สาเหตุแห่งความทุกข์มาจากไหน

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 12 พฤษภาคม 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    นี่เราก็สอนโลกชาวพุทธเราได้รู้เรื่องของศาสนาบ้างนะ ว่านับถือศาสนาพุทธเฉย ๆ ไม่รู้เรื่องของพุทธเลย มีมากต่อมากนะไม่ใช่ธรรมดา ถ้าจะพอรู้มีวี่มีแววบ้างก็พวกเข้าวัดเข้าวาเข้าปฏิบัติ เฉพาะอย่างยิ่งภาวนา อันนี้เป็นที่รวมของธรรมทั้งหลาย ถ้าว่าเป็นแม่น้ำก็เป็นทำนบใหญ่ แล้วก็เป็นมหาสมุทรรวมลงนั้น รวมลงที่จิตนี่ละ มีการภาวนาตีตะล่อมเข้ามาให้เข้าสู่ความสงบร่มเย็นสบาย ๆ ผู้ที่ดำเนินทางจิตนั้นจะเป็นผู้ที่รู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่กว้างขวางมาก ที่โลกทั้งหลายลึกลับ ธรรมชาติอันนี้ไม่ลึกลับ มันจะเห็นไปหมดนะ นี่อำนาจของจิต

    ศาสดาอุบัติขึ้นมาแต่ละองค์ ๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อไร ที่จะมารื้อขนสัตว์ให้รู้เรื่อง เตือนสัตว์ทั้งหลายให้รู้เนื้อรู้ตัว คือรู้ใจของตัวเองนั้นแหละ ใจอยู่กับตัวของทุกคนแต่ไม่รู้ใจตัวเอง ให้กิเลสหลอกไปข้างนอก ล่มจมไปเสียมากต่อมาก ใจนี่พาไปเพราะหลง ไม่มีอะไรกระตุกเตือนคือธรรม ธรรมไม่มีกระตุกเตือนมันก็ย้อนเข้ามารู้ตัวเองไม่ได้ ก็ไม่รู้ผิดถูกชั่วดี เพราะฉะนั้นเวลาสอนภาวนาท่านจึงบอกให้มีสติ ตั้งสติไว้นี้ ว่าพุทโธ ๆ แต่สติไม่มีมันก็เพ่นพ่าน ๆ คำว่าพุทโธก็เป็นนกขุนทอง วิ่งตามกิเลสไปเสีย พุทโธ ๆ พุทโธก็วิ่งตามกิเลส สติสตังไม่มีจิตก็ไม่รวม พอรู้ตัวนิดขึ้นมา โฮ้ นั่งภาวนานานไม่เห็นได้เรื่องอะไร มันจะได้เรื่องอะไรก็มันภาวนาหาเอาแต่สิ่งไม่เป็นท่า ก็ได้แต่ของไม่เป็นท่ามา ก็มาทวงเอาคะแนน ทวงคะแนนไม่ได้แล้ว โอ๊ย นอนเสียดีกว่า ทีนี้เลยนอนดีกว่าทุกอย่าง เป็นอย่างนั้นนะ

    เวลามันผาดโผนมันผาดโผนจริง ๆ นะกิเลส มันเต็มอยู่ในหัวใจทุกอย่างแล้ว เพราะฉะนั้นพูดอะไรถึงพูดได้เต็มปาก มันผ่านมาเสียพอกว่าจะพิจารณาโลกให้มันรอบตัวเอง ถึงกับขั้นว่าปล่อยมันโดยสิ้นเชิงได้นี้ เรียกว่าทุกข์แสนสาหัส เรื่องซอกแซกของจิตพินิจพิจารณาฝึกทรมานตนเอง เพื่อความรู้ความเห็นทั้งโทษและคุณนี้เป็นเรื่องที่หนักมาก เราจึงกล้าพูดอย่างเต็มปากเลยเทียวว่า งานในโลกนี้ใครอย่าว่างานอะไรที่ยุ่งยากปากหมอง หรือได้รับความทุกข์ความทรมานมากอันใดเลย ถ้ายังไม่ได้ผ่านการฆ่ากิเลส ขึ้นบนเวทีฟัดกับกิเลสเสียก่อน อย่าด่วนคุยนะ ถ้าใครได้ขึ้นฟัดกับกิเลสให้เต็มเหนี่ยว ลงจากเวทีมาแล้ว ผู้นั้นประกาศป้างได้เลย งานนี้เป็นงานหนักที่สุด

    งานหนักที่สุดนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว เป็นความสุขสุดยอด นั่นเห็นไหมล่ะ หนักซิ กิเลสมันหนามันก็หนัก สู้กันอย่างหนัก เราอย่าเอาความลำบากลำบนซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส มากีดขวางทางเดินเพื่อความดีของเรา ยากนั่นให้ถือว่าเป็นเรื่องของกิเลส ความทุกข์ความทรมานจะทำความดีนี้ มันจะมาสร้างกำแพงกั้นไว้ทันที ๆ เป็นอุปสรรค หาเรื่องมากีดกัน เดี๋ยวจะทำอันนั้นจะทำอันนี้ ยุ่งนั้นยุ่งนี้ นั่นกิเลสลากออกไปแล้วนะ พอไปกับกิเลสจนจะตายก็ไม่รู้ว่ายุ่งว่ายาก บ่นก็บ่นแต่ว่าสาเหตุแห่งความทุกข์มาจากไหน กิเลสนำมามันไม่รู้ ก็มาบ่นให้แต่ผลของมันนั่นซี เหตุที่มันสร้างขึ้นมาเราไม่เห็น

