สิ้นโลก เหลือธรรม ๒ พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 16 กรกฎาคม 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    [​IMG]


    สิ้นโลก เหลือธรรม ๒


    พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)


    วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย


    ผู้รักษาศีลไม่เข้าถึงใจ ถึงจิตแล้ว รักษาศีลยาก หรือรักษาศีลเป็น “โคบาลกะ” ว่า เมื่อไรหนอจะถึงเวลามืดค่ำ จะไล่โคเข้าคอกแล้วเราจะได้พักผ่อนนอนสบาย ไม่เข้าใจว่า เรารักษาศีลเพื่อความบริสุทธิ์สะอาดของกาย วาจา แลใจ รักษาได้นานเท่าไร มากเท่าไร ยิ่งสะอาดมากเท่านั้น รักษาจนตลอดชีวิตได้ยิ่งดีใหญ่ เราจะได้ละความชั่วได้ในชาตินี้ไปเสียที


    คนเราไม่รู้จักศีล (คือตัวของเรา) และไม่เข้าใจถึงศีล (คือข้องดเว้น) ข้อห้ามไม่ให้ทำความชั่ว จึงโทษพระองค์ว่า บัญญัติศีลไว้มากมาย สมาทานไม่ไหว มีบางคนพูดว่า บวชนานเท่าไร ดูพระวินัยมากๆ มีแต่ข้อห้าม นั่นก็เป็นอาบัติ นี่ก็เป็นอาบัติ บาปมากเข้าทุกที สู้บวช ๓ วัน ๗ วันไม่ได้ ไม่ได้เป็นอาบัติดี คำพูดของผู้เห็นเช่นนั้นนับว่าน่าสลดสังเวชมาก พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในเมืองไทยของเรานับตั้งสองพันกว่าปีแล้ว แสงธรรมยังไม่ส่องถึงจิตถึงใจของเขาเลยน่าสงสารจริงๆ เหมือนกับเต่านอนเฝ้ากอบัว ไม่รู้จักกลิ่นดอกบัวเลย


    เมื่อศีลเข้าถึงจิตเข้าถึงใจแล้ว เราไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมารักษาตัวเราเอง ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดๆ ศีลต้องระวังสังวรอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ให้ละเมิดทำความชั่ว แม้แต่จิตจะคิดวิตกว่าเราจะทำความชั่ว ก็รู้แล้ว แลจะละอายต่อความชั่วนั้นๆ ทั้งที่คนทั้งหลายยังไม่ทันจะรู้ความวิตกของเรานั้นเลย ความเกลียด โกรธพยาบาท อาฆาตทั้งหลาย มันจะมาจากไหน เพราะหัวใจมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา เข้ามาอยู่เต็มไปหมดแล้วในหัวใจ


    ศีล คือ ความปกติของกาย วาจา แลใจ ถ้าใจไม่ปกติเสียแล้ว กาย วาจา มันจะปกติไม่ได้ เพราะกาย วาจา มันอยู่ในบังคับของจิต ดังอธิบายมาแล้วแต่เบื้องต้น เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการให้เข้าถึงศีลที่แท้จริง แลเข้าถึงพุทธศาสนาให้จริงจัง พึงฝึกหัดจิตของตนให้เป็นสมาธิต่อไป


    ขั้นที่ ๓ การฝึกหัดสมาธิ ก็ไม่พ้นไปจากฝึกหัดกาย วาจาแลใจ อีกนั่นแหละ ใครจะฝึกหัดโดยวิธีใดๆ ก็แล้วแต่เถอะ ถ้าฝึกหัดสมาธิที่ถูกในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จำจะต้องฝึกหัดที่กาย วาจาแลใจ นี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะพุทธศาสนาสอนที่กาย วาจา แลใจ นี้อย่างเดียว ไม่ได้สอนที่อื่น ๓ อย่างนี้เป็นหลัก จะสอนศีล สมาธิปัญญา ก็ไม่นอกเหนือไปจากหลัก ๓ อย่างนี้ ถ้ายังพูดถึงพระพุทธศาสนาอยู่ตราบใด หรือพูดถึงการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ตราบใดพูดถึงมรรค ผล นิพพาน อยู่ตราบใด ย่อมไม่พ้นจากกาย วาจา แลใจถ้ายังมีสมมุติบัญญัติอยู่ตราบใด ต้องพูดถึงกาย วาจา แลใจ อยู่ตราบนั้น ถ้ายังไม่ดับขันธ์เป็นอนุปาทิเสสนิพพานเมื่อใด จำจะต้องพูดถึงอยู่ตราบนั้น


