วิธีใช้และคำชี้แจงและราชคุณูปการานุสรณ์..ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล( ๙๑ เล่ม)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย trilakbooks, 24 กุมภาพันธ์ 2012.

  1. trilakbooks

    trilakbooks เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2011
    โพสต์:
    1,357
    ค่าพลัง:
    +414
    [​IMG]

    คำชี้แจง ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล( ๙๑ เล่ม)

    คัมภีร์อรรถกาถา เป็นคัมภีร์ที่รวมคำอธิบายเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
    ที่ท่านโบราณาจารย์ได้อธิบายขยายความไว้ โดยการยกเอาศัพท์บ้าง
    วลีบ้าง ประโยคบ้าง ในพระไตรปิฎก ที่เห็นว่าควรอธิบายเพิ่มเติม
    หรือที่เนื้อความยังไม่กระจ่างชัด มาตั้งเป็นหัวข้อ หรือบทตั้ง
    แล้วอธิบายขยายความเท่าที่เห็นว่าควรอธิบาย หรือเพิ่มเติมเรื่องราว
    ที่เกี่ยวข้องกับศัพท์วลี หรือประโยคนั้นให้ชัดเจนขึ้น เพื่อผู้ศึกษา
    พระไตรปิฎกในส่วนนั้นจะได้เข้าใจหรือได้รู้เรื่องราวประกอบละเอียดพิสดารขึ้น
    ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจธรรม เรื่องราว เหตุการณ์ อันเป็นที่มาหรือ
    เกี่ยวข้องกับ ธรรมะข้อนั้น ในพระไตรปิฎกได้กระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น



    ฉะนั้นคัมภีร์อรรถกถา หรือ เรียกกันสั้นๆว่า อรรถกถา จึงมีประโยชน์ต่อการอ่าน
    หรือการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นอย่างมาก เพราะช่วยไขความในส่วน
    ที่เป็นปัญหา และช่วยเพิ่มเติมเรื่องราวเนื้อหาเรื่องบางตอนที่อาจจะ
    ไม่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกให้สมบูรณ์ขึ้น



    แต่ในขณะเดียวกัน คัมภีร์อรรถกถา ก็มิได้มีเฉพาะคำอธิบาย ศัพท์ วลี
    หรือประโยคต่างๆ ในพระไตรปิฎกเท่านั้น แต่ท่านอรรถกถาจารย์
    ทั้งหลายยังได้แสดงทรรศนะทางธรรม และอื่นๆ ของท่านมากบ้าง
    น้อยบ้างในคัมภีร์นั้นๆ ด้วย




    ฉะนั้น คัมภีร์อรรถกาจึงเป็นแหล่งความรู้ทางพระพุทธศาสนา ที่สำคัญ
    รองลงมาจากพระไตรปิฎก และใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงกัน
    อย่างแพร่หลายในการศึกษาพระพุทธศาสนา




    ลักษณะการอธิบายพระไตรปิฎก ที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถานั้น
    ไม่ได้นำเอาทุกสูตรหรือทุกเรื่องในพระไตรปิฎกมาอธิบาย
    แต่นำเอาคำบางศัพท์ บางวลี หรือบางประโยคในสูตรหรือเรื่องนั้นๆ
    มาอธิบายเท่าที่พระอรรถกถาจารย์ท่านเห็นว่าควรอธิบายเพิ่มเติมเท่านั้น
    ฉะนั้น บางสูตร หรือบางเรื่องในพระไตรปิฎกจึงไม่มีคำอธิบายในคัมภีร์อรรถกถา
    หรือเรียกย่อๆว่า ไม่มีอรรถกถา เพราะพระอรรถกถาจารย์เห็นว่า
    เนื้อหาหรือถ้อยคำสำนวนในสูตรหรือเรื่องนั้น “ตื้น” คือง่ายหรือเข้าใจได้ง่าย




    คัมภีร์อรรถกถา อันเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกทั้งหมดมีดังนี้

