วิธีตรวจ ภพ สาม นิพพาน โลกันต์

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย หลับอยู่, 21 มิถุนายน 2015.

  1. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    วัตถุประสงค์และวิธีตรวจจักรวาล ภพ ๓


    วัตถุประสงค์ ของการตรวจจักรวาล ภพ และโลกันต์ ก็เพื่อให้รู้เห็นธรรมชาติที่เป็นไปในภพ ๓ และโลกันต์ ว่า เป็นสภาพที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขาร/สังขตธรรม) อย่างไร ได้แก่ปรุงแต่งด้วยบุญ (ปุญญาภิสังขาร) ปรุงแต่งด้วยบาป (อปุญญาภิสังขาร) และปรุงแต่งด้วยฌานสมาบัติที่ไม่หวั่นไหว (อเนญชาภิสังขาร) และเพื่อให้เห็นแจ้งรู้แจ้ง ในสามัญญลักษณะคือสภาวะที่เป็นเองเสมอกันหมดของสังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อย่างไร ให้เห็นสัจจธรรม คือ ทุกขสัจ และ สมุทัยสัจ ตามที่เป็นจริง และพัฒนาขึ้นเป็นความเห็นแจ้งรู้แจ้งในอีก ๒ สัจจธรรมที่เหลือ คือ นิโรธสัจ และ มรรคสัจ อันเป็นการเจริญปัญญาจากการที่ได้ทั้งเห็นและทั้งรู้สภาวธรรมและสัจจธรรม ตามที่เป็นจริงอย่างแจ่มแจ้ง เป็นหนทางให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามรอยบาทพระพุทธองค์

    สำหรับผู้ที่ถึงธรรมกายแล้ว ก็ให้พิสดารกาย เจริญฌานสมาบัติพร้อมกันหมดทุกกายสุดกายหยาบกายละเอียด โดยอนุโลมปฏิโลมหลายๆ เที่ยว ให้ใสละเอียดหมดทุกกาย

    หากประสงค์จะตรวจดูความเป็นไปในภพ ๓ ก็ให้น้อมเอาภพ ๓ เข้ามาเป็นกสิณ คือมาไว้ ณ ศูนย์กลางกาย แล้วใช้ตาคือญาณพระธรรมกายตรวจดูความเป็นไปในแต่ละภพ เริ่มตั้งแต่ อรูปภพ ๔ ชั้น รูปภพ ๙ ชั้น (๑๖ ภูมิจิต) ตลอดไปจนถึงกามภพ ทั้งสวรรค์ ๑๖ ชั้น และ นรก ๘ ขุมใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้เขาพระสุเมรุลงไป ให้รู้เห็นความเป็นไปโดยตลอด หากประสงค์จะทราบบุพพกรรมคือกรรมเก่าที่กระทำไว้ในภพก่อนอย่างไร จึงได้มาเสวยผลบุญหรือผลบาปอยู่ในขณะนี้ ก็ไต่ถามดูได้ ดังต่อไปนี้







    ลักษณะภพ ๓ และโลกันต์



    ก่อนที่จะได้กล่าวถึงภพ ๓ และโลกันต์ ในรายละเอียดต่อไป ก็จะได้กล่าวถึงจักรวาลสักเล็กน้อย พอให้เห็นเค้าโครงหยาบๆ เสียก่อน คือว่า ในจักรวาลหนึ่งๆ นั้นมี ภพ ๓ เป็นที่รองรับสัตว์ที่ประกอบกรรมดีกรรมชั่ว ปานกลาง มี ๓ คือ กามภพ รูปภพ และ อรูปภพ



    อรูปภพ

    เป็นภูมิหรือที่สถิตของอรูปพรหม มีอยู่ ๔ ชั้นด้วยกัน คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อายตนะของอรูปภพนี้จะดึงดูดสัตว์ที่ประกอบกรรมดีที่สุดของชาวโลกคือผู้ได้อรูปฌาน แล้วทำกาลกิริยาคือตายไปในขณะที่ยังไม่เสื่อมจากอรูปฌานนั้น ไปเสวยสุขอย่างชาวโลกที่ละเอียดประณีตที่สุดในภพนี้ แต่ตราบใดที่ยังมีอวิชชา ตัณหา ราคะ อยู่ ก็ยังไม่พ้นจากสังสารจักรคือการเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกได้


    รูปภพ
    เป็นภพที่อยู่รองลงมาก็ได้แก่ เป็นภพของรูปพรหม มีอยู่ ๙ ชั้น ๑๖ ประเภท (ซึ่งมักกล่าวกันว่ามี ๑๖ ชั้น ตามภูมิจิตของรูปพรหม) เป็นที่รองรับหรือดึงดูดสัตว์ที่ประกอบความดีอย่างชาวโลก รองลงมาจากอรูปพรหม คือเป็นผู้ที่ได้ รูปฌาน แล้วทำกาลกิริยาในขณะที่ยังไม่เสื่อมจากรูปฌานนั้นๆ จึงได้มาเสวยสุขที่ละเอียดประณีตรองลงมาจากอรูปพรหม นอกเสียจากพรหมในชั้นสุทธาวาส ๕ ชั้นแล้ว เมื่อจุติคือเคลื่อนหรือตายจากพรหมโลก ก็ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารจักรต่อไปอีก

