สติปัฏฐาน พระธรรมเทศนา หลวงปู่สิม พุทฺธาจาร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 24 กรกฎาคม 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    พระธรรมเทศนา หลวงปู่สิม พุทฺธาจาร
    ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๑


    เบื้องหน้าแต่นี้เป็นต้นไปเป็นเวลานั่งสมาธิภาวนา ให้พากันนั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือข้างขวาวางทับมือข้างซ้าย ตั้งกายให้เที่ยงตรง หลับตานึกภาวนาพุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้าหายใจออก ในขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนานี้จงรวมจิตใจเข้ามาในบริกรรมภาวนานี้หรือในการได้ยินได้ฟังอุบายธรรมต่าง ๆ เมื่อเสียงเข้าไปถึงที่ไหนรู้สึกในใจที่ไหน ก็ให้รวมจิตใจลงไปที่นั้น ที่นี้แหละที่เป็นปัจจุบัน ปัจจุบันธรรม เป็นธรรมที่ปฏิบัติ ผู้ใดรวมใจของตนเข้าไปภายในปัจจุบันย่อมถึงซึ่งความไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน จิตใจที่อ่อนแอท้อแท้จะได้แข็งแรงขึ้นด้วยสติความระลึกได้ในการบริกรรมในการฟังธรรมสตินี้ก็เกิดขึ้นจากใจเหมือนกัน เกิดขึ้นจากดวงจิตดวงใจดวงที่รู้อยู่ฟังอยู่เจริญอยู่บริกรรมอยู่ เกิดขึ้นจากที่นี้เองเรียกว่าสติความระลึกได้ เมื่อสติความระลึกได้มีความรู้สึกอยู่ในใจในตัว ดวงสตินี้ก็ยังให้จิตในที่รู้อยู่นี้แหละตั่งมั่นสงบระงับไม่แส่ส่ายไปกับสังขารวิญญาณกริยาอาการของจิต


    ดวงจิตดวงใจจะได้รวมได้สงบเข้ามาอยู่ในจิตใจของตนจริง มีสติทุกเวลา สตินี้สำคัญมาก ในมหาสติปัฏฐานท่านให้เอาสตินี้แหละระลึกอยู่ในกาย กายมี ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อาอาร ๓๒ เรียกว่า กาย เนื้อตัว ตัวตนคนเราให้ระลึกอยู่ในร่างกาย คือ ร่างกายนี้กำหนดพิจารณาให้เห็นตามภาวะความเป็นจริงอยู่ ร่างกายนี้กำหนดลงไปในหลักอสุภะคือ ว่าไม่งามในร่างกายของคนเรานี้เราดูผิวเผินก็เป็นของสวยสดงดงาม แต่ว่าให้ดูถี่ถ้วนเข้าไปทางนอกทางในแล้ว ดูทวารทั้ง ๙ ที่มันไหลเข้าเทออกอยู่แล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า ร่างกายของคนเรานี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ เต็มไปด้วยบุพโพโลหิต เมื่อผู้ใดมากำหนดภาวนาเพียรเพ่งดูให้รู้ว่าเป็นของปฏิกูลโสโครกจริง ๆ จิตของผู้นั้นย่อมมีความสงบระงับ ย่อมเห็นได้ว่ากายนี้ก็สักแต่ว่ากาย จะว่าเป็นสัตว์ก็ไม่ได้ เป็นบุคคลก็ไม่ได้ จะว่าเป็นตัวเราของเราอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น เรียกว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่เราไม่ใช่เขา


    จงกำหนดให้เห็นว่ากายนี้ก็สักแต่ว่ากาย โดยสมมุติบัญญัติก็ว่ากาย ที่จริงมันก็ตั้งชั่วระยะเวลาภายใน ๑๐๐ ปีนี้ก็จะเข้าถึงความแตกความดับความทำลายตามสภาพของกาย เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านให้กำหนดให้เห็นว่าร่างกายก็สักแต่ว่ากายเท่านั้น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเอาสติมาระลึกเวทนา สุขเวทนาได้แก่ความสบาย ทุกขเวทนาได้แก่ความไม่สบาย เฉย ๆ เวทนา เวทนานี้สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาเหมือนกัน การที่จิตมายึดเอาถือเอา สบายก็มายึดว่าเราสบาย แท้จริงแล้วกายเขาสบายเขาไม่สบาย เวทนาก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ชั่วระยะเวลา สุขก็ดีทุกข์ก็ดี มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน อาศัยสติเป็นผู้ระลึกดู ระลึกอยู่ไม่ให้จิตใจหลงใหลไปที่อื่นเรียกว่า สติปัฏฐาน


