สังโยชน์๑๐(สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาศ )

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ยศวดี, 7 พฤษภาคม 2012.

  1. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    สังโยชน์ ๑๐ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมหรือสิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์, สิ่งที่ผูกมัด ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ผูกติดอยู่กับความทุกข์ทําให้ไม่สามารถสลัดหลุดออกมาได้ อันมี ๑๐ ประการ คือ ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส ๔. กามราคะ ๕. ปฏิฆะ ๖. รูปราคะ ๗. อรูปราคะ ๘. มานะ ๙. อุทธัจจะ ๑๐. อวิชชา

    โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
    โอรัมภาคิยสังโยชน์ หรือสังโยชน์เบื้องตํ่า คือกิเลสผูกใจสัตว์อย่างหยาบ อันมี ๕ ซึ่งเมื่อระงับหรือละได้ ย่อมเกิดโลกุตตรสุข จางคลายจากทุกข์ได้ตามฐานะแห่งตน

    ๑. สักกายทิฏฐิ - สักกาย มีความหมายว่า กายแห่งตน,เรื่องของกายตน, ส่วนทิฎฐิ มีความหมายว่า ความคิด,ความเห็น,ความเชื่อ ในที่นี้มีความหมายว่าความเห็นผิดเชื่อผิด อันเป็นปรกติของปุถุชนด้วยอวิชชาอันย่อมมีมาแต่การถือกำเนิดเป็นธรรมดา กล่าวคือ จึงย่อมมี สักกายทิฏฐิ ซึ่งมีความหมายว่า ความคิดหรือความเห็นความเข้าใจหรือความเชื่อในเรื่องกายว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของตัวของตนอย่างแท้จริง(สักกายสมุทัย)โดยไม่รู้ตัวเป็นไปซึ่งเกิดขึ้นและเป็นไปโดยธรรมหรือธรรมชาติ, ความคิดความเห็นว่าเป็นตัวของตน จึงเป็นเหตุให้ถือตัวตน เช่น เห็นรูปว่าเป็นตน เห็นเวทนาว่าเป็นของตน ฯ. กล่าวคือ เพราะย่อมยังไม่มีความเข้าใจอย่างมีสติสัมปชัญญะในความเป็นเหตุเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้เท่านั้นของสังขาร จึงไม่เคยรู้ ไม่เคยระลึก ไม่เคยพิจารณา จึงย่อมไม่มีเครื่องรู้เครื่องระลึกเครื่องเตือนสติ จึงไม่เกิดสัมมาปัญญาหรือญาณอย่างน้อมยอมรับว่า ตัวตนหรือรูปกายของตนนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอย่างแท้จริง สักแต่ว่าเกิดมาแต่การประชุมปรุงแต่งกันขึ้นของเหตุปัจจัยของธาตุ๔ หรือชีวิต(ชีวิตินทรีย์)ที่มีร่างกายตัวตนก็สักแต่ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ หรือเบญจขันธ์ หรือสังขารร่างกายล้วนเป็นไปตามพระไตรลักษณ์ เหมือนดังสังขารทั้งปวงที่ต่างล้วนต้องเกิดมาแต่การที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกัน หรือประชุมปรุงแต่งกันขึ้นมาเพียงชั่วสักระยะหนึ่ง จึงล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่อย่างแปรปรวน แล้วดับไปเป็นธรรมดา ไม่เป็นอื่นไปได้ จึงล้วนเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวมีตนอย่างเป็นแก่นแท้จริง เมื่อไม่มีตัวตนจึงย่อมไม่ใช่ของตัวของตน หรือของใครๆได้อย่างแท้จริง แต่ด้วยอวิชชาดังนั้นจึงมีความคิดความเห็นอย่างยึดมั่นยึดถือโดยไม่รู้ตัวอยู่ภายในอยู่ตลอดเวลาใน รูปขันธ์(กายตน) ตลอดจนในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของตนหรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของตนอย่างเชื่อมั่นหรือรุนแรงตามที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่ทารกโดยสัญชาตญาณ(ความรู้ที่มาแต่การเกิดเป็นธรรมดา)โดยไม่รู้ตัวหรืออวิชชา, เพราะความไม่รู้และไม่รู้เท่าทันว่าตัวตนหรือกาย(รูปขันธ์)ก็สักแต่ว่าประกอบด้วยเหตุปัจจัยของธาตุทั้ง ๔ หรือชีวิตก็เป็นเพียงเหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ จึงเป็นสังขาร จึงย่อมมีความไม่เที่ยง(อนิจจัง) และคงทนอยู่ไม่ได้(ทุกขัง) เป็นอนัตตาที่ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเราอย่างแท้จริง เป็นเพียงมวลหรือก้อนของเหตุปัจจัยคือธาตุ ๔ ที่ประชุมปรุงแต่งเป็นปัจจัยกันขึ้น จึงขึ้นอยู่กับธาตุ ๔ ไม่ขึ้นอยู่กับตัวตนที่หมายถึงเราหรือของเราแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นมายาจิตหลอกล่อให้เห็นว่าเป็นเราหรือเป็นของเรา ทั้งๆที่เป็นหรือเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทั้งสิ้น, และไม่รู้และไม่รู้เท่าทันอีกว่า เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ หรือขันธ์ที่เหลือทั้ง ๔ ก็เช่นเดียวกัน ต่างก็ล้วนเป็นเพียงสังขารเช่นกันทั้งสิ้น จึงเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกัน จึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเช่นกัน ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นตัวตนของตน หรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของตนอย่างแท้จริง ดังนี้เป็นต้น จึงไม่มีเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ ให้เกิดนิพพิทา ให้คลายความยึด, ความอยาก, ความกังวลหรือความหลงใหลในกายสังขารตน หรือขันธ์ ๕ อันเป็นที่หวงแหนยิ่งเหนือสิ่งใดโดยไม่รู้ตัว อันเป็นบ่อเกิดของอุปาทาน - ความยึดมั่นพึงพอใจในตัวตนหรือของตนด้วยกิเลสในขั้นต้นของปุถุชนทั่งปวงโดยทั่วไป

