สติปัฏฐานสี่ ..??

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย หัสดี, 31 สิงหาคม 2010.

  1. หัสดี

    หัสดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    45
    ค่าพลัง:
    +173
    สติปัฏฐานสี่

    ธรรมเทศนาของหลวงปู่คำดี วัดถ้ำผาปู่

    จากหนังสือที่นางพิศศรี พิศาลบุตร
    สร้างเป็นธรรมทาน​

    แนวทางปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ
    ๑.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฝึกหัดสติ พิจารณากายเพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง
    ๒.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฝึกหัดสติ กำหนดพิจารณา เวทนา คือความสุขและความทุกข์ ไม่สุข และไม่ทุกข์ อุเบกขา เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง
    ๓.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฝึกหัดสติ กำหนดพิจารณาจิต เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง
    ๔.ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฝึกหัดสติ กำหนดพิจารณาธรรม เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง

    สำหรับผู้ที่เข้ามาฝึกหัดปฏิบัติใหม่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติอบรมจิตใจให้สงบ ตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์อันเดียว ที่เรียกว่า “สมถะภาวนา” ระยะแรก ผู้ฝึกหัดปฏิบัติใหม่จะต้องฝึกหัดอบรม ทรมานจิตใจ ต้องใช้ระลึกคำบริกรรม เพื่อเป็นเป้าหมาย ระลึกรู้ว่า จิตของเราระลึก พุทโธ ๆ อยู่ภายในใจ หรือถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ ก็เป็นจุดเป้าหมายเพื่อรู้ว่า จิตของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออก ดังนั้นด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เข้ามาฝึกหัดปฏิบัติใหม่ ถ้าไม่ใช้คำบริกรรมภาวนาเป็นอารมณ์เสียก่อนแล้วจะตั้งสติระลึกรู้อะไรเป็นอารมณ์เล่า แต่อันที่จริง ฝึกหัดสติกำหนดกายเป็นอารมณ์ก็ได้เหมือนกัน เพราะเหตุว่า สติปัฏฐาน ๔ ก็มีกายกับใจเท่านั้นเป็นที่ฝึกหัดสติ กำหนดรู้ส่วนของร่างกาย ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น ส่วนรูปก็เป็นรูปกายต่างหาก แต่บางท่านฝึกหัดตั้งสติพิจารณากายเป็นอารมณ์ เช่นกรรมฐานทั้ง ๕ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอารมณ์ก็ได้ อบรมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิได้เหมือนกัน แต่ว่าวิธีฝึกหัดตั้งสติกำหนด

    พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์นี้มีวิธีมากมายหลายอย่าง คือ บางครั้งกำหนดลอกหนังออกเหมือนเราลอกหนังวัว หนังควายออกให้หมด แล้วจึงกำหนดพิจารณาแต่เท้าตลอดศีรษะ แต่ศีรษะตลอดเท้าทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ข้างซ้ายและข้างขวา บางคราวสมมติเอาน้ำมันก๊าดเทรดศีรษะ ผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ หรือเสื้อผ้า ชุ่มไปด้วยน้ำมันก๊าดแล้ว กำหนดขีดไม้ขีดไฟ จุกให้ลุกกลุ้มแล้วกำหนดพิจารณาเหมือนดังแนะแล้ว เหมือนดังวิธีลอกหนังนั้นเอง
    บางทีเดินจงกรมก็สมมติว่า มีคนเอามีดมาสับฟันข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้ายและข้างขวา เลือดไหลอาแดงไปหมดทั้งตัว สบง จีวร ก็เลือดแดงไปหมด ทางจงกรมก็แดงไปหมด เป็นสายไปด้วยเลือด ฉะนี้แล้วก็กำหนดพิจารณาเหมือนอย่างแนะแล้ว หรือบางทีก็กำหนดแยกส่วน แบ่งส่วนของร่างกายออกเป็นส่วน ๆ ธาตุดินแยกออกเป็นส่วนดิน ธาตุน้ำเป็นส่วนน้ำ ธาตุลมเป็นส่วนลม ธาตุไฟเป็นส่วนไฟ และบางทีก็สมมติว่า เราเจ็บไข้ได้ป่วย รักษาไม่หาย แล้วก็ตาย เรียกว่าศพ ตามธรรมดา เขาจัดการทำอย่างไรบ้าง ก่อนที่เขาจะเอาไปจุดไฟเผา ให้กำหนดเพ่งพิจารณาเหมือนเราเพ่งกำหนดพิจารณาศพอื่นฉะนั้น

