สติปัฏฐานภาวนา (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 8 ตุลาคม 2013.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    สติปัฏฐานภาวนา
    แสดงธรรมโดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

    วัดหินหมากเป้ง
    ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


    การฝึกสมาธิด้วยวิธีเจริญสติปัฏฐาน 4 เป็นหลักธรรมอันลึกซึ้งและมีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น สติปัฏฐาน 4 มีอยู่พร้อมแล้วที่กายที่ใจของเราทุกๆ คน ทั้งเป็นของดีเลิศ ผู้ใดตั้งใจแลเลื่อมใสปฏิบัติตาม โดยความไม่ประมาท เต็มความสามารถของตนแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่าอย่างช้า 7 ปี อย่างเร็ว 7 วัน อย่างสูงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างต่ำจะได้เป็นพระอนาคามี เป็นต้น

    พระพุทธองค์เมื่อทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่หกปี ได้ทรงนำเอาหลักวิชาที่ได้ศึกษามาทดสอบหาความจริง ก็ไม่เป็นผล มีแต่จะทำให้ฟุ้งส่ายไปมาไม่สงบ จึงทำให้พระองค์ไม่อาจตรัสรู้สัจธรรมได้ เมื่อพระองค์ทรงย้อนมาดำเนินตามแนว ฌาน - สมาธิ ที่พระองค์เคยได้เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์ ซึ่งไม่มีใครสอนให้ แล้วจิตของพระองค์ก็สามารถเข้าถึงองค์ฌาน ได้สำเร็จพระโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

    นี่แสดงว่าเรื่อง ฌาน - สมาธิมัคคปฏิบัติ เป็นเครื่องกำจัด ชำระกิเลสอารมณ์ เครื่องเศร้าหมองออกจากจิต จิตจึงบริสุทธิ์ ความรู้อันนี้จึงเป็นไปเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์แล้วก็ได้ธรรมอันบริสุทธิ์ของจริงของแท้ขึ้นมา ดังคติธรรมที่ว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ และสำเร็จได้ด้วยใจ"

    แปลเป็นแบบไทยๆ หมายความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นที่ใจ รู้เฉพาะใจของตน (ปัจจัตตัง) ฉะนั้น ใจจึงประเสริฐกว่าทุกสิ่ง เพราะใจเป็นผู้ให้สำเร็จกิจทุกกรณี

    ฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงนำเอาแนวปฏิบัติที่พระองค์ได้ทรงดำเนินมาแล้วนั้น มาสอนให้พุทธบริษัทปฏิบัติตาม กายกับใจเป็นของอาศัยกันอยู่ เมื่อจะกระทำความดีหรือความชั่วจึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน การที่จะฝึกฝนชำระสะสางก็ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ต้องอาศัยศีลเป็นเครื่องชำระซักฟอก ศีลที่จะมีสมรรถภาพสามารถฟอกกายให้สะอาดได้ ก็ต้องอาศัยใจมีเจตนางดเว้นในการทำความผิด ด้วยมีความรู้สึกเกิดความละอายเกรงกลัวต่อบาป

    มนุษย์เราเกิดมาด้วยอำนาจบุญบาป ตกแต่งให้มาเกิด เมื่อเกิดมาแล้วปัจจัยนิสัยเดิมมันตามมาคร่า ตามอำนาจนิสัยเดิม แล้วใจของเราก็ชอบเสียด้วยเพราะว่าติดในความเคยชินในความเป็นทาสของมัน

