ว่าด้วยเรื่องวิปัสสนา โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย CLUB CHAY, 26 เมษายน 2010.

  1. CLUB CHAY

    CLUB CHAY เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    507
    ค่าพลัง:
    +1,412
    [​IMG]

    นมัสถุ รัตนะตยสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และขอให้ท่านทั้งหลายได้ตั้งใจฟังด้วยดี ฟังพร้อมด้วยการปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมในการฟังไปด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจน ความเข้าใจ จะได้แสดงธรรมในเรื่องเกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐาน และเพื่อความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการฟังและใคร่ครวญพิจารณาให้ดี การปฏิบัติวิปัสสนาก็คือการปฏิบัติให้เกิดการรู้เห็นแจ้ง ให้เกิดการรู้เห็นสัจธรรมความเป็นจริง ได้เห็นธรรมชาติตามความเป็นจริง วิปัสสนาคือการรู้เห็นแจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริง เห็นอย่างไร ก็คือเห็นรูปนาม เห็นเป็นรูปเป็นนาม คือในสังขารร่างกายจิตใจนี่ เมื่อวิปัสสนาเกิดขึ้นก็จะเกิดการรู้เห็นว่าสังขารคือร่างกายและ จิตใจนี้ เป็นเพียงรูปธรรมนามธรรมหมายความว่าอย่างไร รูปธรรมนามธรรม คืออะไร หมายความว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่เป็นตัวตน เราเขา เป็นเพียงสภาพธรรมที่เรียกว่ารูป ที่เรียกว่านาม คือมีสิ่งจริงๆ มีอยู่เป็นอยู่ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกว่า รูปธรรมนามธรรม หรือถ้าขยายออกไปก็เรียกว่า "ขันธ์ห้า "

    ขันธ์ห้า ก็คือ รูปนามนั่นแหละ ย่อลงมาแล้วคือรูปนาม คำว่ารูป คำว่านามเป็นสมมุติ คำว่าขันธ์ห้าก็เป็นสมมุติคือเป็นชื่อ เรียกชื่อออกมาว่ารูป เรียกชื่อว่านาม เรียกว่าขันธ์ห้า แต่เป็นสมมุติที่มีสภาวะรับรองอยู่คือสภาวะจริงๆ น่ะมีอยู่ การเข้าไปรู้เห็นนั้นที่เป็นวิปัสสนาคือรู้เห็นจริงๆ ไม่ใช่รู้เห็นด้วยการจำ หรือไม่ใช่เป็นการรู้ด้วยการเรียกชื่อเอา แต่เป็นการประจักษ์แจ้งหมายถึงการรู้เห็นเฉพาะหน้าปัจจุบัน ไม่ได้คิดไม่ได้นึก ไม่มีการนึกเอา ความรู้มันมีระดับเกิดจากความคิดนึกเอาก็ได้ เกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ การไตร่สวน การพิจารณาคิดนึกเอา ก็เกิดเป็นความรู้ขึ้น เกิดเป็นความเข้าใจขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ยังไม่แจ้งไม่เป็นความรู้ที่รู้แจ้ง เพราะเป็นการรู้โดยการคิดนึกต่อสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริงๆ เฉพาะหน้า สิ่งที่มันล่วงลับไปแล้วดับไปแล้ว สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เอามาคิดหาเหตุผลเกิดความเข้าใจ เกิดความรู้ขึ้นอย่างนี้ยังไม่เป็นวิปัสสนา เช่นว่า ผู้ปฏิบัตินั่งคิดเอาว่า เออ ร่างกายนี้ไม่จีรังยั่งยืน ดูซิเกิดมาแล้วรูปเป็นเด็กหายไปเป็นหนุ่มเป็นสาวแก่เฒ่าจะต้องตายไป แล้วก็เข้าใจว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงเป็นอนิจจังไม่เที่ยง มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เห็นความไม่เที่ยงพิจารณาก็เห็นความไม่เที่ยง ปฏิบัติที่คิดนึกเอาก็สรุปได้ว่ามันไม่เที่ยง แต่มันเป็นการเห็นคนละอย่างกัน การรู้เห็นต่างชั้นกัน วิปัสสนาที่เห็นความไม่เที่ยงนั้น ไม่ได้คิดสาวเอาอดีตอนาคตมา ไม่ได้ไปคิดถึงตอนเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวหรือตายไป แต่ว่าเป็นการประจักษ์แจ้งถึงความไม่เที่ยงเฉพาะหน้า คือสภาวะ คือรูปนามกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ให้เห็นต่อหน้าต่อตา เปลี่ยนแปลงให้เห็นเฉพาะเรียกว่าเป็นปัจจุบัน เรียกว่า ประจักษ์แจ้งเป็นหลักฐาน รูปนามเป็นหลักฐานให้รู้เห็นแจ้ง เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นไปอยู่ ยังเป็นไปอยู่ให้เห็นว่าเปลี่ยนแปลง มันมีหลักฐานคือมันมีสภาพจริงๆ ให้พิสูจน์ แต่อย่างบุคคลที่คิดเอาว่าร่างกายนี้มันต้องแก่ชราเปลี่ยนแปลง ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว มันไม่จีรังยั่งยืน มันเป็นการล้วงเอาสิ่งที่ผ่านมาแล้วมาคิด นึกถึงอนาคตมันไม่มีหลักฐานให้เห็นแจ้งเฉพาะหน้า อย่างนี้จึงไม่ใช่เป็นการรู้แจ้ง เพราะไม่มีหลักฐาน ไม่มีสภาพธรรมที่ยืนยันให้เห็นจริง มันก็ไม่ต่างอะไรกับความฝัน คือฝันไปในสิ่งที่ผ่านมาแล้ว เพราะความฝันก็คือความนึกคิดอย่างหนึ่งเหมือนกัน เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ผู้ฟังก็ย่อมจะเข้าใจชัดแจ้งว่า อ๋อ วิปัสสนานี้มันจะต้องเป็นจริงๆ ที่เป็นปัจจุบันจะต้องเป็นการรู้เห็นสิ่งที่กำลังเป็นไปอยู่ กำลังปรากฏอยู่ กำลังปรากฏเปลี่ยนแปลงอยู่ สิ่งที่เรียกว่าเป็นนามนี้มันเกิดขึ้นและดับลงอย่างรวดเร็วมาก มีความเร็วมาก เกิดขึ้นแวบหนึ่งแล้วก็ดับทันที ดับแล้วก็เป็นอดีตแล้ว ถ้าเกิดปัญญาที่เป็นวิปัสสนามันก็ต้องรู้ทันตรงที่มันแวบเดียวกำลังปรากฏนั้น เหมือนฟ้าแลบฟ้าผ่าที่มันแวบเดียวผ่าไปแล้วมันก็กำลังแวบเดียวนั้น และผ่านไปแล้วในขณะที่ฟ้าร้องครืนๆ มันไม่ให้โทษแล้ว เพราะอะไรก็เพราะมันผ่าไปแล้ว ตอนที่มันกำลังผ่าที่มีแสงแวบนั่นแหละ ตอนนั้นแหละกำลังปรากฏ ตอนนั้นเสียงไม่ดัง เพราะเสียงเดินทางช้ากว่าแสง แสงมาถึงสายตามนุษย์ เสียงยังไม่มา พอเสียงมาเหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว มันผ่าไปเรียบร้อยแล้ว อันนี้เหมือนกันปรากฏการณ์ของรูปนามที่มันเกิด ขณะที่มันเกิดดับนั้นแหละ มันก็โชว์แวบเดียว ถ้าจะมัวมาคิด มันก็คือคิดสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เหมือนกับการไปรับรู้เสียงฟ้าที่มันคำราม ปรากฏการณ์ที่มันผ่านไปแล้ว ความรู้แจ้งก็ต้องรู้แจ้งเฉพาะที่มันปรากฏที่มันไว แม้ว่ามันจะปรากฏชั่วขณะหนึ่งๆ แต่ปัญญาที่เกิดขึ้น มันก็รู้ๆ ทันได้ขณะนั้น อันรูปธรรมนามธรรมนี้ มันไม่ใช่มีอันเดียว มันไม่ใช่มีรูปเดียว ไม่ใช่มีนามเดียว มันมีรูปหลายรูปหลายชนิด มีนามธรรมหลายชนิด แต่ละชนิดมันก็เกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดขึ้นติดต่อกันอยู่เสมอ มันปรากฏแวบเดียวแล้วดับไปก็จริง แต่มันก็มีอันใหม่เกิดต่ออีก เกิดต่ออย่างเร็ว แล้วก็ดับไปอย่างเร็ว มันเป็นอย่างนี้อยู่