    ที่ว่า ยกเว้นพรหมในชั้นสุทธาวาส ๕ ชั้นซึ่งเป็นพรหมชั้นสูงที่สุดนั้น ก็เพราะว่า รูปภพ ชั้นสุทธาวาสทั้ง ๕ ชั้นนี้ เป็นที่สถิตของพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามีกับชั้นพระอรหัตตมรรค ซึ่งละโลกไปในระหว่างที่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตตผล และยังไม่เสื่อมจากปัญจมฌาน จึงได้มาบังเกิดในรูปภพชั้นสุทธาวาส ตามภูมิธรรมของท่าน และเมื่อได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้วก็จะปรินิพพานในภพนี้เลยทีเดียว โดยไม่ต้องไปเกิดในภพภูมิอื่นอีก

    รองลงมาจากรูปภพ ก็เป็น กามภพ เป็นภูมิหรือที่รองรับสัตว์ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม ได้แก่ ภพทิพย์หรือเทวโลก ซึ่งมี ๖ ชั้นด้วยกัน ความเป็นอยู่ในภพเหล่านี้มีความละเอียดประณีต รองลงมาจากรูปภพ, ที่หยาบกว่าภพทิพย์ลงมาอีกก็ได้แก่ ภพของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า มนุษย์โลก แล้วก็มีอบายภูมิทั้ง ๔ คือ ภพของ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก และ สัตว์ดิรัจฉาน

    ตั้งแต่ภพมนุษย์ขึ้นไป ตลอดถึงภพของทิพย์ รูปพรหม และอรูปพรหม จัดว่าเป็น สุคติภพ คือ เป็นที่ไปดี ด้วยว่าสัตว์ที่ได้มาบังเกิดในภพเหล่านี้เพราะกรรมดีส่งผล สัตว์ในภพนี้จึงมีความเป็นอยู่สุขสบายตามส่วนแห่งผลบุญกุศลที่ได้เคยสร้างไว้ในอดีต

    ส่วนอบายภูมิทั้ง ๔ คือ ภูมิของเปรต อสุรกาย สัตว์นรก และ สัตว์เดรัจฉานนั้น จัดรวมอยู่ในประเภท ทุคคติภพ ซึ่งหมายถึง ที่ไปไม่ดี เป็นภพของสัตว์ที่ประกอบกรรมชั่วเป็นชนกกรรมนำให้ไปบังเกิดในภพหรือภูมิเหล่านี้ ซึ่งมีความเป็นอยู่ที่เป็นความทุกข์เดือดร้อนไปกว่าสุคติภพที่กล่าวมาแล้ว ตามส่วนแห่งอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์นรกทั้งหลายนั้นต่างได้รับความทุกข์ทรมานด้วยเครื่องกรรมกรณ์อย่างแสนสาหัส อย่างเช่นใน อเวจีมหานรก ซึ่งเป็นชั้นต่ำที่สุดของกามภพ เป็นที่รองรับสัตว์ผู้ประกอบกรรมชั่วที่สุดอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่าง คือ เป็นผู้ฆ่าบิดา, ฆ่ามารดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต และทำให้ภิกษุสงฆ์แตกแยกกัน เรียกว่า อนันตริยกรรม คือกรรมหนักที่ผู้ใดกระทำลงไปแล้วจะต้องได้รับผลกรรมในทันทีที่ตายลง แม้จะกระทำกรรมดีมาก่อน แต่กรรมดีนั้นก็ไม่มีช่องไม่มีโอกาสที่จะให้ผลได้ คือช่วยไม่ได้ จะต้องมาบังเกิดในอเวจีมหานรกนี้อย่างแน่นอน ให้ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ด้วยไฟนรกเผาผลาญให้เร่าร้อนทุรนทุรายอยู่อย่างนั้นถึงชั่วอนันตรกัปป์ทีเดียว อย่างเช่นพระเทวทัตผู้ประกอบกรรมชั่วหลายอย่างในสมัยพุทธกาล ก็ได้ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก และขณะนี้ก็ยังอยู่ในนรกชั้นนี้

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    อายตนะโลกันต์


    อยู่นอกภพ ๓ ตั้งแต่ขอบล่างจักรวาลนี้ออกไป เป็นที่รองรับสัตว์ที่ประกอบกรรมชั่วที่สุด ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิอย่างแรงกล้า แม้แต่อเวจีมหานรกก็ไม่สามารถจะรองรับไว้ได้ เมื่อตายลงจึงถูกอายตนะโลกันต์นี้ดึงดูดไป เป็นภพที่อยู่ขอบล่างสุดของจักรวาล คืออยู่ระหว่างล่างที่สุดของจักรวาลทั้งหลาย มีลักษณะที่มืดมิด ไม่เห็นกัน สัตว์โลกันต์นั้นต้องทุกข์ทรมานทั้งด้วยความหิวโหย และทั้งทะเลน้ำกรดเย็นที่กัดกินละลายหมดทั้งร่างของสัตว์นั้นให้ตายลง แล้วก็เกิดใหม่ วนเวียนอยู่นั่นแหละ ตราบชั่วพุทธันดร กล่าวได้ว่า กว่าจะได้มาผุดมาเกิดในภพ ๓ นี้อีกก็ลืมกันได้เลยทีเดียว



    ส่วนลักษณะของจักรวาล ตามคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์นั้น ท่านได้แสดงไว้ว่า ตรงกลางจักรวาล มีภูเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่เป็นแกนกลาง หยั่งลงไปในท้องมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ (๑ โยชน์เท่ากับ ๔ คาวุต หรือ ๔๐๐ เส้น) สูงพ้นน้ำขึ้นไปเบื้องบนอีก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ จักรวาลหนึ่งๆ อันมี สังขารโลก สัตว์โลก โอกาสโลก แม้ทั้งหมด ชื่อว่า “โลกธาตุ” หนึ่งๆ

