สติปัฏฐาน - ภาคปฏิบัติ / การกำหนดจิต / วิปัสสนา

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย satan, 25 เมษายน 2008.

  1. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    สติปัฏฐาน - ภาคปฏิบัติ
    พระภาวนาวิสุทธิคุณ
    ๔ พ.ค. ๓๒
    การบำเพ็ญจิตภาวนาตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้าของเรานี้ วิธีปฏิบัติเบื้องต้นต้องยึดแนวหลักสติเป็นตัวสำคัญ
    สติปัฏฐาน ๔ มีอยู่ ๔ ข้อ สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมใหม่ จงท่องความหมายนี้ไว้ก่อน

    ข้อที่ ๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลตามศัพท์ว่า พิจารณากายในกาย นี้สักแต่ว่ากาย ไม่มีตัวตนบุคคลเราเขา แต่โดยวิธีปฏิบัติแล้ว ให้เอาสติ เอาจิตเพ่งดูกาย ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา จะคู้แขนเหยียดขาต้องติดตามดู คือใช้สตินี่เอง ดูร่างกายสังขารของเรา อันนี้เรารู้ไว้เป็นเบื้องต้นก่อนสำหรับข้อหนึ่ง

    ข้อที่ ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาเป็นสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ บัญชาการไม่ได้ ต้องเป็นตามสภาพนี้ และเป็นไปตามธรรมชาติเหล่านี้ เวทนามีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา

    ทั้งสามประการนี้ จุดมุ่งหมายก็ต้องการจะให้สติไปพิจารณาเวทนานั้น ๆ เช่น ฝ่ายสุขก็มีทั้งสุขกาย สุขใจ อันนี้เรียกว่า สุขเวทนา แล้วก็ทุกข์กายทุกข์ใจ หรือจะว่าทุกข์ทางด้านกายและใจก็ได้ เรียกว่า ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ก็คือไม่สุขไม่ทุกข์ จิตใจมักจะเลื่อนลอยหาที่เกาะไม่ได้ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา

    วิธีปฏิบัติต้องใช้สติกำหนด คือตั้งสติระลึกไว้ ดีใจก็ให้กำหนด กำหนดอย่างไรหรือ กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ จากจมูกถึงสะดือให้ได้ หายใจขึ้นลงยาว ๆ กำหนดว่า ดีใจหนอ ดีใจหนอ

    ทำไมต้องปฏิบัติ เช่นนี้เล่า เพราะความดีใจและสุขกายสุขใจนั้น เดี๋ยวก็ทุกข์อีก สุขเจือปนด้วยความทุกข์อย่างนี้เพื่อความไม่ประมาทในชีวิตของเรา จะต้องรู้ล่วงหน้า รู้ปัจจุบันด้วยการกำหนด จึงต้องกำหนดที่ลิ้นปี่ บางคนบอก กำหนดที่หัวใจ ถูกที่ไหน หัวใจอยู่ที่ไหนประการใด อันนี้ผู้ปฏิบัติยังไม่ต้องรับรู้วิชาการ ทิ้งให้หมด ปฏิบัติตรงนี้ให้ได้ ลิ้นปี่เป็นขั้วแบตเตอรี่ชาร์ทไฟฟ้าเข้าหม้อ ทุกคนไปแปรธาตุการปฏิบัตินี้ไม่ใช่การวิจัย ไม่ใช่ประเมินผล แต่เป็นการให้ผุดขึ้นมาเองโดยปกติธรรมดานี่แหละ ให้มันใสสะอาด รู้จริงรู้จัง รู้ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิ ให้รู้ขึ้นมาเอง

    คำว่ารู้เองนี้ทำยาก รู้วิชาการทำง่าย อ่านหนังสือท่องได้ก็ได้ แต่รู้เองให้ใสสะอาดขึ้นมารู้ยาก ทำไมจะรู้ได้ง่ายต้องปฏิบัติขึ้นมา ดีใจ เสียใจ มีความสุขกายสุขใจ อย่าประมาทเลินเล่อนัก เราต้องตั้งสติทุกอิริยาบถตามกำหนด

    การกำหนดจิตนี้หมายความว่า ให้ตั้งสติ เป็นวิธีปฏิบัติ สัมปชัญญะมีความรู้ตัวอยู่ตลอดปัจจุบัน อย่างนี้เป็นต้น อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอา ให้เอาปัจจุบันที่มันเกิดขึ้น ให้ปฏิบัติอย่างนี้ โดยข้อปฏิบัติง่าย ๆ
    ถ้าเสียใจ มีความทุกข์ใจ มันอยู่ในข้อนี้ จึงต้องกำหนดที่ลิ้นปี่ เสียใจหนอ ๆ หายใจลึก ๆ ยาว ๆ เสียใจเรื่องอะไร เป็นการป้อนข้อมูลไว้ให้ถูกต้อง

    สตินี่ระลึกได้ หมายถึงตัวแจงงาน หาเหตุที่มาของทุกข์ ตัวสัมปชัญญะเป็นตัวบอกให้รู้ ให้มีความเข้าใจเรียกว่า ปัญญา รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันนั่นเอง คนเรานี่จึงต้องกำหนดที่เวทนานี้

    ปวดเมื่อยเป็นเวทนาทางกาย แต่จิตไปเกาะ อุปาทานยึดมั่น ก็ปวดใจไปด้วย เช่นเราเสียใจ ร่างกายไม่ดี สุขภาพไม่ดี เป็นโรคภัยไข้เจ็บ จิตมันก็เกาะที่เจ็บนั้น จึงต้องให้กำหนดด้วยความไม่ประมาท เป็นวิธีฝึกปฏิบัติก็กำหนดเวทนานั้น

    ปวดหัวเข่าที่ไหนก็ตามต้องตามกำหนด กำหนดเป็นตัวปฏิบัติเป็นตัวระลึก เอาจิตไปสู่จุดนั้น เป็นอุปาทานยึดมั่นก่อน เพราะเราจะก้าวขึ้นบันไดก็ต้องเกาะยึด เราจะก้าวต่อไปก็ต้องปล่อย นี่อุปาทาน ถ้าใหม่ ๆ นี้เรียกว่า สมถะ สมถะยึดก่อนแล้วปล่อยไปก็เป็นวิปัสสนา เป็นต้น เราจะทราบความจริงถึงจะเป็นวิปัสสนาขึ้นมาต่อภายหลัง

    เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจอย่างนี้ ต้องกำหนด ส่วนใหญ่ไม่กำหนดกัน จึงไม่รู้เรื่องรู้ราวอย่างนี้เป็นต้น มีความสุขทางไหนก็ตาม เดี๋ยวจะทุกข์อีก นี่มันแก้ไม่ได้เพราะอย่างนี้

    เกิดที่ไหนต้องแก้ที่นั่น ไม่ใช่ไปแก้กันที่อื่น หาเหตุที่มาของมัน คือ สติ สติเป็นตัวกำหนด เป็นตัวหาเหตุ เป็นตัวแจงเบี้ย บอกให้รู้ถึงเหตุผล ตัวสัมปชัญญะรู้ทั่วรู้นอก รู้ใน นั่นแหละคือตัวปัญญา ความรู้มันเกิดขึ้น

    ตัวสมาธิ หมายความว่า จับจุดนั้นให้ได้ เช่น เวทนา ปวดเมื่อย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติมาก จึงต้องให้กำหนด ไม่ใช่ว่ากำหนดแล้วมันจะหายปวดก็หามิได้ ต้องการจะใช้สติไปควบคุมดูจิตที่มันปวด

    เพราะปวดนี่เราคอยยึดมัน จิตก็ไปปวดด้วย เลยก็กลับกลายให้เกิดทุกข์ใจขึ้นมา เพราะอุปาทานไปยึดขึ้นมาอย่างนี้เป็นต้น จุดมุ่งหมายก็ต้องการให้เอาสติไปดู ไปควบคุมจิตว่ามันปวดมากแค่ไหนประการใด

    อุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ใจก็ลอยหาที่เกาะไม่ได้ ใจลอยเหม่อมองไปแล้ว เห็นคนเป็นสองคนไป จึงต้องกำหนดเวทนา กำหนดที่ไหน กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ ลึก ๆ สบาย ๆ แล้วก็ตั้งสติระลึกก่อน กำหนดรู้หนอ ๆๆๆ

    ถ้าเราสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมาได้ครบ ป้อนข้อมูลเข้าไป รู้หนอ ๆ เดี๋ยวสติรวมยึดมั่นในจิต จิตก็แจ่มใส ความทุกข์นั้นก็จะหายไป

    อุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ส่วนใหญ่จะประมาทพลาดพลั้ง จึงต้องกำหนดทุกอิริยาบถดังที่กล่าวนี้

    ข้อที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องท่องให้ได้ ทำไมเรียก จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฐานของจิตต้องยึดในฐานทัพนี้ จิตเป็นธรรมชาติที่คิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เหมือนเทปบันทึกเสียง จิตเกิดที่ไหน ผู้พัฒนาจิตต้องรู้ที่เกิดของจิตอีกด้วย

    จิตเกิดทางอายตนะ ธาตุอินทรีย์นี่เอง จะพูดเป็นภาษาไทยให้ชัด ตาเห็นรูปเกิดจิตที่ตา หูได้ยินเสียงเกิดจิตที่หู จมูกได้กลิ่นเกิดจิตที่จมูก ลิ้นรับรสเกิดจิตที่ลิ้น กายสัมผัสร้อนหรือหนาว อ่อนหรือแข็งที่นั่งลงไป เกิดจิตทางกาย เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    วิธีปฏิบัติทำอย่างไร ให้ทำอย่างนี้ ที่มาของจิตรู้แล้วเกิดทางตา ตาเห็น เห็นอะไรก็ตั้งสติไว้ จับจุดไว้ที่หน้าผาก อุณาโลมา..... กดปุ่มให้ถูก เหมือนเรากดเครื่องคิดเลข บวกลบคูณหารมีครบ กดปุ่มให้ถูกแล้วผลลัพธ์จะตีออกมาอย่างนี้

    เห็นหนอ ๆ เห็นอะไร เห็นรูป รูปอยู่ที่ไหน สภาวะรูปนั้นเป็นอย่างไร สภาพผันแปรกลับกลอกหลอกลวงได้ เยื้องย้ายได้ทุกประการ เรียกว่า รูป เป็นเรื่องสมมติ และเป็นเรื่องทำลายได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวนดับไป คือรูป ต้องกำหนด นักปฏิบัติอย่าทิ้งข้อนี้ไม่ได้

    ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธรรมชาติของจิตเกิดที่ตา เกิดแล้วกำหนด ไม่ใช่ว่าเราแส่ไปหากำหนดข้างนอก ตาเห็นอะไรก็กำหนดว่า เห็นหนอ ทำไมต้องกำหนดด้วย เพราะจิตมันเกิด ตาสัมผัสกับรูปเกิดจิต ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เห็นของเหล่านั้น เรายังไม่มีปัญญา

    เราชอบไหม ชอบเป็นโลภะ ไม่ชอบเป็นโทสะ เราไม่ใช้สติเลยกลายเป็นคนโมหะ รู้ไม่จริงรู้แค่ตาเนื้อ ไม่รู้ตาใน ดูด้วยปัญญาไม่ได้ เลยดูด้วยโมหะ คนเราจึงได้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปดังที่กล่าวแล้ว ต้องใช้สติ

    นี่ข้อจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธรรมชาติของจิตต้องพัฒนาตรงนี้ ต้องกำหนดทุกอาการ ทุกอิริยาบถ หูได้ยินเสียง หูกับเสียงอย่างไร ไกลแค่ไหนอย่างไร ไม่ต้องไปประเมินผล ไม่ต้องวิจัย ห้าม! ห้ามเพราะเหตุใด
    เพราะมันเป็นวิปัสสนึกไป นึกขึ้นมาก็วิจัยตามวิชาการ มันจะไม่ได้ผล เราก็ตั้งสติไว้ที่หู ฟังเสียงหนอ เราฟังเฉย ๆ ไม่ได้หรือ ทำไมต้องกำหนดด้วย

    ถ้าเราไม่กำหนด เราจะขาดสติ ถ้ากำหนดก็เป็นตัวฝึกสติ ให้มีสติอยู่ที่หู จะได้รู้ว่าเสียงอะไร เสียงหนอ ๆ กำหนดเสียงเฉย ๆ ได้ไหม ได้! แต่ไม่ดี เพราะเหตุใด

    หนอ ตัวนี้เป็นการรั้งจิตให้มีสติดี มีความหมายอย่างนั้น คำว่าหนอนี้ เป็นภาษาไทย หนอดีมาก เราจะบอกว่าเสียงหนอ มันรั้งจิตได้ดีมาก มีสติดีในการฟัง ระลึกหนอว่าเสียงเขาด่า เสียงเขาว่า หรือเสียงเขาสรรเสริญเยินยอ ประการใด

    สัมปชัญญะ ตัวรู้ว่าเสียงนี้ของนาย ก. เสียงนี้ของ นาง ข. มาพูดเรื่องอะไร ตัวสติจะแจงเบี้ยหาเหตุที่พูด ทำไมเขาจึงพูดเช่นนั้น ตัวสัมปชัญญะก็บอกกับเราว่า อ๋อ เขาพูดนี่ เพราะอิจฉาเรา เขาด่าเรา มาว่าเรา สติบอก สัมปชัญญะเป็นตัวคิด ปัญญาก็แสดงออก คอมพิวเตอร์ตีออกมาว่า เสียงนี้ไร้ประโยชน์ เกิดขึ้นตั้งอยู่ก็วูบดับไปทันทีที่หู เลยก็ไม่ต่อเนื่องเข้ามาภายในจิต เราก็ไม่มีการเศร้าหมองใจ เพราะข้อคิดนี้

    เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติ ต้องกำหนดตรงนี้ ไม่ใช่เดินจงกรมนั่งปฏิบัติ พองหนอยุบหนอให้ได้ ไม่ใช่ตรงนั้น ตรงนั้นเป็นตัวสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มีพลังจิต ในข้อคิดของวิปัสสนาญาณอีกประการหนึ่งต่างหาก

    ผู้ปฏิบัติต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณาดูจิต จิตเกิดทางหู ถ้าเราสร้างเครื่องได้ดีแล้ว ป้อนข้อมูลถูก สร้างระบบถูก ข้อมูลในจิต คือ อารมณ์ที่เราเก็บเอาไว้นานนักหนาแล้ว คลี่คลายไม่ออกแฝงไว้ในอารมณ์คือ โลภะ โทสะ โมหะ ทำให้จิตเศร้าหมองมาช้านาน ไม่ผ่องใสจึงต้องกำหนดอย่างนี้

    เสียงหนอ ๆ ไม่ใช่เท่านี้เลยนะ เสียงเขาด่า ใช่แล้วถ้าเรามีสมาธิดี สะสมหน่วยกิตสติปัฏฐานสูตรไว้ชัดเจน เสียงหนอ ก็รู้แล้ว อ๋อเขาด่าเรา ด่าเราตรงไหน มีตัวตนตรงไหนบ้าง ที่เราจะถูกด่า แล้วเจ็บช้ำน้ำใจเช่นนี้ เราก็ใช้ปัญญานี้เอง
    ฟัง อ๋อเขาด่า ด่ามาโดยสมมติว่าด่าเรา คิดว่าอย่างนั้น แต่เราอยู่ตรงไหน ก็หาตัวเราไม่ได้ ตัวเราไม่มี อย่างนี้คือ ปัญญา ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคล แต่เป็นโดยสมมติขึ้นมาที่เขาด่าเท่านั้น แล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงสภาพของมันแล้วก็หลุดไป ดับวูบไปที่หู อันนั้นก็หมดสิ้นไป นี้เรียกว่า ตัวปัญญา

    นักปฏิบัติต้องกำหนดทุกอิริยาบถในการฝึก เป็นการดัดนิสัยให้เข้าสู่จุดมุ่งหมายของผู้มีปัญญา เป็นความเคยชินจากการปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่พูดอย่างนี้ใครก็ทำได้ ใครก็รู้แต่ปฏิบัติจริง ๆ ไม่ได้ เพราะไม่เคยกำหนดเลย ปล่อยเลยไปหมด เข้ามาถึงจิตใจภายใจจิต คือ ประตูทั้ง ๖ ช่อง เข้ามาถึงห้องใน ที่นอนของเรา จนแต้มจนด้วยเกล้า จนด้วยปัญญา แก้ไขปัญญาไม่ได้เลย เพราะมันอยู่ในจุดนี้เป็นจุดสำคัญ

    แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเอาไปทิ้งหมด ไม่เคยปฏิบัติจุดนี้เลย มีแต่ จะจ้องเดินจรงกรม จ้องท้องพองหนอยุบหนออย่างเดียว เป็นไปไม่ได้ ไม่ครบสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติในข้อจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานสูตร ข้อนี้เป็นข้ออินทรีย์หน้าที่การงานที่จะต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องกำหนดเสียงหนอ ๆ ถ้ากำหนดไม่ทัน มันเลยเป็นอดีตไปแล้ว เกิดเข้ามาในจิตใจเกิดโทสะ เกิดโกรธขึ้นมาทันทีทำอย่างไร ไปเสียงหนออีกไม่ได้ ต้องกำหนดตัวสัมปชัญญะ กำหนดที่ไหน กำหนดที่ลิ้นปี่

    บางทีไปสอนไม่เหมือนกันเสียแล้ว หลับหูหลับตาว่าส่งเดชไป จะถูกจุดได้อย่างไร กดเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ถูก กดไม่ถูกจุด แล้วมันจะออกมาอย่างที่เราต้องการไม่ได้ นี้สำคัญ

    ผู้ปฏิบัติเน้นในข้อนี้ให้มากต้องกดที่ลิ้นปี่ แต่อรรถาธิบายอย่างไรนั้น จะไม่อธิบายในที่นี้ ขอให้ท่านโง่ไว้ก่อน อย่าไปฉลาดตอนปฏิบัติเดี๋ยวจะคิดเอาเอง เกิดขึ้นมาเดี๋ยวท่านจะได้ของปลอมไปนะ จะได้ของไม่จริงไปอย่างนี้

    กำหนดที่เลยเป็นอดีตแล้ว ต้องกำหนดอยู่อย่างเดียวคือ รู้หนอ ไว้ก่อน รู้ว่าเรื่องอะไรก็ยังบอกไม่ได้ ทำไมจะรู้จริง ทุกสิ่งต้องกำหนดทั้งนั้น ที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ หายใจอย่างไร

    ต้องตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ สูดลมหายใจจากจมูกถึงสะดือ แล้วก็ตั้งสติที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ รู้หนอ ๆ เพราะมันเลยไปแล้วเป็นอดีต กำหนดปัจจุบันไม่ได้ ต้องกำหนดตัวรู้ อย่างนี้เป็นต้น รับรองได้ผลแน่

    ข้อที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมในธรรม หมายความว่า เรามีสติปัญญาจะรู้แยกจิตของเราว่า คิดเป็นกุศลหรืออกุศล ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จะตัดสินอยู่ที่ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในข้อที่ ๔ นี้

    ข้าพเจ้าทำงานนี้ไปเป็นกุศลหรืออกุศล เดี๋ยวจะรู้ตัวตนขึ้นมาทันทีที่มีปัญญา เรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อาตมาหมายความถึงปฏิบัติการ ไม่ใช่วิชาการ วิชาการจะไม่อธิบายอย่างนี้

    เป็นการปฏิบัติการในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมในธรรม ทำนอกทำใน ธรรมกับทำมันต่างกัน ทำไปแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ทั้งทางโลกทางธรรม มันอยู่ร่วมกันนี่ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    เรียกว่าทำนอก ทำใน ทำจิต ทำใจ ทำอารมณ์ แสดงออกเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ส่วนใหญ่เราจะเข้าข้างตัวเอง เลยคิดว่าตัวเองน่ะคิดถูก ทำถูกแล้ว

    ถ้าเรามานั่งเจริญกรรมฐานแก้ไขปัญหา กำหนดรู้หนอ ๆ คือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเรายังไม่รู้จริง รู้หนอ หายใจยาว ๆ รู้หนอ ๆๆ เดี๋ยวรู้เลย ว่าที่เราทำพลาดผิดเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศลมวลเป็นอกุศลกรรมจากการกระทำทางกาย วาจา ใจ ก็ถ้าแสดงออกเป็นอกุศล นี่ธรรมานุปัสสนาเชิงปฏิบัติการ ไม่ใช่วิชาการนะ

    บางคนบอกหลวงพ่อวัดอัมพวันอธิบายผิดแล้ว ใช่ มันผิดหลักวิชาการ แต่มันถูกปฏิบัติการ มันจะรู้ตัวเลยว่า เราทำไปนั่นเป็นกุศล ผลงานส่งผลคือเป็นบุญ เป็นความสุข

    สิ่งนี้ที่ข้าพเจ้าทำเป็นอกุศลกรรม ทำแล้วเกิดความทุกข์ นี่ง่าย ๆ ทางเชิงปฏิบัติการ วิชาการ เขาอธิบายละเอียดกว่านี้ ถ้ามีกิจกรรมทำได้ไม่ยากเลย อยู่ตรงนี้เอง

    รู้หนอ! อ๋อ รู้แล้วไปโกรธมันทำไม ไปโกรธรูปนาม หรือไปโกรธใคร ตัวโกรธอยู่ที่คนโน้นทำให้เราโกรธหรือ ตัวโกรธไม่ใช่อยู่ที่คนโน้น อยู่ที่เรา อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจ อยู่ที่จิตเก็บความโกรธเข้าไว้

    ท่านจะมีแต่ความเป็นโทษ มีแต่ความเศร้าหมองใจตลอดเวลา ท่านจะไม่เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้แก้ปัญหาไม่ได้เลย ก็สร้างปัญหาด้วยโทสะ สร้างปัญหาด้วยผูกเวร สร้างปัญหาด้วยผูกพยาบาท น้อยไป! ดูถูกเรา นี่ท่านจะต้องสร้างปัญหาแน่อย่างนี้เป็นต้น
    การปฏิบัติเป็นการแก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหาเหมือนอย่างที่ท่านเข้าใจ และมีปัญญาเห็นอารมณ์เรา ดูอารมณ์จิตของเรา ดูจิตใจของเราต่างหาก อย่างนี้เป็นต้นสำคัญมาก

    บางคนไปสอนกันไม่ถูก โกรธหนอ ๆๆ เอาจิตตั้งตรงไหน เอาสติไว้ตรงไหน ไปกดไม่ถูก กดเครื่องคอมพิวเตอร์ผิด มันก็เลยออกมาแบบอย่างนั้นเอง จะวางจิตไว้ตรงไหน ก็ไม่รู้นี่สำคัญนะ

    เห็นหนอ อย่าลืมนะ ส่งกระแสจิตไว้ที่หน้าผาก ไม่ใช่หลับตาว่ากันส่ง ถ้าท่านทำดังที่อาตมาแนะแนว รับรองได้ผลทุกคน

    เห็นหนอ ก็ต้องส่งกระแสจิตจากหน้าผากออกไป เพราะว่าเราจะสังเกตตัวเองได้ทุกคน ความรู้สึกจะมารวมที่หน้าผากหมด ภาษาจีนเรียกว่า โหวงเฮ้ง มันจะมีแสงที่หน้าผากนะ ตอนนี้ไม่อรรถาธิบาย จิตท่านสูงท่านจะเห็นเองว่าดูหน้าคนดูตรงไหน อย่าลืม

    ที่อาตมาพูดหลายครั้ง ยังไม่มีใครตีปัญหาได้เลย อุณาโลมา....มันเป็นการส่งกระแสจิตได้ดีมากในจุดศูนย์สมาธิ นี่หละจะเกิดปัญญาได้ สำหรับตัวตนบุคคลปฏิบัติ ไม่ใช่มานั่งเห็นนิมิต

    ถามกันไม่พักเลย หลวงพ่อคะ ฉันมีนิมิตอย่างนี้ ฝันว่าอย่างนี้จะได้แก่อะไร ไม่ต้องมาถามแล้ว ฝันปลอมก็มีจิตอุปาทานยึดมั่นก็ฝันได้ ถ้าจิตท่านโกรธ ผูกพยาบาทเก่ง จะฝันร้าย จะฝันหนีโจร เป็นนิมิตที่เลวร้าย เพราะจิตมันไม่ดี

    ถ้าสติดี มีปัญญาดี จะฝันเรื่องจริงได้ ฝันแล้วเป็นเรื่องจริง ถ้าจิตเก๊ ก็ฝันเก๊ ๆ จิตปลอมก็ฝันปลอมออกมา

    อาจารย์สอบอารมณ์บางคนชอบถามว่า
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 25 เมษายน 2008
  2. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    การกำหนดจิต
    พระครูภาวนาวิสุทธิ์
    ๒๔ ก.พ. ๓๔
    วันนี้จะอรรถาธิบายถึงเรื่องการกำหนดจิต สำรวมสติสังวรระวัง ในการเจริญสติปัฏฐานสี่ ตามหลักพระพุทธเจ้าสอน สูตรการสอนของพระพุทธเจ้าไม่ยาก แต่จุดมุ่งหมายของการทำสติให้เกิดผลานิสงส์ที่จะพึงได้จากตัวเองผู้กระทำ จะเป็นพระสงฆ์องค์ชีก็ตาม จะเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่อยู่ในวัยไหนก็ตาม ไม่สำคัญเท่ากับที่ว่า สะสม
    สำรวมสังวรระวังสติตัวนี้เป็นตัวสำคัญ สำรวมตรงไหน ตั้งสติไว้อย่างไร เช่น การกำหนดพองหนอ..ยุบหนอ.. นั้น จุดมุ่งหมายเพื่อดูลมหายใจ เอาสติเป็นหลัก

    ลมหายใจที่เราหายใจเข้าออกนั้น เป็นลมหายใจตามระบบของตน แต่ส่วนใหญ่ทำกันไม่ค่อยได้ มีสั้นมียาว การที่จะเท่ากันนั้นยากมาก เพราะอารมณ์คนไม่เหมือนกัน

    จิตใจของคนแตกต่างกันด้วยกฎแห่งกรรม จากการกระทำของตน ระบบลมหายใจนั้นเป็นระบบอารมณ์ของชีวิต ถ้าเราไม่มีลมหายใจ เราคงจะอยู่กันไม่ได้

    ตามปกติแล้วเราก็หายใจเข้าหายใจออกอยู่เป็นประจำ แต่ที่พระพุทธเจ้าสอนว่า รูปธรรม นามธรรมนั้น ต้องการที่จะให้เราเอาสติไปกำหนดจิต โดยควบคุมจิต เรียกว่า ตัวกำหนด

    ที่กำหนด โกรธหนอ กำหนด เห็นหนอ กำหนด เสียงหนอ ตรงนี้ผู้ปฏิบัติขาดไป
    จุดมุ่งหมายที่เรามาเข้ากรรมฐานเจริญกุศลภาวนานั้น ต้องการจะฝึกฝนอบรมตน และเป็นการสอนตัวเอง
    ตัวกำหนดเป็นตัวบอกให้เราทราบถึงจิต ที่เรามีความคิด มีความพิจารณาของตน แต่เราขาดสติไปนั่นเอง
    ท่านทั้งหลายอาจจะไม่เข้าใจ อาจจะคิดว่า เราก็รู้แล้ว ใช่ แต่เป็นการรู้ที่ไม่มีสติ ตัวสตินี้เป็นตัวธรรมะ ตัวธรรมะ คือ ตัวรู้ รู้เหตุผล
    ขอเจริญพรว่า เหตุเกิดขึ้นผลจะต้องเกิดตาม เหตุดีผลก็ดี เหตุไม่ดีผลก็ไม่ดี อยู่ตรงนี้

    เมื่อเรามีสติครบ ได้สะสมกำหนดไว้ ถ้าอารมณ์ไม่ดีเกิดขึ้น มันจะวูบไปแล้วหายวับ เรียกว่าเกิดดับ อารมณ์ดีจะเข้ามาแทนที่

    ถ้าผู้ไม่ได้ฝึกไว้ อารมณ์จะคั่งค้าง เมื่อเกิดขึ้นมันจะตั้งอยู่นาน อารมณ์จะค้างอยู่ในจิตใจ มันแฝงไว้ในใจให้ครุ่นคิด แฝงให้เราเศร้าหมอง ตัวนี้แหละเป็นตัวกิเลส เป็นเหตุทำลายเราโดยไม่รู้ตัว ผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจ ถึงบอกให้ทำช้า ๆ ให้กำหนดช้า ๆ ผู้ปฏิบัติจะรู้เองว่าอารมณ์ค้างมาอย่างไร

    การกำหนดให้ได้ปัจจุบัน หมายความว่ากระไร หมายความว่า กำหนด ทันเวลา ต่อเหตุผล เช่นยกตัวอย่างว่า ขวา...ย่าง...หนอ... กำหนดทันเรียกว่าปัจจุบัน ถ้าเรากำหนด ขวา... แต่เท้าก้าวไปเสียแล้ว เราบอกซ้ายเท้าก้าวไปเสียอีกแล้ว อย่างนี้ไม่ได้ปัจจุบัน

    เมื่อกำหนดไม่ได้ปัจจุบัน ความสำรวมระวังก็ไม่เกิด มันก็พลาด เกิดความประมาท อยู่ตรงนี้อีกประการหนึ่ง จึงต้องกำหนดให้ได้ปัจจุบัน

    ทำอะไรทำให้ช้า ท่านจะเห็นรูปนาม ท่านจะแยกรูปนาม ท่านจะเห็นความเกิดดับของจิต ของท่านเอง
    ท่านที่มีอารมณ์ร้อนเกิดขึ้น มันจะค้างสะสมไว้ในใจ มีแต่เคียดแค้น มีแต่ริษยา ผูกพยาบาท มีแต่การจองเวรกันในจิตของตน มิใช่คนอื่นมาทำให้ ตรงนี้สำคัญมาก
    ไม่ใช่ว่ามานั่งกรรมฐาน ๗ วันแล้วใช้ได้ บางคนมาถามอาตมาว่า หลวงพ่อทำกี่วันถึงจะสำเร็จ? แหม! อาตมาทำมา ๔๐ กว่าปีแล้ว ยังไม่สำเร็จ ไม่มีสำเร็จ
    แต่เรามีความหวังตั้งใจว่า เราปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนน้ำซึมบ่อทราย แล้วค่อย ๆ กลืนสะสมอยู่ในจิตของเรา และจิตของเราก็จะรู้ได้ว่าเราคลายไปได้มากแล้ว จิตใจเราร่มเย็นไปได้มาก และจิตเข้าถึงความเป็นปกติของจิตได้มาก จิตใจไม่คลอนแคลน จิตไม่เหลวไหล จิตก็ไปได้ตรงด้วยทางสายเอกนี้

    ตรงนี้นักปฏิบัติไม่เข้าใจ ไม่ใช่ว่านั่งแล้วครูอาจารย์จะไปถามว่ามีนิมิตไหม ปวดเมื่อยมากไหม ไม่ต้องกล่าวตรงนี้ ที่จะเน้นกันมากคือ เน้นให้ได้ปัจจุบันสำหรับพองหนอ ยุบหนอ เพราะตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก ถ้าทำได้คล่องแคล่วในจุดมุ่งหมายอันนี้ รับรองอย่างอื่นก็กำหนดได้

    พอได้ยินเสียง สติมีมา พอได้เห็น สติก็มีบอก เห็นอะไรไม่ต้องไปเคร่งมันตอนว่ากำหนดอะไร แต่วิธีปฏิบัตินั้นต้องฝึกให้มันได้ และทำให้ได้ด้วย

    ส่วนมากคนที่กลับไปแล้ว มาบอกว่า หลวงพ่อ ฉันกลุ้มใจมีแต่เรื่องราว ก็แสดงว่าท่านทำกรรมฐานไม่ได้ ไม่ได้กำหนด พอถามโยมว่า กลุ้มเรื่องอะไร กำหนดบ้างหรือเปล่า ปรากฏว่าเปล่าเลย ทิ้งไปเสียนานแล้ว ตรงนี้ท่านจะแก้ไม่ได้ ท่านจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ท่านจะปรับปรุงไม่ได้ ท่านจะไปหาใครมาช่วยเราเล่า หมดโอกาสที่จะช่วยตัวเองได้

    การที่จะช่วยตัวเองได้ต้องมีตัวกำหนด มีระบบเกิดขึ้นในจิตของตน จึงต้องปฏิบัติให้ได้ปัจจุบัน ข้อนี้ต้องเน้น
    ส่วนใหญ่โยมทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้ ไม่หมายความว่าโยมไม่ได้อะไรได้ แต่โยมไม่ได้กำหนด เอาตัวกำหนดไปทิ้งเสีย อย่างนี้เป็นต้น

    ถ้าหากว่า สันตติ ติดต่อกันไป ชวนะจิต ขึ้นสู่รับอารมณ์ได้ไว ก็ทำมาจากช้า
    ถ้าจิตเราประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ได้กำหนดไว้คุ้นเคย พอได้ยินเสียงปั๊บ ตอบได้ทันที่ว่าเสียงอันนี้เป็นอย่างไร ไม่ต้องรอคิด ไม่ต้องรอปรึกษาใคร

    เสียงที่เขากล่าววาจามาให้เราฟังและเป็นเชิงปรึกษา เราจะตอบได้ทันทีว่าที่พูดมานี้ไม่มีความสำเร็จหรอก ที่พูดมานี้ก็ทำไม่ได้ด้วย สติที่เราสะสมไว้มันจะบอกออกมาชัดเจน

