ว่าด้วยเรื่องพระวักกลีเถรเจ้า

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 26 เมษายน 2011.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕,๐๐๐ กัณฑ์
    (ส.ธรรมภักดี)

    กัณฑ์ที่ ๑๖๕
    คัมภีร์ขุททกนิกาย พระอปทาน
    ว่าด้วยเรื่องพระวักกลีเถรเจ้า

    อิโต สตสหสฺสมฺหิ กปฺเป อุปฺปชฺชิ นายโก
    อโนมนาโม อมิโต นาเมน ปทุมุตฺตโร
    ปทุมาการวทโน ปทุมามลสุจฺฉวี
    โลเกนานูปลิตฺโต จ โตเยน ปทุมํ ยถาติ.
    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงคัมภีร์พระอปทาน กัณฑ์ที่ ๑๖๕ ว่าด้วยเรื่องพระวักกลีเถรเจ้าสืบต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ตลอดกาลนาน

    เรื่องพระวักกลีเถรเจ้า

    ก็แลเรื่องพระวักกลีเถรเจ้านี้ มีปรากฏมา ๖ คัมภีร์ด้วยกัน คือ คัมภีร์เอกนิบาต อังคุตรนิกาย ๑ คัมภีร์มโนรถปุรณี ๑ คัมภีร์เถรคาถา ๑ คัมภีร์เถรคาถาวัณณนา๑ คัมภีร์พระอปทาน ๑ คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ๑ ในคัมภีร์ทั้ง ๖ นี้ ว่าด้วยเรื่องพระวักกลีเถรเจ้าเฉพาะปัจจุบันชาติก็มี ทั้งอดีตชาติและปัจจุบันชาติก็มี คือคัมภีร์เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย คัมภีร์เถถราถา คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ทั้ง ๓ คัมภีร์นี้ว่าด้วยเรื่องปัจจุบันชาติ ซึ่งเป็นชาติสุดท้ายของท่านเท่านั้น ส่วนคัมภีร์มโนรถปูรณี คัมภีร์เถรคาถาวัณณนา คัมภีร์พระอปทานนั้น ว่าไว้ทั้งอดีตและปัจจุบันชาติ

    กล่าวคือ ในคัมภีร์เอกนิบาต อังคุตตรนิกายนั้นว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงยกย่องพระวักกลีเถรเจ้าไว้ด้วยพระบาลี ดังที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นเบื้องต้นแห่งเทศนานั้น เนื้อความในวาระพระบาลีนั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระวักกลีเป็ฯผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสาวกของเราตถาคต ในฝ่ายมีศรัทธาอันแรงกล้า ดังนี้

    ก็เนื้อความในพระบาลีนั้น มีขยายไว้โดยพิสดารในคัมภีร์มโนรถปูรณีว่า พระวักกลีเถรเจ้าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายมีศรัทธา ก็ศรัทธาของบุคคลอื่นๆ มีแต่ควรจะทำให้เจริญขึ้น เพราะเป็นศรัทธาที่ยังไม่แก่กล้า ส่วนศรัทธาของพระวักกลีเถรเจ้าองค์นี้ มีแต่ควรจะให้ลดลงเพราะว่าศรัทธาของท่านแก่กล้าเกินไป เพราะฉะนั้น สมเด็จพระจอมไตรศาสดา จึงได้ทรงยกย่องว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้หลุดพ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา

    ส่วนประวัติการณ์ของท่านั้น มีปรากฏว่า ครั้งพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้น ท่านได้เกิดเป็นกุลบุตรผู้หนึ่ง เวลาท่านไปฟังพระธรรมเทศนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งได้รับตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างหลุดพ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา ก็คิดว่า ถึงตัวเราก็ควรจะเป็นเหมือนภิกษุรูปนี้ในอนาคตกาลภายภาคหน้า จึงได้นิมนต์องค์พระปทุมุตตรศาสดากับภิกษุสงฆ์ ไปรับไทยทานของตนแล้วถวายไทยทานเป็นการใหญ่อยู่ตลอด ๗ วัน จึงตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอธิการกุศลอันนี้ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างหลุดพ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในภายภาคหน้าเหมือนกับภิกษุที่พระองค์ทรงตั้งไว้ ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายหลุดพ้นจากกิเลสด้วยศรัทธานี้เถิด พระเจ้าข้า องค์พระปทุมุตตรศาสดาทรงเห็นว่า ไม่มีสิ่งใดขัดขวางประการใด จึงได้ทรงพยากรณ์แล้วเสด็จกลับไป