    ลักษณะของจักรวาล เว้นไว้แต่โลกมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน และดาวนพเคราะห์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ ทั้งหลายแล้ว มีสภาวะที่เป็นทิพย์ทั้งสิ้น คือไม่อาจเห็นได้ด้วยมังสจักษุ หรือ ไม่อาจสัมผัสรู้ได้ด้วยอายตนะหยาบของมนุษย์หรือของสัตว์เดรัจฉานที่อาศัยอยู่ร่วมกับโลกมนุษย์นี้
    ดังที่ท่านได้กล่าวว่า

    “เหมือนอย่างว่า พระองค์ทรงรู้แจ้งสัตวโลก ฉันใด, แม้โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) ก็ทรงรู้แจ้งแล้ว ฉันนั้น. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงรู้แจ้ง คือได้ทรงทราบ ได้แก่ทรงแทงตลอดแล้ว ซึ่งโลกธาตุ อันไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยพระพุทธญาณอันไม่มีที่สุด ตลอดอนันตจักรวาล อย่างนี้ คือ

    จักรวาลหนึ่ง ว่าด้วยส่วนยาวและส่วนกว้าง มีประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์, ท่านกล่าวประมาณไว้โดยรอบ,

    จักรวาลมีปริมณฑลทั้งหมด ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์, แผ่นดินนี้ในจักรวาลนั้น บัณฑิตกล่าวไว้ว่าโดยความหนามีประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์.

    น้ำสำหรับรับรองแผ่นดินซึ่งมีประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์นั้นนั่นแลไว้ โดยความหนา ก็มีประมาณเท่านั้น ตั้งอยู่บนลม, ลมสำหรับธารน้ำแม้นั้นไว้ พุ่งขึ้นจดท้องฟ้าสูง ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์, ความตั้งอยู่แห่งโลกเป็นดังนี้.

    ก็ในจักรวาลนี้ ที่ตั้งอยู่แล้วอย่างนี้ มีภูเขาสิเนรุ เยี่ยมกว่าบรรดาภูเขาทั้งหลาย หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ถึง ๘๔๐,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้น เหมือนกัน.

    มหาบรรพตใหญ่ทั้ง ๗ เหล่านี้ คือ เขายุคันธร ๑ เขาอิสินธร ๑ เขากรวิกะ ๑ เขาสุทัสสนะ ๑ เขาเนมินธร ๑ เขาวินัตตกะ ๑ เขาอัสสกัณณะ ๑ เป็นของทิพย์ วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ หยั่งลง (ในห้วงมหรรณพ)

    และสูงขึ้นไป (เบื้องบน) ตามลำดับโดยประมาณกึ่งหนึ่งๆ จากประมาณแห่งสิเนรุที่กล่าวแล้ว ทั้งเบื้องล่างและเบื้องบนนั้น เป็นสถานที่อยู่ของท้าวมหาราช (ทั้ง ๔) มีเทวดาและยักษ์อาศัยอยู่แล้ว ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบภูเขาสิเนรุ ด้วยอำนาจเป็นเครื่องล้อม.

    หิมวันตบรรพต สูง ๕๐๐ โยชน์ โดยส่วนยาวและกว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด.

    ชมพูทวีปท่านประกาศแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งต้นชมพูใด, ต้นชมพูที่ชื่อว่า นคะ นั้น วัดโดยรอบลำต้นประมาณ ๑๕ โยชน์ ความยาวของลำต้นและกิ่งประมาณ ๕๐ โยชน์ ความกว้างโดยรอบประมาณ ๑๐๐ โยชน์ และสูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้น นั่นแล.

    จักรวาลบรรพต หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ๒๘,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน, จักรวาลบรรพต นี้ตั้งล้อมรอบโลกธาตุทั้งหมดนั้นอยู่.

    ในโลกธาตุนั้น ดวงจันทร์ (วัดโดยตรงโดยส่วนยาวส่วนกว้างและส่วนสูง) ๔๙ โยชน์ ดวงอาทิตย์ประมาณ ๕๐ โยชน์, ภพดาวดึงส์ประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์, ภพอสูร อเวจีมหานรก และ ชมพูทวีปก็มีประมาณเท่านั้น, อปรโคยานทวีป ประมาณ ๗,๐๐๐ โยชน์, ปุพพวิเทหทวีป ก็มีประมาณเท่านั้น, อุตตรกุรุทวีป ประมาณ ๘,๐๐๐ โยชน์, ก็แล ทวีปใหญ่ๆ ในโลกธาตุนี้ แต่ละทวีปๆ มีทวีปเล็กๆ เป็นบริวาร ทวีปละ ๕๐๐ๆ, จักรวาลหนึ่งแม้ทั้งหมดนั้น ชื่อว่า โลกธาตุหนึ่ง. ในระหว่างแห่งจักรวาลนั้น เป็นโลกันตริกนรก

    แม้โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยประการอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคนั้นทรงพระนามว่า โลกวิทู เพราะความที่พระองค์ทรงรู้แจ้งโลก โดยประการทั้งปวง แม้ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้.” (พระพุทธโฆษาจารย์, สมนฺตปาสาทิกา นาม วินยฏฺฐกถา (ปฐโม ภาโค): มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๑๒๕-๑๒๗.)

