สัมโมทนียกถา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (27 มี.ค.31) ณ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 6 พฤษภาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    <center>สัมโมทนียกถา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (27 มี.ค.31) ณ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี </center>
    <!--detail--><!--images--><!--images-->ในนามแห่งคณะสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยท่านเจ้าคณะภาค เจ้าคณะท้องถิ่น เจ้าอาวาส และพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ผมขออนุโมทนาสาธุการ ในการที่ท่านผู้สร้าง คือคุณบุญถิ่น อัตถากร ม.ร.ว.พรรณเรือง อัตถากร พร้อมทั้งธิดา คุณกิ่งแก้ว อัตถากร และญาติมิตรผู้ร่วมการกุศลทั้งปวง ได้สร้างกุฏิรับรองนี้ขึ้น มีลักษณะและวัตถุประสงค์ตามที่ท่านเจ้าอาวาสได้แถลงแล้ว และตามที่ท่านเจ้าอาวาสท่านแถลงนั้น ท่านก็ได้เล่าประวัติของวัดนี้ ว่ามีมาตั้งแต่สมัยที่พบในจารึกเป็นภาษาจีน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ชาวจีนได้สร้างวัตถุสำคัญคือโบสถ์ พร้อมทั้งมีสิ่งต่าง ๆ กับจารึกเป็นภาษาจีน

    นั่นแสดงว่าท่านเจ้าอาวาสในครั้งนั้น คือ ท่านพระครูญาณสังวร ซึ่งทีแรกเข้าใจกันว่าตำแหน่งราชทินนาม "ญาณสังวร" นี้ได้บังเกิดขึ้นในสมัยกรุงแทพฯ โดยสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร ที่เรียกกันว่าพระสังฆราชไก่เถื่อนเป็นองค์แรก ณ บัดนี้ได้มาทราบว่า ราชทินนามนี้ได้มีมาตั้งแต่สมัย ที่พบในจารึกที่วัดนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว และก็ปรากฏว่า ท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้น ก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติในฝ่ายวิปัสสนาธุระ และในสมัยปัจจุบันนี้ ท่านเจ้าอาวาสก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติในวิปัสสนาธุระ และอบรมสั่งสอนในวิปัสสนาธุระที่ท่านเรียกว่าเป็นการพัฒนาจิต จึงนับว่าเป็นประวัติการณ์ที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อย่างน่าอัศจรรย์

    อันวิปัสสนาธุระนั้น เป็นที่ทราบกันแล้วว่า คู่กันกับคันถธุระอันหมายถึงธุรกิจการเรียนคัมภีร์ อันเป็นฝ่าย ปริยัติธรรม และวิปัสสนาธุระนั้นก็หมายถึงการปฏิบัติ อันเรียกว่า ปฏิบัติธรรม พระพุทธศาสนานั้นอาจจะแยกออกได้ว่า เป็นศาสนาคือปริยัติ ศาสนาคือปฏิบัติ และศาสนาคือปฏิเวธ คือความรู้แจ้งแทงตลอด เปรียบได้เหมือนอย่างต้นไม้ใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยราก ลำต้น กิ่ง ใบ และผล อันรากของต้นไม้นั้นก็ได้แก่ปริยัติ ลำต้นของต้นไม้ก็ได้แก่ปฏิบัติ ผลของต้นไม้นั้นก็ได้แก่ปฏิเวธ

    ประเทศไทยเรานี้ได้มีพระพุทธศาสนา ที่เปรียบเหมือนอย่างเป็นต้นไม้ใหญ่ อันบริบูรณ์ด้วยราก ลำต้น และผล ที่ประชาชนชาวไทยได้บำรุงรักษา และได้บริโภคตลอดมาช้านาน และการรักษาต้นไม้คือศาสนาดังกล่าวนี้ เราทั้งหลายซึ่งเป็นชาวไทยก็จะต้องช่วยกันรักษาทั้งที่เป็นส่วนรากคือปริยัติ ทั้งที่เป็นส่วนลำต้นคือปฏิบัติ เพื่อที่จะได้บริโภคผลของต้นไม้ อันเป็นปฏิเวธนี้ตลอดไป เพื่อความผาสุขความเจริญ

