สมาธิภาวนา "หลวงพ่อชา สุภัทโท"

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย paang, 17 มกราคม 2007.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    [​IMG]


    <DD><DD><DD>ผู้แสวงบุญทั้งหลายที่มารวมกันแล้ว เพื่อจะได้ฟังธรรมะต่อไปให้ฟังธรรมะอยู่ในความสงบ การฟังธรรมะในความสงบนั้น คือทำจิตให้เป็นหนึ่ง หูเรารับฟัง สัมผัสถูกต้อง แล้วก็ปล่อยไปอย่างนี้ เรียกว่า ทำจิตให้สงบ <DD> <DD><DD>การฟังธรรมะนี้ก็เป็นประโยชน์มาก ส่วนหนึ่งเกี่ยวแก่การปฏิบัติธรรมะ ดังนั้นการฟังธรรมะ ท่านจึงให้ตั้งกายตั้งใจให้เป็นสมาธิ ในครั้งพุทธกาลนั้น ฟังธรรมะให้เป็นสมาธิเพื่อรู้ธรรมะ สาวกบางองค์ได้ตรัสรู้ธรรมะในอาสนะที่นั่งนั้นก็มีอยู่มาก <DD> <DD><DD>สถานที่นี้เป็นที่สมควรที่จะทำกรรมฐานมาก อาตมามาพักอยู่ที่นี่คืนสองคืนมาแล้ว รู้ว่าสถานที่นี้เป็นที่สำคัญมาก สถานที่ข้างนอกสงบแล้ว ยังแต่สถานที่ข้างในคือจิตใจของเราเท่านั้น ดังนั้นพวกเรา ทั้งหลายที่มานี้ ขอให้ตั้งใจทุกคน ถึงแม้ว่ามันจะสงบบ้างไม่สงบบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา <DD> <DD><DD>ทำไมเราจึงได้มารวมทำความสงบอยู่ที่นี่ เพราะจิตใจของเรายังไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ คือยังไม่รู้ตาม ความเป็นจริงว่าอะไรมันเป็นอะไร อะไรมันผิด อะไรมันถูก อะไรมันทำความทุกข์ให้เรา อะไรมันทำความสงสัยให้เราอยู่ เราจึงมาทำความสงบกันก่อน เหตุที่เราต้องมาทำความสงบระงับในที่นี้ เพราะว่า จิตใจไม่สบาย จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่ระงับ วุ่นวาย สงสัย จึงนัดมา ณ ที่นี่ เพราะฉะนั้นวันนี้ตั้งใจฟังธรรมะ <DD> <DD><DD>การฟังธรรมะของอาตมานั้นอยากให้ตั้งใจฟังให้ดี อาตมาชอบพูดแรงหน่อยชอบพูดรุนแรงหน่อย เพราะนิสัยเป็นอย่างนี้ แต่จะพูดรุนแรงอย่างไรก็ตามเถอะ อาตมาก็ยังมีความเมตตาอยู่ตลอดกาลตลอดเวลาอยู่นั่นเอง การพูดบางสิ่งบางอย่างนั้นขออภัยด้วยทุกๆ คน เพราะว่าประเพณีเมืองไทยกับชาวตะวันตกนี้มันไม่คล้ายกัน มันคนละอย่าง บางทีมันอาจทำให้ไม่ค่อยสบายใจก็ได้ พูดรุนแรงหน่อยก็ดีนะ มันตื่นเต้น ไม่งั้นมันหลับเฉย ไม่รู้ว่าอะไรมันนอนใจอยู่อย่างนั้น มันนิ่งเฉยอยู่ไม่ลุกขึ้นมาฟังธรรม <DD> <DD><DD>การปฏิบัตินี้ก็มีหลายอย่าง แต่มันก็มีอย่างเดียว เช่นว่าการปลูกต้นไม้ที่ได้รับผลนั้น บางทีก็ได้กินเร็วๆ คือเอาทาบกิ่งมันเลย อันนี้เรียกว่ามันไม่ทนทาน อีกอย่างหนึ่ง