    ดู แผนที่มงคลจักรวาล และได้แสดง ลักษณะ ที่ตั้ง ของนิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ ที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้แสดงไว้


    ๑. อรูปาวจรภูมิ ๔
    อรูปาวจรภูมิ ๔ คือ ที่สถิตอยู่ของอรูปพรหม ๔ ชั้น ทั้งอรูปพรหมที่เป็นปุถุชนและที่เป็นอริยบุคคล เป็นที่เกิดของติเหตุกปุถุชน ๑ และอริยบุคคล ๗ (เว้นพระโสดาปัตติมัคคบุคคล) ผู้ที่ในอดีตชาติได้เจริญอรูปฌานแล้ว ขณะกำลังจะจุติ (เคลื่อนจากภพเก่า คือตาย) จิตยังไม่เสื่อมจากอรูปฌานชั้นใด ก็จะได้มาเกิดเป็นอรูปพรหมในชั้นนั้น

    อรูปพรหมปุถุชน นั้น เมื่อสิ้นอายุแล้ว ก็มีโอกาสไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำกว่าตามกรรมเก่าที่กำลังรอให้ผลอยู่ได้เสมอ

    ส่วนอรูปพรหมอริยบุคคล ตั้งแต่ชั้นพระอนาคามีบุคคลลงมา ที่สถิตอยู่ในอรูปภพชั้นที่ ๑-๒-๓ เมื่อสิ้นอายุก็มีโอกาสไปเกิดในภูมิที่สูงกว่าได้ แต่จะไม่ไปเกิดในภูมิที่ต่ำกว่าเดิมอีก จนกว่าจะบรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ก็จะปรินิพพานในชั้นนั้น

    เฉพาะอรูปพรหมอนาคามีบุคคลลงมา ที่สถิตอยู่ในอรูปภูมิชั้นที่ ๔ (ชั้นสูงสุด) คือ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ นั้น เมื่อสิ้นอายุลงก็จะเกิดในภพภูมิเดิมนี้ จนถึงบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ก็จะปรินิพพานในชั้นนี้



    ผู้ปฏิบัติถึงธรรมกาย ได้ปฏิบัติตามวิธีเจริญภาวนาที่กล่าวข้างต้นแล้ว น้อมเอาอรูปภพมาเป็นกสิณ คือมาตั้งตรงศูนย์กลางธรรมกาย ธรรมกายเจริญฌานสมาบัติในกสิณ หรือพิสดารกาย ดับหยาบไปหาละเอียดจนสุดละเอียด แล้วขยายข่ายของญาณพระธรรมกาย ให้เห็นสุดอรูปภพ ตรวจดูความเป็นไปในแต่ละอรูปภพจากสูงสุด ถึงต่ำสุด คือตั้งแต่ชั้นที่ ๔ ลงไปถึงชั้นที่ ๑ เป็นชั้นๆ ไป ดังต่อไปนี้




    ชั้นที่ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ เป็นที่เกิดของอรูปพรหมที่เมื่อชาติก่อนได้เจริญอรูปฌาน ๔ (รวมรูปฌาน ๔ เป็นสมาบัติ ๘) แล้วขณะเมื่อก่อนตาย จิตยังไม่เสื่อมจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จึงได้มาเกิดในภพหรือภูมินี้ อรูปพรหมในภูมินี้มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป

    อุทกดาบส (ที่พระมหาบุรุษคือพระโพธิสัตว์ของเราได้เคยมาเรียนในสำนักของท่านและได้บรรลุสมาบัติ ๘ แต่ทรงพิจารณาเห็นว่ายังไม่ใช่ทางให้บรรลุโมกขธรรม จึงได้เสด็จออกจากสำนักนี้ไปบำเพ็ญสมณธรรมโดยลำพังพระองค์เอง จนได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ) จุติจากมนุษย์โลกแล้วก็ได้มาอุบัติคือเกิดในภพนี้ ก่อนวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณไม่นาน



    ชั้นที่ ๓ อากิญจัญญายตนภูมิ เป็นที่เกิดของอรูปพรหม ซึ่งเมื่อก่อนตายจิตยังไม่เสื่อมจากอากิญจัญญายตนฌาน ก็จะมาเกิดในภพนี้ อรูปพรหมในภูมินี้มีอายุ ๖๐,๐๐๐ มหากัป

    อาฬารดาบส (ที่พระมหาบุรุษของเราได้เคยมาเรียนในสำนักของท่านและได้บรรลุอรูปฌาน ๓ (รวมรูปฌาน ๔ เป็นสมาบัติ ๗) แต่ทรงพิจารณาเห็นว่ายังไม่ใช่ทางให้บรรลุโมกขธรรม จึงได้เสด็จออกจากสำนักนี้ ไปศึกษาต่อยังสำนักอุทกดาบส) จุติจากมนุษย์โลกแล้วก็ได้มาอุบัติในภพนี้ ในระยะเวลาไม่นาน ก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

    ชั้นที่ ๒ วิญญาณัญจายตนภูมิ เป็นที่เกิดของอรูปพรหม ที่เมื่อก่อนตายจิตยังไม่เสื่อมจากวิญญาณัญจายตนฌาน ก็จะมาเกิดในภพนี้ อรูปพรหมในชั้นนี้มีอายุ ๔๐,๐๐๐ มหากัป



    ชั้นที่ ๑ อากาสานัญจายตนภูมิ เป็นที่เกิดของอรูปพรหม ที่เมื่อก่อนตายจิตยังไม่เสื่อมจากอากาสานัญจายตนฌาน ก็จะมาเกิดในภพนี้ อรูปพรหมในชั้นนี้มีอายุ ๒๐,๐๐๐ มหากัป

