วิธีแก้กรรม ทางสู่ความสิ้นกรรม

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย aum hermit, 15 มีนาคม 2010.

  1. aum hermit

    aum hermit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มกราคม 2008
    โพสต์:
    25
    ค่าพลัง:
    +124
    สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเป็นหลักการไว้ว่า การจะทำตนให้พ้นทุกข์หรือสิ้นกรรมสิ้นเวรนั้น จะต้องปฏิบัติตาม ๓ ประการ คือ
    ๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง
    ๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม
    ๓. การทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส

    ๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การงดเว้นไม่กระทำสิ่งที่มีผลเป็นทุกข์ เป็นการกระทำโดยงดเว้นเป็นอกิริยา เรียกกันทั่วไปว่า “รักษาศีล” ซึ่งมีหลายระดับตามฐานะของบุคคล มีผลทำให้เกิดความสุขตามระดับตามฐานะ ศีลมีลักษณะเป็นข้อห้ามไม่ให้กระทำสิ่งที่มีผลกรรมไม่ดีหรือกรรมชั่ว ซึ่งทำให้ผู้กระทำเป็นทุกข์เดือดร้อน พระพุทธองค์บัญญัติศีลให้ฆราวาสผู้ครองเรือนต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีลอุโบสถในวันพระ ศีล ๘ ประจำและศีลกรรมบถ ๑๐ ตามฐานะที่จะปฏิบัติได้ สำหรับนักบวช และสามเณรต้องรักษาศีล ๑๐ พระภิกษุต้องรักษาศีล ๒๒๗ ภิกษุณีต้องรักษาศีล ๓๑๑
    ผู้รักษาศีลได้จะสามารถควบคุมการกระทำทางกายและวาจาได้ ระดับหนึ่งตามระดับของศีล ซึ่งมีระดับหยาบ ระดับกลาง และระดับละเอียด กล่าวคือ ศีลจะเป็นตัวควบคุมการกระทำที่ไม่ดีทางกายและทางวาจา
    ส่วนการกระทำทางใจซึ่งเป็นอกิริยานั้นสามารถควบคุมได้ด้วยการทำภาวนา คือฝึกอบรมจิตให้มีสติสัมปชัญญะ รู้ทันวาระจิตของตนเองแม้เมื่อมีอารมณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น แต่ถ้ามีสติปัญญารู้เท่าเอาทันก็จะสามารถเห็นมโนภาพหรือเห็นกรรมทางใจ ซึ่งเกิดขึ้นตามอำนาจของกิเลส เราก็จะรู้จักกิเลส เห็นกิเลสที่เกิดในจิต เกิดปัญญารู้ทันอำนาจของกิเลส เห็นโทษของการกระทำทางใจหรือมโนกรรม ที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส เห็นประโยชน์ของการไม่กระทำตามที่กิเลสบงการ ซึ่งมีผลเป็นบาปเป็นทุกข์
    การรู้ทันจิตจะช่วยให้เราควบคุมมโนกรรมได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นที่ใจก่อน จิตที่ถูกมิจฉาทิฏฐิครองงำย่อมก่อให้เกิดมโนทุจริต ซึ่งเป็นอกิริยาก่อน แล้วจึงจะเป็นกายทุจริตกับวจีทุจริตอันเป็นกรรมที่เป็นกิริยาในภายหลัง การภาวนาจึงเป็นงานสำคัญ เป็นงานที่มีผลานิสงส์มาก เพราะหากทำสำเร็จแล้วจะทำให้เราบรรลุถึงการไม่ทำบาปทั้งปวง คือรู้เห็นอาการแห่งการไม่ทำบาปทั้งปวงได้อย่างชัดเจน ผู้เขียนขอเรียกว่า “รู้ทันกรรมฝ่ายบาป และสามารถควบคุมการกระทำฝ่ายบาปไม่ให้เกิดขึ้น”

