สติปัฎฐาน ๔ คือ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย telwada, 28 มิถุนายน 2011.

  1. telwada

    telwada เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,509
    ค่าพลัง:
    +1,817
    สติปัฏฐาน ๔ หมายถึง การ ระลึกได้ หรือ การหวนนึกถึง ๔ อย่าง เป็นทั้ง นามธรรม และ รูปธรรม สามารถอธิบายได้ในหลากหลายวิธี การอธิบายต่อไปนี้ เป็นการอธิบายหลักวิธีการหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    ๑.ระลึกได้ หรือ การหวนนึกถึง กาย ก็คือ ร่างกายทั้งหลาย นับตั้งแต่ตัวเรา ก็คือ ร่างกายของตัวเรา ไปจนถึง ร่างกายอื่นๆนอกจากตัวเรา ทำไมต้องระลึกนึกถึงกายภายใน กายภายนอก ก็เพราะเพื่อให้ผู้ปฏิบัติ เกิดความรู้ ความเข้าใจ รู้จักเปรียบเทียบ สภาพสรีระร่างกายของตัวเอง และผู้อื่น (ในที่นี้หมายเอาเฉพาะมนุษย์)
    ๒.ระลึกได้ หรือ การหวนนึกถึง เวทนา ก็คือ ความรู้สึก เกี่ยวกับความรู้สึกนี้ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับพระธรรมปิฎก กล่าวไว้ว่า เวทนา หมายถึง "ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ ๑.สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย ๒.ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย ๓.อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา; อีกหมวดหนึ่งจัดเป็น เวทนา ๕ คือ ๑.สุข สบายกาย ๒.ทุกข์ ไม่สบายกาย ๓.โสมนัส สบายใจ ๔.โทมนัส ไม่สบายใจ ๕.อุเบกขา เฉยๆ; ในภาษาไทย ใช้หมายความว่าเจ็บปวดบ้าง สงสารบ้าง ก็มี"
    หากท่านทั้งหลายได้พิจารณาจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกนั้น ย่อมเกิดจาก รูป,สัญญา,เวทนา,สังขาร,จิตวิญญาณ อันแปรเปลี่ยน เป็นความคิดบ้าง แปรเปลี่ยนสิ่งที่เกิดจากร่างกายบ้าง ซึ่งการระลึกได้หรือการหวนนึกถึงในเวทนา ก็ย่อมเป็นการพิจารณาเปรียบเทียบ ความรู้สึก นับตั้งแต่ตัวเรา ไปจนถึงผู้อื่น(ในที่นี้หมายเอาเฉพาะมนุษย์)
    ๓.ระลึกได้ หรือ การหวนนึกถึง จิต
    คำว่า "จิต" ย่อมหมายความถึง "ธรรมชาติรู้อารมณ์" หรือ "การรับรู้อารมณ์" เมื่อได้รับการสัมผัสจากอายตนะภายนอก ด้วย อายตนภายใน การรับรู้อารมณ์ หรือ ธรรมชาติรู้อารมณ์ ย่อมสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับ เจตสิก หรือ ความรู้ หรือ ธรรมที่ประกอบอยู่ในจิตทั้งหลายเหล่านั้น แต่ในหลัก"สติปัฏฐาน" ได้แยกออกมาเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเป็นเฉพาะอย่าง ซึ่ง ตามหลักความจริงแล้ว มนุษย์ (หมายเอาเฉพาะมนุษย์) จะมีความโลภ ความโกรธ ความหลง มีราคะ ตัณหาได้ ก็ต้องประกอบหรือเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับ เจตสิก ถ้าไม่มีเจตสิก คือไม่มีความรู้ ไม่มีธรรมอันประกอบอยู่ในจิต ก็ย่อมไม่เกิด ราคะ ตัณหา ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสจะมีอยู่ในจิต หรือไม่มีอยู่ในจิต ก็ล้วนต้องมีความสนใจในตัวเอง พิจารณาตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้น ในหลัก "สติปัฎฐาน" จึงได้แยก "จิต" ออกมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ได้รู้ ได้สนใจ มี"สัมปชัญญ"อยู่เสมอว่า ตัวเรามีกิเลสชนิดใดอยู่ ไม่มีกิเลสชนิดใดอยู่ เพราะการขจัดกิเลส ต้องขจัดเป็นเรื่องๆ เป็นอย่างๆไป เนื่องจาก สาเหตุ หรือ ปัจจัยอันจะก่อให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว รูปแบบเดียว ถึงแม้ว่า ต้นตอที่จะทำให้เกิดมีเพียง รูป,สัญญา,เวทนา,สังขาร,จิตวิญญาณ และก็เป็นเช่นเดียวกับ กาย,เวทนา คือต้องพิจารณาเปรียบเทียบทั้งตัวเองและผู้อื่น คือทั้งจิตภายใน และจิตภายนอก ตัวเรา
    ๔.ระลึกได้ หรือ การหวนนึกถึง ธรรม
    ธรรม ตามความหมายที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับ พระธรรมปิฏกฯ ได้ให้ไว้คือ "สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น"
    ถ้าท่านทำความเข้าใจ ตามความหมายดังกล่าวข้างต้น ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจ ได้เป็นอย่างดียิ่งเพราะ "การระลึกได้ หรือ การหวนนึกถึง ธรรม" ก็คือ การหมั่นทบทวนความรู้ ความเข้าใจ หมั่นพิจารณา ให้รู้ ในธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวเรา รู้จักศึกษาค้นหาธรรม(คือความรู้)เพื่อใช้ในการขจัดอาสวะทั้งหลาย มีความขยันหมั่นเพียร มีความสงบกายสงบใจ ผ่อนคลายกายใจ มีความวางเฉย และพิจารณาเปรียบเทียบในธรรมที่มีอยู่ในตัวผู้อื่น ว่าจะมีหรือไม่มีจะเหมือนหรือไม่เหมือน อย่างนี้เป็นต้น
    การระลึกได้ หรือการหวนนึกถึง ตามหลัก "สติปัฏฐาน ๔"นั้น จะเป็นการ พิจารณา ซึ่งแตกต่างกับ วิตก วิจาร เพราะ การเกิด วิตก นั้น เป็นการรับรู้หรือเป็นความต้องการที่จะรับรู้ซึ่งอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่นถ้าเราได้ประสบพบเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความโกรธ ไม่พอใจ พอมานั่งสมาธิ สัมปชัญญะไม่ดีพอ ก็จะเกิดความต้องการรับรู้ไปสู่อารมณ์ที่คั่งค้างอยู่คิดถึงเรื่องที่ทำให้เกิดความโกรธ ความไม่พอใจนั้น และก็จะวิจาร ต่อไปว่า ตอนนั้น น่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้
    แต่การระลึกได้ หรือการหวนนึกถึงนั้น เป็นการพิจารณาตัวเองในร่างกาย,ในความรู้สึกเมื่อได้รับการสัมผัสฯ,ในการรับรู้ หรือธรรมชาติรู้อารมณ์ ,ในธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวเรา ว่ามีความถูกต้องหรือบกพร่อง หรือขาด หรือต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ฉะนี้
    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔
     
  2. kammatanclub

    kammatanclub สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    35
    ค่าพลัง:
    +7
    ขอบคุณครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...