    ถ้าฝึกไปเรื่อย ๆ ยิ่งแก่ยิ่งดี ฝึกไว้มันแก่มาก มันก็ดีมาก มีพระเถระอายุตั้ง ๙๐ กว่าปี อายุ ๑๐๒ ปี ท่านยังจำความหมายไว้ชัดเจน และมีสติดีมาก เพราะฝึกไว้มาก สะสมไว้มาก เป็นรัตตัญญูรู้กาลเวลาได้มากมาย มันอยู่ตรงนี้

    บางคนบอกแก่แล้วฝึกไม่ได้ ต้องได้! ถ้าพยายามและทำเสมอ เช่นกำหนดพองหนอ ยุบหนอ นอนแล้วให้กำหนดนักปฏิบัติไม่ค่อยทำ บอกว่าเพลีย เหนื่อย อ่อนใจ

    ถ้าโยมอยู่ด้วยสมาธิกับจิต อยู่ด้วยสติแล้ว วันนี้เพลียมาก พรุ่งนี้คงไปไม่ไหว ถึงเวลามันจะออกเดินได้ไหว ถึงเวลามันก็พูดได้ ถึงเวลาก็แบกหามได้ นี่อยู่ตรงนี้

    ไม่ใช่ว่าเพลียมาก วันนี้ไม่ต้องสวดมนต์ แล้วไม่ต้องพร่ำภาวนาไม่ต้องตั้งสติ นอนเลย! อย่างนี้ก็ไปไม่ได้
    ถ้าเราฝึกตั้งสติไว้ทุกอิริยาบถ วันนี้รู้สึกเพลียมาก รู้สึกไม่สบาย คิดว่าพรุ่งนี้จะไปงานไม่ได้ พอถึงเวลากระฉับกระเฉงทันที เพราะมันถึงเวลาที่เคยทำ ถึงเวลาที่เคยพูด ถึงเวลาที่เคยแบกหาม ถึงเวลาที่เคยเขียนหนังสือ มันต้องเขียนแน่ ๆ

    ถึงเวลาก็ไปได้อย่างนี้ แล้วไม่เพลียด้วยนะ คิดว่าไปไม่ไหวแล้ว แต่แล้วกระฉับกระเฉง สะสมหน่วยกิตใช้สติกำหนดไว้ มันก็ออกมาช่วยเราคือ พลังจิต เรียกว่าสมาธิภาวนาที่เรารวมไว้ มันก็จะไปได้อีก จุดนี้นักปฏิบัติไม่ทราบ นักปฏิบัติไม่เข้าใจ
    จะเป็นพระสงฆ์องค์ชีก็ตาม ถ้าปฏิบัติโดยต่อเนื่องจะเป็นสมณะ โยมฆราวาสเป็นสมณะได้ไหม? ได้!
    สมณะ แปลว่าความสงบ สงบกาย สงบวาจา สงบเสงี่ยม เจียมตน มีหิริโอตัปปะ มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปทุจริต ผิดศีลธรรม มันจะบอกออกมาโดยอัตโนมัติ

    และจะสำรวมอินทรีย์หน้าที่การงานที่เราสำรวมไว้แต่เดิมที่มา คือตัวสตินี้ นี่คือ พองหนอ ยุบหนอ
    บางทีสมาธิดี เผลอ ขาดสติ มันจะวูบลงไป ศีรษะจะโขกลงไป และจะกระสับกระส่าย โยกคลอน โยกไปทางโน้น โยกไปทางนี้ เป็นเพราะสมาธิดี ขาดสติ สติไม่มี มันจึงวูบลงไป กำหนดไม่ทัน ไม่ทันปัจจุบัน

    การกำหนดไม่ทัน วิธีแก้ทำอย่างไร กำหนดรู้หนอ รู้หนอ ถ้ามันงูบลงไปต้องกำหนด ไม่อย่างนั้นนิสัยเคยชินทำให้พลาด ทำให้ประมาท เคยตัว

    ทุกอย่างต้องรู้ ทำอย่างไรจะรู้ได้ มันเป็นอดีตไปแล้ว มันล่วงเลยไปแล้ว ทำอย่างไรจะย้อนไปกำหนด ย้อนกำหนดไม่ได้หรอก จะบอกให้ ต้องรู้หนอ รู้หนอ รู้หนอ

    กำหนดรู้หนอ เอาจิตปักที่ลิ้นปี่ ถ้ากำหนดแต่ปากเฉย ๆ โยมไม่รู้จริง เป็นการรู้อย่างที่เขารู้กันทุกคน รู้ไม่พิเศษ รู้ไม่เป็นความจริง

    ถ้าปักให้ลึกถึงลิ้นปี่ รู้หนอ รู้หนอ โยมจะไม่พลาดอีกต่อไป ถึงวูบไปต้องจับได้ งูบลงไปตอนพองหรือยุบ เวลางูบลงไปต้องจับให้ได้นะ

    บางทีงูบไป ครูจะถามว่า งูบตอนไหนโยม โยมก็บอกไม่ถูก ไม่ทราบจับไม่ได้ ก็แสดงว่า โยมไม่มีสติ ถ้าสติดีนะ มันจะรู้ว่างูบตอนพองหรือตอนยุบ

    ตรงนี้นักปฏิบัติที่นั่งเมื่อตะกี้ งูบกันหลายคน แต่งูบมี ๒ วิธี วิธีหนึ่งคือหลับ มันงัวเงียก็งูบลงไป วิธีนี้ยังไม่ต้องสอบอารมณ์

    อีกวิธีหนึ่งงูบด้วยสมาธิ เช่นพองหนอ ยุบหนอ ได้จังหวะไหม ถ้าได้ทำไปมันก็เพลิน มันก็เผลอ มันก็พลาด มันก็เกิดความประมาท วูบทันที เผลอมันเอาเราเลยนะ วูบลงไปเลยนะจับไม่ได้ด้วย

    ถ้าจับไม่ได้ วิธีการปฏิบัติทำอย่างไร ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดตั้งตัวตรง หยุดพองยุบ หายใจยาว ๆ หายใจยาว ๆ ลงไปแล้วเอาจิตปักที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า รู้หนอ ๆๆๆ วันนี้เป็นการเตรียมตัว เป็นการป้องกันที่มันจะเกิดงูบในโอกาสหน้าอีกครั้งหนึ่ง
    พอเรากำหนดพองหนอยุบหนอ มันจะงูบ ชักเพลินละ ตอนที่เพลินจะเกิดความเผลอ ที่จะเผลอเกิดจากอะไรผู้ปฏิบัติไม่รู้
    เวลาจะเผลอ มันจะเพลินก่อน ทำเพลินให้จิตลืม คือหมดสติ มันลืมพอลืมแล้วจะเผลอ วูบลงไปนี่มาจากไหน
    ผู้ปฏิบัติโปรดทราบ มาจากความเพลิน กำหนดเพลินหนอ เพลินไปเพลินมาวูบไม่รู้ตัว แล้วก็ไม่ทราบด้วยว่าวูบตอนพองหรือตอนยุบ

    ถามแล้วตอบไม่ได้แม้แต่รายเดียวก็แสดงว่าสติไม่พอ สมาธิมันมากเกินกว่าสติ ยังงี้เป็นต้น จึงกำหนดแก้ว่ารู้หนอ รู้หนอ ห้ารู้ ยี่สิบรู้ กำหนดไป พอกำหนดตัวตรง รู้หนอ สติดีแล้ว ก็เตรียมท่าต่อไป กำหนดพองหนอยุบหนอต่อไป
    พอกำหนดพองหนอ ยุบหนอต่อไปอีก มันชักเพลินอีกแล้ว หมายถึงสมาธิดีนะ กำหนดคล่องแคล่ว สมาธิดีแล้ว มันจะเพลิน กำหนดชักใจลอย จิตออกไปก็ไม่รู้ จิตออกไปไหนก็ไม่ทราบ เพราะขาดสติควบคุม ตรงนี้นักปฏิบัติต้องเป็นทุกคน ขอฝากไว้จิตออกตอนไหน รู้ไหม ไม่ทราบค่ะทุกราย

    ถ้าสติโยมดี มันจะออกตรงไหนล่ะ จิตจะออกจากที่เรากำหนด มันจะออกไปข้างนอก ออกไปคิดถึงบ้าน ถึงเพื่อน ถึงแฟน ออกไปคิดถึงลูก ถึงบ้านช่องของตน มันจะออกตรงไหนนะ
    ถ้าจิตหยาบไม่รู้นะ มันออกไปเสียนานแล้ว จิตหนึ่งก็บอกว่า พองหนอ ยุบหนอ อีกจิตหนึ่งไปคิดถึงบ้านนานแล้ว อยากจะถามโยมว่า ออกไปตอนไหน ออกไปทางหลังบ้าน หรือตีนท่าไม่ทราบนี่ตรงนี้สำคัญมาก

    ไม่ใช่กำหนดเพลิน ๆ แล้ว ก็กำหนดเรื่อยไป จนกว่าจะหมดชั่วโมงนะ ไม่ใช่อย่างนี้นะ โยมจะไม่ได้อะไรเลย ขอฝากไว้อย่างนี้ ไม่ได้ทำง่ายและไม่ได้ทำยาก แต่ต้องกำหนดให้ได้ปัจจุบัน

    คอยระวังมาก กำหนดเพ่งมากก็ไม่ดีนะ ตึงไป แล้วจิตมันจะเครียด มันจะขึ้นสมอง มันจะปวดหัวพอปวดหัวแล้วแก้ยาก ต้องหายใจยาว ๆ แก้ปวดหัวคลายเครียดนะ

    ถ้าโยมเครียดเพราะทำงาน หรือปฏิบัติเครียด เกิดมึนศีรษะ เกิดปวดลูกตา โยมนั่งเฉย ๆ อย่าพองยุบแล้วก็หายใจยาว ๆ สักพักหนึ่งเดี๋ยวหายปวดศีรษะ หายปวดลูกตาทันที นี่มันเกิดจากเครียดนะ เกิดจากเกร็งด้วย
    ตัวกำหนด ทำให้เมื่อยปวดทั่วสกนธ์กายก็ได้ ทำให้ขาเกร็ง ทำให้แขนเกร็ง และมันจะขึ้นประสาท ทำให้มึนศีรษะและลงไปที่ปลายเท้า ทำให้ขาแขน ขาก้าวไม่ออก นี้เป็นลักษณะของกรรมฐานทั้งสิ้น

    แต่วิธีปฏิบัติต้องกำหนดให้ได้ กำหนดรู้หนอให้ได้สมมติว่ากำหนด พอง...หนอ...ยุบ...หนอ...พอง...หนอ...ยุบ...หนอ... ไปเรื่อย ๆ ถ้าเพลินเมื่อใด มันจะออกตอนเผลอที่จะเพลิน จิตจะแวบออกไปเลยนะ โยมจะไม่รู้ตัวนะ
    ตรงนี้ทำแล้วก็เพลินกำหนดไป พองหนอ ยุบหนอ จิตก็อยู่ที่พองหนอ ยุบหนอ อีกจิตหนึ่งออกไปเสียแล้ว ออกไปคิดถึงเพื่อน ออกไปคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ แล้วคิดถึงเรื่องที่คุยเมื่อเย็นนี้ คิดถึงที่เรานั่งนินทากัน มันจะออกไปรับรู้ตรงนั้น ตรงนี้นักปฏิบัติไม่ค่อยรู้ จับไม่ได้เพราะเหตุใด

    ขอตอบให้โยมฟังว่าขณะที่กำหนดนั้น มันจะเพลินและมันจะเผลอและมันจะแวบออกไปตอนเผลอ จิตจะออกตอนเผลอจำไว้ เวลาเพลินต้องตั้งสติให้ดีนะ กำหนดให้ดีเดี๋ยวจะรู้ได้ว่า จิตนี้ออกแล้ว กำลังจะขยับแล้ว จะขยับตัวไปคิดเรื่องนั้น จะขยับตัวไปคิดเรื่องนี้ นี่เรื่องจิตที่ละเอียด

    ถ้ากำหนดบ่อย ๆ ครั้งจะรู้ได้เองว่าจิตจะออกตอนไหน ไปคิดที่ไหนอย่างไร พอขยับตัวหน่อยเราก็กำหนดทันที รู้หนอ อ๋อ! รู้ตัวแล้ว จิตมันจะไม่ออกไป

    จะบอกเราในขณะพองหนอ ยุบหนอว่า อ๋อ! อารมณ์เสียแล้ว หมายความว่าเสียอารมณ์ที่เราไปคุยกัน จึงได้เน้นผู้ปฏิบัติอยู่ในห้องกรรมฐาน อย่าคุยกัน อยู่ตรงนี้นะ

    ถ้าโยมคุยกันจนเฟ้อ จนเสียอารมณ์ แล้วมานั่ง อารมณ์ที่นั่งคุยนั้นมาจะมาโผล่ที่พองหนอ ยุบหนอ พอไปกำหนดมันเข้า จิตมันก็ทะเล้นออกไป เหมือนเรากดของอยู่ในถ้วยในโถ กดไปมันก็ทะลักขึ้นมา นี่ฉันใดก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นอย่ากดมาก
    กำหนดแล้วก็สำรวม สังวร ระวัง คือตั้งสติไว้อย่างเดียว มันเป็นการสำรวม สัมปชัญญะแปลว่าสังวร บวกกันเป็นตัวระวัง สตินี้มันก็ดีขึ้น แล้วก็จะจับจุดที่จิตถูกต้อง และจิตจะออกไปคิดอะไรก็รู้ตัว เราจะได้กำหนดทันปัจจุบัน ที่เรียกว่าปัจจุบัน น่ะ โยมไม่เข้าใจกันเยอะ

    โยมปฏิบัติให้ทันปัจจุบัน ปัจจุบันอะไร ไม่รู้จริง ๆ นะ นี่อธิบายให้เข้าใจแล้ว อธิบายอย่างละเอียดแล้ว จึงได้เน้นในข้อนี้
    การกำหนดพองหนอ ยุบหนอ ถ้าหากว่ากำหนดพองเป็นยุบ ยุบเป็นพอง พองหนอยังไม่หนอ ยุบลงไปยังไม่หนอ พองออกมาอีกแล้ว อย่างนี้ไม่มีสมาธิ ยังรวมสติไม่ติด

    แต่ต้องหัดฝึกพองหนอ ยุบหนอ ให้ได้จังหวะเสียก่อน การฝึกพองหนอ เอามือคลำดูที่ท้อง หายใจให้ยาว ๆ ฝืนก่อนทีแรกเราหายใจไม่ถูกระบบของมัน หายใจตามอารมณ์ที่เคยหายใจตั้งแต่เป็นเด็ก และเราต้องฝืนหายใจให้ยาว ๆ เดี๋ยวมันจะคล่องแคล่วทีเดียว พอคล่องแคล่วได้ปัจจุบันแล้วสบายมาก จิตมันจะออกไปตรงไหนมันก็จะบอกเราเอง
    เวลาจิตจะออกไปคิดอะไร ขอยืนยันว่าโยมทุกคนคงจะไม่รู้ว่าออกเมื่อไร ขณะรับประทานอาหาร ดูแกงก็อร่อย ดูขนมก็อร่อย เคี้ยวไปเคี้ยวมา จิตหนึ่งไปคิดโน่น อีกจิตหนึ่งคิดถึงความหลังที่ผ่านมา จิตหนึ่งคิดเมื่ออยู่เป็นเด็ก ๆ จิตหนึ่งคิดเมื่อตอนอยู่โรงเรียน จิตหนึ่งคิดไปกับเพื่อนที่โน่น นี่ขณะรับประทานอาหารเป็นอย่างนั้นนะ

    แต่เราสำรวมรับประทานอาหารเคี้ยวให้ละเอียด จิตมันจะอยู่ที่ฟันที่เคี้ยว แล้วก็กลืนลงไป รับรองโรคภัยไข้เจ็บที่มีมันจะหายได้เหมือนกันในเมื่อเคี้ยวมีสติ

    จึงบอกว่า รับประทานอาหารช้า ๆ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ช้า มีสติไว้ รับรองโยมไม่ค่อยเป็นโรคริดสีดวงลำไส้ ไม่ค่อยเป็นริดสีดวงทวาร มีสติกำหนดเหมือนยารักษาโรคไปในตัวด้วย

    สติตัวนี้เป็นตัวควบคุม เป็นตัวตั้งตัวตี เป็นตัวมีเงินมีทอง คนไร้สติขาดเหตุผล คนไร้เงินไร้ทอง ไร้ความเป็นอยู่ของชีวิต นี่อยู่ตรงที่ไร้สตินี้

    และจิตจะออก โยมตามอาตมาพูดด้วย จริงไหมว่ากำหนดพองหนอยุบหนอเพลินไป จิตมันคิดเสียเมื่อไรก็ไม่รู้ คิดไปตั้งนานแล้ว บางทีทั้งชั่วโมงคิดข้างนอกทั้งนั้น