    ๒. การทำกุศลถึงพร้อม กุศลคือบุญ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับบาป มีผลทำให้เกิดความสุข เป็นกรรมตรงกันข้ามกับอกุศล บุญกับบาปเกิดขึ้นที่จิตก่อน อันดับแรกบุญกับบาป จะแย่งกันครอบครองเป็นเจ้าของจิต ฝ่ายใดครอบครองได้ ฝ่ายนั้นก็จะมีอำนาจ กรรมหรือการกระทำก็จะเป็นไปตามอำนาจของฝ่ายนั้น กรรมหรือการกระทำก็จะเป็นไปตามอำนาจของฝ่ายนั้น ทั้งนี้แล้วแต่สติปัญญาของจิตนั้นว่าจะได้รับการศึกษาอบรมมากให้เห็นดีเห็นงามกับฝ่ายใด ผู้ไม่รู้จักฝืนมักจะถูกบาปซัดลงต่ำไปเรื่อยๆ ผู้ใดสะสมบุญบารมีได้มาก บุญก็จะพาไปที่สูง คือ สวรรค์ พรหมโลก และพระนิพพาน
    มนุษย์ทั้งหลายมีการทำทั้งบุญทั้งบาป ชีวิตจึงเป็นสิ่งลุ่มๆ ดอนๆ เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง ผู้ใดรู้จักทำกุศลให้ถึงพร้อมก็มีความสุขนานหน่อย ผู้ใดทำบาปไว้มากก็มีความทุกข์นานหน่อย
    การทำบุญกุศลนั้น พระพุทธองค์เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” เรียกโดยย่อว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๓” เรียกโดยละเอียดว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐”
    บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประกอบด้วย
    ๑. ทานมัย
    ๒. ศีลมัย
    ๓. ภาวนามัย
    บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประกอบด้วย
    ๑. ทานมัย คือการให้ทาน
    ๒. ศีลมัย คือ การรักษากาย วาจา ใจให้เป็นปกติ ไม่เป็นบาปเป็นกรรม
    ๓. ภาวนามัย คือ การฝึกอบรมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ มีมหาสติ มหาปัญญา รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดมโนกรรมที่ไม่ดี เป็นบาปเป็นทุกข์
    ๔. อปจายนมัย คือ การประพฤติอ่อนน้อม
    ๕. ไวยยาวัจจมัย คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้บำเพ็ญบุญ
    ๖. ปัตติทานมัย คือ การอุทิศส่วนบุญที่ทำแล้วไปให้
    ๗. ปัตตานุโมทนา คือ ยินดีด้วยในการทำบุญทำกุสลของคนอื่น
    ๘. ธัมมสวนมัย คือ การฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
    ๙. ธัมมเทสนามัย คือ การนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปผยแพร่ให้ผู้อื่นได้ยินได้ฟังได้เกิดปัญญา
    ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ตรงต่อทางนิพพาน
    ผู้ใดทำได้ครบทุกอย่าง เรียกว่า “ทำกุศลให้ถึงพร้อม” การทำบุญทำกุศลทำให้ได้ไปสวรรค์ พรหมโลก และนิพพาน ตามลำดับ

    ๓. การทำจิตให้ผ่องใส เป็นผลมาจาก “ภาวนามัย” คือ การฝึกอบรมจิตให้มีสติสัมปชัญญะ มีความระลึกได้และรู้ตัวอยู่เสมอ เห็นกิเลสต่างๆ ที่อยู่ในจิต รู้ผลของจิตที่กระทำตามกิเลสว่ามันจะเป็นทุกข์อย่างไรบ้าง ถ้าไม่อยากทุกข์เช่นนั้นจะต้องตัดกิเลส ละกิเลสข้อนั้นตัวนั้นอย่างไร ธรรมที่เป็นเครื่องแก้กิเลสตัวนั้นข้อนั้นมันคืออะไร เปรียบเหมือนโรคกับยา แก้โรค เมื่อโรคอันได้แก่ความทุกข์เกิดขึ้น ถ้าเราศึกษาจนรู้จักยาที่แก้โรคชนิดนั้นแล้วรีบนำยาแก้มากำจัด โรคนั้นก็หายทันที ไม่เป็นทุกข์ทรมาน เราต้องพิจารณาอย่างนี้ให้เห็นกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลาย จนกระทั่งสุดท้ายก็จะเห็นกิเลสที่เป็นหัวหน้าใหญ่อันได้แก่ “อวิชชา” ซึ่งเป็นแม่ของกิเลสทั้งหลาย หรือเป็นโรงงานผลิตกิเลส เมื่อเห็นแล้ว เราก็ใช้มหาสติมหาปัญญาที่สะสมเอาไว้ มาทลายโรงงานผลิตกิเลสนั้นเสีย กิเลสทั้งหลายก็จะดับสิ้นหมด จิตใจของเราก็จะบริสุทธิ์ผ่องใสไร้กิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์ ความรู้ความเห็นก็จะตรงต่อนิพพาน รู้แจ้งเรื่องพระนิพพาน สุดท้ายก็เข้าสู่นิพพานได้ เรียกว่า “จิตเกษม” ผ่องใสไร้ทุกข์ จิตจะเป็นกลางๆ หรือเฉยๆ แต่รู้เท่าทัน ไม่หลงรักหลงชังต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนเกินสมควรแก่ธรรมตลอดกาล