    ฝึกหัดสมาธิภาวนา นึกเอา มรณานุสติ เป็นอารมณ์ ให้นึกถึงความตายว่า เราจะต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะความตายเป็นที่สุดของชีวิตคนเรา เมื่อตายแล้ว ก็ทอดทิ้งสิ่งทั้งปวงหมด ไม่ว่าจะของรักแลหวงแหนสักปานใดต้องทอดทิ้งทั้งหมด การบริกรรมมรณานุสติ เป็นอุบายที่สุดของอุบายทั้งปวง จะพิจารณาลมหายใจเข้าหายใจออก ในที่สุดก็ลงความตาย จะพิจารณาอสุภกรรมฐาน ในที่สุดก็ลงความตาย


    เมื่อพิจารณาถึงความตายแล้ว มันมิอาลัยในสิ่งทั้งปวงหมดสิ้น จะคงเหลือแต่จิตอันเดียว นั่นแหละ ได้ชื่อว่าชำระจิตแล้ว แล้วจะมีขณะหนึ่ง จิตจะรวมเข้าเป็น สมาธิ คือจิตจะหยุดนิ่งเฉย ไม่คิดไม่นึก อะไรทั้งหมด แต่รู้ตัวอยู่ว่าเราอยู่เฉย จะนานเท่าไรก็ได้ ถ้าจิตนั้นมีพลังแก่กล้า


    บางทีเมื่อชำระจิต ปราศจากอารมณ์ทั้งหมดแล้ว จะยังเหลือแต่จิต ดังอธิบายมาแล้ว จิตจะรวมเข้า มีอาการวูบวาบเข้าไปแล้วจะเห็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ หลายอย่าง นั่นก็อย่าไปยึดเอา นั่นแหละเป็นตัวมารอย่างร้ายกาจ ถ้าไปยึดเอา สมาธิจะเสื่อมเสีย แต่คนทั้งหลายก็ไปยึดเอาอยู่นั่นแหละ เพราะเห็นเป็นของแปลกประหลาด แลบางอาจารย์ก็สอนให้ไปยึดถือเอาเป็นอารมณ์เสียด้วย จะเป็นเพราะท่านไม่เคยเห็นเคยเป็น หรือท่านไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นมาร ก็ไม่ทราบ


    บางคนฝึกหัดสมาธิภาวนา ใช้คำบริกรรมว่า “อานาปานุสติ” โดยพิจารณาลมหายใจเข้า - ออก หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ต้องตายหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ต้องตาย ความตายของคนเรามีอยู่นิดเดียว มีเพียงแค่หายใจเข้า หายใจออก เท่านี้เอง แล้วพึงจับเอาแต่จิตนั้น ลมก็จะหายไปเองโดยไม่รู้ตัว จะยังเหลือแต่จิตใสสว่างแจ๋วอยู่ผู้เดียว จิตที่ใสสว่างนี้ ถ้ามีสติแก่กล้าจะอยู่ได้นานๆ ถ้าสติอ่อนจะไม่นาน หรือรวมเข้าภวังค์เลยก็ได้


    จิตเข้าภวังค์นี้จะมีอาการหลายอย่าง อย่างหนึ่งเมื่อจิตจะรวม จิตน้อมเข้าไปยินดีพอใจกับสุขสงบที่จิตรวมนั้น แล้วจิตจะเข้าภวังค์ มีอาการเหมือนกับคนนอนหลับ หายเงียบเลย อยู่ได้นานๆ ตั้งเป็นหลายชั่วโมงก็มี บางคนขณะที่จิตเข้าภวังค์อยู่นั้น มันจะส่งไปเห็นนั้น เห็นนี่ ต่างๆ นานา บางทีเป็นจริงบ้าง ไม่เป็นจริงบ้าง บางคนก็ไม่เห็นอะไร เงียบไปเฉยๆ เมื่อถอนออกจากภวังค์มาแล้ว จำนิมิตนั้นได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนมีอาการวูบเข้าไปเปลี่ยนสภาพของจิตแล้วเฉยอยู่ มันเกิดหลายเรื่อง หลายอย่าง แล้วแต่อุปนิสัยของคน


