สิ้นโลก เหลือธรรม ๓ พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 19 กรกฎาคม 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    [​IMG]



    สิ้นโลก เหลือธรรม ๓



    พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)


    วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย


    ฌาน และ สมาธิ บริกรรมอันเดียวกัน แต่มันเป็นฌานแลเป็นสมาธิ ต่างกันดังอธิบายมานี้ พอเป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติ นอกเหนือจากคำบริกรรมที่อธิบายแล้ว จะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ได้ แต่มันเป็นฌาน แลสมาธิ จะต่างกันตรงที่มันจะรวมไปเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดไม่ต้องไปถือเอาคำที่ ฌาน ภวังค์ แลสมาธิ ให้พิจารณาเอาแต่อาการของจิตที่รวมเข้าไป มีอาการต่างกันอย่างไร ดังได้อธิบายมาแล้ว ก็จะเห็นชัดเลยทีเดียว


    ผู้ทำฌานได้ชำนาญคล่องแคล่ว จะเข้าจะออกเมื่อไรก็ได้แล้ว ถ้าหากผู้นั้นเคยบำเพ็ญมาแล้วแต่ชาติก่อน ก็จะทำอภินิหารได้ตามความต้องการของตน เป็นต้นว่า มีความรู้เห็นนิมิตตนเอง แลคนอื่นเคยได้เป็นบิดา มารดา เป็นบุตร ธิดา แลสามี ภรรยา หรือเคยได้จองเวรจองกรรม อาฆาตบาดหมาง แก่กันแลกันมาแล้วแต่ชาติก่อนเรียกว่า “อตีตังสญาณ” อตีตังสญาณนี้ บางทีบอกชื่อแลสถานที่ที่เคยกระทำมาแล้วนั้นพร้อมเลยทีเดียว


    บางทีก็เห็นนิมิตแลความรู้ขึ้นมาว่าตนเอง แลคนอื่น มีญาติพี่น้องเราเป็นต้น ที่มีชีวิตอยู่ จะต้องตายวันนั้นวันนี้ หรือปีนั้นปีนี้หรือจะได้โชคลาภ หรือเป็นทุกข์จนอย่างนั้นๆ เมื่อถึงกำหนดเวลา ก็เป็นจริงอย่างที่รู้เห็นนั้นจริงๆ นี้เรียกว่า “อนาคตังสญาณ”


    “อาสวักขยญาณ” ท่านว่า ความรู้ความเห็นในอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ข้อนี้ผู้เขียนขอวินิจฉัยไว้สักนิดเถอะ เพราะกังขามานานแล้ว ถ้าแปลว่าความรู้ความเห็นของท่านผู้นั้นๆ ท่านทำให้สิ้นอาสวะไปแล้วก็ยังเข้าใจบ้าง เพราะญาณก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี เกิดจากฌานทั้งนั้น และในนั้นก็บอกชัดอยู่แล้ว ฌาน ถ้าแปลว่าความรู้เห็นอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ก็แสดงว่าได้ฌานแล้วทำหน้าที่แทนมัคสมังคีในมัคค์นั้นได้เลย ถ้าพูดอย่างนี้มันตรงกันข้ามกับที่ว่า มัคคสมังคี เป็นเครื่องประหารกิเลสแต่ละมัคค์


    ญาณ ๓ เกิดจากฌาน ฌานก็ดีแต่รู้เห็นคนอื่น สิ่งอื่น ส่วนกิเลสภายในใจของตนหาได้รู้ไม่ ญาณ ๓ ก็ดี ญาณ ๖ ก็ดี หรือบรรดาญาณทุกอย่าง ไม่เคยได้ยินท่านกล่าวไว้ที่ไหนเลยว่า “ญาณประหาร” มีแต่ “มัคคประหาร” ทั้งนั้น มีแต่อาสวักขยญาณ นี้แหละที่แปลว่าวิชาความรู้อันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป จึงเป็นที่น่าสงสัยยิ่งนัก ท่านผู้รู้ทั้งหลายกรุณาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ด้วย ถ้าเห็นว่าไม่ตรงตามผู้เขียนแล้ว โปรดจดหมายส่งไปที่ที่อยู่ของผู้เขียนข้างต้นด้วย จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง


    “อาสวกขยญาณ” มิได้เกิดจากฌาน ฌานเป็นโลกียะทั้งหมด ตลอดถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะโลกุตรฌาน ไม่เห็นท่านแสดงไว้ว่ามีองค์เท่านั้นเท่านี้ ท่านผู้เข้าเป็นโลกุตระต่างหาก จึงเรียกฌานเป็นโลกุตระตามท่าน เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินทรงพระขรรค์ที่จริงก็ดาบธรรมดาเราดีๆ นี่แหละ เมื่อเป็นของพระเจ้าแผ่นดินแล้วจึงเรียกว่าทางพระขรรค์ นี่ก็ฉันใด ถ้าแปลว่ารู้จักท่านที่ทำกิเลสอาสวะให้สิ้นไป ก็ยังจะเข้าใจบ้าง


    อนึ่ง ท่านยังแยกฌานออกเป็นภวังค์ มี ๓ คือ ภวังคุบาท ๑ภวังคจรณะ ๑ ภวังคุปัจเฉทะ ๑ ตามลักษณะของจิตที่รวมเข้าไปเป็นภวังค์ ส่วนสมาธิ ก็แยกออกเป็นสมาธิ ดังอธิบายมาข้างต้นเป็น ๓เหมือนกัน คือ ขณิกสมาธิ ๑ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑


    ส่วนการละกิเลสท่านก็แสดงไว้ ไม่ใช่การละกิเลส เป็นแต่การข่มกิเลสของตนไว้ไม่ให้มันเกิดขึ้นด้วยองค์ฌานนั้นๆ ส่วนการละกิเลสของสมาธิ ท่านแสดงไว้ว่า พระโสดาบัน ละกิเลสได้ ๓ คือ ละสักกายทิฎฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ พระสกทาคามี ละได้ ๓ตัวเบื้องต้นและยังทำให้ราคะเบาบางลงอีก พระอนาคามี ละได้ ๓เบื้องต้นนั้นได้เด็ดขาดแล้ว ยังละกามราคะและปฏิฆะให้หมดไปอีกด้วยนี้แสดงว่าฌานเป็นโลกิยะโดยแท้ ส่วนสมาธิเป็นโลกุตตระ ละกิเลสได้ตามลำดับ ดังอธิบายมาแล้ว


    ฌาน ถึงแม้เป็นโลกิยะก็จริงแล แต่ผู้ฝึกหัดทำสมาธิจำเป็นต้องผ่านฌานนี้เสียก่อน เพราะฌาน และสมาธิ มันกลับกันได้ด้วยอุบายแยบคายของตนเอง ผู้จะไม่ผ่านฌาน แลสมาธิ ทั้งสองนี้ไม่มี ฝึกหัดจิตอันเดียวกัน บริกรรมภาวนาอันเดียวกัน หนีไม่พ้นฌาน แลสมาธิเป็นอันขาด ฌาน แลสมาธิ เบื้องต้นเป็นสนามฝึกหัดของจิตของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย พระโยคาวจรเจ้าฝึกหัดฌาน แลสมาธิ ทั้ง ๒อย่างนี้ให้ชำนิชำนาญ รู้จักผิด รู้จักถูกละเอียดถี่ถ้วยดีแล้ว จึงจะทำวิปัสสนาให้เป็นไปได้ วิปัสสนามิใช่เป็นของง่ายเลย ดังคนทั้งหลายเข้าใจกันนั้น จิตรวมเข้ามาเป็นฌาน แลสมาธิ เป็นบางครั้งบางคราวก็โมเมเอาว่าตนได้ขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว ไม่ทราบว่าถึงขั้นไหน เป็นฌาน หรือเป็นสมาธิ คุยฟุ้งเลย ทีหลังสมาธิเสื่อมแล้วเข้าไม่ถูก


    สมาธิ ก็มีลีลามากน่าดูเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนฌาน เหมือนกับเล่นกีฬา คนหนึ่งเล่นเพื่อความมัวเมา แต่คนหนึ่งเล่นเพื่อสุขภาพอนามัย