    ธรรมจับเข้าไปเห็นหมดทั้งเหตุทั้งผล ทุกข์ขึ้นมาอย่างนี้เพราะเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างนั้นทุกข์จึงเป็นอย่างนี้ เมื่อเราฝึกทรมานเราฝึกได้อย่างนี้ ๆ ความสุขเกิดขึ้นมาอย่างนี้เห็นสาเหตุแห่งความสุข เห็นสาเหตุแห่งความทุกข์ ทีนี้ก็รู้จักวิธีแก้ ถึงยากลำบากบ้างมันก็ทนเอาคนเรา แล้วไปได้ ถ้าอย่างนั้นไปได้ จึงได้กล้าพูดซิว่า เรื่องความทุกข์ในโลกอันนี้ ใครว่าทุกข์ที่ไหนอย่าเอามาคุยนะ ให้ขึ้นฟัดกับกิเลสเสียก่อน นี้ละตัวข้าศึกใหญ่ที่มันครอบโลกธาตุ ทำความทุกข์แก่โลก ได้รับความทุกข์ความทรมานกี่กัปกี่กัลป์มา คือกิเลสเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นเวลาจะแก้มัน เวลาจะทำลายมันรบกับมันนี้จึงหนักมากที่สุดตัวนี้ หนักมากทีเดียว มันควรสลบไสลพระพุทธเจ้าถึงสลบซิ มันควรจะยังไงมันก็เป็นได้ละเวลาขึ้นต่อกรกันแล้ว นักมวยต่อกรควรสลบ-สลบได้ ควรถูกน็อก-น็อก ดีไม่ดีตายไปเลยก็มี เป็นได้ทั้งนั้นแหละ เรื่องของกิเลสกับธรรมฟัดกันก็แบบเดียวกัน มันทุกข์ได้แบบเดียวกัน แต่ว่าผู้ที่ต่อสู้จริง ๆ เกี่ยวกับเรื่องฟัดกับกิเลสนี้มักจะได้ชัยชนะไปเรื่อย ๆ นะ

    อย่างครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ปรากฏชื่อลือนาม ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเรานี้ องค์ไหน ๆ ก็เถอะ ถ้ายังไม่เข้าถึงตัวท่านก็เหมือนท่านล้างมือเปิบนะ เหมือนล้างมือเปิบ ๆ ท่านไม่เป็นทุกข์ เวลาเข้าถึงกันแล้วมาคุยกันนี้ โหย เราก็นึกว่าเรานี้เดนตายมา ท่านพูดขึ้นมาเราก็จะสู้ท่านไม่ได้ นู่นเห็นไหม มันทุกข์ด้วยกัน เป็นแต่เพียงไม่พูดเฉย ๆ นี่ละจึงว่ากองทุกข์ ถ้าใครไม่ได้ผ่านการสังหารกิเลส ซึ่งมีอำนาจครอบโลกธาตุให้จมอยู่ตลอดมานี้ ยังฆ่ามันไม่ได้หรือยังไม่ได้สู้กับมัน อย่ามาพูดว่าเป็นทุกข์นะ ถ้าได้ขึ้นต่อกรกับนี้แล้ว ผ่านไปแล้วพูดได้หมด อันนี้เป็นสุดยอดในความทุกข์ทั้งหลาย

    แต่เวลาธรรมชาตินี้ถูกสังหารเรียบลงไปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะสุขสุดยอดยิ่งกว่าการพ้นจากหรือการปราบกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านปราบเรียบร้อยแล้วท่านจึงสุขสุดยอด ทีแรกก็ทุกข์สุดยอดเหมือนกัน พอชนะไปแล้วก็สุขสุดยอด ต่างกันอย่างนี้นะ สอนคราวนี้เราก็สอนเน้นหนักทางด้านจิตตภาวนา ให้โลกทั้งหลายได้รู้ใจตัวเองบ้าง ถือศาสนาพุทธก็ไปดูในคัมภีร์เสีย ว่าเป็นพุทธอยู่ในคัมภีร์เสีย ว่าเป็นพุทธอยู่ลิเกดีเสีย ว่าเป็นพุทธอยู่ที่พระพุทธรูปเขาสร้างไว้ที่นั่นที่นี่เกลื่อนไปทั่วประเทศไทย มีแต่พระพุทธรูป สร้างกันอย่างง่ายดาย สบายสร้างพระพุทธรูป แต่สร้างพุทธะคือผู้รู้ขึ้นภายในใจนี้ไม่มีใครสนใจจะสร้างนะ

    พระพุทธรูปที่ปรากฏนอกนั้นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านสร้างความรู้ความฉลาดเป็นจอมปราชญ์สมัยปัจจุบันซึ่งเป็นศาสดาเอกของโลกแล้วนั้นพุทธะแท้ เราปั้นรูปท่านสำหรับกราบไหว้บูชา เราเลยมองตั้งแต่วัตถุข้างนอกกันเสีย ไปที่ไหนเห็นพระพุทธรูปก็กราบไหว้ปลก ๆ ไหว้ปลกแล้วไปไม่สนใจดูตัวเอง เวลานี้เรื่องวัตถุนี้จึงเกลื่อนในพุทธศาสนาเรา ไม่มีใครสนใจจะดูอันสำคัญนี่นะ กิเลสมันไสให้ไปเกาข้างนอกนู่น ให้ไปสร้างอันนั้นสร้างอันนี้

    เราไม่ปฏิเสธว่าเป็นบุญเป็นกุศล แต่บุญกุศลที่ล้นพ้นมันอยู่ที่ใจ การปฏิบัติตัวเองต่างหากนี่นะ อันนั้นได้แต่สู้อันนี้ไม่ได้ความหมายว่างั้นนะ ให้เห็นทั้งทางนั้นเห็นทั้งทางนี้ ปฏิบัติทางโน้น เอ้า สร้างก็สร้าง สร้างอันนี้ก็สร้าง สม่ำเสมอกันไป นี้ไม่ได้สนใจนะ เอะอะก็สร้างพระพุทธรูปมีเกลื่อนไปหมด ไปที่ไหน ในภูเขาที่ไหน ๆ พระพุทธรูปมีอยู่ทุกแห่ง ไปหาสร้างกันอย่างนั้น แต่ไม่สนใจจะสร้างตัวเองให้เป็นพุทธะ รู้ขึ้นมาที่ใจ ไม่ค่อยสนใจกัน เพราะอันนั้นมันทำง่าย อันนี้ทำยากไม่สนใจทำ ไปหาทำง่าย ๆ มากกว่า ไปไหนเลยขลังไปหมด

