สติ อนุสสติ ญาณ ปัญญา (สมเด็จพระญาณสังวร)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย lucent, 14 ตุลาคม 2010.

  1. lucent

    lucent Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    33
    ค่าพลัง:
    +41
    สติ อนุสสติ ญาณ ปัญญา
    สมเด็จพระญาณสังวร
    สมเด็จพระสังฆราช
    สกลมหาสังฆปริณายก


    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิตในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟังเพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
    อันปัญญานั้นคู่กันกับคำว่าสติตามที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงเอาไว้ในที่บางแห่งฉะนั้น จึงควรศึกษาทำความเข้าใจในคำว่าสติและคำว่าปัญญาสตินั้นคือความระลึกได้ ปัญญานั้นคือความรู้ทั่วถึงสติได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนเอาไว้ให้ระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้อันนับว่าเป็นสติคือความระลึกได้ทั่วไป
    และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนเอาไว้ให้ระลึกกำหนดในกายเวทนาจิตธรรม อันเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔กับได้ตรัสสอนให้ระลึกถึงพระพุทธะ พระธรรม พระสงฆ์อันเรียกว่าพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติเป็นต้น
    ซึ่งใช้คำว่าอนุสสติแปลว่าระลึกตามไป หรือว่าตามระลึกสติเหล่านี้นับเข้าในคำว่าสัมมาสติระลึกชอบและเมื่อตรงกันข้าม คือระลึกไปในทางผิดต่างๆ ก็เรียกว่ามิจฉาสติระลึกผิดเพราะว่าแม้ในทางที่ผิดต่างๆ นั้นก็ระลึกไปได้เหมือนกันแต่ว่าเป็นมิจฉาสติระลึกผิด


    สติ สัมปชัญญะ


    สตินี้ยังมีธรรมะที่คู่กันโดยตรงก็คือสัมปชัญญะที่ท่านแปลว่าความรู้ตัวสติและสัมปชัญญะนี้เมื่อมาคู่กัน สติก็คือความระลึกได้สัมปชัญญะก็คือความรู้ตัวเมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะทำให้เข้าใจว่าทั้งสองนี้ต้องมีประกอบกันอยู่ในการปฏิบัติทุกขณะทุกอย่างคือจะต้องมีทั้งระลึกคือตัวกำหนด จะต้องมีทั้งความรู้ตัวคือจะต้องมีทั้งระลึกทั้งรู้เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็นสติที่สมบูรณ์และจึงจะเป็นสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ถ้าขาดระลึกก็ย่อมจะไม่รู้ ต้องระลึกจึงจะรู้และรู้ที่มาคู่กันกับระลึกนี้ ก็เป็นรู้ที่เป็นสัมปชัญญะอีกอย่างหนึ่งถ้าขาดรู้ก็เป็นระลึกไม่ได้ต้องมีรู้จึงจะเป็นระลึกได้ฉะนั้นก็เป็นอันว่าสติและสัมปชัญญะในทางปฏิบัติต้องมีอยู่ด้วยกันแม้ว่าจะแยกเรียกกันว่าสติคำเดียว ก็ต้องหมายถึงสัมปชัญญะด้วยจะเรียกแยกกันว่าสัมปชัญญะคำเดียวก็ต้องหมายถึงสติด้วย
    ยกตัวอย่างเช่นลมหายใจเข้าลมหายใจออกซึ่งทุกคนก็หายใจกันอยู่ทุกเวลาแต่ว่าเมื่อไม่ระลึกถึงก็ไม่รู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออกแต่เมื่อระลึกถึงคือกำหนดอยู่ที่ลมหายใจก็ย่อมรู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออกอาการที่กำหนดนี่แหละคือสติและอาการที่รู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก นี่คือสัมปชัญญะคือรู้ตัวฉะนั้น เมื่อกำหนดอยู่ที่ตัวก็รู้ตัว
    เป็นอันว่าจะเป็นสติเป็นสัมปชัญญะขึ้นมาได้นั้นต้องกำหนดอยู่ที่ตัวไม่ทิ้งตัวและเมื่อกำหนดก็เป็นสติ รู้ตัวก็เป็นสัมปชัญญะแม้ในอิริยาบถยืนเดินนั่งนอนต่างๆ ก็เช่นเดียวกันเมื่อสติกำหนดอยู่ที่อิริยาบถก็ย่อมจะรู้ตัวว่าเรากำลังเดิน เรากำลังยืน เรากำลังนั่งเรากำลังนอน ดั่งนี้เป็นต้น
    สติกำหนดอยู่ที่ตัวให้รู้ตัวนี้เป็นสติที่สมบูรณ์คือมีความหมายเต็มของคำว่าสติและแม้ว่าจะแยกเรียกจำเพาะสัมปชัญญะ อย่างในสัมปชัญญะปัพพะก้าวไปข้างหน้าก็รู้ว่าเราก้าวไปข้างหน้าถอยไปข้างหลังก็รู้ว่าเราถอยไปข้างหลังเป็นต้นที่ท่านเรียกว่าเป็นสัมปชัญญะปัพพะ ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะแต่ก็จะต้องมีสติกำหนดอยู่ที่อิริยาบถจึงจะมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอยู่ในอิริยาบถแม้ในข้ออื่นก็เหมือนกัน ก็จะต้องมีทั้งสองนี้คู่กันไปดั่งที่กล่าวมานั้น