    ตัวอย่างการกำหนดดังนี้ ท่านเรียกว่า “อสุภสัญญา” ถ้าเราท่านึกสัญญากำหนดอย่างใดก็ปรากฏอย่างนั้น ไม่ลบเลือน ยังเป็นสัญญาติดตาเราท่านอยู่ เรียกว่า “อุคหนิมิต” จิตย่อมสงบและสลดสังเวช ละวาง อารมณ์ภายนอกเด็ดขาดแล้วจิตก็รวมเป็นสมาธิได้ง่าย และอีกอย่างหนึ่ง อสุภสัญญาอย่างที่แนะแล้วนั้น เป็นอุบายวิธีแก้จิตเพื่อให้จิตละวางอารมณ์หยาบ ก็ธรรมดาของจิตของสามัญชนคนเราท่าน ชอบคิดไปตาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ตามแระเพณีของชาวโลกนิยมกัน จึงต้องมีอุบายแก้จิต เรียกว่าเปลี่ยนอารมณ์ใหม่ ให้จิตนึกคิดพิจารณา เปรียบเหมือนเปลี่ยนสิ่งของให้ทารก เด็กเล่นฉันนั้น

    อีกประการหนึ่ง วิธีกำหนดพิจารณากายนี้ แล้วแต่ใครจะมีอุบายปัญญารู้เห็นอย่างไรว่าเป็นการชอบ คิดออกด้วยสติและปัญญาของตนเองก็กำหนดรู้ไปตามนโยบายและอุบายของตนเองเรื่อยไปจึงจะเป็นการชอบ ส่วนอุบายวิธีที่ครูบาอาจารย์แนะนำมานั้นก็เพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้น ส่วน “สมาธิจิต” จะรวมแน่วแน่สติติดตามจิตเข้าสู่ภวังค์ และรู้สึกเป็นสุขสบายจริง ๆ ก็ต้องอาศัยสติและปัญญาของตนด้วย

    ต่อไปนี้จะแนะนำวิธีเดินจงกรมและนั่งสมาธิ ฝึกหัดสติอบรมจิตเพื่อเป็นเพลงคือกำลังคือธรรมที่เป็นกำลัง ๕ อย่าง ที่เรียกว่า พละ ๕ อินทรีย์ ๕

    อานิสงส์การเดินจงกรม ๕ อย่างคือ

    ๑.ทนต่อการเดินทาง คือเดินทางได้ไกล
    ๒.ทนต่อการทำความเพียร คือ ทำความเพียรได้มาก
    ๓.อาหารที่บริโภคฉันแล้ว ย่อมย่อยง่าย
    ๔.อุคคหนิมิตเกิดขึ้นเวลาจงกรมไม่เสื่อมง่าย
    ๕.โรคเกิดขึ้นแก่ร่างกายน้อย และการเดินจงกรมจิตก็รวมได้ และยังเป็นการบริหารร่างกายอีกด้วย