    พุทธะเลยไปอยู่ตามตู้ตามหีบตามคัมภีร์ตามพระพุทธรูป ตามสถานที่เจดีย์ต่าง ๆ ไปหมดเสียแล้วพุทธะ พุทธะในหัวใจของคนที่จะได้รับความสุขความเจริญแท้ ๆ ไม่ได้สนใจสร้าง เสียตรงนี้นะ ชาวพุทธเราเวลานี้เป็นบ้าวัตถุไปหมดแล้วนะ พุทธศาสนาก็เป็นจุดศูนย์กลางเป็นเครื่องมือให้ทั้งคนดีคนชั่ว ถ้าคนดีก็มีจำนวนน้อยกราบไหว้บูชาปฏิบัติตนให้เป็นคนดีไปตามคำสอน ถ้าเป็นคนที่มืดหนาสาโหด ก็เลยเป็นเครื่องมือของพวกนี้ไปเสีย

    เช่นอย่างจะไปปล้นเขาอย่างนี้ เอาพระพุทธรูปแขวนคอไปปล้นเขา ไปปล้นเขาเขาฆ่าตายล่ะซิ พระพุทธรูปหรือเครื่องของขลังเต็มคอเห็นไหมล่ะ นี่ละมันเอาไปเป็นเครื่องมือ บ้านนี้ก็มีมาปล้นเขาล่ะซิ บ้านตาดนี้ เครื่องรางของขลังพระพุทธรูปเต็มคอมาปล้นเขา เขายิงตายแล้วไปดูมีตั้งแต่เครื่องรางของขลังเต็มคอ เป็นอย่างนั้นนะ มันเอาไปเป็นเครื่องมือได้พวกนี้ ไปปล้นเขา เขาก็คนเขาก็ยิงเอา ไม่ได้นึกว่ามีแต่เราคนเดียวในบ้านนี้เป็นเจ้าอำนาจ ไปปล้นเขา เขาเป็นเจ้าของสมบัติ เขาก็มีสิทธิมีอำนาจมีใจเหมือนกันกับเรา ไม่ได้คิดล่ะซิ นึกว่ามีใจแต่เรา มีอำนาจแต่เราคนเดียว ไปปล้นบ้านเขา คนที่ถูกปล้นก็ถูก คนที่ไม่ถูกปล้นก็ด้อมเข้ามาข้างหลังยิงใส่เปรี้ยงตายเลย พอได้ยินเอะอะก็วิ่งมาแล้ว คนมาปล้นบ้านเขา เอะอะมาปล้น มาเห็นมันก็ยิงเอาเลยจะว่าไง ตาย พระพุทธรูปเต็มคอ ของขลังไม่เห็นขลัง

    พระพุทธรูปท่านสอนคนให้ไปปล้นอย่างนี้เหรอ แล้วเอาท่านมาทำไม แล้วจะไปตำหนิพระพุทธเจ้าว่าไม่ขลังได้ยังไง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้มาขลังแบบถูกเขายิงตายอย่างนี้ ให้ไปปล้นเขาเขายิงตาย เราตถาคตจะอยู่ในคอนั่นแหละจะว่าอย่างนั้น ถ้าเป็นหลวงตาบัวเอามากี่องค์เอาหลวงตาบัวไปด้วย หลวงตาบัวก็อยู่คอพวกแกก็ตายไปเถอะ ข้าเป็นหลวงพ่อคูณข้าไม่ตาย ข้าโดดลงแต่ ๙๐ นู้นแล้ว แน่ะก็ไปอย่างนั้นถ้าเป็นหลวงตาบัวเข้าข้างหลวงพ่อคูณทันทีเลย เป็นอย่างนั้นมันขลังข้างนอก นี่เราพูดถึงเรื่องความพร้อมเพรียงสามัคคีเลยไหลไปทางไหนก็ไม่รู้นะ พลังของจิตเมื่อรวมตัวแล้วมีพลังมาก

    เดี๋ยวนี้ดูโลกมันจะดูไม่ได้นะ มองไปที่ไหนมีแต่ดีดแต่ดิ้น ดิ้นกันทั่วโลกทั่วสงสาร ไม่ใช่เฉพาะพวกเรานะ คือมันเหมือนกันหมด วิ่งไขว่โน้นคว้านี้ คว้าโน้นคว้านี้ คว้าอะไรหลุดไม้หลุดมือ ๆ ไม่มีอะไรเป็นสาระพอจะพึ่งเป็นพึ่งตายได้เลย แต่คว้ากันทั่วโลกดินแดน เพราะเขาไม่รู้จักว่าจะคว้าอะไรดี อะไรก็ว่าดีไปหมดแล้วก็เหลวไปหมด ๆ นี่มันไม่มีหลักยึด เพราะฉะนั้นเมื่อได้สอนอรรถสอนธรรมเข้าให้มีหลักใจ นี้คือมีหลักยึด ศาสดาองค์เอกมาสอนไว้แล้ว ธรรม-ธรรมอันเอกมาสอน ยึด เกาะนี้ปั๊บติด ไปได้ ๆ คนเรา มันไม่มีอันนี้นั่นซีโลกถึงได้ร้อนไม่มีหยุดมียั้งนะ ยังจะร้อนไปอีกไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ ถ้าไม่มีเกาะอันเหมาะสมเข้ายึด เช่น ธรรม ถ้าธรรมแล้วพอเป็นพอไปคนเรา

