วิธีปฎิบัติธรรมที่จะช่วยให้จิตใจเข้มแข็ง และช่วยคลายทุกข์ต่าง ๆ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 28 กุมภาพันธ์ 2009.

แท็ก: แก้ไข
  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    [​IMG]

    ในเบื้องต้นให้ฝึกจิตให้อยู่กับกับสมาธิหรือบทสวดมนต์ วันหนึ่งๆลองฝึกนั่งสวดมนต์ดู สวดบทไหนก็ได้ ไม่ต้องสวดบทยาวมากก็ได้ ให้สวดซ้ำๆบ่อยๆไปเรื่อยๆ เวลามีเวลาว่างไม่จำเป็นต้องใช้ใจคิดในเรื่องราวต่างๆ แทนที่จะปล่อยให้คิดไปเรื่อยเปื่อย ลองนำมาให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา ด้วยการให้อยู่กับบทสวดมนต์ หรือจะให้อยู่กับคำบริกรรมคำใดคำหนึ่งก็ได้ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น ถ้าไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องอะไร อย่าไปคิด ให้สงวนความคิดไว้ ประหยัดความคิด คิดในสิ่งที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปคิด ปล่อยให้เรื่องราวต่างๆในโลกนี้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขาเถิด ไปคิดมากก็ทำให้ฟุ้งซ่าน กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะคิดไม่เป็น คิดไม่ถูกนั่นเอง ถ้าควบคุมใจได้แล้ว ต่อไปก็จะสามารถควบคุมบังคับให้คิดในเรื่องต่างๆที่ต้องการให้คิดได้ เรื่องที่ไม่ต้องการให้คิดก็สามารถระงับดับได้ ใจเราสามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้ ถ้ารู้จักหยุดใจ แต่ถ้าไม่รู้จัก ก็จะไม่สามารถควบคุมใจได้ เช่นเวลามีความโกรธ เราก็รู้ว่าไม่ดี เพราะเวลาโกรธ ใครจะทุกข์ถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง แต่ก็หยุดใจไม่ให้โกรธไม่ได้ เวลาเกิดความโลภ ก็รู้ว่าสิ่งที่ต้องการนั้น ไม่มีความจำเป็นเลย แต่ก็หักห้ามใจไม่ได้ เพราะไม่รู้จักวิธีหยุดใจ ไม่รู้จักควบคุมใจนั่นเอง


    [​IMG]

    พระพุทธศาสนาจึงสอนให้ควบคุมใจเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นก็ให้ควบคุมการกระทำทางกายทางวาจาก่อน เพราะการกระทำทางกาย และการกระทำทางวาจา ก็ออกมาจากใจ ใจเป็นผู้สั่ง เวลาจะลุกขึ้นใจก็ต้องสั่งให้ลุกขึ้น ถึงจะลุกขึ้นได้ เวลาจะพูดอะไร ใจก็ต้องคิดเสียก่อน ถึงจะพูดออกมาได้ ต้องตั้งกรอบไว้ ตั้งรั้วไว้ ไม่ให้การกระทำทางกาย ทางวาจา เกิดโทษขึ้นมา ในเบื้องต้นจึงต้องตั้งกรอบไว้ว่า ใจอยากจะทำอะไรก็ได้ อยากจะมีอะไรก็ได้ แต่ขอให้ทำ ขอให้หามา ในกรอบของความถูกต้อง

    [​IMG]

    เมื่อควบคุมการกระทำทางกายทางวาจาได้แล้ว ในลำดับต่อไปก็ให้มาควบคุมความคิดของเรา เคยคิดหรือไม่ว่ามีเรื่องบางเรื่องเราไม่อยากจะคิดเลย เพราะคิดไปทีไรก็มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็อดคิดไม่ได้ ไม่รู้จักวิธีหยุดความคิดของใจเรานั่นเอง แต่ถ้าได้ฝึกทำสมาธิ กำหนดใจให้อยู่กับบทสวดมนต์ก็ดี บทบริกรรมก็ดี ถ้าทำได้แล้ว ต่อไปสมมุติว่า ใจไปคิดถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง แล้วทำให้เกิดความว้าวุ่น ขุ่นมัว ขึ้นมา ก็หยุดได้ด้วยการหันมาระลึกถึงบทสวดมนต์ หรือบทบริกรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว เดี๋ยวก็ลืมแล้วเรื่องต่างๆ เรื่องที่คิดส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วทั้งนั้น ไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ถ้าได้เคยฝึกทำสมาธิอยู่ตลอดเวลาแล้ว ต่อไปเวลามีเรื่องอะไรมาสร้างความไม่สบายอกไม่สบายใจ ก็สามารถลืมได้ด้วยการทำสมาธิสวดมนต์ หรือบริกรรม นั่นเอง