    จิตมี ๑๒๑ ดวง ๑๒๑ กระแสอารมณ์ อารมณ์หนึ่งก็พองหนอยุบหนอ อารมณ์หนึ่งอยู่หลังบ้าน อารมณ์หนึ่งก็คิดเสียใจ อารมณ์หนึ่งก็คิดดีใจได้เงินได้ทอง มันหลายอารมณ์มารวมกันขณะกำหนด เลยก็เกิดความฟุ้งซ่าน เมื่อเกิดฟุ้งซ่านแล้วการกำหนดก็ไม่ได้ดีด้วย

    แต่วิธีปฏิบัตินั้นให้เอาปัจจุบัน คือ กำหนดพร้อม ๆ กัน ได้จังหวะดีก็กำหนดไปเรื่อย ๆ คอยระวังอีกวันหนึ่งเพลินเผลอจิตแวบ จิตมันจะหนีเราตอนเผลอ

    เหมือนเราเป็นจิต เขามียามคุมเรา มีผู้คุมเรา มีนายตรวจดูเราตั้ง ๔ คน แล้วเราจะหนีเขาไป เราก็หนีตอนเผลอนะ ถ้าเขาเผลอเราก็แวบ หนีไปเลย อย่างนี้เป็นต้น

    นี่ก็เช่นเดียวกัน เวลากำหนดนี้มันเพลิน กำลังกำหนดพองหนอยุบหนอ จิตหนึ่งก็ไปคิดอะไรนานาประการ แต่ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ เป็นธรรมชาติของจิต ต้องคอยสำรวมต้องคอยกำหนดปัจจุบัน

    ถ้าโยมทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ สัก ๗ วันแล้วนั้น จะรู้เองว่าจิตมันละเอียด จิตมันจะออกไปตรงไหน มันจะขยับตัวให้เรารู้ มันไวยิ่งกว่าเครื่องบิน แต่เราสติมากกว่า ดูแลมากเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ เหมือนเรดาร์ เรดาร์คือสติจะจับทุกจุดแล้วมันจะควบคุมไว้ได้ต่อภายหลัง

    นี่แหละรู้สึกทำยาก โยมอย่าท้อแท้นะ คิดว่าเรามาทำคงไม่ได้ มันฟุ้งซ่านจัง มันคิดถึงเรื่องเก่า มันคิดถึงเรื้องอะไรหลาย ๆ เรื่อง อย่าไปท้อแท้ ก็กำหนดไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นธรรมชาติ

    ในเมื่อโยมนอนหลับปุ๋ยไปมันจะเลิกคิด เป็นธรรมชาติของจิต ถ้าลืมตาขึ้นเมื่อใด รู้ตัวเมื่อใด มันจะต้องคิด แต่จะคิดเรื่องอะไรแล้วแต่โยม ของใครของมัน ฝากความนึกคิดไว้ก่อนนอน

    ยกตัวอย่าง โยมกำลังครุ่นคิดถึงเรื่องต่าง ๆ แล้วนอนหลับไป ถ้าสติขาดไปนะ จะฝันไป ฝันถึงเรื่องนั่น นำมาตรงกันข้ามเป็นเรื่องเป็นราวไปได้แล้วก็เป็นเรื่องไม่จริง เป็นความฝันไป แต่ความฝันนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องของอารมณ์ที่ฝากคิดไว้แล้วทำให้ฝัน


    http://www.mindcyber.com/life/smati/smati_1121.php
     
  3. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    การกำหนดจิต
    พระครูภาวนาวิสุทธิ์
    ๒๔ ก.พ. ๓๔

    ถ้าหากว่าญาณดี สมาธิดี สติดี ถ้าฝันต้องเรื่องจริง ฝันว่าคนนั้นเขาจะต้องตาย แล้วก็ตายจริง ๆ นี่คือสังหรณ์จิตฝากความฝันไว้ในสมาธิ แล้วก็ฝันออกมา รับรองว่าเรื่องจริงต้องตายแน่ ๆ ไม่แปรผัน นี่เคยสังเกตมา โยมโปรดทราบไว้ด้วย
    เพราะฉะนั้น การกำหนดจิตจึงมีประโยชน์ในปัจจุบันนี้ นี่มาพูดปัจจุบันกัน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ จิตก็ย่างไปตามเท้า โยมอย่าไปหลับตาเดิน อย่าไปมองที่อื่น

    บางคนเดินจงกรม เอาตาไปมองที่ไหนก็ไม่ทราบ วิธีฝึกต้องเอาสายตาเป็นสมาธิ เอาไปเพ่งที่ปลายเท้าว่ามันก้าวอย่างไร มันอยู่อย่างไร ถ้าทำชำนาญแล้วไม่ต้องไปตั้งอย่างนั้น

    เราก้าวเท้าไปที่ไหน สติตามไปที่นั่น มันจะเกิดชำนาญการขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องดูเท้าแล้ว เราจะสั่งไปเอาของหรือวิ่งเร็วอย่างไร สติมันจะควบคุมอินทรีย์หน้าที่การงานเราไป จะล้มแล้ว ๆๆ ต้องเดินตรงนี้ ต้องถีบตรงนี้ ต้องก้าวตรงนั้น ต้องกระโดดตรงนั้น มันจะบอกเป็นขั้นตอน มีประโยชน์มาก

    เมื่อสติดี สมาธิดีแล้ว จิตจะขยับตัว จะเผลอ จะพลาด มันจะขยับออกเราก็บออก อ๋อ! จะไปหรือนี่ รู้หนอทันทีเลย และจิตมันจะคุ้นกันกับสติ มันจะควบคุมไว้ได้ดี สมาธิก็จะเกิดขึ้นตอนนั้น และจิตก็จะดีขึ้น ต้องอาศัยฝึกบ่อย ๆ อาศัยทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ กันบ่อย ๆ แล้วมันจะรู้เรื่องดีขึ้น

    แค่พองหนอ ยุบหนอ มีหลายร้อยแปดพันประการเรื่องในตัวเรา เดี๋ยวเรื่องนั้นโผล่ เดี๋ยวเรื่องนี้โผล่ ดูนะทำวันนี้อย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เปลี่ยนอีกแล้ว แล้วตอนเย็นวันนี้อีกเรื่องหนึ่ง กลางคืนดึก ๆ ตี ๔ ทำอีกซิ คนละเรื่องกัน มันไม่ใช่ซ้ำเรื่องเก่า แล้วบางทีเรื่องใหม่มาอีกแล้ว

    บางคนก็ฟุ้งซ่านเป็นกฎแห่งกรรมที่เราทำไว้ มันจะบอกได้เลยว่า ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้าทาแทรก ฟุ้งซ่านไม่พัก

    เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดฟุ้งซ่านนั้น โยมต้องเรียน เช่นนั่ง ยกตัวอย่าง ขณะนี้ ไม่มีเวลาเลย ไม่มีจิตออกเลย นั่งสบายไม่มีอะไรมารบกวนเลย โยม คิดว่าดีไหม?

    อาตมาจะตอบให้โยมฟัง แสดงว่าโยมไม่ได้อะไร ไม่ได้ศึกษาอะไร ครูไม่มาสอน เดี๋ยวถ้านั่งพัก ฟุ้งซ่าน ครูฟุ้งซ่านมาสอน ต้องกำหนด ต้องเรียน ว่าฟุ้งซ่านแบบไหน เป็นอย่างไรกำหนดไว้ จะรู้ได้เอง นั่นเป็นประสบการณ์ของชีวิต
    แล้วกำหนดพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวปวดเมื่อยเต็มที่ มันเป็นเวทนาอย่างซึ้งใจ ทนไม่ไหวเหมือนเข็มมาแทง ร้อนแทบจะทนไม่ไหว อย่างนี้เป็นต้น

    ตายให้ตาย ต้องเรียนว่ามันเป็นอย่างไร การเรียนคือการฝึก เป็นการศึกษา ปัญหาชีวิตอยู่ตรงนี้ และเราก็ค่อยเรียนไป ตายให้ตาย

    โอ๊ย! ปวดเหลือเกิน ทำไมเขานั่งกันไม่ปวด เราปวดมาก ต้องศึกษาเรียกว่า ครูมาสอน เราก็ต้องเรียน อ้อ! เวทนาเป็นอย่างนี้แหละหนอ เกิดขึ้น แปรปรวน แล้วดับไป ไม่มีอะไรอยู่ในที่นั้น แล้วมันก็เคลื่อนย้าย โยกคลอน มันเป็นการสัมผัสปรุงแต่งในสังขาร มันก็ปวดเมื่อยเป็นธรรมดา แต่เราก็ต้องเรียน ต้องศึกษาว่ามันปวดขนาดไหน จะได้รู้ว่าปวดกี่เปอร์เซ็นต์
    ในเมื่อเราเจ็บป่วยไข้ อ๋อ! เราผ่านแล้วเรื่องเล็กเหมือนเราสอบมัธยม ๓ ได้ เขาออกข้อสอบตามเดิมความรู้มัธยม ๓ เราเรียนจบแล้ว ก็รู้อย่างนั้นแหละ นี่จุดมุ่งหมายของการเรียนเวทนา เป็นการเรียนจบ

    บางคนพอปวดหน่อยเลิกเลย แสดงว่าเรียนไม่จบเพราะว่า เวทนาเกิดขึ้นเมื่อใด กำหนดไม่ได้ ก็แสดงว่า สอบตก อยู่ตรงนี้
    บางทีกำหนดพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวก็ร้องไห้ เดี๋ยวก็น้ำลายไหล เดี๋ยวก็น้ำมูกไหล บางคนรู้สึกว่ามีตัวอะไรไต่หน้าตอมโน่น ตอมนี่ คนโน่น คันนี่ ต้องรู้ ไม่ใช่คันจริง ไม่ใช่ตัวไรไต่ แต่มันเป็นเรื่องกิเลสต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น ในร่างการสังขารและสัมผัส ก็กำหนดไป

    หนักเข้าตัวไรที่ตอมนั้นก็หายไป มันจะไม่กลับมาตอมอีก อย่างอื่นก็เกิดขึ้นแทน นี่กิเลสของเราทั้งนั้น และมันมีอยู่ในร่างกายสังขารทั้งหมด นี่เป็นการเรียนเป็นการศึกษา เป็นการหาความรู้ในตัวเอง

    มีเรื่องเสียใจเกิดขึ้น ครูเสียใจมาสอน ต้องเรียน เสียใจหนอ ๆ นี่ครู! อ๋อ! เสียใจเรื่องนี้ เราก็สาวหาเหตุไป สติก็บอกมาว่า เสียใจเรื่องนั้น เสียใจเรื่องสามี เสียใจเรื่องภรรยา เสียใจเรื่องพ่อแม่ เสียใจเรื่องเพื่อนหักหลัง เสียใจที่เราประมาทพลาดพลั้งไป มันจะออกมาในรูปแบบนี้ เราก็เรียนต่อไป

    เสียใจหนอ ๆ อ๋อ ทราบแล้ว ต่อไปเราจะไม่เสียใจอย่างนั้นอีก มีสติครบ เราจะป้องกันสำรวมระวังไว้อีก มันจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตเช่นนั้น นี่ตรงนี้สำคัญ

    สำคัญผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจอย่างนี้ ในเวลาใดก็ตามที่โยมไม่ได้เข้าปฏิบัติ กลับไปบ้าน ถ้าเกิดเหตุใดขึ้นมา ต้องสาวหาเหตุด้วยการ กำหนดจิตให้ได้ปัจจุบัน

    ขณะนี้เกิดเจอเพื่อนหักหลัง เกิดเสียใจ เดินกลับบ้านคอตก ต้องกำหนดก่อนที่จะกลับบ้าน กำหนดต้องที่เสียใน เหตุเกิดที่ไหนต้องปฏิบัติที่นั่น อย่างนี้โยมจะหายได้ทันเวลาในปัจจุบันนั้น

    จะไม่เก็บไว้ในจิตใจให้คลั่งเคลิ้มเพ้อคลั่งและเศร้าหมองใจ ทำให้เราต้องฝากความเสียใจ ทำให้เศร้าใจ ทำให้ร่างการสังขารเสื่อม ทำให้อายุสั้น และทำให้โรคภัยไข้เจ็บเหิมฮึก มาในร่างกายสังขาร ทำให้เราเกิดความป่วยอาพาธต่อไป นี่มันอยู่ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ

    การปฏิบัติธรรมจึงมีประโยชน์อย่างนี้ ส่วนใหญ่เท่าที่อาตมาสังเกตโยมทุกคน ปฏิบัติไม่ได้ปัจจุบันนะ แต่ต้องพยายามต่อไปให้ได้ปัจจุบัน อย่าเป็นอดีต อย่าให้เป็นอนาคต

    อดีตมันก็ผ่านไป มันก็ไม่กลับคืนอีก อนาคตก็ยังไปไม่ถึง อย่าด้นเดาเอาเป็นเช่นนั้น อย่าจับมั่นคั้นให้มันตายจะเสียใจภายหลัง อย่าด้นเดาเอาคิดว่าเป็นไปตามอารมณ์ของเรา คิดว่ามันต้องสำเร็จ คิดว่ามันจะไม่สำเร็จ อย่าไปคิด
    พระพุทธเจ้าทรงสอนนักสอนหนา การเจริญสติปัฏฐานสี่ จุดมุ่งหมายต้องการปัจจุบันธรรม เมื่อได้ปัจจุบันแล้ว รับรองอย่างอื่นจะไม่เกิดขึ้น ความหายนะจะไม่มาเข้าสู่จิตอีกต่อไป มันจะเกิดขึ้นสำหรับปัจจุบัน สำหรับผู้ทำนั้น

    พองหนอ ยุบหนอ บางทีตื้อไม่พองไม่ยุบ แก้อย่างไร บางที่กำหนดไปที่ท้องก็ไม่พอง ไม่ยุบ แต่ปากก็ว่าพองหนอ ยุบหนอ จิตมันก็ไม่ไป มันก็ตื้อซะ วิธีแก้ทำอย่างไร หยุดพองยุบแล้วหายใจยาว ๆ กำหนดรู้หนอๆๆ รู้ปัจจุบัน เดี๋ยวกำหนดพองยุบชัดเจน ถ้าไม่เห็นอีกกำหนดใหม่

    ไม่เห็นอีกทำอย่างไร มีแก้ข้อที่สอง โยมต้องลุกออกจากที่นั่ง เดินจงกรมใหม่ เดินจงกรพอสมควรแล้ว รับรองพองยุบเห็นชัด ถ้าไม่เดินได้ไหม? ได้ แต่พลังจิตจะน้อยไป เดินสำรวมเข้าไว้พลังจิตจะเด่นดีกว่า เวลานั่งจะได้เร็วขึ้น จะไวขึ้น
    ถ้าโยมขาไม่ดี เดินไม่ได้ ก็มีวิธี ทำได้ ๒ อย่าง นั่งทำกับนอนทำ ถ้าขาดีนะ โปรดกรุณาเดินหน่อย เดินจงกรมทำให้มีสมาธิดี และการเดินจงกรมนั้น ทำให้เราสร้างความเพียรได้ดีในจิต สามารถจะมีพลังจิตในการเดินทางไกลได้ดี โดยไม่เหนื่อยยาก มันจะบอกออกมาในรูปแบบนั้น สามารถจะทำความเพียรได้สำเร็จทุกประการ การเดินจงกรมบอกอย่างนี้ชัด
    และช่วยให้อาหารย่อยง่าย และลมเดินสะดวกในร่างการสังขาร อาพาธมีอยู่ก็น้อย

    สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมตั้งอยู่ได้นานกว่านั่ง จึงต้องให้เดินก่อนเสมอ ถ้าเดินก่อนแล้วมานั่งโยมจะคล่องแคล่ว การปวดเมื่อยจะน้อยลง

    ถ้าไม่เดินเลย นั่งตะพึด อึกอักก็นั่ง ขี้เกียจเดินจงกรม รับรองได้ผลน้อยนะ หรืออาจจะไม่ได้ผลเลยก็ได้ มันจะช้าไป ถ้าเราเดินคล่องแคล่ว เดินสัก ๑ ชั่วโมง แหม! เมื่อยจังมันก็เป็นธรรมดา กำหนดไป กำหนดไป เดินต่อไปภายหลังจะไม่เมื่อยอีก มันจะค่อย ๆ ดีขึ้น

    เวลานั่ง พอนั่งแล้วจะคล่องแคล่ว สมาธิได้ผนวกไว้กับการเดินจงกรมแล้วมานั่ง มันจะเกิดได้ทันเวลาและได้ปัจจุบันดี
    ในการนั่งต่อจากการเดินที่ผ่านมา สมาธิก็เพิ่มผลิตผล ตั้งอยู่ได้นาน ทำให้เราเห็นพองหนอยุบหนอ ได้คล่องแคล่วดี แล้วเพิ่มญาณวิถีได้ถูกต้อง ด้วยการเดินจงกรมทุกครั้ง