    ทุกข์ยากก็ทุกข์ด้วยกัน เกิดมาในท่ามกลางแห่งกองทุกข์จะเอาความสุขมาจากไหน ก็ต้องมี แต่สาระสำคัญที่เราจะพึ่งพิงอาศัยคือธรรมก็ให้มี สำคัญอันนี้นะ เดี๋ยวนี้ศาสนาพุทธเราในเมืองไทยนี้เหลวไหลเอามากจริง ๆ มองไปไหนเป็นวัตถุไปหมดเลยไม่ได้เป็นนามธรรม คือจิตใจที่สงบร่มเย็นเพราะการปฏิบัติธรรม ไม่ค่อยมีและไม่มี นั่นฟังซิ เป็นขั้น ๆ นี่เราพูดย่อม ๆ นะว่าไม่ค่อยมี เราอยากจะพูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ว่า มันไม่มีว่างั้นเลย ใครจะไปสนใจกับอรรถกับธรรม มองไปที่ไหนเห็นแต่มันดิ้น มันไม่ได้เห็นดิ้นเข้ามาหาธรรมให้พอมองเห็นว่าพอมีบ้าง

    นี่ละหลักใจคือธรรมนะ ให้พากันยึดถ้าอยากมีฝั่งมีฝา ให้ยึดอรรถยึดธรรม ยึดสิ่งภายนอกเขาเหมือนเรา เราเหมือนเขา ไม่มีใครที่จะพึ่งกันได้แหละ ตายไปก็พังไปด้วยกันหมด มหาเศรษฐีตายไปก็พัง สมบัติเงินทองข้าวของพังไปด้วยกันหมด ไม่มีความหมายอะไรเลย ใจก็พังใจไม่มีที่เกาะ ยึดอันนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้ายึดธรรมแล้วอะไรจะพังไม่พังก็ตามใจกับธรรมไม่พัง นั่นไปพับเลย เศรษฐีตายก็เป็นสุขได้ คนจนตายก็เป็นสุขได้ถ้ามีธรรมในใจ ไม่ว่าคนมีคนจน คนโง่คนฉลาด เดินตามแถวของกิเลส ไอ้ฉลาด ๆ ไปตามแถวธรรมไม่ค่อยมีนะ ฉลาดก็ฉลาดเพื่อโง่ ฉลาดเพื่อสร้างกองทุกข์ใส่ตัวเองดังที่เป็นอยู่เวลานี้

    ทำให้โลกร้อนอยู่เวลานี้ มีแต่เสกสรรตัวเองว่าเป็นคนฉลาดทั้งนั้นแหละ เป็นนักวิชาการดอกเตอร์ดอกแต้ ครั้นเวลาเรียนมาแล้วก็มาถลุงพุงตัวเองนั่นแหละ ชาติตัวเองให้แหลกเหลวไปหมด มันฉลาดยังไงจึงทำอย่างนั้นล่ะ ถ้าฉลาดจริง ๆ เรียนมาแล้วก็มาพยุงชาติตัวเองให้ดีขึ้น พยุงผู้เกี่ยวข้องชาติบ้านเมืองให้ดีขึ้น ต่างคนต่างเรียนมา ต่างคนต่างเป็นนักวิชาการมาพยุงส่งเสริมตัวเองและชาติของตัวเองให้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ นี่เรียกว่าความรู้เป็นไปตามแถวธรรม จากนี้แล้วเป็นความรู้ของมหาภัยสังหารตนเองและผู้อื่นด้วย แล้วเวลานี้ความรู้ของพี่น้องชาวไทยเราเป็นความรู้ประเภทไหน ควรจะนำไปตั้งปัญหาถามตัวเอง เรียนมาแล้วเอามาสังหารชาติบ้านเมืองอย่างนี้หรือความรู้อย่างเอกน่ะ มันเอกอย่างนี้นะกิเลส มันเอาให้จมได้นะความรู้ประเภทนี้ ถ้าเป็นความรู้ของด้านธรรมะเรียนมามากมาน้อย มาปรับปรุงพยุงให้ดีขึ้น ๆ เรียกว่าธรรม ความรู้อย่างนี้เป็นธรรม เป็นอย่างนั้นนะ

    เอาทีนี้ยกเข้าไปหาตัวสุดยอด พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระองค์อยู่ตั้ง ๖ ปีสลบ ๓ หนอยู่ในป่า จนกระทั่งสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเต็มภูมิแล้วและสั่งสอนโลก ก็เป็นมหาวิทยาลัยป่าขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องชื่อมหาวิทยาลัยก็ตาม เป็นขึ้นแล้วโดยหลักธรรมชาติ บรรดาพระสงฆ์สาวกทั้งหลายผู้มีอุปนิสัยปัจจัยเข้าไปศึกษาอบรมกับพระพุทธเจ้าในป่าในเขา ยกตัวอย่างเช่น เบญจวัคคีย์ทั้งห้า เป็นต้น นี่ไปศึกษาอบรมมาหลั่งไหลกันไปศึกษาอบรมอยู่ในมหาวิทยาลัยป่า องค์นี้สำเร็จเป็นพระโสดา องค์นี้สำเร็จเป็นพระสกิทาคา องค์นี้สำเร็จเป็นพระอนาคา องค์นี้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่เรียนสำเร็จออกมาจากมหาวิทยาลัยป่า เป็นวิชาที่จะเทิดทูนตัวเองให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายได้โดยลำดับลำดาไป ผู้นอกจากนั้นก็ศึกษาอบรมกันสำเร็จออกมา ๆ อย่างน้อยก็เป็นกัลยาณชน เป็นผู้มีสติปัญญาสงบเสงี่ยมเจียมตัว รู้บุญรู้บาป มีหิริโอตตัปปะประจำใจ นี่ผู้ที่เรียนออกมาจากมหาวิทยาลัยป่า ดังพระพุทธเจ้าสอนเป็นอย่างนั้นนะ

