หนังสือมุนีนาถทีปนี19 การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย saksit5455, 4 กันยายน 2011.

  1. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    จำเนียรกาลแต่ชาติเป็นองค์สมเด็จพระอมรินทรเทวาธิราชตามที่เล่ามานี้แล้ว พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราก็เฝ้าสร้างสมอบรมบ่มพระบารมี จนกระทั่งถึงพระชาติที่ทรงสืบปฏิสนธิถือกำเนิดในมนุษยโลกเรานี้ คือ คราที่เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรมหาบุรุษเจ้า ก็ในกาลที่พระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรโพธิสัตว์เจ้านั้น ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมากมายทำให้พื้นแผ่นปฐพีไหวถึง ๗ ครั้ง ครั้นถึงแก่ชีพิตักษัยจากพระชาตินั้นแล้ว ก็ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพยเจ้าผู้มเหศักดิ์นามว่า พระเสตุเกตุเทพบุตร เสวยทิพยสมบัติเป็นบรมสุขอยู่ ณ ดุสิตเทวโลก เจริญพระชนมายุได้ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ อันนี้เป็นธรรมประเพณีแห่งพระมหาบุรุษรัตนโพธิสัตว์เจ้าทุกๆ พระองค์มา

    แท้จริง ธรรมดาว่าพระมหาบุรุษรัตนโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายนั้น หากว่าพระบารมียังมิได้บริบูรณ์แล้ว แม้ว่าในบางพระชาติจะได้ไปอุบัติเิกิด ณ สรวงสวรรค์ เทวโลกชั้นใดชั้นหนึ่งจะเป็นดุสิตเทวโลกก็ดี นิมานรดีเทวโลกก็ดี หรือปรนิมมิตวสวัตตีเทวโลกก็ดี ซึ่งมีอายุทิพย์ยั่งยืนนักหนา พระองค์ก็หาสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นๆ จนตราบเท่าสิ้นพระชนมายุไม่ เพราะเหตุว่าในเทวภิภพนั้น ยากที่จะบำเพ็ญพระบารมีเพื่อพระโพธิญาณให้บริบูรณ์ได้ ฉะนั้นสมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายผู้มีหฤทัยจำนงรักใคร่อยู่แต่เฉพาะพระโพธิญาณ เมื่อเสวยทิพยสมบัติพอควรแก่กาลแล้ว ย่อมทรงทำอธิมุตตกาลกิริยาจุติลงมาบังเกิดในมนุษยโลกเรานี้โดยควรแก่อัธยาศัย หาสู้มีความอาลัยในสวรรคสมบัติมากนัไม่ เพราะมีความประสงค์ใคร่จะทรงสร้างพระบารมีให้บริบูรณ์เป็นประมาณ ครั้นเมื่อพระบรมโพธิสมภารเต็มเปี่ยมอาจสามารถจักได้ตรัสเป็นเอกองค์อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติต่อไปแล้ว จึงจะเสด็จสถิตอยู่ ณ ดุสิตเทวโลกจนครบกำหนดพระชนมายุ

    ก็บัดนี้ หน่อพระชินสีห์โพธิสัตว์เจ้าที่เรากำลังติดตามดูพระประวัติของพระองค์ท่านอยู่นี้ พระองค์ทรงมีพระบรมโพธิสมภารเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระเวสสันดรบรมกษัตริย์ ฉะนั้น จึงทรงมาอุบัติเกิดเป็นเทพบุตร เสวยทิพย์สมบัติเป็นสุขอยู่ ณ ดุสิตเทวโลกไป จวบจนสิ้นทิพายุกาลในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ซึ่งมีเวลานานถึง ๔,๐๐๐ ปี หรือถ้าจะนับด้วยปีมนุษยโลกนี้ ก็นับได้ ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี รอเวลาที่จะได้ลงมาตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณต่อไป

    พรรณนาในเรื่องการสร้างพระบารมีตอนปลาย ซึ่งนับเป็นเวลายาวนานได้ ๔ อสงไขย กับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัปแห่งองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของเราท่านทั้งหลาย เห็นสมควรทึ่จะยุติลงได้แล้ว จึงขอยุติลงด้วยประการฉะนี้


    บทที่ ๕
    พระบรมไตรโลกนาถ


    บัดนี้ จักพรรณนาถึงความที่องค์สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถ คือเป็นที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยมแห่งสัตว์โลกทั้งสาม ซึ่งรวมทั้งตัวเราท่านทั้งหลายในปัจจุบันขณะนี้สืบต่อไป