    โยมบางคนบอก เดินจงกรมลำบาก นั่งเลยเถอะ นั่นแหละโยมจะไม่ได้อะไรเลย ได้น้อยที่สุด แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำเสียเลย นอนดีกว่า ใช่แล้ว นอนก็กำหนด พองหนอ ยุบหนอ บางคนนั่งไม่ถนัด ขาไม่ดี นอนก็ได้ นอนกำหนดไป บางคนไม่กำหนด นอนก็หลับไป ก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น นี่อยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นการกำหนดนี่ต้องปัจจุบันข้อเดียว อธิบายข้อเดียวให้โยมฟัง
    ถ้าจิตจะออก สติดีเข้า ขยับปั๊บกำหนดทันที รู้หนอเลย ถ้ากำหนดพองหนอ ยุบหนออยู่ ให้หยุด แล้วกำหนดรู้หนอ จิตจะออกแล้ว มันจะขยับแล้ว มันจะเพลิน จิตมันจะออกตอนเผลอ ถ้าเผลอแวบไปเลย แวบโดยไม่รู้ตัว ที่โบราณท่านบอกว่า จิตไวกว่าเครื่องบิน ถูกต้อง มันไวเหลือเกิน มันลิงแท้ ๆ เหมือนไก่เปรียวที่ขังสุ่มฉะนั้น มันก็เลาะสุ่มอยู่ชั่วคราว ในไม่ช้ามันก็เชื่องลง เหมือนปฏิบัติอย่างนี้

    ทำจิตเชื่องจึงต้องผูก ถ้าไม่ผูกมันก็พล่านไปพล่านมาคือ จิต ตัวผูกคือเชือกนั้นได้แก่ สัมปชัญญะ ตัวกำหนด ให้ลิงมันอยู่ แต่ลิงก็อยู่ไม่ได้มันเผ่นไปทางโน้น แต่ก็ดึงเข้าไว้ ต้องดึงเข้าไว้ เชือกมันยาวเท่าไร ลิงมันก็ไปแค่เชือก ถ้าเชือกสั้นเท่าไร ลิงก็อยู่แค่สั้น ๆ

    และกำหนดไป เชือกยาวทำให้สั้น ต่อไปลิงคือจิตมันจะไม่ออกไปคิดยาว ไม่ออกไปเพ่นพ่านยาว ก็ออกไปใกล้ ๆ ตัว ทำให้เรารู้ได้ง่าย สติ คือเชือกมันจึงผูกลิงคือจิตไว้อยู่ได้

    ถ้าเราพลาดจากสติตัวเดียวแล้ว รับรองว่าสมาธิก็พลาดไปด้วย ทำอะไรก็ไม่มีหลัก ทำอะไรก็ไม่ดีขึ้น อยู่ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ

    ฉะนั้นพองหนอยุบหนอ ไม่ต้องไปถามนิมิต และถามว่าเวทนากำหนดหายไหม? ใหม่ ๆ ไม่มีทางหาย มีแต่ทางเพิ่ม อาจารย์จะลองว่า

    กำหนดหายไหมโยม ปวดหนอ หายไหม? โอ้โฮ! ยิ่งกำหนดยิ่งปวดใหญ่ ถูกแล้ว ยิ่งกำหนด อุปาทานยิ่งยึดมากเท่าไร ยิ่งปวดมากเท่านั้น

    แต่ก็เป็นการศึกษาเป็นการเรียนเวทนา ทำให้เรารู้เวทนาว่ามีอำนาจถึงขนาดนี้

    ปวดทั่วสกนธ์กาย ยิ่งกว่าเอาเข็มมาแทงกระดูก ปวดถึงขนาดนั้น เอาละตายให้ตาย พอถึงสุดขีดของมัน มันจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เวทนาก็จะซ่าหายไป อุปาทานที่เป็นจุดของสมถะมันก็จะพราก จะไม่ไปยึดอีก

    อุปาทานไม่ยึด มันก็แยกรูปแยกนามได้ตอนนั้น เรียกว่า รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ
    นักปฏิบัติธรรมไม่เข้าใจมาก นี่แหละจิต มันออกอย่างไรก็ไม่กำหนด กำหนดแต่พองหนอ ยุบหนอ จิตก็ไปคิดเลเพลาดพาด ปากก็พองหนอยุบหนอ อย่างนั้น เลยก็ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น ต้องมีวิธีแก้

    วิธีปฏิบัติ ต้องทำให้มันถูกเค้าเงื่อน เพื่อเตือนสติ เตือนใจ ให้เราได้และทำให้เราคุ้นเคยกับจิต โดยสิ่งแวดล้อมของสติ ก็ล้อมวงมันไว้ได้ หนักเข้าเชื่องลงเหมือนเลี้ยงไก่เปรียวฉะนั้น ในเมื่อเชื่องลงแล้วก็ปล่อยสุ่มได้ ปล่อยออกจากกรงขัง แล้วไก่ก็ไม่ไปไหน มันก็เชื่อง

    เหมือนจิตเราก็เช่นเดียวกัน ต้องฝึก ต้องปฏิบัติ ถ้างูบแล้วต้องกำหนดนะ รู้หนอ ๆ รับรองได้เลยว่า มันจะไม่งูบอีก มันจะงูบน้อยลงไป บางทีก็โยกตัว โยกไปทางโน้น โยกไปทางนี้ ปีติผสมกัน ทำให้ตัวโคลงและโยกทำให้ตัวเบา กำหนดรู้หนอ ๆๆ
    ถ้ามัน โยกมาก ไปกำหนดไม่หาย ปักจิตตรงใต้สะดือ ๒ นิ้ว ปักให้ต่ำ เดี๋ยวหายทันที นี่วิธีแก้ มันมีวิธีแก้ทุกอิริยาบถ ไม่ใช่ว่าทำส่งเดชไป มันก็มีวิธีแก้อย่างนั้น

    งูบหรือ กำหนดไม่ทันก็กำหนดรู้หนอ ต่อไปถ้างูบอีกมันจะรู้แล้ว บางครั้งสมาธิแรง ขาดสติ มันงูบลงไป ศีรษะโขกกระดานก็

    มี โขกโดยไม่รู้ตัว โขกแรงด้วย แล้วเราก็กำหนด รู้หนอ ให้นาน ๆ ร้อยครั้ง พันครั้ง เดี๋ยวเกิดต่อไปจะไม่งูบ
    เดี๋ยวจะเกิดจิตดับ เกิดขึ้น ดับวูบ เกิดสมาธิ ญาณทัศนวิสุทธิ มันก็เกิดขึ้น

    บางครั้งมันก็กำหนดได้คล่องแคล่ว บางครั้งก็กำหนดได้ตื้อ ไม่พองยุบ มันก็เกิดญาณเป็นขึ้นตอน
    แล้วพองยุบมันตื้อ เดี๋ยวก็คล่องเดี๋ยวก็ไม่คล่อง อย่าเข้าใจว่าทำไม่ได้ มันเป็นตามญาณของมัน ตามสมาธิของมัน มันจะต้องเป็นอย่างนั้นแหละหนอ

    บางครั้งเมื่อคืนนี้ เรากำหนดคล่องแคล่วดี มาคืนนี้กำหนดตื้อ มันยากไปหมด กำหนดมันอึดอัด นั่นแหละมีสมาธิดีอันหนึ่ง มันมีอุปสรรค มันก็เป็นไปตามขั้นตอน ตามบันไดของมัน

    เราก็ต้องกำหนด ต้องฝืนกำหนดทีเดียว ต้องตั้งสติให้ดี อย่าเลิกนะพอถึงตอนดี โยมไปเลิกเสียหมดแล้วนี่ตรงนี้สำคัญ ต้องสังเกต เพราะโยมขาดการกำหนด อายตนะ ธาตุอินทรีย์ ไม่ได้กำหนดเลย ต้องเก็บเล็กผสมน้อยเข้ามานะ
    ถ้ากำหนดทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ในได้เมื่อใด พองยุบจะชัดขึ้นมา จิตจะกำหนดได้คล่องแคล่วขึ้น ตั้งสติได้ไวมาก
    จิตจะเพ่นพ่านไปทางไหน ก็จะจับจิตได้ถูกต้อง มันจะเชื่องลง ทำอะไรก็มั่นคง เรียกว่า สมาธิ ทำให้เรามั่นต่อเหตุการณ์เหล่านั้น ทำอะไรก็สำเร็จเผด็จผลทุกประการ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ

    เพราะฉะนั้นการปฏิบัติกรรมฐาน จึงมีประโยชน์ประจำชีวิตของโยม ทำให้โยมรู้จักค่าของชีวิต อีกประการหนึ่งขอให้หมั่นทำนะ นั่งเก้าอี้ก็ได้

    ถ้าเราไปทำงานราชการ หรือที่ร้านค้า ไม่มีที่นั่งสมาธิ เรานั่งขายของก็นั่งบนเก้าอี้ ลมหายใจเข้าออกเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ใช้สติอัดเข้าไปอย่างนั้น รู้ว่าลมหายใจเข้าออกช้าหรือไว สั้นหรือยาว ตั้งสติตามไปจนคุ้นเคย เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป แล้วจิตก็เกิดปัญญา

    จะทำงานก็สดชื่น จะค้าขายก็มีปัญญา ทำอะไรก็ขายดิบขายดี อยู่ตรงนี้เหมือนกัน นี่อารมณ์ดี มันอยู่ตรงนี้ มิใช่ว่าต้องเสกคาถาเลย

    ถ้าระบบเลือดลมเดินดี และอารมณ์ก็ดีด้วย ทำอะไรก็ดีไปหมด ทำอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง อยู่ตรงนี้เหมือนกัน
    ถ้าหากว่าระบบเลือดลมไม่ดี ระบบจิตมันก็เสียไปด้วย และเราขาดสติสัมปชัญญะด้วย อารมณ์ก็ร้าย จะทำอะไรก็เสียหาย หุนหันพลันแล่นเสมอมา ตัวนี้ตัวขาดปัญญา
    ในเมื่อไม่มีปัญญาเช่นนี้แล้ว ทำอะไรก็เสียข้าวเสียของ ไม่นึกถึงวันข้างหน้าข้างหลัง มันก็เกิดขึ้น
    ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดีแล้ว จะรู้วันข้างหน้าข้างหลัง รู้สิ่งที่มีประโยชน์อย่างไร รู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นปัจจุบัน จะแก้ไขมันอย่างไร มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันมาก ขอฝากญาติโยมไว้ในวันนี้

    วันนี้ก็ชี้แจงพอสมควร ให้โยมได้เข้าใจขั้นต้น สำหรับการปฏิบัติ เดินจงกรมให้ช้าที่สุด ถ้าหวิว วูบ ขณะเดินให้หยุด หยุดกำหนด อย่าขืนเดิน ขณะเดินจิตคิดก็กำหนดหยุดยืนอยู่ กำหนดให้จิตกลับมาให้ปกติก่อน แล้วค่อยเดินต่อไป
    แล้วต่อไปโอกาสข้างหน้า โยมจะไม่มีความคิดจะเร่ออกไปอย่างนั้น ถึงจะมีมันก็น้อยลงไป จิตที่ฟุ้งออกก็น้อยลง น้อยลง จะดีขึ้น ดีขึ้น การพัฒนาจิตก็ดีขึ้น

    จากการทำงานด้วยกรรมฐาน โยมจะมีความเจริญรุ่งเรือง จิตใจสบายและกิจการค้า กิจการงานที่มี เราจะแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงริเริ่มตลอดเวลา

    และเกิดดับ เกิดที่ดีก็ดับไปสะสมไว้ในใจ เกิดไม่ดีมันก็ดับแล้วก็ขยายถ่ายออกไป ความเสียหายนั้นมันก็จะไม่เอามาไว้ในจิตใจ สิ่งที่ดีเป็นเหตุผลก็เอาไว้ในใจ สิ่งที่เกิดเป็นเหตุที่ไม่ดี เราถ่ายมันออกไปด้วยการกำหนดจิต
    มีสติดีมากเท่าไร ความชั่วในตัวเราก็เอาออกไปมากเท่านั้น ถ้าสติไม่ดี ความชั่วอาจจะปนอยู่ในจิตใจของเรา มันมีทั้งดี ทั้งชั่ว มีทั้งผิด ทั้งถูก อยู่ในตัวเราครบ

    ถ้าเรามีสติครบแล้ว ความชั่วร้ายมันจะออกไปโดยอัตโนมัติ มันจะไม่อยู่ในจิตใจของเราเลย และจิตใจของเราก็สบาย ทำอะไรก็มีศักดิ์ศรี มีมิ่งมงคล อยู่ในชีวิตของตน คือผลของงานนั้น ๆ นี่แหละการปฏิบัติจึงมีประโยชน์

    ประการที่สอง ปฏิบัติได้แล้วออกจากกรรมฐาน โยมจิตว่าง จะแผ่ไปให้ใครก็แผ่ไป แผ่ไปให้ลูกอยู่เย็นเป็นสุข แผ่ให้บิดามารดา จงเกิดเจริญสุข เมื่อเกิดมีสุขในพฤติกรรมของเราอย่างไร พ่อแม่เราก็มีความสุขอย่างนั้น

    ถ้าเราขาดความสบาย มีความทุกข์ แผ่ตอนนั้นไปให้ใคร แผ่ให้ลูกลูกก็ทุกข์ด้วย เอาความทุกข์ไปให้ลูกเสียแล้ว แผ่ตอนไม่สบายใจ ตอนเศร้าใจ หมองใจ คิดถึงแม่แล้วก็แผ่ออกไปรับรองไม่ได้ผลนะ เอาของไม่ดีไปให้แม่ของเรา
    ถ้าแม่ของเราเจริญกรรมฐานอยู่ท่านจะไม่รับรู้ เพราะปิดประตู ไม่รับ นี่จุดหมายสำคัญของการทำกรรมฐานเบื้องต้น
    ขอให้ญาติโยม ตั้งใจอยู่ในจุดนี้ เวลากำหนด อย่าไปเคร่ง อย่างไปเกร็ง หายใจสบาย ๆ อย่าปักลึกนักในที่ท้องพองหนอ ยุบหนอ เราก็กำหนดหายใจยาว ๆ แล้วตั้งสติไว้เท่านั้น เอาสติวางไว้ที่ท้อง ลมหายใจเข้าออกขณะนอน โยมจะจับตอนที่หลับว่าเราจะวูบไปตอนไหน สติจะดี

    ตื่นมาจะชื่นใจ จะไม่เพลียแต่ประการใด และจิตใจจะชุ่มชื่นในขณะที่นอนนั้น ลมหายใจเข้าออกก็อากาศดีในตัวเรา เลือดลมเวียนวนในตัวเราดีตื่นลุกขึ้นมา จะไม่เวียนศีรษะ จะไม่วูบไม่ล้มแน่ ๆ อยู่ตรงนี้นะ เราจะพรวดพราดลุกเลยก็ได้ เพราะสติรวมไว้ตอนหลับ

    ถ้าหากว่าไม่รวมไว้ตอนหลับ เลือดลมไม่ดีแล้ว ตื่นต้องระวัง ต้องนั่งก่อน แล้วค่อยลุกยืนขึ้น มิฉะนั้นโยมจะล้มไปเป็นอัมพาต นี่เป็นเรื่องหลัก

    หัวใจยังสูบฉีดขึ้นสมองยังไม่ครบ ลุกไปจะหน้ามืด ความดันต่ำ แล้วจะล้มหน้ามืดลงไป ส่วนใหญ่จะเป็นอัมพาต อันนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนในสติปัฏฐาน ๔ ดังที่กล่าวมาแล้ว
    สุดท้ายนี้ขออนุโมทนาขอให้โดยกำหนดให้ได้ปัจจุบัน เราจะได้เป็นสมณะผู้สงบ สำรวมกายวาจา และจิตก็มั่นอยู่ต่อการงานที่ทำ ทำอะไรก็สวยน่ารัก นี่คือศีล สุคติเป็นที่หวังได้ โภคสมบัติก็นองเนือง ทรัพย์สินเงินทองก็หลั่งไหลมาในตัวเอง และตัวเองก็ปลูกสร้างด้วยความดีคือธรรมะ มีปัญญา ของดีอยู่ที่จิตใจ จิตใจดีจะได้ของใช้ดี จิตใจเลวจะได้ของเลวใช้ จิตใจสับสนจะได้ของปนกันมาใช้ ขอฝากไว้เท่านี้


    http://www.mindcyber.com/life/smati/smati_1121_1.php
     
  4. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    วิปัสสนา – พัฒนาจิต
    โดย พระครูภาวนาวิสุทธิ์
    ณ. อุโบสถวัดอัมพวัน ค่ำวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๙
    การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าพูดตามสมัยใหม่เขานิยมเรียกว่า มาพัฒนาจิต มาพัฒนาคุณธรรม ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่โน้น ทรงชี้แจงต่อพุทธศาสนิก ให้บำเพ็ญจิตภาวนา พัฒนาจิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตโดยใช้สติปัญญาเป็นอาภรณ์ประดับจิตนั่นเอง
    วิธีปฏิบัติในสติปัฏฐานสี่ ที่เรียกว่า ทางสายเอกของพระพุทธเจ้านั้นเอง เรียกว่าการเจริญวิปัสสนา เป็นธุระหน้าที่ที่เราจะต้องดำเนินวิถีชีวิต โดยใช้สติปัญญาเป็นอาวุธ เพื่อไม่ให้พลาดผิดในการทำงานทุกอย่าง เพราะหน้าที่และการงานเป็นผลงานของชีวิตที่เราต้องทำโดยใช้สติปัญญาตลอดเวลา แต่การทำงานที่ประกอบไปด้วยปัญญานั้น ถ้าเราไม่ฝึก เราไม่อบรม ด้วยความอดทนอย่างยิ่งแล้ว เราจะไม่พบความจริงดังที่กล่าวแล้ว