    ฉะนั้นเมื่อจะรักษาศีล ก็มักจะอึดอัด ลังเลใจ เพราะกิเลสเป็นผู้บัญชาการอยู่ จิตเราจึงเดือดร้อนเพราะถูกกีดกันด้วยการรักษาศีล ดังนั้นศีลจึงให้โทษเป็นบาปแก่ผู้ขอสมาทานศีล จิตก็จะคอยแต่กาลเวลาให้หมดเขตของการรักษาศีล แม้ผู้บวชเป็นเณร เป็นพระก็เข้าทำนองนี้ ดังนั้นเราจะต้องเข้าใจถึงการรักษาศีล หรือการปฏิบัติธรรมต่างๆ ว่าทุกอย่างนั้นสำเร็จด้วยใจ ด้วยความตั้งใจในการรักษาธรรมนั้นๆ ก่อนจะปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 จึงควรมีศีลเป็นที่ตั้งเสียก่อน เพื่อให้กาย วาจา เกิดความบริสุทธิ์เสียก่อน แล้วใจจะบริสุทธิ์ตามมาอีกทีหนึ่ง จะทำให้การปฏิบัติสติปัฏฐานมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น


    สติปัฏฐาน 4 เป็นโลกุตตรธรรมและเป็นที่อบรมสติได้อย่างดี ประกอบด้วย

    1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณากายนี้สักแต่ว่ากาย มิใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา

    2. เวทนานุสติปัฏฐาน ให้พิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้สักว่า เวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

    3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว เป็นอารมณ์ว่า ใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

    4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณาธรรมที่เป็นกุศล และอกุศล ที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่า ธรรมนี้ก็สักว่า ธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

    สติปัฏฐาน 4 ถึงแม้ท่านจะจัดเข้าเป็นโลกุตตรธรรมแล้วก็ตาม ก็ยังต้องหมายเอาตัวของเราทุกๆ คนที่เป็นโลกียอยู่นี่เอง หมายความว่า การจะปฏิบัติให้ได้ สติปัฏฐาน 4 ได้ก็จำต้องเริ่มจากที่กายใจของเรา เหมือนกับต้องมีสิ่งสมมุติก่อน แล้วจึงจะพัฒนาเป็นสู่สิ่งที่เป็นอนัตตา

    ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐานแต่ละข้อ ขอให้พึงกำหนดไว้ในใจก่อนว่า สติกับใจอยู่ด้วยกัน สติอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น ใจอยู่ตรงไหนสติก็อยู่ตรงนั้น ฐานที่ตั้ง - ที่ฝึกอบรมสติ คือสติปัฏฐาน 4 ได้แก่ กาย - เวทนา - จิต - ธรรม นั่นเอง


    แนวปฏิบัติสติปัฏฐานภาวนา

    ผู้จะลงมือเจริญสติปัฏฐาน 4 แต่ละข้อนอกจากเป็นผู้เห็นโทษทุกข์เบื่อหน่าย คลายความยินดีเพลิดเพลินติดอยู่ในกามคุณ 5 แลทำความเลื่อมใสพอใจในการปฏิบัติตามสติปัฏฐาน เพราะเชื่อตามคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าว่า เป็นทางที่ให้พ้นจากกองทุกข์ได้อย่างแท้จริงแล้ว อย่าได้ลังเลสงสัยในสติปัฏฐานข้ออื่นอีกที่เรายังมิได้เจริญ เพราะสติปัฏฐานทั้ง 4 เมื่อเจริญข้อใดข้อหนึ่งได้แล้ว ข้ออื่นๆ ก็จะปรากฏชัดแจ้งให้หายสงสัยในข้อนั้นเอง แล้วก็อย่าไปหวังหรือปรารถนาอะไรๆ ไว้ล่วงหน้าให้มาเป็นอารมณ์ เพราะจะเป็นอุปสรรคแก่การเจริญสติปัฏฐาน


    นัยที่ 1 - 1 เมื่อเอาสติไปตั้งลงที่กาย แล้วให้เพ่งดูเฉพาะกายเฉยๆ ไม่ต้องไปแยกแยะกายให้เป็นธาตุ - อสุภ อันใดทั้งสิ้น แม้แต่คำว่า กาย หรือว่า ตน ก็ไม่ต้องไปคำนึง ให้ตั้งสติเพ่งอยู่อย่างนั้น เมื่อจิตแน่วแน่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว อารมณ์อื่นนอกนั้นมันก็จะหายไปเอง ในขณะนั้นจิตจะไม่ส่งส่ายไปในอดีต - อนาคต แม้แต่สมมุติบัญญัติว่าอันนั้นเป็นนั่น อันนี้เป็นนี่ก็จะไม่มี กายที่จิตไปเพ่งอยู่นั้นก็จะเห็นเป็นสักแต่ว่า วัตถุธาตุอันหนึ่งเท่านั้น มิใช่เรา มิใช่เขา หรือ สัตว์ ตัวตน บุคคลอะไรทั้งนั้น นี่เรียกว่า จิตเข้า เอกัคคตารมณ์ นั่นคือเข้าถึงสติปัฏฐานภาวนาโดยแท้