    ...................................................
    วิธีแก้กรรมทำได้ ๕ อย่าง ดังนี้
    ๑. หยุดการกระทำนั้นเสีย
    ๒. ทำกรรมดีตรงกันข้ามหรือทำความดีหนีความชั่ว
    ๓. ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
    ๔. ขอขมาลาโทษหรือขออโหสิกรรม
    ๕. ทำจิตให้หลุดพ้นก้าวข้ามไปเสีย
    ...................................................
    ๑. หยุดการกระทำนั้นเสีย คือ เราต้องพิจารณาให้รู้ว่าอะไรเป็นกรรมดี อะไรเป็นกรรมชั่ว โดยอาศัยหลัก “โอปนยิโก” อันหมายถึงการน้อมเข้ามาหาตน ความดีหรือกรรมดีนั้นโดยหลักแล้วก็คือ การไม่ทำให้ตนเอง หรือผู้อื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน หากเราปฏิบัติตามหลักโอปนยิโก แล้วผู้ถูกกระทำนั้นเป็นทุกข์เดือดร้อน การกระทำนั้นย่อมถือเป็นกรรมชั่ว เราต้องหยุดการกระทำนั้นเสีย ตัวอย่างเช่น คนที่เกิดมาในชาตินี้เจ็บป่วยบ่อยๆ อย่างที่เรียกว่ามีโรคประจำตัว รักษาไม่หาย จะตายก็ไม่ตาย ทำให้ไม่มีความสุข เงินทองหามาได้ก็กลายเป็นค่ายาหมด กรณีเช่นนี้ตามหลักของกรรมก็พออนุมานได้ว่า ชาติปางก่อน คนผู้นั้นจะต้องทำกรรมเบียดเบียนชีวิตสัตว์ไว้มาก เช่น อาจเลี้ยงสัตว์แล้วขายให้เขาฆ่า หรือฆ่าสัตว์ขายอะไรทำนองนี้ วิธีแก้กรรมก็คือให้ตั้งจิตอธิษฐานหยุดการฆ่าสัตว์ คือรักษาศีลห้าข้อ ๑ ตลอดชีวิต อานิสงส์การรักษาศีลข้อที่ ๑ ในชาติปัจจุบันจะเป็นกรรมตัดรอนกรรมที่เกิดจากการฆ่าหรือทรมานสัตว์ในอดีตชาติ ผลกรรมในอดีตนั้นย่อมให้ผลเรื่อยๆ แต่เมื่อไม่กระทำกรรมชนิดนั้นเพิ่ม วันใดวันหนึ่งกรรมนั้นก็จะหมดไปเอง เราก็จะพ้นจากกรรมฆ่าสัตว์นั้น นั่นหมายความว่าโรคประจำตัวนั้นอาจจะมีทางรักษาให้หายด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การค้นพบวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ๆ เป็นต้น

    ๒. ทำกรรมดีตรงกันข้ามหรือทำความดีหนีความชั่ว โดยปกติความดีกับความชั่วจะเป็นสิ่งที่มีมาเป็นคู่กันและมีผลตรงกันข้าม กล่าวคือ ความดีจะทำให้มีความสุขความเจริญ ความชั่วจะทำให้เกิดความเสื่อมความฉิบหายและเป็นทุกข์ เมื่อเรารู้ตัวว่าได้หลงทำความชั่วเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้มาก ก็ให้ระลึกถึงความดีซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับความชั่วนั้น ตัวอย่าง เช่น เคยฆ่าสัตว์หรือทรมานสัตว์มามากก็ให้หยุดเสีย แล้วทำการช่วยชีวิตสัตว์เหล่านั้นให้หลุดพ้นจากการถูกฆ่าถูกทรมาน มันกำลังจะถูกฆ่าก็ทำการปลดปล่อยหรือช่วยเหลือไม่ให้ถูก ฆ่าถูกทรมาน ถ้าเราทำเช่นนี้มากๆ หรือทำบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นกรรมดีที่ช่วยให้เราพ้นจากกรรมชั่วที่ทำไว้ก่อนแล้ว เช่น อาจจะช่วยเลื่อนการให้ผลของกรรมชั่วออกไป ซึ่งถ้าแรงหนีมีมากพอ กรรมที่ไม่ดีนั้นก็อาจกลายเป็น “อโหสิกรรม” คือเลิกให้ผลเลยก็เป็นได้