    เริ่ม ยืน-เดินจงกรม
    การเดินจงกรม ยืนกำหนดต้องใช้สติกำหนดมโนภาพ อันนี้มีประโยชน์มาก แต่นักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยปฏิบัติจุดนี้ ปล่อยให้เลยล่วงไปเปล่าโดยใช้ปากกำหนดไม่ได้ใช้จิต ไม่ได้ใช้สติกำหนดให้เกิดมโนภาพ อันนี้มีความสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติมาก ผู้ปฏิบัติต้องจับจุดนี้ คำว่า ยืนหนอ ๕ ครั้ง ยืนอยู่นั้นต้องหลับตาวาดมโนภาพ เพราะจิตนี้มันวุ่นวายฟุ้งซ่าน คิดอ่านอยู่เสมอ แต่แล้วเราใช้สติกำหนดตามจิตโดยว่า ยืนหนอ ๕ ครั้ง

    อาตมามีวิธีปฏิบัติให้เอามือไพล่หลัง มือขวาจับมือซ้าย ก็ต้องการให้ตรงกระเบนเหน็บ หลังจะไม่งอในเมื่อเฒ่าแก่ชราลงไป บางท่านก็ถนัดเอามือไพล่ข้างหน้า ก็ใช้ได้แต่โดยวิธีการแล้ว ทำให้ต่อตัว ทำให้หายใจไม่ปกติ ปอดผายไม่เข้าสู่ภาวะ
    และคำว่า ยืน ๕ ครั้ง ท่านทั้งหลายทำได้แล้วหรือยังว่า กำหนดจิต ต้องใช้สติ ไม่ใช่ว่าแต่ปากว่า ยืนหนอ ๆๆๆ แล้วก็ลืมตา ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ไม่ได้มีจังหวะ ไม่ได้ใช้สติควบคุมจิต ดูแลจิต ให้มันได้จังหวะตัวกำหนด ไอ้ตัวกำหนดเป็นตัวฝึก อันนี้มีความสำคัญ อาตมาจึงต้องขอย้ำไว้ ซ้ำข้อนี้ เน้นหลักในข้อนี้ให้มาก เพราะมันมีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ เอาไปใช้ในกิจประจำวันได้อย่างดีที่สุด คำว่า ยืนหนอ นี้ไม่ใช่หมายความว่า กำหนดย่างนี้เสมอไป ต้องใช้จิตปักลงที่กระหม่อม กระหม่อมของเราทุกคนอยู่ตรงไหน ตั้งสติไว้ตามจิตลงไป........ไม่ง่ายเลย แต่ต้องทำซ้ำ ๆ ให้เคยชิน ให้สติคุ้นกับจิต จิตคุ้นกับสติอย่างนี้ ถึงจะเกิดสมาธิ ไม่ใช่หมายถึงว่าเรากำหนดแล้วได้ผลเลยนะ ยังไม่ได้ผล แต่เราทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ ให้เคยชิน เราต้องมีการฝึกจิตอยู่ที่กระหม่อม วาดมโนภาพลงไปให้ช้า ๆ ลมหายใจนั้นก็ไม่ต้องมาดู แต่หายใจให้ยาว ๆ มันจะถูกจังหวะ แล้วตั้งสติตามจิตไปว่า ยืน ที่กระหม่อมแล้วก็ หนอ......ลงไปที่ปลายเท้า ดูมโนภาพ จะเห็นลักษณะกายของเรายืนอยู่ ณ บัดนี้ เห็นกายภายนอก น้อมเข้าไปเห็นกายภายใน

    แต่โดยวิธีปฏิบัติแล้ว ต้องเอาข้างในออกข้างนอก จึงจะมีข้อคิดให้เกิดปัญญาได้ ถ้าเราลืมตาขณะที่ยืนหนอ ๕ ครั้งแล้ว มันเห็นแต่ภายนอก แต่ภายใน สภาวธรรมมันจะเห็นได้ยาก จึงต้องหลับตา จะได้ไม่มองเห็นสิ่งอื่น สิ่งแวดล้อมที่เรายืนอยู่ ณ บัดนั้น แล้วไม่เห็นกายข้างนอก ให้เห็นกายภายใน กายภายในกายนั้น ต้องประกอบไปด้วยสติ แล้วก็จิตปักลงไปว่า ยืน....หนอ....ลงไปถึงปลายเท้า เห็นชัดมาก แล้วก็สำรวมที่ปลายเท้า อย่าเพิ่งกำหนดให้มันติดกัน ยืนตั้งแต่ปลายผมลงไป จากกระหม่อมลงไปถึงปลายเท้าว่า ยืน....หนอ....หรือยืนนั้น จิตปักไปถึงสะดือแล้วหนอ จากสะดือลงไปปลายเท้า ให้ได้จังหวะอย่างนั้น ไม่ใช่ยืนหนอแล้วก็จิตไปถึงปลายเท้า อันนี้เป็นอดีตแล้ว

    เพราะวิธีปฏิบัตินี้ทำยาก ต้องทำให้ได้จังหวะ ได้ระบบของเขา มันจึงจะเกิดปัญญา เกิดสะสมเข้าไว้ด้วยดี โดยวิธีนี้
    คำว่า ยืน ปักลงที่กระหม่อมแล้วสติตามลงไปเลย วาดมโนภาพ ยืน....ถึงสะดือ ร่างกายเป็นอย่างนี้แหละหนอ จากสะดือลงไปก็ลง หนอ....ลงไปที่ปลายเท้า อย่างนี้ทำง่ายดี สำรวมใหม่สักครู่หนึ่ง จึงต้องอย่าไปว่าติดกัน ถ้าว่าติดกันมันไม่ได้จังหวะ
    ขอให้ญาติโยมผู้ปฏิบัติทำตามนี้จะได้ผลอย่างแน่นอน

    อันนี้เริ่มต้น ยืน....มโนภาพ หายใจยาว ๆ หายใจให้ยาว ๆ ว่า ยืน....ถึงสะดือแล้ว รวมจุดศูนย์สะดือ มโนภาพ หนอ....ลงไปปลายเท้า เห็นเท้าทั้งสองโดยมโนภาพยังไม่ชัด ครั้งหนึ่งยังไม่ชัด

    ครั้งที่สอง สติก็ตามสำรวมที่ระลึกก่อนว่า เท้ามีสองข้างจากปลายเท้านั้น รวมอยู่ในจุดของเท้าทั้งสองข้าง แล้วก็บอกว่า ยืน....ขึ้นมาถึงสะดือ หนอ....เรื่อยมาถึงกระหม่อม นี่ครั้งที่สอง

    ครั้งที่สามจะชัด ยืน....ถึงสะดือ แล้วตั้งสติไว้ตามจิตที่ผ่านไปแวบถึงสะดือ แล้วสองบอก หนอ....จากสะดือถึงปลายเท้า สำรวมอย่างนั้นจึงจะได้จังหวะ

    พอครั้งที่สี่ชัดขึ้น สำรวมจากปลายเท้าทั้งสอง เห็นได้ชัดแล้ว อันนี้เห็นชัด จิตก็ไม่กระสับกระส่าย ครั้งที่สี่นี้จิตไม่กระสับกระส่ายแน่นอน สำรวมอยู่ที่ปลายเท้า แล้วก็ตั้งสติไว้ให้ดีก่อน ระลึกว่าเท้าทั้งสองข้างมีอะไรบ้าง แล้วก็จึงกำหนดจิต ใช้สติตามว่า ยืน....ขึ้นมาถึงสะดือ จากสะดือต่อว่า หนอ....ขึ้นมาถึงปลายผม คือกระหม่อมเป็นครั้งที่สี่

    ครั้งที่ห้านี้ชัดขึ้นไปกว่ายืนหนอในขั้นต้น ในข้อหนึ่งยืนครั้งที่ห้า ยืน....ถึงสะดือแล้วสำรวมจิตลง หนอ....ลงไป มันจึงจะได้จังหวะดี ผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจทำวรรคตอนเลย ก็ยืนหนอ ๆๆ ว่าไว ๆ จิตก็กำหนดไม่ได้ จิตมันเร็วแต่สติตามไม่ทัน เลยสมาธิไม่เกิด ปัญญาจะได้มาจากไหนเล่า สมภาคแสดงออกจะไม่ทราบ

    ขอนักปฏิบัติธรรม ทำตามแบบนี้ แล้วสำรวมลงไปปลายเท้า ครั้งที่ ๕ ยืน....ถึงสะดือแล้ว หนอ....ลงไปช้า ๆ ถึงปลายเท้า หนอพอดีที่เท้าทั้งสองยืนอยู่ที่พื้นนั้น แล้วก็ลืมตาทันที ลืมตาอย่าเพิ่งกำหนด ลืมตาดูเท้าสักครู่หนึ่ง ตั้งสติไว้ให้ดีจึงได้เขยื้อนเคลื่อนกาย

    ขวา ยกขึ้นมา แล้วก็สัมปชัญญะบอกให้รู้ปัจจุบัน ย่าง....หนอ....ลงพื้นพอดี จิตดวงนั้นไปไหน ถ้าเห็นสภาพความเป็นอยู่ของจิตมันจะรู้ว่าวูบลงไปตรงไหนอย่างไร จิตดวงใหม่จะแสดงออก คือบอกให้ทราบใหม่เกิดขึ้น จิตก็เกิดดับอย่างนี้
    ถ้าท่านทั้งหลายทำเร็ว ท่านจะไม่มองเห็นธรรมชาติของจิตในสภาวธรรม จึงต้องทำให้ช้าที่สุด ที่จะช้าได้เท่าไรยิ่งดีที่สุดโดยวิธีนี้ ลมหายใจเข้าออกด้วยวิธีกำหนดนี้มันก็ล่าช้าลงไป ทำให้เห็นภาวะข้างในได้ชัดเจน นี้ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ไม่ใช่กำหนดแต่ปากอย่างที่เคยกำหนดกัน เดี๋ยวเราก็ไม่มีสติเลย จิตมันก็วูบวาบไปที่โน่น คลอนแคลนไปที่นี่ เดี๋ยวแวบที่นั่น แวบที่นี่ กระสับกระส่ายอยู่เสมอ อันนี้เราทำได้จังหวะแล้ว จิตจะไม่กระสับกระส่ายแต่ประการใด

    แล้วขวาย่างหนอ....ลงพื้น ซ้ายย่างหนอ....ลงพื้นพอดี ทำช้า ๆ เดินจงกรมไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นได้ว่า อ๋อ ขวากับซ้ายมันอันเดียวกันหรือไม่ จะเห็นชัด แสดงออกตอบไดทันที่ว่ามันเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า ตอบได้ด้วยตนเอง ประการที่สอง จิตที่กำหนดขวากับจิตที่กำหนดซ้ายเหมือนกันไหม คล้ายคลึงกันไหม จะไม่เหมือนกันเลยนะ มันดับวูบลงไปแล้ว จิตดวงใหม่เกิดขึ้นขณะเกิดขึ้นนั้น คือสติระลึกก่อน มันจะบอกว่าซ้าย ยกขึ้นมาพอดีได้จังหวะ นั่นคือตัวสติ เป็นตัวกำหนดใหม่ แล้วก็ย่าง....หนอ ลงพื้นพอดี สติมา สัมปชาโน มีสติเกิดขึ้น ระลึกก่อนปัจจุบันธรรมก็ได้ผล คือ สัมปชัญญะปัพพะ ปัญญาก็เกิดขึ้น ภาวะธรรมสภาพความเป็นอยู่ของการปฏิบัติก็ชัดลงไป มันก็แจ้งชัดแล้วคล่องแคล่วดีกว่าเดิม

    ขอให้นักปฏิบัติเดินให้มาก ๆ ถ้าท่านผู้ใดเดินไม่ได้เพราะขาไม่ดี ปวดแข้งปวดขา เดินไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไรนะ เราก็นั่ง เราก็นอนได้ ทุกวิถีทางอิริยาบถ ๔ ทำได้ทุกอิริยาบถ แต่ถ้าเราอินทรีย์พร้อมมูลบริบูรณ์ดี ก็ยืนเดินนั่งนอนได้ ก็ทำให้เราทำได้ไว ทำให้ติดต่อกัน ไปได้ไวมากโดยไม่ขาดสาย

    แต่พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงแสดงไว้ว่า การปฏิบัตินี้จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ จะนั่งก็ได้ จะนอนก็ได้ ในอิริยาบถ ๔ ด้วยกาย เวทนา จิต ธรรม ในภาคกาย ในภาคเวทนาต้องครบ เพราะทุกคนต้องมีเวทนาด้วยกันไม่พลาดแน่ ไม่ใช่นั่งสบาย ไม่มีเวทนาเลย นี่แหละ อริยสัจ ๔ ก็ครบในอิริยาบถ นี่เหมือนกันโดยกาย เวทนา จิต ธรรม มันก็อยู่ตรงนี้ทั้งนั้น
    ต้องมีภาคกาย ภาคเวทนา ปวดเมื่อยทุกข์กาย ทุกข์ใจ สุขกาย สุขใจ และก็เป็นแบบเรียนเป็นบทเรียนให้เรา ที่เราจะต้องใช้เป็นตำราอยู่ในเวทนาครบ สติก็ดีขึ้นในเวทนา ด้วยวิธีฝึกกำหนดเวทนาเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป แล้วอนิจจังไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ก็แก้ไขได้โดยอนิจจังคือความไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์อย่างนี้แหละหนอ แล้วอนัตตาก็แสดงให้เราเห็นเป็นพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป สูญไปไม่มีอะไรติดตัว เดี๋ยวก็วนมาอีกเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ก็เรียกว่าอนัตตา มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติของมันเองโดยเฉพาะ เรียกตามศัพท์ภาษาธรรมะก็เรียกว่าพระไตรลักษณ์ เกิดขึ้นแก่เราในขณะนั้น ปัญญาถึงจะเกิดต่อภายหลัง จึงเรียกว่า วิปัสสนาตอนนั้น ตอนต้นก็เรียกว่าอุปาทาน ยังมีขันธ์ในอุปาทาน ยังยึดขันธ์อยู่ เช่นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มันมีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ที่เราครบ

    ปรารภกำหนดก็มีอยู่ ๒ ประการ มีรูปกับนามเท่านั้น อย่างอื่นหาได้มีไม่ เลยก็ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเราไม่มีเขา แล้วจะมีทิฐิมานะต่อกันอย่างไรเล่า อันนี้ภาวะมันจะบอกเองโดยเฉพาะอีกประการหนึ่ง

    ในเมื่อขณะที่กำหนดยืนหนอ บางคนเข้าผลสมาบัติได้ ไม่จำเป็นต้องพองหนอ ยุบหนอ พอยืน....หนอ ยืน....สำรวมขึ้นมาหนอ บางคนปัญญาเกิดตอนนั้น ได้ผลตอนนั้น ยืนวูบลงไปที่สะดือ วูบลงไป ๓ ชั้น จิตเป็นภาวะ ผลสมาบัติเกิดขึ้นเลยไม่รู้ภาวะนอก รู้ภาวะข้างใน ยืนอยู่เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ภาวะข้างนอกไม่สัมผัสก็เรียกว่า เข้าผลสมาบัติตอนยืนหนอได้ ไม่ใช่เข้าผลสมาบัติเฉพาะตอนพองหนอ ยุบหนอทุกคนไป บางคนได้ตอนยืนหนอ สติสัมปชัญญะดี สมาธิดี มันจะวูบลงไปถึงสะดือแล้ววูบอีกครั้งหนึ่ง มันจะปิดอายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ในภายนอกแล้วภายในจะแสดงออกด้วยปัญญา เขาเรียกว่าพละพลังของสมาธิ ประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะภายใน เรียกว่าเข้าผลสมาบัติ ขณะที่ยืนหนอได้ทันที

