสัจธรรม

    ทุกขสมุทัยอริยสัจธรรมหรือเหตุเกิดแห่งความทุกข์อ่ย่างแท้จริงคืออะไร
    เหตุเกิดหรือบ่อเกิดแห่งความทุกข์อย่างแท้จริงนั้น คือ " ตัณหา" สมจริงตามนามบัญญัติแห่งตัณหา ซึ่งมีอรรถวิเคราะห์ว่า

    ตัณหา

    ตสตีติ ตณฺหา
    "ธรรมชาติที่ยังจิตให้สะดุ้งดิ้นรนขวักไขว่ไม่สงบลงได้
    ธรรมชาตินั้นเรียกชื่อว่า "ตัณหา"

    จริงอยู่ความทุกข์ต่างๆ มีการเกิด แก่ ตายและความไม่สบายกายไม่สบายใจเป็นต้น เมื่อสาวเข้าไปหาตัวต้นเหตุให้เกิดเหล่านี้แล้ว ท่านผู้มีปัญญาผ่องแผ้วทั้งหลายก็ย่อมจะทราบว่า ตัวต้นเหตุอันแท้จริงที่บันดาลให้ความทุกข์เหล่านี้เกิด ก็คือตัณหา ซึ่งได้แก่ความอยากได้ ความยินดี ความพอใจนั่นเอง! ทั้งนี้ก็โดยมีอธิบายว่า

    ธรรมดาคนเรามที่เกิดมาในโลกนี้ แล้วให้เกิดมีอันเป็นต้องสะดุ้งยุ่งเหยิงขวักไขว่พยายามขวนขวายประกอบกิจการต่างๆ ทั้งที่เป็นฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีอย่างชุลมุนวุ่นวายเช่นเวลานี้นั้น ก็เพื่อต้องการให้ได้มาซึ่งอารมณ์ที่น่ายินดีน่าปรารถนาต่างๆ ด้วยกันทั้งสิ้น แม้จะเหนื่อยกายเหนื่อยใจสักเพียงไหนก็ตาม ก็ไม่ย่นย่อท้อถอยหลัง มุ่งหวังแต่จะให้สำเร็จในกิจที่ตนกระทำเท่านั้น อุตส่าห์ก้มหน้ากระทำไปจนสำเร็จสิ่งที่ตนปรารถนาสมประสงค์ แต่่คนทั้งหลายก็หารู้ไม่เลยว่า ตนตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งตัรหา ตัณหาเป็นตัวบันดาล ตัณหาเป็นผู้จัดแจงให้ต้องเหนื่อยยากให้ต้องลำบากาย ให้ต้องลำบากใจ การที่ตนต้องเหนื่อยยากลำบากได้รับความทุกข์ต่างๆ นานา ก็เพราะอำนาจการบันดาลของรูปตัรหา ความพอใจในรุปบ้าง สัททตัณหา ความพอใจในเสียงบ้าง เช่นนี้เป็นต้น

    ตัณหากล่าวคือความปรารถนา ความยินดีพอใจในรุป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ที่ตนคิดว่าจะนำความสุขมาให้เหล่านี้เองเป็นเหตุ การขวนขวายพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ จนได้รับทุกข์ร้อนและความเหนื่อยยากลำบากกายและใจนั้นเป็นผล แต่การที่จะได้รับความทุกข์และความเหนื่อยยากมากน้อยขนาดไหนนั้น ก็สุดแต่ว่าในดวงใจมีตัณหาคอยชักใยอยู่มากน้อยแค่ไหน คือถ้าในดวงใจมีตัณหาความปรารถนาน้อย ก็จะชักใยให้สะดุ้งยุ่งยากขวักไขว่ขวนขวายน้อย เมื่อมีการขวนขวายพยายามน้อย ความทุกข์ยากความเหน็ดเหนื่อยก็ย่อมจะมีน้อยเป็นธรรมดา ถ้าในดวงใจมีตัณหาพอประมาณ ก็จะเป็นเหตุให้การขวนขวายเป็นไปพอประมาณ ความทุกข์ยากลำบากอันเป็นผลที่ได้รับก็ย่อมจะมีพอประมาณ ยิ่งถ้าในดวงใจมีตัณหาคือความปรารถนายินดีเป็นอันมาก ก็จักเป็นเหตุให้มีการขวนขวายมาก ความทุกข์ยากอันเป็นผล ก็ย่อมจักปรากฎมีมากเป็นธรรมดา รวมความว่า "ยิ่งมีตัณหาอันเป็นตัวเหตุให้มีการขวนขวายพยายามมากขึ้นเท่าใด การได้รับความทุกข์อันเป็นผล ก็ย่อมจักปรากฏมากขึ้นเท่านั้น"