    สมาธินั้นเมื่อจิตรวมเข้าไป ก็รู้ว่าจิตรวมเข้าไปรู้อยู่ตลอดเวลา จิตจะหยาบ แลละเอียดสักเท่าไร สติย่อมตามรู้อยู่ทุกขณะจิต เมื่อยังหยาบอยู่ มันรู้อยู่แต่ภายนอก เมื่อจิตมันละเอียดเข้าไป มันก็รู้อยู่ทั้งภายนอก และภายใน ไม่หลงไปตามอาการของจิตของตน รู้ทั้งที่จิตเป็นธรรม แลจิตปะปนไปกับโลก ไม่เห็นไปหน้าเดียว อย่างที่เขาพูดว่า “หลงโลก หลงธรรม” นั่นเอง ผู้เห็นอย่างนี้แล้ว จิตจะเป็นกลาง วางอารมณ์ทั้งหมดเฉยได้ จะทำก็ได้ จะไม่ทำก็ได้ เมื่อจะทำก็ทำแต่สิ่งที่ควรสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำสุ่มสี่สุ่มห้า สมาธิเป็นลักษณะของผู้ใหญ่ผู้รู้เดียงสากระทำ ฌานเป็นลักษณะของเด็กผู้ไม่รู้เดียงสากระทำ


    นิมิตแลความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมาธินั้น นอกจากดังได้อธิบายมาในฌานในเบื้องต้นแล้ว มันอาจเกิดความรู้เห็นอรรถเป็นคาถาหรือเป็นเสียงไม่มีตัวตน หรือเป็นเสียงพร้อมทั้งตัวตนขึ้นมาก็ได้ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเครื่องเตือนตัวเองแลคนอื่นให้ระวังอันจะเกิดภัยในข้างหน้า หรือเตือนว่าสิ่งที่ตนทำมานั้นผิด หรือถูกก็ได้ นิมิตแลความรู้อันเกิดจากสมาธิภาวนานี้ จึงนับว่าเป็นของสำคัญมากทีเดียว เป็นเครื่องมือของนักบริหารทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น


    นิมิต แลความรู้ ดังอธิบายมานั้น เมื่อจะเกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติย่อมเกิดในเวลาจิตเป็น อุปจารสมาธิ แต่ตัวเองไม่รู้ว่าเป็นอุปจารสมาธิ แลรู้ได้ในขณะยืนอยู่ก็ได้ นั่งทำสมาธิก็ได้ นอนอยู่ในท่าทำสมาธิก็ได้ แม้แต่เดินไปมาอยู่ก็รู้ได้เหมือนกัน


    มีหลายท่านหลายคนซึ่งไม่เคยไปที่วัดของผู้เขียนเลยสักหนเดียว แต่รู้ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่า ที่นั้นๆ เป็นรูปร่างลักษณะอย่างนั้นๆ เมื่อไปถึงแล้วเห็นสถานที่ต่างๆ ไม่ผิดเลยสักอย่างเดียว ดังได้เห็นนิมิตไว้แต่ก่อน อันนี้จะเป็นเพราะฌาน สมาธิของเขา หรือเพราะบุญบารมีของเขา ซึ่งเคยได้ไปอยู่มาแล้วแต่ก่อน ก็ไม่ทราบได้ เมื่อถามท่านเหล่านั้นว่า เคยทำฌาน สมาธิ แลภาวนาหรือไม่ ก็บอกปฏิเสธทั้งนั้น


    นิมิต แลความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นกระท่อนกระแท่นไม่ติดต่อกัน แลจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพราะผู้เข้าทำสมาธิไม่ชำนาญ พอเข้าเป็นอุปจารสมาธิก็เกิดขึ้นแล้ว ดังได้อธิบายมาแล้วในเบื้องต้น ไม่เหมือนท่านที่ชำนาญ ท่านที่ชำนาญแล้วท่านจะต้องเข้าสมาธิให้ถึงอัปปนาสมาธิ แล้วจึงถอนออกมาอยู่แค่ อุปจารสมาธิ เมื่อต้องการจะรู้จะเห็นเหตุการณ์อะไร ท่านจึงวิตกถึงเรื่องนั้น เมื่อวิตกขึ้นแล้วท่านก็วางเฉย เมื่อเหตุการณ์อะไรจะเกิดมันก็เกิดขึ้น เมื่อมันไม่มีมันก็จะไม่เกิด เมื่อมันเกิดขึ้นเรื่องนั้นแน่นอนที่สุด เป็นจริงทุกอย่าง