    ๑.วินัยปิฎก ซึ่งมี ๘ เล่ม มีอรรถกถา ชื่อ สมันตปาสาทิกา

    ๒. สุตตันตปิฎก ซึ่งมี ๒๕ เล่ม มีอรรถกถาดังนี้

    - ทีฆนิกาย ( ๓ เล่ม) มีอรรถกถา ชื่อ สุมังคลวิลาสินี

    -มัชฌิมนิกาย (๓ เล่ม ) มีอรรถกถา ชื่อ ปปัญจสูทนี

    -สังยุตตนิกาย (๕ เล่ม ) มีอรรถกถา ชื่อ สารัตถปกาสินี

    -อังคุตตรนิกาย (๕ เล่ม) มีอรรถกถา ชื่อ สารัตถปกาสินี

    -ขุททกนิกาย (๙ เล่ม) มีอรรถกถา ดังนี้

    - ขุททกปาฐะ มีอรรถกถา ชื่อ ปรมัตถโชติกา

    -ธรรมบท มีอรรถกถาชื่อ ธัมมปทัฏฐกถา

    -อุทาน มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี

    -อิติวุตตกะ มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี

    -สุตตนิบาต มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถโชติกา

    -วิมานวัตถุ มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี

    -เปตวัตถุ มีอรรถกถา ชื่อ ปรมัตถทีปนี

    -เถรคาถา มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี

    -เถรีคาถา มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี

    -ชาดก มีอรรถกถาชื่อ ชาตกัฏฐกถา

    -มหานิทเทส มีอรรถกถาชื่อ สัทธัมมปัชโชติกา

    -จูฬนิทเทส มีอรรถกถา ชื่อ สัทธัมมปัชโชติกา

    -ปฏิสัมภิทามรรค มีอรรถกถาชื่อ สัทธัมมปกาสินี

    -อปทาน มีอรรถกถาชื่อ วิสุทธชนวิลาสินี

    -พุทธวงศ์ มีอรรถกถาชื่อ มธุรัตถวิลาสินี

    -จริยาปิฎก มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี



    ๓. อภิธรรมปิฎก ซึ่งมี ๑๒ เล่ม มีอรรถกถา ดังนี้

    - ธรรมสังคณี มีอรรถกถาชื่อ อัฏฐสาลินี

    -วิภังค์ มีอรรถกถาชื่อ สัมโมหวิโนทนี


    -อีก ๕ คัมภีร์ ที่เหลือ คือ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ
    ยมก ปัฏฐาน มีอรรถกถารวมกันชื่อ ปรมัตถทีปนี บางแห่งเรียก ปัญจปกรณัฏฐกถา



    พระไตรปิฎก ทั้ง ๔๕ เล่ม มีคัมภีร์อรรถกถารวม ๒๓ คัมภีร์ หรือ ๒๓ เล่ม
    โดยอรรถกถาหลายคัมภีร์ หรือหลายเล่มมีชื่อซ้ำกันบ้าง



    พระไตรปิฎก และอรรถกถาที่แปลจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ครั้งนี้
    มีข้อควรชี้แจงเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไว้แล้วในคำนำ
    เพื่อความเข้าใจในการใช้อีกบางประการดังนี้


    ๑. ในส่วนของอรรถกาที่ได้จัดพิมพ์ต่อท้ายแต่ละสูตร หรือ

    แต่ละวรรคนั้น คำหรือข้อความจากพระไตรปิฎกที่นำมา

    เป็นบทตั้ง จะพิมพ์ด้วยอักษรตัวหนา เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่า