    การปฏิเวธ คือผลของการปฏิบัตินี้ เป็นความหมายตรงเพราะการปฏิบัตินั้น เมื่อปฏิบัติย่อมได้รับผลของการปฏิบัติทันที จะรักษาศีล จะทำทาน จะบำเพ็ญภาวนา ทั้งฝ่ายสมถะ และฝ่ายวิปัสสนา ก็ได้รับผลทันทีที่ปฏิบัติ น้อยหรือมากก็สุดแต่การปฏิบัติ และผลของการปฏิบัตินี้ก็เป็นการยกจิตใจ ยกตนเองให้สูงขึ้น ให้พ้นจากโลกที่เป็นฝ่ายชั่วขึ้นสู่โลกที่เป็นฝ่ายดีโดยลำดับ จนถึงพ้นโลกสุดโลก อันเรียกว่าโลกุตระคืออยู่เหนือโลก อันเรียกว่ามรรค ผล นิพพาน ผลของการปฏิบัติที่ได้มาตั้งแต่เริ่มต้น จึงยังเป็นโลกียะเกี่ยวกับโลก จนถึงเป็นโลกุตระ พ้นโลกนี้ จะเรียกรวมยอดเป็นปฏิเวธ คือความรู้แจ้งแทงตลอด อันเป็นผลของการปฏิบัติ

    คนเราที่เป็นสามัญชน มักจะไม่เข้าใจคำว่า โลกุตระอยู่เหนือโลก คือ มรรค ผล นิพพาน หรือว่าไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้ถึงได้ และอันที่จริงนั้น ทุกคนจะปฏิบัติให้ถึงทีเดียวนั้น ก็ย่อมเป็นไปยากหรือไม่ได้ จะต้องบรรลุเป็นขั้นๆ ขึ้นไป เปรียบเหมือนการขึ้นบันได จากชั้นพื้นดินไปสู่ชั้นที่สูงขึ้น ๆ ของอาคารบ้านเรือนก็เปรียบเหมือนอย่างการขึ้นภูเขา ก็ต้องเดินขึ้นไปตั้งแต่พื้นดิน เชิงเขา ขึ้นไปโดยลำดับและเมื่อเดินขึ้นไปทีละก้าวแล้ว ก็ไม่เป็นการยาก เมื่อสูงมากก็ต้องหยุดพัก

    แต่คนที่มีปัญญาเฉียบแหลม สามารถจะรู้ได้เร็วพลัน อันเรียกว่า อุคฆฏิตัญญูนั้น อาจจะขึ้นได้โดยรวดเร็วทันที เปรียบได้ดังขึ้นลิฟท์ จะขึ้นสูงสักกี่ชั้น ขึ้นแป๊ปเดียวก็ถึง อันที่จริงการขึ้นแป๊ปเดียวนั้น ก็มิใช่หมายความว่าจะเป็นการขึ้นข้ามขั้น ต้องขึ้นไปโดยลำดับขั้นเหมือนกัน แต่ว่าขึ้นไปได้เร็วมาก สำหรับบุคคลประเภทที่เป็น อุคฆฏตัญญู ที่รู้เร็ว

    แต่ที่รู้ช้าลงไปกว่านั้น คือมีสติปัญญาไม่สามารถจะรู้ได้โดยฉับพลันอย่างนั้น รู้ช้าเข้า ๆ ขึ้นช้าเข้า ๆ เหมือนอย่างกับค่อย ๆ เดินขึ้นไป ขึ้นบันได หรือขึ้นภูเขาดังที่กล่าว และในขณะที่ขึ้นภูเขานั้น เมื่อยังไม่ถึงยอด ก็ยังไม่พ้นจากภูเขา