    ๓. ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ โดยเฉพาะการทำบุญอย่างสูงที่เรียกกันทั่วไปว่า “การรักษาศีลภาวนา” หรือ “การปฏิบัติธรรม” ซึ่งหมายถึงการทำตนให้เป็นผู้ที่มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญาในขณะเดียวกัน อันเป็นบุญกิริยาวัตถุที่บุคคลทำได้ยาก การอุทิศส่วนกุศลหลังจากการภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิแล้ว ย่อมมีพลังมหาศาล จิตวิญญาณของเจ้ากรรมนายเวรทุกตนย่อมพอใจในพลังบุญกุศล ส่วนนี้อย่างที่เรียกว่าไม่มีใครปฏิเสธ นักปฏิบัติธรรมผู้ที่มีพลังบุญมาก หากอุทิศส่วนบุญนี้ให้จิตวิญญาณตนใด จิตวิญญาณตนนั้นจะอนุโมทนา สามารถช่วยให้ผู้อุทิศพ้นทุกข์ได้ฉะนั้น ผู้ต้องการแก้กรรมที่ไม่ดีให้กับตนเอง ควรจะได้บำเพ็ญตนให้เป็นนักปฏิบัติธรรมรักษาศีลภาวนาเป็นระยะๆ หรือถ้าทำเป็นประจำได้ก็ยิ่งดี กรรมเวรที่มีอยู่จะได้หมดเร็วขึ้น

