ว่าด้วยการเกิดของทาน,บุญกิริยาวัตถุสูตร

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 2 กันยายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


    ๕. ทนูปปัตติสูตร
    ว่าด้วยการเกิดของทาน

    [๑๒๕] ภิกษุทั้งหลาย การเกิดเพราะทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน
    ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทาน คือข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาเห็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาลหรือคฤหบดีมหาศาลผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ เขามีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอเมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหับดีมหาศาล เขาตั้งจิต อธิษฐาน นึกภาวนาอยู่ จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ก็ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล ภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์.


    ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะและพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้สดับมาว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชมีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอ้หนอ เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช เขาตั้งจิต อธิษฐาน นึกภาวนาอยู่ จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช ก็ข้อนั้นเรากล่าวว่า เป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล ภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์.

    ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้สดับมาว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก ชั้นยามา มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก ชั้นดุสิต มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก ชั้นนิมมานรดี มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เขาตั้งจิต อธิษฐาน นึกภาวนาอยู่ จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ก็ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ผู้ทุศีล ภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาแห่งใจของคนผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์.

    ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมให้ทาน คือข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประดับแก่สมณหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้สดับมาว่า เทวดาชั้นพรหม มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีสุขมาก เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอ้หนอ เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม เขาตั้งจิต อธิษฐาน นึกภาวนาอยู่ จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม ก็ข้อนั้นเรากล่าวว่า เป็นของผู้มีศีล มิใช่ของผู้ทุศีล เป็นของผู้ปราศจากราคะ มิใช่ของผู้มีราคะ ภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้เพราะจิตปราศจากราคะ ภิกษุทั้งหลายการเกิดเพราะทาน ๘ ประการนี้แล.

    ทานูปปัตติสูตรที่ ๕ จบ


    อรรถกถาทานูปปัตติสูตรที่ ๕

    พึงทราบวินิจฉัยในทานูปปัตติสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้.

    คำว่า การเกิดเพราะทาน (ทานูปปฺติโย) ได้แก่ การเข้าถึงมีทานเป็นปัจจัย.
    คำว่า ย่อมตั้ง (ปทหติ) ได้แก่ ย่อมตั้งไว้.
    คำว่า อธิษฐาน (อธิฏฺฐานติ) เป็นไวพจน์ของคำว่า ย่อมตั้ง นั่นเอง.
    คำว่า นึกภาวนาอยู่ (ภาเวติ) ได้แก่ ให้เจริญ.
    คำว่า นึกน้อมไปในทางเลว (หีนธิมุุตฺตํ) ได้แก่ น้อมไปในฝ่ายต่ำ คือกามคุณ ๕.
    คำว่า ไม่เจริญยิ่งขึ้น (อุตฺตรึ อภาวิตํ) ได้แก่ มิได้อบรมเพื่อประโยชน์แก่มรรคและผลชั้นสูงกว่านั้น.
    คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่ออุบัติในที่นั้น (ตตฺถูปปตฺติยา สํวตฺตติ) ได้แก่ กุศลที่บุคคลทำด้วยปรารถนาที่ใด ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การบังเกิดในที่นั้น.

    คำว่า เป็นของผู้ปราศจากราคะ (วีตราคสฺส) ได้แก่เป็นของผู้ถอนราคะด้วยมรรค หรือของผู้ข่มราคะด้วยสมาบัติ. จริงอยู่ เพียงท่านเท่านั้นไม่สามารถจะบังเกิดในพรหมโลกได้ แต่ท่านย่อมเป็นเครื่องประดับแวดล้อมของจิตประกอบด้วยสมาธิและวิปัสสนา แต่นั้นบุคคลผู้มีจิตอ่อนด้วยการให้ทาน เจริญพรหมวิหารแล้วย่อมบังเกิดในพรหมโลกด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นของผู้ปราศจากราคะ มิใช่ของผู้มีราคะ (วีตราคสฺส โน สราคสฺส).


    อรรถกถาทานูปปัตติสูตรที่ ๕ จบ


    ๖. บุญกิริยาวัตถุสูตร
    ว่าด้วยการทำบุญกิริยาวัตถุแล้วไปเกิดในที่ต่างๆ

    [๑๒๖] ภิกษุทั้งหลย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ
    บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน ๑ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล ๑ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา ๑ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่ำสำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์.


    ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลพอประมาณ ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์.

    ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช ภิกษุทั้งหลาย มหาราชทั้ง ๔ ในชั้นนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานอย่างเหลือเฟือ ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลอย่างเหลือเฟือ ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นจาตุมหาราชทั้งหลายโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฎฐัพพทิพย์.

    ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพในชั้นดาวดึงส์นั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานอย่างเหลือเฟือ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลอย่างเหลือเฟือ ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์.

    ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสุยามเทพบุตรในชั้นยามานั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานอย่างเหลืเฟือ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลอย่างเหลือเฟือ ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นยามาทั้งหลายโดยฐานะ ๑๐ ประการคือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์.

    ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสันดุสิตเทพบุตรในชั้นดุสิตนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานอย่างเหลือเฟือ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลอย่างเหลือเฟือ ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นดุสิตทั้งหลายโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์.

    ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่ำสำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสุนิมิตเทพบุตรในชั้นนิมมานรดีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานอย่างเหลือเฟือ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลอย่างเหลือเฟือ ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นนิมมานรดีทั้งหลายโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์.

    ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่ำสำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ภิกษุทั้งหลาย ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีเทพบุตรในชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานอย่างเหลือเฟือ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลอย่างเหลือเฟือ ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีทั้งหลายโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้แล.

    บุญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๖ จบ


    อรรถกถาบุญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๖

    พึงทราบวินิจฉัยในบุญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้.
    การทำบุญนั้นด้วย เป็นที่ตั้งแห่งอานิสงส์นั้นๆ ด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ (ที่ตั้งแห่งอานิสงส์ของการบำเพ็ญบุญ). จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายตั้งจิตไว้ในลักษณะแห่งทานเป็นต้น แล้วคิดว่า "พวกเราควรให้ทานเห็นปานนี้ ควรรักษาศีลเห็นปานนี้ ควรเจริญภาวนาเห็นปานนี้" แล้วจึงทำบุญ ทานนั่นแหละชื่อว่าสำเร็จด้วยทาน อีกอย่างหนึ่ง ให้ทานเจตนาทั้งหลาย เจตนาที่ตกลงใจ อันสำเร็จมาแต่เจตนาดวงแรก ชื่อว่าสำเร็จด้วยทาน เหมือนวัตถุที่สำเร็จมาแต่แป้งเป็นต้นก็สำเร็จด้วยแป้งเป็นต้น ฉะนั้น. แม้ใน ๒ คำที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.

    ข้อว่า ทำ...นิดหน่อย (ปริตฺตํ กตํ โหติ) ได้แก่ เป็นอันเขากระทำน้อย คือเบาบาง.
    คำว่า ไม่เจริญ (นาภิสมฺโภติ) ได้แก่ย่อมไม่สำเร็จ.
    คำว่า ไม่กระทำ (อกตํ โหติ) ได้แก่ ไม่ได้เริ่มความเพียรในภาวนาเลย.
    คำว่า ความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์ (มนุสฺสโทภคฺยํ) ได้แก่ ตระกูลต่ำ ๕ อย่างอันเว้นจากสมบัติในมนุษย์ทั้งหลาย.
    คำว่า ย่อมเข้าถึง (อุปปชฺชติ) ได้แก่ ย่อมเข้าถึงด้วยอำนาจปฏิสนธิ อธิบายว่าเกิดในตระกูลต่ำนั้น.
    คำว่า ทำพอประมาณ (มตฺตโส กตํ) ได้แก่กระทำพอประมาณ คือไม่น้อยไม่มาก.
    คำว่า ความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์ (มนุสฺสโสภคฺยํ) ได้แก่ สมบัติแห่งตระกูล ๓ อย่างอันงามเลิศในมนุษย์.
    คำว่า มีประมาณยิ่ง (อธิมตฺตํ) ได้แก่ ให้มีประมาณยิ่งหรือให้มีกำลังแรง.
    คำว่า ย่อมก้าวล่วง (อธิคณฺหนฺติ) ได้แก่ ครอบงำ อธิบายว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่า คือเจริญกว่า.

    อรรถกถาบุญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๖ จบ

    ๗. สัปปุริสทานสูตร
    ว่าด้วยลักษณะทานของสัปบุรุษ

    [๑๒๗] ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑ ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล.
    สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีตตามกาล สมควร เนืองนิตย์ ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญที่ดี บริจาคของมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วอย่างนี้ บัณฑิตผู้มีปัญญา ผู้มีศรัทธา มีใจอันหลุดพ้นแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียนอันเป็นสุข.
    สัปปุริสทานสูตรที่ ๗ จบ


    อรรถกถาสัปปุริสทานสูตรที่ ๗

    พึงทราบวินิจฉัยในสัปปุริสทานสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้.
    คำว่า ของสะอาด (สุจึ) ได้แก่ ให้ของบริสุทธิ์ คือมีประโยชน์.
    คำว่า ของประณีต (ปณีตํ) ได้แก่ สมบูรณ์ดี.
    คำว่า ตามกาล (กาเลน) ได้แก่ ตามเวลาที่สมควรพอเหมาะ.
    คำว่า ของสมควร (กปฺปยํ) ได้แก่ ให้แต่ของที่เป็นกัปปิยะ.
    คำว่า เลือกให้ (วิเจยฺย เทติ) ได้แก่ เลือกปฏิคาหกว่า "ทานที่ให้แก่ผู้นี้จักมีผลมาก ที่ให้แก่ผู้นี้ไม่มีผลมาก" หรือเลือกการให้ด้วยอำนาจการให้ที่ตั้งใจไว้แล้ว จึงให้.