    การปฏิบัติมาตั้งแต่ในเบื้องต้น ยกตนให้สูงขึ้นโดยลำดับดังกล่าวนี้ เรียกว่าโลกียะ คือยังเกี่ยวอยู่กับโลก เหมือนอย่างขึ้นภูเขาที่ขึ้นไปแล้วยังไม่พ้นภูเขา และเมื่อขึ้นไปสูงขึ้นไป ๆ ก็เปรียบเหมือนอย่างว่า ยกตนขึ้นสู่จิตจากฝ่ายชั่วฝ่ายต่ำ ให้สูงขึ้นไป ๆ ยกตนให้พ้นจากอบายโลกขึ้นสู่มนุสโลกจากมนุสสโลกขึ้นสู่เทวโลก พรหมโลกและสูงขึ้นไปโดยลำดับ และที่กล่าวนี้หมายถึงเป็นโลกของจิตใจ ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์คนเรานี่เอง

    จิตใจที่ยังเป็นอบายโลก คือจิตใจที่ต่ำทราม ประกอบด้วยกิเลสหนาแน่น ปราศจากหิริโอตตัปปะ สามารถจะทำความชั่วได้ทุกอย่างดังนี้ ที่จิตใจที่เป็นอบายโลกดังที่เรียกว่า มนุสสเนรยิโก มนุสสเปโต มนุษย์นรก มนุษย์เปรต แต่เมื่อมาปฏิบัติในพระพุทธศาสนาที่ศรัทธา มีศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ขึ้นโดยลำดับแล้ว ก็จะยกตนให้พ้นจากอบายโลกนี้ เรียกว่าพัฒนาจิตขึ้นเป็นมนุสสโลก สู่มนุสสโลก มีจิตใจเป็นมนุษย์คือเป็นผู้ที่มีใจสูง มีหิริ มีโอตตัปปะ มีศรัทธา มีศีล เป็นต้น และเมื่อจิตใจบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก จิตใจนี้จะยกขึ้นไปสู่เทวโลก สูงขึ้นไปอีกก็เป็นมนุสพรหมโลก มีจิตใจเป็นพรหม คือมีจิตใจที่ประเสริฐบริสุทธิ์ ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม มีเมตตากรุณาเป็นต้น อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง ก็แปลว่าเหมือนอย่างขึ้นเขา กับขึ้นลิฟท์ ขึ้นจนถึงเขาเกือบจะถึงยอด ครั้นเมื่อถึงยอดแล้ว เหยียบอยู่บนยอดเขา ก็เรียกว่าพ้นจากภูเขา ถึงยอดเขาแล้ว ยอดเขาอันเป็นส่วนสูงสุดที่บรรลุถึงนี่แหละเรียกว่า โลกุตระอยู่เหนือโลก พ้นโลก พ้นจากความเป็นพรหม เป็นเทพ เป็นมนุษย์ เป็นอบายทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิตที่ตรัสตอบแก่ผู้ที่มาทูลถามในครั้งหนึ่งว่า ทรงเป็นมนุษย์หรือ พระองค์ตรัสว่าไม่ใช่ เป็นเทพหรือเป็นพรหมหรือ ก็ตรัสว่าไม่ใช่ พระองค์ไม่ได้เป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นเทพ ไม่ได้เป็นพรหม แต่พระองค์เป็นพุทธ เป็นสยัมภู ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พ้นจากภาวะเป็นโลกต่าง ๆ กายมนุษย์ถึงจุดสูงสุดดังกล่าวนี้แหละ เรียกว่าโลกุตระอยู่เหนือโลก เหมือนอย่างบรรลุถึงยอดเขาก็คืออยู่เหนือภูเขาอยู่บนยอดภูเขาแล้ว ก็พ้นจากภูเขา

    เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเป็นผู้นำในการพัฒนาจิตตั้งแต่เบื้องต้นเบื้องต่ำ จนถึงบรรลุถึงสุดการพัฒนา คือพัฒนาได้อย่างสูงสุดสุดพัฒนาเสร็จพัฒนา

    การศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติพระพุทธศาสนานั้น ได้ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถก้าวขึ้นไปสู่เบื้องสูงโดยลำดับดังนี้ ตามพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสสอนไว้ และการพัฒนาให้สูงขึ้นไปโดยลำดับดังกล่าวนั้น ก็ไม่ใช่หมายความว่าไม่รู้จักสิ้นสุด มีเวลาที่สิ้นสุดได้ คือ เมื่อพัฒนาขึ้นไปถึงที่สุดแล้วถึงยอดแล้ว ไม่มีขั้นที่จะต้องไต่ขึ้นไปอีก นี่แหละเรียกว่าเป็นการสุดพัฒนา ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า จบกิจที่จะพึงกระทำ ด้วยความเป็นอย่างนี้ คือเพื่อที่จะพัฒนาจิตของตนเองให้ไปให้ถึงที่สุด จบการศึกษา จบการพัฒนาของตนนั่นเอง จิตของท่านเองแล้วเช่นเดียวกันทั้งหมด การศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นการพัฒนาจิตนั้น จึงมีเวลาที่สิ้นสุดได้ จบได้ ดังพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

    คำสั่งสอนของพระองค์ตรัสสั่งสอนไว้ ก็ทรงสั่งสอนไว้ครบถ้วนพร้อมทั้งอรรถะ เนื้อความ พยัญชนะ คือถ้อยคำบริสุทธิ์ คือถูกต้องไม่มีผิดพลาดแม้แต่น้อย บริบูรณ์ คือ ครบถ้วน ไม่มีบกพร่องแม้แต่น้อยไม่มีผิดแม้แต่น้อย ไม่มีบกพร่องแม้แต่น้อย อันนี้แหละเรียกว่าบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ขึ้นไปจนถึงขั้นสูงสุด

    เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินั้น ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตั้งแต่ขั้นต้นขึ้นไปเหมือนอย่างขึ้นเขาหรือขึ้นบันไดดังกล่าวนั้น ก็ต้องขึ้นตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งขึ้นไป ก้าวขึ้นไปตั้งแต่ก้าวแรกขึ้นไป และเมื่อก้าวขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้ว การบรรลุถึงขั้นสูง ไม่เป็นการยากเพราะว่าขึ้นไปโดยลำดับ ยากนั้นอยู่ที่ว่า สมมติว่ายังไม่ได้ขึ้นสักขั้นเดียว แหงนหน้าขึ้นดูถึงขั้นสูงสุดเห็นสูงมากก็ไม่ไหวเสียแล้ว ไม่มีการพยายามที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ขั้นแรก ยากตรงที่แหงนหน้าขึ้นดู แล้วก็นึกว่าจะให้ถึง จะลอยไปให้ถึงยอดทันที ยากอยู่ตรงนี้ ที่ว่ายาก แต่ถ้าได้ศึกษาให้รู้จักพระพุทธศาสนา และปฏิบัติไปโดยลำดับแล้ว การขึ้นถึงขั้นสูงนั้นจึงไม่ยากในเมื่อขึ้นไปโดยลำดับ

    และก็ว่าถึงการยึดการปล่อยนั้นก็เหมือนกัน ก็สอนให้ปล่อยหมด คือปล่อยวางทั้งหมดสิ้น ตั้งแต่ทีแรกยังไม่ได้จะให้ยึดทั้งหมดก็ไม่ได้เหมือนอย่างการขึ้นบันได เมื่อเราหยุด หยุดอยู่บนบันไดขั้นที่หนึ่ง เราก็ต้องยึดบันไดขั้นที่หนึ่งสำหรับเหยียบ และว่าเราจะขึ้นบันไดขั้นที่สองได้นั้น เราจะต้องปล่อยบันไดขั้นที่หนึ่ง ยกเท้าจากบันไดขั้นที่หนึ่ง มาเหยียบบันไดขั้นที่สองแปลว่า ต้องมีการปล่อยขั้นหนึ่งแล้วมายึดขั้นสอง สำหรับยืน สำหรับเหยียบเพื่อจะขึ้นต่อไป จึงต้องมีการปล่อยและมีการยึด กันเป็นขั้น ๆ ไปอย่างนี้ เมื่อยังมีขั้นที่จะต้องขึ้นต่อไปแล้ว ก็จะต้องมีการปล่อยและการยึดดังกล่าวแล้วไปทีละขั้น ๆ จะสอนกันให้ปล่อยวางกันทีเดียวหมด ไม่เอาละ อะไรทุกอย่างนี้ไม่ได้