    เมื่อจิตไปเพ่งวัตถุอันนั้นอยู่โดยไม่ถอน สักพักหนึ่งแล้ว วัตถุอันนั้นก็หายวับไป เมื่อสติไม่มีที่หมาย สติก็หมดหน้าที่ สติก็จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วจิตกับวัตถุภาพนั้นก็จะรวมเข้าเป็นจิตอันเดียว ซึ่งลักษณะคล้ายๆ กับคนนอนหลับ แต่มิใช่หลับเพราะมันยังมีความรู้เฉพาะตัวมันอยู่ต่างหาก แต่จะเรียกว่าความรู้ก็ยังไม่ถูก เพราะว่ามันนอกเหนือจากความรู้ทั่วไป นี่เรียกว่า เอกัคคตาจิต การเจริญสติปัฏฐานถึงที่สุดเพียงเท่านี้ สติปัฏฐานข้ออื่นๆ ก็เหมือนกัน

    อาการของการเจริญสติปัฏฐาน 4 ถ้าหากว่า จิตไม่รวมเป็นหนึ่งแต่มีการเกิดเป็นสองหรือมากกว่า ตัวจิตจะถอนออกมา จะมีความวุ่นส่งส่ายลังเล หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การเจริญสติปัฏฐานเบื้องต้นก่อนจิตจะเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ เอกัคคตาจิตนั้น คืออาการของจิตทำงาน จะต้องต่อสู้หรือผจญต่างๆ เมื่อจิตได้รวมเป็นเอกัคคตาจิตแล้ว ก็จะดำเนินพักผ่อนตามพอควรแก่เวลา แล้วจิตก็ออกตรวจ - จัดระเบียบ - ชมผลงานของตน - พร้อมๆ กับเกิดความปราโมทย์ ร่าเริงบันเทิงในผลของงานนั้นๆ

    ผลของการเจริญสติปัฏฐานทุกๆ ข้อ จะมีอาการคล้ายๆ กันทั้งนี้ทั้งนั้น อาจมีผิดกันบ้าง ซึ่งเป็นเพราะบุญบารมีนิสัยไม่เหมือนกัน

    ความจริงการงานของกายกับงานของจิตก็คล้ายๆ กัน ผิดที่งานของกายทำด้วยวัตถุ ที่ยังไม่สำเร็จให้สำเร็จแล้วก็พัก ส่วนงานของจิตทำด้วยนามธรรม ( ปัญญา) ที่ยังหลงไปยึดไม่รู้เท่า เข้าใจตามเป็นจริง เมื่อชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยปัญญาแล้ว ก็หมดหน้าที่แล้วก็ปล่อย วางพักเอง

    อนึ่ง ภาพนิมิตและความรู้ต่างๆ อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่กำลังเจริญอยู่นี้ โดยมิได้ตั้งใจจะให้มันเกิด แต่หากเกิดขึ้นเอง ด้วยอำนาจของสมาธิก็ได้ ตามจังหวะกำลังการเจริญนั้นๆ มิได้หมายความว่าทุกคนที่มาเจริญแล้วจะต้องเกิดภาพนิมิตก็หาไม่ เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะบุญบารมีนิสัยวาสนาของแต่ละคน และมิใช่แต่เรื่องภาพนิมิต เรื่องอื่นๆ ก็มีอีกแยะ