    อรรถกถาตอนนั้นๆ กำลังอธิบาย พระบาลีคำใด

    หรือข้อความใดใน พระไตรปิฎก


    ๒. เมื่อต้องการทราบว่า เรื่องนั้นๆ หรือคำนั้นๆ มีอยู่

    ในเล่มนั้นๆ หรือไม่ วิธีค้นหา ขั้นตอนให้ตรวจดูสารบาญ

    ในเล่มนั้นๆ เพราะสารบาญจะบอกไว้สั้นๆว่า

    สูตรใด ว่าด้วยเรื่องอะไร หากหา คำหรือเรื่องที่ต้องการ

    ไม่พบในสารบาญ ให้ตรวจดูที่ดรรชนีท้ายเล่ม ซึ่งจะ

    มีบัญชีสำคัญๆ และบัญชีเรื่องสำคัญๆ เรียงไว้ตามลำดับอักษร


    ๓. ในกรณีที่ต้องการค้นหาเรื่องต่างๆ โดยทราบมาก่อน

    แล้วว่า อยู่ในพระไตรปิฎกบาลีเล่มใด ข้อใด ให้ค้นหา

    ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลเล่มที่มีชื่อตรงกัน

    แล้วตรวจดูตามเลขข้อซึ่งจะตรงกัน


    ๔.ชื่อคัมภีร์และเลขข้อในคัมภีร์ตามที่กล่าวนี้

    หมายถึงชื่อคัมภีร์และเลขข้อใน

    พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐเท่านั้น

    ทั้งนี้เพราะพระไตรปิฎกฉบับอื่น
    อาจมีการจัดเลขข้อต่างออกไป



    ๕.ตัวเลขในวงเล็บขาเดียว เช่น ๑] ที่กำกับไว้หน้าข้อความย่อหน้าใหม่

    ในส่วนที่เป็นอรรถกถา บอกให้รู้ว่า เป็นข้อความที่อธิบายเรื่องราวข้อ [๑] ใน

    พระไตรปิฎก แต่ที่ใส่วงเล็บขาเดียวไว้เพื่อเป็นที่

    หมายรู้ว่า ข้อความตรงนี้ เป็นอรรถกถา ที่กำลังอธิบายเรื่องราวในข้อ [๑]

    ของพระไตรปิฎก หากใส่วงเล็บ ๒ ขา เกรงว่า ผู้อ่านจะเข้าใจผิดว่า

    เป็นข้อความในพระไตรปิฎก



    เลขในวงเล็บขาเดียวนี้ อาจมีลำดับไม่ต่อเนื่องกัน เช่น ๑]

    แล้วอาจข้ามไป ๔], ๘] ที่เป็นดังนี้ แสดงว่า ข้อความในพระไตรปิฎก

    ในข้อที่ไม่ปรากฏนั้น อรรถกถา ไม่ได้นำมาอธิบายไว้



    ๖.การค้นคำบางคำซึ่งอาจใช้อักขรวิธีหลายอย่าง

    เช่น คำว่า กรรมฐาน กัมมัฏฐาน ทิฏฐิ ทิฐิ จิตตสิกา จิตสิกขา เมื่อ

    ค้นหาที่คำหนึ่งไม่พบ ควรค้นหาดูอีกคำหนึ่ง



    ๗. คำใกล้เคียงกัน เช่น กรรม กรรมดี กรรมชั่ว

    จิต จิตสกปรก จิตสะอาด บุญ บุญกรรม เมื่อค้นหาคำหนึ่งไม่พบ

    ควรค้นหาดูอีกคำที่ใกล้เคียงกัน


    ..............................

    ราชคุณูปการานุสรณ์ (ในการจัดพิมพ์ครั้งแรก)
    ใน พระไตรปิฎกและอรรถกถา แปล 91 เล่ม
    ตลอดกาลอันยาวนานในโฉมหน้าประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา จำเดิมแต่
    พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นในโลก พระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมมีส่วนผูกพันอยู่
    กับสถานบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา ยุคใดที่พระมหากษัตริย์ทรงยกย่องนับถือ
    พระพุทธศาสนา ทรงเป็นพุทธมามะกะและทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก
    ยุคสมัยนั้นจะเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา แต่ยุคใดที่พระมหากษัตริย์ไม่สนพระราชหฤทัย
    ในพระพุทธศาสนา หรือทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา
    ยุคสมัยนั้นพระพุทธศาสนาจะตกต่ำและเสื่อมไปโดยลำดับ
    จนถึงอันตรธานไปจากประเทศนั้น แม้แต่ที่ดินแดน ที่เป็นพุทธภูมิ