    [​IMG]

    ใจก็เป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่เรามักชอบเอาไฟเข้ามาเผาตัวเรา เพราะเวลาไปเห็นอะไรที่ไม่ชอบ ได้ยินอะไรที่ไม่ชอบ แทนที่จะลืมมัน ทั้งๆที่มันก็ผ่านไปแล้ว กลับลืมมันไม่ได้ เพราะใจมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เวลาไปติดกับอะไรแล้ว ก็ติดหนึบเลย ถอนออกมาดึงออกมาไม่ออก เพราะความเหนียวแน่นของอุปาทานนี่เอง นี่เป็นปัญหาของชีวิตของพวกเรา แต่โชคดีที่ได้มาเจอพระพุทธศาสนา ที่สอนวิธีการถอดถอนอุปาทานทั้งหลายด้วยการฝึกจิต สอนให้รู้จักควบคุมบังคับจิตใจ เวลาจิตไปติด ไปผูกพันกับเรื่องอะไรที่สร้างความว้าวุ่นขุ่นมัว สร้างความทุกข์ขึ้นมา ก็ให้เบนความสนใจออกจากเรื่องนั้นเสีย ให้กลับมาอยู่กับงานที่เคยสอนให้จิตทำ ถ้าชำนาญกับการไหว้พระสวดมนต์ ก็สวดไป จนจิตสงบ เมื่อสงบแล้ว ก็จะสบาย จึงควรให้ความสำคัญกับใจยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

    [​IMG]

    เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนเรื่องอะไร ก็สอนแต่เรื่องของเราทั้งสิ้น เรื่องความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดีนั้น อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่ใจเป็นหลัก ใจเป็นตัวสำคัญที่สุด เป็นทั้งต้นเหตุและเป็นผู้รับผล ต้นเหตุก็คือความคิดต่างๆ ที่มีทั้งกุศลและอกุศล คือคิดดีก็มี คิดร้ายก็มี เมื่อคิดไปแล้วผลก็จะเกิดขึ้นในใจทันที คือความสุขและความทุกข์ เวลาคิดดี ใจก็มีความสุข เวลาคิดร้าย ใจก็มีความทุกข์ จึงควรให้ความสนใจกับใจมากกว่าสิ่งอื่นใด เวลาเห็นอะไรควรย้อนกลับมาดูที่ใจ ว่ามีปฏิกิริยากับสิ่งที่เห็นอย่างไร พอใจหรือไม่พอใจ ความพอใจและความไม่พอใจเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตเกิดกุศลและอกุศลขึ้นมา สิ่งที่พอใจก็จะคิดดีกับสิ่งนั้นๆ ใจก็มีความสุข

    สิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งภายนอกก็คือสิ่งที่อยู่ภายใน คือความรู้สึกภายในใจ ว่าขณะนี้กำลังเป็นฟืนเป็นไฟ หรือยังเย็นยังสงบอยู่ เวลามีคนมาสร้างความไม่พอใจให้กับเรา ถ้ามีสติ แทนที่จะโกรธเขา กลับทำใจให้สงบ เพราะรู้ว่าความไม่พอใจที่ทำให้เกิดความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นพิษเป็นภัยกับใจ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เขาจะทำอะไรอย่างไร เราไปควบคุมบังคับ ไปห้ามเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่เราห้ามได้คือใจของเรา ถ้าใจไม่ไปสนใจ ไม่ไปแยแส เขาจะทำอย่างไรก็ไม่มีปัญหาอะไร ใจของเราก็จะสงบนิ่ง ที่เกิดปัญหาเพราะเราไปมีความหวัง มีความต้องการจากเขานั่นเอง เช่นต้องการให้เขาทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ แล้วเขาไม่ตอบสนองทำตามที่เราต้องการ เราก็เกิดความผิดหวัง เมื่อเกิดความผิดหวังก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความเสียใจขึ้นมา อย่างนี้เป็นความคิดที่ไม่ดี เป็นความคิดที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ทางที่ดีอย่าไปหวังอะไรจากผู้อื่น พยายามทำในสิ่งที่เราทำได้ หวังในสิ่งที่เราทำได้ ยึดตนเป็นที่พึ่งของตนเป็นหลัก

    [​IMG]

    ความอยากนี้ มีทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น ควรใช้ปัญญาแยกแยะ สิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ต่อการบำรุงสุขดับทุกข์ในใจของเรา ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น ก็ควรหามา สิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพหรือต่อการดับทุกข์ในใจของเรา ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่เป็นปัญหาอะไร นี่คือการใช้ปัญญาในการดำรงชีวิต