    ตรงนี้สำคัญนะ ผู้ปฏิบัติอย่าคิดว่ายืนหนอไม่ได้ผล ต้องเอาข้อนี้ก่อนเป็นหลัก แล้วเราก็เดินจงกรมไปเรื่อย ๆ บางคนเดินจงกรมหวิวทันที เวียนศีรษะ แต่แล้วเกาะข้างฝากำหนดเสียให้ได้ คือเวทนา จิตวูบลงไป แว้บลงไปเป็นสมาธิขณะที่เดินจงกรม แต่เราหาได้รู้ไม่ว่าเป็นสมาธิ กลับหาว่าเป็นเวทนาเลยเป็นลม เลยเลิกทำไป ข้อเท็จจริงบางอย่างไม่ได้เป็นลม แต่เป็นด้วยสมาธิในการเดินจงกรม มันวูบมันหวิวเหมือนอย่างที่เราเดินเวียนศีรษะ ฉะนั้นมันอาจเป็นได้หลายวิธี มันอาจเป็นด้วยเป็นลมก็ได้ ไม่แน่นอน บางครั้งสมาธิเกิดขณะที่ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มันจะหวิวลงไป เหมือนเป็นลมฉะนั้นขอให้ผู้ปฏิบัติกำหนด หยุดการเดินจงกรม กำหนดหวิวเสียให้ได้ กำหนดรู้หนอเสียให้ได้ เดี๋ยวท่านจะเกิดปัญญาในขณะนั้นทันที จากการเดินจงกรมนั่นเอง อันนี้มีวิธีบอกแก้

    บางทีเดินจงกรมไปมีเวทนา อย่าเดิน หยุด-กำหนดเวทนาเป็นสัดส่วนให้หายไปก่อน และให้รู้จักหลักเวทนาเหมือนครูมาสอนโดยธรรมชาติของเวทนาต้องจัดเป็นรูปแบบและสัดส่วนให้เกิดปัญญา แต่ละอย่างแยกรูปแยกนามได้ เวทนาก็แยกได้ ด้วยการเดินจงกรมนั้นเช่นเดียวกัน

    เดินไปอีก หวิว-เวียนศีรษะ คิดว่าไม่ดี หยุด กำหนดหวิวหนอซะ ตั้งสติไว้เสียให้ได้ให้ดีก่อนและเดินต่อไป ปัญญาเกิดทันทีสมาธิมา ปัญญาเกิดในการเดินจงกรมทันที จะทำให้รวบรวมสมาธิตั้งไว้ได้นานดีกว่านั่ง แล้วไปนั่งก็ติดต่อกันไปโดยวิธีนี้ประการหนึ่ง มีอะไรก็กำหนดไปเป็นอย่าง ๆ อย่าไปสับสน

    ขณะเดินจงกรมจิตออกไปข้างนอกขณะเดิน หยุด กำหนดหยุดเสีย กำหนดจิตเสียให้ได้ที่ลิ้นปี่ กำหนดคิดหนอ คิดหนอ ยืนหยุดเฉย ๆ ตั้งสติไว้เสียให้ได้ แต่ละอย่างช้า เดี๋ยวสติดีปัญญาเกิด จิตนั้นกลับมาสู่ภาวะแล้ว ก็มีความรู้เก็บหน่วยกิตเข้าไป คือตัวปัญญา จากการกำหนดนั้นมีความสำคัญอีกประการหนึ่งนี้สำคัญมาก

    เดินต่อไปอีกปัญญาก็สะสมไว้จากการเดินจงกรม ทำให้เกิดคล่องแคล่ว ทำให้ขวาย่างซ้ายย่างเห็นชัด รู้จักคำว่าแยกรูปแยกนาม รู้จักคำว่าจิตคนละดวง รู้จักคำว่าซ้ายย่าง ขวาย่างคนละอัน และก็ย่างไปมีกี่ระยะ จิตที่กำหนดนั้น มันเป็นขั้นตอนประการใด ผู้ปฏิบัติจะแจ้งแก่ใจชัดมาก ในตอนนั้นถามจะต้องตอบได้ตามญาณวิถี อย่างนี้เป็นต้น

    ขณะที่จิตออกก็กำหนด จิตฟุ้งซ่านก็กำหนด ทุกอย่างเป็นเรื่องกำหนดทั้งหมด และเราก็ได้เวลามานั่งต่อไป และขณะที่เราตั้งสัจจะว่า จะเดินจงกรมเพียง ๓๐ นาที แล้วเราหาที่นั่งไว้ พอได้ ๓๐ นาทีก็เกิดสัจจะ แล้วก็เดินจงกรมมานั่งที่จัดสถานที่เข้าไว้ จะตรงไหนก็ตามแล้วเราก็มานั่ง นั่งย่อตัวลงไปว่านั่งหนอ ๆ ต้องปฏิบัติให้ติดต่อ เหมือนด้ายกลุ่มออกจากลูกล้อ อย่าให้ขาดสาย ต้องปฏิบัติโดยต่อเนื่อง กำหนดได้ทุกระยะ อย่าไปขาดตอน ไม่ใช่เดินจงกรมเสร็จแล้วไปทำงานอื่นแล้วกลับมานั่งทีหลัง ผู้ปฏิบัติจะไม่ได้ผล จะไม่ได้ผลเลย

    ถ้าเรานั่งติดต่อกันโดยเจ็ดวัน ท่านได้ผลแน่ภายใน ๗ วัน ได้แน่นอน เป็นการสะสมหน่วยกิตไว้ในวันที่ ๗ ท่านจะรู้เรื่องในญาณวิสุทธิ มีสติได้ดีกว่าเดิมที่ผ่านแล้ว มันจะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนของระยะของเขานั่นเอง เพราะทำติดต่อกันไม่ใช่ว่าวันนี้นั่งสมาธิเดินจงกรม พรุ่งนี้เว้น มะรืนทำต่อไปและเว้นต่อไปอีกหลายวัน ทำอย่างนี้แล้วท่านจะไม่ได้ผล ถ้าเราฝึกแล้วขอให้ฝึกติดต่อกันไป โดยวิธีปฏิบัติอย่างนี้

    และเรามานั่งหายใจเข้าให้ยาว หายใจออกให้ยาว ส่วนใหญ่อาตมาถามผู้ปฏิบัติหายใจไม่ได้กำหนด กำหนดไม่ได้จังหวะ โดย หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ หายใจยาว ๆ ท้องมันพองระยะไหน เราก็บอกพอง แล้วลงหนอยาว ๆ ไว้ ยุบก็ลงหนอยาว ๆ ไว้ ถ้าเราพองยาว หนอมันก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็ยุบ ยุบแล้วไม่ทันหนอมันก็พอง อย่างนี้มันจะอึดอัด ทำให้ติดขัดในการกำหนด จึงต้องกำหนดให้ช้า ๆ หายใจยาว ๆ ไว้ แล้วมันอึดอันในเบื้องต้นนิดหน่อย ต่อไปก็คล่องแคล่วว่องไวขึ้นมา

    กำหนดพองหนอ....ยุบหนอ.... ทีแรกก็ใช้พลังช่วยด้วย ใช้จิตดัน ดันพอง ดันยุบ ใช้สติควบคุมไปก่อน หนักเข้าความเคยชินก็เกิดขึ้น ความดันเข้าดันออกก็หายไป แล้วกำหนดคล่องแคล่วว่องไวเพิ่มขึ้น หายใจเข้าหายใจออก พองหนอ ยุบหนอ ก็คล่องแคล่วว่องไว สติก็ดีขึ้น ปัญญาก็เกิด สมาธิก็ดี ตามขั้นตอนของภาคปฏิบัติ มิฉะนั้นเรากำหนดพองหนอ ยุบหนอไม่ได้จังหวะ คือใช้ด้วยกำหนดจิตไม่มีสติ คือว่าแต่ปาก พองหนอ ยุบหนอ นี่ว่าแต่ปาก ถ้าใช้สติควบคุมไปให้ได้จังหวะ รับรองปัญญาเกิดในช่วงจังหวะ บางครั้งพองหนอ ยุบหนอ ตามหลักวิธีปฏิบัติ เราจะรู้ขึ้นมาเอง เหมือนเดินจงกรม

    พองหนอยุบหนอเป็นอันเดียวกันไหม มันจะแจ้งชัดขึ้นมา จิตก็คนละอันแน่ เพราะกำหนดแล้วมันก็วูบขึ้นไป จิตดวงใหม่มันก็แสดงออกมาใหม่ เหมือนแสงนีออนเกิดดับฉะนั้น มันเป็นตามขั้นตอน มองไม่เห็นชัด ถ้าเรากำหนดได้เราจะเห็นชัดว่าจิตคนละดวง กายพองกายยุบคนละอันแน่ ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่อาศัยเหตุที่เกิดขึ้นเป็นตัวปัจจัย ทำให้รูปนามขันธ์ ๕ แยกประเภทออกมาเป็นรูป ออกมาเป็นนาม ออกมาเป็นเวทนา ออกมาเป็นสัดส่วน เราจะรู้ได้ว่าแยกรูปแยกนามได้โดยธรรมชาติของมันเองโดยเฉพาะ

    พองหนอ ยุบหนอ บางครั้งตื้อ ไม่พองไม่ยุบเกิดขึ้นแล้วทำอย่างไร ปัญญาแก้อย่างไร ไม่พอง ไม่ยุบ แล้วก็เราสังเกตได้ว่าสติดี จะรู้ว่ามันหายไปตอนพองหรือตอนยุบ พองหนอ ยุบหนอนี่ มันจะต้องกำหนดได้มีจังหวะ แต่มันหายไปตอนพองหรือตอนยุบ ปัญญาอยู่ตรงนั้น เราก็มีสติดี จะรู้ได้ว่ามืนตื้อไม่ยุบไม่พองก็หายไปตอนพองหรือตอนยุบ จะเห็นชัดแล้วเราก็กำหนด รู้หนอ ๆ แล้วหายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ ให้ได้ที่ แล้วจึงใช้สติกำหนดต่อไปว่า พองหนอ ยุบหนอ ปัญญาเกิด สมาธิดี ก็ทำให้พองหนอ ยุบหนอ สั้น ๆ ยาว ๆ แล้วทำให้แวบออกข้าง ๆ ทำให้จิตวนอยู่ในพองยุบ ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้ถือว่าดีแล้ว มันเกิดภาวะเช่นนี้แล้ว ทำให้เรากำหนดต่อไป ขอให้จิตนี้วนอย่างนี้จริง ๆ

    พองหนอยุบหนอเดี๋ยวขึ้นลง เดี๋ยวขึ้นลง ไม่ออกทางพอง ไม่ออกทางยุบ และจิตก็แวบออกไปแวบเข้ามา เดี๋ยวก็จิตคิดบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง สับสนอลหม่านกัน อย่างนี้ถือว่าได้ประโยชน์ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติอย่าทิ้ง ผู้ปฏิบัติจะต้องตามกำหนดต่อไปว่ามันฟุ้งซ่าน จิตมันขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วพองหนอยุบหนอ กระสับกระส่ายแล้วพองหนอยุบหนอไม่ชัด ตอนนั้นได้ผลแล้ว ในเมื่อไม่ชัดก็ไม่เป็นไร ตื้อขึ้นมาพองยุบบนลิ้นปี่ เดี๋ยวตื้อมาพองยุบที่หน้าอก แล้วเราก็กำหนดลงไปที่ท้อง กำหนดรู้หนอ ๆๆ เสียก่อน แล้วก็หายใจเข้าออกต่อไปใหม่ นี่วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

    ขอนักปฏิบัติธรรมทำตามหลักนี้จะได้รับผลอย่างแน่นอน บางทีทำพองหนอยุบหนอ พอจิตสงบดี จิตออกแล้วมันค่อยจะเผลอมันคอยจะพลาด จิตคอยแวบออกไป แต่เรามีปัญหาอยู่ว่าจิตออกไปไม่รู้ เพราะไม่มีสติ ถ้าสติดีจิตออกไปต้องรู้แน่ ออกไปรู้เลยว่า ออกไปตอนพองหรือตอนยุบ จะเห็นชัด

    บางทีขณะที่พอง ขณะที่ยุบ จิตออกไปแล้ว บางคนไม่รู้เลย จิตออกไปเสียเมื่อไร ไปคิดเสียตั้งนานแล้วนี่อย่างนี้ ก็แสดงเหตุผลให้ทราบว่าขาดสติ สติไม่พอ ถ้าสติเราพอแล้วออกไปตอนไหนรู้ตอนนั้น หนักเข้าเรากำหนดเชี่ยวชาญชำนาญการไปแล้ว มันก็ทำให้จิตออกรู้ตัวทำใหม่ ๆ จิตออกจะไม่รู้ ตัวจิตก็พองหนอยุบหนอ สติกำหนดพองหนอยุบหนอจิตหนึ่งก็ออกไปคิดข้างนอกไปคิดอะไรมากมายจริง ๆ ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ให้หยุดพองยุบ มากำหนดรู้หนอ หรือคิดหนอก็ได้ แล้วแต่กำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง

    กำหนดคิดหนอ คิดหนอ พอสติดีปัญญาก็บอกว่า คิดเรื่องอะไรได้ผลเป็นประการใด มันก็สะสมจิต แฝงไว้ในจิตแฝงไว้ในใจ คือตัวปัญญาตอไป ได้แก่แสงสว่างอย่างนั้นเอง พอกำหนดไปแล้ว จิตที่คิดมากฟุ้งซ่าน แวบไปแวบมาทำให้เกิดเวทนาได้ ทำให้ปวดเมื่อย ทำให้ร่างกายสังขารไม่อยู่ในภาวะแห่งความปกติ เราก็ต้องกำหนดสังขารร่างกายที่มันปวดตรงไหน เมื่อยตรงไหน เกิดขึ้นโดยวิธีนั้นแล้ว มันก็จะค่อย ๆ คลายหายลงไป จิตก็เข้ามาสู่ภาวะของพองหนอยุบหนอ ต่อไปใหม่

    อาการ “วูบ”
    บางครั้งนั่งมันวูบ วูบลงไปถึงกระดาน บางทีวูบผงะ วูบไปข้างหลัง วูบไปข้างหน้า บางทีวูบไปทางซ้าย บางทีวูบไปทางขวา บางทีพองหนอยุบหนอ วูบไปแล้ว บางทีพองก็วูบไปแล้ว มันวูบหลายอย่าง ต้องใช้สติกำหนดรู้หนอ ๆ เพราะมันวูบลงไป
    บางครั้งวูบมี ๒ อย่าง เกิดด้วยสมาธิสูงไป สติไม่พอ มันวูบลงไปโดยไม่ทันรู้ตัว เกิดตกใจอย่างหนึ่ง วูบอีกอย่างหนึ่งคือ วูบในการง่วง ถีนมิทธะ เข้าครอบงำง่วงเหงาหาวนอนทำให้วูบหน้าวูบหลัง ผงกหน้าผงกหลัง เกิดขึ้นได้ในขณะที่นั่งภาวนาพองหนอยุบหนอ อย่างนี้ถือว่า ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอนมันเกิดขึ้นมิใช่เป็นตัวสมาธิ ถ้าเป็นตัวสมาธิแล้ว มันจะเกิดขึ้นโดยวูบอย่างแรงแต่ไม่ใช่ง่วง รู้ตัวอยู่ตลอดเวลากาลอย่างนี้ สมาธิดีแต่สติน้อยไป ทำให้วูบลงไปได้อย่างหนึ่งอย่างนี้

    บางครั้งกำหนดไปกำหนดมาเกิดปีติ เกิดขนลุกขนพองสยองเกล้า กำหนดขนลุกเสีย กำหนดขนพองเสีย เกิดปีติแล้วต้องกำหนดเสียให้ได้ พอกำหนดได้แล้วกลับมาพองหนอ ยุบหนอต่อไป ปัญญาจะเกิดตอนนั้น

    บางครั้งสมาธิจะดีต้องมีอุปสรรค สติดีต้องมีอุปสรรค เช่น เวทนา เป็นต้น มาขัดขวางเป็นมารสำคัญทำให้เรารู้ในธรรมะคือเวทนา บางครั้งสมาธิจะดีทำให้เกิดฟุ้งซ่าน ถ้าเราผ่านฟุ้งซ่าน ผ่านไปได้ ด้วยใช้สติดี ปัญญาดี กำหนดได้ รับรองปัญญาก็เกิดขึ้นหลังจากที่ผ่านทุกข์นั้น จึงเข้าสู่ภาวะของญาณ

    นอนสมาธิ
    เริ่มต้นด้วย นามรูปปริจเฉทญาณ แยกรูปแยกนามได้ ในเบื้องต้น อย่างนี้ภาวะของธรรมด้วยการกำหนดช้า ๆ อย่ากำหนดไว แล้วมานั่งแล้วนอนลงไป กำหนดได้ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมงที่ตั้งใจไว้ เราก็นอนลงไปอย่าเพิ่งแผ่เมตตา นอนเปลี่ยนอิริยาบถแล้วกำหนดที่ท้องต่อไปให้ติดต่อกันไปดูซิ จะเป็นเวลากลาวันก็ดีกลางคืนก็ตาม