เอาเมล็ดมันมาเพาะปลูกจากเมล็ดมันเลย อันนี้มีความแน่นหนาถาวรดีมาก ตามความจริงเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดาทุกคน <DD> <DD><DD>ตัวอาตมาเองก็เป็นอย่างนี้ เมื่อไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรนั้น ก็ไปนั่งทำกรรมฐานลำบากมาก จนร้องไห้ตั้งหลายเวลาหลายครั้งเหมือนกัน บางอย่างมันคิดสูงไป บางอย่างมันคิดต่ำไป ไม่ถึงความพอดีของมัน เพราะว่าการปฏิบัติที่สงบนี้ ไม่สูง แล้วก็ไม่ต่ำ คือความพอดี แล้วก็มาเห็นญาติโยมทั้งหลายที่นี้ มันยุ่งมาก คือต่างคนต่างฝึกมา ต่างคนต่างมีครูบาอาจารย์เหลือเกินแล้ว ก็มารวมทำนี่ เกิดความสงสัยมาก อย่างอาจารย์นั้นต้องทำอย่างนั้น อาจารย์นี้ต้องทำอย่างนี้ ครูนั่นต้องทำอย่างนั้น มานั่งเถียงกันเลยวุ่น ไม่รู้จักว่าจะเอาอันไหน ไม่รู้จักเนื้อจักตัว มันเลยวุ่น มันหลายเกินไป มากเกินไป ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร ให้มันเป็นที่หนึ่งได้ สงสัยตลอดมา <DD> <DD><DD>ฉะนั้น พวกเราอย่าคิดให้มันมาก ถ้าจะคิดให้มันรู้จักอย่างนี้ไม่รู้หรอก ต้องทำจิตเราให้สงบเสียก่อน ที่มันรู้ไม่ต้องคิด ความรู้สึกมันจะเกิดมาในที่นี่เอง มันจึงเป็นปัญญา คิดนั้นไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ตัวปัญญา มันติดเรื่อยไปไม่รู้เรื่อง ยิ่งคิดยิ่งวุ่นวาย <DD> <DD><DD>ฉะนั้น มาถึงที่นี่ก็ต้องพยายามอย่าให้คิด อยู่ในบ้านเราเคยคิดมากๆ แล้วไม่ใช่เหรอ มันกวนใจ ให้รู้อย่างนั้น คิดมากๆ ไปน้ำตามันไหลออกด้วย ละเมอหลงติดไปน่ะ ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ปัญญา พระพุทธองค์ท่านมีปัญญามาก ท่านจึงหยุดคิด อย่างนี้เรามาฝึกก็เพื่อให้มันหยุดคิด นั่งให้สงบ ให้มีความสงบ ถ้าคิดปัญญาไม่เกิด ธรรมะไม่เกิด เกิดแต่สังขารปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ถ้าสงบแล้วไม่ต้องคิด แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นตรงนั้น เมื่อเราคิดอยู่ปัญญาไม่เกิด เมื่อเรามีความสงบแล้ว ความรู้สึกจะเกิดขึ้นมาในความสงบนั้น มีพร้อมกันทั้งความคิด มีพร้อมกันทั้งปัญญา เป็นคู่กันเลย ถ้าจิตใจเราไม่สงบ ปัญญาไม่มี มีแต่จะคิดอย่างเดียวเท่านั้น มันถึงยุ่ง <DD> <DD><DD>การนั่งสงบจิตนี่ ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย บัดนี้เราจะต้องทำจิตอันนี้อย่างเดียว ไม่ปล่อยจิตของเราให้มันพุ่งไปข้างขวาข้างซ้าย ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างบน ข้างล่าง