    จิตความคิดความนึกที่เกิดขึ้นจากดวงจิตดวงใจ แล้วก็แส่ส่ายไปตามอารมณ์ดีอารมณ์ร้ายอารมณ์สบายไม่สบาย จิตนี้ก็สักแต่ว่าจิตเหมือนกัน ไม่ใช่ตัวบุคคลตัวตนเราเขา ให้สตินี้แหละเป็นผู้ระลึกอยู่ทุกความคิดที่เกิดขึ้น เมื่อมีสติอยู่ก็จะเห็นว่าความคิดนึกเหล่านั้นมันเกิดขึ้นมันก็ดับไป เกิดขึ้นก็ดับไปเท่านั้นเอง ไม่ให้จิตใจหลงใหลไปกับความคิดความนึกของดวงจิตอันนั้นเรียกว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของเราเหมือนกัน เมื่อรู้เข้าใจจิตใจจะได้ปล่อยวาง จะได้สงบระงับตั้งมั่นอยู่ภายในจิตใจดวงที่รู้อยู่นี้ พร้อมด้วยสติปัฏฐาน ธรรมารณ์อันเกิดกับในจิตใจนี้เหมือนกัน อารมณ์ของจิตที่มันปรุงไปปแต่งไปตามอารมณ์ดีอารมณ์ร้าย อารมณ์ทุกอย่างที่มากระทบตากระเทือนหู ก็เป็นธรรมารมณ์อยู่ในจิตอันนี้ ก็ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตนของบุคคลผู้ใดเหมือนกัน จงเป็นผู้มีสติระลึกอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม ท่านให้ชื่อว่า สติปัฏฐาน


    เมื่อระลึกได้ธรรมดาเรียกว่าสติปัฏฐาน เมื่อระลึกได้จนเป็นมหาสติปัฏฐานเรียกว่า สติใหญ่ ใหญ่จนไม่หลง อะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นในกายเวทนาจิตธรรม ย่อมรู้ได้เข้าใจว่า จิตยึดถือหรือไม่ยึดถือ จิตใจเลิกได้ละได้หรือเลิกไม่ได้ละไม่ได้ เห็นแจ้งตามความเป็นจริงหรือไม่ สติอันนี้ต้องระลึกให้มากที่สุด ในทางมหาสติปัฎฐาน ท่านให้นึกอยู่จนกระทั่งว่าไม่พลั้งไม่เผลอ ไม่หลงไม่ลืม แม้ร่างกายจะยืนจะเดินจะนั่งจะนอน ท่านก็ให้มีสติอยู่ทุกเวลา หลับตาลืมตา มือ เท้า เดินไปก็มีสติ มือจะแตะต้องที่ไหนก็มีสติระลึกอยู่ทุกเวลาเรียกว่าเป็นมหาสติปัฏฐาน เมื่อการระลึกได้อยู่ทั้งกายวาจาจิตทุกขณะ กายเวทนาจิตธรรมจะเคลื่อนไหวไปมาสงบระงับ ก็ระลึกได้อยู่ทุกเวลา ไม่หลงใหลไปอยู่ใต้อำนาจกิเลส มีสติอยู่ทุกขณะทุกเวลา ไม่ใช่เวลาพูดออกมาจึงมีสติ ไม่ว่าพร้อมทุกอย่างจะพูดจาปราศรัยก็มีสติ ก่อนจะพูดก็มีสติ พูดอยู่ก็มีสติ พูดจบไปแล้วก็มีสติ ก่อนที่เราจะทำอะไรร่างกายจะทำการงานใด ๆ ก็เรียกว่ามีสติความระลึกได้ เวลาทำอยู่ก็มีสติ เวลาทำแล้วไปก็มีสติระลึกอยู่ในตัวในกายจิตนี้ ในกายเวทนาจิตธรรมได้อยู่เสมอ