    การเจริญวิปัสสนาเพื่อถอดถอนสักกายทิฏฐิย่อมต้องอาศัยพื้นฐานจากการพิจารณาหรือโยนิโสมนสิการในความเป็นเหตุปัจจัยให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง ดังจากอิทัปปัจจยตา, ปฏิจจสมุปบันธรรม(อันพึงเกิดขึ้นจากการพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง), ขันธ์ ๕(การเห็นการเป็นเหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ หรือกระบวนธรรมของขันธ์ ๕), พระไตรลักษณ์ ฯลฯ. อันพึงเจริญตามจริต สติ ปัญญา ฯ. เพียงแต่ว่าต้องเป็นไปในลักษณะของการเจริญวิปัสสนาด้วยปัญญาอย่างจริงจัง ให้เห็นเข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผล จนเห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยในที่สุดนั่นเอง

    เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจถึงกายและตัวตน เป็นเพียงสมมติสัจจะ ที่แม้อาจถือว่าจริงแต่ก็จริงเพียงระดับหนึ่งหรือจริงเพียงชั่วระยะหนึ่ง ที่ล้วนเกิดมาแต่เหตุปัจจัย จึงเป็นเพียงสังขารชนิดหนึ่งภายใต้พระไตรลักษณ์ จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่มีตัวตนอย่างเป็นแก่นแกนแท้จริง, กล่าวคือไม่เข้าใจความเป็นเหตุปัจจัยหรือปฏิจจสมุปบันธรรม ๑ จึงไม่เข้าใจสังขาร(สิ่งปรุงแต่งในพระไตรลักษณ์) ๑ จึงไม่เข้าใจพระไตรลักษณ์และอนัตตา๑ จึงย่อมไม่สามารถนำไปน้อมนึกคิดพิจารณาให้เกิดปัญญาญาณอย่างแจ่มแจ้งตามจริงหรือปรมัตถ์ได้ในสักกายนิโรธ
    (ปฏิปทาสูตร ว่าด้วยเกิดดับของสักกายทิฏฐิ)

    ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในพระรัตนตรัย โดยเฉพาะในพระธรรม อันคือ ธรรมคำสอนโดยพระพุทธองค์ ที่มีพุทธประสงค์สูงสุดล้วนเป็นเรื่องของสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ที่เกี่ยวกับความทุกข์ ดังเช่น การเกิดขึ้นของทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้เป็นทุกข์ แต่เพื่อให้รู้เหตุ ก็เพื่อนำไปใช้ในการดับไปแห่งทุกข์ต่างๆนั่นเอง จึงยังให้เกิดความสุขจากการหลุดพ้น อันสุขยิ่งกว่าสุขทางโลกนั่นเอง, อันวิจิกิจฉาหรือความลังเลสงสัยนี้ ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเนื่องจากความไม่เข้าใจในธรรมของพระองค์ท่านอย่างถ่องแท้ในเบื้องต้นเนื่องด้วยอวิชชา ดังนั้นเมื่อปฏิบัติไปย่อมต้องเกิดการติดขัดเป็นธรรมดา ก็เกิดความสงสัย ลังเล ไม่เชื่อถือ, ค้นหาการปฏิบัติใหม่, ลัทธิใหม่, วิธีใหม่, อาจารย์ใหม่, ที่ยึดถือใหม่ ฯลฯ. จึงเป็นการค้นหา, วิ่งเข้าหาสิ่งผิดๆด้วยอวิชชาเสียก็มี หรือเป็นการเริ่มต้นกันใหม่อยู่เสมอๆ จึงไม่สามารถบังเกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งแท้จริง, ถ้าไม่มีวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยอันจักบังเกิดขึ้นจากความเข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมพื้นฐานอย่างถูกต้อง เมื่อเกิดอุปสรรคในการปฏิบัติ จิตจะไม่เกิดความลังเลสงสัย แต่จิตจะพลิกไปพิจารณา, ครุ่นคิด, คิดค้นคว้า แก้ไขให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กระจ่างสว่างขึ้นไปเป็นลําดับ กล่าวคือเจริญวิปัสสนาจนเกิดความรู้ความเข้าใจให้หลุดพ้นขึ้นนั่นเอง, วิจิกิจฉาจึงเป็นอุปสรรคสําคัญที่บั่นทอนสัมมาปัญญาหรือญาณไม่ให้เกิด จึงทําให้ร้อยรัดสรรพสัตว์ไว้กับทุกข์, แต่การไม่ลังเลสงสัยก็ต้องไม่เป็นไปในลักษณะของความมัวเมาด้วยอธิโมกข์ จึงต้องประกอบด้วยปัญญาหรือการเจริญวิปัสสนา

    ๓. สีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นถือมั่นในศีล(ข้อบังคับ)และวัตร(ข้อปฏิบัติ)แบบผิดๆ, ความถือมั่นในข้อบังคับและข้อปฏิบัติโดยสักแต่ว่าทําตามๆกันมาอย่างงมงาย อันเกิดจากการไม่เข้าใจในธรรม(สภาวธรรม)ตามความเป็นจริง แต่ปฏิบัติเป็นไปตามความเชื่อ ความยึด หรือตามประเพณีที่สืบทอดกันต่อๆมา โดยขาดปัญญาพิจารณาเนื่องด้วยอธิโมกข์ เช่น เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตรข้อปฏิบัติแต่ฝ่ายเดียวก็พอเพียงแล้วในการปฏิบัติธรรม, การทำบุญเพื่อหวังผล หรือเพื่อไปสวรรค์ นิพพาน แต่อย่างเดียวก็พอเพียงแล้ว, การถือศีลอย่างเคร่งครัดแต่ฝ่ายเดียวแล้วจะบรรลุมรรคผล, คล้องพระเพื่อให้เกิดโชคลาภ คงกระพันชาตรี, การปฏิบัติแต่สมถสมาธิอย่างเดียว แล้วจะเกิดปัญญาเข้าใจธรรมหรือได้มรรคผลขึ้นมาได้เอง, การทรมานตนในการปฏิบัติ, การอ้อนวอนบูชา, การบนบาน, การบูชายัญ, การยึดมั่นใน อัตตา เจตภูต หรือแม้แต่ปฏิสนธิวิญญาณ ฯลฯ.