    มีข้อสังเกตที่สำคัญว่า เมื่อผู้ปฏิบัติถึงธรรมกายได้ปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวข้างต้นแล้ว น้อมอรูปภพมาเป็นกสิณ ธรรมกายเจริญสมาบัติในกสิณ แล้วใช้ตาหรือญาณพระธรรมกายตรวจดูความเป็นไปในแต่ละภูมิ โดยขยายข่ายของญาณพระธรรมกายให้เต็มอรูปภพ พิจารณาดูแต่ละภูมินั้น ต่างได้เห็นอรูปพรหมมีรูปร่างสวยงามมาก วรกายใหญ่ มีเครื่องประดับที่สวยงาม ละเอียดประณีตยิ่งนัก และมีรัศมีสว่างกว่ารูปพรหมทั่วๆ ไป ละเอียดมากจนแม้แต่อรูปพรหมด้วยกันก็ไม่เห็นรูปกายของซึ่งกันและกัน คงติดต่อกันรู้กันได้ด้วยจิต มีแต่ตาหรือญาณพระธรรมกายเท่านั้นที่ละเอียดกว่า และสามารถเห็นรูปกายของอรูปพรหมได้ตามที่เป็นจริง และได้เห็นว่ารัศมีของอรูปพรหมปุถุชนแม้จะมีรัศมีสว่างไสว แต่ก็ยังไม่สว่างไสวเท่ารัศมีของอรูปพรหมอริยบุคคล และแม้เท่ารัศมีรูปพรหมในชั้นสุทธาวาส ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามี ผู้ตัดสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการได้หมดแล้ว และชั้นพระอรหันต์ ผู้ตัดสัญโญชน์เบื้องสูงอีก ๕ ประการได้หมดสิ้นแล้ว เพราะอรูปพรหมอริยบุคคลในอรูปาวจรภูมิและพรหมอริยบุคคลในชั้นสุทธาวาส เป็นพระอริยบุคคลผู้บริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองกว่าอรูปพรหมปุถุชน จึงมีรัศมีสว่างไสวกว่า ด้วยประการฉะนี้



    มีอาจารย์บางท่านได้แสดงว่า อรูปพรหมเป็นพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่นามขันธ์ ๔ ดังเช่น

    “อธิบายว่า ในอรูปภูมิทั้ง ๔ ถึงแม้จะเรียกว่าภูมิก็จริง แต่ภูมินี้ไม่ปรากฏว่ามีรูปร่างสัณฐานอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะเป็นภูมิที่มีแต่อากาศว่างเปล่าอยู่เท่านั้น สำหรับอรูปพรหมนี้ ก็เป็นพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่นามขันธ์ ๔ เกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่นนับตั้งแต่ปฏิสนธิมา” (พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ ๕ เล่มที่ ๑: สนองการพิมพ์, พ.ศ.๒๕๓๕, หน้า ๑๖๗.)

    นี้เป็นคำอธิบายความหมายของอรูปพรหมตามความเข้าใจในตัวอักษรว่า “อรูป” ซึ่งท่านเข้าใจและอธิบายว่าดังนี้

    “ความจริงนั้น อรูปพรหมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจของภาวนาที่ปราศจากความยินดีในรูป (รูปวิราคภาวนา) เพราะเหตุนี้ สถานที่อยู่ของอรูปพรหมจึงไม่มีรูปร่างปรากฏเลย” (อ้างแล้ว หน้า ๑๖๙.)

    แต่ผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย ต่างได้เห็นอรูปพรหมด้วยญาณพระธรรมกายว่า มีรูปกายที่ละเอียดนัก จนแม้แต่อรูปพรหมด้วยกันเอง ก็ยังมิอาจเห็นรูปกายซึ่งกันและกัน เพราะอรูปาวจรวิบากที่เมื่อเจริญอรูปฌานไม่ยินดีในรูป แต่รูปขันธ์ย่อมต้องเกิดมีพร้อมกับนามขันธ์ ๔ ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป (สฬายตนะ ผัสสะ ฯลฯ) เพียงแต่รูปกายของอรูปพรหมนั้นละเอียดนัก เพราะอรูปาวจรวิบาก จนไม่อาจเห็นได้แม้ด้วยจักษุของอรูปพรหมด้วยกัน หรือด้วยจักษุของสัตว์โลกในภูมิที่ต่ำกว่าเท่านั้น

    ถ้าสัตว์โลกที่เกิดด้วยอำนาจของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เกิดขึ้นแต่เฉพาะนามขันธ์ โดย ปราศจากรูปขันธ์ ได้ พระพุทธดำรัสว่าด้วย “ปฏิจจสมุปบาทธรรม” ก็ไร้ความหมาย และ พระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า




    ทูรงฺคมํ เอกจรํ
    อสรีรํ คุหาสยํ
    เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ
    โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา.”
    “ผู้ใด จักสำรวมจิตที่ไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำคือกายเป็นที่อาศัย ผู้นั้นจักพ้นจากเครื่องผูกของมารได้.” (ขุ.ธ.๒๕/๑๓/๑๙-๒๐)



    ก็ไม่จริง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ที่สัตว์โลกจะมีแต่จิตใจ โดยไม่มีรูปกายเป็นที่ตั้งที่อาศัย และเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธพจน์จะเป็นอื่น (คือไม่จริง) พระพุทธพจน์ย่อมเป็นธรรมที่แท้จริงเสมอ

    จึงควรที่นักศึกษาจะพึงปฏิบัติไตรสิกขา อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้ดี ให้ได้ถึงธรรมกาย ก็จะสามารถรู้-เห็น ด้วยตนเองตามที่เป็นจริง