    สติต่างจากสัญญา


    และคำว่าสตินี้ก็ต่างจากคำว่าสัญญาแม้ว่าสติคือความระลึกได้จะมีความหมายว่าจำได้ระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ก็คือจำการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้สัญญานั้น สัญญาในขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นความจำได้หมายรู้แต่ว่าเป็นความจำได้หมายรู้ที่เป็นเรื่องของขันธ์
    ส่วนสตินั้นเป็นความจำที่เป็นธรรมปฏิบัติซึ่งจะทำให้ระลึกได้มากยิ่งไปกว่าสัญญาคือความจำที่เป็นขันธ์นี้มากมายนักดังที่แสดงไว้ในพระญาณของพระพุทธเจ้าอันบังเกิดขึ้นในราตรีที่ตรัสรู้ว่าในปฐมยามทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณความหยั่งรู้ที่เป็นเหตุให้ทรงได้อนุสสติคือตามระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ดังที่เรียกว่าระลึกชาติหนหลังได้
    ในมัชฌิมยามทรงได้จุตูปปาตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ในความจุติคือความเคลื่อน และความอุปบัติคือความเข้าถึงภพชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรมในปัจฉิมยามทรงได้อาสวักขยญาณญาณอันเป็นเหตุสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ดั่งนี้เพราะฉะนั้นอนุสสติคือความระลึกตามที่ทรงได้ในปฐมยามแห่งราตรีนั้นอันเรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณจึงเป็นสติคือความระลึกได้ที่ยาวไกล และเป็นอย่างยิ่งมากว่าสัญญาคือความกำหนดหมายหรือความจำได้หมายรู้อันเป็นเรื่องของขันธ์ทั่วๆ ไป
    สัญญาคือความจำได้หมายรู้อันเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ นั้นก็เป็นเรื่องของกายใจซึ่งเป็นตัววิบากขันธ์ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมะหรือไม่ปฏิบัติธรรมะก็ย่อมจะมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณมาตั้งแต่เกิดด้วยกันอาจจะมีแตกต่างกันไปบ้าง เช่นมีสัญญาดี มีสัญญาไม่ดีก็เช่นเดียวกับร่างกายที่เป็นส่วนรูป ก็มีแข็งแรง ไม่แข็งแรงแต่ว่าก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับเหมือนอย่างรูปขันธ์คือกองรูปและก็มีกองรูปเป็นส่วนสำคัญอยู่ด้วย
    ดังจะพึงเห็นได้ว่าในเมื่อรูปขันธ์คือกองรูปเจริญเช่นกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว สัญญาคือความจำก็ว่องไวจำอะไรได้ง่ายแต่เมื่อรูปขันธ์ไม่แข็งแรงแม้จะอยู่ในวัยหนุ่มสาวก็ตามหรือว่าเป็นโรคบางอย่างเกี่ยวแก่ร่างกายบางส่วนอันสัมพันธ์กับสัญญาความจำก็ทำให้สัญญาคือความจำนั้นไม่ดีเช่นกระทบกระเทือนที่ศรีษะมากเพราะอุบัติเหตุบางอย่างก็ทำให้สัญญาคือความจำนั้นไม่ดี ต้องลืมไปหมดในบางครั้งบางคราวดั่งนี้ก็มีและเมื่ออายุมากเข้าๆ สัญญาคือความจำก็เสื่อมลงไปมักจะจำได้แต่เรื่องเก่าๆ ที่เคยจำไว้ได้ตั้งแต่เมื่อยังเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายยังแข็งแรง
    แต่ว่าเรื่องใหม่ๆ ไม่จำ คนแก่ก็มักจะเป็นดั่งนั้นสัญญาจึงเกี่ยวแก่รูปขันธ์หรือร่างกายส่วนนามธรรมอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันมักจะเกี่ยวเนื่องอยู่กับรูปขันธ์คือร่างกายก็เป็นอันว่าต้องประกอบกันอยู่ดั่งนี้ เป็นส่วนของขันธ์