    ขณะที่ผู้ปฏิบัติอยู่ที่ห้องกรรมฐานได้ดีแล้ว ตัดปลิโพธกังวลมาดีแล้ว ขอให้ทำติดต่อไป อย่าไปนั่งคุยกัน อย่าไปนั่งสนทนา อย่าไปนั่งคิดเรื่องเก่า มาเล่ากันใหม่แต่ประการใด เราก็กำหนดนอน พองหนอ ยุบหนอยาว ๆ กำหนดเรื่อยไปที่ท้อง ขณะนอนนั้นชัดมาก เดี๋ยวจะรู้สึกขึ้นมาว่า สมาธิดี ปัญญาเกิด เดี๋ยวมันจะวูบลงไป มันจะเพลินลงไป เผลอลงไป บางประการ สติดี จะรู้ทุกวิถีทางว่ามันวูบตรงไหน เป็นอย่างไร จับได้ทุกอย่างขณะที่นอน

    ถ้าหากว่ามันจะหลับ ไม่ใช่หลับด้วยถีนมิทธะง่วงเหงา มันหลับโดยปกติ โดยมีสติสัมปชัญญะดี มันจะรู้ตัวขึ้นมาว่าเพลินเผลอแวบไปตอนพองหรือตอนยุบ ผู้ปฏิบัติต้องจับได้ ถ้าจับได้ตอนพองหรือตอนยุบจำไว้ หลับวูบลงไปแล้วสติดีตลอดขณะที่นอนอยู่นั้น ขณะนอนอยู่นั้นสติภายในดีมาก จิตภายในรู้อยู่ตลอดเวลา พลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด และทำให้เราจะกำหนดตื่นเวลาไหน แม้เพียง ๑๐ นาทีก็ได้ หลับอย่างสนิท แต่ภายในมีสติ อย่างนี้ถือว่าหลับสนิทภายในมีสติ คือหลับโดยใช้ปัญญาฝากไว้ในภายใน นึกจะตื่นเวลาไหน ใครเรียกขึ้นมาในเวลาใดรับปากเมื่อนั้น อันนี้ตื่นไวชวนะจิตรับสู่อารมณ์ได้ไวด้วย ขณะที่นอนหลับมีสติ
    นักปฏิบัติธรรมอย่าลืม ทำให้ติดต่อกันไป ในเมื่อท่านเดินจงกรม นั่งภาวนาแล้ว นอนลงไปกำหนดเสีย ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที ค่อยมาเดินจงกรม เปลี่ยนอิริยาบถต่อไปใหม่ ถ้าทำโดยต่อเนื่องติดต่อกันไป ภายใน ๗ วัน รับรองเห็นผลแน่ ผลที่จะพึงได้จากการเจริญวิปัสสนาญาณ ทำให้ญาณวิถีรู้เท่าทันเหตุการณ์ของชีวิตได้โดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง

    กำหนดสัมผัส
    แต่ข้อใหญ่ใจความของการเจริญวิปัสสนานั้น ผู้ปฏิบัติธรรมอย่าลืมอีกอันหนึ่งคือ สัมผัสอายตนะ ต้องกำหนด ตาเห็นรูปกำหนด หูได้ยินเสียงกำหนด จมูกได้กลิ่นกำหนด ลิ้นรับรสกำหนด กายสัมผัสต้องกำหนด เพราะที่มาของทวารหก เป็นที่มาของกิเลส และเป็นที่มาของขันธ์ ๕ รูปนาม เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จำเป็นต้องกำหนดตลอดเวลา ให้เชี่ยวชาญ ชำนาญทุกอย่าง หูได้ยินเสียงตั้งสติไว้ การกำหนดก็คือตัวตั้งสตินั่นเอง ปัญญาก็บอกได้ในการฟังจากเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดปัญญาในการฟัง ตาเห็นรูปก็ดี ตั้งสติไว้ที่หน้าผาก กำหนดเสียให้ได้ในการสัมผัส รับรองปัญญาก็เกิดสะสมเข้าไว้เป็นหน่วยกิต และมาเดินจงกรมนั่งภาวนารับรองได้ไว

    กำหนดนิมิต
    ถ้าท่านทั้งหลายกำหนดหน่วยกิตนี้ โดยอายตนะธาตุอินทรีย์ดังกล่าวมาแล้ว ไปเดินจงกรม....นิมิตเป็นพระพุทธรูป นิมิตเป็นหมอกเมฆต่าง ๆ นานาประการ นิมิตให้เราเห็นต้นหมากรากไม้ก็ได้ เช่นนี้ถือว่ามีสมาธิ แต่แล้ววิธีปฏิบัติต้องกำหนดเสียว่าเห็นหนอ ๆ ในนิมิตนั้น นิมิตนั้นแปรผันเปลี่ยนแปลง เป็นสภาวรูปเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป นิมิตนั้นก็หายวับไปกับตา ปัญญาก็เกิดเข้ามาแทนที่ นิมิตนี้เป็นเครื่องหมายเท่านั้น แสดงให้เรารู้ถึงสภาวะของรูปที่มันเกิดขึ้นในทางนิมิต มันอาจจะเกิดขึ้น ๒ ประการ

    กรรมนิมิต เกิดทางกรรมนิมิตเครื่องหมายให้เราได้ทราบจากครั้งอดีตก็ได้ หรือนิมิตเครื่องหมายบอกให้เราทราบในเรื่องของการกระทำและมารที่มาขัดขวางก็ได้ วิธีปฏิบัติไม่ให้วิจัย ไม่ให้ประเมินผล ไม่ต้องไปดูปริยัติแต่ประการใด มีวิธีปฏิบัติอยู่อันมีผลคือตั้งจิตกำหนด ใช้สติตลอดอย่างนี้ อย่าไปวิจัย ให้เกิดผลในทางอื่น เพราะการปฏิบัตินี้ไม่ใช่เรียนหนังสือต้องทำโง่ไว้ ต้องทำโง่ ทำไม่รู้อะไร ทำให้เกิดเอง ปัญญาเกิดเอง และรู้เองอย่างงี้โดยไม่ได้รู้ตามคนอื่นบอกเล่า ไม่ใช่รูปแบบคนอื่นมาบอกเล่า ไม่ใช่รู้ในตำรา ไม่ใช่รู้ในหนังสือ ไม่ใช่รู้ว่าญาณทัสสนะวิสุทธิเกิดขึ้น ในหนังสืออย่างนี้เป็นความรู้ธรรมะ

    แต่ภาคปฏิบัตินี้ เป็นการปฏิบัติให้เกิดเองโดยภาวนานี้ มันเกิดเอง แล้วก็ปัญญาก็เกิดเอง บอกตัวเองได้ โดยวิธีปฏิบัตินี้ อันนี้นักปฏิบัติอย่าลืมด้วยตัวกำหนด มันมีอะไรเกิดขึ้นทุกวิถีทาง ต้องกำหนดให้หาย ถ้ากำหนดไม่หายนะปล่อยปละละเลยไป เป็นการสะสมหน่วยกิต ทำให้เกิดสันดานเป็นพื้นฐานของจิต ทำให้เราปิดบังปัญญาไว้ เกิดโมหจริต ปัญญาก็ไม่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติด้วย โดยวิธีนี้จึงต้องกำหนดทุกอิริยาบถ

    เพราะฉะนั้นที่พูดซ้ำมาเป็นเวลานานนี้ ต้องการให้ผู้ปฏิบัติปฏิบัติโดยถูกต้อง ไม่ต้องฟังเสียงใคร และการปฏิบัตินี้ขอให้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนอย่าไปเอาอย่างอื่นมาประสบประสานกัน เดี๋ยวพุทโธบ้าง พองหนอ ยุบหนอบ้าง สัมมาอรหังบ้าง เลยสับสนอลหม่านตลอดกาล ไม่ได้ผลเท่าที่ควรในวิธีปฏิบัติ การปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ต้องการให้มีสติ รู้ทางอายตนะ ธาตุอินทรีย์เข้าทางทวารหก ขันธ์ ๕ รูปนาม เกิดทางทวารหก แล้วก็ดับพร้อมกันไป กิเลสก็เกิดขึ้นทางนั้นเหมือนกัน คือ โลภะ โทสะ โมหะ อยู่ในขันธสันดาน เรียกว่า ขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นทางอายตนะ ธาตุ อินทรีย์ โดยวิธีนี้เป็นต้น

    ถ้าเราสติดี ปัญญาดีแล้ว มันจะบอกได้เป็นขั้นตอน มีเวทนาอยู่จุดไหน กำหนดได้ จุดนั้นมันก็หายไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในการฝึกเบื้องตนมักมีอย่างนี้ ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก ครูเขามาสอนแล้วต้องเรียน ครูโลภะ ครูโทสะ ครูเวทนา ครูฟุ้งซ่าน ครูเสียใจ มาสอนเราว่าทำไมเสียใจ แก้ไขอย่างไร ก็กำหนดจิตใช้สติตลอดเวลา อริยสัจ ๔ ก็ชัดขึ้น นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สำเร็จมรรคผลมา ก็ใช้หลักสำเร็จที่อริยสัจ ๔ ก็ได้จากการเจริญสติปัฏฐานมานี่เอง
    อ่านคนอื่นออก
    พระองค์จึงได้ย้ำหลักในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์ ผู้ปฏิบัติธรรมอย่าลืมกำหนด กำหนดให้ได้ ยืนหนอ ๕ ครั้ง นี่เอาไว้ใช้อะไร สำหรับเราดูคนอื่นเขา เห็นหนอ ๕ ครั้ง ตั้งแต่ปลายผมคนที่เราเห็น ปลายเท้าขึ้นมา เดี๋ยวสติจะบอกว่า คนนี้มีนิสัยไม่ดี คนนี้มีนิสัยดี คนนี้มีเล่ห์กระเท่ห์เพทุบาย มันจะแจ้งรายงานให้เราทราบการเห็น นี่แหละยืนหนอ ๕ ครั้งนี่ สำหรับวิธีดูคนอื่นเขา เพราะเราดูตัวเองได้แล้ว ฝึกฝนตนเองได้แล้ว อ่านตัวออกบอกตัวได้ ใช้ตัวเป็น แล้วดูคนอื่น ทำไม่อ่านไม่ออกเล่าแบบเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นการยืนหนอ ๕ ครั้ง ต้องการจะดูคนอื่นที่เดินเข้ามา คือสภาวรูป จะเป็นคนหรือมนุษย์สัตว์ สิ่งทั้งหลายก็ตามโดยที่มีวิญญาณและที่ไม่มีวิญญาณ เราอาจจะมองเห็นวิญญาณมองเห็นดวงวิญญาณ มองเห็นสิ่งที่เร้นลับโดยปัญญาได้ ด้วยยืนหนอ ๕ ครั้งนี่แหละ ที่เราจะเพ่งสายตา จะไปดูสภาวรูปที่ไหน ก็กำหนดว่าเห็นหนอ ๆ อย่างนั้น และเห็นจริง ๆ ด้วยตาปัญญา นี่แหละปัจจัตตัง ที่จะทำได้จึงต้องเห็นไว้ มันมีประโยชน์ในการแก้ปัญหาอย่างเหลือเกิน พอเราทำได้แล้ว เห็นหนอทำได้แล้ว ไม่ต้องกำหนด มันบอกเอง ดีเอง เรามองเห็นสภาวรูป รูปมันจะแจ้งชัดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันจะบอกเป็นขั้นตอนออกมาเอง ไม่ต้องกำหนด

    วิธีฝึกเบื้องต้น เราจิตยังไม่เข้าขั้น ยังไม่ถึงวิปัสสนาญาณแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะบอกได้อย่างนี้ ถ้าเราเข้าถึงขั้นแล้ว มันจะบอกได้ทั้งหมด เป็นการครอบจักรวาลโดยใช้สติสัมปชัญญะทุกประการ
    พยายามกำหนดโดยต่อเนื่อง
    ที่อาตมาได้ชี้แจงแสดงมานี้ต้องย้ำไว้ สำหรับผู้ปฏิบัติปล่อยปละละเลยมาก ไม่ปฏิบัติโดยต่อเนื่อง เราจะเดินไปห้องน้ำ ห้องส้วม เดินจงกรมไป และรับประทานอาหารก็พิจารณาปัจจเวกขณ์ด้วย การกำหนด กินหนอ เคี้ยวหนอ กลืนหนอ เป็นต้น ให้ช้าที่สุด อันนี้พิจารณาปัจจัยไปในตัวด้วย แต่งกายแต่งใจอยู่เสมอ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะต้องกำหนด ตลอดเวลากาล ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติจะทำโดยต่อเมื่อเดินจงกรมกับพองหนอยุบหนอเท่านั้น เพราะยังไม่สามารถจะใช้ได้ ที่จะให้ได้ต้องกำหนดสิ่งแวดล้อมทั้งหมด การปฏิบัติของเราจะได้รับผล สมความมุ่งมาดปรารถนา
    ขอเจริญพรผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน โปรดได้ปฏิบัติโดยต่อเนื่อง จะไปอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม ต้องกำหนดเรื่อยไป เป็นการสะสมเรื่อยไป และมันเกิดเต็มเปี่ยมขึ้นมาแล้ว มันจะเย็นอัตโนมัติเห็นได้ชัดคือ ปัญญา
    เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนากับการศึกษาแบบอื่นต่างกัน ต้องทำขึ้นมาเอง ต้องทำไม่รู้ไม่ชี้ ฝากสิ่งทิฐิมานะเก็บไว้ใช้ในตัวเราที่แสดงออก ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ แล้วใช้สติกำหนดไปตลอดภาวะของรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ จึงเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน แสดงผลงานของปัญญาให้ชัดแจ้งต่อไปด้วย
    ผู้ปฏิบัติธรรม เดินจงกรมแล้ว นั่งภาวนา นอนกำหนด เสร็จแล้วเราก็มาที่ห้องพระ ถ้าไม่มีห้องพระตรงไหนก็ได้ อย่าลืมแผ่เมตตา โทรจิต อุทิศส่วนกุศล ให้ผู้มีพระคุณ มีบิดา มารดาเป็นต้น ตลอดกระทั่งเจ้ากรรมนายเวร บรรดาญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว และเจ้ากรรมนายเวรที่จะมาทวงถามเราอยู่ทุกขณะ เราจะได้ไม่ปฏิเสธใช้หนี้เวรใช้หนี้กรรม จากการกระทำโดยอโหสิกรรมนั่นเอง ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อาฆาตเคียดแค้นต่อท่านผู้ใด กรรมนั้นเป็นอโหสิ ไม่มีเวรกรรมต่อเนื่องกันไป อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
    หลังจากนั้น จงอุทิศส่วนกุศลและโทรจิตออกไปทุกทิศ อโหสิกรรมทุกเวลา ท่านจะได้รับผลทุกประการ จะทำกิจการงานทางโลกทางธรรม ทำแล้วไม่ไร้ผล จะเรียกเงินเรียกทองก็ได้ เรียกแบบไหน เพราะจิตใจของเราเข้าสู่ภาวะของผู้มีปัญญาแล้ว จะคิดอ่านอันใด สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ สิ่งนั้นมีอานิสงส์ คิดเงินจะได้ไหลนองคิดทองจะได้ไหลมา กิจการจะได้สำเร็จตามเป้าหมาย เรียกว่าปัญญารอบรู้ในกองการสังขาร รอบรู้ในเหตุการณ์ของชีวิต สามารถใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ของตนเองและบุคคลทั่วไปได้ สมปรารถนาทุกประการ
    จึงขอเจริญพรผู้ปฏิบัติธรรม อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหลและเป็นเรื่องทำง่ายนะ ทำยากที่สุด ถึงยากอย่างไรก็ตาม ก็พยายามทำ พยายามที่จะกำหนด และปรารภขันติความอดทนไว้ ฝืนใจไว้ให้ได้จนกว่าจะเคยชินเข้าสู่ภาวะแห่งความสงบ “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ” สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มีแล้วในโลกมนุษย์นี้ เอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ทันท่วงที ทุกประการ นี่แหละเป็นอาวุธที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้แก่เรา......


    http://www.mindcyber.com/life/smati/smati_1119.php
     
  5. matakalee

    matakalee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    160
    ค่าพลัง:
    +367
    โมทนาสาธุด้วยคะ ดิฉันเคยเข้าปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน เป็นเวลา 7 วัน เคารพรักนับถือหลวงพ่อจรัลมาก ในปฏิสัมปทาของท่านที่ท่านตั้งใจจะสร้างคน พัฒนาคน ในเส้นทางสายเอก ที่หวังให้คนใช้สติในการดำรงชีวิต อันเป็นหนทางที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ก่อนจะปรินิพพาน ว่าจงอย่าประมาท นั่นเอง พระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ ย่นย่อลงเหลือแค่ สติตัวเดียว
     
  6. KomAon11

    KomAon11 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    4,802
    ค่าพลัง:
    +18,984
    สาธุครับผม

    หลวงพ่อจรัลเป็นพระตัวอย่างเลยครับ ท่านสร้างคนได้เยอะมากเลย
     
  7. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ครับผม...จะหาบทความดีๆมาลงอีกครับ ^^
     

แชร์หน้านี้

Loading...