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 01-1.jpg
      01-1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      98.1 KB
      เปิดดู:
      226
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  3. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ๒. รูปาวจรภูมิ ๑๖
    รูปาวจรภูมิ (ภูมิเป็นที่อยู่ของรูปพรหม ) ๑๖ ภูมิ (มี ๙ ชั้น) ได้แก่ ปฐมฌานภูมิ ๓, ทุติยฌานภูมิ ๓, ตติยฌานภูมิ ๓, จตุตถฌาน/ปัญจมฌานภูมิ ๒ (คือ เวหัปผลาภูมิ ๑ อสัญญสัตตาภูมิ ๑) และสุทธาวาสภูมิ ๕

    อกนิฏฐภูมิ
    สุทัสสีภูมิ
    สุทัสสาภูมิ
    อตัปปาภูมิ
    อวิหาภูมิ สุทธาวาสภูมิ ๕


    เวหัปผลาภูมิ อสัญญสัตตภูมิ จตุตถฌาน/ปัญจมฌานภูมิ ๒
    ปริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ สุภกิณหาภูมิ ตติยฌานภูมิ ๓
    ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิ อาภัสสราภูมิ ทุติยฌานภูมิ ๓
    มหาพรหมาภูมิ พรหมปุโรหิตาภูมิ พรหมปาริสัชชาภูมิ ปฐมฌานภูมิ ๓


    รูปภพอยู่ล่างลงไปจากอรูปภพ ให้เริ่มตรวจดูจากชั้นภูมิที่สูดสุดลงไปจนถึงภูมิที่ต่ำสุด ตามวิธีเดียวกันกับการตรวจอรูปภพ คือเอารูปภพเป็นกสิณ ธรรมกายเจริญสมาบัติในกสิณต่อไป ใช้ตาหรือญาณของธรรมกายตรวจดูความเป็นไปในแต่ละภูมิ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  4. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ก) สุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น

    เป็นชั้นสูงสุดของรูปภพ เป็นที่สถิตอยู่ของพระอนาคามีและพระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้น เป็นภูมิของพระอริยบุคคลผู้เป็นปัญจมฌานลาภีอนาคามีบุคคล คือผู้ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอนาคามีบุคคล ที่เมื่อก่อนตายยังไม่เสื่อมจากปัญจมฌาน ก็จะได้มาบังเกิดในสุทธาวาสภูมินี้ ชั้นใดชั้นหนึ่ง ด้วยอำนาจของปฏิสนธิ ตามความแก่กล้าของอินทรีย์ ที่ตนได้เคยอบรมมา และภูมินี้เป็นที่สถิตอยู่ของพระอรหันตบุคคล ผู้ที่ได้เกิดขึ้นในปวัตติกาล คือหลังปฏิสนธิกาลครั้งแรก ในชั้นสุทธาวาสนี้อีกด้วย สุทธาวาสภูมิ ๕ มีดังต่อไปนี้



    ชั้นที่ ๕ อกนิฏฐภูมิ เป็นที่สถิตอยู่ของอกนิฏฐพรหม ผู้มีปัญญินทรีย์แก่กล้ามากกว่าอินทรีย์อื่น จะได้มาบังเกิดในชั้นนี้ รูปพรหมในชั้นนี้มีอายุ ๑๖,๐๐๐ มหากัป อนึ่ง ในชั้นอกนิฏฐภพนี้มี ทุสสเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานเครื่องฉลองพระองค์และผ้าโพกพระเศียร ที่พระมหาโพธิสัตว์ของเรา ได้ทรงสวมใส่ในวันออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ คือ การออกบวช) เมื่อทรงตั้งสัจจาธิษฐานที่จะบวช ได้ทรงตัดพระโมลีด้วยพระขรรค์ แล้วทรงโยนไปในอากาศ ท้าวสักกะเทวราช ได้ทรงรับไว้นำไปประดิษฐานที่พระจุฬามณี ที่เนรมิตสร้างขึ้นไว้ในดาวดึงส์เทวโลก ขณะเดียวกันนั้น ท้าวฆฏิการพรหม ก็ได้นำอัฏฐบริขารมาพร้อมจะถวายพระมหาโพธิสัตว์ ครั้นเมื่อพระมหาโพธิสัตว์ ทรงเปลื้องฉลองพระองค์และผ้าโพกพระเศียร โยนขึ้นไปในอากาศนั้น ท้าวฆฏิการพรหมก็ได้รับไว้ แล้วถวายพระอัฏฐบริขารแก่พระมหาโพธิสัตว์ และรับฉลองพระองค์และผ้าโพกพระเศียรไปประดิษฐานไว้ในทุสสเจดีย์ ที่เนรมิตสร้างไว้ในชั้นอกนิฏฐภพ นี้เอง

    ชั้นที่ ๔ สุทัสสีภูมิ เป็นที่สถิตอยู่ของ สุทัสสีพรหม เป็นชั้นที่ผู้มีสมาธินทรีย์แก่กล้ามากกว่าอินทรีย์อื่น ได้มาเกิดในชั้นนี้ รูปพรหมชั้นนี้มีอายุ ๘,๐๐๐ มหากัป

    ชั้นที่ ๓ สุทัสสาภูมิ เป็นที่สถิตอยู่ของ สุทัสสพรหม เป็นชั้นที่ผู้มีสตินทรีย์แก่กล้ามากกว่าอินทรีย์อื่น ได้มาเกิดในชั้นนี้ รูปพรหมชั้นนี้มีอายุ ๔,๐๐๐ มหากัป

