สิ่งควรรู้ก่อนการเจริญวิปัสสนา (มมร.)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 24 กันยายน 2012.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]




    ๏ หลักธรรมในการเจริญวิปัสสนา

    ผู้ปฏิบัติหรือผู้เข้าฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ควรทำความเข้าใจ หรือควรทราบธรรมะที่ เกี่ยวข้องกับการเจริญวิปัสสนา เพื่อการไม่หลงทาง ไม่ออกนอกทาง เพื่อความเข้าใจชัดในการปฏิบัติของตนเอง ให้การเจริญวิปัสสนาได้ผลดีเพิ่มขึ้น เพราะ ปริยัติ ย่อมส่องการปฏิบัติ แล้วการปฏิบัติที่ถูกต้องย่อมนำผลคือ ปฏิเวธ มาให้

    หัวข้อธรรมที่ควรทราบในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ คือ ธรรมที่เป็นองค์ตรัสรู้ หมายความว่า การที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม หรือพระอรหันต์ทั้งหลายได้ บรรลุธรรม ก็ได้ใช้โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ เข้ามาประกอบเกื้อหนุน โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ นั้นประกอบไปด้วย

    ๑. สติปัฏฐาน ๔ คือ

    (๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นความเป็นจริงว่า กาย ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

    (๒) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นความความเป็นจริงว่า เวทนา ก็สักแต่ว่า เวทนาไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

    (๓) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นความความเป็นจริงว่า จิต ก็สักแต่ว่า จิตไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

    (๔) ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นความความเป็นจริงว่า ธรรม ก็สักแต่ว่า ธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

    ๒. สัมมัปปธาน ๔ คือ

    (๑) สังวรปธาน คือ การเพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในตน

    (๒) ปหานปธาน คือ การเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

    (๓) ภาวนาปธาน คือ การเพียรให้กุศลเกิดขึ้นในตน

    (๔) อนุรักขนาปธาน คือ การเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม้ให้เสื่อม

    ๓. อิทธิบาท ๔ คือ

    (๑) ฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

    (๒) วิริยะ คือ ความเพียรหมั่นประกอบในสิ่งนั้น

    (๓) จิตตะ คือ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่ทอดทิ้งธุระ

    (๔) วิมังสา คือ การใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลในสิ่งนั้น

    ๔. พละ ๕ คือ

    (๑) สัทธา คือ ความเชื่อ

    (๒) วิริยะ คือ ความเพียร

    (๓) สติ คือ ความระลึกได้

    (๔) สมาธิ คือ ความตั้งมั่น

    (๕) ปัญญา คือ ความรอบรู้

    พละทั้ง ๕ ประการนี้ จัดเป็นอินทรีย์ด้วย เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน

    ๕. โพชฌงค์ ๗

    หมายถึง ธรรมที่เป็นองค์ตรัสรู้ หรือเป็นองค์ในการบรรลุธรรม มี ๗ ประการ คือ

    (๑) สติ คือ ความระลึกได้

    (๒) ธัมมวิจยะ คือ ความสอดส่องธรรม

    (๓) วิริยะ คือ ความเพียร

    (๔) ปีติ คือ ความอิ่มใจ

    (๕) ปัสสิทธิ คือ ความสงบสบายใจ

    (๖) สมาธิ คือ ความตั้งมั่น

    (๗) อุเบกขา คือ ความวางเฉย

    ๖. มรรคมี องค์ ๘ ได้แก่

    (๑) สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔

    (๒) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ ดำริในการออกจากกาม ดำริในการไม่พยาบาท และดำริในการไม่เบียดเบียน

    (๓) สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ เว้นจากวจีทุจริต

    (๔) สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ

    (๕) สัมมาอาชีวะ ทำอาชีพชอบ คือ เว้นจาก การเลี้ยงชีพในทางที่ผิด

    (๖) สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือ เพียรใน ๔ สถาน (สัมมัปปธาน ๔)

    (๗) สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ระลึกในสติปัฏฐาน ๔

    (๘) สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือ เจริญฌาน ๔



    ๏ พระสูตรสำคัญในการเจริญวิปัสสนา

    ในการเจริญวิปัสสนานั้น มีพระสูตรสำคัญที่ควรศึกษาเข้าใจ เพื่อนำมาปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อการปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งในที่นี้ขอนำมากล่าวไว้เพียงบางสูตร เช่น อานาปนสติสูตร สติปัฏฐานสูตร ธรรมนิยามสูตร รถวินีตสูตร โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔

    พระสูตรเหล่านี้มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนาโดยเฉพาะอานาปนสติสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญมาก และเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา



    ๏ ผู้เจริญวิปัสสนา ๒ ประเภท

    ในการเจริญวิปัสสนา ท่านแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

    ๑. สมถยานิกะ คือ ผู้เจริญสมถะมาก่อน
    ๒. วิปัสสนายานิกะ คือ ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน

    สมถนายิกะ

    คือ ผู้ที่ฝึกสมาธิมาก่อนจนใจสงบถึงฌาน แล้วมาเจริญวิปัสสนา ผู้เจริญวิปัสสนาแบบนี้ บางท่านก็จะได้อำนาจจิต มีพลังจิตสูง คือบรรลุอภิญญา เช่น ตาทิพย์ หูทิพย์ หรือได้เจโตปริยญาณ รู้ใจคนอื่น เป็นต้น ถ้าบรรลุพระอรหันต์ท่านเรียก พระอรหันต์ประเภทนี้ว่า เจโตวิมุตติ คือหลุดพ้น หรือบรรลุอำนาจใจ

    วิปัสสนายิก

    คือ ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน โดยใช้เพียงขณิกสมาธิเป็นพื้นฐานแล้วเจริญวิปัสสนา เช่น ภาวนากรรมฐานบทใดบทหนึ่ง พอใจสงบแล้ว ก็เจริญพระไตรลักษณ์ หรือแม้แต่พบเห็นอะไรนำมาพิจารณาโดยความเป็นไตรลักษณ์ บางท่านที่ทำเช่นนี้ ได้พบความสงบและความอิ่มใจอย่างยิ่ง นั่งเสวยความสุขเต็มเป็นเวลานานเป็นชั่วโมง หรอบางท่านนั่งอยู่ได้เป็นวันโดยไม่ต้องลุกขึ้นก็มี ผู้เจริญวิปัสสนาแบบนี้ ถ้าได้บรรลุอรหันต์ ท่านเรียกในทางวิชาการว่า สุกขวิปัสสก หรือผู้เจริญวิปัสสนาแห้งแล้ง ไม่ได้อำนาจจิตพิเศษหรือได้บรรลุอภิญญาใดใด แต่ก็หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ถึงความสิ้นทุกข์เช่นกัน เรียกพระอรหันต์ประเภทนี้ว่า “ปัญญาวิมุตติ หลุดพ้นด้วยอำนาจปัญญา”


    ๏ ประโยชน์ของเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

    ประโยชน์ของเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นมีมาก แต่เมื่อกล่าวโดยสรุป ก็คือ

    ๑. สามารถกำจัดกิเลสต่างๆ อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ ลงได้

    ๒. มีความทุกข์น้อยลง และมีความสุขมากขึ้น

    ๓. คลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงลงได้ ไม่วุ่นวายเดือดร้อนไปตามกระแสโลก

    ๔. มีจิตใจมั่นคง รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย ไม่ฟูขึ้นหรือยุบตัวลงด้วยอำนาจของโลกธรรม

    ๕. มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นมากขึ้น

    ๖. จิตใจมีคุณธรรมหรือมีคุณภาพสูงขึ้นตามการปฏิบัติ

    ๗. สามารถเข้านิโรธสมาบัติ อันเป็นความสุข ขึ้นสูงในปัจจุบันภพได้

    ๘. สามารถบรรลุความเป็นอริยบุคคล อันเป็นบุญเขตของโลก

    ๙. ย่อมได้ดื่มรสแห่งอริยผล อันเกิดจากการพ้นจากอำนาจของกิเลสได้

    ๑๐. สามารถบรรลุพระนิพพานได้




    ที่มา : เอกสารประกอบการสอบเข้าศึกษาต่อ หลักสูตรพุทธศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต
    สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา : วิชาทฤษฎีและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน,
    บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย::
     
  2. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,255
    ผู้มีหลักเสาเขื่อน

    ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีสังวรนั้น เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปด้วยตา, ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น, สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ; ก็ไม่สยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก ไม่เคียดแค้นในอารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ มีจิตหาประมาณมิได้, ย่อมรู้ตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ อันเป็นที่ดับแห่งบาปอกุศลที่เกิดแล้วแก่เขานั้นโดยสิ้นเชิง.
    ภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนบรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอก และจับลิง, มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง ๆ ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน หรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่าง ๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยและที่เที่ยวของตน ๆ : งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ, สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, และลิงก็จะไปป่า, ภิกษุทั้งหลาย! ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว, ในกาลนั้นมันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อน หรือเสาหลักนั้นเอง. ข้อนี้ฉันใด;
    ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุรูปใดได้อบรมกระทำให้มากในกายคตาสติแล้ว ตาก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ, รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; หูก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง, เสียงที่ไม่น่าฟังก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; จมูกก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่า สูดดม, กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; ลิ้นก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ, รสที่ไม่ชอบใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; กายก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ, สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; และใจก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ, ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีสังวรเป็นอย่างนี้.
    ภิกษุทั้งหลาย! คำว่า "เสาเขื่อน หรือเสาหลัก" นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่งกายคตาสติ.
    ภิกษุทั้งหลาย! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า "กายคตาสติของเราทั้งหลาย จำเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้ เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี" ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.
    บาลี พระพุทธภาษิต สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๗/๓๔๙, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย

    อนุโมทนา สาธุ ๆ
    กับทุกท่านที่ได้นำพระธรรมมาเผยแผ่
    เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนาด้วยครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 กันยายน 2012

แชร์หน้านี้

Loading...