    ฝ่ายกุลบุตรนั้นก็ได้ทำกุศลอยู่จนตลอดชีพ แล้วได้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ในเทพยดามนุษย์ จนกระทั่งถึงศาสนาพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ กุลบุตรนั้นจึงได้ลงมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถี มีนามว่าวักกลีกุมาร เมื่อวักกลีกุมารนั้นเติบโตขึ้นแล้ว ก็ได้ศึกษาไตรเพทในศาสนาพราหมณ์ อยู่มาวันหนึ่ง ได้เห็นพระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม เสด็จไปในกรุงสาวัตถีพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ก็แลดูสรีรสมบัติของพระพุทธองค์แล้วก็เกิดความพอใจอย่างยิ่ง ถึงกับได้ติดตามไปดูจนกระทั่งถึงพระวิหาร เมื่อตามไปถึงพระวิหารแล้ว ก็ยืนเพ่งดูอยู่ในเวลาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เมื่อฟังธรรมไปก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงคิดว่า ถ้าเราอยู่เป็นฆราวาสก็ไม่อาจได้เห็นพระพุทธองค์เป็นเนืองนิจ จึงสละกิจฆราวาสออกบรรพชา นับแต่บรรพชาแล้วไปก็ไม่ทำสมณธรรมสิ่งใด ตนยืนอยู่ในที่ใด อาจจะได้เห็นพระพุทธองค์ ก็ไปยืนอยู่ในที่นั้นเป็นนิจไป นอกจากเวลาฉันอาหารเท่านั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงรอให้ญาณของพระวักกลีนั้นแก่กล้า ปล่อยให้พระวักกลีนั้นดูพระสรีรูปของพระองค์อยู่ตลอดกาลนานมิได้ตรัสประการใด พอทรงเห็นว่าญาณของพระวักกลีแก่กล้า สามารถให้ตรัสรู้ได้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนวักกลี ประโยชน์อันใดที่เธอดูร่างกายอันบูดเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็ชื่อว่าเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นก็ชื่อว่าเห็นธรรม เพราะผู้ที่เห็นธรรมก็เห็นเราตถาคต ดังนี้

    แม้เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงว่ากล่าวสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พระเถรเจ้าก็ยังไม่อาจละการดูพระองค์ไปอยู่ที่อื่นได้ ลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงพระดำริว่า ถ้าภิกษุนี้จักไม่เกิดความสลดใจ ก็จะตรัสร้ไม่ได้ ดังนี้ พอถึงเวลาเข้าพรรษา พระองค์จึงเสด็จไปสู่ราชคฤห์ธานี แล้วทรงขับไล่พระเถรเจ้าเสียในวันเข้าพรรษาว่า อปฺเปหิ วกฺกลิ เธอจงไปเสียจากที่นี่ วักกลี ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมมีถ้อยคำที่บุคคลควรเชื่อถือ เพราะฉะนั้น เมื่อพระเถรเจ้าไม่สามารถขัดขืนถ้อยคำของพระพุทธองค์อยู่ได้ จึงคิดว่า เมื่อเราไม่อาจอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์ โดยที่พระพุทธอค์ทรงขับไล่เราเสียแล้วเช่นนี้ เราจะมีประโยชน์อันใดด้วยชีวิต คิดดังนี้แล้ว ก็ขึ้นไปสู่ภูเขาคิชฌกูฏ ปรารถนาจะกระโดดลงไปในเหวให้ถึงซึ่งความตาย ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงทราบ แล้วเปล่งพระรัศมีไปให้พระวักกลีเถรเจ้าให้เห็นพระองค์ทันที ด้วยพระองค์ทรงดำริว่า เมื่อภิกษุนี้ไม่ได้ความดีใจจากเราตถาคต ก็จะต้องทำให้อุปนิสัยแห่งมรรคผลเสียไป พอพระวักกลีเถรเจ้าได้แลเห็นองค์พระจอมไตรศาสดา ก็ได้ละลูกศร คือความเสียใจอย่างใหญ่หลวงนั้นเสียได้ องค์สมเด็จพระบรมศาสดา มีพระพุทธประสงค์จะให้เกิดปิติโสมนัสอันแรงกล้าแก่พระวักกลีเถรเจ้าเหมือนกับบุคลลตักน้ำมาเทในสระอันแห้งฉะนั้น จึงตรัสซึ่งคาถาในพระธรรมบทว่า

    ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ปสนฺโน พุทฺ์ธสาสเน
    อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ สงฺขารูปสมํ สุขํ ดังนี้

    เนื้อความในคาถานี้ว่า ภิกษุผู้มากไปด้วยความปราโมทย์ ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต้องได้บรรลุธรรมอันดี อันระงับเสียซึ่งสังขารอันนำมาซึ่งความสุขดังนี้

    พอสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกไปว่า มาเถิด วักกลี พระวักกลีเถรเจ้าก็เกิดปิติอย่างแรงกล้า ด้วยคิดว่า เราได้เห็นพระศาสดาด้วย พระศาสดาตรัสเรียกเราด้วย จึงลืมทางที่ตนมาว่ามาจากทางไหน แล้วก็ก้าวขึ้นไปในอากาศเฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา ขณะที่เท้าข้างหนึ่งยังเหยียบอยู่บนเขานั้น ก็นึกถึงถ้อยคำของพระศาสดาได้ ข่มเสียได้ซึ่งปิติในอากาศ แล้วสำเร็จพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา จึงประณมมือนอบน้อมต่อพระบรมศาสดาลงมาจากอากาศ ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระบรมศาสดาจึงเสด็จออกประทับนั่งในท่ามกลางพระอริยสงฆ์ ได้ทรงตั้งพระวักกลีเถรเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้หลุดพ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา สิ้นเนื้อความในคัมภีร์มโนรถปูรณีเพียงเท่านี้

    ต่อนี้ไป เป็นเนื้อความในคัมภีร์พระอปทานว่า พระวักกลีเถรเจ้าได้กล่าวไว้เมื่อท่านได้สำเร็จพระอรหัตแล้วว่า ในแสนกัลป์ล่วงแล้วมา ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระปทุมุตตระ บังเกิดขึ้นในโลก พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีกลิ่นพระโอษฐ์ดังกลิ่นดอกปทุม มีพระฉวีวรรณอันหามลทินมิได้ เหมือนกับดอกปทุมอันไม่มีน้ำแปดเปื้อนฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระหฤทัยอันไม่เกี่ยวข้องอยู่กับโลก เหมือนกับดอกปทุมอันไม่มีน้ำติดค้างอยู่ ฉะนั้น มีดวงพระเนตรดังกลีบดอกปทุม มีกลิ่นพระกายหอมยิ่งกว่ากลิ่นดอกปทุม เพราะฉะนั้นจึงทรงพระนามว่าพระปทุมมุตตรพุทธเจ้า พระปทุมุตตรพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก และเป็นผู้หามานะมิได้เป็นผู้เปรียบด้วยดวงตาของคนตาบอดทั้งหลาย เป็นผู้สงบระงับ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระคุณธรรมทั้งปวง เป็นผู้มีพระมหากรุณาอันใหญ่หลวง เหมือนกับมหาสาคร พระปทุมุตตรพุทธเจ้านั้น เป็นผู้มีความเพียรอันยิ่งใหญ่เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดา อินทร์พรหมทั้งหลาย พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ทรงยกย่องพระสาวกของพระองค์ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะซึ่งออกจากพระโอษฐ์อันมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดอกปทุมว่า ผู้มีศรัทธาแก่กล้า มีอาลัยในการดูเราตถาคต เหมือนกับพระวักกลีนี้มิได้มี ดังนี้