    วิปัสสนาก็ต้องรู้แจ้งที่กำลังแวบปรากฏนั้น แล้วจะทำอย่างไร เมื่อเรารู้ เราเห็นอย่างนี้แล้ว วิธีการปฏิบัติมันก็จะต้องทำให้มันอยู่กับปัจจุบันให้ได้ อย่าหลงไปสู่อดีต อย่าหลงไปสู่อนาคต อย่ามัวคิดถึงอดีต อย่ามัวคิดถึงอนาคต มันไม่รู้แจ้งได้ อดีตคือสิ่งที่หมดไปแล้ว ไม่มีอะไรมาให้เห็นแจ้งชัดได้ อนาคตก็เป็นสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ วิธีการปฏิบัติจะต้องทำสติให้ทันต่อปัจจุบัน ทันอยู่กับปัจจุบัน ทันต่อรูปนามที่ปรากฏอยู่ อันไหนที่มันไม่ทันผ่านไปแล้ว ก็ให้มันแล้วไป ก็คอยตั้งสติรู้รูปใหม่นามใหม่ที่มันจะเกิดขึ้น มันไม่ทันก็ไม่ทัน ก็ไม่ต้องไปพะวงก็ดูอันใหม่ ดูรูปใหม่นามใหม่ ซึ่งมันก็ทยอยเกิดซ้อนกันตลอดเวลา รูปต่างๆ นามต่างๆ มันทยอยเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่จำเป็นต้องไปดูสิ่งที่มันผ่านไปแล้ว ก็คอยสังเกตคอยดูเฉพาะหน้า ผ่านมาก็รู้ผ่านไปก็แล้วไปก็ดูอันใหม่ ก็มีหน้าที่อยู่อย่างนี้ มีหน้าที่ทำคือการคอยระมัดระวัง หรือว่าเพียรตั้งสติให้ตรงให้อยู่กับปัจจุบัน มันจะเผลอไปสู่อดีตไม่หลงไป ให้มันกลับขึ้นมาอยู่กับปัจจุบัน คอยระวังไม่ให้มันหลงไปสู่อนาคต อยู่กับปัจจุบันเรื่อยไป

