ศรีลังกา บนวิถีแห่งเถรวาท

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 30 มกราคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    [​IMG]
    จินตนาการถึงกองเรืออาหรับโบราณที่เคยแล่นผ่านเกาะลังกา แต่ทว่าความสำเร็จของกองเรืออาหรับกลับอยู่ที่สุมาตรา ไกลออกไปอีกฟากหนึ่งของทะเลเบงกอล อารยธรรมอิสลามขึ้นยึดหัวหาดได้ที่อาเจะห์ และแล้วศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายทั่วอุษาคเนย์ในเวลาไม่นาน
    ทว่า เกาะลังกาจึงหลุดรอดอิทธิพลอิสลามไปได้ ?
    เช้าวันใหม่ทะเลอาหรับเปลี่ยนไป เรือใบหาปลาของคนพื้นถิ่นเกลื่อนเต็มทะเล ไม่มีเรือติดเครื่องให้เห็นเลยสักลำ ครุ่นคิดไม่นานก็มั่นใจว่าการดำรงอยู่ของใบเรือในทะเลศรีลังกาไม่ใช่สาเหตุจากความจน แต่ทำไมชาวประมงศรีลังกาจึงยืนหยัดไม่ยอมละทิ้งใบเรือ ?
    ในวัดสำคัญเช่นวัดกัลยาณี มีพระมหาวิหารที่งดงามและสำคัญยิ่งในทางศิลปะเชิงช่าง มีพระสถูปใหญ่ที่สร้างบนที่ประทับของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จมาลังกา
    ถึงกระนั้นชาวศรีลังกากลับให้ความสำคัญกับต้นศรีมหาโพธิ์เก่าแก่ที่อยู่ข้างๆ มหาวิหารและมหาสถูป
    รอบๆ ต้นศรีมหาโพธิ์คือศูนย์รวมทางพิธีกรรมของผู้คนนับร้อย คนศรีลังกาใช้น้ำเป็นสื่อของบูชา ถือหม้อบรรจุน้ำเดินทักษิณาวัตร(เวียนขวา) แล้วนำน้ำไปรดโคนศรีมหาโพธิ์ ดอกบัว เปลวไฟเล็กๆ ของตะไลน้ำมันมะพร้าว สวดมนต์จากหนังสือสวดมนต์ ฯลฯ
    ภาพของการบูชาต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ในลักษณะนี้เห็นอยู่ทั่วไปริมทางระหว่างแคนดีไปโคลัมโบ น่าจะมีควา
    [​IMG]
    มเกี่ยวเนื่องกับการที่คนศรีลังกายังเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ได้ดี
    ต้นไม้ริมทางขนาดใหญ่พบเห็นทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท เติบใหญ่อย่างอิสระ ไม่ถูกตัดแต่งริดรอนกิ่งก้านเหมือนเช่นบ้านเรา
    คนศรีลังกายอมให้ต้นไม้ใหญ่ขึ้นเบียดอยู่ริมอาคารบ้านเรือน ยอมให้ต้นไม้ริมทางย้อยกิ่งมาระรานหลังคารถ ต้นไม้ใหญ่ในศรีลังกาจึงเป็นชีวิตที่มีพื้นที่ชัดเจน มีบทบาททางวัฒนธรรมและพิธีกรรม และแน่นอนมีหน้าที่ทางนิเวศที่จะเอื้อประโยชน์สุขกับชาวศรีลังกา
    ทางหลวงแผ่นดินของศรีลังกาล้วนเป็นเส้นทางสายเล็กๆ พอให้รถวิ่งสวนกัน ยิ่งทางโค้งหักศอกบนภูเขาต้องหยุดรอเพราะไปได้ทีละคัน ดูเหมือนคนศรีลังกาไม่ทุกข์ร้อน อารมณ์ของสารถีก็ไม่ได้เดือดดาน รถราแม้จะเก่าแต่ก็ยังดูใหม่เพราะไร้รอยเฉี่ยวชน
    ถนนของศรีลังกาทำให้ชีวิตบนเกาะศรีลังกาช้าลง เป็นความช้าที่เอื้อคุณอนันต์ ทำให้มนุษย์อยู่ใกล้กับธรรมชาติและผู้คนมากขึ้น ทำให้พวกเรามีเวลาเพียงพอที่จะสบตาแลกยิ้มทักทายกับชาวบ้านขณะรถวิ่ง มีเวลามากพอที่จะพิจารณาความหลากหลายของต้นไม้ริมทาง และบ่อยครั้งที่ทันเห็นรายละเอียดของวิถีชีวิตถึงภายในบ้านเรือน
    พวกเราเดินจาริกไปบนโบราณสถาน สถูปอารามที่มีอายุเกิน 1,000 ปี ในดินแดนที่พุทธศาสนาเถรวาทเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ก่อนที่จะแพร่มาสู่สุวรรณภูมิ