    สติระลึกชาติ


    แต่ว่าสติคือความระลึกได้ซึ่งเป็นความจำนี้เป็นธรรมะปฏิบัติที่เมื่อปฏิบัติทำสติอยู่เสมอแล้วก็จะทำให้สติคือความระลึกได้นี้ดีและไม่เกี่ยวแก่อายุมากอายุน้อยเมื่อปฏิบัติทำสติอยู่ อายุมากขึ้นสติคือความระลึกได้ก็ยังคงดีแต่ก็ต้องอาศัยร่างกายอีกเหมือนกัน ถ้าร่างกายพิกลพิการไปมากก็จะทำให้ความระลึกที่เป็นตัวสตินี้ปรากฏยากหรือหยุดชงักไปได้อีกเหมือนกันแต่ถ้าเป็นไปตามธรรมดาสามัญแล้ว แม้อายุมากเมื่อหัดปฏิบัติทำสติอยู่เสมอสติคือความระลึกได้ก็จะยังคงดี
    และความระลึกได้ซึ่งเป็นตัวสตินี้เมื่ออาศัยการปฏิบัติทำสมาธิให้ดีขึ้นด้วยคือเมื่อจิตได้สมาธิที่ดียิ่งขึ้นๆ จนถึงขั้นอัปปนาสมาธิสมาธิที่แนบแน่นย่อมจะทำให้สติคือความระลึกได้นี้หากว่าเมื่อน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเป็นอนุสสติคือระลึกตามหรือตามระลึก ก็ย่อมจะนึกขึ้นมาได้ถึงอดีตในภพชาตินี้ตลอดจนถึงข้ามภพชาติดังที่บังเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนจะตรัสรู้หรือเมื่อใกล้ที่จะตรัสรู้เป็นปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นอนุสสติคือตามระลึกได้จนถึงข้ามภพข้ามชาติไปในอดีตเป็นอันมากตลอดจนถึงรายละเอียดต่างๆ ของชาตินั้นๆ ตามกำลังของสติที่จะระลึกได้มากหรือน้อยเพียงใด
    ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ก็ยังต้องเกิดอีกเมื่อสิ้นกิเลสก็ไม่ต้องเกิดขณะเมื่อมีกิเลสยังไปเกิดอีกนั้น ก็มักจะเรียกกันว่าวิญญาณไปเกิดบ้าง จิตไปเกิดบ้าง
    แต่ว่าตามพระพุทธภาษิตโดยตรงนั้นสำหรับในปฐมญาณที่ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้นในพระบาลีใช้คำว่าเราเราก็หมายถึงองค์พระพุทธเจ้าเองเมื่อก่อนจะตรัสรู้นั้นว่าเราคือพระองค์( เริ่ม ๓๔/๑ ) ทรงระลึกชาติในหนหลังได้ว่าเราคือพระองค์เข้าถึงชาตินี้เคลื่อนจากชาตินี้แล้วก็ไปเข้าถึงชาตินั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้วก็เข้าไปถึงชาติโน้นมาโดยลำดับจนถึงในชาติปัจจุบัน ดั่งนี้ฉะนั้นคำว่าเราคือพระองค์ที่ตรัสถึงนี้จึงเป็นผู้ที่ถือชาติภพต่างๆ มาโดยลำดับแล้วก็เป็นเราคือพระองค์ซึ่งเป็น ..เรียกว่าคนเดียวกันไม่ใช่ต่างคนกัน
    จึงมีปัญหาว่าเราคือพระองค์ที่ตรัสถึงนี้ได้แก่อะไรสิ่งที่ตรัสถึงนี้ต้องไม่ใช่ขันธ์ ๕ เป็นอย่างแน่นอน เพราะว่าขันธ์๕ นั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดสิ่งที่ดับคือไม่ใช่รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณซึ่งเป็นขันธ์ ๕อันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับต้องแตกต้องสลาย ต้องมีชาติคือความเกิด ต้องมีมรณะคือความตายฉะนั้น เราที่ตรัสถึงนี้จึงไม่ใช่ขันธ์ ๕
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 ตุลาคม 2010
  2. lucent

    lucent Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    33
    ค่าพลัง:
    +41
    สัตตะ สัตวะ