    นอกจากจะมีความเข้าใจในการปฏิบัติว่าจะต้องเจริญสติให้ระลึกอยู่แล้ว ปัญหาอีกอย่างคือ รู้ตรงไหม ระลึกตรงต่อสภาวะ คือปรมัตถธรรมหรือไม่ สติไประลึกรู้ตรง ตรงตัวของรูปของนามหรือเปล่า นี่ก็เป็นปัญหาของผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าใจการระลึกรู้ มันก็ไม่ตรงตัวของรูปของนาม ไม่ตรงลักษณะของรูปของนาม มันไพล่ไปสู่สมมุติ ถ้าไม่อยู่กับรูปกับนามมันก็ไปอยู่กับสมมุติ เป็นของปลอม ไปอยู่กับมายาไปอยู่กับเงาของมัน มันไม่ตรงกับรูปกับนามมันก็ไม่แจ้ง ญาณก็เกิดไม่ได้ วิปัสสนาก็เกิดไม่ได้ สติจะต้องระลึกรู้ให้ตรง ตรงกับลักษณะของรูปของนามที่กำลังปรากฏ มันจึงจำเป็นต้องขยายการเรียนรู้ การได้ยิน ได้ฟังออกไปอีก เพราะว่าเมื่อไม่ได้ยินได้ฟังก็ไม่เข้าใจว่ารูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ การปฏิบัติก็ยิ่งไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการได้ฟัง ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์แสดงไว้รูปมีลักษณะอย่างนี้ นามมีลักษณะอย่างนี้ รูปแต่ละรูปมีลักษณะต่างๆ กันอย่างนี้ๆ นามแต่ละนามมีลักษณะต่างกันอย่างนี้ๆ เมื่อได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เกิดความเข้าใจส่วนหนึ่งคือการต้องจดจำเป็นเบื้องแรก ลักษณะที่พระพุทธเจ้าสอนรูปนาม รูปแต่ละรูป นามแต่ละนามอย่างนี้ๆ แต่ยังไม่เห็นจริง ฟังแล้วก็เข้าไปสังเกตเข้าไปพิจารณาตามที่ได้ยินได้ฟัง พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่านามธรรมจะมีลักษณะน้อมไปสู่อารมณ์ เป็นตัวรู้อารมณ์ นามธรรมแต่ละนามธรรมลักษณะในการน้อมรับรู้อารมณ์ ยกเว้นนามเดียวที่รับรู้อารมณ์ไม่ได้ นั่นคือ นิพพาน

    นิพพานที่เป็นเป้าหมาย เป็นผลอันสูงสุดของการปฏิบัติวิปัสสนา นิพพานนี้เป็นนามธรรมแต่ว่าไม่รู้อารมณ์ เป็นเพียงอารมณ์คือสิ่งที่ถูกรู้ของจิต อันนั้นก็ยกไว้ แต่โดยทั่วไปจะรู้อารมณ์ ผู้ปฏิบัติฟังอย่างนี้แล้วก็เข้าไปสังเกตดูสภาพที่รู้อารมณ์มีอยู่ในสังขารไหม ปรากฏมีอยู่เป็นอยู่ในสังขารไหม คำว่าสังขารหมายถึงในร่างกายนี่แหละ สังขารคือร่างกายจิตใจ ให้สังเกตให้พิจารณาดู มันจะมีนามธรรมคือสภาพรู้อารมณ์ การศึกษาธรรมบางครั้งเราจะต้องเข้าใจศัพท์ธรรม อย่างที่กล่าวมามันก็มีคำว่าอารมณ์เข้ามาอีก พอไม่เข้าใจคำว่าอารมณ์ มันก็จะเกิดการไม่เข้าใจคำพูดประโยคต่อๆ ไปอีก เพราะฉะนั้นการศึกษาแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ มันก็จำเป็นต้องเข้าใจภาษาธรรม คำว่าอารมณ์โดยสภาวะแล้วก็คือสิ่งที่ถูกรู้ของจิต หรือสิ่งที่จิตเข้าไปรู้ สิ่งใดๆ ก็ตามที่ถูกจิตรู้ สิ่งนั้นคือ อารมณ์ เสียงเป็นสิ่งที่ถูกรู้ทางหู เสียงก็เป็นอารมณ์ กลิ่นก็ถูกรู้ทางจมูก กลิ่นก็เป็นอารมณ์ รสต่างๆ ก็ถูกรู้ทางลิ้น รสก็เป็นอารมณ์ สีถูกรู้ทางตา สีก็เป็นอารมณ์ เย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึงก็ถูกรู้ทางกาย เย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึงก็เป็นอารมณ์ เรื่องราวต่างๆ ก็ถูกรู้ทางใจทางมโนทวารเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ แม้แต่จิตรู้จิต จิตก็เป็นอารมณ์ เพราะจิตก็ถูกรู้ได้ ในขณะที่จิตรู้จิต อารมณ์ก็เป็นนาม อารมณ์ก็เป็นจิต สภาพรู้ก็เป็นจิตทั้งคู่นะ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกรู้กับสิ่งที่เข้าไปรู้เป็นนามด้วยกัน ฉะนั้นบางขณะเป็นรูป สิ่งที่เข้าไปรู้เป็นนาม บางขณะอารมณ์เป็นนาม สิ่งที่เข้าไปรู้เป็นนาม สิ่งที่เข้าไปรู้เป็นนามตลอด สิ่งที่เข้าไปรู้จะเป็นรูปไม่ได้ นั่นหมายความว่า รูปธรรมนั้นคือสิ่งที่รู้อารมณ์ไม่ได้ สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นแล้วสลายลง ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้สิ่งนั้นจัดเป็นรูปธรรม

