วิธีทำสมาธิตามแบบพระอาจารย์เสาร์ - หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 29 กรกฎาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]


    วิธีทำสมาธิตามแบบพระอาจารย์เสาร์
    พระธรรมเทศนาโดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
    แสดงธรรม ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กทม.
    เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๔

    ประวัติพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล)
    <!-- m -->http://www.igetweb.com/www/watdonthat/i ... art=263288<!-- m -->

    คามินธรรม - สาระสำคัญในธรรมเทศนานี้
    - มิจฉาทิฐิ / สัมมาทิฐิ และ มิจฉาสมาธิ / สัมมาสมาธิ
    - ความเห็นเรื่องการปฏิบัติธรรมของสำนักลัทธิต่างๆ
    - การภาวนาแบบพุทธานุสติ (บริกรรมพุทธ-โธ)
    - นิมิตกับสมาธิ
    - สมถะกรรมฐานที่แท้คืออัปนาสมาธิ
    - เจริญมรณะสติ
    - จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรม
    - อำนาจของสมาธิ
    - ความสำคัญของศีลกับการปฏิบัติธรรม
    - การภาวนา ไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมาก ไม่ต้องฉลาดก็ได้ อย่ากลัวที่จะปฏิบัติ ขอให้ทำจริง

    ............................

    ธรรมะที่จะนำออกสู่บรรดาท่านทั้งหลายในโอกาสนี้
    เผื่อว่ามีอะไรที่ขาดตกบกพร่องก็ใคร่ที่จะถือโอกาสขออภัย
    ท่านผู้รู้ทั้งหลายไว้ล่วงหน้าด้วย

    เรื่องของธรรมะที่จะนำมาในโอกาสนี้
    ก็ควรจะเป็นเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
    ซึ่งปัญหาในการปฏิบัติธรรมในสมัยปัจจุบันนี้ รู้สึกว่าเป็นที่ตื่นอกตื่นใจ
    หรือเป็นที่สนใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยทั่ว ๆ ไป

    สมัยเมื่ออาตมายังเป็นศิษย์ท่านอาจารย์เสาร์อยู่ทางภาคอีสาน
    คนที่สนใจในธรรมะและตั้งใจนั่งสมาธิภาวนากันส่วนมาก
    มีแต่คนแก่ ๆ อายุมากแล้ว

    ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้ คนหนุ่ม คนสาว คนแก่ มีความสนใจในการปฏิบัติธรรม
    แสดงว่าชาวพุทธทั้งหลายมมีความตื่นตัว
    และเริ่มจะรู้สึกสำนึกในการแสวงหาที่พึ่งให้แก่ตัวเองมากขึ้นทุกทีๆ

    แต่บางครั้งก็ยังเป็น สิ่งที่น่าเป็นห่วง เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติธรรม
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสมาธิ
    เป็นปัญหาที่เราจะต้องทำความเข้าใจว่า
    การทำสมาธิที่จัดว่าเป็นสัมมาสมาธินั้นมีความมุ่งหมายอยู่ที่ตรงไหน

    ในหลักคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ในเมื่อพระองค์แสดงธรรม โดยมากมักจะมีธรรมเป็นของคู่กัน
    เช่น สัมมาสมาธิ-มิจฉาสมาธิ หรือ สัมมาทิฏฐิ-มิฉฉาทิฏฐิ อะไรทำนองนี้
    เรื่องความถูกกับความผิดนั้นพระองค์มักจะยกขึ้นมาแสดงคู่กัน

    ดังนั้น ปัญหาเรื่องการทำสมาธิในสมัยปัจจุบันนี้
    จะว่าลัทธิของใครถูกของใครผิดจะไม่ขอนำมากล่าว

    เรื่องถูกหรือผิดอยู่ในความตั้งใจหรือเจตนาของผู้ทำ
    ถ้าหากบำเพ็ญสมาธิ มุ่งจะให้จิตสงบ ให้มีจิตมั่นคงต่อการทำความดี
    และเพื่อจะให้เกิดมีสมาธิ มีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง
    เพื่อ จะได้เป็นอุบายถ่ายถอนราคะ ความกำหนัดยินดี หรือกิเลสโลภ โกรธ หลง ให้หมดไปจากจิตใจ โดยไม่ได้มุ่งสิ่งอื่นนอกจากความบริสุทธิ์และความพ้นทุกข์
    จัดว่าได้ชื่อว่าเป็น สัมมาสมาธิ

    ความรู้ ความเห็นของท่านเหล่านั้นก็เป็น สัมมาทิฏฐิ

    ทีนี้โดยวิสัยของการปฏิบัติ หรือภูมิจิต ภูมิธรรมที่ เกิดขึ้นนั้น
    ในระดับต้นๆ นี้ ก็ย่อมมีทั้งผิด ทั้งถูก

    แม้แต่ผู้ที่มีภูมิจิตก้าวขึ้นสู่ภูมิของความเป็นพระอริยบุคคลแล้ว
    ก็ยังมีความเห็นผิด เห็นถูก ยกเว้นแต่พระอรหันต์ จำพวกเดียวเท่านั้น