    ทีนี้พวกเรานี้เรียนมันไม่ได้เรียนแบบพระพุทธเจ้าซิ เรียนเข้ามาเพื่อเผาตัวนั่นซี ความรู้นี้ก็เป็นความรู้ที่กิเลสผลิตให้นะ ความรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมผลิตให้ ออกมาจากธรรม ๆ ออกไปจึงเป็นธรรมเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นสรณะของพวกเรา ออกมาจากป่าทั้งนั้นนะ เกือบจะว่าร้อยทั้งร้อย สรณะของพวกเราที่สำเร็จนี้ ส่วนมากมาจากป่า มาเป็นสรณะ พุทฺธํ พุทธะก็ ธรรมเกิดในป่า ธมฺมํ ธรรมเป็นหลักธรรมชาติ รู้ธรรมนี้อยู่ในป่า พระสงฆ์ปฏิบัติตามก็ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาอยู่ในป่าในเขา แดนแห่งสถานที่บำเพ็ญอันสะดวกผาสุกร่มเย็น ท่านสำเร็จแล้วออกมาเป็นสรณะของพวกเรา

    นี่ละต้นรากฐานแห่งพระพุทธศาสนาในเบื้องต้น สถานที่ก็เหมาะสมการบำเพ็ญก็เหมาะเจาะทุกอย่าง ผลได้ขึ้นมาเป็นที่พึงใจ เป็นที่พึ่งต่อสัตวโลกได้โดยสมบูรณ์ โดยลำดับลำดามา นี่ละรากฐานเป็นอย่างนั้น ครั้นต่อมาก็ค่อยเปลี่ยนแปลงมา กิเลสเหยียบย่ำเข้าไป ๆ มหาวิทยาลัยป่าจะไม่มีนะนี่ จะมีแต่มหาวิทยาลัยบ้าน มหาวิทยาลัยส้วม มหาวิทยาลัยถานไปแล้วนะ ตั้งขึ้นเสกสรรปั้นยอกิเลสขึ้น มันต่ำอยู่แล้วกิเลสจะเสกขึ้นให้มันสูงขนาดไหน มันจะเอาความสูงมาจากไหน มูตรคูถอยู่ในส้วมยกไปขึ้นปราสาท ๗ ชั้นมันก็ไปเป็นส้วมเป็นถานอยู่ ๗ ชั้น มันจะไปเป็นทองทั้งแท่งได้ยังไง ประสามูตรประสาคูถเข้าใจเหรอ

    นี่ก็เหมือนกันกิเลสเป็นของต่ำทราม จะยกให้ทัดเทียมกับโลกกับสงสาร พุทธศาสนากับโลกให้ไปเสมอกัน ตั้งมหาวิทยาลัยป่า ท่านมีมหาวิทยาลัยป่าโดยหลักธรรมชาติ เราก็เสกสรรปั้นยอมหาวิทยาลัยบ้านขึ้นมา เช่นอย่างตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ทุกวันนี้เห็นไหมเกลื่อนอยู่นั่น ใครเห็นทุกคนปิดกันได้ไหม มหาวิทยาลัยสงฆ์นั่นไปดูซิ หลักวิชาสอน สอนกันยังไง มหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าสอนอริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ จนกระทั่ง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้เป็นหลักวิชาของพระพุทธเจ้าที่สอนโลกให้ได้พ้นจากภัยจากเวร มีความรู้ความฉลาดสามารถเป็นสรณะของพวกเราได้

    นี่มหาวิทยาลัยบ้านมันตั้งอะไร เอาตั้งแต่วิชาทางโลก วิชามูตรวิชาคูถเข้าไปสอนกัน เอาฆราวาสไปสอนพระอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีตั้งแต่มูตรแต่คูถสอนมูตรสอนคูถ เอามูตรคูถสอนส้วมสอนถานมันจะวิเศษวิโสมาจากไหน มันก็เป็นส้วมเป็นถานเป็นมูตรเป็นคูถด้วยกันอยู่นั่นละ สอนมหาวิทยาลัยบ้านจะให้มันทัดเทียม มันทัดเทียมอะไร ทีนี้เวลาจะตั้งให้มันสมยศของมันแล้วจะตั้งมายังไง มหาวิทยาลัยป่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ธรรมสังหารกิเลส มหาวิทยาลัยบ้านเป็นมหาวิทยาลัยที่กิเลสสังหารพระว่างั้นถูก มันผิดไปไหน เรียนมาด้วยกันเห็นอยู่ด้วยกันมาค้านกันได้ยังไง

    หลักวิชาของมหาวิทยาลัยบ้านเขาเรียนทุกวัน มีตั้งแต่เรื่องวิชาของทางโลกทางสงสารของกิเลสตัณหา ที่จะลากพระลากเณรออกไปให้ตกเหวตกบ่อทั้งนั้น ไม่ได้ลากขึ้นสวรรค์ ชั้นพรหม นิพพานที่ไหนมันลากลง มันตรงกันข้าม มันทัดเทียมกันอะไรอย่างนั้น มันคู่แข่งคู่ปรปักษ์กับธรรมว่างั้นถูกต้องนะ แล้วก็ตั้งกันขึ้นมาอย่างนั้นจะให้ทำยังไง ก็เห็นกันอยู่นี้ พวกที่มาตั้งมหาวิทยาลัยนี้เป็นคนโง่เมื่อไร ก็เป็นคนฉลาดทั้งนั้น ถ้าฉลาดเป็นธรรมก็เป็นประโยชน์ได้มากมาย แต่นี้มันฉลาดแบบนั้นซิ เลยล่มเลยจมไปเรื่อย ๆ