    ชั้นที่ ๒ อตัปปาภูมิ เป็นที่สถิตอยู่ของ อตัปปพรหม เป็นชั้นที่ผู้มีวีริยินทรีย์แก่กล้ากว่าอินทรีย์อื่น ได้มาเกิดในชั้นนี้ รูปพรหมชั้นนี้ มีอายุ ๒,๐๐๐ มหากัป

    ชั้นที่ ๑ อวิหาภูมิ เป็นที่สถิตอยู่ของ อวิหพรหม เป็นชั้นที่ผู้มีสัทธินทรีย์แก่กว่าอินทรีย์อื่น ได้มาเกิดในชั้นนี้ รูปพรหมชั้นนี้มีอายุ ๑,๐๐๐ มหากัป



    มีข้อสังเกตว่า พรหมอนาคามี ที่มาเกิดและสถิตอยู่ในชั้นที่ ๑-๔ ระหว่างที่ยังไม่ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ เมื่อทำกาละ คือตายแล้ว ก็จะได้ไปบังเกิดในภูมิเบื้องบนต่อไปในสุทธาวาสภูมินั้น แต่จะไม่เกิดซ้ำภูมิหรือต่ำกว่าภูมิเดิมอีก ส่วนอกนิฏฐพรหมไม่มีการไปเกิดในภูมิอื่นอีกเลย ย่อมจะบรรลุความเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานในชั้นอกนิฏฐภูมินั้นเอง อกนิฏฐภูมิจึงเป็นยอดของภูมิ และเป็นภูมิที่ประเสริฐที่สุดกว่าภูมิอื่นในสุทธาวาสภูมิ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  5. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ข) จตุตถฌาน/ปัญจมฌานภูมิ ๒

    เป็นชั้นถัดลงมาจากสุทธาวาสภูมิที่ ๑ มีพรหมอยู่ ๒ ประเภท แต่อยู่ในรูปภพชั้นเดียวกัน คือ เวหัปผลพรหม และ อสัญญีพรหม มีอายุเท่าๆ กัน คือ ๕,๐๐๐ มหากัป ถ้าจะเรียกเป็นภูมิก็เรียกว่า เวหัปผลาภูมิ และ อสัญญีภูมิ ดังต่อไปนี้

    เวหัปผลาภูมิ เป็นภูมิของเวหัปผลพรหม ผู้มาเกิดในภูมินี้ด้วยอำนาจของปัญจมฌานกุศลที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา มีอายุ ๕,๐๐๐ มหากัป เป็นภูมิที่พ้นจากโลกาวินาศ คือการที่โลกถูกทำลายด้วยไฟ-น้ำ-ลม จึงนับว่าเป็นยอดภูมิ และเป็นภูมิที่ประเสริฐกว่าพรหมปฐมฌาน-ทุติยฌาน-ตติยฌานภูมิ ซึ่งย่อมไม่พ้นจากโลกาวินาศ คือคราวที่โลกถูกทำลายด้วยไฟ ปฐมฌานภูมิทั้ง ๓ ก็ถูกทำลาย เมื่อโลกถูกทำลายด้วยน้ำ ปฐมฌานภูมิ ๓ และทุติยฌานภูมิ ๓ ก็ถูกทำลาย และเมื่อคราวที่โลกถูกทำลายด้วยลม ทั้งปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ และตติยฌานภูมิ ๓ ก็ย่อมถูกทำลายหมดสิ้น

    มีทั้งพรหมปุถุชนและพรหมอริยบุคคล เฉพาะพรหมผู้เป็นพระอริยบุคคล นับตั้งแต่พระอนาคามีบุคคลลงมาที่เกิดอยู่ในภูมินี้ เมื่อยังไม่ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ ครั้นสิ้นอายุลงแล้วก็มิได้ไปเกิดในภูมิอื่นที่สูงกว่าหรือที่ต่ำกว่า คือเกิดในภูมิเดิมนี้อีกจนกว่าจะได้บรรลุพระอรหัตตผล แล้วก็ปรินิพพานในชั้นนี้

    อสัญญีภูมิ ภูมิของอสัญญีพรหม เป็นที่เกิดของสุคติอเหตุกบุคคล ผู้เมื่อชาติก่อนได้เคยเจริญรูปฌานโดยไม่ยินดีในสัญญา ก่อนตายยังไม่เสื่อมจากจตุตถฌาน (โดยจตุกนัย) /ปัญจมฌาน (โดยปัญจกนัย) จึงได้มาเกิดเป็นอสัญญีพรหม ปรากฏเห็นมีแต่รูป นิ่งไม่ไหวติงเหมือนไม่มีจิตใจ แต่แท้ที่จริง การเกิดเพราะอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ย่อมเกิดพร้อมทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์ ๔ ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม หากแต่เพราะวิบากคือผลกรรมจากการเจริญรูปฌานโดยปฏิเสธสัญญา จึงปรากฏแต่รูปปฏิสนธิเด่นชัด ส่วนนามขันธ์ ๔ ก็ย่อมเกิดมีคู่กับรูปขันธ์นั้นแหละ แต่ไม่ปรากฏชัด คือไม่แสดงอาการรับรู้อะไร จึงเห็นแต่รูปนิ่งๆ ไม่ไหวติง เหมือนไม่มีจิตใจ หรือเหมือนคนหลับ เมื่อก่อนตายเคยได้เจริญฌานสมาบัติอยู่ในอิริยาบถใด เมื่อมาปฏิสนธิในภูมินี้ก็จะเห็นเป็นรูปพรหมที่สวยงามอยู่ในอิริยาบถเช่นนั้นนิ่งๆ จึงมีผู้เรียกว่า พรหมลูกฟัก เพราะความที่เป็นพรหมที่นิ่งไม่ไหวติงอยู่ในอิริยาบถเดิม เมื่อหมดบุญก็จุติ&#๖๓๖๘๘;(ตาย) ไปเกิดในภพภูมิใหม่ ตามกรรมที่รอให้ผลต่อไป