    ที่ใช้คำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วสลายลง ต้องเอาคำนี้มาใช้ด้วยเพราะสิ่งที่ไม่สามารถรู้อารมณ์โดยไม่มีการสลายลงก็มีอยู่ สิ่งนั้นคือ นิพพานกับบัญญัติ บัญญัติอารมณ์นี้พ้นจากการเกิดดับเป็นกาลวิมุตติ ไม่มีสภาพการเกิดการดับ ภาษาธรรมท่านเรียกว่า อสังคตธรรม ที่ไม่ได้ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้ง ๔ จึงไม่มีการเกิดดับ พ้นจากอดีต ปัจจุบัน อนาคต บัญญัติอารมณ์ก็ดี นิพพานก็ดีจะเรียกเป็นอดีตก็ไม่ได้ จะเรียกเป็นปัจจุบันก็ไม่ได้ จะเรียกเป็นอนาคตก็ไม่ได้ สิ่งที่จะเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้สิ่งนั้นต้องเป็นสังคตธรรม เป็นธรรมที่ถูกปรุงแต่ง เป็นธรรมที่ต้องมีการเกิดการดับ จึงจะเป็นอดีต อนาคตหรือปัจจุบันได้ แต่บัญญัติและนิพพานนี้มันไม่มีการเกิดการดับ ฉะนั้นคำจำกัดความของคำว่ารูปธรรมจึงต้องใช้คำว่า มีการเกิดขึ้น คือธรรมชาติที่เสื่อมสลายไป ต้องมีคำว่าเสื่อมสลายเข้าไปด้วย จะบอกว่าไม่รู้อารมณ์มันคือรูปมันไม่ได้ เพราะบัญญัติและนิพพานก็คือไม่รู้อารมณ์เหมือนกัน แต่รูปธรรมทั้งหมดนอกจากจะไม่รู้อารมณ์แล้วมันต้องเกิดดับเสื่อมสลาย ฉะนั้นเมื่อเอา ๒ ความหมาย ๒ ลักษณะมาบวกกัน คือเสื่อมสลายกับไม่รู้อารมณ์ นั่นคือรูปธรรม แต่ถ้าเราจะพูดย่อๆ พอให้จดจำเข้าใจง่ายๆ สิ่งที่ไม่สามารถรู้อารมณ์เข้าไปสังเกตดูว่าสิ่งใดที่มันไม่รู้อารมณ์ นั่นคือรูป วงเล็บซะหน่อยว่ายกเว้นนิพพานและบัญญัติ สิ่งที่เข้าไปรู้อารมณ์คือนาม เมื่อเราฟังอย่างนี้เราก็เข้าไปสังเกต สติสัมปชัญญะเข้าไปสังเกตดูในสังขารนี้ ในกายในจิตให้เข้าไปสังเกตดูว่ามันมีสภาพรู้อารมณ์กับสภาพไม่รู้อารมณ์ไหม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสัจธรรม เป็นอยู่คือมีอยู่จริงๆ จะต้องพิสูจน์ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ เพราะเป็นเรื่องที่ได้รับฟังคำสอนจากพระศาสดา จึงเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ น่ายกย่อง น่าปลื้มใจ หรือว่าเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ลมๆ แล้งๆ เพ้อฝัน ไม่ใช่เป็นเรื่องคอยเวลานั้นเวลานี้ พิสูจน์ได้ทันที ผู้ที่ต้องการจะพิสูจน์ก็ต้องใช้สติสัมปชัญญะเข้าไประลึก เข้าไปสังเกต จะเห็นว่ามีอยู่จริงๆ จะพบว่ามีธรรมชาติบางส่วนบางสิ่งปรากฏในลักษณะที่ไม่รู้อารมณ์ เช่น ในส่วนของสรีระร่างกาย ในส่วนของสิ่งที่มากระทบทางกายเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง สี เสียง กลิ่น รส สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นว่าเป็นสภาพแค่มาปรากฏแล้วก็สลายลง ไม่สามารถรู้อารมณ์นี้คือรูปธรรม ใช้สติสัมปชัญญะเข้าไปสังเกตในสังขารร่างกายนี้ก็จะเห็นว่ามันยังมีสภาพอีกชนิดหนึ่งที่ต่างจากรูปคือต่างจากสภาพไม่รู้