    เราไม่ได้ตำหนิใครเอาความจริงมาพูด ธรรมต้องเอาความจริงมาพูด หลอกลวงหรือโกหกไม่เป็นธรรม เรื่องของกิเลสปลิ้นปล้อนหลอกลวง ชั่วขนาดไหนก็ต้องบอกว่าดี เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น มันเสกสรรปั้นยอ ธรรมไม่เสก เป็นยังไงว่าไปตามกฎตามเกณฑ์ของธรรม เพราะฉะนั้นมันถึงเลอะเทอะซิศาสนาเราเวลานี้ มีศาสนาเหลืออยู่ที่ไหน ก็มีอยู่ในตู้ในหีบนั้นเสีย ไม่เห็นมีอยู่ในบุคคลพอจะเป็นความสุขความเจริญสงบร่มเย็นบ้างเลย มันไม่มี มีแต่ในตู้ในหีบ แต่กิเลสนั้นออกเพ่นพ่าน ๆ รบราฆ่าฟันหั่นแหลกยุ่งเหยิงวุ่นวาย มีแต่กิเลสพาทำงานทั้งนั้น ถ้าธรรมพาทำไม่ยุ่ง สบายไปเลย

    วันนี้ก็เทศน์ขนาดนี้ก็เอาแล้วนะ วันไหนว่าจะไม่เทศน์ ๆ ทุกวันหลวงตา ป.๓ ไม่ทราบเอาความรู้มาจากไหน เอามาจากส้วมจากถานนั้นแหละดังเทศน์ตะกี้นี้ เทศน์ส้วมเทศน์ถานเอามาจากนั้นแหละมาเทศน์จะว่าไง พวกหูส้วมหูถานก็ฟังกันไป ถ้าหูอรรถหูธรรมก็เป็นธรรมขึ้นไป เทศน์ตรงไหนเป็นธรรมทั้งนั้น เพราะเทศน์ธรรมะนี่วะ มีเท่านั้น

    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๔
    สร้างพุทธะผู้รู้ขึ้นภายในใจ
    Luangta.Com -
    (คัดลอกมาบางส่วน)
     
  2. สีลสิกขา

    สีลสิกขา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤศจิกายน 2012
    โพสต์:
    1,271
    ค่าพลัง:
    +7,137
    อริยสัจข้อที่ ๒ สมุทัยสัจ ได้แก่ ทุกขสมุทัย คำว่าทุกขสมุทัยประกอบขึ้นด้วยคำ ๒ คำคือ ทุกขะ แปลว่า ทุกข์ กับ สมุทัย แปลว่า เหตุให้เกิด ซึ่งรวมกันแล้วแปลว่า เหตุให้เกิดทุกข์ ส่วนทุกข์นั้นหรือคืออะไร ได้แสดงแล้ว จำแนกออกไปหลายประเภท ในที่นี้จะกล่าวสรุปทุกข์ลงเป็น ๒ คือ ทุกข์ทางกาย ๑ ทุกข์ทางใจ ๑ ทุกข์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยสภาพธรรมดาก็มี เกิดขึ้นเพราะกรรมและกิเลสของคนก็มี ทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยสภาพธรรมดานั้นได้แก่ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีแก่เจ็บตาย ทุกข์ประเภทนี้เรียกว่าสภาวทุกข์คือทุกข์ที่เป็นไปตามสภาพธรรมดาจะยกไว้ก่อน จะขอกล่าวต่อไปเฉพาะทุกข์ที่เกิิดเพราะกรรมและกิเลสของตน ได้แก่

    ความทุกข์ต่าง ๆ ที่คนเราเองก่อขึ้นให้เกิดแก่ตัวเราเองและแก่คนอื่น ทุกข์ดังกล่าวนี้จะเห็นได้อย่างหยาบและอย่างละเอียดในที่ทั่ว ๆ ไป ยกตัวอย่างเช่นความเดือดร้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายร่างกายและชีวิตของกันและกัน การปล้นสะดมลักฉ้อแย่งชิงทรัพย์สินของกันและกัน เป็นต้น รวมความว่า โดยมากเกิดจากการผิดศีล ๕ และเกิดจากการประกอบตนไว้ในอบายมุขต่าง ๆ ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์เฉพาะตน คือเป็นเรื่องส่วนตน เฉพาะเรื่องเฉพาะรายการของแต่ละบุคคลก็มี เป็นความทุกข์ของส่วนรวมคือคนส่วนมากร่วมกันรับทุกข์ด้วยกัน เช่นความทุกข์ยากเดือดร้อนในสมัยโบราณเรียกว่า ทุพภิกขภัย (ภัยเกิดจากหากินยาก) ที่เรียกกันตามสมัย เช่นว่าเศรษฐกิจตกต่ำ หรือทุกข์ภัยในคราวเกิดสงคราม ทุกข์เหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นผลซึ่งต้องมีสมุทัยคือเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ค้นหาสมุทัยให้ถูกต้อง เพราะเป็นตัวเหตุ เมื่อพบเหตุและแก้ที่เหตุแล้ว จึงจะแก้ความทุกข์ให้ตกไปได้

    ยกตัวอย่างเรื่องที่เป็นความทุกข์ของส่วนรวม อันเกี่ยวแก่เยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่า อะไรเป็นเหตุให้เยาวชนประพฤติเสื่อมเสีย และจะแก้ไขอย่างไร ปัญหานี้ต้องพิจารณารายละเอียดว่า ความประพฤติอะไรบ้างเรียกว่าความประพฤติเสื่อมเสียเพราะให้เกิดผลอย่างไร และเกิดจากเหตุอะไรบ้าง จึงอาจสรุปเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็น ๓ ชั้นก่อนคือ