    ผู้ที่สำเร็จ โสดา สกิทาคา อนาคา แต่ยังไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์
    และทำไมจึงยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ื ?
    ก็เพราะเหตุว่าัสัมมาทิฏฐิ ในขั้นพระอรหัตตมรรคยังไม่สมบูรณ์
    จึงยังข้องอยู่ จึงยังไม่สำเร็จก่อน

    เพราะฉะนั้น ความผิด ความถูกนั้น เราอย่าเพิ่งไปด่วนตัดสินว่า ใครผิด ใครถูก
    เอากันตรงที่ว่า ใครสามารถทำสมาธิจิตลงไปให้สงบลงไปได้แล้วสามารถที่จะ
    อ่านจิตใจของตัวเองให้รู้ซึ้งลงไปว่าสภาพจิตของเราเป็นอย่างไร
    เรามีกิเลสตัวไหนมาก และควรจะแก้ไขอย่างไรนี้
    เป็นจุดแรกที่เราจะต้องอ่านตัวของเราเองให้ออก

    จะว่าสิ่งอื่นผิด สิ่งอื่นถูก นั้นไม่สำคัญ

    แม้ว่าเราจะรู้อะไรผิด อะไรถูกแต่เป็นเรื่องนอกตัว นั้นไม่สำคัญ
    สำคัญอยู่ที่ว่า เราอ่านจิตใจของเรา แล้วก็ปรับโทษตัวเอง
    แล้วก็ตัดสินตัวเองว่าตัวเองผิด ตัวเองถูกนั่นแหละ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

    ถ้าหากเราไม่สามารถจะจับจุดนี้ได้ เราจะปฏิบัติ หรือบำเพ็ญเพียรภาวนาแค่ไหน
    ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขตัวเองได้


    อันนี้ เป็นความคิดความเข้าใจของอาตมา ตัวผู้เทศน์ ที่นำมาเล่าสู่กันฟังกับท่านทั้งหลาย
    ก็เผื่อว่าท่านทั้งหลายยังได้ช่วยพิจารณาว่าเป็นการเหมาะสมหรือไม่ประการใด

    ในฐานะที่อาตมาเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์
    ก็จะได้นำเรื่องการปฏิบัติสมาธิตามสายท่านอาจารย์เสาร์มาเล่าสู่กันฟัง

    ท่านอาจารย์เสาร์เป็นพระเถระที่ไม่ได้ศึกษาพระปริยัติกว้างขวาง
    ท่านเรียนรู้เฉพาะข้อวัตรปฏิบัติ อันเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติโดยตรง

    ท่านอาจารย์เสาร์สอบนักธรรมตรีก็ไม่ได้ เพราะท่านไม่สอบ
    แต่ความเข้าใจเรื่อง พระธรรมวินัยซึ่งเป็นข้อปฏิบัตินั้น
    รู้สึกท่านมีความเข้าใจ ละเลียดละออดีมาก

    และท่านอาจารย์เสาร์สอนกรรมฐาน หรือสอนคนภาวนานั้น
    มักจะยึดหลักภาวนา พุทโธ เป็นหลัก

    ยกตัวอย่าง ในบางครั้ง มีผู้ไปถามท่านว่า
    อยากจะเรียนกรรมฐานอยากจะภาวนาทำอย่างไร ?
    ท่านอาจารย์เสาร์จะบอกว่า ภาวนา พุทโธ ซิ

    ภาวนา พุทโธ แล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ?
    ท่านจะบอกว่าอย่าถาม พุทโธ แปลว่าอะไร ถามไปทำไม
    และท่านจะย้ำว่าให้ภาวนา พุทโธๆ ๆ อย่างเดียว

    แล้วการภาวนาให้มากๆ ทำให้มากๆ ทำให้ชำนิชำนาญ
    ในเมื่อตั้งใจจริง ผลที่เกิดขึ้นไม่ต้องถาม
    ทีนี้เราไปถามว่า ภาวนาพุทโธแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น
    ทั้งๆ ที่เรายังไม่ต้องลงมือทำ

    แม้ว่า ผู้ทำเห็นผลมาแล้ว ท่านให้คำตอบไป
    มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรสำหรับเราผู้ถาม เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องถาม

    ถ้าหากว่าท่านอาจจะไปเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์องค์ใด องค์หนึ่ง
    ที่ท่านสอนให้ภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม
    ถ้าท่านยังมีความลังเลสงสัยในโอวาทของท่านอาจารย์ของท่านอยู่
    ท่านจะภาวนาอย่างไร เพียงไร แค่ไหน ท่านจะไม่ได้รับผลสำเร็จ

    เพราะฉะนั้น ท่านจะไปเรียนกรรมฐานจากสำนักไหนก็ตาม
    เช่นจะไปเรียนจากสำนัก สัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอ
    หรือกำหนด นาม รูป อะไรก็ตาม
    ในเมื่อท่านเรียนมาแล้ว ท่านต้องตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง
    ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านอย่างจริงจัง จะว่าเอาจริง เอาจัง เชื่อกันจริงๆ

    อย่างสมมติว่าอาจารย์ของท่าน หลังจากสอนบทภาวนาให้แล้ว
    อาจารย์ของท่านอาจจะสั่งว่า
    ให้ท่านไปนั่งสมาธิ บริกรรมภาวนา วันละ ๓ ครั้ง หรือ ๔ ครั้ง
    แต่ละครั้งขอให้ทำได้ครั้งละ ๑ ชั่วโมง ถ้าท่านปฏิบัติตามคำสั่งของท่านอาจารย์ท่านได้
    จะเป็นอาจารย์ใดก็ตาม ผลย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