    สีลัพพตปรามาส จึงรวมถึง ความยึดมั่นถือว่า บุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร คือถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม ถือศีลและวัตรที่งมงายหรืออย่างงมงายก็ตาม

    ความถือศีลพรต โดยสักว่า ทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง

    ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่า จะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ อันล่วงธรรมดาวิสัย(หรือธรรมชาติ)

    ดังในกรณีของ การบูชา การอ้อนวอน การบนบาน การบูชายัญ อันมีมาแต่โบราณกาล แท้จริงแล้วเป็นการไปยึดไปถือบูชาในสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ใดๆ อันยิ่งใหญ่เพราะความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจได้อย่างแท้จริงด้วยอวิชชา ดังนั้นเมื่อไม่สามารถควบคุม,บังคับหรือกำจัดปัดเป่าในบางสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมหรือตามธรรมชาตินั่นเองที่พึงต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเป็นธรรมดาไม่เป็นอื่นไปได้ อันเป็นไปตามสัญชาตญาณความกลัวขั้นพื้นฐานของสรรพสัตว์และปุถุชนทั้งปวงผู้ยังไม่มีวิชชานั่นเอง ด้วยเหตุดังนี้ แต่ครั้งโบราณกาลเพราะอวิชชาความไม่รู้นี่เอง เมื่อมีความกลัวเกรงสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่และไม่รู้ว่าจะทำวิธีกำจัดปัดเป่าในทุกข์เหล่าใดเหล่านั้นที่เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงมีการคิดปรุงแต่งหาวิธีการต่างๆ เพื่อกำจัดปัดเป่าหรือดับทุกข์จากความเกรงกลัวในสิ่งเหล่านั้น จึงได้มีคิดค้น เช่น การเริ่มบูชาในสภาวธรรมหรือธรรมชาติต่างๆตามที่คิดปรุง,คิดแต่งไปเอาเองว่า มีกําลังเหนือ หรือความสามารถเหนือกว่าตนหรือพวกตน หรือเกิดการคิดนึกปรุงแต่งไปเองว่า คงต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดๆที่สามารถช่วยเหลือเกื้อหนุนให้พ้นทุกข์หรือสำเร็จได้ดังใจปรารถนาที่ต้องการ(ตัณหา) ดังนั้นตั้งแต่โบราณกาลก็เริ่มมีการอ้อนวอนบูชาในสิ่งที่คิดปรุงแต่งขึ้น ดังเช่นในจอมปลวก ดิน ฟ้าอากาศ ภูเขาไฟ ต่างๆ ฯลฯ. ถ้าบังเอิญสำเร็จได้ตามปรารถนาเพราะบังเอิญเป็นไปตามธรรมหรือเหตุปัจจัย(ธรรมชาติ)เอง ก็เกิดการยึดถือในสิ่งหรือพิธีการนั้นๆว่า สามารถแก้ไข หรือกำจัดปัดเป่าได้ด้วยอธิโมกข์ และยังพัฒนาไปเรื่อยๆตามวิวัฒนา การปรุงแต่ง ความเชื่อ และการถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างอธิโมกข์ด้วยอวิชชา จนเติบโตพัฒนาเป็น ผี..สิ่งศักสิทธิ์..เทพเจ้าต่างๆหลายร้อยหลายพันองค์มานับพันๆปี.. เทวดา..อินทร์..พรหม..ยม..ยักษ์ ฯลฯ. และพระเจ้าในที่สุด แม้แต่พระพุทธเจ้า (หมายถึงไปยึดพระองค์เป็นดั่งพระเจ้าเพื่อสวดอ้อนวอนขอสิ่งต่างๆ, แท้ที่จริงควรเคารพนับถือพระองค์ท่านในฐานะเป็นองค์พระบรมศาสดา เคารพบูชาพระองค์ท่านโดยการปฏิบัติตามคําสอนหรือพระธรรมของพระองค์เป็นแก่น อันพระองค์ท่านทรงสรรเสริญว่าเป็นการปฏิบัติบูชา อันมีอานิสงส์ยิ่งกว่าอามิสบูชา), จริงๆแล้วล้วนเป็นการอุปโลกของจิต และเป็นไปตามลําดับขั้นตอนของการวิวัฒนาการของความเจริญ ก็เพื่อยึดถือเป็นขวัญ เป็นกําลังใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตในบางสิ่งบางอย่างที่ตนเองไม่เข้าใจและไม่สามารถควบคุมบังคับหรือกำจัดได้ด้วยตนเอง จึงมีความกลัว หรือด้วยจุดประสงค์ในอันที่จะสนองความต้องการของตนให้สัมฤทธิผล จึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆว่าคงมีอำนาจหรือพลังบางอย่างในสิ่งต่างๆเหล่านั้น ตามที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ปรุงแต่งขึ้นมา ตามคำเล่าลือ, ตามที่ตนเองยึดถือ หรืออุปโลกปรุงแต่ง หรือสืบทอดกันมาโดยไม่รู้ตัวเหล่านั้น ด้วยความยึดความเข้าใจด้วยอวิชชาว่า ยิ่งใหญ่เหนือตน คงจะช่วยเหลือเกื้อหนุนได้ ก็ล้วนเพื่อหวังผลให้ช่วยเหลือต่างๆนาๆเพื่อให้เกิดความสัมฤทธ์ผลสมปรารถนาในบางสิ่ง หรือกำจัดปัดเป่าสิ่งต่างๆที่เกินอำนาจของตนที่จะกำจัดได้ด้วยตนเอง, อันก็มีคุณประโยชน์ในแง่สังคมวิทยาเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน คือ ก่อให้เกิดความมั่นใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวให้คลายทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง และเกิดความเชื่อ, การยึดถือ, การนับถือในสิ่งๆเดียวกัน จึงเป็นจุดศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวของสังคมนั้นๆ อันยังผลให้เกิดความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในพวกพ้องความเชื่อเดียวกัน ในระดับหนึ่ง แล้วยึดถือและปลูกฝังกันสืบต่อๆมา...ฯลฯ, แต่ถ้าพูดกันอย่างตามความเป็นจริงขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์)ในทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้น จัดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปอย่างอวิชชา เพราะความไม่เข้าใจในธรรมหรือสภาวธรรม ดังเช่น ความเป็นเหตุปัจจัย ฯ. อันทําให้ไม่สามารถที่จะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์หรือจางคลายจากทุกข์ได้ตามควรฐานะแห่งตนได้อย่างแท้จริง คือไม่เป็นไปในแนวทางเพื่อการดับภพ ดับชาติ อันเป็นบรมสุข กลับเป็นการสร้างภพ สร้างชาติ เพื่อการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว
    พระพุทธพจน์ที่ตรัสแสดง สีลัพพตปรามาส

    ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงํากิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ อันประดุจคูกั้นเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก (ขุ.ชา. ๒๗/๘๗/๒๘)

    ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบนํ้า(ชําระบาป) กบ เต่า นาค จรเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่นํ้า ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน.......(กล่าวต่อในอีกมุมมองหนึ่งอันน่าพิจารณายิ่งว่า) ถ้าแม่นํ้าเหล่านี้พึงนําบาปที่ท่านทําไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ (ดังนั้น)แม่นํ้าเหล่านี้ก็พึงนําบุญของท่านไปได้ด้วย(เช่นกัน) (ขุ.เถรี.๒๖/๔๖๖/๔๗๓)

    บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี เป็นมงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดี และ(นับได้ว่า)เป็นอันได้ทําบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย แม้กายกรรมของเขา(นั้น)ก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค ประณิธานของเขาก็(ย่อมต้อง)เป็นสิทธิโชค ครั้นกระทํากรรม(การกระทําใดๆ)ทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค (สุปุพพัณหสูตร)

    ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลา ผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ ของประโยชน์เอง ดวงดาวจักทําอะไรได้ (หรือโดยพิจารณาว่า ไปเปลี่ยนแปลงดวงดาวได้หรือ? แต่เปลี่ยนแปลงโดยการทำเหตุให้ดีหรือถูกต้อง จึงเป็นปัจจัยในสิ่งที่ดีหรือเป็นไปได้ ) (ขุ.ชา ๒๗/๔๙/๑๖ )
    เรื่องของวิญญาณ และการเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อการถอดถอนสีลัพพตปรามาส
    เหตปัจจัยใหุ้เกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส

    ๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกามคุณ ๕ กล่าวคือ ความใคร่ ความปรารถนา ฯ. ใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ อันล้วนเป็นกามราคะ ชนิดวัตถุกาม อันคือ วัตถุอันน่าใคร่ หรือวัตถุอันเป็นเหตุให้เกิดความใคร่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญ หมายถึง เกิดความใคร่ ความปรารถนา ความอยาก ความไม่อยากเกิดขึ้นแก่ใจ แต่มีเหตุปัจจัยโดยตรงเนื่องจากวัตถุกาม

    สําหรับฆราวาสนั้น การมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตนเองหรือโผฏฐัพพะ ก็นับว่าเป็นพรหมจรรย์ตามฐานะแห่งตน แต่ย่อมยังไม่ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์เท่านั้น อันเนื่องจากยังบริโภคกามอยู่ กล่าวคือยังเนื่องอยู่หรือมีหน้าที่ต่างๆที่ผูกพันพึงกระทำอยู่เป็นเครื่องผูก แต่สามารถจางคลายจากทุกข์ได้เป็นลําดับขั้นของโลกุตรธรรม(ธรรมหรือสิ่งที่อยู่เหนือสภาวะทางโลกๆ,สภาวะเหนือโลก) จึงย่อมสามารถอยู่ในโลกได้อย่างสุขสงบสบาย จึงระงับอุปาทานทุกข์ลงได้ตามควรเป็นลำดับตามโลกุตรภูมินั้นๆ และตั้งแต่พระโสดาบันเป็นลำดับไป ไม่ว่าอย่างไรก็ตามที เขาย่อมเป็นผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพานในที่สุด อันพึงแต่เพียงรอเวลาหรือกาลวาระเท่านั้น ไม่อาจสามารถผันแปรไปเป็นอื่นได้อีกต่อไป อันท่านจัดว่า เป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ย่อมถึงที่สุดแห่งทุกข์ในกาลต่อไปอย่างแน่นอน ดังมีพุทธดำรัส ตรัสไว้ในพระสูตรดังนี้

    โสตาปันนสูตร

    ว่าด้วยผู้เป็นพระอริยสาวกโสดาบัน
    [๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้. อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ได้แก่ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่พระอริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า พระอริยสาวกผู้โสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
    (พระไตรปฏก เล่มที่ ๑๗ หัวข้อที่๒๙๖)

    ๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ ความหงุดหงิด ขัดเคือง ความขุ่นมัว ขุ่นข้องใจ อันเกิดแต่ความคับแค้น,ความไม่ได้ตามใจปรารถนาฯ. อันถึงขั้นการเกิดปฏิฆะในขั้นก่อเป็นอนุสัย หรืออาสวะกิเลส, เมื่อละได้ก็ไม่ก่อให้เกิดปฏิฆานุสัยหรืออาสวะกิเลส (แต่ยังคงมีในระดับขันธ์ ๕ อันเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ อันเป็นดังที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโลได้กล่าวไว้เรื่องความโกรธ "มี แต่ไม่เอา แล้วมันก็ดับไปเอง" อันหมายถึงการเกิดขึ้นแต่ในระดับกระบวนการดําเนินชีวิตของขันธ์ ๕ ธรรมดาๆ แล้วเมื่อไม่คิดปรุง มันก็ดับไปเอง แม้เป็นทุกขเวทนาอย่างหนึ่ง จึงเป็นทุกข์แต่เป็นทุกข์ธรรมชาติ ไม่ประกอบด้วยอุปาทาน จึงไม่ถึงขนาดเร่าร้อน เผาลน กระวนกระวายดังไฟนรก จนตกตะกอนนอนเนื่องเป็นปฏิฆานุสัย หรืออาสวะกิเลส(ถ้าพิจารณาในแนวปฏิจจสมุปบาทธรรม)

    วิธีปฏิบัติเพื่อดับโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ จากพระสูตร

    [อันแสดงการละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ด้วยสมถวิปัสสนา คือการใช้สมถกรรมฐานร่วมกับวิปัสสนากรรมฐาน]

    อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕
    อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง ธรรม(สิ่ง)อันละเอียดที่มัดสัตว์ไว้กับกองทุกข์ อันละได้ในพระอรหันต์เจ้าเท่านั้น อันมี ๕ เป็นการละโดยสัมมาญาณเป็นสำคัญ

    ๖. รูปราคะ หรือรูปฌาน รูปราคะ หมายถึง ความติดใจ ติดเพลิน ความติดใจอยาก หรือตัณหาในรูปธรรมอันประณีต คือ รูปฌาน หรือรูปอันวิจิตรมีอำนาจต่อจิตเป็นสำคัญ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันวิจิตรถูกจริตถูกใจกว่ารูปในกามราคะปกติธรรมดา กล่าวคือ ละเอียดอ่อนนอนเนื่องกว่ากามราคะอันเป็นของหยาบกว่าอยู่มาก ดังเช่น รูป -ในสิ่งต่างๆอันสวยงามถูกจริตถูกจิตถูกใจเป็นพิเศษกว่ากามราคะธรรมดา ที่สัมผัสหรือผัสสะได้ด้วยตาต่อสิ่งอันวิจิตรนั้น, รส - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยลิ้น เช่น รสชาดอันแสนเอร็ดอร่อยถูกปากถูกจริต กว่าปกติธรรมดา, กลิ่น - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยจมูก เช่นกลิ่นอัน<หอมหวลถูกจริตถูกใจ, เสียง - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยหู เช่น เสียงสรรเสริญอันแสนถูกใจ, โผฏฐัพพะ สัมผัส - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยกาย เช่น สัมผัสอันละมุนละไมต่างๆ เช่น จากรูปฌาน สัมผัสอันถูกจิตถูกใจอันพึงได้จากเพศตรงข้ามเฉพาะบุคคน ฯลฯ. อันล้วนเป็นราคะความพึงพอใจในขั้นละเอียดในสิ่งอันประณีตงามวิจิตร ถูกจริตถูกใจกว่ากามราคะข้างต้นในข้อ ๔ ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย

    สมถสมาธิหรือฌาน หมายถึงรูปฌาน อันยังให้เกิดความสงบ ความสบาย หรือปีติ สุข อุเบกขา เอกัคคตา อันประณีตวิจิตร อันเกิดแก่ทั้งกายและใจ (อันไปยึดมั่นถือมั่นหรือติดเพลินโดยไม่รู้ตัว มิได้หมายถึงการทิ้งหรือไม่มี ยังคงมีอยู่แต่ไม่ติดเพลิน มีแค่เป็นเครื่องอยู่, หรือมีอยู่ในระดับขันธ์ ๕)
    รูปราคะ อาจทำความเข้าใจได้ยาก เป็นราคะที่เกิดขึ้นกับใจเป็นสำคัญหรือเป็นกิเลสกามแต่ก็เนื่องสัมพันธ์มาจากรูป(ที่หมายถึง สิ่งสัมผัสได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตาม)เป็นสำคัญ ไม่ใช่ตัว"รูป"เองแต่อย่างเดียวโดยตรง เช่น ดังที่กล่าวว่า รูปอันวิจิตรถูกจริตถูกใจ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนนอนเนื่องยิ่งกว่า ราคะที่เกิดขึ้นจากรูป(หมายถึง สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา)ในกามราคะหรือวัตถุกามมากมายนัก ดังเช่น รูปราคะในลูก ก็คือ ความรักความปราณีความห่วงอาทรในลูก กล่าวคือ ลูก(อันคือรูป)นั้น จะสวยงามหรือไม่สวยงามก็ตามที แต่ความเป็นลูกหรือรูปนั้นแฝงเนื่องสัมพันธ์หรือแสนวิจิตรถูกจริตถูกใจหรือความพึงพอใจของตน มากกว่า"รูปหรือรูปลักษณ์ของลูก"เองว่าสวย หรือไม่สวย, ดีหรือชั่วก็ตามที จึงจัดเป็นกิเลสกาม อันวิจิตรเกิดขึ้นแก่ใจตน จึงจัดเป็น"รูปราคะ", รูปราคะในบิดามารดา ในรสอาหารบางอย่างบางชนิดที่ติดตรึงประณีตเป็นพิเศษกว่าธรรมดา เช่นคนนี้,เจ้านี้ปรุงอร่อยเป็นพิเศษเหนือธรรมดา อย่างนี้ก็จัดเป็นรูปราคะอันละเอียดอ่อนนอนเนื่องกว่ากามราคะในรส รูปราคะในทรัพย์สินบางชนิด ผู้เป็นพระอริยเจ้าจึงละได้อย่างเด็ดขาดเท่านั้น ดังนั้นรูปทั้งหลายที่หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ได้ด้วยอายตนะ ๕ ทั้งหลายที่เนื่องสำคัญกับใจหรือความพึงพอใจของตนเป็นประณีตหรือเป็นพิเศษนั่นเอง ก็จัดว่าเป็น"รูปราคะ" ส่วนรูปฌานก็เป็นรูปราคะเช่นกัน คือ ราคะที่เกิดแต่จิตหรือใจเป็นสำคัญ โดยการอาศัยรูปหรือสิ่งที่สังขารขึ้น จนสัมผัสได้ด้วยอายตนะใดๆ อันจัดเป็นรูป เช่น ลมหายใจจากกายสังขาร พุทโธเป็นวจีสังขารอย่างหนึ่ง ฯลฯ. เป็นอารมณ์ในการปฏิบัติ จนเกิดความสุข ความสบาย ความสงบ จึงไปยึดติดยึดมั่นเป็นราคะทางใจในความสุขสงบสบายที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากสังขารหรือรูปอันละเอียดอ่อนหรือวิจิตรนั่นเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติ

    ๗. อรูปราคะ หรืออรูปฌาน การติดใจติดเพลิน ติดใจอยากในรสประณีตอันละเอียดยิ่งขึ้นของสิ่งที่เป็นอรูป อันวิจิตร ซึ่งไม่มีตัวตนรูปร่างอันสัมผัส เป็นการสัมผัสได้ด้วยใจหรือจิตนั่นเอง เช่นใน อรูปฌาน, เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังเช่น การติดเพลินหรือยึดมั่นในสุขเวทนาอันแสนสบายหรือถูกใจ เช่นเวทนาความรู้สึกในรูปโฉม,สิ่งสวยงามหรือทรัพย์สมบัติ(สุขเวทนา), พึงพอใจระลึกในสัญญาจําในอดีตอันเป็นสุข ฯลฯ. สําหรับผู้ปฏิบัติที่ผ่านการฝึกฝนอบรมในด้านสมถสมาธิ เฉกเช่นเดียวกันกับรูปฌานย่อมหมายรวม อรูปฌาน อันยังให้เกิดความติดเพลินความพึงพอใจในรสอันประณีตวิจิตรเหนือธรรมดาของฌานอันเกิดแต่ อรูป เป็นอารมณ์