    ในขณะที่เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา ให้ใช้ปัญญาแยกแยะ ดูว่าจำเป็นต้องมีหรือไม่ จำเป็นต้องทำหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นต้องมี ไม่จำเป็นต้องทำ ก็อย่าไปมี อย่าไปทำจะดีกว่า เพราะการแสวงหาสิ่งต่างๆนั้น เป็นความลำบาก ต้องต่อสู้ หาเงินหาทอง ทำงานทำการ เหนื่อยยากลำบากลำบน สิ่งที่ได้มาก็ไม่มีคุณค่าอะไรกับจิตใจ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง ความสุขต่างๆที่แสวงหาจากวัตถุต่างๆ จากการกระทำต่างๆ ล้วนเป็นของปลอมทั้งสิ้น เพราะหามาได้มากน้อยเพียงไร ก็ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอสักที ต้องหามาใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงนั่นเอง ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ก็ต้องเข้าหาพระศาสนา เพราะมีบุคคลที่ได้พบความสุขที่แท้จริง แล้วนำมาเผยแผ่ให้พวกเราทราบ บุคคลนั้นก็คือพระพุทธเจ้าของเรานี่เอง ท่านเป็นบุคคลแรกในโลกนี้ ที่ได้ค้นพบความสุขที่แท้จริง ว่าอยู่ในใจของเรา อยู่ในใจที่สงบ อยู่ในใจที่ชนะความอยากต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามให้อยากในเรื่องปัจจัย ๔ เช่นต้องการเสื้อผ้าใส่ เพราะเสื้อผ้าเก่าที่มีอยู่นั้นมันขาด หรือตัวเล็กไป ใส่ไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องมีใหม่ ก็ต้องหามา อาหารก็ต้องหามารับประทาน บ้านก็ต้องมีอยู่ ยาก็ต้องมีไว้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จึงต้องมีสิ่งเหล่านี้

    เพราะความอยากความต้องการนั้น ไม่ได้ดับด้วยการแสวงหา แต่ดับด้วยการต่อสู้ความอยากต่างๆ ดับด้วยการฝึกฝนอบรมจิตใจตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงฝึกฝนอบรมมา ต้องลดละความต้องการ ความอยากในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อยู่แบบสมถะ เรียบง่าย เอาเท่าที่จำเป็นก็พอ ฝึกฝนทำจิตใจให้สงบด้วยการควบคุมดูแลจิตใจด้วยสติ อย่าปล่อยให้จิตคิดไปตามอำนาจความหลงความต้องการต่างๆ คอยควบคุมจิตให้อยู่ในคำสั่งของเรา เท่านี้คุณก็จะมีจิตใจที่เข้มแข็ง ความทุกข์ต่าง ๆ ก็จะไม่มารบกวนคุณ สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้อย่างรวดเร็วและปฏิบัติกิจต่างๆได้เป็นอย่างดี

    อตฺตานญฺ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ
    สุทนฺโต วต ทเมถ อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม

    สอนคนอื่นอย่างใด ควรทำตนอย่างนั้น
    ฝึกตนเองแล้วค่อยฝึกคนอื่น เพราะตัวเราเองฝึกยากยิ่งนัก

    การจะมีจิคใจที่เข้มแข็ง ล่วงทุกข์ได้ ก็ต้องใช้ความเพียรพยายาม

    [​IMG]

    ครั้งพุทธกาล...

    ขณะพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม..
    ปรากฎว่า มีพระสาวก 4 รูป แสดงอาการ
    แหงนมองดวงดาวบนท้องฟ้า รูปหนึ่ง...
    นั่งไชพื้นดินเล่นไปมา รูปหนึ่ง...
    เหนี่ยวกิ่งไม้ใกล้ ๆ เล่นไปมา รูปหนึ่ง...
    นั่งหลับไหล รูปหนึ่ง...

    สาวกอื่น ๆ ทูลถาม ทรงตรัสแสดงอดีตชาติของพระ 4 รูปนั้น ดังนี้..
    รูปหนึ่ง เคยเป็นโหร ...
    รูปหนึ่ง เคยเป็นรากดิน (ไส้เดือน) ...
    รูปหนึ่ง เคยเป็นวานร (ลิง) ...
    รูปหนึ่ง เคยเป็นสุกร ... (มีชีวิตที่คุ้นเคยกับการนอนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกินอิ่มแล้ว)

    บุคคลจึงพึงพิจารณาให้เห็นโทษของการ เอาแต่นอนงัวเงีย ว่า...
    เป็นไปได้ว่า เราเคยเป็นเดรัจฉานอย่างว่ามาก่อน ..
    และเป็นไปได้อีกว่า หากยังคงคุ้นเคยกับชีวิตอย่างนั้น..
    ไม่ขวนขวาย ก้าวข้าม ปุถุชน ไปสู่ พระอริยบุคคล ในทางพุทธศาสนา..
    ก็อาจจะไปสู่ กำเนิดเดรัจฉานทั้งหลาย อีก..