    วิธีเดินจงกรม

    เมื่อไปถึงต้นทางแล้ว ให้ตั้งเจตนานึกในใจว่า สาธุ ข้าพเจ้าจะเดินจงกรมเพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ขอจงให้จิตใจของข้าพเจ้าสงบเยือกเย็นเป็นสมาธิ เกิดมีสติปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดในธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ เทอญ” แล้วจึงระลึกคำบริกรรมว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ๓ จบ และให้รู้ว่า คุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีอยู่ภายในจิตใจของเราแล้ว จึงลืมตาเอามือขวาจับมือซ้ายวางทับกันไว้เพียงสะดือ หรือพกผ้าจึงก้าวขาเดินต่อไป ระลึกคำบริกรรมเอาแต่ พุทโธ ๆ ๆ คำเดียว ให้เดินว่า พุทโธ กลับไป กลับมา ช้าหรือเร็ว แล้วแต่ความถนัดของตน และให้สติระลึกรู้ ทวนกระแสเข้าไปจนกว่าสติระลึกรู้เข้าไปถึงใจจริง ๆ

    ด้วยเหตุนี้วิธีระลึกบริกรรมพุทโธ ไม่ออกเสียง ระลึกอยู่ในใจ ลิ้นก็ไม่ได้กระดิก คือให้ใจระลึก “พุทโธ ๆ ๆ ๆ” อยู่ภายในใจ เพื่อเป็นจุกหมาย ฝึกหัดสติระลึกรู้เข้าไป จนกว่าสติกับจิตใจรวมเข้าเป็นอันเดียวกัน ชำนิชำนาญแล้ว ไม่ช้าไม่นาน จิตจะสงบรวมเป็นสมาธิ มีลักษณะ เบาแข้ง เบาขา คล้าย ๆ กับมีสิ่งมาพยุงร่างกาย เบาไปหมดทั้งตัวดังนี้ เรียกว่าจิตรวมด้วยอิริยาบถเดินจงกรม
    วิธีนั่งสมาธิภาวนา

    ถ้าเดินจงกรมก่อนแล้ว เมื่อหยุดการเดินแล้วขึ้นไปบนกุฏิแล้วกราบที่นอน ๓ ครั้ง แล้วจึงนึกตั้งเจตนาว่า “สาธุ ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนา เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ขอให้จิตใจของข้าพเจ้าสงบเยือกเย็นเป็นสมาธิ เกิดมีสติปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดโดยธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าจงทุกประการเทอญ” จึงบริกรรมว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ๓ จบ แล้วให้เข้าใจว่า คุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีอยู่ภายในใจของเราแล้ว จึงนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย นั่งตั้งกายให้เที่ยงตรง คือ ไม่ก้มนัก ไม่เงยนัก ไม่เอียงซ้าย และเอียงขวา เมื่อนั่งเรียบร้อยดีแล้ว จึงหลับตาระลึกบริกรรมเอาแต่คำเดียวว่า “พุทโธ ๆ ๆ ๆ” เป็นอารมณ์ และวิธีระลึก บริกรรมเหมือนกับเดินจงกรม ต่างกันแต่อิริยาบถเดินหรือนั่งเท่านั้น แต่ให้สังเกตที่เราท่านระลึกบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ทวนกระแสเข้าไปจนกว่าสติกับจิตใจเข้าเป็นอันเดียวกันแล้ว และรู้สึกสบายใจจะหยุดบริกรรมก็ได้ แต่ให้ตั้งสติกำหนดรู้อยู่ตรงที่รู้ ไม่ให้ความรู้เคลื่อนไหวไปตามอารมณ์สัญญา ความนึกคิดอะไรทั้งนั้น ให้กำหนดรู้แน่วนิ่งเฉยอยู่แล้ว จิตจึงจะรวมสนิท ไม่มีนิมิตและอารมณ์รบกวน แล้วรู้สึกสบายกาย สบายใจ หายเหน็ดหายเหนื่อย หายปวดแข้งปวดขา หายปวดหลังปวดเอว รู้สึกสบายมาก ถ้าจิตรวมสนิท ดังที่แนะแล้ว
    เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ อย่าเพิ่งด่วนออกจากสมาธิ ให้ตั้งสติไว้ แล้วพิจารณาเสียก่อนว่า ทีแรกเรานั่งสมาธิ ได้ละวางอารมณ์อย่างไร และได้ตั้งสติกำหนดรู้อะไร เรามีความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็นอะไรหรือไม่ จิตเราจึงสงบสุขสบายอย่างนี้ เราต้องสังเกตพิจารณาให้รู้ไว้ ภายหลังจะทำถูกแนวทางและวิธีที่เคยทำมาแล้ว เมื่อทำอีกทีหลัง ถ้าทำด้วยความอยากจิตสงบรวมอีกไม่ได้เลย เพราะความอยากเป็นข้าศึกแก่สมาธิโดยแท้