    อรูปราคะ จึงยิ่งละเอียดอ่อนนอนเนื่องยิ่งกว่ารูปราคะเสียอีก ดังเช่น อรูปราคะในสุขเวทนาหรือเหล่าความสุข, อรูปราคะในทุกขเวทนาหรือความทุกข์, อรูปราคะในสัญญาความจำได้หมายรู้แต่อดีต, แม้แต่อรูปราคะในพระนิพพาน ที่แม้ในช่วงแรกที่ยังไม่ละในโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ พระองค์ท่านสอนให้น้อมระลึกหรือน้อมนำถึงพระนิพพานอันบรมสุขอยู่เนืองๆ จัดเป็นอุปสมานุสติ แต่ก็ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นแม้พระนิพพานนั้น กล่าวคือ ด้วยเป็นสิ่งที่ต้องละในที่สุดเช่นกัน ก็เนื่องด้วยความเป็นอรูปราคะอย่างหนึ่งนั่นเอง ที่แม้มีประโยชน์ยิ่งเพราะเป็นกำลังแก่จิตในการดำเนินการปฏิบัติเพื่อการวิปัสสนาในช่วงการละ สังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ แต่แล้วในที่สุดต้องใช้สัมมาญาณจากการวิปัสสนาในการละอรูปราคะแม้ในพระนิพพานนี้ ที่หมายถึงไม่ยึดมั่นในพระนิพพานอีกครั้งหนึ่ง, ส่วนในความสุขทุกข์นั้นเล่า เกิดแต่จิตโดยตรงและมีเหตุปัจจัยมาจากสังขารอย่างชนิดที่ไม่มีตัวตนหรืออรูปคือเวทนา เกิดแต่เหตุปัจจัยดังเช่นเงา ก็ยังแฝงอยู่ด้วยราคะอันละเอียดนอนเนื่องเป็นอย่างยิ่ง มีความกำหนัด ความปรารถนาอยู่ในความสุขทั้งหลาย และวิภวตัณหาในเหล่าทุกข์ทั้งปวง โดยละเอียดโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา

    สังโยชน์ในข้อ รูปราคะและอรูปราคะ นั้นละเอียดอ่อน ดังที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ดังนี้

    "สังโยชน์อีก ๒ ชื่อ ซึ่งพระอรหันต์จะต้องละนั้น ได้แก่ รูปราคะ และอรูปราคะ ราคะ ๒ อย่างนี้ไม่ได้เกี่ยวกับกาม(กาม นี้ท่านหมายถึง วัตถุกาม) เป็นเพียงความพอใจในรสของความสงบสุข(กล่าวคือ เป็นกิเลสกาม ทั้ง)ที่เกิดมาจากการเพ่งรูป และการเพิ่งสิ่งที่ไม่มีรูป เป็นธรรมดาอยู่เองที่สุขเวทนาอันประณีต ก็ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือขั้นประณีต ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ละได้ยาก ดังคำกล่าวในรูปของบุคคลาธิษฐานที่ว่า อายุของพวกพรหมโลกนั้นยืนยาวเป็นกัปป์ๆ ทีเดียว ข้อนี้หมายความว่า ความพอใจในรูปราคะและอรูปราคะ หรือความที่ได้เป็นพรหมนั้น มีกำลังเหนียวแน่นและลึกซึ้งมาก ยากที่จะถอนออกได้ง่ายๆ เมื่อเทียบส่วนกันกับความพอใจในกามราคะทั่วๆ ไปของมนุษย์ กล่าวให้สั้นที่สุด ก็ว่า สุขเวทนาที่เกิดมาจากความสงบของจิตและอำนาจของสมาธินั้น มีรสชาติยิ่งไปกว่าสุขเวทนาที่เกิดมาจากกาม อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้ทีเดียว" ( จาก วิธีลดอัตตา โดย ท่านพุทธทาส)

    หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า อารมณ์ทั้งในรูปราคะและอรูปราคะต่างก็ล้วนอยู่ในสภาพของ
    อารมณ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานอยู่ในทีแล้วนั่นเอง กล่าวคือ มีอารมณ์หรือกามนั้น นอนเนื่องซึมซ่านย้อมจิตอยู่แล้ว เมื่อประสบกับอารมณ์นั้นก็เป็นไปดังสิ่งที่นอนเนื่องซึมซาบย้อมจิตทันที จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีในพระอรหันต์เจ้าเท่านั้นเอง

    ๘. มานะ ในสังโยชน์หมายถึงความถือตัว ถือตน ทนงตน ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ หรือการถือตัวว่า ดีกว่าเขาเหนือกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา จึงย่อมก่อให้เกิดการปรุงแต่งกิเลสต่างๆนาๆ จึงไม่ใช่ มานะ ในภาษาไทยที่มีความหมายถึงว่า ความพยายาม ความตั้งใจแต่อย่างใด
    "มานะ ๓ เป็นไฉน คือ ความถือตัวว่าเสมอเขา๑ ความถือตัวว่าเลวกว่าเขา๑ ความถือตัวว่าดีกว่าเขา๑ มานะ ๓ นี้ควรละ"
    (ตัณหาสูตรที่ ๑๓)

    เพราะความคิดว่า "ดีกว่าเขา" "ด้อยกว่าเขา" "แม้แต่เสมอเขา" ต่างล้วนเป็นความคิดปรุงแต่งที่ยังให้เกิดทุกข์รำคาญใจทั้งสิ้น ลองโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะเข้าใจได้ว่า มีเหตุจึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งว่า ดีกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา ขึ้นมาด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ดี จึงเป็นทุกข์ ดังเช่น ดีกว่าเขาก็เกิดอาการกร่าง เสมอเขาก็เกิดอาการเบ่งจนตัวพองเป็นทุกข์ ด้อยกว่าเขาก็เป็นทุกข์

    หรือพิจารณาจากขันธ์ ๕ หรือปฏิจจสมุปบาทก็ได้ ว่าเมื่อมีสังขารปรุงแต่งดังนี้เกิดขึ้น ย่อมยังให้เกิดการผัสสะเกิดทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ขึ้น จนถึงเวทนูปาทานขันธ์หรือทุกข์อุปาทานเป็นที่สุด

    ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ความปรุงแต่งในเรื่องต่างๆ ชนิดละเอียด (อธิบายในรูปแบบปฏิจจสมุปบาทก็คือยังคงมี คิดนึกปรุงแต่งดังแสดงโดย หมายเลข 22 ในวงจร อยู่บ้าง แต่ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษหรือก่อภพก่อชาติอย่างรุนแรงหรือถี่บ่อยเช่นปุถุชน กล่าวคือ เกิดอุปาทานทุกข์ในชรา หรือ หมายเลข 14 น้อยลง, ส่วนในปุถุชนนั้นย่อมเกิด ความคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่าน 14 เป็นส่วนใหญ่อันเป็นทุกข์อุปาทานแล้ว และยังคงเกิด ความคิดปรุงแต่งที่ 22 นี้ด้วย อย่างประจําสมํ่าเสมอ โดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชาอีกด้วย) ดังนั้นจิตจึงยังคงมีการพลิ้วไม่สงบ เพราะระลอกของความฟุ้งซ่านรำคาญใจบ้างเป็นธรรมดา (แสดงภาพของจิตฟุ้งซ่านหรือจิตปรุงแต่ง)

    ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริงของธรรม ตลอดจนการปฏิบัติให้สติรู้เท่าทัน และรู้ตามความเป็นจริงในสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปของทุกข์ อันคือ ปัญญาญาณ

    อวิชชา๘ อันมี
    ๑. ความไม่รู้ใน"ทุกข์" ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้รู้ และให้ดับสนิทหมายถึงอุปาทานทุกข์หรืออุปาทานขันธ์๕, และมีสติรู้เท่าทันอุปาทานทุกข์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ที่ล้วนเกิดขึ้นมาจากเหล่าทุกขอริยสัจและทุกขเวทนาที่เป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)หนึ่งของชีวิต ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แล้วต้องปฏิบัติอย่างไรจึงไม่เป็นเวทนูปาทานขันธ์ อันเป็นอุปาทานทุกข์ที่แสนเร่าร้อนเผาลน คงเป็นเพียงทุกข์ธรรมชาติ, และทุกข์นี้ มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญายิ่ง คือ เป็นสิ่งที่ควร " รู้ "

    ๒. ความไม่รู้ใน"สมุทัย" เหตุให้เกิดทุกข์มาจากตัณหา ๓ (กามตัณหา-อยากในกามหรือในทางโลกๆ, ภวตัณหา-ความอยาก, วิภวตัณหา-ความไม่อยาก, อยากดับสูญ) อันจักเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นอุปาทานทุกข์, สมุทัย มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควร " ละ "
    ๓. ความไม่รู้ใน"นิโรธ" เป็นเช่นใด ไม่เคยสัมผัส หรือไม่เข้าใจสภาวะนิโรธอันว่างจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน อันล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กันอันยังให้เกิดอุปาทานทุกข์ ทําให้ไม่ทราบว่าดับทุกข์ได้แล้ว จักเป็นสุขสงบ หรือดับร้อน เยี่ยงใด? คุ้มค่าให้ปฏิบัติไหม? มีจริงหรือเปล่า? หรือเข้าใจผิดไปจับสภาวะผลอันสงบเย็นของสมาธิหรือฌานเป็นสภาวะนิโรธ! ทําให้จริงๆแล้วยังคงมีความสงสัยอยู่ลึกๆในจิต(วิจิกิจฉา), นิโรธ มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควร " ทำให้แแจ้ง "

    ๔. ความไม่รู้ใน"มรรค" การปฎิบัติในการดับทุกข์ ควรปฏิบัติอย่างไร? ศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจ ปฏิบัติไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน? วิธีใด? ของใครถูกแน่? (อ่านรายละเอียดในอริยสัจ ๔), มรรค มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควร " ปฏิบัติ "

    ๕. ความไม่รู้ใน"ความไม่รู้อดีต" การไม่รู้ระลึกชาติ หรือภพที่เคยเกิดเคยเป็นในภพชาติต่างๆในปัจจุบันชาติ หมายถึงการ ย้อนระลึกขันธ์๕หรืออุปาทานขันธ์๕ที่เคยเกิดเคยเป็น กล่าวคือไม่รู้ไม่เข้าใจขันธ์ ๕ ที่เคยเกิดๆดับๆ อันก่อให้เกิดอุปาทานทุกข์นั้นเกิดแต่เหตุปัจจัย และเหตุปัจจัยอะไร? เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ เครื่องรู้ เครื่องระลึก อันก่อให้เกิดปัญญาญาณ และนิพพิทาญาณ อันยังให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดับทุกข์ (โยนิโสมนสิการปฏิจจสมุปบาทเรื่องภพ เรื่องชาติ จบแล้ว ลองย้อนมาพิจารณาอีกครั้ง)

    ๖. ความไม่รู้ใน"ความไม่รู้อนาคต" การไม่รู้อนาคต คือไม่รู้ไม่เข้าใจในการอุบัติ(เกิด) การจุติ(ดับ) ของขันธ์ทั้ง๕ว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น เช่น กรรมคือตามการกระทําที่มีเจตนาทั้งสิ้น และอนาคตนั้นก็จักเป็นไปตามเหตุปัจจัยอันคือกรรมการกระทํานั่นเอง ดังนั้นความทุกข์ในภายหน้าหรือชาติหน้าก็ล้วนเกิดดับอันเกิดแต่กรรมการกระทํา อันจักยังให้เกิดอุปาทานขันธ์๕เช่นเดิมหรือเกิดความทุกข์ขึ้นเฉกเช่นเดียวกับอดีต ดังนั้นเพราะความไม่รู้ จึงประมาท จึงมิได้แก้ไขเยี่ยงไร เพื่อไม่ให้ทุกข์จะเกิดขึ้นมาได้อีก กล่าวคือการรู้อนาคตเพราะรู้การเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง คือเมื่อเหตุเป็นเช่นนี้ ผลเยี่ยงนี้จึงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อันเกิดขึ้นจากความเข้าใจในสภาวะธรรมอย่างถ่องแท้

    ๗. ความไม่รู้ในทั้ง"อดีตและอนาคต" จึงไม่เกิดการยอมรับและเข้าใจในเหตุปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง จึงไม่มีทั้งเครื่องระลึก เครื่องเตือนสติจากการระลึกอดีต, และเกิดความประมาท ขาดการป้องกันจากการไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต

    ๘. ความไม่รู้ใน"ปฏิจจสมุปบาท" ไม่ทราบ,ไม่รู้ กระบวนการเกิดขึ้นของทุกข์ และกระบวนการดับไปของทุกข์ จึงไม่รู้จักอาสวะกิเลส ตลอดจนตัณหาและอุปาทานที่แอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิตหรือในอวิชชา เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจจึงไม่สามารถดับทุกข์ ที่เหตุปัจจัยได้อย่างเข้าใจและถูกต้องตามจริง อันอุปมาได้ดั่งช่างยนต์ที่ไม่รู้ไม่ศึกษาเรื่องเครื่องยนต์ แล้วจักซ่อมเครื่องยนต์ให้ดีเยี่ยงใด?