    นั่นก็หมายความว่ามันรู้อารมณ์ จะเห็นว่าได้ยินมันก็เป็นสภาพไปรู้อารมณ์คือไปรู้เสียง เห็นก็เป็นสภาพรู้อารมณ์คือไปเห็นสี เห็นนั่นคือรู้สภาพรู้ชนิดหนึ่ง คือรู้สี คำว่ารู้ในที่นี้ไม่ใช้รู้แบบปัญญา ไม่ใช่รู้แบบเข้าใจ เป็นรู้แบบรับรู้ รู้แบบน้อมไปหา น้อมไปรับรู้ได้ คำว่ารู้นะมันมีหลายระดับ พูดในลักษณะของนามธรรมที่เป็นส่วนของจิตก็เป็นเพียงรู้แบบน้อมไปรับรู้เฉยๆ ยังไม่เข้าใจอะไร นี่คือลักษณะของจิตนะ ลักษณะของจิตหรือวิญญาณที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๕ จะเป็นเพียงแค่รับรู้น้อมไปสู่อารมณ์ หรือทวารทั้ง ๖ ก็ตาม ลักษณะของจิตจริงๆ หรือลักษณะของวิญญาณเป็นเพียงสภาพที่น้อมรับรู้อารมณ์ ไม่เข้าใจอะไรไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ความหมาย แค่รับแค่น้อมรับรู้อารมณ์ คือลักษณะโดยตรงของจิต ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตมีลักษณะอย่างเดียวคือ รู้อารมณ์ ลักษณะการรู้อารมณ์คือแค่น้อมไปสู่อารมณ์ ไม่รู้เรื่อง ธรรมชาติตรงนี้ฝากให้ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ความสังเกต ไปจับรู้ลักษณะอันนี้ให้ได้ เพราะเป็นส่วนสำคัญต่อการปฏิบัติ ถ้าการปฏิบัติสังเกตลักษณะของจิตโดยเฉพาะไม่ได้ การปฏิบัติก็จะไม่แยบคาย ไม่ก้าวหน้า เพราะการรู้ตรงนี้จะทำให้เห็นความเกิดดับของสภาวธรรมได้อย่างละเอียดขึ้น มากขึ้นยิ่งขึ้นไป สิ่งที่เกิดทางใจที่เป็นความรู้แบบเข้าใจ หรือจะเป็นความรู้ความหมาย จะเป็นความเข้าใจแบบสมมุติคือรู้ความหมาย รู้เป็นเรื่องเป็นราว หรือจะเป็นความรู้แบบของจริงก็ตาม หรือรู้แจ้งตามความเป็นจริงก็ตาม เป็นเรื่องเครื่องปรุงของจิต มันเป็นตัวเครื่องปรุงในจิตที่ทำหน้าที่ต่างๆ เฉพาะจิตจริงๆ เพียงแค่น้อมรับรู้อารมณ์บอกค่าสิ่งที่รู้ไม่ได้

    การที่จะบอกค่าของสิ่งที่รู้นั้นคือเครื่องปรุงที่อยู่ในจิต หรือสิ่งที่ประกอบต่างๆ ที่อยู่ในจิต ซึ่งก็เป็นธรรมชาติคนละชนิดกับจิต แต่เป็นนามธรรมด้วยกัน ที่จัดเป็นนามธรรมเพราะว่ารับรู้อารมณ์ได้ น้อมไปสู่อารมณ์ได้ แต่ว่ามันมีความพิเศษกว่าตรงที่มันรู้เข้าใจได้ ตีความหมายได้ แล้วแต่บางชนิด บางชนิดมันก็แค่ตรึก บางชนิดก็วิจารณ์ บางชนิดมันก็เข้าใจ บางชนิดมันก็ตัดสิน บางชนิดมันก็เป็นความพอใจ ไม่พอใจ เป็นความสงสัยแล้วแต่ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรียกเป็นชื่อของธรรมชาติที่อยู่ทั่วไปต่างๆ โดยเฉพาะ เช่นที่เรียกว่าวิตกเจตสิก วิจารณ์เจตสิก ปิติเจตสิก ฉันทะเจตสิก อะไรต่างๆ เหล่านี้ คำว่า "เจตสิก" ก็คือ สิ่งที่ประกอบในจิตร่วมกันไป