    ไม่เหมือนคนเราในสมัยนี้ ทำฌาน ทำสมาธิยังไม่ทันจะเกิดเอาความอยากไปข่มแล้ว ความอยากจะเห็น อยากรู้นั้นนี้ต่างๆ นานาเมื่อมันไม่เห็นสิ่งที่ตนต้องการ ก็เลิกล้มความเพียรเสีย หาว่าตนไม่มีบุญมีวาสนา อะไรไปต่างๆ นานา ความจริงตนกระทำมานั้นมันถูกหนทางแล้ว มันได้แค่นั้นก็นับว่าดีอักโขแล้ว พึงยินดีพอใจกับที่ตนได้นั้นก็ดีแล้ว จะไปแข่งวาสนากับท่านที่ได้บำเพ็ญมาแต่ก่อนไม่ได้ แข่งเรือแข่งพายยังพอแข่งได้ แข่งบุญวาสนานี้ไม่ได้เลยเด็ดขาด บางท่านบำเพ็ญเพียรมาสักเท่าไรๆ นิมิตแลความรู้ต่างๆ ไม่เกิดเลย ทำไม่ท้อถอย ท่านสามารถบรรลุผลได้เหมือนกัน ท่านที่ได้จตุปฏิสัมภิทา ๔อภิญญา ๖ กับผู้ที่ท่านไม่ได้เลย ถึงพระนิพพานแล้วก็เป็นอันเดียวกันไม่เห็นแตกต่างกันตรงไหน


    คำบริกรรมนี้ ถ้าผู้ภาวนายังไม่ชำนาญ ต้องถือเป็นหลักภาวนาครั้งใดต้องใช้คำบริกรรมเสียก่อน จะภาวนาโดยไม่ใช้คำบริกรรมไม่ได้ คำบริกรรมที่ดีที่สุด คือ มรณานุสติ พิจารณาความตายแล้วไม่มีอะไรเหลือหลอ ถ้าผู้ภาวนาชำนาญแล้วจะพิจารณาอะไรก็ได้ หรือจะไม่ใช้คำบริกรรมเลยก็ได้ ที่พิจารณาเอาแต่อารมณ์ของกรรมฐานเลยก็ได้ จิตมันจะมารวมเอง


    คำบริกรรมนี้ เมื่อบริกรรมไปนานๆ เข้าชักจะขี้เกียจไม่อยากพิจารณาเสีย จะเอาแต่ความสงบอย่างเดียว เพราะเข้าใจว่าตนเก่งพอแล้ว แท้จริง นั้นคือความประมาท ถึงแม้วิปัสสนาก็ไม่พ้นจากมรณานุสตินี้เหมือนกัน แต่วิปัสสนา พิจารณาให้เห็นแจ้งชัดทั้งที่เกิดขึ้นแลดับไป ด้วยเหตุปัจจัยนั้นๆ ของสิ่งทั้งปวง ส่วนฌาน แลสมาธินั้นพิจารณาเหมือนกัน แต่เห็นบางส่วน ไม่เห็นชัดแจ้งตลอดพร้อมด้วยเหตุปัจจัยของมัน แต่ผู้ภาวนาทั้งหลายก็เข้าใจว่าตนเห็นตลอดแล้วตัวอย่างดังยายแก่คนหนึ่งภาวนา บอกว่าตนเห็นตลอดแล้ว ทุกอย่างมันเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น แม้แต่ตัวของเรานี้ก็จะต้องแตกดับ แกภาวนาจนทานอาหารอยู่ จิตรวมเข้าภวังค์จนลืมทานอาหาร นั่งตงมงอยู่เฉยๆ ต้มน้ำร้อนถวายพระ นั่งเฝ้ากาน้ำร้อนอยู่จนน้ำร้อนเดือดแห้งหมด วันหนึ่ง แกนั่งภาวนาอยู่ ปรากฏว่า ตัวแกไปนอนขวางทางรถยนต์อยู่ ขณะนั้นปรากฏว่ารถยนต์วิ่งปรูดมา แกคิดว่าตายแล้วเวลานี้ ในใจบอกว่าตายเป็นตาย ที่ไหน พอรถวิ่งมาใกล้ๆ จวนจะถึงจริงๆแกลุกขึ้นทันที นี้แหละความถือว่าตัวตนเข้าไปลี้อยู่ลึกซึ้งมาก ขนาดภาวนาจิตรวมเข้าจนไม่รู้ตัวภายนอกแล้ว ความถือภายในมันยังมีอยู่