    ๑. ผลเสื่อมเสียต่างๆ ที่เกิดจากความประพฤติอันเสื่อมเสีย
    ๒. ความประพฤติเสื่อมเสียต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดผลเช่นนั้น
    ๓. สิ่งที่เป็นเหตุชักนำให้เกิดความประพฤติเสื่อมเสียดังกล่าว

    ในการค้นหารายละเอียดของประเด็นทั้ง ๓ ข้อดังกล่าวก็จำต้องพิจารณาถึงบุคคลผู้เกี่ยวข้องประกอบกันไปด้วย เพราะในสังคมมนุษย์นี้ ทุกๆ คนต้องสัมพันธ์กัน ดังหลักทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนา คือทุกๆ คนเมื่ออยู่ในที่ใดที่หนึ่งก็ตาม ย่อมมีทิศทั้งหลายอยุ่รอบตัวฉันใด ก็ต้องมีคนที่เกี่ยวข้องกันอยู่รอบตัวฉันนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเปรียบเทียบบุคคลผู้เกี่ยวข้องกันเหมือนกับทิศ จัดเป็น ๖ ดังนี้

    มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า ครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย คนรับใช้หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน

    เยาวชนหรือใคร ๆ ก็ตามทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นทิศทั้งหลายอยู่รอบตัว และอาจจะแบ่งย่อยเป็นทิศเล็ก ๆ ลงไปอีกได้เป็นเป็นอันมาก ฉะนั้นถ้าทิศทั้งหลายดังกล่าวไ่ดีเสียโดยมาก ก็ยากที่จะให้ใครๆ ที่อยู่ในระหว่างกลางดีอยู่เพียงฝ่ายเดียวได้ เช่นเมื่อมองไปเบื้องหน้าก็ไม่พบมารดาบิดาที่จะเป็นที่พึ่งยึดเหนืี่ยว มองไปเบื้องขวาก็ไม่พบครูอาจารย์ที่จะอบรมแนะนำ มองไปเบื้องหลังก็ไม่พบผู้ที่รับให้ความช่วยเหลือ (ยกขึ้นแทนบุตรภรรยา) ผู้หวังดี มองไปเบื้องซ้ายก็ไม่พบมิตรสหายที่เป็นกัลยาณมิตร มองไปเบื้องล่างก็ไม่พบผู้ที่รับให้ความช่วยเหลือ (ยกขึ้นแทนคนรับใช้) มองไปเบื้องบนก็ไม่พบสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ทางที่ถูกให้แต่โดยตรงกันข้าม มองไปทิศทางไหนก็พบแต่โรงหนังโรงละครสถานอบายมุขต่างๆ และบุคคลต่างๆ ที่จะชักนำไปในทางเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุชักจูงกันไปในทางเสื่้อมเสียต่างๆ แต่ถ้าทิศทั้งหลายดีอยู่โดยมาก ก็ยากที่จะเสื่อมเสียได้ เมื่อทิศทั้งปวงแข็งแรงอยู่โดยครบถ้วน ผู้ที่อยู่ในระหว่างกลางก็ยากที่จะประพฤติเสื่อมเสียเล็ดลอดออกไปได้ ฉะนั้น ในการแก้ปัญหาเยาวชน บุคคลที่เป็นทิศสำคัญๆ ทุกฝ่ายของเยาวชนแต่ละคนจึงจำต้องร่วมมือกันตั้งตนของตนเองไว้โดยชอบ ให้เป็นทิศที่ดีตามฐานะที่เกี่ยวข้อง และอันที่จริง ไม่ใช่แต่เยาวชนเท่านั้น ทุกๆ คนทั้งเด็และผู้ใหญ่ เมื่อทิศต่างๆ โดยรอบตนดีอยู่ก็ย่อมจะชักนำกันไปในทางที่ดีได้ แต่มีข้อที่แตกต่างกันอยู่ว่าสำหรับเด็หรือเยวชนนั้นยังเป็นผู้เยาว์สติปัญญา จำต้องอาศัยทิศรอบตนที่ดี ซึ่งผุ้ใหญ่จำต้องทำตนให้เป็นทิศของเด็กและช่วยสร้างทิศที่ดีให้แก่เด็ก ส่วนผุ้ใหญ่เองซึ่งเป็นผุ้มีความรู้สึกผิดชอบเพียงพอ ย่อมสามารถสร้างทิศของตนได้


    ตัณหา ๓ ในการที่บุคคลทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ คนจะตั้งตนไว้ให้ดีได้ต้องอาศัยเป็นผู้สามารถปกครองใจของตนได้ดี ไม่ให้เป็นทาสของตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก ตัณหานี้เองพระพุทธเจ้าชี้ไว้ว่าเป็นตัวทุกขสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งเป็นอริยสัจข้อที่ ๒ จำแนกเป็ฯ ๓ คือ

    ๑. กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คืออารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือด้วยอำนาจกรรม คือความรักใคร่ปรารถนาพอใจ
    ๒. ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่
    ๓. วิภวตัณหา ความดินรนทะยานอยากไปในความไม่เป็นนั่นเป็นนี่