    อะไรผิดอะไรถูกก็ให้มีสติระลึกดูพิจารณาดู จนให้จิตใจนี้เข้าใจในสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐาน แล้วทำให้ปฏิบัติได้ไม่ต้องให้เผลอทีเดียว มันคิดอะไรอยู่ในจิตนั้น คิดภาวนาหรือคิดนอกภาวนา คิดภายในกายในจิตหรือว่าคิดนอกกายนอกจิต มันคิดอิจฉาพยาบาทคนโน้นคนนี้ เกลียดคนโน้นชังคนนี้ไหม ในจิตนี้ก็ให้ระลึกดูให้ได้ ผู้มีสติแล้วจิตจะวางเฉยได้ อย่างว่าความเกลียดความกลัว ความหวาดสะดุ้งขนพองสยองเกล้าอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้น ถ้ามีสติความระลึกอยู่ไม่หลงใหลออกไปก็ไม่โกรธ ไม่ไปพยาบาทอาฆาตจองเวรใครในจิตใจที่มีสติปัฏฐานอยู่นั้นไม่ไปรักใคร ไม่ไปชังใคร ไม่ไปดุด่าว่าร้ายให้แก่ใคร ไม่ไปทำร้ายให้แก่บุคคลผู้ใด ไม่อิจฉาตาร้อนใคร เรียกว่ามีสติภาวนาเรื่องของตัวเองอยู่ คนอื่นผู้อื่นนั้นให้ยกไว้เป็นเรื่องของเขา เขาเกิดมาเองไม่ใช่เราทำให้เกิด เขาแก่ไปเองไม่ใช่เราทำให้แก่ เขาเจ็บไข้ได้ป่วยไปเองไม่ใช่เราทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย เขาตายไปเอง เราก็เหมือนกัน เราเกิดมาเองแก่ไปเอง เจ็บไปเอง ตายไปเอง ทำไมจึงมาอิจฉาพยาบาทแก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย อิจฉาพยาบาทแล้วดีอย่างไรเกิดประโยชน์อะไร


    คิดดูให้ดีในจิตใจของคนเรานี้เมื่อคิดดูให้ดี มีสติดี มีสมาธิดี มีปัญญาดี เมื่อภายในดี ภายนอกไม่ต้องว่า มันต้องดีไปเพราะมันดีภายใน แต่ว่าถ้าภายในนี้แหละขาดสติปัฏฐาน ไม่ระลึกอยู่ในกายเวทนาจิตธรรมอันเป็นภายในของตัวเอง มัวแต่ไปคิดไปปรุงไปข้องใจอิจฉาพยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ ไม่ชื่อว่าเป็นนักภาวนา ไม่ชื่อว่าเป็นผู้มีมหาสติปัฎฐาน เมื่อสติภายในไม่มี ฉะนั้นต้องเจริญระลึกอยู่ในดวงจิตดวงใจของตัวเอง การภาวนาละกิเลสนั้นต้องเป็นผู้มีสติตั้งจิตตั้งใจอยู่ทุกเวลา จะยืนก็มีสติ ก่อนยืน ยีนอยู่จะเคลื่อนไปจากเวลายืนก็มีสติ ก่อนจะเดินก็มีสติ คำว่ามีสติ ความระลึกในใจนั้นพร้อมทุกอย่าง ตาดูหูฟังอะไรมันจะเกิดขึ้น คนที่เอาเท้าไปตำตอ เอาศีรษะไปตำไม้หรือทำอะไรผิด ๆ หัก ๆ จับอะไร พลัดตกหกล้มเพราะอะไร ก็เพราะขาดสตินั้นเอง แล้วถ้าขาดสติ สติไม่มี ความขี้เซาเหงานอน มักง่าย ท้อถอยเกียจคร้านก็ย่อมเกิดมีขึ้น เพราะว่าไม่มีสติหรือมีสติแต่น้อยไม่พร้อมมูลบริบูรณ์