    ผู้ที่ยังไม่เป็นสมาธิก็เป็นไปไม่ได้ เพราะความอยากเป็นนิวรณ์ กั้นจิตไว้แล้ว ตัวอย่างการบำเพ็ญสมถะภาวนาให้มุ่งเฉพาะอบรมทรมานจิตใจให้สงบอย่างเดียวเท่านั้นหรือจะมีคุณธรรมประเภทใดเล่าที่จะบังคับจิตใจให้สงบได้อันแท้จริง นอกจากการบากบั่นฝึกหัดสติ และมีศรัทธาความเชื่อมั่น และมีฉันทะ ความพอใจ อุดหนุนความขยันหมั่นเพียร จึงจะเป็นผลสำเร็จ ไม่ว่าการงานในทางโลก และทางธรรม ถ้าไม่มีฉันทะ ความพอใจทำแล้ว การงานนั้นก็ไม่เป็นผลสำเร็จสักอย่างเลย ชาวโลกเขาเรียกว่า คนขี้เกียจ ขี้คร้าน ใช่หรือไม่

    แล้วทีนี้ทางธรรม ถ้าพระเณร เราท่านไม่มีฉันทะ ความพอใจเดินจงกรม นั่งสมาธิฝึกหัดสติแล้ว สมถะภาวนาก็ไม่สำเร็จผลประโยชน์ คือความสงบ ถ้าความสงบไม่ได้ ส่วนวิปัสสนาไม่ต้องพูดถึงเลย เป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ หมู่คณะครูบาอาจารย์ท่านเรียกว่า พระเณรขี้เกียจ ขี้คร้านเหมือนกันนั้นแล ฯ