    ๔. ขอขมาลาโทษหรือขออโหสิกรรม คือ การยอมรับซึ่งความผิดหรือสารภาพว่าได้กระทำการล่วงเกินอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการไม่สมควร จึงได้มาขอขมาลาโทษหรือขออโหสิกรรม ภาษาทั่วไปก็คือขอโทษ ขออภัย จะลงโทษลงทัณฑ์หรือปรับไหมอย่างไรก็ยอม ถ้าเจ้ากรรมนายเวรตนนั้นมีจิตเมตตายกโทษให้ เราก็จะหลุดพ้นจากกรรมเวรนั้น การขอขมาลาโทษอาจทำได้สองวิธี คือ ๑. ขอขมาด้วยตนเอง และ ๒. ให้ผู้มีบารมีสูงหรือผู้มีบุญมากที่ปฏิบัติธรรมมานานจนบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้แล้วชั้นใดชั้นหนึ่งขอให้ ความเห็นแก่หน้าไม่กล้าขัดท่านผู้มีบารมีนี้จะเป็นพลังให้พ้นกรรมพ้นเวรได้
    การขอขมาด้วยตนเองนั้น เมื่อเรารู้ตัวว่าได้กระทำกรรมไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใดต่อผู้หนึ่งผู้ใด เช่นดูถูก หมิ่นประมาท ข่มเหงรังแก เอารัดเอาเปรียบ ประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สินของเขา หรือสบประมาทพระอริยเจ้า บิดามารดา ครูบาอาจารย์ กรรมนั้นกำลังให้ผลหรือรอการให้ผลอยู่ ก็ให้ไปขอขมาโทษเสีย ทางพระเรียกว่า “พิธีคารวะ” ชาวบ้าน เรียกว่า “พิธีขอขมาโทษ” ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ให้นำขันดอกไม้ รูปเทียน เงินตรา สิ่งของตามสมควรแก่ฐานานุรูป ไปทำพิธีต่อหน้าท่านโดยตรง บอกท่านว่าเราได้ทำกรรมไม่ดีอะไรแก่ท่าน พร้อมกับอ่อนน้อมยอมขอโทษ ขออภัยให้ท่านอโหสิกรรมให้ด้วยในวันนี้ ถ้าท่านอโหสิให้แก่ทุกอย่างที่เราประมาทพลาดพลั้ง เราก็จะหลุดพ้น ไม่ต้องรับผลจากกรรมไม่ดีที่กระทำแล้วนั้น แต่ถ้าท่านเสียชีวิตแล้วก็ให้ไปทำพิธีขอขมาที่สุสานป่าช้าหรือที่ซึ่งมีอัฐิของท่านอยู่ หรือหากหาอัฐิไม่พบก็อาจหาสัญลักษณ์อื่นแทนได้ เช่น รูปภาพ รูปปั้น แต่ถ้าไม่มีอะไรจริงๆ ก็ให้ทำพิธีต่อหน้าพระปฏิมากรหรือต่อหน้าพระสงฆ์
    ในกรณีที่ขอขมาด้วยตนเองแล้วเจ้ากรรมนายเวรไม่ยอมรับ คือไม่ยอมอโหสิกรรมให้เนื่องจากโกรธแค้นมาก การทำพิธีขอขมาครั้งนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่เขา ค่าปรับไหมที่เขาต้องการอาจจะยังไม่เพียงพอ ผู้ขอขมาต้องไปทำบุญกับผู้มีบารมีสูง ขอร้องให้ผู้มีบุญบารมีสูงที่เจ้ากรรมนายเวรตนนั้นเคารพนับถือช่วยเจรจาต่อรองให้ ความเห็นแก่หน้าอาจทำให้เจ้ากรรมนายเวรตนนั้นยอมอโหสิกรรมให้ แล้วเราก็จะหลุดพ้นจากกรรมเวรนั้นได้ ผู้มีบุญบารมีสูงนั้นโดยปกติหมายถึง “เขตตสมบัติ” คือสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีลทรงธรรม คือ ผู้มีศีลบริสุทธิ์ครบถ้วนตามฐานะ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน พระภิกษุสามเณรผู้มีศีลบริสุทธิ์ หรือผู้ปฏิบัติธรรมอื่นๆ เช่น พระโพธิสัตว์ ฤาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตตสมบัติที่เป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ ถือว่าเป็นเขตตสมบัติที่มีบุญบารมีสุงสุด รองลงไปก็ตามลำดับที่กล่าวแล้ว ผู้มีบุญบารมีเหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับของจิตวิญญาณทุกดวงในสามแดนโลกธาตุ พูดอะไรทำอะไรก็ไม่มีใครกล้าขัด สามารถช่วยให้เราหลุดพ้นจากเวรกรรมชนิดนั้นได้ เมื่อเราได้ทำบุญกับผู้มีบุญบารมีสูงดังกล่าวแล้ว