    มรณานุสติ ต้องพิจารณาให้ชำนิชำนาญ แลพิจารณาให้บ่อยๆ จนให้เห็นความเกิดขึ้น แลความดับ เมื่อดับไปแล้วมันไปเป็นอะไร จนเห็นเป็นสภาพธรรมดา ตามเป็นจริงของมัน จนเชื่อมั่นในใจของตนเองว่า เราจะไม่หวั่นไหวต่อความตายละ


    กาย แล จิต หรือ รูป กับ นาม ก็ว่าแยกกันเกิด แลแยกกันดับ ฉะนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อท่านมีทุกขเวทนาทางกาย ท่านจึงแยก จิต ออกจาก กาย แล้วจึงเป็นสุข


    เมื่อจะเกิด สัมภาวะธาตุของบิดามารดาประสมกันก่อนหรือเรียกว่าน้ำเชื้อ หรือเรียกว่าสเปอร์มาโตซัวกับไข่ประสมกันก่อนแล้วจิตปฏิสนธิจึงเข้ามาเกาะ ถ้าธาตุของบิดามารดาประสมกันไม่ได้สัดส่วนกัน เช่น อีกฝ่ายหนึ่งเสีย เป็นต้นว่า มันแดง หรือ สีมันไม่ปกติก็ประสมกันไม่ติด แล้วปฏิสนธิจิตก็ตั้งไม่ติด เรียกว่า รูปเกิดก่อน แล้วจิตจึงเข้าปฏิสนธิภายหลัง


    เวลาดับ จิตดับก่อน กายจึงดับภายหลัง พึงเห็นเช่นคนตาย จิตดับหมดความรู้สึกแล้ว แต่กายยังอบอุ่น เซลส์หรือประสาทยังมีอยู่ คนตายแล้วกลับฟื้นคืนมา ยังใช้เซลส์หรือประสาทนั้นได้ตามเดิม


    เมื่อจิตเข้ามาครองร่างกายอันนี้แล้ว จิตจึงเข้าไปยึดร่างกายอันนี้หมดทุกชิ้นทุกส่วน ว่าเป็นของกูๆ แม้ที่สุด ร่างกายอันนี้จะแตกดับตายไปแล้ว มันก็ยังถือว่าของกูๆ ๆ อยู่นั่นเอง พึงเห็นเช่นพวกเขาเหล่านั้นตายไปแล้ว ได้เสวยกรรมตามที่ตนได้กระทำไว้แต่ยังเป็นมนุษย์อยู่ ไปเกิดเป็นอมิสกาย เช่น ภูต ผี ปีศาจ หรือ เทวบุตรเทวดา เป็นต้น เมื่อเขาเหล่านั้นจะแสดงให้คนเห็น ก็จะแสดงอาการที่เคยเป็นอยู่แต่ก่อนนั้นแหละ เช่น เคยทำชั่ว จิตใจเศร้าหมอง กายสกปรก หรือเคยทำความดี จิตใจใสสะอาด ร่างกายงดงาม สมบูรณ์ก็จะแสดงอย่างนั้นๆ ให้คนเห็น


    แม้ที่สุดสัตว์ตายไปตกนรก ก็แสดงภูมินรกนั้นให้คนเห็นชัดเจนเลยทีเดียว แต่แท้ที่จริงแล้ว ภพภูมิของเขาเหล่านั้น มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเห็นได้ดอก เพราะเขาเหล่านั้นตายไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตกับกรรม ที่เขาได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น


    มนุษย์คนเรานี้เกิดขึ้นมาแล้ว มายึดถือร่างกายอันนี้ว่าเป็นของกู มันแน่นหนาลึกซึ้งถึงขนาดนี้ ท่านผู้ฉลาดมาชำระจิตด้วยการทำสมาธิภาวนา ให้จิตสะอาดบริสุทธิ์แล้ว จนเข้าถึงความเป็นกลางได้ ไม่มีอดีต อนาคต วางเฉยได้ เข้าถึงใจ นั่นแลจึงพ้นจากสรรพกิเลสทั้งปวงได้