    ในคราวนั้น ข้าพเจ้าผู้ชื่อวักกลีนี้ ได้เกิดเป็นบุตรพราหมณ์อยู่ในเมืองหงสวดี ได้ฟังถ้อยคำของพระปทุมุตตรชินศรีแล้ว ก็ชอบใจตำแหน่งนั้น ข้าพเจ้าจึงได้นิมนต์พระปทุมุตตรชินศรี พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ให้ไปฉันจังหันอยู่ที่บ้านของข้าพเจ้าถึง ๗ วันจึงได้ถวายไตรจีวร ข้าพเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยปิติ ได้หมอบลงในที่ใกล้พระบาทของสมเด็จพระปทุมุตตรศาสดา ผู้มีพระคุณหาที่สุดมิได้ดังสาคร แล้วกราบทูลขึ้นว่า ภิกษุใดที่พระองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายมีศรัทธา ขอให้ข้าพระองค์เหมือนกับภิกษุรูปน้้น เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลอย่างนี้แล้ว องค์พระปทุมุตตระผู้เป็นมหาวีรเจ้าผู้มีพระปรีชาญาณ เล็งเห็นเหตุการณ์ทั้งปวงไม่ขัดข้อง จึงทรงเปล่งพระวาจาขึ้นในท่ามกลางประชุมชนว่า ท่านทั้งหลายจงมาประชุมกัน ท่านทั้งหลายจงดูมาณพผู้นุ่งผ้าสีเหลืองมีเนื้อเกลี้ยง ผู้มีอวัยวะอันประดับเครื่องทรง ผู้มีตาอันผ่องใสเป็นที่ถูกใจของคนทั้งปวงนี้เถิด มาณพนี้จะได้เป็นสาวกผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายมีศรัทธาแก่กล้าของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล มาณพนี้ไม่ว่าจะเกิดเป็นเทพยดา หรือมนุษย์ชนิดใดก็ดี ก็จะหาความเดือดร้อนมิได้ จะเพียบพร้อมด้วยสมบัติทั้งปวง จะมีความสุขเสมอไปในแสนกัลป์ข้างหน้า จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระโคดม บังเกิดขึ้นในโลก มาณพนี้จะได้เป็นสาวกของพระโคดม มีนามว่า วักกลี ดังนี้ฯ ด้วยบุญกุศลและความปรารถนาของข้าพเจ้านั้น เวลาข้าพเจ้าตายจากชาตินั้นแล้ว ก็ได้ขึ้นไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ เวลาที่ข้าพเจ้ายังท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยและภพใหญ่ ก็มีความสุขเสมอไป เมื่อชาติก่อนข้าพเจ้าได้เกิดในตระกูลหนึ่งในเมืองสาวัตถี มารดาของข้าพเจ้าผู้กลัวปีศาจ ได้ให้ข้าพเจ้าผู้เป็นเด็กอ่อนนอนหงายลงแทบบาทมูลของพระพุทธเจ้า แล้วกล่าวถวายว่า ข้าพระองค์ขอถวายทารกนี้แก่พระองค์ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของทารกนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า ในเวลานั้นพระพุทธองค์ก็ทรงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ได้ทรงลูบร่างกายของข้าพเจ้าด้วยพระหัตถ์อันอ่อนลมุล ประกอบด้วยลายตาข่ายและลายกงจักรตามลักษณะมหาบุรุษทุกประการ