จะทำอะไร จะทำอันนี้ จะทำจิตคืออานาปานสตินี่ กำหนดจากศีรษะลงไปหาปลายเท้า กำหนดปลายเท้าขึ้นมาศีรษะ กำหนดจากศีรษะลงไป ดูด้วยปัญญาของเราอันนี้ เพื่อให้เป็นเหตุ ให้รู้จักร่างกายของเราก่อน แล้วก็นั่งกำหนดว่า บัดนี้ ธุระก็เดินต่อ หน้าที่ของเรานั้นก็คือให้ดูลมหายใจเข้าออก อย่าไปบังคับให้มันสั้น หรือบังคับให้มันยาว ปล่อยตามสบาย ไม่ให้กดดันมัน ให้มีความปล่อยวาง อยู่ในช่วงลมหายใจเข้าออกเสมออย่างนี้ <DD> <DD><DD>การกระทำนี้ให้เข้าใจว่า เป็นการกระทำด้วยการปล่อยวาง แต่มีความรู้สึกอยู่ ให้มีความรู้สึกอยู่ ในการปล่อยวาง ลมหายใจเข้าออกสบาย ไม่ให้กดดัน ปล่อยตามธรรมชาติ ให้มันสบาย ให้คิดว่าธุระหน้าที่อย่างอื่นของเราไม่มี ความคิดที่ว่าการนั่งอย่างนี้มันจะเป็นอะไร แล้วมันจะเห็นอะไรอย่างนี้จะเกิดขึ้นมา ก็ให้หยุด หยุดไม่เอา มันจะเป็นอะไร จะรู้อะไร มันจะเห็นอะไรไหม แม้ความคิดเช่นนี้มันจะเกิดขึ้นมาในเวลานั้นก็ตามที <DD> <DD><DD>เมื่อเรานั่งอยู่นั่น ไม่ต้องรับรู้อารมณ์ เมื่ออารมณ์ที่มากระทบกระทั่งเมื่อไร รู้สึกในจิตของเรา แล้วปล่อยมันไป มันจะดีจะชั่วก็ช่างมัน ในเวลานั้นไม่ใช่ธุระหน้าที่ของเราจะไปจัดแจงในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ปล่อยมันออกไปเสียก่อน แล้วกำหนดลม เอาคืนมาให้มีความรู้สึกแต่ลมอย่างเดียว เข้าออก แล้วให้มันสบาย อย่าให้มันทุกข์เพราะมันสั้น ทุกข์เพราะมันยาว อย่าให้มันทุกข์ ดูลมหายใจ อย่าให้มีความกดดัน คืออย่ายึดมั่น รู้แล้วให้ปล่อยตามสภาวะของมันอย่างนั้นให้ถึงความสงบ ต่อไปจิตมันก็จะวางลมหายใจ มันก็จะเบา เบาไป ผลที่สุดลมหายใจมันจะน้อยไปน้อยไป จนกระทั่งปรากฏว่ามันไม่มีลม ในเวลานั้นจิตมันก็จะเบา กายมันก็จะเบา การเหน็ดเหนื่อยเลิกหมดแล้ว มีเหลือความรู้อันเดียวอยู่อย่างนั้น นั่นเรียกว่าจิตมันเปลี่ยนไปหาความสงบ แล้วนี่พูดถึงการกระทำในเวลาเรานั่งสมาธิอย่างเดียว <DD> <DD><DD>ถ้าหากว่าจิตใจมันวุ่นวายมากก็ตั้งสติขึ้นสูดลมเข้าไปให้มันมากจนไม่มีที่เก็บ แล้วก็ปล่อยมันหมด จนกว่าที่มันไม่มีในนี้แล้วก็หายใจเข้ามาอีก สูดมันให้เต็มแล้วก็ปล่อยไปสามครั้งตั้งจิตใหม่ มีความสงบขึ้น ถ้ามีอารมณ์วุ่นวายอีก ก็ทำอย่างนี้อีกทุกครั้ง จะเดินจงกรมก็ตาม จะนั่งสมาธิก็ตาม ถ้าเดินจงกรมมันวุ่นวายมากก็หยุดนิ่ง กำหนดให้ลงในที่สงบ ตั้งใหม่ให้รู้ จิตจึงจะเกาะ แล้วไปนั่งสมาธิก็เหมือนกันอย่างนั้น เดินจงกรมก็เหมือนกันอย่างนั้น มันต่างกันแต่อิริยาบถนั่งกับอิริยาบทเดินเท่านั้น <DD> <DD><DD>บางทีความสงสัยก็มีบ้าง ต้องให้มีสติ มีผู้รู้ ที่มันวุ่นวายเป็นอย่างๆ ก็ติดตามอยู่เสมอ อาการนี้เรียกว่ามีสติ สติตามดูจิต จิตเป็นผู้รู้ อาการที่ตามดูจิตของเรานั้นอยู่ในลักษณะอันใดก็ให้เรารู้อย่างนั้น อย่าเผลอไป <DD> <DD><DD>อันนี้เป็นเรื่องสติกับจิตควบคุม พอถึงกันแล้วก็จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง ถ้าจิตมันพอที่จะสงบแล้ว จิตที่มันถูกคุมขังอยู่ในที่สงบเหมือนกับเรามีไก่ตัวหนึ่งที่ใส่ไว้ในกรงนั้น ไก่ที่อยู่ในกรงนั้นมันไม่ออกไปจากกรง แต่ว่ามันเดินไปเดินมาได้ในกรงนั้น อาการที่มันเดินไปเดินมานี่ไม่เป็นอะไร เพราะมันเดินไปเดินมาได้ในกรงนั้น ความรู้สึกของจิตที่เรามีสติสงบอยู่นั้น มีความรู้สึกในที่สงบนั้น ไม่ใช่เรื่องที่มันให้เราวุ่นวาย คือเมื่อมันคิด มันรู้สึก ให้มันรู้สึกอยู่ด้วยความสงบ ไม่เป็นอะไร <DD> <DD><DD>บางคนเมื่อมีความรู้สึกขึ้นมา ก็ไม่ให้มันมีความรู้สึกอะไร อย่างนี้ผิดไป ไม่ได้มีความรู้สึกอยู่ในที่สงบ รู้สึกอยู่ด้วยความสงบ รู้สึกอยู่ก็ไม่รำคาญ นี่สงบ อยู่อย่างนี้ไม่เป็นไร ตัวที่มันสำคัญก็คือตัวที่มันออกจากกรงไป เช่นว่า เรามีลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนี้ ลืมไป ลมหายใจไปเที่ยวในบ้าน ไปเที่ยวในตลาด ไปเที่ยวโน้น สารพัดอย่าง บางที ครึ่งชั่วโมงถึงมา อ้าวอะไรตายไม่รู้เรื่อง นี่ตัวสำคัญ ระวังให้ดี ตัวนี้สำคัญ มันออกจากกรงไปแล้วนี่ มันออกจากความสงบแล้วนี่ <DD> <DD><DD>ต้องระวัง ต้องให้มีสติมารู้ ต้องพยายามดึงมันมา ที่ว่าดึงมันมานี่ก็คือไม่ใช่ดึงหรอก มันไม่ไปที่ไหนหรอก คือเปลี่ยนความรู้สึกเท่านั้นเอง ให้มันอยู่ที่นี่ มันก็มีอยู่ที่นี่ มีสติที่นี่เมื่อไหร่ก็มีอยู่ที่นี่ แต่สมมุติว่าดึงมันมา มันไม่ได้ไปที่ไหนหรอก มันเปลี่ยนแปลงอยู่ที่จิตเรานี้ ที่สังเกตว่ามันไปโน่นไปนี่ ความเป็นจริงมันไม่ได้ไป มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตรงนี้ มันมีสติพรึบเข้ามาแล้ว มันก็มาทันที มันไม่มาจากอะไร มันรู้สึกอยู่ที่นี่เอง ให้เข้าใจอย่างนั้น <DD> <DD><DD>อันนี้เรื่องจิต จิตเราที่อยู่มีอะไรเป็นเครื่องหมายไหม คือมีความรู้บริบูรณ์ ติดต่อกันไม่ได้ขาด รู้ตลอดเวลานั้นเรียกว่าจิตของเราอยู่ตรงนี้ ถ้าเราไม่รู้ลมอะไร มันไปที่ไหนนั่นเรียกว่าขาด ถ้าหากว่ารู้เมื่อไหร่ มีลมก็มีจิต มีลม มีความรู้สึกสม่ำเสมอนี้ ตัวเดียวอันนั้นน่ะอยู่กับเราแล้ว อันนี้พูดถึงอาการจิต