    ๕. ทำจิตให้หลุดพ้นก้าวข้ามไปเสีย หมายถึง การเจริญไตรสิกขาให้เกิดผลในทางปฏิบัติ คือบำเพ็ญตนให้เป็นคนมีศีลพรหมจรรย์ (ศีลออกจากกาม) แล้วฝึกอบรมจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีสติรู้ทันจิตตลอดเวลา กิเลสตัวใดเกิดขึ้นที่จิตหรือครองจิตอยู่ สติปัญญาจะตามรู้ตามเห็นกิเลสมันกระชากลากถูชีวิตให้เป็นทุกข์อย่างไรบ้าง สาเหตุที่มันเป็นเช่นนี้ เพราะอะไร สมุทัยอันเป็นเหตุแห่งทุกข์จะมีปัญญารู้ได้ เห็นได้ เข้าใจได้ ปฏิบัติอย่างไรจึงจะดับสมุทัยได้เด็ดขาด จิตผู้ประกอบด้วยมหาสติปัญญา จะรู้แจ้งในนิโรธ ๕ ประการ และรู้จักมรรควิธี ๘ ประการ ท้ายที่สุดเมื่อตัดสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ออกจากจิตสันดาน จิตก็จะหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสน้อยใหญ่ หยาบกลางละเอียดเป็นลำดับขั้นไป ด้วยอำนาจของกิเลสก็จะลดน้อยถอยลงตามลำดับ ความเป็นพระอริยบุคคลก็จะปรากฏขึ้นแทนสุดท้ายก็จะเข้าถึงระดับของจิตที่หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสทั้งปวงอันเรียกว่า “ทำจิตใจให้หลุดพ้นก้าวข้ามไปเสียได้” เราก็จะหลุดพ้นจากกรรมเวรทุกประการ เพราะมีนิพพานเป็น “วิหารธรรม” หรือเป็นเครื่องดำรงอยู่ของจิต สมกับคำกล่าวที่ว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (นิพพานํ ปรมํ สุขํ)
    การทำจิตให้หลุดพ้นก้าวข้ามไปนั้นถือเป็นงานยิ่งใหญ่ที่ครอบคลุมพุทธศาสนาทั้งระบบ การปฏิบัติให้สำเร็จได้นั้นมีขั้นตอนมากมาย คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่และยากจึงไม่ค่อยสนใจหรือใส่ใจปฏิบัติอย่างจริงจัง บางครั้งความหลงผิดอันเรียกว่า “มิจฉาทิฐิ” ก็พาให้หลงทางทั้งๆ ที่มุ่งหน้าเข้ามาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติให้เป็น “สุปฏิปันโน” คือ ปฏิบัติดี มีกิจวัตรไม่เศร้าหมอง “อุชุปฏิปันโน” คือ ปฏิบัติตรงตามวินัย “ญายปฏิปันโน” คือ ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ และ “สามีจิปฏิปันโน” คือ ปฏิบัติชอบ สมควรแก่ธรรมข้อนั้นๆ แล้ว
    เมื่อความเห็นผิดครอบงำมากๆ เข้า ก็ปฏิบัติหย่อนหยาน กลายเป็นปฏิบัติพอเป็นพิธีตามขนบธรรมเนียมประเพณีเท่านั้น หรือไม่ก็เลิกปฏิบัติ ไปเลยก็มี จึงเป็นเหตุให้พุทธศาสนาสั่นคลอน เพราะปราศจากตัวอย่างที่ดี กุลบุตรลูกหลานที่เกิดมาภายหลังก็เลยเคว้งคว้าง ไม่ทราบว่าจะยึดถือใครเป็นแบบอย่าง ศรัทธาปสาทะหรือความเชื่อความเลื่อมใสของเขาก็จะคลอนแคลน หนักเข้าก็ไม่สนใจจะถือศีลปฏิบัติธรรมหรือกระทำความดี อันจะส่งผลให้กิเลสเรืองอำนาจเหนือคุณธรรม ความประพฤติของคนในสังคมก็จะมีแต่ความเห็นแก่ตัว การคดโกง ข่มเหงรังแก เอารัดเอาเปรียบกันก็จะมีมากขึ้น ความเดือนร้อนวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ไม่ต้องการ
    ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่มีความวิตกกังวลและห่วงใยในความสงบสุขของบุคคลในสังคมและประเทศชาติ ปรารถนาอยากให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ดำรงตนให้สมควรตามฐานะ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อย่าอวดดีอวดเก่งจนเกินไป เพราะในโลกหรือโลกียวิสัยนี้ไม่มีใครดีเกินใครหรอก จะดีจะเด่นบ้างก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ ชั่งครั้งชั่วคราวเท่านั้น เมื่อความชรามาถึง เก่งอย่างไรก็ทนอยู่ไม่ได้ ยิ่งเมื่อความตายมาถึง เก่งอย่างไร รวยขนาดไหน สุดท้ายก็กลายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืนเหมือนกัน
    พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประเสริฐเลิศล้ำของโลก พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาผู้เป็นนายกโลก
    นั้นกว่าจะเกิดขึ้นได้แต่ละพระองค์ต้องบำเพ็ญ บารมีต่อเนื่องยาวนานอย่างต่ำ ๔ อสงไขยขึ้นไป ฉะนั้น จงเคารพนับถือ พระพุทธเจ้า เคารพนับถือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เคารพนับถือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ เถิด แล้วจะพ้นทุกข์ พ้นกรรม พ้นเวร ได้สมความปราถนา

    คัดลอกธรรมะบางส่วนจากหนังสือ "รู้ก่อนตาย สบายถึงชาติหน้า :รู้ทันกรรม นำสุขพ้นทุกข์"
    อาจารย์แปลง สุวรรณกาญจน์
    ผู้เขียนหนังสือขายดี "อยู่บ้านนิพพานได้"
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...