    ในกาลนับแต่ข้าพเจ้าเกิดมาแล้ว พระพุทธองค์ก็ได้ทรงรักษาข้าพเจ้าาให้ปราศจากความเจ็บไข้ทั้งปวง ให้มีแต่ความสุขทุกเวลา ข้าพเจ้าผู้ที่พระสุคตเจ้าทรงเป็นที่พึ่งนั้น ก็ได้บรรพชาเมื่อเวลามีอายุ ๗ ขวบ ข้าพเจ้าไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเบื่อในการดูพระสรีรูปของพระองค์ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยพระบารมีของพระองค์ มีพระนัยเนตรอันดำงามสมบูรณ์ด้วยความงามทั้งปวง ในเวลานั้น พระพุทธองค์ผู้ทรงชนะเสียแล้วซึ่งมารทั้งปวง ทรงทราบว่า ข้าพเจ้ายินดีอยู่แต่ในการดูพระสรีรูปของพระองค์เท่านั้น ก็ได้ทรงสอนข้าพเจ้า อย่าเลย วักกลี ไม่มีประโยชน์อันใดในการดูรูปกาย อันเป็นที่น่ายินดีของคนโง่เขลาทั้งหลาย ผู้ใดเห็นพระสัทธรรมอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต เมื่อไม่เห็นพระสัทธรรม ถึงแม้ว่าจะเห็นเราตถาคต ก็ชื่อว่า ไม่เห็น ร่างกายนี้เป็นของมีโทษหาที่สุดมิได้ เป็นของเปรียบด้วยต้นไม้อันมีพิษ เป็นที่อยู่แห่งโรคทั้งปวง เป็นกองทุกข์อันใหญ่หลวง แม้จะเบื่อหน่ายในรูปกายจงพิจารณาความเกิดและความดับแห่งขันธ์ทั้งหลาย แล้วก็จะถึงซึ่งที่สุดแห่งกิเลสทั้งปวงโดยง่าย ข้าพเจ้าผู้ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนอย่างนี้ก้ได้ขึ้นไปนั่งเสียใจอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ พระพุทธองค์ผู้ทรงประทับยืนอยู่ที่เชิงภูเขา ได้ตรัสร้องเรียกข้าพเจ้าว่า วักกลี พอข้าพเจ้าได้ฟังแล้วก็ดีใจ ข้าพเจ้าได้กระโดดลงไปในเงื้อภูเขา อันลึกหลายร้อยชั่วบุรุษ แต่ได้ไปถึงภาคพื้นโดยสวัสดี ด้วยอานุภาพของพระพุทธองค์ ในคราวนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมอันว่าด้วยความเกิดและความดับแห่งขันธ์ทั้งหลาย ให้ข้าพเจ้าฟังอีก ข้าพเจ้าเข้าใจธรรมนั้นแล้วก็ได้สำเร็จพระอรหัต ในเวลานั้น พระพุทธองค์ผู้ทรงพระคุณอันหาที่สุดมิได้ ก็ได้ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายพ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา ในท่ามกลางประชุมชนหมู่ใหญ่ บุญกุศลอันใดที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้วในแสนกัลป์ล่วงแล้วมา ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติด้วยอำนาจบุญกุศลอันนั้น อันนี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ข้าพเจ้าได้เผาเสียแล้วซึ่งกิเลสทั้งหลาย ได้ทำลายเสียแล้วซึ่งภพทั้งปวง ได้ตัดเสียแล้วซึ่งเครื่องผูกเหมือนช้างสลัดปลอกฉะนั้น การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักพระพุทธเจ้านี้เป็นการมาดีแล้ว ข้าพเจ้าได้สำเร็จวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ แล้ว ข้าพเจ้าได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธจ้าเสร็จสิ้นแล้ว ดังนี้ สิ้นเนื้อความในคัมภีร์พระอปทานเพียงเท่านี้

    ในคัมภีร์พระอปทานนี้ ก็กล่าวถึงอดีตชาติและปัจจุบันชาติของพระวักกลีเถรเจ้า คล้ายกับที่ได้แสดงมาแล้วนั้น แต่ใจความนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือใจความว่า พระวักกลีเถรเจ้าได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์มีองค์พระปทุมุตตระเป็นประธานอยู่ ๗ วัน ในวันที่ ๗ ก็ได้ถวายไตรจีวรอีก แล้วได้ปรารถนาตำแหน่งอันเลิศฝ่ายจ้างศรัทธา แล้วได้ทำบุญกุศลอยู่ตลอดชีพ นับแต่นั้นมาได้แสนกัลป์ จนมาถึงครั้งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายได้บังเกิดขึ้นในโลก