    ฉะนั้น เมื่อสิ่งที่ประกอบอยู่ในจิตทำงานร่วมกับจิตๆ ก็เลยกลายเป็นรู้เรื่องรู้ราวไป แต่ว่าตัวมันเองจริงๆ ไม่รู้หรอกอาศัยสิ่งต่างๆ ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติก็ทำจิตหยั่งรู้อาการในจิตประเภทต่างๆ หยั่งรู้ว่าขณะที่น้อมรับรู้อารมณ์มันเป็นไปในความรู้สึกไปต่างๆ น้อมรับรู้อารมณ์ด้วยความรู้สึกพอใจบ้าง น้อมรับรู้อารมณ์ด้วยความรู้สึกไม่พอใจบ้าง รับรู้อารมณ์ด้วยความรู้สึกเฉยๆ บ้าง รับรู้อารมณ์ด้วยความสงบบ้าง ไม่สงบบ้าง ขุ่นมัวเศร้าหมองบ้าง เบิกบานบ้าง ผ่องใส เอิบอิ่มบ้าง เป็นไปต่างๆ อาการรู้สึกในจิตเครื่องปรุงในจิตมันเป็นไปต่างๆ นี่คือหน้าตาของนามธรรมแต่ละชนิด ฉะนั้นเมื่อแยกให้เข้าใจง่ายๆ แล้ว นามธรรมส่วนหนึ่งก็คือ ลักษณะของจิตโดยตรงคือสภาพที่น้อมรับรู้อารมณ์ สองก็คืออาการในจิตหรือความรู้สึกในจิต ซึ่งมีเป็นประเภทต่างๆ ผู้ปฏิบัติก็จดจำว่าทำสติเข้าไประลึกรู้ ส่วนหนึ่งรู้ลักษณะของจิตคือสภาพน้อมรับรู้อารมณ์ ในจิตส่วนที่สองคือรู้อาการในจิตซึ่งมีต่างๆ รูปธรรมก็เหมือนกันรูปธรรมดังที่กล่าวแล้ว รูปธรรมคือสภาพไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ แต่มีอยู่จริงในลักษณะที่ปรากฏแล้วเสื่อมสลายลงๆ แต่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ รูปธรรมนี้มันก็มีลักษณะต่างๆ ออกไปอีก สามารถที่จะเห็นแยกชนิดกัน รูปบางชนิดมีลักษณะอย่างหนึ่ง บางชนิดมีลักษณะอีกอย่าง เช่นรูปลักษณะแค่นแข็งก็อย่างหนึ่ง รูปลักษณะร้อนเย็นก็อย่างหนึ่ง รูปลักษณะตึงหย่อนก็อย่างหนึ่ง รูปลักษณะเอิบอาบก็อย่างหนึ่ง รูปเสียงก็อย่างหนึ่ง รูปสี รูปกลิ่น รูปรสมันคนละอย่างไม่เหมือนกัน เสียงกับสีก็คนละอย่าง สีกับกลิ่น ตึงกับหย่อน เย็นร้อนก็คนละลักษณะกัน ทั้งหมดนี้ไม่สามารถรู้อารมณ์ ผู้ปฏิบัติต้องคอยสังเกตให้เห็นลักษณะที่มันต่างๆ กัน ถึงรูปต่างๆ ว่า เดี๋ยวตึง เดี๋ยวเย็น เดี๋ยวเสียง เดี๋ยวสี เดี๋ยวกลิ่น เดี๋ยวรส รูปเหล่านี้ปรากฏไม่เหมือนกัน

    ทำไมจะต้องแยกแยะให้เห็นรูปต่างๆ นามต่างๆ มันมีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องเข้าไปสังเกตรูปต่างๆ นามต่างๆ ที่มันมีความจำเป็นต้องให้เห็นก็เพราะว่า จะได้เห็นความเกิดดับ จะได้เห็นว่ามันไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเป็นอนัตตา มันก็มาจากความเกิดดับ ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ หรือเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ มันคือลักษณะของธรรมชาติที่มีแล้วก็หมดไป มีแล้วก็หายไป มีแล้วก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา มันจะต้องออกมาจากรูปนาม รูปนามเกิดดับ การที่จะเห็นรูปนามเกิดดับก็จะต้องเกี่ยวมาจากเห็นรูปต่างๆ นามต่างๆ เพราะอะไร เพราะถ้าเป็นเหมือนกันหมดมันจะไม่เห็นการเกิดดับ เพราะไม่เห็นการสับเปลี่ยน เห็นคนเหมือนกันหมดก็เหมือนกับการไม่มีการสลับสับเปลี่ยน เหมือนเห็นพื้นศาลาเห็นมันเหมือนกันหมดทุกแผ่นก็เลยเป็นแผ่นเดียวกันหมด ตราบใดที่ไม่เห็นความต่างกันของหินอ่อนแต่ละแผ่นๆ ตราบนั้นก็จะไม่เห็นการขาดตอนของแต่ละแผ่นก็เห็นเป็นพรืดไปหมด แต่เมื่อเห็นว่าอ้อแผ่นนี่ก็สีหนึ่ง แผ่นนี้ไปอย่างหนึ่ง สุดแผ่นก็มีสีมีเส้นต่างๆ กัน มันก็เห็นสลับกัน ฉันใดก็ดีการที่จะพิจารณาเห็นความเกิดดับมันก็ต้องเห็นมาจากว่ามันมีรูปชนิดต่างๆ ปรากฏ นามชนิดต่างๆ ปรากฏ เดี๋ยวอันนี้ปรากฏ อันนั้นหายไป อันนี้เกิดขึ้น มันก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม เหมือนกับคนที่ต้องเห็นสิ่งต่างๆ เห็นความต่างกัน