    อนึ่ง ถ้าการขวนขวายพยายามนั้นเป็นไปในทางดี เช่นพยายามทำกุสลกรรมต่างๆ คือ ทาน - ศีล - ภาวนา เพื่อปรารถนาความสุขให้ยิ่งขึ้นไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า การทำกุศลกรรมด้วยความปรารถนาดีเช่นนี้ นับว่าทำไปด้วยอำนาจความบันดาลแห่งตัณหา และเป็นเหตุให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้ คือเป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ ความเหนื่อยกายเหนื่อยใจในขณะที่กำลักระทำและเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วก็ต้องได้รับความทุกข์ในโลกหน้าต่อไปอีก คือเมื่อผู้ทำกุศลกรรมนั้นไปเกิดในโลกหน้า ชาติหน้าไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร มีความสุขได้เสวยสมบัติวิเศษอย่างไร แต่การที่จะพ้นจากชาิติทุกข์ ชราทุกข์และมรณทุกข์เป็นอันไม่มี แต่ผุ้ที่ได้รับความทุกข์เช่นนี้ ย่อมมีความอดทนได้โดยเห็นว่าเป็นของธรรมดา เพราะคำที่ตนมิได้มีปัญญาหยั่งทราบลงไปอย่างลึกซึ้งเลยว่า ชาติทุกข์ ชราทุกข์ และมรณทุกข์ที่ตนกำลังไดรับอยู่ และจักต้องได้รับต่อไปเป็นเวลาช้านานอีกไม่รู้ว่ากี่ล้านชาตินั้น มันเป็นผลสืบเนื่องมาจากตัณหาเป็นเหตุ

    ยิ่งในกรณีแห่งการขวนขวายพยายามอันเป็นไปในทางไม่ดี ประพฤติอกุศลกรรมความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม มีโลภเจตนาฉ้อโกงทรัพย์ของผู้อื่นเป็นอาจิณ เพื่อให้ได้ทรัพย์สินเงินทองมาสำหรับใช้จ่ายบำรุงความสุขแห่งตน ตามความบงการแห่งตัณหาด้วยแล้ว ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์หนักยิ่งขึ้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า กล่าวคือ ผู้ี่ถูกตัณหาพาให้ทำทุจริตนั้นย่อมจักได้รับทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจอย่างหนัก เช่น ถูกติเตียนดูหม่ินจากบัณฑิตทั้งหลาย ถ้าถูกเขาจับได้ต้องได้รับโทษทางกฎหมายบ้านเมือง บางทีได้รับโทษถึงประหารชีวิตก็มี เหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ี่เห็นโดยประจักษ์แจ้งในชาตินี้ เมื่อดับขันธ์สิ้นชีวิตตายลงไปแล้ว ความทุกข์อันเกิดจากตัณหาพาให้ทำทุจริตนั้น ก็จะปรากฎให้ประจักษ์แจ้งยิ่งขึ้น คือต้องไปเกิดในอบายภูมิกลายเป็นสัตว์นรกปรตอสุรกายเดียรัจฉาน ได้รับความทุกข์ทรมาณอย่างแสนสาหัส และถ้าลงว่าได้ไปเกิดเป็นอบายสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งดังว่ามาแล้ว ย่อมมีหวังน้อยที่จักมีโอกาสได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก เพราะจะต้องทนทุกข์อยู่ ณ ที่นั้น นานนักหนา

    ปลาติดเบ็ด

    แม้ว่าประชาสัตว์ทั้งหลาย จักได้ประสบกับความทุกข์ยาก ได้รับความลำบากต่างๆ นานา เพราะตัณหาเป็นเหตุดังกล่าวมา ถึงกระนั้นก็ยังพากันหลงงมงายดิ้นรนกระเสือกกระสนไปตามบัญชาแห่งตัณหา ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งตัณหา ฉะนั้นจึงมีอุปมาที่ท่านกล่าวไว้ว่ามัจฉาคือปลา ได้เห็นเหยื่อซึ่งเกี่ยวอยู่ที่ปลาเบ็ด มีความรู้อยู่แต่เพียงว่าต้องการจะกินเหยื่อเท่านั้น หาได้รู้ถึงอันตรายที่ตนจะพึงได้รับแต่อย่างใดไม่ เมื่อกินเหยื่อเข้าไปถูกเบ็ดเกี่ยวปาก ย่อมได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส และยิ่งกว่านั้นคือยังถูกมนุษย์ที่ตกเบ็ดนำเอาไปฆ่าแล้วต้มแกงกินเป็นอาหารเสียอีก ข้อนี้ย่อมเปรียบได้กับประชาสัตว์ทั้งหลาย เห็นเหยื่อแห่งตัณหาคือความสุขอันอิงด้วยอามิส ก็ให้มีอาการดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขนั้น โดยหารู้ไม่เลยว่าตนจะต้องถูกตัณหาพาไปฆ่าต้มแกงให้ได้รับความทุกข์ ต้องเกิดต้องตายภายในหม้อแกงใหญ่ กล่าวคือวัฏฏสงสารอันมีอยู่มากมายหลายภูมิ อีกไม่รู้ว่าสัีกกี่แสนกี่โกฏิครั้ง