    นับตั้งแต่พระองค์ได้ทรงสร้าง พระพุทธบารมีเริ่มแรกเป็นมโนปณิธาน ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในพระทัย ณ สมัยที่ทรงสืบปฏิสนธิืถือกำเนิดเป็นมาณพหนุ่ม ผู้แบกมารดาข้ามมหาสมุทรเป็นต้นมา จนกระทั่งถึงครั้งสุดท้ายได้ทรงถือกำเนิดเกิดเป็นพระเวสสันดรมหาบุรุษพุทธพงศ์โพธิสัตว์เจ้านับนับเป็นเวลาช้านาน รวมทั้งสิ้นได้ ๒๐ อสงไชย กับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป

    ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ พระองค์ผู้ทรงมีพระหฤทัยผูกพันมุ่งมั่นปรารถนาซึ่งพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ต้องทรงสร้างสมอบรมพระบารมีอย่างยิ่งยวด มิได้ทรงเอื้อเฟื้ออาลัยใยดีต่อร่างกายและชีวิตพระองค์เลยแม้แต่น้อย ต้องทรงพลีชีวิตเลือดเนื้อออกแลกกับพระโพธิญาณนับครั้งไม่ถ้วน

    พระองค์ทรงบริจาคโลหิตในพระวรกายให้เป็นทน ก็มีประมาณมากกว่ากระแสชลวารีทั้ง ๔ สมุทร

    พระองค์ทรงบริจาคมังสะ คือเนื้อในพระวรกายให้เป็นทานก็มีประมาณมากกว่าพื้นแผ่นมหาปฐพี

    พระองค์ตัดพระเศียรซึ่งประดับสรรพอลังการให้เป็นทาน ถ้าจะประมาณสะสมเอาไว้ ก็มีประมาณมากกว่าผลมะพร้าวอันมีอยู่ในปฐพีมณฑล

    พระองค์ทรงคว้านควัพระเนตรทั้งสองซ้ายขวาให้เป็นทานก็มีประมาณมากว่าดวงดารากรในอากาศ

    พระองค์ทรงผ่านพระทรวง เพิกหฤทัยออกให้เป็นทานก็มีประมาณมากกว่าผลไม้ทั้งหลายบรรดามีในพื้นมณฑลสกลปฐพี

    ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ความเสียสละอันยิ่งใหญ่ในการสร้างพระบารมี แห่งองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราย่อมปรากฎมีมากมายเป็นมหัศจรรย์ตามที่พรรณนามานี้ เมื่อพระองค์ทรงมีวาสนาบารมีครบถ้วนบริบูรณ์ทุกประการ และถึงกาลอันสมควรแล้ว พระองค์ก็เสด็จจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลกมาอุบัติตรัสพระปรมาภิเษก เป็นเอกองค์สมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าในมนุษยโลกนี้ เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งพระพุทธประวัติในตอนนี้ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปโดยมากแล้ว จึงจักขอยกไว้ ในที่สุด ใคร่ที่จะกล่าวถึงความที่พระองค์ทรงเป็นนาถะที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยมของชาวโลกว่าการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นนาถะที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยมของชาวโลกนั้น ทรงเป็นที่พึงได้อย่างไร?

    ในกรณีนี้ ก่อนอื่นต้องทราบว่า การที่พระองค์ทรงพระอุตสาหะสร้างพระบารมีมาอย่างแสนลำบากยากเย็นตามที่พรรณนามาแล้วนั้น ก็ด้วยมีพระประสงค์จะนำพระองค์ออกจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารและมีพระประสงค์จะรื้อขนสัตว์โลกออกจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร เพื่อให้มีโอกาสเข้าไปสู่แดนเกษมสำราญ คืออมตมหานิพพาน นี่แหละคือจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า ขอให้พวกเราชาวพุทธบริษัทจำไว้ให้ดีอย่างนี้ก่อน ทีนี้ พวกเราจะพากันย้อนไปพูดถึงเรื่องที่ว่า วัฏสงสารฟ นั้น คือ อะไร? มีอรรถาธิบายที่ควรแก่การศึกษาให้เข้าใจ ดังต่อไปนี้

    วัฏสงสาร

    การที่สัตว์ทั้งหลายทุกรูปทุกนาม ต้องท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในภูมิต่างๆ คือต้องวนเวียนตายเกิดอยู่ในโลกต่างๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เรียกชื่อว่า วัฎสงสาร คือ การท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดเพราะวัฏฏ หมายถึงวนเวียน เมื่อจะจำแนกวัฏสงสารเป็นประเภทใหญ่ๆ เพื่อให้จำได้ง่าย ก็มี ๓ ประเภท คือ