มันจะต้องเป็นอย่างนี้ <DD> <DD><DD>มันจะต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ สติคือระลึกได้ สัมปชัญญะคือรู้ตัวอยู่ เดี๋ยวนี้รู้ตัวกับอะไร กับลม อยู่อย่างนี้ ทำมีสติ มีสัมปชัญญะปรากฏ ที่มันแบ่งกันอยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าเรารู้ตัวอยู่ มันก็จะเป็นคล้ายๆ กับคนที่ยกไม้ ยกวัตถุที่มันหนักๆ อยู่สองคน มันหนักจนจะทนไม่ไหวอย่างนี้จะมีคนที่มีเมตตา คือปัญญามองเห็น ปัญญาก็วิ่งเข้ามาช่วย นี่อย่างนี้มีสติ มีสัมปชัญญะรู้อยู่แล้วก็ปัญญาเกิดขึ้นมาตรงนี้ ช่วยกันมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญามาช่วยกันอย่างนี้ <DD> <DD><DD>เมื่อมีปัญญาเข้ามาช่วย มันจะรู้จักอารมณ์ เช่น มานั่ง อาการจิตมันมีสติ มีสัมปชัญญะ แล้วก็มีปัญญา อารมณ์ผ่านเข้ามา มันเกิดความรู้สึกคิดถึงเพื่อน “ไม่ใช่” “ช่างมัน” “หยุด” “เลิก” “พรุ่งนี้เราจะไปโรงเรียน” “อือ เลิก ไม่เอา” ตอนนี้ก็คิดถึงคนอื่น “เอ้อ ไม่ใช่” “เออ ไม่เอา” “ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น” ปล่อยมันทั้งนั้น “ไม่เอา อย่ามายุ่งเลย” “ไม่แน่นอน ของไม่แน่นอน” ทำสมาธิอยู่ มันจะเป็นอย่างนั้น “ไม่แน่” “ไม่แน่” ทำสมาธิอยู่มันจะรู้อย่างนี้ ให้เลิกคิด เลิกพูด เลิกสงสัย เลิกหมด อย่าเอามากวนในเวลานั้น ถ้ามันเลิกหมดแล้วมันจะเหลือแต่เพียงสติสัมปชัญญะกับปัญญาล้วนๆ ถ้าหากว่ามันอ่อนเมื่อไร มันก็เกิดความสงสัยขึ้นมา เลิกๆ ๆ ให้เหลือแต่เพียงสติสัมปชัญญะเท่านั้น พยายามให้มีสติที่สุด อย่างนี้ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนตลอดเวลานั่นแหละ แล้วจะได้เห็นตัวสติ เห็นสัมปชัญญะ แล้วก็เห็นปัญญา แล้วก็เห็นตัวสมาธิ เห็นครบไปหมดทุกอย่าง <DD> <DD><DD>เมื่อเราเพ่งเข้าไปตรงนั้น สติเราก็จะเห็นได้ สัมปชัญญะเราก็จะเห็นได้ สมาธิเราก็จะเห็นได้ ปัญญาก็จะเห็นได้ครบในที่นั่นเลย มีอารมณ์จรมาข้างนอก เราจะชอบใจก็ตามเถอะว่า “เออ ไม่แน่” ไม่ชอบใจก็ “อือ ไม่แน่” มันเป็นนิวรณ์ทั้งนั้น สิ่งทั้งหลายให้กวาดให้มันเตียนหมดให้เหลือแต่สติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้สึกตัว สมาธิความตั้งใจมั่น ปัญญารอบรู้ ให้เข้าใจอย่างนี้ อันนี้พูดถึงการกระทำ แล้วจบแค่นี้ก่อนนะ <DD> <DD><DD>ทีนี้จะพูดถึง เครื่องอุปกรณ์ทั้งหลายที่จะช่วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา เราจะต้องเป็นผู้มีจิตใจเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารีที่เรียกว่าเมตตาธรรม