    ฉะนั้นอุปมาข้อนี้ก็คงจะทำให้เข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัตินั้น มันก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปอ่าน เข้าไปสังเกตลักษณะของรูปต่างๆ นามต่างๆ ภาษาธรรมเรียกว่า วิเศษณลักษณะ คือลักษณะโดยเฉพาะของรูปแต่ละรูป ของนามแต่ละนาม จึงจะให้เข้าถึงสามัญลักษณะ คือ ลักษณะโดยทั่วไปคืออนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ซึ่งเป็นวิปัสสนาเกิดขึ้น วิปัสสนาคือเห็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา คือเห็นแจ้งเห็นตามความเป็นจริง เข้าไปเห็นรูปนามเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ฉะนั้น การจะฝึกประพฤติปฏิบัติก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจว่ารูปเป็นอย่างไรบ้าง แต่ละชนิดนามมีอะไรบ้าง แต่ละชนิดจดจำและสังเกต พอสังเกตเป็นก็ไม่ต้องจำก็ระลึกรู้ตรงไป เข้าไปสัมผัสให้ถูกจุดที่รูปจะเกิดนามจะเกิด ส่วนต่อไปที่จะต้องเป็นความเข้าใจของผู้ปฏิบัติอีกชั้นหนึ่ง นอกจากว่าจะต้องรู้ว่าการเจริญวิปัสสนาต้องระลึกให้ได้ปัจจุบัน และต้องระลึกให้ตรงกับลักษณะของรูปของนามแต่ละอย่างที่ปรากฏแล้วจะต้องปฏิบัติเจริญสติสัมปชัญญะนั้นอย่างเป็นกลางและเป็นปกติ

    การเจริญวิปัสสนาไม่เหมือนกับการทำงานอื่นๆ ที่เราจะเร่งทำรีบทำด้วยความอยากที่จะให้มันได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่วิปัสสนาเร่งรีบไม่ได้ เพราะการเร่งรีบก็คือการไม่ปกติ ทำด้วยใจร้อนมันก็ต้องไปบังคับเคี่ยวเข็ญ ไปกดข่ม ถ้าใจร้อนมันก็ต้องกดข่มบังคับ เหมือนต้นไม้ที่มันยังไม่ออกผล ก็ไปบังคับเคี่ยวเข็ญจะให้มันออกผล มันก็ไม่ได้ ฉะนั้นการปฏิบัติจะต้องเข้าใจว่า ต้องดำเนินสติสัมปชัญญะเข้าสู่ความเป็นกลางที่เรียกว่า มัชฌิมา หรือมัชฌิมาปฏิปทาน ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าตรัสครั้งแรกที่สอนปัญจวัคคี ปัญจวัคคียึดถือเรื่องการทรมานตนเอง การปฏิบัติแบบกดข่ม แบบเคร่ง แบบบังคับ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าไม่ใช่ทาง ส่วนบางพวกก็อยากทำตามกิเลสอยากได้อะไรก็ทำ อยากกิน อยากนอน อยากเที่ยว อยากเสพ ก็ทำตามความปรารถนา คิดว่านั่นคือความสุข พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่านั่นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ทางพ้นทุกข์นั้นอยู่ที่มัชฌิมาปฏิปทาน สายกลางไม่ตึงไม่หย่อน โดยองค์ธรรมแล้วก็คือองค์มรรค ๘ มีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น องค์ประกอบเหล่านี้ก็รวมอยู่ในการปฏิบัติที่พอดี เป็นกลาง เจริญสติก็ให้มันเป็นกลาง การจะวินิจฉัยธรรมก็ให้เป็นกลาง ปัญญาที่วินิจฉัยธรรมมากเกินไปก็เกินเลย วิธีปฏิบัติไปวินิจฉัยมากไปมันก็ตกไปสู่ความคิดนึกฟุ้งซ่าน เกิดความฟุ้งซ่านได้ ต้องมีสมาธิให้ทันเสมอ มีความสงบระงับด้วยกัน

    ฉะนั้นองค์มรรค ๘ ก็ต้องให้สมดุลเป็นกลางทุกอย่างต้องอยู่ในความพอดี เพียรเกินไปก็ไม่ดี หมายถึงว่าสติสัมปชัญญะไม่เพียงพอ แล้วก็ทำความเพียรแต่สติไม่ทันก็ย่อมจะทำให้เกิดเบลอ หลงเผลออารมณ์ เห็นนิมิตก็หลงนิมิตสติไม่ทัน เพียรไม่หลับไม่นอน ส่วนประกอบอื่นๆ นั้นยังตามไม่ทันก็ทำให้หลงเผลอเลอะเลือนได้ ฉะนั้นทุกอย่างต้องพอดี ความเพียรเป็นของดีแต่ก็ต้องดูความเหมาะสม ความเป็นกลาง โดยสรุปแล้วก็ดูในจิต ดูการประพฤติปฏิบัติ การเจริญสติสัมปชัญญะว่ามันเพ่งเล็งเกินไปไหม ถ้าเพ่งเล็งเกินไปแสดงว่ามันตึงแล้ว แล้วมันก็ตึงจริงๆ ร่างกายก็ตึง จิตใจก็หนักแน่นไม่เบา ก็ปรับผ่อนเสีย ปรับผ่อนให้มันผ่อนคลายในการเพ่งเล็งเพราะว่าบางครั้งมันตกไปในการเผลอเรอ เลอะเลือน หลับผลอย นี่มันก็หย่อนไป ก็เพิ่มการใส่ใจขึ้น คอยใส่ใจ คอยสังเกตมากขึ้น แต่อย่าให้เลยไปเป็นการเพ่งเล็งบังคับกดข่ม การที่จะให้มันอยู่เป็นกลางพอดีๆ นี่มันไม่ได้อยู่ได้คงที่ มันต้องประคับประคองทันไปทุกขณะๆ เดี๋ยวมันก็ตกไปข้างตึง เดี๋ยวก็ตกไปข้างหย่อนไป นี่คือการรู้จักปรับอินทรีย์ ปรับผ่อน ปรับให้มันสมดุลให้พอดี ให้เป็นกลาง ไม่ตึง ไม่หย่อน สรุปง่ายๆ ว่าให้มันมีการรู้ ละวาง ปล่อยวาง มีการปล่อยวางมีตัวรู้มีตัวละให้เป็นไปด้วยกันไม่ตึงไม่หย่อน ฉะนั้นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติการเจริญวิปัสสนานี้ก็ให้มีความเข้าใจว่าหนึ่งต้องระลึกให้ตรงต่อรูปนาม สองระลึกให้เป็นปัจจุบันให้ได้ปัจจุบัน และสามระลึกให้พอดี ให้เป็นกลาง เอาแค่นี้ ตามหลัก ๓ อย่างนี่