    ภวังค์นี้มิใช่หนทางให้พ้นจากทุกข์ก็จริงแล แต่มันเป็นหนทางให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ ผู้ฝึกหัดจะต้องเป็นไปเป็นขั้นแรก แลเราจะแต่งเอาไม่ให้เป็นก็ไม่ได้ ผู้ฝึกหัดสมาธิจะเป็นทุกๆ คน ถ้าสติอ่อน หมั่นเป็นบ่อยๆ จนเคยชินแล้ว เห็นว่าไม่ใช่หนทางแล้ว มันหากแก้ตัวมันเองดอก ดีเหมือนกันนั่งหลับ มันเป็นเหตุให้ระงับจิตฟุ้งซ่านไปพักหนึ่ง ดีกว่าจิตไปฟุ้งซ่านหาโน่น หานี่ ตลอดวันค่ำคืนรุ่ง สิ่งทั้งปวงถ้าเราไม่เห็นด้วยตัวเองแล้ว เราก็ไม่รู้ว่า สิ่งนั้นคืออะไร เรารู้ไว้มากๆ แล้วภายหลังจะได้ไม่หลงอีก


    บางคนฝึกหัดภาวนา กำหนดเอา อสุภะ เป็นอารมณ์ พิจารณาร่างกายตัวของเรา ให้เห็นเป็นอสุภะไปทั้งตัวเลย หรือพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นอสุภะก็ได้ เช่น พิจารณาผม ขน เล็บหรือจะพิจารณาของภายในมีตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น ให้เห็นเป็นของปฏิกูลเน่าเปื่อย น่าพึงเกลียด เป็นของไม่งาม ให้พิจารณาจนเห็นชัดเบื้องต้นพึงพิจารณาโดยอนุโลมเอาของภายนอกมาเทียบ เช่น เห็นคนตาย หรือสัตว์ตายขึ้นอืดอยู่ เอามาเทียบกับตัวของเราว่า เราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันค่อยเห็นตัวของเราชัดขึ้นโดยลำดับ จนชัดขึ้นมาในใจ แล้วจะเกิดความสังเวชสลดใจ จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธินิ่งแน่วเป็นอารมณ์อันเดียว ถ้าสติอ่อนจิตจะน้อมเข้าไปยินดีกับความสงบสุข มันจะเข้าสู่ภวังค์ มีอาการดังอธิบายมาแล้วในเรื่องมรณานุสติ แล อานาปานุสติ วางคำบริกรรมแล้วสงบนิ่งเฉย บางคนก็เกิดนิมิตต่างๆ นานา เกิดแสงสว่างเหมือนกับพระอาทิตย์ แลพระจันทร์ เห็นดวงดาว เห็นกระทั่วเทวดา หรือภูติ ผี ปีศาจ แล้วหลงไปจับเอานิมิตนั้นๆ สมาธิเลยเสื่อมหายไป


    บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว สอนให้เอานิมิตนั้นเป็นขั้น เป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น เช่นนิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น


    ไปถือเอาแสงภายนอก ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์ ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก ผู้อยากได้ชั้นได้ภูมิ เมื่ออาจารย์ถาม ก็แสดงถึงแสงอย่างนั้น แล้วก็ถือว่าตนถึงขั้นนั้นแล้ว แต่อาจารย์ไม่ถามถึงกิเลส แลตนก็ไม่รู้กิเลสของตนเลยว่ามันมีเท่าไร มันหมดไปเท่าไรแล้ว เดี๋ยวกิเลสคือโทสะ มันเกิดขึ้นมาหน้าแดงกล่ำ มรรคผลนั้นเลยหายหมด การสอนให้จับเอานิมิต เกิดทีแรกแล้ว ทีหลังไม่เป็นอีกเด็ดขาด อย่างนี้มันจะเป็นของจริงได้อย่างไร นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไรจริงอยู่ คนภายนอกพระพุทธศาสนาก็ทำสมาธิได้มิใช่หรือ เช่น ฤาษีชีไพร เป็นต้น คนเหล่านี้ เขาทำกันมาแต่พระพุทธเจ้าของเรายังไม่อุบัติเกิดขึ้นในโลก เขาทำก็ได้เพียงแค่นั้น โลกิยฌานเท่านั้น ส่วนโลกุตรสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนแต่พระองค์เดียว ไม่มีใครสอนได้ในโลก ผู้เข้าถึงฌาน สำคัญตนว่าเป็นสมาธิแล้ว ก็เลยพอใจยินดีในฌานนั้น ติดอยู่ในฌานนั้น