    แต่ถ้าท่านมีความรู้สึกว่า เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ทำไปแล้วก็ไม่ได้ผล อย่าทำดีกว่า

    ทีนี้ใคร่ที่จะขอทำความเข้าใจกับบรรดาท่านผู้สนใจในการภาวนาทั้งหลาย
    ท่านอาจารย์เสาร์สอนให้บริกรรมภาวนา พุทโธๆ ๆ

    พุทโธ นี้เป็นคำบริกรรมภาวนา ในอนุสสติ ๑๐ ข้อ
    พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ
    หรืออนุสสติอื่นๆ ที่มีคำบริกรรมภาวนา ตั้งแต่ข้อ ๑-๘
    เรียกว่าต้องใช้คำบริกรรมภาวนา ตามบทหรือตามแบบในการภาวนาในข้อนั้นๆ

    การภาวนาอะไร
    ที่นึกคำบริกรรมภาวนาในใจ เมื่อเราทำแล้ว จิตจะสงบลงไปได้แค่อุปจารสมาธิ
    ใครจะภาวนาอย่างไหน แบบใดก็ตาม ในเมื่อนึกบริกรรมภาวนา
    จิตจะสงบลงไปแค่อุปจารสมาธิ

    อุปจารสมาธิมีความหมายเพียงใด แค่ไหน
    มีความหมายเพียงแค่ว่าบริกรรมภาวนาแล้ว
    จิตมีอาการสงบเคลิ้มๆ ลงไปเหมือนจะนอนหลับ
    แล้วจิตมีความสงบนิ่งสว่างขึ้นมา
    แต่ยังมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องของกาย ของลมหายใจอยู่
    เรียกว่า กายยังปรากฏมีในความรู้สึก

    พอมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปเท่านั้น คำบริกรรมภาวนาหายไปแล้ว
    เช่นอย่างว่าภาวนา พุทโธๆ ๆ หรือ ยุบหนอ พองหนอ ก็ตาม
    ในเมื่อจิตสงบ เคลิ้ม ๆ ลงไป เกิดความสว่างขึ้นมา จิตมีอาการนิ่ง
    พอนิ่งปั๊บ คำบริกรรมภาวนาหายไปหมด

    เพราะฉะนั้น บริกรรมภาวนาทุกอย่างทำให้จิตนิ่งสงบ
    เป็นสมาธิถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ

    ในเมื่อจิตไม่ถึงอัปปนาสมาธิ จิตก็ไม่ถึงสมถกรรมฐาน
    เพราะฉะนั้น ผู้ที่กล่าวว่า ภาวนาพุทโธ หรือ บริกรรมภาวนา จิตสงบลงไปได้
    เพียงแค่ขั้นสมถกรรมฐานเท่านั้น จึงเป็นการเข้าใจผิด
    ขอทำความเข้าใจกับนักภาวนาทั้งหลายในเรื่องนี้

    เมื่อบริกรรมภาวนาแล้ว จิตไม่ไปถึงอัปปนาสมาธิ เราจะทำอย่างไร
    ในตอนนี้ สิ่งที่จะปรากฏขึ้นในความรู้สึกอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือความรู้สึกที่มีกาย

    นอกจากกวามรู้สึกที่จะมีกายปรากฏขึ้นแล้ว ลมหายใจจะปรากฏขึ้นมา
    ถ้ากายปรากฏขึ้นมาให้เพ่งดูกาย เรียกว่า “กายคตาสติ”
    ถ้าลมหายใจปรากฏขึ้นในความรู้สึก ให้กำหนดรู้ลมหายใจ

    แล้วจิตผู้ภาวนายึดเอาอารมณ์อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ปรากฏขึ้นตามจิตของผู้ปฏิบัติแล้ว
    จิตตามรู้ในอารมณ์ดังที่กล่าวนั้น เช่น อย่างกายปรากฏ ก็ยึดเอา กายคตานุสสติ
    กำหนดดูส่วนใดส่วนหนึ่ง ของร่างกาย หรือจะกำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อเอ็น กระดูก ไปจนครบอาการ ๓๒ ก็ได้
    แล้วจะเป็นอุบายทำให้จิตสงบไปถึงสมถกรรมฐาน คือ อัปปนาสมาธิ

    ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ทำอย่างนั้น
    ลมหายใจปรากฏขึ้นในความรู้สึกก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
    ตามรู้ลมหายใจไป จนกว่าลมหายใจจะละเอียด

    แต่ถ้าลมหายใจละเอียดแล้วลมหายใจหายไป จิตจะสงบเข้าไปอยู่ในอัปปนาสมาธิ
    โดยปราศจากความรู้สึก นึกคิด มีแต่จิตนิ่งอยู่เฉยๆ อันนี้จิตเข้าไปสู่สมถะ จิตอยู่ในจิต รู้อยู่เฉพาะในจิตอย่างเดียว สิ่งที่เรียกว่า ความรู้ ย่อมไม่ปรากฏขึ้น
    เพราะในขั้นนี้ ความรู้สึกว่ามีกายก็ไม่มี ความรู้สึกว่ามีลมหายใจก็ไม่มี
    เจตนาที่จะน้อมนึกถึงอะไร ในขณะนั้น ไม่มีทั้งสิ้น
    เป็นสภาวะจิตที่ไร้สมรรถภาพโดยประการทั้งปวง
    อย่างดีก็แค่ทรงตัวอยู่ในความสงบนิ่ง