    และที่น่าหนักใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือว่า ประชาสัตว์ทั้งหลายแม้จะถูกตัณหาพาไปฆ่าแกง ให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในหม้อแกงใหญ่กล่าวคือวัฏฏสงสาร จนนับภพนับชาติไม่ถ้วนก็ตามที ถึงกระนั้นก็หาได้มีจิตใจเบื่อหน่ายในชาติในภพแม้แต่น้อยไม่ ยังมีความยินดีพอใจอยู่ในชาติในภพของตนด้วยกันทั้งสิ้น อย่าว่าแต่จะมีจิตยินดีพอใจในภพชาติที่ดีๆ เช่น ติดอย่ในภพแห่งมนุษย์ ภพแห่งเทวดาและภพแห่งพระพรหมเลย แม้แต่ภพแห่งเดียรัจฉาน ประชาสัตว์ทั้งหลายก็ยังมีจิตคิดอยู่ พึงดูตัวอย่าง เช่น เหล่ากิมิชาติคือหมู่หนอน ซึ่งอยู่ในหลุมอุจจาระนั่นสิ เขาก็ย่อมมีความยินดพอใจติดอยู่ในภพชาติของเขา ซึ่งเป็นภพชาติที่เลวทรามต่ำช้าตามสายตาของมนุษย์เรา แต่หมู่หนอนเขาจะได้คิดอย่างนี้ก็หาไม่ เขาย่อมยินดีพอใจในความเป็นอยู่ของเขา เช่นเดียวกับเราผุ้เป็นมนุษย์เหมือนกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตัณหาบันดาลให้เป็นไป ฉะนั้นตัณหาจึงเป็นยางเหนียวทำให้สัตว์มีจิตติดอยู่ในภพในชาติตลอดไป

    พึงจำไว้ง่ายๆ ว่า สัตว์บุคคลทั้งหลายที่เกิดมาย่อมมีตัณหาเป็นเพื่อนสนิท คอยบำรุงบำเรอให้หลงติดเพลิดเพลิน จึงทำให้ไม่เบื่อหน่ายต่อการเกิดอยู่ในภาพต่างงๆ ซึ่งเป็นมูลฐานแห่งความทุกข์ทั้งปวง ซ้ำยังไม่สามารถมีปัญญามองเห็นว่า บรรดาความทุกข์ต่างๆ ที่ตนได้ประสบนั้นมันเนื่องมาจากตัณหาเป็นต้นเหตุ ซึ่งในกรณีนี้ ย่อมมีอุปมาเสมือนหนึ่งเป็นสุนัขซึ่งเพลิดเพลินง่วนอยู่กับซากกระดูกวัวที่ไม่ีเนื้ออย่างไม่เบื่อหน่าย โดยอาศัยน้ำลายแห่งตนเองฉันนั้น สัตว์บุคคลทั้งหลายที่กำลังเสวยกามคุณอารมณ์และมีความอดทนต่อความทุกข์ต่างๆ ที่ตนได้ประสบอยู่โดยไม่มีความเบื่อหน่ายนั้น ก็เพราะอำนาจแห่งน้ำลาย กล่าวคือตัณหาที่อยู่ในขันธสันดานของตนนั่นเอง ตัณหานี่แหละเป็นเพื่อนสนิทและเป็นมิตรที่ชั่วร้าย ซึ่งมีปกติคอยฉุดชักสัตว์บุคคลทั้งหลายไม่ให้หลุดพ้นออกจากกองทุกข์ในวัฏสงสารได้ สมดังพระพุทธฎีการที่ตรัสไว้ว่า
    ประชาสัตว์ซึ่งมีตัณหาเป็นเพื่อนสนิท ย่อมท่องเที่ยวไปสู่ภพต่างๆ จากความเป็นอยู่ในภพนั้นๆ ไปยังภพนั้นๆ แล้วไม่สามารถก้าวพ้นไปจากวัฏสงสารอันยาวนานได้ ทั้งนี้ก็เพราะค่าที่ตนเป็นผู้มีตัณหาเป็นเพื่อนสนิท
    ข้อความอันค่อนข้างจะยืดยาวที่กล่าวมานี้ ต้องการที่จะชี้ให้ทราบพอเป็นเค้าว่า ตัณหาเป็นทุกขสมุทัย คือเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง แต่ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจักได้เห็นตามความปรารถนาเช่นว่ามาหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะดูรู้สึกว่ามีเนื้อหาความลึกลับกระท่อนกระแท่นพิกลอยู่ แต่จะอย่างไรก็ดี ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้รับทราบไว้ในที่นี้ ให้เป็นที่แน่นอนเด็ดขาดโดยง่ายๆ ว่าตัณหาเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ก็แล้วกัน

    เมื่อได้ทราบว่าทุกขสมุทัยอริยสัจ ก็คือตัว "ตัณหา" อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ดังนี้แล้ว ต่อจากนี้เราก็ควรจะหยิบยกเอาตัวตัณหาขึ้นมาพิจารณาดูว่า

    ที่ว่าตัณหาๆ นั้นเป็นประการใด?