    กิเลสตัณหาในใจของคนเรานั้น ความชั่วในจิตใจของคนเรานั้น เครื่องเศร้าหมองในจิตใจของคนเรานั้น ไม่ใช่ว่าจะหมดไปโดยคิดว่าจะปล่อยจะวาง จะเอาไปโยนทิ้ง ไปทุบทิ้ง ไปทำลายทิ้ง เหมือนอย่างสิ่งของไม่ได้ เพราะเป็นภาวะในจิตใจ ไม่ใช่วัตถุ การจะปล่อยการจะวางต้องอาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา หรือสติปัญญา และก็ต้องรู้จักที่จะปล่อย รู้จักที่จะยึดไปโดยลำดับ กล่าวง่าย ๆ อีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า จะต้องยึด จะต้องรู้จักปล่อยวางความชั่ว ยึดความดีเอาไว้ และก็จะต้องปล่อยวางคือยึดและปล่อยไปตามขั้นตามลำดับ แม้ความดีก็เหมือนกัน จะยึดเอาไว้อีกก็เป็นความไม่ดี ความดีที่เป็นขั้นต่าง ๆ นั้น จะต้องปล่อยความดีที่เป็นขั้นต่ำ ก้าวขึ้นสู่ความดีที่เป็นขั้นสูงขึ้นไปอีกดังนี้ เป็นขั้นของการปฏิบัติที่เป็นไปโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้

    เมื่อเป็นดังนี้แล้ว การปฏิบัติพุทธศาสนาก็ถูกต้องและเป็นประโยชน์ และจะต้องอาศัยให้มีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาประกอบกันไป หรือมรรคที่องค์แปดประกอบกันไป จะทิ้งข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ต้องปฏิบัติและอาศัยซึ่งกันและกันขึ้นไป จึงจะบรรลุถึงผลขึ้นไปโดยลำดับ การปฏิบัติดังนี้ย่อมมีปัญญาเป็นข้อปฏิบัติขั้นยอด เพราะฉะนั้น ไตรสิกขา ก็มีศีล สมาธิ ปัญญา และธุระก็ยกเอาวิปัสสนาธุระ อันเป็นยอดขึ้นมาและก็ไม่ใช่หมายความว่า จะทำแต่วิปัสสนากันอย่างเดียว ต้องปฏิบัติในทางด้านสมถะ ปฏิบัติในศีลด้วยให้ครบไตรสิกขา คือให้ครบมรรคมีองค์แปด และยกเอาปัญญาที่เป็นยอดเรียกว่าวิปัสสนาธุระ เหมือนอย่างมรรคมีองค์แปดยกเอาสัมมทิฏฐิขึ้นเป็นหัวหน้า เป็นข้อที่หนึ่ง และเป็นข้อต่อ ๆ กันไป

    เพราะฉะนั้นเมื่อเราปฏิบัติให้เข้าทางถูกทางแล้ว ย่อมจะได้รับผลของพระพุทธศาสนา จะมีความสำนึกรู้ขึ้นในใจตนเองว่า อโห พุทโธ อโห ธัมโม อโห สังโฆ โอหนอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มีจริง ดังนี้ เมื่อปฏิบัติให้เข้าทางดังนี้แล้ว ก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญ ทั้งศรัทธา ทั้งปัญญา พร้อมทั้งธรรมะข้อนี้ เป็นการพัฒนาจิตใจ ในพระพุทธศาสนาตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้