    สถูปทรงลังกาที่มีรูปทรงครึ่งวงกลมคว่ำลงต่อฐานบัลลังก์บริเวณคอระฆังแล้วเรียงยอดปล้องไฉน เป็นสถูปทรงเดียวที่พบตลอด 6 วัน
    อีกจุดหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ ลายจีวรของพระพุทธรูปทุกองค์ในศรีลังกา จะคงเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปสมัยคุปตะที่มีรากฐานจากอินเดีย แม้ว่าลายจีวรที่สลักจากหินจะเบาพริ้วงามยิ่งนัก แต่ก็เป็นลายจีวรในลักษณะเดียวกันทั้งเกาะไม่ว่าพระพุทธรูปนั้นจะเก่าหรือสร้างใหม่ก็ตาม
    ผมตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเถรวาทคือการยึดถือพระคัมภีร์ที่ผ่านการสังคายนาโดยเหล่ามหาเถระเป็นสรณะ การยึดถือนี้อาจกินลึกลงถึงรูปแบบทางช่างและทางสถาปัตยกรรมที่มหาเถระรุ่นก่อนได้สร้างทิ้งไว้
    เช่นเดียวกับพระคัมภีร์ที่จดจารจากวาทะแห่งมหาเถระที่จดจำต่อกันมาตั้งแต่ยุคพุทธกาล ซึ่งต่อมากลายเป็นพระไตรปิฎกที่แพร่ไปทั่วสุวรรณภูมิ
    หนังสือสยามูปสัมปทาว่า ประวัติศาสตร์ในศรีลังกาได้ผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งมายาวนาน เป็นความขัดแย้งของคณะสงฆ์ที่ยึดถือพระคัมภีร์ต่างฉบับกัน ซึ่งหมายถึงการตีความและยึดหลักปฏิบัติที่แตกต่าง
    มียุคหนึ่งที่กษัตริย์ศรีลังกาสามารถสางความขัดแย้งในหมู่สงฆ์สำเร็จ ท่านถึงกับวางกำลังทหารรอบเกาะลังกา เพื่อป้องกันนักบวชต่างลัทธิขึ้นเกาะ ซึ่งหมายถึงการมุ่งมั่งยึดถือในสรณะเดิม ปฏิเสธสิ่งใหม่ที่แปลกปลอมโดยสิ้นเชิง
    อาการของการตั้งมั่นในหลักเถรวาท ไม่เพียงครอบคลุมงานทางศิลปะและสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่อาจกินลึกลงไปในวิถีชีวิตของชาวศรีลังกา ยกตัวอย่าง
    1. ราชการศรีลังกายังยึดวันหยุดราชการจากปฏิทินทางจันทรคติ ถือเอาวันพระเป็นวันหยุด
    2. แม้ว่าจะมีร้าน Pizza เปิดสาขาในโคลัมโบและแคนดีแล้วก็ตาม แต่พวกเรากลับพบเมนูข้าวคลุกมะพร้าวขูดราดด้วยดาล (แกงถั่ว) ทั้งในร้านอาหารชั้นเลิศในโรงแรม ในภัตตาคาร หรือในทุกบ้านที่พวกเราเข้า Home Stay
    3. ไม่เห็นตลาดอาหารโต้รุ่ง ไม่พบธุรกิจอาหารถุง สะท้อนถึงการดำรงอยู่ของวิถีแห่งวัฒนธรรมดั้งเดิม แม้ในระดับชีวิตประจำวันของผู้คน
    4. วิถีการกินของศรีลังกาไม่มีช้อนส้อม พวกเขากินข้าวด้วยมืออย่างมั่นใจ แม้จะใส่สูทผูกเนคไทนั่งกินอยู่ในโรงแรมชั้นหรูกลางเมืองหลวง
    5. แม้เครื่องแต่งกายของคนศรีลังกาจะเป็นแบบตะวันตก แต่ก็พบส่าหรีในสตรีและโสร่งในบุรุษไม่น้อยเลยในชีวิตประจำวัน
    6. ในขบวนแห่พระเขี้ยวแก้ว เครื่องแต่งกาย ลีลาท่าเต้น และอุปกรณ์เครื่องดนตรีลีลา ยังคงลักษณะคล้ายกับภาพในจิตรกรรมที่บันทึกขบวนแห่พระเขี้ยวแก้วในอดีต
    7. ชาวศรีลังกาจะไม่สวมรองเท้าเวลาเข้าวัด หมายถึงการวางตนที่ไม่ให้สูงไปกว่าพื้นดิน เป็นวิธีการแสดงความเคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีมาแต่ยุคพุทธกาลหรือก่อนพุทธกาลด้วยซ้ำไป