    ตัณหา อันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์นั้น มีอยู่ ๓ ประการคือ

    ๑. กามตัณหา ได้แก่ความยินดีติดใจในอารมณ์ทั้งหลาย ซึ่งเกี่ยวกับเบญจกามคุณ แต่ไม่ประกอบด้วยสัตตทิฐิ ความเห็นว่าเที่ยงและอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ เมื่อจำแนกโดยอารมณ์แล้ว ก็มีอยู่ ๖ ประการคือ

    ๑. รูปตัณหา = ความติดใจในรูป
    ๒. สัททตัณหา = ความติดใจในเสียง
    ๓. คันธตัณหา = ความติดใจในกลิ่น
    ๔. รสตัณหา = ความติดใจในรส
    ๕. โผฏฐัพพตัณหา = ความติดใจในสัมผัส
    ๖. ธัมมตัณหา = ความติดใจในธัมมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกคิด)
    บรรดา "ตัณหา" ความยินดีพอใจในอารมณ์ ทั้ง ๕ ข้างต้น คือรูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหาเหล่านี้ จำเป็นต้องอธิบาย เพราะเป็นที่เข้าใจได้ง่าย แต่สำหรับ "ธัมมตัณหา" นั้นมีอธิบายว่า ในขณะนึกถึงธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล เช่นโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น และในขณะนึกถึงธรรมที่เป็นฝ่ายโลกียกุศล เช่น สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ฌาน อภิิญญาเป็นต้น หรือนึกถึงการเห็น การได้ยิน การรู้รส การสัมผัสถูกต้องที่เป็นฝ่ายกามวิบากหรือนึกถึงบัญญัติต่างๆ แล้ว มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น เช่นนี้เรียกว่า "ธัมมตัณหา"
    อนึ่ง ความยินดีติดใจในการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานก็จัดว่าเป็นธัมมตัณหาได้เหมือนกัน ในกรณีนี้มีสาธกบาลีแสดงไว้ว่า ธมฺมราเคน ธมฺมนนฺทิยาติ ปททฺวเยหิ สมถวิปสฺสนาสุ ฉนฺทราโค วุตฺโต สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงกล่าวถึงความยินดีที่ติดใจ ในการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน โดยบททั้ง ๒ ว่า ธมฺมราค ธมฺมนนฺทิ ดังนี้ ซึ่งหมายความว่า )ฉันทราคะคือความยินดีติดใจในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ก็ชื่อว่า "ธัมมตัณหา"
    ๒. ภวตัณหา ได้แก่ตัณหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับสัสตทิฐิ โดยอาศัย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หมายถึงมีความเห็นว่า รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสเป็นธรรมชาติเที่ยงแท้ยั่งยืนตั้งอยู่เป็นนิตย์ ไม่เข้าใจว่ามีภาวะเกิด -ดับเป็นธรรมดา เมื่อจะพรรณนาตามที่ท่านแสดงไว้ในสุตตันตมหวรรค อรรกถาแล้ว "ภวตัณหา" นี้ก็มีอยู่ ๕ อย่างคือ

    ๑. มีความยินดีพอใจในกามภพ คือการได้ไปอุบัติเกิด ณ กามาวจรภูมิ ซึ่งได้แก่
    มนุษย์โลก หรือมนุสสภูมิ
    เทวโลกชั้นที่ ๑ คือ จาตุมหาราชกาภูมิ
    เทวโลกชั้นที่ ๒ คือ ตาวติงสาภูมิ
    เทวโลกชั้นที่ ๓ คือ ยามาภูมิ
    เทวโลกชั้นที่ ๔ คือ ตุสิตาภูมิ
    เทวโลกชั้นที่ ๕ คือ นิมมานรตีภูมิ
    เทวโลกชั้นที่ ๖ คือ ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ

    ๒. มีคววามยินดีพอใจใน รูปภพ คือการได้ไปอุบัติเกิด ณ รูปภูมิหรือรูปพรหมโลก ซึ่งได้แก่
    พรหมโลกชั้นที่ ๑ คือ พรหมปาริสัชชาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๒ คือ พรหมปุโรหิตาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๓ คือ มหาพรหมาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๔ คือ ปริตตาภาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๕ คือ อัปปมาณาภาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๖ คือ อาภัสสราภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๗ คือ ปริตตสุภาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๘ คือ อัปปมาณสุภาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๙ คือ สุภกิณหกาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๑๐ คือ เวหัปผลาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๑๑ คือ อสัญญสัตตาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๑๒ คือ อวิหาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๑๓ คือ อตัปปาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๑๔ คือ สุทัสสาภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๑๕ คือ สุทัสสีภูมิ
    พรหมโลกชั้นที่ ๑๖ คือ อกนิฏฐกาภูมิ

    ๓. มีความยินดีพอใจใน อรูปภพ คือการได้ไปอุับัติเกิด ณ อรูปภูมิ หรืออรูปพรหมโลก ซึ่งได้แก่
    อรูปพรหมโลกชั้นที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนภูมิ
    อรูปพรหมโลกชั้นที่ ๒ คือ วิญญานัญจายตนภูมิ
    อรูปพรหมโลกชั้นที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนภูมิ
    อรูปพรหมโลกชั้นที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