    แต่เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นอะไร ก็ไปจับพิจารณาดูในพระญาณที่ ๒คือจุตูปปาตญาณหยั่งรู้ถึงจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรมสัตว์เหล่าใดที่กระทำกรรมชั่วไว้กายแตกทำลายก็เข้าถึงทุคติคือคติที่ชั่วสัตว์เหล่าใดที่ประกอบกรรมที่ดีไว้กายแตกทำลายไปก็เข้าถึงสุคติคือคติที่ดี ดั่งนี้เพราะฉะนั้น คำว่าเราที่ตรัสถึงในพระญาณที่ ๑ มาถึงพระญาณที่ ๒ก็ทรงใช้คำว่าสัตว์ที่แปลว่าผู้ข้อง คือผู้ที่ยังข้องติดอยู่ยังมีตัณหามีอุปาทานอยู่ผู้ที่ยังข้องยังมีตัณหาอุปาทานอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นสัตว์สัตตะหรือสัตวะในคำว่าสัตวโลกคำว่าสัตว์นี้บางทีมาใช้เรียกสัตว์เดรัจฉานเป็นเดรัจฉานจึงเรียกว่าสัตว์ถ้ามิใช่เดรัจฉานก็ไม่เรียกว่าสัตว์ เช่นเรียกว่าบุคคล


    โพธิสัตว์ มหาสัตว์


    แต่ว่าตามภาษาธรรมะนั้น คำว่าสัตว์หรือสัตวะนั้นครอบหมดเมื่อยังมีตัณหาอุปาทาน ยังมีกิเลสอยู่ก็เรียกว่าสัตวะหรือสัตตะทั้งนั้นและสัตวะหรือสัตตะนี้เมื่อเป็นผู้มุ่งความตรัสรู้ปฏิบัติเพื่อความตรัสรู้และได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งมาว่าผู้นี้จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปข้างหน้าและก็ได้ปฏิบัติอยู่ในพุทธการกธรรมคือธรรมที่จะกระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า อันได้แก่บารมีทั้ง ๑๐ก็เรียกว่าโพธิสัตว์ยังเป็นผู้ข้องผู้ติด ยังมีตัณหาอุปาทานแต่ว่าก็ได้ปฏิบัติในพุทธการกธรรมมุ่งพระโพธิญาณหรือเรียกว่ามหาสัตว์ที่แปลว่าเป็นสัตว์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่หมายในทางดีก็คือพระโพธิสัตว์นั้นเอง
    เพราะฉะนั้นในทางธรรมคำว่าสัตวะหรือสัตว์นั้นจึงมีความหมายทั่วไปไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์นรก จกเปรตอสุรกายไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นมาร เป็นพรหมเมื่อยังมีกิเลสเป็นเหตุให้ข้องติดเป็นต้นว่ามีตัณหามีอุปาทานอยู่ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น เป็นสัตวะโลกทั้งนั้น


    อะไรเป็นสัตวะ


    เพราะฉะนั้น ตามพระบาลีที่ตรัสเอาไว้ ก็พบสองคำนี้เท่านั้นในพระญาณที่ ๑ ก็ทรงใช้เรียกพระองค์เองว่าเราเคลื่อนจากชาตินี้ไปสู่ชาตินั้น ดั่งนี้เป็นต้นมาถึงพระญาณที่ ๒ ก็ทรงใช้คำว่าสัตวะหรือสัตว์ทุกๆ คนเมื่อยังมีกิเลสมีตัณหามีอุปาทานอยู่ก็เรียกว่าสัตวะหรือสัตตะทั้งนั้นอะไรเป็นสัตวะหรือสัตตะนั้นทุกคนก็มีอยู่ด้วยกันแล้วเพราะฉะนั้น จะสมมติเรียกกันว่าจิต เรียกว่าวิญญาณหรืออะไรก็ตามหรือเรียกว่าอัตตาตัวตนอะไรก็ตามแต่ก็ต้องหมายถึงสภาพอันหนึ่งในทุกๆ คนนี้
    เมื่อขันธ์ ๕ นี้แตกสลายไป แต่ว่าสภาพอันนั้นไม่แตกสลายยังไปถือภพถือชาติต่อไปแล้วก็เป็นบุคคลเดียวกันนี่แหละ ไม่ใช่ต่างกันออกไปเพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสามารถบำเพ็ญพระบารมีสืบต่อกันได้
    คราวนี้สภาพดังกล่าวนี้เองที่ผ่านภพชาติมาเป็นอันมากนั้นและก็ได้บำเพ็ญบุญบ้าง บาปบ้างบุญบาปที่บำเพ็ญไว้นั้นก็ติดมาพร้อมทั้งกิเลสก็เรียกว่าติดตัวมา สมมติเรียกว่าตัวหรือตนก็ได้เรียกว่าสัตว์ก็ได้ หรืออะไรก็ได้อันเป็นสภาพที่สืบต่อกันมานั้นและเมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็ยังต้องถือชาติถือภพกันต่อมาก็มีกิเลสมีบุญมีบาปอันเป็นตัวกรรมติดมาและเมื่อบำเพ็ญในปัจจุบันจะเป็นบุญก็ตาม เป็นบาปก็ตาม บุญบาปที่บำเพ็ญไว้นั้นก็ไม่หายไปยังอยู่กับผู้ทำซึ่งจะให้ผลต่อไป