    อีกประการหนึ่ง วิธีระลึกบริกรรมดังที่แนะและอธิบายแล้วเบื้องต้นนั้น มิได้ประสงค์ให้ฝึกหัดสติระลึกบริกรรม พุทโธ ๆ ๆ แต่เวลาเดินจงกรมและนั่งสมาธิเท่านั้นก็หามิได้ “อกาลิโก” คือ ท่านไม่ให้เลือกกาลเวลา เช่น ไปบิณฑบาตก็ระลึก พุทโธ ๆ ไป ระลึก พุทโธ ๆ มา เมื่อมาถึงศาลาแล้ว ให้ตั้งสติระลึกรู้อยู่อย่างนั้น ไม่เอาเรื่อง ฟังเสียงใครทั้งนั้น จะพูดและจะคุยกันอย่างไรก็ตาม ไม่เอาหูใส่ใจฟังเลย ก่อนจะบริโภคฉันภัตตาหาร ก็ให้มีสติกำหนดพิจารณาอาหาร ตามหลักคำแปลของ “ปฏิสังขาโย” ไม่ควรประมาท ฉันเสร็จแล้ว ไปล้างบาตร เช็ดบาตร ก็ให้มีจิตระลึก “พุทโธ ๆ ๆ” อยู่ ไม่ยอมปล่อยจิตใจ ออกไปภายนอกกายและใจเลย เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว เดินไปกุฏิ ก็ให้ระลึก “พุทโธ ๆ ๆ” ไป ถึงกุฏิแล้ว เก็บสิ่งของไว้เรียบร้อย แล้วเดินจงกรมสักหนึ่งหรือสองชั่วโมงอย่างน้อย หรือมากกว่านี้ก็ได้ เหนื่อยแล้วขึ้นไปกุฏิ นั่งสมาธิภาวนาตามสมควรแก่กำลังแล้ว ถ้าเคยพักผ่อนจำวัตรก็พักผ่อนบ้าง เมื่อก่อนจะหลับให้นึกตั้งใจไว้ว่า ถ้าเรารู้สึกว่าหลับแล้วตื่น เราจะลุก ไม่นอนซ้ำอีกดังนี้ ถ้าไม่เคยจำวัตรก็ไม่ต้อง ยิ่งเป็นการดีมาก ให้ตั้งใจเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง จนถึงเวลาปัดกวาด ทำข้อวัตร กิจวัตรเสร็จแล้ว อาบน้ำชำระกายสบายดีแล้ว กลับที่พัก เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิภาวนาบ้าง จนกว่าถึงยามค่ำมืดแล้วขึ้นกุฏิ กราบที่นอน ๓ หน แล้วทำวัตร สวดมนต์แผ่เมตตาจิตแก่สรรพสัตว์ มี กะระณี วิรูปักเข วิปัสสิส พรหมวิหาร ๔ ดังนี้เป็นต้น ตัวอย่างก็ครูบาอาจารย์นำพาทำอยู่ทุกวันพระมิได้ขาด แม้วันธรรมดา ครูบาอาจารย์ก็พากเพียรที่จะบำเพ็ญอยู่อย่างนั้นมิได้ขาด เมื่อเสร็จจากการทำวัตรสวดมนต์แล้ว ก็ลงเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ไม่นอนก่อน ๕ ทุ่ม และ ๖ ทุ่ม ตีสาม หรือตีสี่ ลุกขึ้นทำวัตรเช้า แผ่เมตตาจิต หรือสวดปฏิสังขาโย ตามหลักคำแปลบองปฏิสังขาโยจบแล้ว จึงเจริญและแผ่เมตตา กะระณี วิรูปักเข วิปัสสิส ถ้าโอกาสพอ แต่ตอนเย็นไม่ควรให้ขาด นี่คือสวดย่อ ถ้าท่องได้มากเท่าไร ก็ให้สวดไปจนจบ เพื่อกันความหลงลืม

    อีกเรื่อง คือการบำเพ็ญสมถะ ใช้บริกรรมระลึก “พุทโธ” เป็นอารมณ์ ดังที่แนะและอธิบายตั้งแต่ต้นจนที่สุดนั้น ถ้าว่าตามหลักพุทธประสงค์ คือไม่ปล่อยจิตใจออกไปนึกคิดเล่นเรื่องอารมณ์ภายนอก คือนอกจากกายและใจของตน เรียกว่าฝึกอบรมสติเพื่อให้มีกำลังแก่กล้า เป็นมหาสติ เป็นใหญ่ ที่เรียกว่า อินทรีย์แก่กล้า สามารถบังคับจิตใจให้สงบ เป็นสมาธิได้ง่าย ถ้าไม่พากเพียรทำตามที่แนะแล้วนั้น ถึงจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ จิตใจสงบสุขบ้างแล้วก็เสื่อม ทำอีกทีหลังสงบได้ยาก เพราะประมาทปล่อยจิตใจให้ฟุ้งซ่าน นึกคิดออกไปเล่นเรื่องเล่นอารมณ์วันยังค่ำเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น การฝึกหัดสติ ทำสมาธิภาวนา จึงไม่ได้รับผลอานิสงส์ สมดังปณิธานความปรารถนาของตนสักที