    บุคคลจึงขวนขวายในกิจของตน นี้เป็นพุทธภาษิตบทหนึ่ง..
    "กิจ" ที่ว่า ท่านหมายถึง การศึกษาปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา...

    เมื่อศึกษาธรรมะ จะพบว่า อาการ "ง่วงโงก หาวนอน " ท่านจัดเป็น 1 ใน นิวรณ์ 5
    ที่ชื่อว่า ถีนะมิทธะ และ นิวรณ์ ท่านแปลความว่า เครื่องกั้นบุคคลมิให้บรรลุ เจริญ ก้าวหน้า
    ไปสู่ความดีงาม...! และจะพบว่า "ความเกียจคร้าน" ท่านเรียกชื่อว่า "โกสัชชะ"..
    เหล่านี้ ล้วนแต่เป็น "อกุศลธรรม"... ผู้ใดไม่รู้จัก ไม่ฝึกอบรมตน เพื่อบรรเทา ลด ละไป..
    ผู้นั้น ยากที่จะไปสู่ "กุสลธรรม" ทั้งหลาย..

    พุทธภาษิต ตนแล เป็นคติ(ที่ดำเนินไป) ของตน..!
    นี้จึงหมายความได้ว่า ก่อเหตุให้ไปดี ก็ไปดี ไปสุคติ.. ไกลจากอบายภูมิ..
    อันมี นรก เปรต อสุรกาย กำเนิดเป็นเดรัจฉานต่าง ๆ ..
    ทั้งนี้ ก็ด้วยการหมั่นศึกษาอบรมตนในทาง ศีล / ธรรม..

    พุทธภาษิต รักใด เสมอด้วยรักตน ไม่มี...!
    นี้ก็หมายความได้ว่า ผู้ใดปรารถนาให้ตนไปดี ไปสุคติ ก็ชื่อว่า รักตน...

    เคยได้ยินคำสอนจากพระอาจารย์ท่านหนึ่ง กล่าวว่า...
    ความเมามีหลายประการ เช่น เมาชีวิต เมาเหล้า เมาอบายมุข...
    และยังมีเรื่อง "เมาหมอน เมาที่นอน" คือ หมกมุ่น หมกตัวอยู่กับ ที่นอน หมอน มุ้ง...

    ชื่อว่า "เมา" จึงดูไม่ดี ฉะนั้นแล บุคคล พึงเอาชนะ ความเมาทั้งหลาย..!

    พุทธศาสนา แสดงธรรมข้อสำคัญไว้หลายประการ ดังปรากฎใน 84,000 พระธรรมขันธ์
    และหนึ่งในนั้น คือ "หลักโภชเนมัตตัญญุตา"..
    แปลความว่า "รู้ประมาณในการบริโภค"...
    ท่านสอนว่า อีก 3 คำอิ่ม ให้เลิกรับประทาน แล้วดื่มน้ำไปมาก ๆ แทน..

    จะช่วยให้เลือดจากสมอง ลงไปย่อยอาหารในกระเพาะ ไม่มากนัก..
    สมองก็ไม่อ่อนล้า อ่อนเพลีย หลับสับประโงก ง่วงหงาว...!

    การพักผ่อนในคนปกติวัยทำงานทั่วไป น่าจะอยู่ที่ 6-7 ชั่วโมง
    ถ้าเป็นเด็ก ๆ ก็ควร 8 ชั่วโมง
    ถ้านักปฏิบัติธรรม ก็ 4 ชั่วโมง (สี่ทุ่มถึงตีสอง) นอกนั้นเป็นเรื่องการฝึกอบรม
    สมาธิ ยืน เดิน นั่ง นอน.. วิปัสสนา พิจารณาธรรมทั้งหลายทั้งปวง..!

    บุคคลจึงควรพิจารณาเหตุปัจจัยในหลาย ๆ ประการ เช่น...
    กินมากไปไหม... พักผ่อนน้อยไปไหม... ออกกำลังกายสม่ำเสมอไหม...
    การออกกำลังกายเป็นกิจวัตร ช่วยให้หลับสบาย หลับสนิท นอนไม่กี่ชั่วโมงแต่สนิท ตื่นก็สดชื่น

    หมกมุ่นกับคอมพ์ ฯ มากไปในเวลากลางวัน ตาก็อ่อนล้า
    ประสาทตา สัมพันธ์สมอง ตาอ่อนล้า สมองก็อ่อนล้า...
    ควรจัดสรรเวลาให้เหมาะควรกับตน..