    ฉะนั้นผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานควรอยู่ใกล้กับผู้ที่ฉลาดแลชำนาญในการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อมีเรื่องแลขัดข้องจะได้ตรงไหน ท่านจะได้ขี้แนะช่องทางได้ จะทำให้การเจริญสติปัฏฐานก้าวหน้าไปได้ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น


    นัยที่ 1 - 2 เมื่อเอาสติตั้งลงที่เวทนา (โดยมากเป็นทุกขเวทนา) แล้วก็ให้เพ่งดูเฉพาะเวทนาเฉยๆ ไม่ต้องไปคิดค้นว่าเวทนาเกิดตรงนั้น จากนั้น แลอยู่ ณ ที่นั้นๆ อะไรทั้งหมด แม้คำที่เรียกว่า เวทนาๆ นั้นก็อย่าได้มีในที่นั้น เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่อย่างนี้ จิตก็จะปล่อยวางความยึดถือสมมุติบัญญัติเดิมเสีย แล้วจะมีความรู้สึกสักแต่ว่า เป็นอาการของความรู้สึกอันหนึ่ง ซึ่งมิใช่อยู่นอกกายแลในกายของเรา แล้วอารมณ์อื่นๆ ก็จะหายไปหมด

    เมื่อจิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่เฉพาะในลักษณะนั้นดีแล้ว บางทีทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าที่เกิดอยู่ในขณะนั้นจะหายวับไปเลย หากยังไม่หายเด็ดขาดจะปรากฏอยู่บ้าง อันนั้นก็มิใช่เวทนาเสียแล้ว มันเป็นสักแต่ว่าอาการอันหนึ่งเพียงเพื่อเป็นที่เพ่งหรือที่ตั้งของสติ เรียกว่า จิตเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ เมื่อจิตไม่ถอน ละเอียดเป็นลำดับแล้ว อาการอันหนึ่งซึ่งสติไปตั้งมั่นอยู่นั้นก็จะหายไป คงเหลือแต่เอกัคคตาจิต จิตที่บริสุทธิ์ผ่องใสดวงเดียว เมื่ออยู่สักพักแล้วก็จะถอนออกมา ต่อจากนั้นก็เดินตามวิถีเดิม ดังที่ได้อธิบายมาในสติปัฏฐานข้อแรก


    นัยที่ 1 - 3 เมื่อเอาสติมาตั้งลงที่จิต (จิตในที่นี้หมายเอาผู้รู้สึกนึกคิด) แล้วก็ให้เพ่งดูเฉพาะแต่จิตเฉยๆ ไม่ต้องไปคิดว่าจิตเป็นบุญ จิตเป็นบาป อย่างนั้นๆ จิตดี จิตชั่ว จิตหยาบ จิตละเอียดอย่างนั้นๆ แม้แต่ชื่อแลบัญญัติของจิตอื่นนอกจากนี้ก็อย่าให้มี ณ ที่นั้น ให้ยังเหลือแต่สติที่เข้าไปเพ่งอาการอันหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะให้วับๆ แวบๆ แต่มิได้ออกไปยึดแลไปปรุงแต่งอะไร

    เมื่อจิตกับสติรวมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวแล้ว สติก็ตั้งมั่นแนวแน่อยู่เฉพาะที่จิตนั้นอย่างเดียว เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เมื่อจิตไม่ถอน ละเอียดเข้าแล้ว จิตคืออารมณ์ของจิตนั้นก็จะหายไป สติก็จะหายไปตามกัน แล้วเปลี่ยนสภาพเป็นเอกัคคตาจิต นอกจากนี้อาการเหมือนดังได้อธิบายมาในข้างต้นแล้วทุกประการ