    ๔. มีความยินดีพอใจในญานสมบัติ คือการได้รูปฌานและอรูปฌาน

    ๕. มีความยินดีพอใจในสัตตทิฐิ คือความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลยนี้ มีอัตตามีตัวมีตนอยู่ และตัวตนนี้ไม่สูญหายไป ถึงแม้จะตายก็ตายไปแต่ร่างกายเท่านั้น หรือความเห็นว่าตัวตนที่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์นี้ เมื่อมนุษย์ตายแล้ว ตัวตนนั้นก็ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก ตัวตนที่มีในร่างกายของสัตว์เดียรัจฉานเมื่อตายไปแล้ว ตัวตนก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานเช่นนั้นอีก ไม่เปลี่ยนแปลงเที่ยงแท้อย่างนั้นตลอดกาล
    ๓. วิภวตัณหา ได้แก่ตัณหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับ "อุจเฉททิฐิ" โดยอาศัยอารมณ์ทั้ง ๖ หมายถึงความเห็นว่า สิ่งที่มีชีิวตและไม่มีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ มีตัวตนอยู่ และตัวตนนี้ย่อมสูญหายไปไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ไม่ว่าใครๆ ทั้งสิ้น เมื่อตายแล้วก็สูญหายไป ขาดสูญอย่างแน่ๆ ไม่เกิดต่อไปอีก ! ก็อุทเฉททิฐิหรือความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วสูญสิ้นนี้ แยกออกเป็น ๗ สาขาด้วยกันคือ

    ๑. เห็นว่า อัตตาซึ่งมีรูปประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน - น้ำ - ลม -ไฟ และเกิดขึ้นจากมารดาบิดา ตายแล้วสูญ
    ๒. เห็นว่า อัตตาอื่นซึ่งเป็นทิพย์ คือพวกเทวดาในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นตายแล้วสูญ
    ๓. เห็นว่า อัตตาอ่นที่เป็นทิพย์ มีรูปสำเร็จด้วยใจ ซึ่งได้แก่รูปพรหมทั้งหลายที่สถิตอยู่ ณ รูปพรหมโลก ตายแล้วสูญ
    ๔. เห็นว่า อัตตาอื่นที่บรรลุอรูปฌานที่ ๑ คืออรูปพรหมที่สถิตอยู่ ณ อากาสานัญจายตนภูมิ ตายแล้วสูญ
    ๕. เห็นว่า อัตตาอื่นที่บรรลุอรูปฌานที่ ๒ คือ อรูปพรหมที่สถิตอยู่ ณ วิญญาณัญจายตนภูมิ ตายแล้วสูญ
    ๖. เห็นว่า อัตตาอื่นที่บรรลุอรูปฌานที่ ๓ คืออรูปพรหมที่สถิตอยู่ ณ อากิญจัญญายตนภูมิ ตายแล้วสูญ
    ๗. เห็นว่า อัตตาอื่นที่บรรลุอรูปฌานที่ ๔ คืออรูปพรหมที่สถิตอยู่ ณ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ซึ่งเป็นอรูปพรหมโลกชั้นสูงสุด ตายแล้วสูญ
    รวมความว่าตัณหาทั้ง ๓ ประการ คือ กามตัณหา ๑ ภวตัณหา ๑ วิภวตัณหา ๑ ดังกล่าวนี้ เป็นสภาพที่ยังจิตแห่งประชาสัตว์ทั้งหลายให้คิดสะดุ้งดิ้นรนขวักไขว่ พยายามขวนขวายประกอบกรรมต่างๆ ต้องประสบความเหนื่อยยากชุลมุนวุ่นวาย อันเป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ในไตรภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ การที่ประชาสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่พ้นจากความทุกข์ คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ และมรณทุกข์ เป็นต้น ก็เพราะตัณหาทั้ง ๓ นี้เป็นต้วการ เป็นต้นเหตุ ! ดังนั้นสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงแสดงว่า ตัณหานี้เป็นตัว "ทุกขสมุทัย" ซึ่งเป็นเหตุ เป็นแดนเกิดความทุกข์ทั้งหลายทั้วงปวง ด้วยประการฉะนั้น

    ทุกขนิโรธอริยสัจธรรม

    อริยสัจธรรมอันดับที่ ๓ มีชื่อว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ ซึ่งแปลว่า อริยสัจ คือความดับทุกข์

    การที่ทุกขนิโรธอริยสัจมีปรากฏเป็นอันดับที่สามในพระโอวาทานุสาสนีขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ในกรณีแห่งอริยสัจนี้ ก็มีสาเหตุอยู่ว่า หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้าได้ทรงประกาศให้ชาวโลกทั้งปวงได้ทราบว่า ประชาสัตว์ทั้งหลายล้วนแต่กำลังตกอยู่ในกองทุกข์ ด้วยอริยสัจอันดับที่ ๑ คือ "ทุกขอริยสัจ" และได้ทรงชี้ให้เห็นต้นตอหรือมูลรากความทุกข์ที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่นั้นว่า ความทุกข์ทั้งปวงที่ครอบงำสัตว์โลกนั้น มีตัณหาเป็นแดนเกิด มีตัณหาเป็นต้นเหตุ ด้วยอริยสัจอันดับที่ ๒ คือ "ทุกขสมุทัยอริยสัจ" ดังกล่าวมาแล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงชี้แจงให้ชาวโลกได้ทราบถึงสภาวะอัศจรรย์อันทรงไว้ซึ่งความวิเศษประเสริฐสุด ซึ่งเป็นเครื่องหยุดยั้งความทุกข์ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปอีกได้อย่างเด็ดขาด จึงได้ตรัสอริยสัจธรรมอันดับที่ ๓ คือ "ทุกขนิโรธอริยสัจธรรม" นี้