    ฌาน กับ สมาธิ มีลักษณะคล้ายๆ กัน ผู้ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นเป็นอันเดียวกัน เพราะ ฌาน แล สมาธิ สับเปลี่ยนกันได้ อารมณ์ก็อันเดียวกัน ต่างแต่การเข้าภวังค์ แลเข้าสมาธิเท่านั้นเมื่อเข้าภวังค์ จะน้อมจิตลงสู่ความสงบสุขอย่างเดียวแล้วก็เข้าภวังค์เลย ถ้าเข้าสมาธิ จิตจะกล้าแข็ง มีสติอยู่เป็นนิจ จะไม่ยอมน้อมจิตเข้าสู่ความสงบสุข จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ช่าง แต่จิตนั้นจะพิจารณาอยู่ในธรรมอันเดียว อย่างนี้เรียกว่า สมาธิ


    แท้จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วก็ดี หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงมิใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุกๆ คน เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวมเข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่ ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรืออาจารย์ของผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่ เพราะของพรรคนี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ถ้าหาไม่แล้วก็จะต้องจมอยู่ปรัก คือนิมิตนั้น นานแสนนาน เช่นอาฬารดาบส และ อุททกดาบส เป็นตัวอย่าง


    ความรู้แลนิมิตต่างๆ เกิดจากคำบริกรรม เมื่อจิตรวมเข้าภวังค์แล้ว คำบริกรรมมีมากมาย ท่านแสดงไว้ในตำรามีถึง ๔๐ อย่างมีอนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น ที่พระสาวกบางองค์บริกรรมแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ยังมีมากกว่านี้ แต่ท่านไม่ได้เอามารวมไว้ในที่นี้ ยังมีมากกว่านั้น เช่น องค์หนึ่งไปนั่งอยู่ริมสระน้ำ เห็นนกกระยางโฉบกินปลา ท่านไปจับเอามาเป็นคำบริกรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ คำบริกรรมแล้วแต่อัธยาศัยของบุคคล มันถูกกับอัธยาศัยของตนก็ใช้ได้ทั้งนั้น ที่ท่านแสดงไว้ ๔๐ อย่างนั้น พอเป็นเบื้องต้นเฉยๆ ดอก ถึงผู้เขียนนำมาแสดงไว้ ๓ อย่างนั้น ก็พอเป็นบทเบื้องต้นข้อใหญ่ที่สำคัญๆ เท่านั้น ผู้ภาวนาถ้าไม่ถูกจริตนิสัยของตนแล้ว จะเอาอะไรก็ได้ แต่ให้เอาอันเดียว อย่าเอาหลายอย่างมันจะฟุ้งแลลังเล ไม่ตั้งมั่นในคำบริกรรมของตน


    คำบริกรรมนี้ให้เอาอันเดียว ถ้ามากอย่างจิตจะไม่รวม เมื่อพิจารณาไปๆ แล้ว จิตมันจะมารวมนิ่งเฉยอยู่คนเดียว แล้วให้วางคำบริกรรมนั้นเสีย ให้จับเอาแต่จิตรู้นิ่งเฉยนั้น ถ้าไม่วางคำบริกรรมเดี๋ยวมันจะฟุ้งอีก จับจิตไม่ได้ ถึงฌาน แลสมาธิก็เหมือนกัน เมื่อเกิดนิมิตแลความรู้ต่างๆ แล้วไปจับเอานิมิตแลความรู้นั้น ไม่เข้ามาดูตัวผู้ที่ส่งออกไปดูนิมิตแลความรู้นั้น เมื่อความรู้แลนิมิตนั้นหายไปแล้วจับเอาจิตไม่ได้


    ใจ ๑ นิมิต ๑ ผู้ส่งออกไปดูนิมิต ๑ ๓ อย่างนี้ ให้สังเกตให้ดี เมื่อนิมิตแลความรู้เกิดขึ้น อาการทั้งสามอย่างนี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ถ้าจับ ใจ คือ “ผู้รู้” ไม่ได้ เมื่อนิมิตแลความรู้นั้นหายไป ผู้รู้อันนั้นก็หายไปด้วยแล้วจะจับเอาตัวผู้รู้นั้นไม่ได้สักที


