สัมมาทิฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ฯ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 10 พฤศจิกายน 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ทารุขันธสูตรที่ ๑
    [๓๒๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งหนึ่ง พระผู้มีพระภาค
    ได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง อันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วตรัส
    ถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ ท่อนไม้ใหญ่โน้นอันกระแสน้ำ
    พัดลอยมาในแม่น้ำคงคา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า ฯ
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง
    จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้ ข้อนั้น
    เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่ากระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด ดูกรภิกษุทั้ง
    หลาย ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก
    ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เป็นผู้เสียในภายในไซร้ ด้วย
    ประการดังกล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพานข้อนั้นเพราะเหตุไร
    เพราะเหตุว่า สัมมาทิฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพานก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
    [๓๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฝั่งนี้ได้แก่อะไร ฝั่งโน้นได้แก่อะไรการจมลงในท่ามกลางได้แก่อะไร
    การเกยบนบกได้แก่อะไร มนุษย์ผู้จับคืออะไรอมนุษย์ผู้จับคืออะไร เกลียวน้ำวนๆ ไว้คืออะไร
    ความเป็นของเน่าในภายในคืออะไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ คำว่า ฝั่งนี้ เป็นชื่อ
    แห่งอายตนะภายใน ๖ คำว่าฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖ คำว่าจมในท่ามกลาง
    เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ คำว่าเกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ ดูกรภิกษุ ก็มนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุ
    ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย
    เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา ดูกรภิกษุ
    นี้เรียกว่ามนุษย์ผู้จับ ดูกรภิกษุอมนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ย่อมประพฤติพรหมจรรย์
    ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้
    เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพยเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ดูกรภิกษุนี้เรียกว่าอมนุษย์ผู้จับ ดูกรภิกษุ
    คำว่าเกลียวน้ำวนๆ ไว้ เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕ ดูกรภิกษุ ความเป็นของเน่าในภายในเป็นไฉน
    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ
    มีการงานปกปิดไว้ไม่เป็นสมณะ ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี ก็ปฏิญาณว่าเป็น
    พรหมจารีเป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย ดูกรภิกษุ นี้เรียกว่าความ
    เป็นผู้เน่าในภายใน ฯ
    [๓๒๔] ก็โดยสมัยนั้นแล นายนันทโคบาลยืนอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ณ ที่
    นั้นแล นายนันทโคบาลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เข้า
    ใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้าใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่ติดบนบก ไม่ถูกมนุษย์จับ ไม่ถูก
    เกลียวน้ำวนๆ ไว้จักไม่เน่าในภายใน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส
    ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทะ
    ถ้าอย่างนั้น ท่านจงมอบโคให้เจ้าของเถิด ฯ
    น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคที่ติดลูกจักไปเอง ฯ
    พ. ท่านจงมอบโคให้แก่เจ้าของเถิด นันทะ ฯ
    ครั้งนั้นแล นายนันทโคบาลมอบโคให้แก่เจ้าของแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
    ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มอบโคให้เจ้า
    ของแล้ว ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค นายนันทโคบาลได้
    บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็แลท่านพระนันทะอุปสมบทแล้วไม่นาน
    เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่นานนัก
    ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดย
    ชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหม
    จรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้
    เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
    จบสูตรที่ ๔

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๑๙๘/๔๐๒
     

แชร์หน้านี้

Loading...