    ถ้าผู้ภาวนาติดอยู่ในช่วงนี้ จิตของท่านจะติดอยู่ในอัปปนาสมาธิ
    ถ้าหากว่ามีสมรรถภาพพอที่จะก้าวหน้าไปหน่อย ถ้าอย่างดีก็ไปเดินแบบฌานสมาบัต
    ไปอากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ
    เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไปเดินสายศาสนาพราหมณ์ไป

    แต่พุทธกับพราหมณ์ต้องอาศัยกัน ถ้าใครสามารถทำได้ก็ดีเหมือนกัน
    อย่าไปปฏิเสธว่าไม่ดี แต่เมื่อทำได้แล้ว อย่าไปติด
    เพราะการเล่นฌานทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ทำให้ติด
    ถ้าไปติดสมาธิในขั้นฌานแล้ว ภูมิจิต ภูมิใจ จะไม่เกิด
    ความรู้ก็จะไม่เดินถึงขั้นวิปัสสนา อันนี้เป็นเพียงทางแวะ

    ถ้าหากว่า จิตเมื่อดูลมหายใจละเอียดยิ่งขึ้นไปทุกทีๆ
    ตามหลักปริยัติท่านเตือนไว้อย่างหนึ่งว่า เมื่อลมหายใจทำท่าจะหายขาดไป
    ให้นึกว่าลมหายใจยังมีอยู่ ถ้ากายจะหายไปท่านให้นึกว่ากายยังมีอยู่
    ทั้งนี้ก็เพื่ออะไร .. เพื่อให้จิตของเรานั้นไม่ปราศจากสิ่งที่รู้

    ในเมื่อจิตเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิอย่างไม่มีอะไร
    มีแต่ความรู้สึกในจิตเป็นหนึ่งอย่างเดียว
    จิตไม่มีเครื่องรู้ ในเมื่อจิตไม่มีเครื่องรู้ จิตก็ไม่มีฐานที่ตั้ง
    ในเมื่อจิตไม่มีฐานที่ตั้ง ก็ขาดมหาสติปัฏฐาน


    เพราะมหาสติปัฏฐานเท่านั้น
    ที่จะเป็นฐานสร้างพื้นฐานของจิตให้มีความมั่นคงในการปฏิบัติ

    ทีนี้จิตเข้าไปอยู่ในจิตอย่างเดียว กายก็ไม่มี ลมหายใจก็ไม่มี
    มันก็เลยไม่มีที่ตั้ง จิตไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่ระลึก ไม่มีเครื่องรู้
    สมรรถภาพทางจิตแม้จะนิ่งได้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
    เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้นึกว่ากายจะหายไป ก็ให้นึกว่ากายมีอยู่
    ให้จิตมันรู้อยู่ที่กาย กายเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ

    ในเมื่อจิตมีกายเป็นเครื่องรู้ สติมีกายเป็นเครื่องระลึก ระลึกอยู่อย่างนั้น เป็นฐานที่ตั้งของสติ
    เมื่อจิตมีความรู้ซึ้งเห็นความจริงของกายเมื่อไร เมื่อนั้นมหาสติปัฏฐานก็เกิดขึ้น
    เรียกว่า มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อันนี้คือ แนวทางที่ท่านอาจารย์เสาร์ได้สอนมา

    ในตอนต้นๆ อาตมาได้พูดถึงอุปจารสมาธิ
    ในเมื่อผู้บริกรรมภาวนาจิตมีอาการสงบเคลิ้มๆ ลงไป แล้วเกิดสว่าง
    ตรงนี้สำคัญมาก เพราะการบริกรรมภาวนา
    ถ้าจิตสงบแล้ว มีอาการเคลิ้มๆ ลงไป จิตเกิดสว่างขึ้นมา

    ความสว่างในขั้นนี้ จะมีความรู้สึกว่า แสงสว่างมันพุ่งออกไปทางตา ออกจากตา
    แล้วความสว่างจะมุ่งตรงไปด้านหน้า ในขณะที่จิตสงบลงไปอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ
    ส่วนมากจะมีลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น มีสติบ้าง ไม่มีสติบ้าง
    บางทีก็หลงๆ ลืมๆ แล้วก็มีความสว่างเป็นเครื่องหมาย

    ความสว่างนี้มีความรู้สึกส่งกระแสออกไปทางตา
    ทีนี้ถ้าความสว่างมันส่งกระแสออกไปถึงไหนๆ จิตมันก็พุ่งไปตามแสงสว่างนั้น
    เมื่อจิตออกไปตามแสงสว่าง ย่อมเกิดภาพนิมิตต่างๆ ขึ้นมา

    บางทีในตอนนี้ เราอาจจะเห็นภาพคน ภาพสัตว์ หรือบางทีเห็นภูต ผี ปีศาจ
    ในเมื่อเห็นรูปภาพต่างๆ เราก็จะเกิดความสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งเหล่านั้นมาขอส่วนบุญ
    แล้วก็จะไปตั้งอกตั้งใจ แผ่ส่วนบุญให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น
    ในเมื่อเกิดมีความตั้งใจขึ้นมา สภาพจิตที่กำลังเริ่มสงบมันก็เปลี่ยน
    คือ เปลี่ยนจากความเป็นสมาธิ จากความสงบ เป็นความไม่สงบ คือสมาธิถอนนั่นเอง