    คำบริกรรม ก็ต้องการให้จิตรวมเข้ามาอยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อจิตรวมเข้ามาอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ววางคำบริกรรมนั้นเสีย จับเอาแต่ ผู้รู้ อันเดียวก็ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ตาม ผู้บริกรรมภาวนาทั้งหลาย ขอให้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วนบริกรรมอันเดียวกัน แต่เวลามันรวมเข้าเป็นภวังค์ แลเป็นสมาธิ มันต่างกัน คือว่า บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์จนแน่ชัดว่าเราต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ตายแล้วไปคนเดียวสิ่งทั้งปวงละทิ้งหมด แม้แต่ปิยชนของเราเอาไปด้วยก็ไม่ได้ เมื่อเห็นชัดเช่นนั้นแล้ว จิตจะเพ่งแต่ความตายอย่างเดียว จะไม่เกี่ยวข้องถึงเรื่องอื่นทั้งหมด แล้วจิต จะรวมเข้าเป็นภวังค์หายเงียบ ไม่รู้สึกตัวสักพักหนึ่ง หรือรวมเข้าเป็นภวังค์วูบวาบ คล้ายกับคนนอนหลับ แล้วเกิดความรู้ตัวอยู่อีกโลกหนึ่ง (โลกของจิต) แล้วมีความรู้เห็นทุกอย่างเหมือนกับความรู้เห็นที่อยู่ในโลกนี้ แต่มันยิ่งกว่าโลกนี้ แลจะเทียบกับโลกนี้ไม่ได้ เป็นแต่รู้สึกได้ในเมื่อจิตนั้นยังไม่ออกจากภวังค์ หรือจิตมีอาการดังกล่าวแล้ว แล้วเข้าไปนิ่งเฉยอยู่ ไม่มีอารมณ์ใดๆ ทั้งหมดนอกจากความนิ่งเฉยอย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าจิตรวมเข้าเป็น “ภวังค์”


    บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตาย ดังอธิบายแล้วแต่เบื้องต้น แต่คราวนี้เวลามันจะรวมเข้าเป็นสมาธิ มันจะต้องตั้งสติให้กล้าหาญเข้มแข็ง ไม่ยอมให้จิตเข้าสู่ภวังค์ได้ พิจารณา มรณานุสติถึงเหตุแห่งความเกิดว่ามันเกิดอย่างไร พิจารณาถึงความตาย ว่ามันตายอย่างไร ตายแล้วไปเป็นอะไร จนความรู้แจ่มแจ้งชัดขึ้นมาในใจจนจิตเกิดความปราโมทย์ ร่าเริงอยู่กับความปราโมทย์นั้น (จะไม่มีปีติปีติเป็นอาการของฌาน) อย่างนี้เรียกว่า “สมาธิ”


    ฌาน และ สมาธิ พิจารณาคำบริกรรมอันเดียวกัน แต่จิตที่มันเข้าไปมันต่างกัน ฌาน รวมเข้าไปเป็นภวังค์ ให้นึกน้อมเอาอารมณ์อันเดียวคือความตาย แลเพื่อความสุขสงบอย่างเดียวแล้วเป็นภวังค์ ส่วน สมาธิ นั้น ตั้งสติให้กล้าแข็ง พิจารณาความตายให้เห็นชัดตามเป็นจริงทุกสิ่ง จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึง ขอแต่ให้เห็นชัดก็แล้วกัน แต่ด้วยจิตที่แน่วแน่พิจารณาอารมณ์อันนั้น มันเลยกลายเป็นสมาธิไปในตัว เกิดความรู้ชัดขึ้นมา เกิดปราโมทย์ร่าเริงในธรรมที่ตนพิจารณาอยู่นั้น แจ่มแจ้งอยู่ในที่เดียว แลคนเดียว จะพิจารณาไปรอบๆ ข้าง ก็จะมาชัดแจ้งในที่เดียวหายสงสัยหมด


    คัดลอกจาก ประตูธรรม
    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_thes/lp-thes_08_2.htm


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 ตุลาคม 2012

แชร์หน้านี้

Loading...