    บุญบาปเป็นของๆ ตน


    เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่าเรามีกรรมเป็นของของตน เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่วแต่ว่าสิ่งอื่นนั้นไม่ตรัสว่าเป็นของของตนชีวิตร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เป็นของของตนทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ไม่ใช่เป็นของของตนอะไรก็ไม่ใช่เป็นของของตนทั้งนั้นแต่ว่ากรรมที่กระทำไว้เป็นของของตนและยังตรัสไว้อีกว่าบุคคลผู้จะต้องตายทำบุญด้วยบาปด้วยทั้งสองอันใดไว้ในโลกนี้ก็ย่อมนำเอาบุญบาปที่ทำทั้งสองนั้นไว้ไปอันหมายความว่าเมื่อกายนี้แตกสลาย ก็นำเอาบุญบาปทั้งสองนี้ไปดั่งนี้ก็แปลว่าสภาพที่ยังต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ซึ่งนำเอากิเลสนำเอากรรมที่กระทำไว้ไปและได้รับผลของกรรมที่กระทำไว้นั้นไปโดยลำดับได้ผ่านภพชาติต่างๆ มาเป็นอันมากนับไม่ถ้วนเพราะฉะนั้นสภาพดังกล่าวนี้จึงเป็นที่เก็บสั่งสมทั้งกิเลสและทั้งบุญทั้งบาปเอาไว้ได้จนกว่าจะสิ้นกิเลสไม่เกิดอีกก็เป็นว่าเสร็จสิ้นแต่ในขณะที่ยังไม่สิ้นกิเลสต้องเกิดอีกสภาพดังกล่าวนี้ก็เป็นที่เก็บเป็นที่สั่งสมทั้งกิเลสทั้งบาปทั้งบุญที่ได้กระทำเอาไว้