ให้เป็นผู้มีเมตตาเป็นคุณธรรม เช่นว่าเรากำจัดตัวโลภะหรือ ตัวเห็นแก่ตัวออก ทางพระท่านว่าการให้ทาน การให้คือทาน คนเราถ้าเห็นแก่ตัวแล้วไม่สบาย เห็นแก่ตัวแล้วไม่ค่อยสบาย แต่คนชอบจะเห็นแก่ตัวหลาย แต่ไม่รู้สึกเจ้าของ (ไม่รู้สึกตัว) <DD> <DD><DD>จะรู้ได้ในเวลาไหน รู้ว่าในเวลาเราหิวอาหาร ถ้าเราได้แอปเปิ้ลมาลูกหนึ่งขนาดนี้ เราจะแบ่งคนอื่น จะแบ่งให้เพื่อนคิดแล้วคิดอีก อยากจะให้เพื่อนก็อยากจะให้ แต่ว่าอยากจะเอาลูกเล็กๆ ให้ จะเอาลูกใหญ่ให้ก็แหมเสียดายเหลือเกิน คิดยากนักหนา เอาไป เอาไปเอาลูกนี้ไป เราก็ให้ลูกเล็ก ให้แอปเปิ้ล ลูกน้อยๆ ไป แต่เอาลูกใหญ่ไว้ นี่ความเห็นแก่ตัว ชนิดนี้อันหนึ่ง แต่คนไม่ค่อยจะเห็น เคยมีไหม เคยเป็นไหม การให้ทานนี่การทรมานจิตนะ มันอยากให้เขาลูกเล็กๆ อุตส่าห์บังคับเอาลูกใหญ่ให้เพื่อน พอให้แล้วเออสบายนะ <DD> <DD><DD>นี่การทรมานจิตอย่างนี้ ต้องบังคับจิตให้มันรู้จักให้ ให้มันรู้จักละ ไม่ให้มันเห็นแก่ตัว เมื่อเราให้คนอื่นเสียแล้ว มันก็สบายหรอก ถ้าเรายังไม่ให้นี่ จะให้ลูกไหนหนอ มันลำบากมากเหลือเกิน กล้าตัดสินใจว่าให้ลูกใหญ่นี่หนา เสียใจนิดหน่อยนะ แต่พอตกลงใจให้เขาแล้ว มันก็แล้วไป นี่เรียกว่าทรมานจิตในทางที่ถูก มันเป็นอย่างนี้ <DD> <DD><DD>ถ้าเราทำให้ได้อย่างนี้เรียกว่าเราชนะตัวเอง ถ้าเราทำไม่ได้อย่างนี้ เรียกว่าเราแพ้ตัวเอง เห็นแก่ตัวเรื่อยไป ก่อนนี้เรามีความเห็นแก่ตัว อันนี้ก็เป็นกิเลสอันหนึ่งเหมือนกัน ต้องขจัดออก ทางพระเรียกว่าการให้ทาน การให้ความสุขแก่คนอื่น อันนี้เป็นเหตุช่วยให้ชำระความสกปรกในใจของเราได้ และต้องให้เป็นคนมีจิตใจอย่างนี้ ให้พิจารณาอย่างนั้น อันนี้ประการหนึ่งที่ควรทำไว้ในใจของเรา<DD> <DD><DD>บางคนอาจจะเห็นว่าอย่างนี้ก็เบียดเบียนตัวเอง นี่ไม่ใช่เบียดเบียนตัว แต่เป็นการเบียดเบียนกิเลสตัณหาต่างหากล่ะ ถ้าในตัวมันมีกิเลสขึ้นมา ให้กิเลสมันหายไป <DD> <DD><DD><DD>กิเลสนี่เหมือนแมว ถ้าให้กินตามใจ มันก็ยิ่งมาเรื่อยๆ แต่มีวันหนึ่งมันข่วนนะ ถ้าเราไม่ให้อาหารมัน ไม่ต้องให้อาหารมัน มันจะมาร้องแงวๆ อยู่เหมือนกันแหละ กิเลสไม่มากวนเรา เราก็จะได้สอบใจ ต่อไปทำให้กิเลสกลัวเรา อย่าทำให้เรากลัวกิเลส ให้กิเลสกลัวเรา นี่พูดให้เห็นในธรรมในปัจจุบัน ในใจของเราอย่างนี้ <DD> <DD><DD>ธรรมะของพระพุทธเจ้าของเราอยู่ที่ไหน อยู่ที่ความรู้ความเห็นในใจของเราอย่างนี้ รู้ได้ทุกคน เห็นได้ทุกคน ไม่ใช่อยู่ในตำรา