    ถ้าสติความระลึกได้ใจที่ตั้งมั่นขึ้นมาระลึกอยู่เสมอในทางร่างกาย เรียกว่าก่อนจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็มีสติ ทำอะไรอยู่จะทำอะไรก็มีสติความระลึกได้ ถึงเวลาทำทำอยู่ก็มีสติให้พร้อมมูลอยู่เสมอ คำว่าสติปัฏฐาน สติเป็นฐานที่ตั้ง ฐานที่ตั้งของสติความระลึกได้อยู่ทุกเวลา เมื่อทำอะไรจบลงไปก็มีสติทำงานทางนอก คนที่ทำงานแล้วไม่รู้จักเก็บไม่รู้จักรักษา ทิ้งเกลื่อนกลาดไปก็คือว่าไม่มีสติ เวลาทำก็ไม่มีสติ ทำแล้วไม่รู้จักเก็บรู้จักรักษา ก็คือว่าขาดสตินั้นเอง การงานสิ่งนั้นมันก็ขาดตกบกพร่องเกิดความเสียหายขึ้นมาไม่ว่าอย่างหยาบอย่างกลางอย่างละเอียด ไม่ว่าทางโลกและทางธรรมต้องอาศัยสติอันนี้แหละ คนดีก็เรียกว่าคนมีสติ คนไม่ดีก็คนไม่มีสตินั้นเอง


    ส่วนสตินี้เรียกว่าระลึกได้อยู่ทุกเวลา ทุกอริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ศีลรักษากายให้เป็นปกติ ระวังวาจาให้เป็นปกติ กายวาจาใจให้เป็นปกติท่านให้ชื่อว่า ศีล ข้อห้ามก็คือว่าให้เว้นจากฆ่าสัตว์และให้เว้นจากความอิจฉาพยาบาทแก่สัตว์ทั้งหลาย ไม่ให้มีโกรธจนฆ่าสัตว์ ไม่ให้มีอิจฉาพยาบาทเกลียดชังทั้งสัตว์และคนทั่ว ๆ ไปด้วย เรียกว่าเว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์สิ่งของผู้อื่น เว้นจากประพฤติผิดในกาม เว้นจากกล่าวมุสาวาจา เว้นจากดื่มกินสุราเมรัย เรียกว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ข้อห้ามเพื่อให้บุคคลเรามีสติระมัดระวังกายวาจาจิตของตนเพื่อจะได้มีสติอันสมบูรณ์บริบูรณ์ เมื่อมีสติอันสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ชื่อว่าศีลสมาธิปัญญา ศีลก็ปกติ มีสติก็มีปกติ เมื่อมีปกติจิตก็ตั้งมั่นไม่มีวิตกวิจารไปไหน เรียกว่าสมาธิจิตมั่นคง คำว่าจิตมั่นคงก็คือว่ามีสติจิตจึงจะมั่นคง คำว่ามั่นคง เราทำอะไร ก็ตั้งอกตั้งใจประกอบกระทำในสิ่งนั้น ๆ


    เราบรรพชาอุปสมบทในทางพุทธศาสนาต้องมีสติให้มีความยินดีพอใจในสมณะเพศวิสัยของตัวเองและให้รู้ว่าสมณะเพศ สมณะวิสัยนี้มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นอย่างไร เลิกละทำชั่วด้วยกายวาจาจิต อย่างไรก็ต้องอาศัยสติความระลึกได้ ความรวมจิตใจของตนเรียกว่าให้มั่นคง คำว่าสมาธิโดยจิตตั้งมั่น ทำอะไรให้มีความตั้งมั่นให้มีความจริงใจทั้งกายทั้งวาจาทั้งจิตทั้งใจพร้อมด้วยหมดทุกอย่างเรียกว่ามีสติ ทำอันใดก็เป็นหลักเป็นฐานไม่ใช่ทำเล่น ๆ ทำเลอะเทอะ ไม่ใช่ทำทิ้งขว้างไปไม่เอาจริงเอาจัง อย่างนั้นใช้ไม่ได้เรียกว่าต้องทำจริง ๆ ประกอบอยู่ทุกเวลา หลับก็มีสติลืมตาก็มีสติ ฟังเสียงก็มีสติ ก่อนฟังก็มีสติ ฟังอยู่ก็มีสติ ฟังจบไปแล้วก็มีสติอยู่ ระมัดระวังอยู่ในอายตนะทั้งหลายมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายในมันติดอยู่ภายในติดอยู่ในตัวของคนเรา อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันอยู่ข้างนอก บางคราวก็เกิดขึ้นมากบางคราวก็เกิดขึ้นน้อย ตามแต่อารมณ์ที่ผ่านเข้ามา ตาดูหูฟังมีสติอยู่ทุกเวลา เราฟังธรรมอยู่ก็มีสติ สตินั้นแหละระลึกจนความง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาแทรกซึมไม่ได้ เมื่อเข้ามาแทรกซึมต้องมีสติว่าจะแก้ไขอย่างไร เมื่อเราระลึกก็แล้วภาวนาก็แล้วยังง่วงเหงาหาวนอน ท่านก็ให้ยืนขึ้น เมื่อยืนขึ้นยังไม่หายท่านก็ให้เดินเรียกว่าเดินจงกรม เดินจงกรมกลับไปกลับมา ทำให้รูปขันธ์ร่างกายมันเคลื่อนไหวไปมาจิตจะได้มีสติสม่ำเสมอ จิตใจจะได้ตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก


    ผู้ที่จะระลึกบริกรรมภาวนาพุทโธได้ติดต่ออยู่ทุกลมหายใจเข้าหายใจออกก็ต้องมีสติ สติต้องมีพร้อมอยู่เสมอ เดินจงกรมก็มีสติ ก่อนจะเดินก็มีสติ เดินอยู่ก็มีสติ เดินจบเดินหยุดไปแล้วก็มีสติอยู่ นั่งก็มีสติ ก่อนนั่งก็มีสติ นั่งแล้วก็มีสติ ก่อนนอนก็มีสติ นอนอยู่ก็มีสติ ตื่นมาก็มีสติระลึกอยู่เสมอ ในดวงจิตดวงใจอันนี้ไม่ให้ความง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาทับถม หรือว่ากามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ไม่ให้มีในกายวาจาจิตของเรา มีในกายวาจาจิตของบุคคลอื่นช่างเขา ไม่ต้องไปกังวล ในกายวาจาจิตตัวของเราปริมณฑลหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบนี้ ต้องมีสติทุกเวลา เรียกว่ามีสติ ลมหายใจเข้ามีสติ ลมหายใจออกมีสติ ในเวลากายวาจาจิตสบายมีสติ ในเวลากายวาจาจิตไม่สบาย ควรทำอย่างไร ควรพูดอย่างไร ควรวางตัวอย่างไร จึงจะเหมาะสมกาลเทศะ


    ปุคคลัญญรู้จักบุคคล ปริสัญญรู้จักบริษัท ควรอย่างไร ไม่ควรอย่างไร แสดงออกอย่างไร ไม่แสดงออกอย่างไร สติทั้งนั้นต้องระลึกอยู่ทุกเวลาจนเป็นมหาสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐานก็คือว่ามหาใหญ่ปัฏฐานที่ตั้งของสติมีอยู่ในนักภาวนาจิตใจของผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่คำพูดที่พูดที่ว่าเป็นสติดวงจิตดวงใจที่ตั้งขึ้นมาระลึกขึ้นมาเป็นองค์สติ สติสัมโพชฌงค์ระลึกอยู่ เป็นผู้มีเพียรเพ่งอยู่ กายวาจาจิตนี้ท่านเปรียบอุปมาเหมือนพายเรือข้ามฝั่ง สมัยโบราณนั่นเรือยนต์กลไกไม่ค่อยมี เขาก็เอาไม้มาต่อมาแกะลงไปให้เป็นเรือแล้วก็มีไม้พายมีคนพาย ทีนี้เรือนั้นจะข้ามฝั่งได้หรือไปถูกช่องทางไปตามต้องการล่องน้ำขึ้นน้ำได้นั้นต้องอาศัยผู้พายผู้ถ่อให้เรือนั้นไป หรือเอาไม้พายจุ่มน้ำลงไปก็พายไปนั้นแหละสตินั้นคือว่าคนพายเรือดัดแปลงเรือของตนไม่ให้ล่มไม่ให้จม ตัวคนพายเรือไม่เป็นก็ไปตามกระแสน้ำข้ามน้ำไม่ได้ สตินี้ท่านเปรียบเหมือนคนพายเรือผู้พายเรือนายท้ายผู้นำเรือไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ผู้นั่งสมาธิภาวนา ปฏิบัติบูชาในทางพุทธศาสนาขาดสติไม่ได้ แม้แต่วินาทีก็ไม่ได้ คำว่าไม่ได้นั้นก็คือเมื่อขาดสติมันก็ขาดสมาธิ จิตตั้งมั่นไม่เต็มที เมื่อจิตตั้งมั่นไม่เต็มที่มันก็ขาดปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขาร ในอะไรต่อมิอะไรที่มันเกิดมันดับมันเป็นมันมีอยู่ในเรื่องกานวาจาจิตของเรานั้นแหละ เมื่อมันขาดปัญญามันก็ไม่เต็มที่ เมื่อขาดสติขาดสมาธิขาดศีล ขาดศีลสมาธิปัญญาก็พาให้จิตใจนี้แหละย่อหย่อนท้อถอยมักง่ายไม่สงบระงับ