    ๑. เหฏฐิมสงสาร คือ การท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภูมิชั้นต่ำอันเป็นชั้นเลว มีทุกข์มาก ซึ่งมีอยู่ ๔ โลก คือ
    ๑. นิรยภูมิ โลกนรก
    ๒. เปตติวิสัยภูมิ โลกเปรต
    ๓. อสุรกายภูมิ โลกอสุรกาย
    ๔. ติรัจฉานภูม โลกเดียจฉาน
    ๒. ปัชฌิมสงสาร คือการท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภูมิชั้นกลางอันเป็นโลกชั้นดี มีสุขเป็นโลกีย์พอประมาณ ซึ่งมีอยู่ ๗ โลก คือ
    ๑. มนุสสภูมิ โลกมนุษย์
    ๒. จาตุมหาราชิกาภูมิ เทวโลกชั้น ๑
    ๓. ตาวติงสาภูมิ เทวโลกชั้น ๒
    ๔. ยามาภูมิ เทวโลกชั้น ๓
    ๕. ตุสิตาภูมิ เทวโลกชั้น ๔
    ๖. นิมมานรตีภูมิ เทวโลกชั้น ๕
    ๗. ปรนิมมิตวสวัตติภูมิ เทวโลกชั้น ๖
    ๓. อุปริมสงสาร คือการท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภูมิชั้นสูง อันเป็นโลกชั้นดีวิเศษ มีสุขมาก ซึ่งมีอยู่ ๒๐ โลก คือ
    ๑. พรหมปาริสัชชาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑
    ๒. พรหมปุโรหิตาภูมิ พรหมโลกชั้น ๒
    ๓. มหาพรหมภูมิ พรหมโลกชั้น ๓
    ๔. ปริตตาภาภูมิ พรหมโลกชั้น ๔
    ๕. อัปปมาณาภาภูมิ พรหมโลกชั้น ๕
    ๖. อาภัสสราภูมิ พรหมโลกชั้น ๖
    ๗. ปริตตสุภาภูมิ พรหมโลกชั้น ๗
    ๘. อัปปมาณสุภาภูมิ พรหมโลกชั้น ๘
    ๙. สุภกิณหกาภูมิ พรหมโลกชั้น ๙
    ๑๐. เวหัปผลาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๐
    ๑๑. อสัญญาสัตตาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๑
    ๑๒. อวิหาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๒
    ๑๓. อตัปปาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๓
    ๑๔. สุทัสสาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๔
    ๑๕. สุทัสสีภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๕
    ๑๖. อกนิฏฐกาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๖
    พรหมโลกทั้ง ๑๖ ภูมินี้เป็นรูปภูมิ คือเป็นที่อยู่ของพระพรหม ผู้วิเศษทั้งหลายที่ปรากฎมีรูป แต่ว่าเป็นรูปทิพย์
    ๑๗. อากาสานัญจายตนภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๗
    ๑๘. วิญญานัญจายตนภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๘
    ๑๙. อากิญจัญญายตนภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๙
    ๒๐. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ พรหมโลกชั้น ๒๐
    พรหมโลกทั้ง ๔ ภูมินี้ เป็นอรูปภูมิ คือเป็นที่อยู่ของพระพรหมผู้วิเศษทั้งหลาย ซึ่งมีฌานอันสูงเยี่ยม อยู่ไกลสูงสุดจากมนุษยโลกเรานี้มากนัก ท่านพระพรหมเหล่านี้ไม่มีรูปร่างปรากฏอยู่เลย แม้แต่รูปทิพย์ก็ไม่มี และมีอายุยืนนานนับเป็นหมื่นๆ มหากัปทีเดียว

    ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ภูมิเหล่านี้ทั้งหมด ยกเว้นสุทธาวาสภูมิ ๕ เสียแล้ว ย่อมเป็นที่อุบัติเกิด เป็นที่อยู่และเป็นที่ตายแห่งสัตว์ทั้งหลายทุกรูปทุกนาม ไม่มีการยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นเราเป็นท่าน ย่อมต้องท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดอยู่ภายในภูมิเหล่าี้นี้เรื่อยไปไม่มีวันสิ้นสุดลงได้ต้องอยู่ภายในวัฏสงสารมิภูมิใดก็ภูมิหนึ่งอย่างแน่นอน


     

แชร์หน้านี้

Loading...