    คำว่าตัณหานี้ มักเข้าใจกันไม่ถูกต้อง คือมักเข้าใจว่าเปนความปรารถนาในทางหนึ่งบ้าง เป็นความอยากหรือความต้องการทุกๆ อย่างบ้าง แต่อันที่จริง คำนี้มิได้มีความหมายแคบหรือกว้างไปทั้งหมดอย่างนั้น ความอยากที่เป็นธรรมดาของร่างกายเช่น ความอยากข้าวอยากน้ำ ที่เรียกว่าความหิวกระหาย ความมีฉันทะ คือความพอใจการศึกษาเล่าเรียน ในการงาน ในการทำความดีต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ความพากเพียรพยายามไม่เรียกว่าเป็นตัณหา แต่ความอยากที่เป็นไปเกินพอดีหรือความอยากในทางที่ผิดจึงเรียกว่าเป็นตัณหา ความอยากที่เกินความพอดีนั้น เช่นการรับประทานอาหารมีประโยขน์สำหรับทะนุบำรุงร่างกายตามที่ร่างกายต้องการ แต่ถ้ารับประทานชนิดกินจุบจิบพร่ำเพรื่อ หรือไม่ได้มุ่งคุณภาพแต่มุ่งอร่อยลิ้น ที่เรียกว่าตามใจปากตามใจท้อง หรือว่ามุ่งหรูหราเพื่อโอ้อวดกัน และเมื่อได้อาหารที่ไม่อร่อยลิ้นก็รับประทานแต่น้อย เมื่ออร่อยลิ้นก็รับประทานเกินประมาณจนต้องทักกันว่าท้องจะแตก

    ในการเรียน การทำงานหรือแม้การทำความดีต่าง ๆก็เช่นเดียวกัน บางคราวมีความตั้งใจแรงก็ทำเกินพอดี เหล่านี้เรียกว่าตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากเพราะเป็นความอยากอย่างทะยานหรืออย่างดิ้นรน อีกอย่างหนึ่ง ความอยากในทางที่ผิดต่างๆ เรีีียกว่าตัณหาทั้งนั้น ในชั้นนี้จึงควรทราบความหมายจำกัดของตัณหาดังกล่าว และควรทราบลักษณะอาการทั่วไปของตัณหาว่ามีลักษณะอาการอยาก ทำให้ใจอยากหรือหิวอยู่เสมอ ไม่มีอิ่มไม่มีพอ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี" ตัณหาทำให้ใจอยากหรือหิวอยู่ในอะไรบ้างในสิ่งเหล่านี้คือ ที่ตั้งของตัณหา

    ๑. ในกาม อารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทุกๆ อย่างเรียกว่า กาม คำว่าอารมณ์นั้นได้แก่เรื่องต่างๆ ที่ใจคิดนึกหรือที่เก็บไว้ในใจหรือที่ใจผูกพันอยู่ โดยเ็ป็นรูปต่าง ๆ ที่เห็นด้วยตา เสียต่างๆ ที่ได้ยินด้วยหู กลิ่นต่างๆ ที่ได้สูดดมด้วยจมูก รสต่างๆ ที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น สิ่งต่างๆ ที่ได้สัมผัสถูกต้องด้วยกาย และเรื่องต่างๆ เหล่านั้นอันได้เคยประสบพบผ่านมาแล้วแต่ยังเก็บมาคำนึงถึงอยู่ในใจ เหล่านี้เรียกว่าอารมณ์ทั้งหมด อารมณ์ดังกล่าวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเรียกว่ากาม ความดิ้นรนทะยานอยากไปในอารมณ์เหล่านั้นเรียกว่า กามตัณหา
    ๒. ในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่อยากจะเป็นอะไรที่จะเป็นเจ้าของแห่งอารมณ์ที่น่าปรารถนาดังกล่าว ความดิ้นรนทะยานอยากในความเป็นนั่นเป็นนี่ดังกล่าเรียกว่า ภวตัณหา
    ๓. ในความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ คือเมื่อเป็นอะไรอยู่ไม่ชอบใจ ก็ดิ้นรนทะยานอยากเพื่อจะไม่เป็นอย่างนั้น เป็นความอยากในด้านทำลายล้างภาวะที่เป็นอยู่ ตลอดจนถึงอยากตาย เรียกว่า วิภวตัณหา บางคนแปลว่าความไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งเป็นการแปลที่ผิด เพราะมิใช่ไม่อยาก เป็นความอยากเหมือนกัน แต่อยากที่จะไม่เป็นอะไรที่ไม่ชอบ เช่นเป็นเด็กอยู่เป็นนักเรียนอยู่ เบื่อเป็นเด็กเป็นนักเรียน อยากให้พ้นไปเสียเร็ว ๆ หรือเป็นคนแก่แต่อยากไม่เป็นคนแก่

    ตัณหาทั้ง ๓ ตามที่อธิบายนี้ สำหรับเยาวชนและคนทั่วไปควรเข้าใจคำจำกัดความดังกล่าวมาข้างต้น ฉะนั้น จึงไม่ห้ามความอยากจะได้อะไรที่ควรจะได้จะเป็นอะไรที่ควรจะเป็น จะไม่เป็นอะไรที่ควรจะไม่เปน เช่นอยากจะได้หนังสือเรียนและเครื่องเรียนเครื่องใช้ตามที่จำเป็น อยากจะเป็นนักเรียนที่ดี อยากจะไม่เป็นคนเหลวไหลเสียหาย แต่ห้ามความอยากที่เกินพอดีแม้ในทางที่ถูก และความอยากในทางที่ผิดศีลธรรมที่เรียกว่าเป็นความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม มิได้ทรงซัดความผิดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทรงแสดงให้เห็นความจริงว่า

    ๑. ทุกข์ต่างๆ เป็นผล เกิดจาก....
    ๒. ความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ อันเป็นกรรมชั่วของคนซึ่งเกิดจาก....
    ๓. ตัณหา ในจิตใจของตนเอง

    จึงทรงชี้สมุฏฐานสำคัญของทุกข์ว่า ตัณหาเป็นตัวทุกข-สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหามีอยู่ในจิตใจของใครก็ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่คนผู้นั้น และแก่ผู้อื่นที่พลอยได้รับความเดือดร้อนเพราะกรรมของผู้นั้น ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือใครๆ ทั้งนั้น

    ตณฺหา ทุกฺขสฺส สมฺภวํ > ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
     

แชร์หน้านี้

Loading...