    เมื่อพร้อมด้วยสติสมาธิปัญญา ทานศีลภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา วิชา วิมุติก็ย่อมเกิดขึ้น จิตย่อมหลุดจากกิเลส หลุดพ้นออกจากกิเลส ราคะ โทสะ หรือว่าละกิเลสราคะโทสะในจิตใจของตนเองให้หมดไปให้สิ้นไปได้ด้วยสติปัฏฐาน มีสติทุกเวลาไม่ว่า นั่ง ยืน เดิน นอน ทุกอิริยาบถ<!--[if gte vml 1]><v:shapetype id="_x0000_t75" coordsize="21600,21600" o:spt="75" o:preferrelative="t" path="m@4@5l@4@11@9@11@9@5xe" filled="f" stroked="f"> <v:stroke joinstyle="miter"/> <v:formulas> <v:f eqn="if lineDrawn pixelLineWidth 0"/> <v:f eqn="sum @0 1 0"/> <v:f eqn="sum 0 0 @1"/> <v:f eqn="prod @2 1 2"/> <v:f eqn="prod @3 21600 pixelWidth"/> <v:f eqn="prod @3 21600 pixelHeight"/> <v:f eqn="sum @0 0 1"/> <v:f eqn="prod @6 1 2"/> <v:f eqn="prod @7 21600 pixelWidth"/> <v:f eqn="sum @8 21600 0"/> <v:f eqn="prod @7 21600 pixelHeight"/> <v:f eqn="sum @10 21600 0"/> </v:formulas> <v:path o:extrusionok="f" gradientshapeok="t" o:connecttype="rect"/> <o:lock v:ext="edit" aspectratio="t"/> </v:shapetype><v:shape id="_x0000_s1025" type="#_x0000_t75" alt="" style='width:12.75pt; height:12.75pt'> <v:imagedata src="lp-sim_13.files/image001.gif" o:href="http://larndham.net/forum/html/emoticons/57.gif"/> </v:shape><![endif]--><!--[if !vml]--><!--[endif]-->


    เมื่อมีสติมีสมาธิมีปัญญามีความรอบรู้ทุกอย่างทุกประการ สิ่งใดควรละก็ละ สิ่งใดควรเจริญก็เจริญ สิ่งใดควรทิ้งแล้วควรปล่อยแล้วก็ปล่อยวางไป ไม่ต้องเอามายึดมาถือในหน้าในตา ในตัวในตน ในชาติในตระกูล ในตัวเราของเรา ตัวทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเลิกละออกไป พระพุทธเจ้า พระองค์ให้เจริญอยู่ในสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบก็ในสตินั้นเอง ในใจนี้แหละไม่ใช่ในที่อื่นไม่ใช่เรื่องภายนอกอย่างเดียว ส่วนมากเป็นเรื่องภายใน เมื่อภายในมีสติ จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตก็มีปัญญา


    เมื่อจิตมีปัญญาก็ย่อมเห็นได้ว่ารูปนามกายใจของเราของเขา ภายนอกภายใน ทั้งหยาบทั้งละเอียดอะไรต่อมิอะไรเหล่านี้ ก็ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญาด้วยญาณ หยั่งรู้หยั่งเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นมาในจิตใจนั้นว่าไม่เป็นอย่างอื่น มันต้องเป็นไปอย่างนี้อย่างว่า ฟองน้ำเจริญขึ้นเดี๋ยว ๆ มันก็แตกไป เวลามันเจริญขึ้น มันเกิดขึ้นจิตใจก็ยินดี พอใจว่าตัวเราของเรา ครั้นเวลามันจะแตกดับจะตาย เอาละวุ่นวายทีนี้ ไม่ให้มันตาย จะแก้ไว้รักษาไว้ ถ้ามันถึงเวลามันเจ็บแก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้


    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_sim/lp-sim_13.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...