    นัยที่ 1 - 4 เมื่อเอาสติมาตั้งลงที่ธรรม (คืออารมณ์ของใจที่เกิดจากอายตนะผัสสะทั้ง 6) แล้วให้เพ่งดูอยู่เฉพาะธรรมนั้นเฉยๆ ไม่ต้องไปแยกแยะว่า ธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นๆ แลเกิดดับอย่างนั้นๆ แม้แต่คำว่า ธรรมๆ ก็อย่าให้มี ณ ที่นั่นเลย ให้เพ่งดูแต่เฉพาะอาการอันหนึ่งซึ่งอายตนะภายนอกภายในกระทบกันแล้ว แสดงปฏิกิริยาอันหนึ่งเกิดขึ้นมาเท่านั้น หากจะมีคำถามขึ้นมาในที่นี้ว่า จิตกับธรรม ต่างกันตรงไหน ก็ขอเฉลยว่า ธรรมในที่นี้ หมายเอาอารมณ์ซึ่งเกิดจากอายตนะทั้ง 6 มีตา เป็นต้น เมื่อตาเห็นรูปสวยน่าชอบใจ แล้วจิตก็เข้าไปแวะข้องเกี่ยวอยากได้รักใคร่ ชอบใจยินดี ติดยึดมั่นเกาะเหนียวแน่นอยู่ในรูปนั้น ที่เรียกว่า ธัมมารมณ์ ธัมมารมณ์อย่างนี้แหล่ะที่เรียกว่า ธัมมานุสติปัฏฐาน ที่ต้องการจะฝึกอบรมสติในธรรมอันยังไม่บริสุทธิ์ ให้เกิดเป็นสภาพธรรมอันบริสุทธิ์ขึ้นมา

    เมื่อสติตั้งมั่นแน่วอยู่เฉพาะในธัมมารมณ์มั่นคงไม่เสื่อม เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เมื่อจิตละเอียดเข้าไปจนที่ตั้งอารมณ์ของสตินั้นหายไป แล้วสติก็จะหายไปด้วยกัน เมื่อจิตอยู่ในลักษณะเช่นนั้นนานพอสมควรแก่ภาวะของตนแล้ว ก็จะถอนออกมาตามวิถี เดิมดังได้อธิบายมาแล้วในสติปัฏฐานข้อต้นๆ

    หากจะตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่า การฝึกอบรมสติปัฏฐาน 4 เบื้องต้น จิตก็จะละเอียดลงไปโดยลำดับๆ จนเป็นเอกัคคตารมณ์แลเอกัคคตาจิต แต่แล้วทำไม จึงต้องถอนออกมาเดินอยู่ในวิถีเดิม (คืออารมณ์ทั้ง หก) จะไม่เรียกว่า จิตเสื่อม หรือเฉลยว่า มนุษย์เรา เกิดมาในกามภพ ใช้วัตถุกาม (คือ อายตนะ) เป็นเครื่องอยู่ หลงแลมัวเมา คลุกกรุ่นเป็นทุกข์เดือดร้อนนานัปการกับการอยู่ด้วยกามกิเลส ด้วยเหตุที่มิได้ฝึกอบรมสติของตนให้มั่นคงจนได้รู้แลเห็นจิต เห็นตัวกิเลสแลที่เกิดของกิเลสตามเป็นจริง จนจิตแยกออกจากกิเลสได้

    ผู้มีปัญญามาเห็นโทษแลเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของกิเลสเหล่านั้นแล้ว จึงมาตั้งใจฝึกอบรมในสติปัฏฐาน 4 จนได้ผล ดังได้อธิบายมาแล้ว ถึงกระนั้นก็ดี เมื่ออายตนะ คือ ตัวของเรา มันเป็นวัตถุกามอยู่ แล้วก็อยู่ในกามภพ รับอารมณ์ที่เป็นของกามกิเลสอยู่ เช่นนี้ เมื่อจิตถอนออกมาจากเอกัคคตาจิต ซึ่งในที่นั้น ถือว่าจิตบริสุทธิ์ไม่มีอะไรแล้ว จิตก็จะมาจับเอาเครื่องมือเก่าใช้ต่อไปจนกว่าจะแตกดับ เมื่อจิตที่ได้ฝึกอบรมให้ชำนาญคล่องแคล่วไว้ดีแล้ว จิตนั้นจะประกอบด้วยปัญญาฉลาด สามารถใช้วัตถุกามมิให้เกิดกามกิเลสได้อย่างดี จิตนั้นได้ชื่อว่าไม่เสื่อม แลเหนือจากกามกิเลส