    ผมเห็นไกด์ศรีลังกาให้นักท่องเที่ยวฝรั่งถอดรองเท้าไว้ที่รถ พาเดินเท้าเปล่าอย่างไม่เกรงใจไกลเป็นกิโลเมตร ทำให้นึกย้อนไปถึงเมื่อครั้งปลายรัชกาลที่ 1 ในพิธีอัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากเมืองสุโขทัย ล่องแพมาขึ้นที่ท่าช้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเปลือยเปล่า ตามขบวนชักลากองค์พระจากท่าช้างถึงเสาชิงช้า
    ทุกวันนี้ธรรมเนียมการถอดรองเท้าในศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ถูกยกเลิก แม้แต่ภายในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อหน้าองค์พระแก้วมรกตก็ตาม
    ย้อนคิดทบทวนความเป็นเถรวาทของเมืองไทยกับศรีลังกา ผมรู้สึกได้ถึงความเหมือนบนความแตกต่างที่เกือบจะอยู่คนละขั้ว
    หรือสังคมไทยมีวิธีการกำหนดแนวศิลปะด้วยอาศัยหลักราชนิยม ซึ่งย่อมเปลี่ยนไปในแต่ละรัชสมัย แม้ไทยรับพระสถูปทรงระฆังคว่ำจากลังกา แต่สุโขทัยก็พัฒนาเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์แทบจะในทันที อยุธยารับปรางค์ขอมมาผสมเป็นย่อมุมไม้สิบสอง
    และตลอดประวัติศาสตร์ ช่างไทยมีอิสระอย่างยิ่งที่จะปรุงรสรูปทรงสถูปเจดีย์ตามความนิยมของตนเองหรือของเจ้านายที่สังกัด ลายจีวรของพระพุทธรูปก็เป็นอีกตัวอย่าง
    พระพุทธรูปศรีลังกาน่าจะถูกอัญเชิญมาสู่สุวรรณภูมิ แต่ลายจีวรอาจยุ่งยากเกินไปที่จะลอกเลียน ยุคสุโขทัยลายจีวรหายไปเหลือเพียงเส้นชายขอบที่ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาท อยุธยากลายเป็นทรงเครื่องกษัตริย์สวมชฎาหลุดโลกไปไกล รัตนโกสินทร์ก็เพิ่มแฟชั่นเป็นลายจีวรยกดอก
    ขอย้อนกลับมาหาเรื่องดี ๆ ในศรีลังกาอีกครั้ง ที่กัลวิหาร และเอาว์กานา พวกเรางงงันไปชั่วขณะกับความเพียรของช่างโบราณในศรีลังกา พระพุทธรูปขนาดใหญ่ถูกแกะสลักลอยตัวขึ้นมาจากซีกหนึ่งของภูผาใหญ่
    ช่างศรีลังกาสามารถแกะสลักหินแกรนิตที่แข็งกระด้างและหนักอึ้งให้เป็นพระพุทธรูปที่ดูเบาลอยตัว และสงบนิ่ง
    โดยเฉพาะที่หมอนรองพระเศียรของพระพุทธรูปปางไสยาสน์ แม้จะเป็นหินทั้งแท่ง ก็สามารถแกะเกลาจนดูอ่อนนุ่มยวบลงรับน้ำหนักของเศียรพระพุทธรูปอย่างนิ่มนวล นับเป็นหนึ่งในสุดยอดของงานพุทธศิลป์ที่มีปรากฏอยู่บนโลกมนุษย์
    คงจบไม่ได้ถ้าจะไม่เล่าเรื่องงานแห่พระเขี้ยวแก้วในคืนวันอาสาฬหบูชาในเมืองแคนดี เป็นสาเหตุหลักที่เลือกเวลาสำหรับการมาศรีลังกาในครั้งนี้
    พระเขี้ยวแก้ว คือศูนย์รวมศรัทธาของชาวศรีลังกา ชาวศรีลังกาพูดชัดเจนว่า "ไม่มีพระเขี้ยวแก้ว ก็ไม่มีศรีลังกา" เป็นสิ่งสักการะสูงสุดที่ชาวศรีลังกาปกป้อง ตามประวัติพระเขี้ยวแก้วเคยถูกเจ้าอาณานิคมย่ำยีทำลายไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ชาวศรีลังกาเชื่อว่าที่ถูกทำลายนั้นเป็นของเทียมทำเลียนแบบไว้หลอกฝรั่ง
    คนศรีลังการู้สึกถึงพระเขี้ยวแก้วในฐานะ Living Buddha หรือเป็นพระพุทธเจ้าที่ยังดำรงอยู่ในสถานที่นั้นๆ ท่ามกลางบรรยากาศของการสักการะที่พวกเราคนไทยไม่ค่อยคุ้นเคย สาเหตุหนึ่งคือพวกเราไม่คุ้นเคยกับความรู้สึกของการได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เหมือนที่คนศรีลังการู้สึก