    บางท่านทำสมาธิจิตใจสงบสุข เป็นบางครั้งบางคราว แล้วก็ควรกำหนดพิจารณาร่างกายให้จงมากเท่าที่จะมากได้ยิ่งเป็นการดี การกำหนดพิจารณากาย ท่านเรียกว่า อนุโลม กำหนดจิตใจ ท่านเรียกว่า ปฏิโลม แต่อย่าทำให้สับสนกัน คือ วิธีพิจารณาดังที่แนะแล้วให้กำหนดเวลาเดินจงกรม แต่ข้อสำคัญ วิธีกำหนดพิจารณากรรมฐาน ๕ ควรตั้งข้อสังเกตเพื่อรู้ว่า กรรมฐาน ๕ อย่างนั้น อะไรที่ถูกกับจริตนิสัยชอบใจของเรา แล้วกำหนดแยกส่วน แบ่งส่วนพิจารณาเอาแต่อย่างเดียว จึงจะเป็นการชอบ ถ้ากำหนดพิจารณาควบกันไป อย่างนี้บ้างและอย่างโน้นบ้าง เช่นนี้ กรรมฐานเลยไม่รู้แจ้ง เป็นปัจจัตตังสักอย่างเลย ถ้าเป็นผู้มีสติ มีกำลังตั้งมั่น กำหนดรู้ส่วนหนึ่งแจ่มแจ้งแล้ว ก็รู้ทะลุปรุโปร่งไปหมดในร่างกาย

    ถ้าผู้มีสติปัญญาใคร่ประสงค์อยากจะพิจารณาธรรมภายใน ดังเช่น “ไตรลักษณ์” คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ภายในรูป หรือนามขันธ์ ๕ เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอาทิ ก็ให้พิจารณาได้ในอิริยาบถเดินจงกรมนี้แล เพื่อเป็นแนวทางของวิปัสสนา เป็นคู่ควบกันไปกับสมถะ แต่ขออย่างเดียว อย่าส่งจิตออกไปภายนอกกายและใจก็แล้วกัน และเรื่องบริกรรมภาวนาสมถะขั้นต้นนั้น ถ้าจิตใจมีสติมีกำลังพอสมควรแล้ว เมื่อกำหนดกายส่วนใดส่วนหนึ่ง สติก็ตั้งในอยู่ที่กาย เมื่อกำหนดจิตใจ สติตั้งมั่นอยู่ที่ใจ แล้วก็ให้หยุด ไม่ระลึกคำบริกรรมก็ได้ แต่ให้ฝึกหัดสติ กำหนดพิจารณากาย และกำหนดจิตใจดังที่แนะและอธิบายมาแล้วนั้นแล

    ส่วนเรื่องปีติ มีอาการมากมายหลายยอย่าง พรรณนาไม่ถ้วน คือบางครั้งเกิดเป็นแสงประกายวาบขึ้น เหมือนคนบีบไฟฉาย บางทีก็เกิดเหมือนมีตัวไรตัวเลนไต่ตามตัว หรือตามหน้า บางครั้งก็ปรากฏตัวตนใหญ่สูงกว่าปกติ บางทีทำให้กายเบา บางทีทำให้ขนพองสยองเกล้าเหมือนได้เห็นและได้ยินเสียงสิ่งที่น่ากลัว เป็นอาทิ

    ส่วนเรื่องนิมิต บางท่าน บางคนก็ปรากฏรู้เห็นแต่น้อย ไม่มากนัก บางคนก็มาก คือนิมิตภายในปรากฏเห็นร่างกายของตนเปื่อยเน่าเป็นซากผีไปหมดทั้งตัว เช่นนี้ท่านเรียกว่า “อสุภนิมิต” ถ้าปรากฏเห็นบ่อย ๆ ยิ่งดีมาก ไม่ต้องทำความกลัว ส่วนนิมิตภายนอกกายมีมากเหมือนกัน วิธีแก้นิมิตอย่างง่าย ๆ คือ อย่าทำความกลัว และอย่ายินดี และยินร้ายในนิมิตก็แล้วกัน ให้ถือเสียว่านิมิตเป็นของหลอกลวง ถ้าเราไม่ทำความยินดีและยินร้าย นิมิตนั้นก็หายไปเอง เอวัง


    [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...