    สัตตภาวะ


    อันนี้เองที่ทุกคนมีสภาพอันนี้อยู่ด้วยกัน สภาพเป็นเราหรือว่าสัตตะภาวะสภาพเป็นสัตว์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วยกันซึ่งได้ผ่านชาติภพทั้งหลายต่างๆ มาเป็นอันมากนับไม่ถ้วนแต่ว่านึกไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่าไม่มีสติไม่มีสมาธิอย่างสูงที่จะทำให้ระลึกได้และที่จะทำให้ระลึกข้ามภพข้ามชาติไปได้นั้นจะต้องมาถึงตัวปัญญาดังที่กล่าวมาแล้วว่าคู่กับสติ
    เมื่อมีสติ มีสมาธิ ก็ย่อมจะทำให้ได้ปัญญาที่เป็นความรู้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริงแต่ว่าก่อนที่จะเข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริงก็ย่อมจะได้ปัญญาคือตัวความรู้ที่เป็นเหตุให้ได้อนุสสติคือความระลึกถึงอดีตได้เมื่อน้อมใจระลึกถึงไปก็ย่อมจะระลึกถึงในอดีต จนถึงข้ามภพข้ามชาติเป็นระลึกชาติได้แต่ว่าแม้ว่าจะไม่ได้สติไม่ได้สมาธิไม่ได้ปัญญาที่จะทำให้ระลึกข้ามชาติข้ามภพได้ดังนั้นปัญญานั้นก็จะทำให้รู้ทั่วถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริงตั้งต้นแต่ให้รู้ทั่วถึงว่าบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้ทั่วถึงในอริยสัจจ์คือ ทุกข์เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
    และแม้ว่าจะได้สมาธิอย่างสูงยิ่ง ได้สติที่ดียิ่งทำให้ได้ปัญญาอันเรียกว่าญาณคือความหยั่งรู้ญาณคือความหยั่งรู้นี้หมายความว่ารู้หยั่งลงไปเหมือนอย่างหยั่งน้ำทะเลลึกหยั่งลึกลงไป เมื่อมีความสามารถก็หยั่งลึกลงไปได้จนถึงที่สุดของความลึกญาณคือความหยั่งรู้นี้ก็เช่นเดียวกันเป็นตัวปัญญาที่หยั่งรู้ลงไปได้ และอาการที่หยั่งรู้ลงไปได้นี้ก็คือว่าอาการที่ตามระลึกระลึกได้ลึกซึ้งคือไกลออกไปตามอำนาจของญาณคือความหยั่งรู้แต่แม้ว่าจะระลึกหยั่งลงไปได้ลึกซึ้งเช่นสาวไปในอดีตได้ไกลตลอดจนถึงได้ญาณที่ ๒รู้จุติและอุปบัติความเคลื่อนและความเข้าถึงของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรมแต่ก็ยังละกิเลสไม่ได้ แม้ได้ญาณ ๒ ข้อนี้ก็ยังละกิเลสไม่ได้
    เพราะฉะนั้นจึงมีปรากฏมาในอดีตเป็นอันมากว่ามีผู้ปฏิบัติธรรมะเป็นฤาษีชีไพรได้ญาณที่ระลึกชาติได้และได้ญาณที่หยั่งรู้ถึงความจุติอุปบัติของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรม แต่ว่าได้เพียงเท่านั้น ก็ยังละกิเลสไม่ได้เมื่อยังละกิเลสไม่ได้ญาณคือความหยั่งรู้นี้ก็ยังเสื่อมได้
    เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่บังเกิดขึ้นในโลกแม้ว่าจะมีผู้ได้ญาณทั้ง ๒ข้างต้นกันมาแล้วในอดีตก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นก็ตามแต่ไม่ได้ญาณที่ ๓ คืออาสวักขยญาณความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะพระพุทธเจ้านั้นได้ทรงได้จนถึงพระญาณที่ ๓เพราะไม่ทรงติดอยู่ในญาณสองข้างต้นว่าพอแล้ว เก่งแล้ว สามารถแล้ว แต่ว่าทรงพิจารณายิ่งขึ้นต่อไปทรงแสวงหาต่อไปญาณที่ระลึกชาติได้อันเป็นพระญาณที่ ๑ นั้นก็ทำให้รู้ว่าต้องเวียนว่ายตายเกิดมานานนักหนาญาณที่ ๒ ก็ทำให้รู้ว่าเวียนว่ายตายเกิดไปตามกรรมกรรมดีก็เวียนว่ายตายเกิดไปในทางดีทรงเห็นทุกข์ว่าความเวียนว่ายตายเกิดทั้งปวงนั้นเป็นตัวทุกข์ทั้งนั้นเห็นเหตุเกิดทุกข์ก็คือเห็นสมุทัย ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากความยึดถืออันสืบเนื่องมาจากอวิชชา
    ทรงเห็นความดับทุกข์ก็คือดับตัณหาเสียได้เห็นมรรคทางปฏิบัติก็คือมรรคมีองค์ ๘ทรงเห็นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานเหตุเกิดอาสวะก็คือตัณหาเป็นต้นนั้นนั่นแหละความดับอาสวะก็คือดับตัณหาเสียได้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะก็คือมรรคมีองค์ ๘กิเลสจึงสิ้นไป เมื่อกิเลสวัฏฏะเวียนวนคือกิเลสสิ้นไปกรรมวัฏฏะวนคือกรรมก็สิ้นไปวิบากวัฏฏะผลคือความเกิดต่อไปก็สิ้นไปจึงทรงเป็นพุทโธผู้ตรัสรู้สิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวงเป็นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกเพราะฉะนั้นปัญญาพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้นี้จึงเป็นปัญญายอดที่สุดที่ผู้มีปัญญาทั้งหลายจะพึงได้พึงถึงไม่มีที่จะยิ่งไปกว่าปัญญาที่เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณนี้บังเกิดขึ้นจากพระโพธิสัตว์ซึ่งได้ทรงปฏิบัติมาจนทรงพบทางและได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
    ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



    http://dharmatruth.fix.gs/index.php?topic=183.0
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 ตุลาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...