    อรรถกถาสัปปุริสทานสูตรที่ ๗ จบ


    ๘ สัปปุริสสูตร
    ว่าด้วยผู้ได้รับประโยชน์สุขจากสัปปบุรุษ

    [๑๒๘] ภิกษุทั้งหลาย สัปบุรุษเมื่อเกิดในตระกูล ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก คือย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มารดาบิดา ๑ แก่บุตรภรรยา ๑ แก่หมู่คนผู้เป็นทาสกรรมกร ๑ แก่มิตรอำมาตย์ ๑ แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ๑ แก่พระราชา ๑ แก่เทวดาทั้งหลาย ๑ แก่สมณพราหมณ์ ๑ ภิกษุทั้งหลาย มหาเมฆเมื่อตกให้ข้าวกล้าเจริญงอกงามย่อมตกเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ฉันใด สัปบุรุษก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดในตระกูลย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ฉันใด สัปบุรุษก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดในตระกูลย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก คือย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มารดาบิดา๑ แก่บุตรภรรยา ๑ แก่หมู่คนผู้เป็นทาสกรรมกร ๑ แก่มิตรอำมาตย์๑ แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ๑ แก่พระราชา ๑ แก่เทวดาทั้งหลาย ๑ แก่สมณพราหมณ์ ๑.
    สัปบุรุษผู้มีปัญญาอยู่ครองเรือน ผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก ในชั้นต้นระลึกถึงอุปการะที่มารดาบิดาทำไว้ก่อน ย่อมบูชามารดาบิดาโดยชอบธรรม สัปบุรุษผู้มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว มีศีลเป็นที่รัก ทราบธรรมแล้วย่อมบูชาบรรพชิตผู้ไม่ครองเรือน ผู้ไม่มีบาป ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ สัปบุรุษนั้นเป็นผู้เกื้อกูลต่อพระราชา ต่อเทวดา ต่อญาติและสหายทั้งหลาย เป็นผู้เกื้อกูลแก่คนทั้งปวง สัปบุรุษนั้นตั้งมั่นดีแล้วในสัทธรรม กำจัดมลทินคือความตระหนี่ได้แล้ว ย่อมประสบโลกอันเกษม.

    สัปปุริสสูตรที่ ๘ จบ


    อรรถกถาสัปปุริสสูตรที่ ๘
    พึงทราบวินิจฉันในสัปปุริสสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้.
    คำว่า เพื่อประโยชน์ (อตฺถาย) ได้แก่เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นประโยชน์.
    คำว่า เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข (หิตาย สุขาย) ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความเกื้อกูล เพื่อประโยชน์แก่ความสุข.
    คำว่า แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว (ปุพฺพเปตานํ) ได้แก่ แก่พวกญาติผู้ไปสู่ปรโลก. ในพระสูตรนี้ เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ ย่อมได้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ์ พระโพธิสัตว์ พระปัจเจกพุทธเจ้า ในสมัยมีพระพุทธเจ้า ย่อมได้แก่พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า. ก็ท่านเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเหล่านั้นตามที่กล่าวแล้ว.
    ข้อว่า สัปบุรุษผู้มีปัญญาอยู่ครองเรือน... บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก (พหุนฺนํ วตอตฺถาย สปฺปปญฺโญ ฆรามาวสํ) ได้แก่บุคคลผู้มีปัญญา เมื่ออยู่ครองเรือน ย่อมเป็นประโยชน์แก่ชนหมู่มากจริงๆ.
    คำว่า ในชั้นต้น (ปุพฺเพ) ได้แก่ ก่อนอื่นทีเดียว.
    คำว่า รำลึกถึงอุปการะที่มารดาบิดาทำไว้ก่อน (ปุพฺพกตมนฺสฺสรํ) ได้แก่ เมื่อหวนระลึกถึงอุปการคุณที่บิดามารดากระทำไว้ก่อน.
    คำว่า โดยชอบธรรม (สหธมฺเมน) ได้แก่ย่อมบูชาด้วยการบูชาด้วยปัจจัยตาควรแก่เหตุ.
    คำว่า ผู้ไม่มีบาป ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ (อปาเป พฺรหฺมจาริโน) ได้แก่ นอบน้อม คือ ถึงความประพฤติอ่อนน้อมแก่ท่านเหล่านั้น.
    คำว่า มีศีลเป็นที่รัก (เปสโล) ได้แก่ ผู้มีศีลเป็นที่รัก.

    อรรถกถาสัปปุริสสูตรที่ ๘ จบ

    อ่านต่อว่าด้วยห้วงบุญห้วงกุศล



    พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล
    พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
    อัฏฐกนิบาต
    ทานวรรค
    หน้า ๓๙๘-๔๐๘

    ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๗

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 กันยายน 2009

แชร์หน้านี้

Loading...