    การบูชาคือเป้าหมายที่สำเร็จในตัวเอง อาจเป็นเหตุผลเดียวกับที่คนศรีลังกาไม่สวมพระเครื่อง เพราะพระพุทธรูปมีไว้บูชาในสถานที่อันควร ไม่ใช่มีหน้าที่คอยตามปกป้องผู้คน ชาวศรีลังกาจะสวมเพียงธรรมจักร หรือใบโพธิ์โลหะเล็กๆ เป็นเครื่องรำลึกถึงพระพุทธเจ้าเท่านั้น
    งานแห่พระเขี้ยวแก้วเป็นงานใหญ่ระดับชาติ และเป็นงานที่สำคัญที่สุดของชาติ ภาพช้างต้นที่ประดิษฐานสถูปพระเขี้ยวแก้วจึงปรากฏในธนบัตรที่แพงที่สุดฉบับละ 1,000 รูปี
    กิจกรรมที่สำคัญยิ่งนี้ดำเนินการโดยคณะทำงานของวัด รัฐไม่มีบทบาทอะไรนอกจากแพร่ภาพทางโทรทัศน์ และจัดตำรวจมารักษาความสงบเท่านั้น
    งานนี้เป็นการชุมนุมของผู้คนเรือนแสน บางส่วนปูผ้าพลาสติกจับจองพื้นที่เพื่อรอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ใกล้ชิดตั้งแต่คืนก่อนวันงาน ไม่มีแอลกอฮอล์ในงาน มีเพียงกลิ่นเผาบุหรี่จากชาวต่างชาติบางคนที่ละเลยธรรมเนียมท้องถิ่น
    ขบวนเฉลิมฉลองนับสิบๆ ขบวน โดยชาวบ้านในแต่ละชุมชนส่งตัวแทนมาร่วม กิจกรรมในขบวนแห่มีพลัง งดงาม และเรียบง่าย การร่ายรำมีเป้าหมายเพื่อการถวายเป็นเครื่องสักการะต่อพระเขี้ยวแก้ว ไม่ใช่วัฒนธรรมประดิษฐ์เพื่อหลอกเงินนักท่องเที่ยว
    ผมเองยอมรับว่าในช่วงแรกของการแสดงรู้สึกตื่นเต้นกับเสียงกลองและจังหวะการเคลื่อนไหวที่เร้าใจ แต่เมื่อขบวนผ่านไปช้า ๆ และหลายคณะก็ร่ายรำซ้ำแบบ เมื่อความตื่นเต้นลดลงความเบื่อก็จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว
    แต่สีหน้าและท่าทางของผู้เต้นที่อิ่มเอมและมีความสุข ผมจึงได้ตื่นและเริ่มตระหนักถึงความหมายที่แท้จริง และสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ในการแห่พระเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีสืบต่อเนื่องกันนับพันปี
    หนังสือ ประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ของ D.G.E. Hall ว่า คนไทยเคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระเขี้ยวแก้วตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่18 เมื่อพระเจ้าธรรมราชาจันทรภาณุกษัตริย์แห่งเมืองตามพรลิงค์ หรือเมืองนครศรีธรรมราชในยุคต่อมา ได้ยกกองทัพไปตีเกาะลังกาถึง 2 ครั้ง โดยมีเป้าหมายที่การครอบครองพระเขี้ยวแก้ว
    การศึกทั้งสองครั้งของพระเจ้าธรรมราชาจันทรภาณุล้มเหลว โดยเฉพาะครั้งหลังตามประวัติศาสตร์นั้นพ่ายยับเยินกลับมา และเป็นผลให้เมืองนครฯ อ่อนแอและไม่อาจฟื้นความเป็นอาณาจักรของตนได้อีกเลย
    หากจินตนาการกันใหม่ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทัพเมืองนคร ฯ ตีลังกาสำเร็จ และอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมายังนครศรีธรรมราช
    คิด ๆ แล้วผมว่าโชคดีเหลือเกินที่ทัพเมืองนคร ฯ ล้มเหลวในการศึกครั้งนั้น เพราะอย่างน้อยบนโลกใบนี้ยังมีเมืองพุทธเถรวาทที่แท้จริงให้ผู้ใผ่ในธรรมได้สัมผัสเรียนรู้
    ขอขอบคุณ อาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ได้เปิดโอกาสได้ร่วมในคณะ เป็นการเดินทางเพื่อสืบค้นรากเหง้าของตนเอง บทสนทนาระหว่างการเดินทาง ได้จุดประกายการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ยิ่ง
     

แชร์หน้านี้

Loading...