    เมื่อสมาธิถอนขึ้นมาแล้ว ภาพนิมิตต่างๆ ก็หายไปหมด
    แม้ว่าเราจะนึกแผ่ส่วนกุศลให้เขาเหล่านั้น
    มันจึงมีลักษณะคล้ายๆ กับว่า เขากลัวบุญเรา เขาเลยไม่ยอมรับ เลยหายไปเสีย
    แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาพนิมิตต่างๆ ที่เรามองเห็นนั้น
    ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแสดงให้เราเห็น เป็นจิตของเราปรุงแต่งขึ้นมาเอง

    ทำไมจึงต้องปรุงแต่งขึ้นมาอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่า เราภาวนาแล้วเราอยากเห็น
    และโดยส่วนมาก ครูบาอาจารย์ที่สอนกรรมฐาน สอนให้ลูกศิษย์นั่งภาวนา
    พอเลิกภาวนาแล้วมักจะถามว่า เห็นอะไรบ้าง

    ทีนี้คำว่าเห็นอะไรบ้างนี้ มันก็เลยไปฝังอยู่ในความรู้สึก
    ในเมื่อภาวนาลงไปแล้วทุกคนจะต้องเห็น
    ถ้าภาวนาไม่เห็นแล้ว แสดงว่าภาวนาไม่ได้ผล
    เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีอุปาทาน
    อยากรู้อยากเห็นอยู่อย่างนี้ เมื่อภาวนาจิตสงบลงไปแล้ว
    สัญญาในอดีตซึ่งมันอยากรู้อยากเห็นขึ้นมา มันก็ผุดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
    เสร็จแล้วมันก็แสดงภาพนิมิตต่างๆ ให้เราเห็น
    อันนี้คือประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายในจิตของผู้ภาวนา

    ถ้าหากผู้ภาวนาเห็นนิมิตแล้วไปเอะใจ สมาธิถอนภาพนิมิตนั้นหายไป ก็เป็นอันว่าแล้วไป
    แต่ถ้าต่างว่าในเมื่อเห็นภาพนิมิตเห็นเทวดา เป็นต้น แล้วจิตไปติดอยู่กับเทวดา
    ไปเห็นความสวยงามของเทวดา แล้วจะรู้สึกว่าธรรมดาเทวดานั้นจะต้องอยู่บนสวรรค์

    ในเมื่อเรานึกว่าเทวดาอยู่บนสวรรค์ เราก็นึกอยากจะไปดูเทวดาอยู่บนสวรรค์บ้างละ
    ก็เลยติดสอยห้อยตามเทวดานั้นไป ซึ่งสุดแล้วแต่เทวดาเขาจะพาไปที่ไหน
    ถ้าหากสมาธิถอนขึ้นก็เป็นอันว่าแล้วไป

    แต่ถ้าสมาธิไม่ถอนก็ไปติดกับภาพนิมิตของเทวดานั้น
    แล้วก็ตามหลังเทวดาไปในที่สุดผู้ภาวนาจะมีความรู้สึกคล้ายกับเดินตามหลังเทวดาไป
    เมื่อเทวดาไปไหนเขาก็ตามไป ถ้าจิตใจเรานึกว่าจะไปดูสวรรค์
    ภาพนิมิตของสวรรค์ก็ปรากฏขึ้น เลยกลายเป็นเรื่องไปเที่ยวสวรรค์
    ถ้านึกถึงนรก ภาพนรกก็จะเกิดขึ้น แล้วก็กลายว่า ไปเที่ยวดูนรก
    สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทางผ่านของนักบำเพ็ญจิตบำเพ็ญูภาวนาทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์จึงแนะนำสั่งสอนว่า
    ในขณะที่เราทำสมาธิภาวนาอยู่นั้น ให้กำหนดรู้ลงที่จิต
    นิมิตภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของจริง
    เป็นแต่ภาพนิมิตหลอกลวงเท่านั้น

    แต่สำหรับผู้ที่มีสติปัญญาพอสมควร ก็สามารถจะน้อมเอานิมิตเหล่านั้น
    มาเป็นเครื่องรู้ของจิต มาเป็นเครื่องพิจารณา มาเป็นเครื่องระลึกของสติ
    ก็สามารถทำสติ สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นได้
    มีความมั่นคงมีความเฉลียวฉลาดในการปฏิบัติได้เหมือนกัน

    แต่ส่วนมากจะหลง หลงนิมิตต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น สำคัญว่าเป็นจริงเป็นจัง
    และยิ่งกว่านั้น บางทีอาจจะคิดว่า ภาพนิมิตต่าง ๆ ที่เห็นเหล่านั้นเราจะสำคัญว่า
    สิ่งเหล่านั้นคือ เจ้ากรรม นายเวร เขาจะต้องมาทวงหนี้อะไรต่ออะไรทำนองนั้น
    ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด อย่างช่วยไม่ได้


    เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติทั้งหลาย
    ขอให้มีสติสัมปชัญญะระมัดระวัง เรื่องภาพนิมิตต่างๆ
    ขอยืนยันว่า ภาพนิมิตต่างๆ เหล่านั้น ไม่ใช่ของจริง เป็นมโนภาพที่เราสร้างขึ้นเอง
    มโนภาพนั้นเราตั้งใจจะสร้างขึ้นหรือเปล่า...ไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างขึ้น
    แต่เรามีอุปาทาน อยากรู้ อยากเห็น เมื่อจิตสงบลงไประดับอุปจารสมาธิ
    แล้วจิตของเราอยู่ในลักษณะครึ่งหลับ ครึ่งตื่น บางครั้งก็มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
    บางครั้งก็ขาดสติ ในช่วงที่เราขาดสตินั้น
    ภาพนิมิตจะเกิดขึ้นและภาพนิมิตอันนั้นไม่ใช่ของจริง


    ทำไมจึงยืนยันว่าไม่ใช่ของจริง ทำไมบางตำรับตำรายืนยันว่าเป็นของจริง
    แล้วพระองค์นี้ปฏิเสธว่าไม่ใช่ของจริง

    ก็เพราะเหตุว่า ในบางครั้งอาตมาได้เคยพิจารณาดูความตายในตัวของตัวเอง
    ก็อยากจะรู้ว่าความตายมันคืออะไร คนเราเกิดมาทั้งทีนี้ ไหน ๆ เราก็ต้องตายอยู่แล้ว
    ควรจะรู้จักความตาย ก่อนที่จะตายจริง

    พอเสร็จแล้วก็มาพิจารณากำหนดดูความตาย ในเมื่อความตายมันปรากฏขึ้น
    โดยลักษณะที่ว่าจิตมันออกจากร่าง แล้วก็ไปลอยอยู่ส่วนหนึ่ง
    ซึ่งห่างจากร่างกายประมาณ ๒ เมตร

    พอเสร็จแล้วจิตมันก็ส่งกระแสลงมาตรวจร่างกาย
    ร่างกายที่นอนเหยียดยาวอยู่นั้น ค่อยๆ เน่าเปื่อยขึ้น อืด ผุพัง ไปตามขั้นตอนของมัน
    ในที่สุดก็สลายตัวไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความว่าง

    พอเสร็จแล้ว ความว่างอันนั้นมันก็กลับเป็นขึ้นมาอีก
    เป็นกระดูก โครงกระดูก เป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นรูปร่างสมบูรณ์ กลับคืนมาอีก

    แล้วก็สลายตัวลงไปอีก กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น

    ทีนี้สิ่งที่เป็นเครื่องหมายแห่งความตายพอให้เรารู้ว่า ตาย นั่นก็คือ ร่างกายของเรา
    เพราะ ร่างกายของเรามันนอนเหยียดยาวอยู่ ไม่ไหวติง และสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่า ร่างกายเน่าเปื่อย ผุ พัง สลายตัวไป จิตมันออกมาจากความเป็นอย่างนั้นมาแล้ว
    มันก็กลับมาเป็นร่าง เป็นตัว เป็นตน อย่างเดิม แล้วร่างกายที่มองเห็นว่าสลายตัวไปนั้น มันก็ยังอยู่อย่างเก่า
    หาได้สลายตัวลงไปไม่

    เพราะฉะนั้น จึงยืนยันได้ว่า นิมิตทั้งหลายที่ปรากฏกับผู้ภาวนาในขั้นต้นนี้
    คือนิมิตที่จิตของเราปรุงขึ้นมาเป็นภาพเองต่างหาก
    ไม่ใช่เรื่องอื่นมาแสดงตัวให้เราเห็น

    แม้แต่ร่างกายที่ตายแล้วเน่าเปื่อย ผุ พัง ลงไปก็ตาม ไม่ใช่ร่างกายเป็นตัวแสดง
    แต่จิตตัวสังขารตัวปรุงขึ้นต่างหาก ที่มันปรุงแต่งให้เป็นไปอย่างนั้น

    ทำไมมันจึงปรุงแต่ง...เพราะเราอยากรู้ เราอยากเห็น อยากให้มันเป็นอย่างนั้น
    อันนี้เป็นอุปาทานเดิมที่เราตั้งใจไว้ว่า เราอยากจะรู้เห็นเป็นจริงอย่างนี้

    ในเมื่อเราฝึกหัดจิตให้เป็นสมาธิ มีสติปัญญาพอที่จะน้อมนึกสิ่งเหล่านั้น
    ให้เป็นไปได้ด้วยความแน่วแน่ เมื่อทำจนชำนิชำนาญมันก็ย่อมเป็นไปได้ตามที่ต้องการ

    เราสร้างมโนภาพ สร้างนิมิตเหล่านั้นขึ้นมาทำไม...
    ก็เพื่อจะเป็นอุบายสอนใจให้มันรู้จริง รู้ว่าเราจะตายจริง
    ตายแล้วมันต้องเน่าจริง เน่าแล้วมันจะต้องสลายตัวสาบสูญไปจริง
    เพื่อให้จิตมันรู้สึกสำนึกว่าความตายนี้ใครจะเสียใจก็ตาม ไม่เสียใจก็ตาม
    ใครจะชอบก็ตาม ไม่ชอบก็ตาม ใครจะยินดีก็ตาม ไม่ยินดีก็ตาม
    ในเมื่อถึงวาระที่เขาจะต้องมีอันเป็นไป เขาจะต้องไปตามกฎธรรมชาติของเขา

    พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาความตาย
    ก็เพื่อมุ่งประสงค์จะให้ทุกคนยอมรับสภาพเป็นจริงว่า เราจะต้องตายจริง ๆ
    ที่เรากลัวตาย กลัวความแก่ กลัวภัย อะไรต่างๆ นี้
    ที่เรากลัวก็เพราะว่า เรายังไม่รู้ซึ้งเห็นจริง

    ในเมื่อเราไม่รู้ซึ้งเห็นจริง เราก็ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง
    เมื่อเราไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง เราก็ยังปฏิเสธของจริงอยู่นั่นแหละ
    ตราบใดที่เรายังปฏิเสธของจริง เราก็เป็นทุกข์วันยังค่ำ

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนี้ มีจุดมุ่งประสงค์ คือ
    ๑. เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ
    ๒. เพื่อให้เกิดสติ ปัญญา
    ซึ่งเกิดจากสมาธิ เรียกว่า สมาธิปัญญา
    สมาธิปัญญานี้ คือปัญญาที่เกิดจากจิตสงบเป็นสมาธิ
    สามารถที่จะบันดาลให้จิตเกิดความรู้ ภูมิจิต ภูมิธรรม เป็นลำดับ
    ซึ่งสุดแล้วแต่สมรรถภาพของผู้บำเพ็ญนั้น จะสามารถทำให้เป็นไปแค่ไหน

    การทำสมาธิโดยทั่วๆ ไป เราไม่จำเป็นจะต้องมีศีลก็ได้
    แต่สมาธิของผู้ไม่มีศีลนั้นไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ มรรค ผล นิพพาน

    เช่น สมาธิของนักไสยศาสตร์

    เขาอาจจะบริกรรมคาถาของเขาแล้ว สามารถปล่อยตะปูหรือหนัง
    ทำให้คนเจ็บหรือตายได้ อันนี้ก็คืออำนาจสมาธิ
    ถ้าสมาธิไม่มีแล้ว หนังแผ่นโตๆ เบ้อเริ่มจะทำให้เล็กได้อย่างไร

    ตะปูซึ่งมันไม่มีจิตมีใจ ไม่มีวิญญาณ
    แล้วจะไปปล่อยเข้าท้องเข้าไส้คนได้อย่างไรถ้าไม่มีสมาธิ
    แต่สมาธิเป็นไปเพื่อความทำลายนี้ มุ่งที่จะทำลายนี้เป็นมิจฉาสมาธิ

    อย่างที่ญาติโยมทั้งหลายที่พากันทำสมาธิภาวนานี้ ก็ตั้งใจจะภาวนาลงไปแล้ว
    สาธุๆ ๆ ข้าพเจ้าภาวนาแล้วขอให้ถูกหวยเบอร์อย่างนี้เป็นมิจฉาสมาธิ
    ขอให้ข้าพเจ้ามีคนนับถือมาก ๆ เป็นมิจฉาสมาธิ

    สัมมาสมาธิ มุ่งให้จิตตั้งมั่นให้รู้จริง เห็นจริง ภายในจิตใจของตนเอง
    อย่างน้อยก็ให้รู้ว่า ใจของเราจิตของเรามันเป็นอย่างไร
    มันเป็นคนขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง หรืออะไรก็แล้วแต่ อ่านตัวเองให้มันออก
    นี้คือจุดที่ต้องการรู้ รู้สิ่งภายนอกนั้นรู้มากมายก่ายกองประการใดก็ตาม
    ไม่เกิดประโยชน์สำหรับผู้รู้
    ยิ่งรู้มากก็ยิ่งยากนาน

    ท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น ท่านได้ทดสอบดูแล้ว ความรู้ที่ท่านเคยทำมานั้น
    เช่น อย่างสมมติว่า ทำสมาธิได้ดีแล้ว เกิดมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ
    ทำเครื่องรางของขลัง มันก็วิเศษ สามารถกระทั่งรู้จิตใจของคน
    และบางทีสามารถที่จะนึกภาวนาอยู่ที่กุฏิแล้ว จะนึกให้ใครเป็นอย่างไรๆ ก็ได้
    แต่เสร็จแล้ว ยิ่งเก่ง ก็ยิ่งกิเลสตัวโตขึ้น ท่านจึงเห็นว่า มันไม่ถูกทาง

    เพราะฉะนั้น สมาธิซึ่งจัดว่าเป็นสัมมาสมาธินั้น
    คือ มุ่งตรงต่อ...
    - สุปฏิปันโน คือ ผู้ปฏิบัติดี
    - อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง
    - ญายปฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง
    - สามีจิปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง
    ตามแนวทางแห่งสังฆคุณ จึงจะได้ชื่อ สัมมาสมาธิ


    ตอนที่อาตมากล่าวว่า การทำสมาธิไม่จำเป็นจะต้องมีศีล
    สมาธิที่ไม่มีศีลเป็นหลักประกันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ
    ผู้ภาวนาแล้วมักจะเกิดเป็นสัญญาวิปลาส
    นักภาวนาที่ภาวนาเก่งแล้วบางที เสียสติไปก็เพราะศีลไม่บริสุทธิ์


