เรื่องเด่น สาเหตุว่าทำไมต้องตั้ง “นโม” หลวงปู่มั่นมีคำตอบ

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 21 มีนาคม 2018.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,209
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,711
    สาเหตุว่าทำไมต้องตั้ง “นโม” หลวงปู่มั่นมีคำตอบ

    092.jpg

    268_1238477290.jpg_622.jpg

    สาเหตุของการต้องตั้งนโม : หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

    ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น หลังจากออกพรรษาแล้ว
    เป็นระยะเวลาที่ท่านอาญาครูดี พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
    และพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
    ต่อมาได้ปวารณาตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    สาเหตุที่พบกันมีอยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าวพระอาจารย์มั่น
    พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูปได้เที่ยวธุดงค์ไปพักที่วัดป่าภูไทสามัคคี
    บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
    ญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ได้พากันไปนมัสการ
    และขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วยในคราวนั้น
    ก็มีท่านอาญาครูดี พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กู่

    พระอาจารย์มั่นได้แสดงพระธรรมเทศนาเบื้องต้นในเรื่องการให้ทาน
    รักษาศีล และการบำเพ็ญภาวนา ตามขั้นภูมิของผู้ฟัง
    ว่าการให้ทานและการรักษาศีลภาวนานั้น
    ถ้าจะให้เกิดผลานิสงส์มากจะต้องละจากความคิดเห็นที่ผิดให้เป็นถูกเสียก่อน
    ท่านยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวชาวบ้านมากที่สุดขึ้นอ้างว่า
    ชาวบ้านม่วงไข่นั้นส่วนใหญ่นับถือภูตผีปีศาจ ตลอดจนเทวดาและนางไม้เป็นสรณะ
    ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลวไหลไร้เหตุผล ท่านได้แสดงข้อเท็จจริงขึ้นหักล้างหลายประการ
    และได้แสดงพระธรรมเทศนาอันลึกซึ้ง จนกระทั่งชาวบ้านเห็นจริง
    ละจากมิจฉาทิฏฐิ เลิกนับถือภูตผีปีศาจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    โยมคนหนึ่งคือ อาชญาขุนพิจารณ์ (บุญมาก) สุวรรณรงค์
    ผู้ช่วยสมุห์บัญชี อำเภอพรรณานิคม ซึ่งเป็นบุตรชายของ
    พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคม คนที่ ๔
    และเป็นนายอำเภอพรรณานิคมคนแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕
    ได้กราบเรียนถามพระอาจารย์มั่นว่า
    เหตุใดการให้ทานหรือการรับศีลจึงต้องตั้ง “นโม” ก่อนทุกครั้ง
    จะกล่าวคำถวายทานและรับศีลเลยทีเดียวไม่ได้หรือ
    พระอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมเรื่องนโมอย่างลึกซึ้งให้ฟัง

    “เหตุใดหนอ นักปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี
    หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นโม ก่อน จะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย
    เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จะยกขึ้นพิจารณา
    ได้ความปรากฏว่า น คือธาตุน้ำ โม คือธาตุดิน
    พร้อมกับบทพระคาถาขึ้นมาว่า
    มาตาเปตฺติกสมฺภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย

    สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมา
    เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว ก็ได้รับข้าวสุกและขนมกุมมาส
    เป็นเครื่องเลี้ยงจึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้

    น เป็นธาตุของมารดา โม เป็นธาตุของบิดา

    ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป
    ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า “กลละ”
    คือน้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง
    ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้
    จิตจึงได้ปฏิสนธิในธาตุ “นโม” นั้น
    เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว “กลละ” ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น “อัมพุชะ”
    คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น “ฆนะ” คือเป็นแท่ง
    และ เปสี คือชั้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน
    จึงเป็น ปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑
    ส่วนธาตุ “พ” คือลม “ธ” คือไฟนั้น
    เป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว
    กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี
    คนตายลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย
    ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโม เป็นดั้งเดิม

    ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย “น” มารดา “โม” บิดา
    เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นต้น
    ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง
    ท่านจึงเรียกมารดาบิดา ว่า “ปุพพาจารย์” เป็นผู้สอนก่อนใครๆ ทั้งสิ้น
    มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้
    มรดกที่ท่านทำให้ กล่าวคือ รูปกายนี้แลเป็นมรดกดั้งเดิม
    ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง
    ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย
    เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น “มูลมรดก” ของมารดาบิดาทั้งสิ้น
    จึงว่าคุณของท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่
    เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อน แล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง
    นโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่
    มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตน
    ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

    นโม เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน
    ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้คือ เอาสระอะ จากตัว “น” มาใส่ตัว “ม”
    เอาสระโอ จากตัว “ม” มาใส่ตัว “น”
    แล้วกลับตัว มะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่า ใจ
    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ทั้งกายทั้งใจ
    เต็มตามสมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้

    มโน คือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่
    จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมดได้ในพระพุทธพจน์ว่า
    มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา

    ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
    พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย
    ก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจ คือมหาฐานนี้ทั้งสิ้น
    เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก นโม แจ่มแจ้งแล้ว
    มโน ก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น

    สมบัติทั้งหลายในโลกนี้ต้องออกไปจากนโมทั้งสิ้น
    ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้
    ถือเอาเป็นสมบัติ บัญญัติตามกระแสแห่งน้ำโอฆะ
    จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า
    ด้วยการหลงถือว่าตัวเป็นเราเป็นของเราไปหมด”

    092.jpg

    6VDvv6d8rDYSk5v14SfrTbY3saQd76gBM5ZU69l9EgIZP_GJLefOmogaKyGenmemaE87nmPj7CXbJwPvCnO5No.jpg

    แหล่งที่มา : http://www.dhammajak.net


    -----------------
    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.dhammatueansathi.com/?p=4943
     
  2. ืืnorawonrwon

    ืืnorawonrwon สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มีนาคม 2018
    โพสต์:
    52
    ค่าพลัง:
    +42
    อนุโมทนาสาธุคับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...