    สมาธิ เป็นเรื่องของจิต แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องของวาจาแลกายด้วย เพราะจิตมีแล้ว กาย แลวาจา จะต้องมี เมื่อจิตมีแล้วความวิตก คือวาจา จะต้องมี ความวิตกนั้นและวาจามีแล้ว มันจะต้องวิ่งแส่ส่ายไปในรูปธรรม ที่เป็นของสัตว์ แลมนุษย์ทั้งหลาย แลสิ่งสารพัดวัตถุทั้งปวง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ จิตจะหาที่เกาะเกี่ยวไม่ได้ จิตของคนเรา ไม่ว่าหยาบ แลละเอียด นับแต่กามาพจรภูมิ รูปาพจรภูมิแลอรูปาพจรภูมิ ต้องมีรูปธรรมเป็นเครื่องอยู่ด้วยกันทั้งนั้น มีอายตนะภายใน ภายนอก มีสัมผัสอยู่เป็นนิจ มีผู้รู้อยู่เสมอ แม้แต่อรูปาพจรจิตก็มีอรูปจิต นั้นแหละเป็นเครื่องอยู่ อรูปจิตนี้ผู้ได้อรูปฌานแล้ว จะเห็นอรูปจิตด้วยอายตนะภายในของตนเองอย่างชัดเจนทีเดียว


    อายตนะภายใน ในที่นี้มิได้หมายเอาอายตนะภายใน คือ ตาหู จมูก ลิ้น กาย แลใจ อย่างที่ท่านแสดงไว้นั้น แต่หมายเอาอายตนะภายในของใจ คือหมายเอาผู้ละ อายตนะภายใน มีตา หู จมูก ลิ้น กายเหล่านี้หมดแล้ว แต่ยังมีอายตนะภายในของใจ ยังมีอยู่อีก อย่างที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัส อันเป็นทิพย์ เช่น เมื่อตาเห็น ก็มิได้เอาตาธรรมดานี้ไปเห็น แต่เอาตาของใจไปดู รูปที่ตาของใจเห็นนั้น ก็มิใช่รูปที่ตาธรรมดาเห็นอยู่นี้ แต่เป็นรูปที่ตาใจเห็นต่างหาก เสียง กลิ่นรส สัมผัส แลอารมณ์ ก็เหมือนกัน


    อายตนะภายในของใจนี้ เมื่อสัมผัสเข้าแล้ว จะซาบซึ้งยิ่งกว่าอายตนะภายในดังที่ว่ามานั้น มากเป็นทวีคูณ แลจะสัมผัสเฉพาะตนเองเท่านั้น คนอื่นหารู้ได้ด้วยไม่ อายตนะภายในของจิตนี้พูดยากผู้ไม่ได้ภาวนาจนเห็นจิตใจของตนเสียก่อนแล้ว จะพูดเท่าไรๆ ก็ไม่เข้าใจ จะใช้ภาษาคำพูดของคนเราธรรมดาเป็นสื่อสารนี้ยาก จะเข้าใจไม่ได้ ต้องใช้อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบจึงพอจะเข้าใจได้


    เหตุนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายผู้ไม่ชำนาญในการปฏิปทา จึงปฏิบัติไม่ค่อยลงรอยกัน ทั้งๆ ที่ปฏิบัติใช้คำบริกรรมอย่างเดียวกันถ้าเป็นพระคณาจารย์ผู้ใหญ่เสียแล้ว มีลูกศิษย์ลูกหามากๆ ก็ยิ่งไปใหญ่เลย ฉะนั้น จึงควรยึดเอาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่ตั้ง เราปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ แบบตำราเป็นบรรทัดเครื่องวัดให้เราดำเนินตาม มิใช่ต่างคนต่างปฏิบัติ พุทธศาสนาคำสอนอันเดียวกัน พระศาสดาองค์เดียวกัน แต่สาวกผู้ปฏิบัติไปคนละทางกัน เป็นที่น่าอับอายขายขี้หน้าอย่างยิ่ง


    คัดลอกจาก ประตูธรรม
    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_thes/lp-thes_08_3.htm

    ศึกษาตอนต้นได้ที่


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 ตุลาคม 2012

แชร์หน้านี้

Loading...