    ถึงในคัมภีร์เถรคาถาวัณณนา ก็ได้กล่าวถึงอดีตประวัติของพระวักกลีเถรเจ้าตลอดถึงปัจจุบันประวัติไว้เหมือนกับที่ได้แสดงมาแล้วนั้นมีแปลกกันบ้างเป็นบางประการเท่านั้น กล่าวคือ ในคัมภีร์เถรคาถาวัณณนาว่า พระวักกลีเถรเจ้าองค์นี้ก็ได้กระทำอธิการกุศลไว้ในสำนักพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนมาแล้ว ในเวลาที่สะสมบุญกุศลอยู่ในภพนั้นๆ ท่านได้เกิดในเรือนตระกูลแห่งหนึ่งในเมืองหงสาวดี ในครั้งศาสนาพระปทุมุตตรชินศรี ในครั้งนั้น ท่านได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งได้รับตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในฝ่ายมีศรัทธากล้าแข็ง จึงถวายมหาทานอยู่ตลอด ๗ วัน แล้วปรารถนาซึ่งตำแหน่งนั้น ตั้งแต่นั้นมาก็ท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดอยู่แต่ในกำเนิดเทพยดา มนุษย์เท่านั้นไม่ได้ไปสู่ทุคติเลย จนกระทั่งถึงครั้งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ จึงได้มาเกิดที่ตระกูลพราหมณ์ ในกรุงสาวัตถี มีชื่อว่า วักกลี เป็นผู้ที่ไม่รู้จักอิ่มในการดูพระพุทธเจ้า จึงได้ออกบรรพชาเป็นภิกษุเพื่อจะได้ดูให้สมใจ นับแต่บรรพชาแล้วไป ก็ตั้งใจดูพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น พอมีญาณแก่กล้าขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนวักกลี เธอจะประโยชน์อันใดด้วยการดูร่างกายอันเน่าบูดนี้ ดูก่อนวักกลี ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นธรรม ดังนี้ แต่พระวักกลีก็ยังไม่อาจละพระพุทธเจ้าไปที่อื่นได้ พอจวนเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าจึงทรงขับไล่พระวักกลีเสียจากวัด เพื่อจะให้ท่านเกิดความสลดใจ ท่านได้หนีขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฏ ด้วยคิดว่าจะกระโดดภูเขาให้ตาย พระพุทธเจ้าจึงทรงเปล่งพระรัศมีไปให้ปรากฏเหมือนพระองค์อยู่ในที่เฉพาะหน้า แล้วจึงตรัสว่า ภิกษุผู้มีความร่าเริงใจ ผู้เลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าย่อมสำเร็จธรรมอันระงับสังขาร อันนำมาซึ่งความสุข ดังนี้ แล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ออกตรัสเรียกว่า จงมาเถิด วักกลี พอพระวักกลีได้แลเห็นก็มีความดีอย่างยิ่ง ไม่ทันสังเกตหนทางที่ตนมา ได้รับยกเท้าก้าวขึ้นสู่อากาศเพื่อจะโจนไปหาพระโลกนาถเจ้า แต่ได้ข่มสติไว้เสีย ในเวลาที่ฟังถ้อยคำของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแล้วนั้น แล้วก็ได้สำเร็จพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เมื่อได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว ท่านได้กล่าวขึ้น ๔ คาถา มีคาถาว่า วาตโรคาภินีโต ตวํ เป็นต้น ซึ่งแปลว่า ท่านผู้เป็นโรคลมอยู่ในป่าใหญ่ มีการเลี้ยงชีพอันเศร้าหมอง จะต้องทำอย่างไร เขาผู้มีร่างกายอันเต็มไปด้วยปิติ ได้รับความเศร้าหมองอยู่ในป่า ได้เจริญสติปัฏฐาน อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อยู่ในป่าใหญ่ เราได้เห็นภิกษุทั้งหลายที่มีความพากเพียรมีใจตั้งมั่น มีความบากบั่นมั่นคง พร้อมเพรียงกันทำสมณกิจอยู่ในป่าใหญ่ เมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ทรมานพระองค์แล้ว ผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่นแล้ว เราก็เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางคืนและกลางวันเป็นผู้ขยันอยู่ในป่าใหญ่ดังนี้ เมื่อท่านได้สำเร็จพระอรหัตแล้วก็ได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในฝ่ายมีศรัทธาแก่กล้า สิ้นเนื้อความในคัมภีร์เถรคาถาวัณณนาเพียงเท่านี้

    ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา คือคัมภีร์พระธรรมบทนั้น ได้กล่าวถึงแต่เรื่องปัจจุบันชาติของพระวักกลีเถรเจ้าเหมือนกับที่ได้แสดงมาแล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องยกมาแสดง มีเนื้อความสืบต่อไปว่า เมื่อพระวักกลีเถรเจ้ามีอายุควรแก่กาลแล้ว ท่านก็ปรินิพพานไป จึงเป็นอันว่า สิ้นเนื้อความในเรื่องของท่านเพียงเท่านี้

    เอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้ฯ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 เมษายน 2011

แชร์หน้านี้

Loading...