    สำหรับประเทศไทย จัดว่าเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาที่มีโชคดี
    ที่สุดในบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกันในโลกนี้
    เพราะตลอดกาลอันยาวนานของประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น
    สถาบันพระมหากษัตริย์กับพระพุทธศาสนา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดมา
    จนบางครั้งพระมหากษัตริย์ทรงดำรงพระองค์ประหนึ่งทรงเป็นเจ้าของ
    พระพุทธศาสนาทีเดียว ทรงให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาทุกๆด้าน
    ทั้งด้าน ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนพิธี ยามที่พระพุทธศาสนาประสบภัย
    อันตรายทั้งจากภายในและภายนอก สถาบันหลักที่ขจัดปัดเป่าภยันตรายแก่
    พระพุทธศาสนาก็คงเป็นสถาบันพระมหากษัตรย์นั่นเอง งานบริหารพระพุทธศาสนา
    พระมหากษัตริย์ก็ทรงถือเป็นพระราชภาระที่จะทรงรับผิดชอบ
    ด้วยทรงประกาศเป็นพระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติบ้าง
    เพื่อให้งานบริหารพระพุทธศาสนาดำเนินไปด้วยดี คราใดที่มีปัญหาเหลือบ่ากว่าแรง
    ที่คณะสงฆ์จะจัดการได้ พระมหากษัตริย์จะทรงขจัดปัดเป่า ปัญหาเหล่านั้นให้


    หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึก พระพุทธศาสนายิ่งได้รับความ
    สนพระราชหฤทัยจากพระมหากษัตริย์เป็นอย่างสูง
    แม้แต่การกู้ชาติ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
    พระองค์ก็ได้ทรงแสดงน้ำพระราชหฤทัย
    ที่จงรักภักดีต่อพระพุทธศาสนาให้ปรากฏไว้ตอนหนึ่งว่า

    “อันว่าตัวพ่อชื่อพระยาตาก คนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
    ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา แด่ศาสนาสมณะพระพุทธโคดม
    ให้ดำรงคงถ้วนห้าพันปี สมณพราหมณ์ชีปฏิบัติแต่พอสม
    สมถวิปัสสนาพ่อนิยม ถวายบังคมรอยพระบาทพระศาสดา”


    อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้แต่งานกู้ชาติก็ทรงกระทำเพื่อเป็นพุทธบูชา
    ทรงปรารถนาที่จะให้ประเทศไทย เป็นดินแดนของพระพุทธศาสนาตลอดไป

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัยของพระองค์ที่ทรงมีต่อพระพุทธศาสนา
    โดยทรงให้ความสำคัญแก่พระราชภาระที่ทรงมีต่อพระพุทธศาสนาเป็นประการสำคัญที่สุด
    ตามนัยแห่งพระราชปณิธานที่ว่า


    “ตั้งใจจะอุปถัมภพ ยอยกพระพุทธศาสนา
    ป้องกันด้วยขอบขัณฑเสมา รักษาประชาชนและมนตรี”

    ด้วยพระราชปณิธานข้อนี้ พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี
    ทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนา โดยทรงเป็นพุทธศาสนิก
    ที่เคร่งครัดในศาสนธรรม ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ที่ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อความ
    ดำรงอยู่อย่างมั่นคงของพระพุทธศาสนา จงถึงทรงผนึกสถาบันหลักของชาติ พระพุทธศาสนา
    พระมหากษัตริย์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยสัญลักษณ์ คือธงไตรรงค์
    จนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่นับถือพระพุทธศาสนา
    แล้วนำพุทธศักราชมาใช้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


    ในด้านศาสนธรรม คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตลอดถึงปกรณ์พิเศษต่างๆ
    ที่ได้ดำรงสืบต่อกันมาจากอดีตถึงปัจจุบันล้วนได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์
    โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ไทยจากอดีถึงปัจจุบัน สำหรับพระไตรปิฎก
    ซึ่งเป็ฯพระคุมภีร์หลักนั้น ได้มีการรวบรวม ชำระ แปล และจัดพิมพ์
    ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์มาตลอด งานสำคัญที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎกในเมืองไทย
    จากอดีตถึงปัจจุบัน แบ่งออกเป็น ๕ ยุคสำคัญๆ คือ


    ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ มีการชำระและจารพระไตรปิฎกลงในใบลาน
    กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช


    พ.ศ. ๒๓๓๑ ชำระและจารลงในใบลานที่กรุงเทพมหานคร กระทำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
    พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นผลงานที่ต่อเนื่องมาจากการรวบรวมพระไตรปิฎก
    ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่สูญหายไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก



    พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๓๖ มีการชำระและพิมพ์พระไตรปิฎกออกมาเป็นรูปเล่ม
    กระทำที่กรุงเทพมหานครภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ในครั้งนั้นพิมพ์ได้ถึง ๓๙ เล่ม


    พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓ อันเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้ทรงพระกรุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระไตรปิฎกพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ
    พระราชทานแก่ปะเทศต่างๆ ที่เป็นมิตร ๔๕๐ จบ อีก ๘๕๐ จบ
    พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ที่ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก
    ให้คัมภีร์พระไตรปิฎกแพร่หลายออกไปกว้างขวางมากยิ่งขึ้น


    เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี
    จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์
    งานเกี่ยวกับพระคัมภีร์พระพุทธศาสนาทุกระดับ ได้รับพระมหากรุณาสนับสนุน
    ส่งเสริมในด้านการชำระ การแปลออกสู่ภาษาไทย และการพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม
    โดย สถาบันที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ สมบูรณ์ที่สุดตั้งแต่พระพุทธศาสนา
    แผ่เข้ามาสู่ดินแดน อันเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วมา


    สำหรับมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้ทำหน้า
    ที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในด้านการพิมพ์คัมภีร์ และตำราทางพระพุทธศาสนา
    ได้พิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และพระคัมภีร์อื่นๆ มาโดยลำดับ


    เนื่องในวโรกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปีได้จัดแปล พระไตรปิฎก อรรถกถา
    เป็นภาษาไทย และพิมพ์รวมไว้ในเล่มเดียวกันเป็นจำนวนหนังสือ ๙๑ เล่ม


    ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งเป็นส่วนพระองค์
    และที่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต่อพระพุทธศาสนา มหามกุฏราชิทยาลัย
    ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยความร่วมมือของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
    ได้จัดสร้างพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล จำนวน ๕๐๐ ชุด โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย
    ในพระบรมราชูปถัมภ์สร้าง ๔๐๐ ชุด สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ๑๐๐ ชุด
    น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเพื่อพระราชทานแก่สถาบันการศึกษาอารามและ
    มิตรประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ตามพระราชอัธยาศัย ด้วยความจงรักภักดี
    กตัญญูกตเวที ในพระเดชพระคุณ และปีติโสมนัสเป็นล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเจริญพระชนมพรรษาด้วยสวัสดียิ่งมาครบ ๕ รอบพระนักษัตร
    ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นวโรกาสมหาอุดมมงคลโดย
    แท้แก่สถาบันสำคัญทั้ง ๓ คือสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
    และแก่จิตใจพสกนิกรทั่วหน้า


    มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
    หวังว่า พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ที่พร้อมกันสร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย
    ในครั้งนี้ จักเป็นถาวรกรรมที่อำนวยประโยชน์ด้านการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
    สามารถสร้างประโยชน์และเกื้อกูลความสุขแก่ชาวโลก ผู้สึกษาและปฏิบัติ
    ตามเป้าหมายในการเสด็จอุบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า
    และในการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ของพระพุทธองค์
    ทั้งจักเป็นการเพิ่มพูนประทานบารมี ทั้งส่วนพระอามิสทานและพระธรรมทาน
    ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐอีกส่วนหนึ่งด้วย


    มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาล
    ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคลขอพระราชทานอัญเชิญพุทธานุภาพ
    ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ อันเป็นอานุภาพสูงสุดจริย
    ได้รักษาพระผู้ทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ให้ทรงถึงซึ่งความเกษมสุข
    ทรงถึงซึ่งความเจริญในธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแล้ว
    เสด็จสถิตผ่องแผ้วยั่งยืนไปไกลในพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์
    ได้ทรงเป็นหลักชัยก่อให้เกิดความเกษมสวัสดี มีสุขแห่งสมเด็จพระนางเจ้า ฯ
    พระบรมราชินีนาถ และพระราชวงศ์ประเทศชาติร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่เรืองอุดดมสมบูรณ์
    พร้อมด้วยความมีธรรม มีสัมมาทิฏฐิของรัฐบาล
    ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทั้งหลายทั้งปวง

    มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล


    ...................................................

    [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...