    โลกุตรธรรม

    โลกุตรธรรม ธรรมหรือสิ่งอันมิใช่วิสัยทางโลกๆ, สภาวะพ้นจากทางโลกๆ หรือสภาวะเหนือโลก อันมี๙ ดังนี้ (พระอริยบุคคล มี๘ คือผู้ปฏิบัติได้ในข้อ๑-๘ - ฐานะแห่งตน ที่จำแนกแบบอริยสาวก)

    ๑. โสดาปัตติมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงผล อันคือความเป็นพระโสดาบัน, ญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส, เมื่อโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะมรรคจิตเท่านั้น พ้นจากนั้นก็จะเกิดผลจิตคือโสดาปัตติผล ในข้อ ๒. กลายเป็นผู้ตั้งอยู่ในผล คือเป็นพระโสดาบันนั่นเอง

    ๒. โสดาปัตติผล ผลคือการถึงกระแสพระนิพพาน จากการละสังโยชน์ ๓ ข้อแรกด้วยโสดาปัตติมรรค ทําให้บุคลผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า, กล่าวคือ เข้าสู่กระแสพระนิพพาน หมายถึงเข้าสู่กระแสแรงดึงดูดของพระนิพพานเสียแล้ว อันมิอาจเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้ เพียงขึ้นอยู่กับระยะเวลา ตั้งแต่ภพชาติเดียว(เอกพีชี)จนถึงมากที่สุด ๗ ชาติ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเพียร สติ ปัญญา ตลอดจนเหตุปัจจัย เป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ดังนี้

    โสตาปันนสูตร
    ว่าด้วยผู้เป็นพระอริยสาวกโสดาบัน
    [๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้. อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ได้แก่ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่พระอริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า พระอริยสาวกผู้โสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
    (พระไตรปฏก เล่มที่ ๑๗ หัวข้อที่๒๙๖)

    ๓. สกิทาคามิมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผลความเป็นพระสกิทาคามี, หรือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดญาณรู้คือความรู้อันเป็นเหตุละสังโยชน์ ๓ ข้อแรก และเบาบางลงในข้อ ๔ และ ๕ คือ กามราคะ และ ปฏิฆะ
    ๔. สกิทาคามิผล ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติอันสืบเนื่องจากสกิทาคามิมรรคในข้อ๓ ทําให้เป็น พระสกิทาคามี

    ๕. อนาคามิมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผลคือความเป็นพระอนาคามี, หรือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดญาณคือความรู้อันเป็นเหตุละสังโยชน์ทั้ง๕ข้อแรกได้

    ๖. อนาคามิผล ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติอันสืบเนื่องจากอนาคามิมรรคในข้อ๕ ทําให้เป็นพระอนาคามี

    ๗. อรหัตตมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผลเป็นพระอรหันต์, หรือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดญาณคือความรู้อันเป็นเหตุละสังโยชน์ทั้ง๑๐

    ๘. อรหันตผล ผลคือความสําเร็จเป็นพระอรหันต์ ผลที่ได้รับจากการละสังโยชน์ทั้งหมด

    ๙. นิพพาน ผลการดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตรธรรมที่เป็นจุดหมายสูงสุดในพุทธศาสนา

    ผลแห่งการละกิเลส
    [๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำต้องทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระ ปลงลงแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสัญโญชน์ใน ภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่มีวัฏฏะ เพื่อจะบัญญัติต่อไป.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยาย แล้ว ภิกษุเหล่าใดละโอรัมภาคิยสัญโญชน์ทั้ง ๕ ประการ ได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น(หมายถึง พระอนาคามี)ทั้งหมดเป็น โอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว กับมีราคะโทสะและโมหะบางเบา ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็น พระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรา กล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้นเปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ผู้เป็นธัมมานุสารี เป็นสัทธานุสารี ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ดีเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เบื้องของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว บุคคลเหล่าใด มีเพียงความเชื่อ เพียงความรักในเรา บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีสวรรค์ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

    จบ อลคัททูปมสูตรที่ ๒
    ( พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๒)

    สัจจธรรม
    ทุกข์ของขันธ์ ๕ ทั้งใจและกายหรือเวทนาอันเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ยังคงมีอยู่ เราปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดอุปาทานทุกข์
    หมายถึง นอกจากไม่ให้อุปาทานทุกข์เกิดแล้ว ยังต้องยอมรับในสภาวธรรมของทุกขเวทนา
    อันพึงเกิดแต่ขันธ์ ๕ ทั้งทางใจและกาย อย่างเข้าใจถูกต้อง
    การไม่ยอมรับอย่างเข้าใจ ก่อให้เกิดการดิ้นรนกระวนกระวายหรือตัณหา จนกลายเป็นอุปาทานทุกข์เช่นกัน

    ความพึงพอใจเกิดจากเหตุปัจจัยมาปรุงแต่ง
    สิ่งใดปรุงแต่ง สิ่งนั้นไม่เที่ยง ล้วนต้องแปรปรวนด้วยอาการใด
    สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นทนอยู่ไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ถ้าเข้าไปอยากไปยึด
    สิ่งใดทนอยู่ไม่ได้สิ่งนั้นไม่มีแก่นถาวร(ไม่มีค่า) ให้ยึดมั่นถือมั่นพึงพอใจ
    ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยเท่านั้น
    นิพพานขาดเสียแล้ว ซึ่งเหตุปัจจัยอันมาปรุงแต่งด้วยตนเอง
    นิพพานคือภาวะดับสูญเสียแล้วซึ่งทุกข์
    คือภาวะดับสูญอุปาทาน
    คือภาวะดับเสียแล้วซึ่งความพึงพอใจยินดีแห่งตัวตน
    คือภาวะซึ่งดับเสียแล้วซึ่งการเกิด "ภพ" และ "ชาติ"

    "เหนือโลก" มิใช่ "หนีโลก"
    ธรรมะ มีไว้ช่วยให้อยู่ในโลกอย่าง"ชนะโลก" หรือ "เหนือโลก"
    มิใช่ให้ "หนีโลก" แต่อยู่เหนืออิทธิพลใดๆของโลก
    ไม่ใช่จมอยู่ในโลก
    มักสอนให้เข้าใจกันผิดๆว่า ต้องหนีโลก ทิ้งโลก สละโลก
    อย่างที่ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใครเลย
    (พุทธทาสภิกขุ)

    จากเว็บ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 พฤษภาคม 2012
  2. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    ขออภัย ที่ มันติด กันเป็นพรืดเลย ประโยชน์ข้างหน้า จะทำให้ดีกว่านี้ คะ
    โมทนาสาธุเจ้าคะ
     
  3. บุรุษไร้เงา

    บุรุษไร้เงา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มกราคม 2007
    โพสต์:
    8,427
    ค่าพลัง:
    +35,048
    เนื้อหาค่อนข้างสำคัญมากๆสำหรับผู้ปฎิบัติ..
    อนุโมทนาสาธุครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...