ไม่ต้องไปเรียนให้มันมาก พิจารณาเดี๋ยวนี้ก็เห็นที่อาตมาพูด ก็เห็นได้ทุกคนเพราะมันอยู่ในใจทุกคน แต่ก่อนนี้เราต้องการเลี้ยงกิเลสไว้ ให้รู้จักกิเลส อย่าให้มันมากวนเรา อันนี้ เป็นอันหนึ่งที่ยังไม่บังเกิด ให้ทำให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ทำให้มากขึ้น ทีนี้ข้อปฏิบัติต่อไปคือการรักษาศีล ศีลนี้จะดูแลธรรมะเจริญขึ้นเหมือนพ่อแม่กับลูก การรักษาศีลคือการเว้นการเบียดเบียน และทำการเกื้อกูลช่วยเหลือ อย่างต่ำนี้ให้มี ๕ ข้อคือ <DD> <DD><DD>ข้อ ๑ ให้เมตตาสัตว์และมนุษย์ทั้งหมด ไม่ให้ทำร้ายเบียดเบียน ตลอดถึงการฆ่า <DD> <DD><DD>ข้อ ๒ ให้มีความสุจริต อย่าไปข้ามสิทธิ์ของกันและกัน พูดง่ายๆ ก็คือไม่ให้ขโมยของกันนั่นเอง <DD><DD>ข้อ ๓ ให้รู้จักประมาณในกามบริโภค อยู่ในฆราวาสวิสัยก็ต้องมีครอบครัว มีพ่อบ้านแม่บ้าน แต่ถ้ารู้จัประมาณก็ปฏิบัติธรรมะได้ ให้รู้จักพ่อบ้านของเรา รู้จักแม่บ้านของเราเท่านั้น ให้รู้จักประมาณ อย่าทำเกินประมาณ ให้มีขอบเขต แต่โดยมากคนจะไม่มีขอบเขตเสียด้วยนะ บางทีมีพ่อบ้านคนเดียวก็ไม่พอ มีสองคนบ้าง บางทีมีแม่บ้านคนเดียวก็ไม่พอ ต้องมีสามด้วยอย่างนี้ก็มี อาตมาว่าคนเดียวก็กินไม่หมดแล้ว จะมีไปสองคนสามคนนี่ มันเรื่องสกปรกทั้งนั้นนี่ อย่างนี้ต้องพยายามชำระ พยายามฝึกใจ ให้มันรู้จักประมาณ ความรู้จักประมาณนี้ มันบริสุทธิ์ดี ที่ไม่รู้จักประมาณนี่ มันไม่มีขอบเขต ถึงได้อาหารเอร็ดอร่อยอย่างนี้ อย่าไปนึกถึงความเอร็ดอร่อยมันมาก ให้รู้จักท้องของเรา ให้รู้จักประมาณ ถ้าเรากินมากก็ลำบากเหมือนกัน ให้รู้จักประมาณความรู้จักประมาณนี่ดีที่สุด ให้มีแม่บ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีพ่อบ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีสองมีสามเกินขอบเขตแล้ววุ่นวาย <DD> <DD><DD>ข้อ ๔ คือความซื่อสัตย์ นี้ก็เป็นเครื่องกำกับกิเลสเราเหมือนกัน เป็นคนตรงมีสัจจะ เป็นคนซื่อสัตย์ <DD> <DD><DD>ข้อ ๕ เป็นคนที่ไม่ดื่มสุราน้ำเมา อย่างนี้ก็ให้รู้จักประมาณ ให้เลิกเสียก็ดี คนเราเมามัวก็มากแล้ว เมาลูกเมาหลาน เมาทรัพย์สมบัติหลายอย่าง มันก็พอแล้ว ยิ่งเอาเหล้ามากินเข้าไปอีก มันก็มืดเท่านั้นแหละ อันนี้บริษัททั้งหลายไม่รู้ ดูตัวเราเอง ถ้าหากว่ามันมาก ใครมีมากก็พยายามค่อยๆ ปัดเป่ามัน ออกไป ปัดเป่ามันออกไปให้หมด</DD>


    <DD><DD><DD>ที่มา http://se-ed.net/pratongtum/tesana/acha/samathi01.html

    </DD>
     

แชร์หน้านี้

Loading...