    เพราะฉะนั้นในสำนึกของท่านพระครูเจ้าอาวาส วัดอัมพวันนี้ท่านได้พลีชีวิตร่างกาย และความสุขทุกอย่าง เพื่อวิปัสสนาธุระ ดังกล่าว ซึ่งท่านปฏิบัติตนเองท่านด้วย และท่านสั่งสอนผู้อื่นด้วยให้ปฏิบัติเพื่อให้มีจิตใจเข้าถึงธรรมะในพระพุทธศาสนา ดูดดื่มธรรมะในพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อปฏิบัติได้เข้าทางดังนี้แล้ว ก็จะได้ธรรมรส เมื่อได้ดูดดื่มพระพุทธศาสนา อันเรียกว่า ธรรมปิติแล้วก็ย่อมได้ธรรมรส รสของพระธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มหาสมุทรทั้งสิ้นนั้น มีความเค็มเป็นรสฉันใด ธรรมะของพระองค์ที่พระองค์ทรงสั่งสอนทั้งหมด ก็มีวิมุติ คือความหลุดพ้นเป็นรสฉันนั้น

    เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติทุกคน แม้แต่เป็นเบื้องต้น เบื้องต่ำ ในข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อได้ดื่มธรรมะของพระพุทธเจ้าแม้แต่เพียงเล็กน้อยแล้ว ก็ย่อมจะต้องได้ธรรมรส คือใจหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมอง ความชั่วและความทุกข์ มีความปลอดโปร่งใจ สบายใจ เกษมใจ อิ่มเอิบใจ ในธรรมมากน้อยตามควรแก่การปฏิบัติทุกครั้งไป ธรรมปิติดูดดื่มธรรมกับธรรมรส รสของพระธรรม จึงควบคู่กันไปอย่างนี้ อันจะมีได้จากวิปัสสนาธุระ ดังที่ท่านพระครูเจ้าอาวาส ท่านสั่งสอนในที่นี้

    บัดนี้จึงเป็นที่จูงใจบุคคลเป็นอันมาก ให้เข้ามารับการอบรมและมาช่วยถวายสัปปายะต่าง ๆ ให้บริบูรณ์ เป็นสัปปายะทั้งสี่ อาหารสัปปายะ เสนาสนะหรือวิปารสัปปายะ บุคคลสัปปายะ ธรรมสัปปายะ ดังท่านที่มีศรัทธาสร้างกุฏินี้ ก็เป็นการสร้างให้มีเสนาสนะ หรือมีวิหารสัปปายะ เป็นที่รับรองพระเถระทั้งหลาย เพื่อให้มีสัปปายะอันสมบูรณ์ อันเป็นอุปถัมภ์ปัจจัย สามารถให้ผู้ที่มาเป็นพระวิทยากรเป็นอาจารย์สั่งสอน และมาศึกษาปฏิบัติธรรม มีสัปปายะดังกล่าวสามารถที่จะปฏิบัติ สามารถที่จะอบรมสั่งสอน ให้สำเร็จผลได้ยิ่งๆ ขึ้นไป

    เพราะฉะนั้นจึงขออนุโมทนาอำนวยพร ให้ท่านเจ้าภาพที่สร้างกุฏินี้ ซึ่งมีการถวายมีการเปิดในวันนี้ และขออนุโมทนาแด่ท่านพระครูเจ้าอาวาส พร้อมทั้งท่านพระเถรานุเถระทั้งหลาย และทุก ๆ ท่านที่ได้ช่วยกันอุปการะ ให้การศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติธรรมในวัดนี้ เป็นไปได้ด้วยดี อย่างที่ปรากฏ

    จึงขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย อำนาจบุญกุศล ได้อภิบาล รักษาทุก ๆท่าน ให้เจริญ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และเจริญในธรรมปฏิบัติ ให้ได้ประสบธรรมปิติ และธรรมรส ทั่วกันเทอญ
     

แชร์หน้านี้

Loading...