    บางคนช่างฝัน ฝันโน่นฝันนี่ หรือ หลับ ๆ ตื่น ๆ หลับไม่สนิท
    แทนที่สมองจะได้พักผ่อน แต่กลับตรงข้าม ตื่นมาไม่สดชื่น..
    ท่านจึงให้อุบาย หมั่นฝึกอบรมสมาธิ นั่งก่อนนอน ด้วยการหายใจเข้าก็ พุท
    หายใจออกก็ โธ.. เมื่อเอนตัวลงนอนก่อนจะหลับไป แม้หายใจเข้าก็ยัง พุท
    หายใจออกก็ โธ.. ตนจะหลับไปด้วยความหมายรู้ คุ้นเคย กับพุทโธ..
    จักเป็นผู้ฝันยาก และหลับได้สนิท..

    ฉะนั้น คนเราทั้งหลาย จึงควร...

    1. ค้นหาตน ว่าได้ก่อเหตุปัจจัย ให้เป็นผู้หาวนอน ง่วงโงก อย่างไรไว้
    แล้วพึงเลี่ยงหลีกเหตุปัจจัยนั้น ๆ แล้วความง่วงโงก เกียจคร้าน เมาที่หลับที่นอน จักหายไป..

    2. พิจารณาให้เห็นโทษภัย ของการเอาแต่คุ้นเคยกับ ง่วงโงก หาวนอน...
    สอนตนเสมอ ๆ ทุก ๆ วัน วันละ 3-5 นาที ว่า..
    เราจักเป็นผู้ไม่ง่วงหาวนอน.. เราจักพ้นไปได้จาก งู สุกร ผู้มีชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการนอน..

    ข้อนี้เหมือน คนแปรงฟันตอนเช้า... จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ก็เป็นเพราะการฝึกอบรมตน
    ให้เป็นผู้แปรงฟันตอนเช้า นั่นเอง.. เมื่อฝึกอบรม ให้ไกลจากผู้ง่วง ผู้เกียจคร้าน
    ก็สามารถเป็น ผู้ไม่ง่วงโงก ผู้ขยัน ได้ในสักวันหนึ่ง..!

    มีบทธรรมะ แสดงความไว้ว่า "ผู้มีความเพียร เป็นเครื่องตื่น"...!

    3. ตื่นได้ง่ายจากที่หลับที่นอน นับว่า ทำได้ยาก...
    แต่ตื่นจาก กิเลสเครื่องหมักหมมทั้งหลาย ฝึกอบรมตนให้เป็น
    "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" อนุพุทธะ ตามองค์พระศาสดาไป นั้น "ยากยิ่งกว่า"...!

    ทุกวันนี้ หลายคน ที่แม้จะมีชีวิตที่ นอนน้อย แต่ใช่ว่า ได้นำเวลามาก ๆ ไปทำความดี..
    แต่หลายคนกลับไปเที่ยวเตร่ ในที่ "อโคจร" เช่น คลับเหล้า ผลับเบียร์ สถานบันเทิงทั้งหลาย..
    จนดึกดื่นเป็นกิจวัตร..

    4. เคยได้ยินลุงแก่คนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า มีหนุ่มคนหนึ่ง ดึกดื่นตี 4 ยังไม่นอน..
    เดินเอนไปเอนมาด้วยฤทธิสุรา ร้องทักลุงว่า ยังไม่นอนอีกเร๊อะ ลุง..!

    ลุงคิดในใจ กูน่ะนอนมากแล้ว และตื่นมาตี 4 นี่แหล่ะ..
    มึงนั่นแหล่ะ ป่านนี้ ยังเมาหัวทิ่ม ไม่หลับไม่นอน..
    แล้วลุงก็ร้องตอบไปว่า นอนมากแล้ว เพิ่งตื่นเมื่อครู่..!

    5. พุทธภาษิตอีกบทหนึ่ง จึงล้ำค่าเช่นกัน คือ..
    อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ แปลความว่า... ตนแล เป็นที่พึ่ง แห่งตน..!
    ดังนั้นแล บุคคล จึงต้องฝึกอบรมทำตน ...ให้เป็นที่พึ่ง ไกลความเกียจคร้านทั้งหลาย ให้จงได้..


    ที่มา....

    http://dhammathai.org/webboard/view.php?No=5393


     

แชร์หน้านี้

Loading...