    ถ้าหากมีศีลสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว
    ภาวนาอย่างไรไม่เกิดความเห็นผิด สัญญาวิปลาสไม่มี
    เพราะศีลตัวเดียวเท่านั้นเป็นเครื่องประกันความบริสุทธิ์ของผู้ปฏิบัติ


    เพราะฉะนั้น สาธุชนที่มุ่งที่จะบำเพ็ญเพียรทางจิต
    เพื่อให้บรรลุมรรคผลกันจริงจัง จะต้องมั่นใจ หรือจะต้องตั้งใจให้แน่วแน่ว่า
    เราจะต้องเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ตามขั้นภูมิของตนเอง


    เพราะความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์นั้น เป็นการตัดผลเพิ่มของกรรม
    อย่างเมื่อวานนี้ เราอาจจะตบยุงอยู่หลายตัว แต่วันนี้เรามีศีลเราก็เลิกการฆ่าสัตว์
    เมื่อเราเลิกการฆ่าสัตว์แล้ว ผลบาปที่เกิดจากการฆ่าสัตว์เป็นอันยุติตั้งแต่ที่เราสมาทานศีลมา
    เพราะฉะนั้นศีลนี้นอกจากจะเป็นขอบเขตของการใช้กิเลสของคนแล้ว
    ยังเป็นหลักประกันความบริสุทธิ์ เป็นการตัดผลเพิ่มของบาป


    คนเรานี้สามารถที่จะคิดได้ทั้งดีและชั่ว
    แต่เมื่อเราคิดดี เราทำดีนั้น เป็นผลดี
    ถ้าเราคิดชั่ว แล้วทำชั่วด้วย อันนั้นเป็นผลเสียหาย
    เรื่องของความคิดนี้ เราห้ามไม่ได้ เพราะมันติดมาเป็นนิสัยประจำสันดานแล้ว

    แต่เมื่อเราคิดแล้ว เราก็นึกถึงศีลที่เราสมาทาน
    คิดจะฆ่านึกถึง ปาณาติบาต คิดจะลักนึกถึงอทินนาทาน
    คิดว่าจะละเมิดข้อไหน นึกถึงศีลข้อนั้น แล้วเราก็ไม่ทำลงไป
    เป็นอันว่า ยุติการทำชั่วทางกาย ทางวาจาเสียที

    ในเมื่อเราไม่มีการทำชั่ว ทางกาย ทางวาจา ผลวิบากที่จะเพิ่มปริมาณขึ้น
    เรียกว่าเป็นบาปกรรมที่เราจะต้องไปรับผลสนองนั้น ...
    ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงไปแค่นั้น

    ส่วนของเก่าปล่อยให้มันมีอยู่อย่างนั้น แล้วเราก็ทำความดีใหม่เรื่อยไป
    เมื่อความชั่วที่เราไม่ได้ทำนั้น มันห่างไปนาน ๆ เข้า
    จิตใจของเรามันก็ไม่นึกถึงบ่อยนัก มันก็ห่างจากความชั่วที่เรามีอยู่
    เป็นโอกาสที่จะให้เราทำดีๆ ๆ เรื่อยๆ ไป

    การทำดีนี้ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
    การภาวนานี้
    ถ้าใครไม่สามารถจะเข้าใจในเหตุผลต่างๆ
    ก็ทำไปเถอะ

    ทำไปอย่างที่ท่านอาจารย์เสาร์ว่า ภาวนา พุทโธซิ
    ในเมื่อตั้งใจภาวนา พุทโธ อย่างจริงจังแล้ว อย่าไปกลัวว่าจิตจะไม่สงบ
    อย่าไปกลัวว่าวิปัสสนากรรมฐานจะไม่เกิดขึ้น
    ขอให้มีสมถะกันไว้ก่อนอย่าไปกลัวสิ่งที่เรายังไม่มี

    อย่างสมมติว่า อย่างเราจะหาเงินหาทองให้มันร่ำรวย
    แต่เรากลัวเป็นเศรษฐี เมื่อไรจะได้เป็นสักที

    ทีนี้เราจะภาวนาให้จิตสงบแล้ว แต่ว่าเรากลัวว่าจะไปติดสมถะ
    ทั้งๆ ที่จิตของเราไม่เคยผ่านสมถะเลย แล้วเมื่อไรมันจะถึงสมาธิสมถะสักที
    เพราะฉะนั้น อย่าไปกลัวขอให้ทำจริง.


    ที่มา แสดงกระทู้ - วิธีทำสมาธิตามแบบพระอาจารย์เสาร์ - หลวงพ่อพุธ ฐานิโย &bull; ลานธรรมจักร
     
  2. yupanatuk

    yupanatuk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    383
    ค่าพลัง:
    +418
    อนุโมทนา สาธุค่ะ
    ศีลตัวเดียวเท่านั้นเป็นเครื่องประกันความบริสุทธิ์ของผู้ปฏิบัติ
     
  3. teedej

    teedej Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    39
    ค่าพลัง:
    +61
    ขอให้มีความสุขมากๆ

    โมทนา สาธุ สาธุ สาธุ ครับ

    ขอให้มีความสุขมากๆ กับทุกคน เเละ
    สุขภาพแข็งแรง เต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์
    และความเบิกบานใจนะครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...