วิปัสสนา

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 26 กันยายน 2008.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    วิปัสสนามา จาก วิ - วิเศษ, พิเศษ + ปัสสนา - การเห็น,ความเข้าใจ จึงหมายถึงการเห็นหรือการเข้าใจอย่างวิเศษ คือการเห็นแจ้งอันหมายถึงเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งตามความจริงในธรรมคือสภาวธรรม หรือธรรมชาติ โดยเฉพาะในเรื่องของทุกข์และเพื่อการไปใช้ดับทุกข์ คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม ไม่ใช่การเห็นเป็นไปตามความเชื่ออันคือทิฏฐิ หรือทฤษฎี หรือความชอบของตัวตน; ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิด รู้ผิด ในสังขารเสียได้; การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้ง รู้ชัด ภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเอง(สภาวธรรมหรือธรรมชาติ) ดังนั้นการปฏิบัติวิปัสสนาจึงหมายถึงการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาหรือความ รู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงแห่งธรรมหรือเข้าใจในธรรมชาติของจิต ในการก่อให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ก็เพื่อการดับไปแห่งทุกขให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงขั้นปรมัตถ์(ตามความเป็นจริงขั้นสูงสุด) เพื่อใช้ไปในการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ อันเป็นสุขอย่างยิ่งนั่นเอง


    อันจักเกิดได้ด้วยการภาวนา อันคือการพิจารณาในธรรมต่างๆที่บังเกิดขึ้นแก่จิต หรือถูกจริตแห่งตน โดยแยบคาย(อย่างชาญฉลาด) เป็นประจําแทบทุกขณะจิตที่มีโอกาสหรือแทบจะกล่าวได้ว่าทุกลมหายใจเข้าออก ด้วยความเพียร มานะ อันเป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่งยวดในการบรรลุถึงธรรม เหมือนดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในมรณัสสติสูตร ซึ่งได้อุปมาเรื่องความเพียรไว้ดังนี้ ให้มีความเพียรพยายาม ดุจดั่งเธอเพียรพยายามอย่างยิ่งในการดับไฟที่กําลังไหม้ศีรษะหรือกําลังไหม้ผ้าโพกศีรษะที่เธอกําลังสวมใส่อยู่ หรือดังที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กล่าวไว้ว่า "ถ้ามีเวลาสําหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสําหรับภาวนา"(อตุโล ไม่มีใดเทียม หน้า๔๖๑) กล่าวคือปฏิบัติในชีวิตประจําวันทั่วๆไปนั่นเอง อันได้แก่ เห็นเวทนา(ความรู้สึก)หรือจิต(ความคิด)ในชีวิตประจําวันที่เกิดขึ้น นั่นแหละเป็นการปฏิบัติตามแนวทางของปฏิจจสมุปบาท หรือสติปัฏฐานนั่นเองคือเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนา(เห็นเวทนาความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการผัสสะ และเห็นจิตหรือจิตสังขารอันคือ ความคิด ความนึก)


    เหตุที่การภาวนา(ไม่ได้หมายถึงการการบริกรรมท่องบ่น นั่นเป็นอุบายวิธีในการรวมจิตให้ตั้งมั่นไม่ซัดส่ายอันเป็นสมาธิ) โดยการพิจารณาธรรมนั้น(ธรรมะวิจยะโดยการโยนิโสมนสิการ)นั้นเป็นสิ่งจําเป็นจนเรียกว่าขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาดนั้น ก็เพราะการที่จิตวนเวียนพิจารณาอยู่ในธรรมทุกขณะจิตที่มีโอกาส หรือมีสติ หรือทุกลมหายใจนั้น(แยกแยะให้ดีไม่ใช่ฟุ้งซ่าน) เป็นการส่งเสริมให้เกิดสัมมาปัญญาให้พ้นทุกข์ขึ้นทีละเล็กทีละน้อยทุกขณะจิตโดยไม่รู้ตัว(ทํางานคล้ายๆการเกิดของอาสวะกิเลส-อ่านรายละเอียดในปฏิจจสมุปบาท) ในขณะเดียวกันนั้นเองจักทําให้จิตฟุ้งซ่านคือจิตที่ซัดส่าย สอดแส่ไคิดนึกปรุงแต่งต่อสิ่งรอบกายหรือในกาย(ความคิด)ที่กระทบสัมผัส อันก่อให้เกิดทุกข์อยู่ทุกขณะจิตโดยไม่รู้ตัวเช่นกันนั้นมีหน้าที่อันควร ตลอดจนนุ่มนวลควรแก่การใช้งาน และหยุดการส่งจิตออกไปคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ ทําให้จิตในขณะนั้นเองขาดจากตัณหาและอุปาทาน อันย่อมไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้น ณ ขณะจิตนั้น อันย่อมยังให้จิตมีกําลังแห่งจิตเกิดขึ้นและเป็นกําลังของจิตชนิดที่ขาดการ ครอบงําทั้งจากกิเลสตัณหาและอุปาทาน จึงทําให้เข้าใจสภาวะธรรมหรือธรรมชาติ หรือสิ่งต่างๆได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเมื่อเราปฏิบัติหรือภาวนาเช่นนี้เป็นประจําสมํ่าเสมอ ปัญญาญาณหรือสัมมาญาณอันนําพาให้พ้นทุกข์ก็จักบังเกิดขึ้น จน ณ.ขณะจิตหนึ่งจะเกิดอาการดังเช่น อ๋อ มันเป็นเช่นนี้เอง พร้อมความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในธรรมนั้นๆ การปฏิบัติเยี่ยงนี้ความจริงแล้วก็คือ ธรรมานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง


    อันสิ่งที่เรารู้ เราเห็นด้วยใจหรือความเข้าใจอย่างถูกต้องแท้จริงอย่างถึงแก่นถึงแกน หรือที่ผู้เขียนมักกล่าวบ่อยๆว่าเข้าใจถึงใจแล้ว ย่อมยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ผู้ปฏิบัติในที่สุด


    ธรรมะของพระพุทธองค์ท่าน ล้วนแล้วแต่เพื่อปฏิบัติให้เกิดปัญญา(สัมมาญาณอันเป็นมรรคองค์ที่ ๙ ในสัมมัตตะ ๑๐)ในการพ้นทุกข์ ตลอดจนให้เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย คลายกําหนัด(ความชื่นชม,ความยินดี)จากการไปรู้ตามความเป็นจริง ในสิ่งต่างๆที่ยึด ที่หลงใหล อันเป็นหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์หรืออุปาทานทุกข์ทั้งสิ้น


    ส่วนการนั่งปฏิบัติในรูปแแบบ ให้มีสติอย่าปล่อยให้เลื่อนไหลลงสู่สมาธิที่ลึกเกินไป ผ่อนคลายกายและใจ อย่าเกร็งหรือกดข่ม เมื่อใช้สติดูลมหายใจหรือบริกรรมเช่นพุทธโธ จิตอาจส่งออกนอกไปคิดนึกปรุงแต่ง คิดนั่น คิดนี่ หงุดหงิด เห็นนั่น เห็นนี่ (นิมิต หรืออาจเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทที่ผุดขึ้นมานั่นเอง) อันเป็นธรรมดาที่ต้องเกิด แต่นักปฏิบัติจะหงุดหงิดใจ, จงอย่าหงุดหงิด จงดีใจที่ได้เห็น แต่ต้องรู้ว่านั่นแหละจิตสังขาร เป็นความคิดความนึกที่อยู่ในจิตที่ได้สั่งสมอบรมไว้, แต่อย่าตาม ให้มีสติละเสีย(หยุดการคิดต่อเนื่องติดพันไป-ปรุงแต่ง) อันเป็นการได้ปฏิบัติจิตตานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ แล้ว คือเห็นจิตในจิตหรือเห็นคิดหรือเจตสิกนั่นเอง, หรือเมื่อปวดเมื่อยก็ให้รู้ว่านั่นแหละเวทนา(ทุกขเวทนา) ก็ให้มีสติรู้ว่าเป็นเพียงการรับรู้ความรู้สึกต่อกายเมื่อรู้แล้วก็ละเสีย(หยุดคิดปรุงแต่ง) อันเป็นเวทนานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔, หรือข้อธรรมใดบังเกิดต่อจิต ก็ให้พิจารณาธรรมนั้นๆเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันมีกําลังของสมาธิเป็นเครื่องช่วย อันเป็นธรรมานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔, หรือพิจารณากาย ว่าเป็นเพียงธาตุ ๔, สิ่งปฏิกูล....เพื่อให้เบื่อหน่ายคลายกําหนัดในกายแห่งตนและบุคคลอื่น อันเป็นการปฏิบัติกายานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ แม้แต่การมีสติในลมหายใจนั้นพระองค์ท่านจัดลมหายใจว่าเป็นกายสังขารอย่างหนึ่ง อันเกิดแต่การปรุงแต่งของกายขึ้นนั่นเอง จึงจัดเป็นกายานุปัสสนาอย่างหนึ่งเช่นกัน, อย่างนี้เป็นการปฏิบัติสมถวิปัสสนาหรือเจริญวิปัสสนา อย่างถูกต้องดีงาม กล่าวคือนําสมาธิหรือฌานไปเป็นกําลังหลักในการสนับสนุนการปฏิบัติวิปัสสนา