    มาถึงปัญหาที่ผู้ปฏิบัติแยกไม่ออกว่าอารมณ์ที่มากระทบทวารทั้ง ๖ เป็นปรมัตถ์หรือบัญญัติ แยกไม่ออก เมื่อแยกไม่ออกมันก็ไปสู่บัญญัติไปสู่สมมุติอารมณ์ เรียกว่าระลึกไม่ตรงต่อปรมัตถ์ ไปเอาบัญญัติมาเป็นปรมัตถ์ ไปเอาสมมุติมาเป็นปรมัตถ์ ถ้าหลงอยู่อย่างนั้นมันก็เห็นแจ้งไม่ได้ จริงอยู่บัญญัติเหล่านั้นก็ทำให้เกิดความสงบได้ เกิดสมาธิได้เรียกว่าเป็นกรรมฐานได้ บัญญัติอารมณ์ก็เป็นกรรมฐานเหมือนกัน แต่มันเป็นกรรมฐานในส่วนให้เกิดความสงบเป็นสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นไปเพื่อปัญญา อารมณ์ต้องเป็นปรมัตถ์ สติต้องระลึกให้ตรงต่อปรมัตถ์ ก็จำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอีก ถ้าไม่ได้ยินคำสอนของพระพุทธเจ้าก็งงก็แยกไม่ออกเหมือนกัน ไม่รู้ว่าอยู่กับสมมุติ อยู่กับของปลอมก็ไม่รู้ว่าของปลอมนึกว่าเป็นของจริง แต่เพราะได้อาศัยปัญญาของพระพุทธเจ้า ได้อาศัยพระมหากรุณาของพระพุทธองค์ อาศัยความตรัสรู้ของพระองค์เรียกว่า อาศัยปัญญาธิคุณ บริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ฟังว่าอารมณ์นี้เป็นบัญญัติ อารมณ์นี้เป็นปรมัตถ์ มีคุณค่าเอนกมีคุณมากมายต่อการปฏิบัติ ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังจุดนี้ก็ยากที่จะปฏิบัติได้ตรง ได้ถูกต้อง เดินทางได้ถูกต้องได้ยาก นอกจากพวกที่จะมีบารมีตรัสรู้เองเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ในระดับสาวกนี้ถ้าไม่ฟังคำสอนแล้วก็เดินทางไม่ถูก คำพูดอันนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า เอาแค่ว่าอารมณ์ปรมัตถ์กับอารมณ์บัญญัติเนี่ย ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลยสำหรับการแยกได้ อารมณ์ที่เป็นบัญญัติโดยสรุปง่ายๆ มีอยู่ ๒ อย่างคือ อัตถบัญญัติกับนามบัญญัติ อัตถบัญญัติคือรูปร่างสัณฐานและความหมาย นามบัญญัติหรือสัททบัญญัติก็คือชื่อคือภาษาต่างๆ ฟังแค่นี้ก็ฟังได้เพียงแค่ฟัง แต่ใจจริงๆ กับการปฏิบัติแยกออกไหม มองออกไหมว่านี่คือบัญญัติ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการที่จะรู้ความจริงนี่ มันก็ต้องรู้ของปลอมเหมือนกัน ของปลอมก็คือบัญญัติ การจะรู้จักความสว่างก็ต้องรู้จักความมืด ถ้าไม่รู้จักความสว่างก็หาความมืดไม่ออก การจะรู้จักสีขาวก็ต้องรู้จักสีดำ จะให้พ้นจากสีดำไปได้หรือการที่จะไปสู่สีขาวหรือสีอื่นก็ต้องรู้จักสีดำ การที่จะให้พ้นหลุดจากบัญญัติการที่จะให้เข้าสูปรมัตถ์ก็ต้องรู้จักบัญญัติ รู้จักบัญญัติจะได้คัดบัญญัติออกไปถูก แค่ความหมายผู้ปฏิบัติก็ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ชัด

    "ความหิวเป็น โรคอย่างยิ่ง
    สังขารเป็น ทุกข์อย่างยิ่ง
    รู้ความจริงข้อนี้แล้วคนฉลาด
    จึงทำพระนิพพานให้แจ้ง"

    "พระนิพพานเป็น สุขอย่างยิ่ง
    ความไม่มีโรคเป็น ลาภอย่างยิ่ง
    ความรู้จักพอเป็น ทรัพย์อย่างยิ่ง
    ความไว้วางใจกันเป็น ญาติอย่างยิ่ง"
    :z10
     

แชร์หน้านี้

Loading...