    ก่อนอื่น ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจงรับทราบไว้โดยตระหนักว่าทุกขนิโรธอริยสัจธรรมอันเป็นธรรมที่แสดงถึงความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงแน่นอนนี้ ย่อมปรากฏมีแต่เฉพาะในพระโอวาทานุสาสนี แห่งองค์สมเด็จพระจอมนุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

    ปัญญาชนคนอื่นถึงแม้ว่าจะมีปฏิภาณโวหารกล้า ได้รับการยกย่องจากชาวโลกให้เป็นนักปราชญ์ศาสดาจารย์ในยุคสมัยใดก็ตาม หากว่ายังมีปัญญาทรามโดยยังไม่ได้ถึงความเป็นอริยชน ยังมีจิตแค่ชั้นปุถุชนประกอบไปด้วยอวิชชาแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จักรู้ถึงทุกขนิโรธ และนำเอาทุกขนิโรธนี้มาแสดงแก่ชาวโลกได้เลย พึงเข้าใจไว้ในที่นี้ให้จงดี่ว่า อันการที่จะมีปัญญาได้รู้แจ้งซึ่งทุกขนิโรธแล้วนำมาแสดงแก่ชาวโลกได้นี้ เป็นวิสัยแห่งท่านผุ้มีบารมีอันสร้างสมมา เพื่อที่จักได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ฉะนั้นจึงอาจที่จะกล่าวได้ว่าทุกขนิโรธหรือความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงแน่นอน ย่อมมีปรากฏอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น หาได้มีปรากฏอยู่ในศาสนาอื่นไม่เลย

    เมื่อเราได้ทราบความสำคัญแห่งทุกขนิโรธอริยสัจเช่นนี้แล้ว ต่อจากนี้เราก็ควรจะได้พิจารณากันต่อไปว่า ทุกขนิโรธ หรือความดับทุกข์อย่างจริงแท้แน่นอนนี้คืออะไร? ทุกขนิโรธหรือความดับทุกข์อย่างจริงแท้แน่นอนก็คือ "พระนิพพาน"
    พระนิพพาน

    สภาพธรรมใดเป็นที่พ้นออกไปจากตัณหา ซึ่เป็นตัวหุ้มห่อรึงรัดมัดให้สัตว์ได้รับทุกข์ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอย่างไม่มีวันสิ้นสุด สภาพธรรมนี้มีชื่อว่า "พระนิพพาน"

    ยังมีต้นไม้จัญไรต้นหนึ่ง มีพิษรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นกิ่งก้านสาขา ไม่ว่าจะเป็นแก่นใบและดอกผล ล้วนแต่มีพิษร้ายทั้งสิ้น แม้บุคคลผู้เห็นโทษแห่งต้นไม้นั้น จะได้พยายามพากันกำจัดโดยการตัด โดยการหักรานที่กิ่งก้านสาขามาเป็นเวลานานเป็นหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ต้นไม้ก็กลับเป็นขึ้นอีกบ่อยๆ หาได้ตายลงไปง่ายๆ ไม่ ต่อเมื่อใดรากแก้วของต้นไม้มีพิษนั้นได้ถูกฟาดฟันประหารหักให้ขาดกระเด็น เมื่อต้นต้นไม้พิษย่อมจักไม่กลับเป็นขึ้นอีก คือย่อมอับเฉาเหี่ยวแห้งตายลงไปอย่างเด็ดขาดแน่ๆ

    อุปมาข้อนี้ฉันใด ประชาสัตว์ทั้งหลายถูกรากแก้วของต้นไม้มีพิษคือตัณหาหุ้มห่อรึงรัดมัดดวงใจ ทำให้ดิ้นรนขวักไขว่มีกิริยาขวนขวายพยายามยุ่งเหยิงสุดแต่ชั้นเชิงแห่งตัณหาจะบงการ ต้องประสบกับความเหนื่อยยาก ได้รับพิษของต้นไม้จัญไรคือความทุกข์ต่างๆ นานา มีชาติทุกข์ มรณทุกข์เป็นอาทิ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอย่างไม่มีวันสิ้นสุดลงได้ ตราบใดที่ยังมีตัณหาอันเป็นรากเง่าแห่งความทุกข์รึดงรัดมัดดวงฤดี ตราบนั้นก็เป็นที่แน่นอนว่า จักต้องประสบกับความทุกข์อย่างอย่างนั้นเรื่อยไป ต่อเมื่อใดเกิดมีปัญญาอุตส่าห์พยายามตัดรากเง่าแห่งความทุกข์อันรึงรัดมัดดวงใจ กล่าวคือสมุทัยตัวตัณหาให้เด็ดขาดออกไปจากดวงใจได้แล้ว เมื่อนั้นความทุกข์ทั้งหลายซึ่งมีมากมายสุดประมาณ ย่อมจักถึงกาลพินาศสลายไป ไม่สามารถที่จักเกิดขึ้นได้อีกอย่างแน่นอน เสมือนหนึ่งต้นไม้มีพิษร้าย เมื่อถูกตัดรากแก้วแล้วไม่สามารถที่จักเกิดขึ้นได้อีกฉะนั้น ก็สภาพการณ์ที่ตัดปัญหาได้แล้วหลุดพ้นออกไปจากตัณหา โดยที่เจ้าตัณหาไม่สามารถจะมาบัญชาให้ต้องได้รับทุกข์อย่างซ้ำซากได้อีกนี่แหละ พึงทราบว่าเป็นสภาพการณ์แห่งทุกขนิโรธ คือพระนิพพาน