    ข้อสําคัญที่สุดในการปฏิบัติสมาธิคือ เมื่อจิตหยุดการซัดส่าย เป็นสมาธิตั้งมั่นได้แล้วอาจจะเกิดอาการหรืออารมณ์ขององค์ฌานต่างๆขึ้น เช่นปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ อุเบกขาอันล้วนเป็นสุขเวทนาและสังขารขันธ์อัน น่าอภิรมณ์ อันจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเป็นธรรมดาเพราะสภาวะธรรมหรือสภาวธรรมชาติ เป็นเช่นนั้นเอง เป็นที่พักผ่อนและให้กําลังแห่งจิตอันมีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง, แต่อย่าไปหลงยึดติดเพลินเข้าไปอย่างเด็ดขาด เกิดขึ้นเป็นธรรมดาเพราะอาการเหล่านี้เป็นอาการธรรมชาติของจิตที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นจิตสมาธิ ไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์แต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะถ้าหลงไปยึดหรือเสพเสวยอย่างติดเพลินซึ่งจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวด้วย ความไม่รู้(อวิชชา) จักทําให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสอันคือเกิดอาการติดปีติ หรือสุข หรืออุเบกขา อันล้วนเป็นอุปสรรคหรือนําผลร้ายมาสู่นักปฏิบัติ, ขอให้ทําความเข้าใจด้วยใจที่หนักแน่นว่า นั่นเป็นอาการธรรมชาติธรรมดาๆของจิต อย่าไปคิดนึกปรุงแต่งหรือเชื่อตามที่เขาเล่าลือหรือถ่ายทอดกันมาอย่างชนิดงมงาย จงพิจารณาให้เห็นด้วยตนเองเท่านั้น เพราะไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ (และยังก่อปัญหาต่างๆตามมาอย่างรุนแรงชนิดคาดไม่ถึง โดยเฉพาะนักปฏิบัติที่มุ่งหวังในสิ่งอื่นๆซ่อนเร้นอยู่ในจิตอันไม่ใช่การดับทุกข์อย่างแท้จริง), แต่ให้ปฏิบัติโดยการใช้สมาธินั้นเป็นบาทฐานหรือขั้นบันได อันเป็นสิ่งสําคัญยิ่งและจําเป็นยิ่งในการปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อให้จิตที่ซัดส่าย สอดแส่ และเป็นทุกข์ให้สงบลง อันก่อให้เกิดกําลังแห่งจิต เพื่อใช้เป็นฐานกําลังสําคัญในการพิจารณาธรรม(วิปัสสนา) เพื่อให้เกิดปัญญาญาณ(สัมมาญาณ)ความรู้ความเข้าใจอันเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาวิมุตติ(สุขจากการหลุดพ้น) อันเป็นมรรคองค์ที่ ๑๐ ของเหล่าอริยเจ้า (อ่านมรรคองค์๑๐ในอริยสัจ)


    และบางท่านอาจเข้าใจว่าถ้าปฏิบัติสมาธิดีแล้วหรือกล้าแกร่งแล้ว ปัญญาจักเกิดขึ้นเอง ลองพิจารณาเหล่าโยคีในอินเดียแม้ในปัจจุบันนี้ ท่านเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีสมาธิหรือพลังสมาธิอันกล้าแข็งเหนือบุคคลธรรมดาจนสามารถแสดงบางสิ่งที่เหนือปุถุชนทั่วไป แต่ท่านเหล่านี้ไม่ได้เป็นอริยเจ้าในทางพุทธศาสนาเลย กล่าวคือไม่พ้นทุกข์อย่างแท้จริง เป็นการปฏิบัติแบบสีลัพพตปรามาส-ยึดมั่นถือมั่นในศีลหรือวัตรปฏิบัติอย่างงมงายหรือไม่รู้ตามความเป็นจริงนั่นเอง อันเป็นการทรมานตนเองเพื่อให้หลุดพ้นหรือเพื่อสวรรค์อย่างผิดๆโดยอาศัยฤทธิ์ของสมาธิหรือฌานเท่านั้น อันยังเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ

    การปฎิบัติสมถะแต่อย่างเดียวโดยขาดการพิจารณาในธรรมอย่างจริงจัง(วิปัสสนา - วิ = วิเศษ,พิเศษ ; ปัสสนา=การเห็น) เป็นหนทางอันนําไปสู่การเกิดวิปัสสนูปกิเลสโดยไม่รู้ตัวอันเกิดขึ้นเป็นธรรมดากับนักปฏิบัติ(เป็นสภาวธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง)

    ที่มา patitja
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 กันยายน 2008
  2. wara43

    wara43 ทีมผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 เมษายน 2006
    โพสต์:
    9,108
    ค่าพลัง:
    +16,130
    [​IMG]ขอกราบโมทนาสาธุครับ สาธุ...
     

แชร์หน้านี้

Loading...