    สติปัฏฐาน 4 พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้อย่างเด็ดขาดว่า ผู้ใดมาเจริญซึ่งสติปัฏฐาน 4 ทำให้มากเจริญให้ยิ่งจนชำนาญแล้ว อย่างช้าเจ็ดปี อย่างเร็วก็เจ็ดวัน ต้องได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่ถึงพระอรหันต์ก็ต้องได้พระอนาคามี การเจริญสติ มิใช่เป็นของเสียหาย มีแต่จะทำให้ผู้เจริญได้ดียิ่งๆ ขึ้น เพราะสติเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกๆ คน

    ยังมีวิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 อีกวิธีหนึ่ง คือการพิจารณา ลักษณะทั้งสี่ให้ละเอียดลึกซึ้ง ทั้งที่มา ที่เป็นไป จนมีความเบื่อหน่าย โน้มนำจิตให้เข้าสู่อนัตตา มีจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ได้เช่นกัน ซึ่งไม่ได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดความสับสน สำหรับผู้เริ่มฝึกปฏิบัติ แต่สำหรับโดยนัยแล้ว การปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ไม่ว่า วิธีไหนก็ตามเพื่อต้องการให้จิตมีความเบื่อหน่ายในภาวะที่เกิดที่รับรู้ ที่ได้กระทบ จนจิตนั้นเกิดความเบื่อหน่ายในความรู้สึก แล้วก็จะเข้าสู่ความมีจิตเป็นอันหนึ่ง โดยหลักการเป็นอย่างเดียวกันกับแนวหลักของไตรลักษณ์ คือ ดำเนินตามลำดับ ของ ทุกขัง อนิจจัง และอนัตตานั่นเอง

    การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ที่เป็นสติปัฏฐาน 4 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้นพระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวที่จะสามารถนำสัตว์โลกให้ก้าวข้ามบ่วงของกิเลสหรือชาติ ภพ ได้ ทุกวันนี้ได้มีการนำมาใช้ปฏิบัติตามแบบของสมถะวิปัสสนากรรมฐาน ที่เรียกว่าภาวนา "ยุบหนอ พองหนอ" กันมาก และในส่วนของสมถะอย่าง การภาวนา "พุทโธ" หรืออื่นๆ ก็สามารถก้าวล่วงได้ หากว่าได้มีการพิจารณา โดยการใช้ปัญญา ซึ่งหลักการนั้นหลังจากที่จิตอยู่ที่อาการรับรู้เพียงอย่างเดียวในคำภาวนา "พุทโธ" แล้วนั้นแสดงว่า จิตเป็นเอกัคคตารมณ์แล้ว ก็ให้รีบใช้จิตพิจารณาถึงความไม่ เที่ยง ในสิ่งทั้งปวง ทั้งรูปขันธ์และนามธรรม จนจิตละเอียดดีพอ ก็จะมีปัญญารับรู้ถึงความเป็นอนัตตาได้ ตัวปัญญาจะเกิดขึ้น และตัวรู้จะทำให้เราเข้าใจในทุกสิ่งได้เอง

    ทุกสิ่งในคำภาวนาเป็นเพียงสมมุติบัญญัติขึ้นเพื่อให้จิตมีตัวยึด แต่จุดประสงค์หรือหลักการเพื่อต้องการใช้คำภาวนาเหล่านี้ หรืออาการรับรู้เหล่านั้น ปูทางไปสู่ความเห็นหรือตัวรู้ ถึงความไม่เที่ยง เพื่อการพิจารณาสู่ความเป็นอนัตตา ด้วยจิตของพระอรหันต์นั้น ไม่ยึดติดในสมมุติบัญญัติใดๆ อีก

    เอวํ ก็มีด้วยประการ ฉะนี้.



    ...........................................................

    คัดลอกมาจาก
    http://www.geocities.com/metharung/sati-4.htm
    ::
     

แชร์หน้านี้

Loading...