    ในกรณีแห่งการดับความทุกข์นี้ สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงเปรียบได้กับพญาไกสรสีหราช ส่วนนักปราชญ์ศาสดาอื่นทั้งหลายย่อมเปรียบได้กับสุนับโง่เท่านั้น หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงแสดงทุกขนิโรธคือความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง พระองค์่อมทรงปฏิบัติในเหตุผล ทรงตั้งอยู่ในเหตุผล โดยในเบื้องต้นทรงแสดงความทุกข์อันเป็น "ตัวผล" ที่ชนทั้งหลายเห็นได้ง่ายๆ ก่อนว่า ความทุกข์มีอย่างนั้นๆ ดังนี้เป็นต้น ครั้นโสตชนคนผู้ฟังทั้งหลายเกิดความสังเวชสลดใจรู้ว่า ตนต้องตกอยู่ในกองทุกข์ด้วยทุกขอริยสัจแล้ว ต่อจากนั้นจึงแสดง "ตัวเหตุ" ทรงชี้แจงเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายนั้นว่า เกิดมาจากสมุทัยคือตัณหาอันมีฤทธิ์ร้ายสุดประมาณ ยากที่จะตัดขาดให้ออกไปจากจิตสันดานได้ ลำดับต่อไป เพื่อจะทรงยังความเบาใจให้เกิดแก่ประชาสัตว์ทั้งหลายว่า ความทุกข์อันมีฤทธิ์ร้ายนั้น มิใช่วว่าจะตั้งมั่นตลอดกาลเรื่อยไป เพราะมันมีโอกาสที่จะหมดสิ้นไปได้เหมือนกัน

    ฉะนั้นพระองค์จึงทรงแสดง "ตัวผล" ก่อน โดยทรงแสดงทุกขนิโรธเพื่อให้รู้ว่า เมื่อต้องการจะห่าความทุกข์นั้น ก็จงอย่าไปห่าที่ตัวทุกข์เลยมิสำเร็จดอก ถึงจะพยายามสักเท่าใดก็ไม่สำเร็จ แต่จงตั้งหน้าไปห่ารากเหง้าคือต้นเหตุแห่งความทุกข์เถิด เมื่อต้นเหตุแห่งทุกข์ถูกฆ่าดับไปแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็ย่อมจะดับไปเอง นี่แหละคือความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงแท้จริง โดยที่ทรงมีพระพุทธญาณอันยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ในเหตุและผลเช่นนี้ สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเป็นผู้สมควรแก่การสดุดี ว่าทรงมีพฤติการณ์เปรียบประดุจพญาไกรสรสีหาราช ในกรณีแห่งการดับทุกข์นี้

    ส่วนพวกเดียรถีย์ทั้งหลาย ซึ่งเข้าใจว่าตัวมีปัญญา และได้รับการยกย่องว่าเป็นศาสดา บางท่านบางคนเมื่อปรารถนาจะพ้นทุกข์ ใคร่จักได้รับความสุขชั่วนิรันดร ตามปกติสันดานของผู้รักสุขเกลียดทุกข์ทั้งหลาย เพราะค่าที่ตนเป็นคนไร้อริยปัญญา ยังทรงภาวะเป็นปุถุชนอยู่ จึงไม่มีปัญญาที่จักล่วงรู้เข้าไปถึงสภาวธรรมอันล้ำลึกนี้ได้ ก็ตั้งหน้าประพฤติปฏิบัติไปโดยปราศจากเหตุผล โดยการทรมานตนเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" ประกอบพิธีการทรมานตนให้ลำบากโดยประการต่างๆ ตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นอุกฤษฎ์ เช่น
    พร่ำบ่นอ้อนวอน เพื่อให้พระผู้ศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจยิ่งใหญ่ ซึ่งอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ ขอให้มาโปรดตนให้พ้นทุกข์ด้วยความสงสาร พยายามสวดอ้้อนวอนเสียจนคอแหบคอแห้งก็ดี

    ประพฤติอเจลกวัตรชีเปลือยไม่นุ่งห่มผ้า ยังตนให้ถึงภาวะลำบากทุกข์ทรมาน เพื่อให้ท่านผู้วิเศษสงสาร จักได้ประทานความสุขแ่ก่ตนชั่วนิรันดร์ก็ดี

    ประพฤติสีลพรตอันวิตถารพิศดารด้วยการทรมานตน โดยวิธีต่างๆ เช่น อดอาหารให้ร่างกายผอมโซ ไม่นอน ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่อาบน้ำ เผา่ร่างกายให้ร้อนด้วยแสงอาทิตย์และเพลิง ทำร่างกายให้หนาวเย็นด้วยการนอนแช่ลงไปในน้ำ นอนบนขวากหนามอันแหลมคม โดยพยายามอดทนต่อความเจ็บปวดเหล่านี้ก็ดี ตลอดจนถึงวิธีการปฏิบัติตนให้เป็นเสมือนโคเสมือนสุนัข ซึ่งเรียกว่า โควัตรและกุกกุรวัตร ที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมานานช้า

    พระนิพพานมีจริง

    ในการกล่าวถึงเรื่องทุกขนิโรธอริยสัจธรรม หรือพระนิพพาน หากจะมีผู้เกิดความสงสัยขึ้นว่า

    พระนิพพานมีจริงหรือ? เพราะเท่าที่ฟังๆ มา ก็ให้รู้สึกว่าความทุกข์นั้นมีมากมายนักหนา และเมื่อมาพิจารณาถึงต้นเหตุแห่งความทุกข์ คือตัวตัณหาต่างๆ ที่กล่าวอ้างมาแล้วนั้น ก็ล้วนแต่ฟังยากเข้าใจยากและมีอิทธิพลร้ายแรง ยากที่จักตัดให้ขาดได้ทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงให้สงสัยอยู่ครามครันว่าทุกขนิโรธความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระนิพพานนั้น มีจริงๆ หรือ? เกรงว่าจะไม่มีจริงเสียกระมัง? ถึงแม้พระนิพพานที่อ้างๆ กันอยู่นั้น ก็น่าจะเป็นพระนิพพานปลอม ไม่ใช่พระนิพพานแท้ เพราะพระนิพพานแท้เป็นสภาพที่บุคคลจะพึงหาไม่ได้เลย! อันหนวดเต่าและเขากระต่ายเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในโลกฉันใด พระนิพพานแท้อันเป็นเครื่องดับความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง และเป็นเครื่องส่งผลให้ประสบความสุขชั่วนิรันดร์นั้น ก็เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในโลกดุจกันฉะนั้น จึงขอถามเป็นคำขาดว่า พระนิพพานแท้นั้นมีจริงๆ หรือ?

    คำวิสัชนาก็มีว่า ทุกขนิโรธหรือพระนิพพานมีลักษณะเป็น มหาสุญญตา คือสงบเงียบที่สุดในโลก ปราศจากความทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง ท่านผู้ถึงพระนิพพานนั้นแล้ว ย่อมจักมีจิตผ่องแผ้วปราศจากกิเลสทั้งหลาย กิเลสธุลีแม้แต่เท่ายองใยก็ไม่มีเหลือติดอยู่ในจิตสันดาน ไม่มีการเกิดการตายอีกต่อไป เพราะพระนิพพานทรงคุณวิเศษยิ่งใหญ่ เป็นธรรมที่ตัดความระหกระเหินท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร ไม่ต้องได้รับความทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดแน่นอน

    อรรถวัณนาที่กล่าวมานี้ คือลักษณะอย่างย่อๆ ของพระนิพพานแท้และพระนิพพานแท้นี้มีอยู่จริงๆ อย่าสงสัยแคลงใจอะไรเลย ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระนิพพานนี้ ได้ถูกเปิดเผยออกมาให้ปรากฏแก่ชาวเราทั้งหลาย โดยพระวจนะแห่งองค์สมเด็จพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งทุกขนิโรธอริยสัจแล้วทรงนำเอามาบอก นอกจากนั้นพระอรหันตอริยสาวกทั้งหลาย ซึ่งมีน้ำใจเลื่อมใสในกระแสพระพุทธฎีกา อุตส่าห์ปฏิบัติตามพระโอวาทานุศาสนี จนบรรลุถึงพระนิพพานแล้ว ก็ยังมีจิตกรุณาโดยเป็นพยานยืนยันพระวจนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกรณีแห่งพระนิพพานนี้ว่า พระนิพพานซึ่งทรงไว้ซึ่งความสำคัญเป็นเอกอุนั้น ย่อมปรากฏว่ามีอยู่ตามพระพุทธฎีกาที่ว่าไว้จริงๆ

    ค้านขึ้นอีกว่า ไม่น่าเชื่อ! เพราะเมื่อพระนิพพานมีอยู่จริงแล้ว เหตุไฉน จึงไม่นำเอามาแสดงโดยแจ่มแจ้งให้ปรากฏชัดอย่างโต้งๆ เล่า จะได้เข้าใจแลเห็นได้ง่าย จะพูดคลุมเครือให้เป็นที่น่าสงสัยไปอย่างนี้ทำไมกัน?

    ดูกร ท่านผู้ไม่รู้เรื่องพระนิพพาน! การที่ท่านสำแดงความสงสัยอันปรากฎอยู่ในดวงใจอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ ก็เป็นการดีแล้ว จะได้วิสัชนาให้ฟัง คือว่าอันทุกขนิโรธหือพระนิพพานนี้ เป็นสิ่งที่ีตัวตนเมื่อไหร่เล่า จึงจะได้นำเอามาแสดงได้ง่ายๆ โดยที่แท้พระนิพพานนั้นไซร้เป็นอสังขตธรรม คือเป็นสภาวะวิเศษลึกลับปราศจากการปรุงแต่ง เป็นสิ่งที่จะพึงรู้ด้วยโสตก็มิได้ เป็นสิ่งที่จะพึงรู้ด้วยจมูกก็มิได้ เป็นสิ่งที่จะพึงรู้ด้วยลิ้นก็มิได้ เป็นสิ่งที่จะพึงรู้ด้วยกายก็มิได้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 กันยายน 2011

แชร์หน้านี้

Loading...