    พระโพธิสัตว์และพระอริยเจ้าย่อมไม่มาบังเกิดในภพภูมินี้

    ค) ตติยฌานภูมิ ๓ เป็นที่เกิดของติเหตุกปุถุชน และพระอริยบุคคล ผู้ที่เมื่อก่อนตายยังไม่เสื่อมจากตติยฌาน ก็จะได้มาบังเกิดในภพภูมินี้ มีอยู่ ๓ ประเภท โดยตำแหน่ง ตามลำดับความละเอียด (ปณีตะ) กลาง (มัชฌิมะ) หยาบ (หีนะ) ของตติยฌานที่ตนได้บรรลุและทรงอยู่ในขณะก่อนจะจุติมาปฏิสนธิในภูมินี้ คือ มหาพรหม ชื่อว่า สุภกิณหพรหม มีอายุ ๖๔ มหากัป ปุโรหิตพรหม ชื่อว่า อัปปมาณสุภพรหม มีอายุ ๓๒ มหากัป และ ปาริสัชชาพรหม ชื่อว่า ปริตตสุภาพรหม มีอายุ ๑๖ มหากัป มีวรกายใหญ่ และรัศมีสว่างกว่ากันตามลำดับอีกด้วย

    ง) ทุติยฌานภูมิ ๓ เป็นที่เกิดของติเหตุกปุถุชนและพระอริยบุคคล ผู้ที่เมื่อก่อนตายยังไม่เสื่อมจากทุติยฌาน ก็จะได้มาบังเกิดในภพภูมินี้ มีอยู่ ๓ ประเภท โดยตำแหน่ง ตามลำดับความละเอียด กลาง หยาบ ของทุติยฌานที่ตนได้บรรลุและทรงอยู่ เมื่อก่อนจุติมาปฏิสนธิในภูมินี้ คือ มหาพรหม ชื่อว่า อาภัสสรพรหม มีอายุ ๘ มหากัป ปุโรหิตพรหม ชื่อว่า อัปปมาณาภาพรหม มีอายุ ๔ มหากัป และ ปาริสัชชาพรหม ชื่อว่า ปริตตาภาพรหม มีอายุ ๒ มหากัป มีวรกายใหญ่ และรัศมีสว่างกว่ากันตามลำดับ

    จ) ปฐมฌานภูมิ ๓ เป็นที่เกิดของติเหตุกปุถุชนและพระอริยบุคคล ผู้ที่เมื่อก่อนตายยังไม่เสื่อมจากปฐมฌาน ก็จะได้มาบังเกิดในภพภูมินี้ มี ๓ ประเภท คือ มหาพรหม พรหมที่เป็นใหญ่เป็นหัวหน้า มีอายุ ๑ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป ปุโรหิตพรหม พรหมเป็นที่ปรึกษามหาพรหม มีอายุกึ่งหนึ่งของมหาพรหม และ ปาริสัชชาพรหม มีอายุหนึ่งในสามของมหาพรหม ตามลำดับความละเอียด กลาง หยาบ ของปฐมฌานที่ตนได้บรรลุและทรงอยู่ เมื่อก่อนจุติมาปฏิสนธิในภูมินี้ มีวรกายใหญ่ และรัศมีสว่างกว่ากันตามลำดับอีกด้วย

    อนึ่ง ท้าวสหัมปติพรหม ที่เคยได้ทูลอาราธนาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ในสมัยของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ได้เคยเป็นพระภิกษุผู้สหายของพระโพธิสัตว์ของเรา ได้เป็นผู้พอใจในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา เมื่อสิ้นอายุขัยจากมนุษย์ จึงได้มาบังเกิดในพรหมโลกนี้ เป็นมหาพรหม มีนามว่า “สหัมปติ” ส่วนพระมหาโพธิสัตว์ของเรานั้นได้พอใจในคันถธุระ เมื่อสิ้นอายุขัย ได้ไปบังเกิดในเทวโลกแล้วได้มาบังเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกมหาภิเนษกรมน์แล้ว ได้บำเพ็ญสมณธรรมจนได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบัน
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 146478.jpg
      146478.jpg
      ขนาดไฟล์:
      57.3 KB
      เปิดดู:
      284
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  6. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ๓. กามสุคติภูมิ ๗



    ก) เทวภูมิ ๖

    เทวภูมิ ๖ คือ เทวโลก ๖ ชั้น เป็นที่สถิตอยู่ของเทวดา จัดเป็นสุคติกามภูมิ คือ ภูมิที่ยังเสพกามที่นับเนื่องในสุคติภูมิ

    ผู้ปฏิบัติถึงธรรมกาย เมื่อตรวจอรูปภพ รูปภพ แล้ว ก็น้อมเทวโลกมาเป็นกสิณ คือน้อมเข้ามาตั้งที่ศูนย์กลางพระธรรมกาย พระธรรมกายเจริญฌานสมาบัติในกสิณ หรือพิสดารธรรมกายให้สุดละเอียด แล้วขยายข่ายของญาณพระธรรมกายให้เต็มเทวโลก พิจารณาดูความเป็นไปในเทวโลกชั้นต่างๆ จากสูงสุดถึงต่ำสุด ดังนี้



    ชั้นที่ ๖ ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ

    เป็นที่เกิดที่สถิตอยู่ของอากาสัฏฐเทวดา (เทวดาที่มีวิมานล่องลอยอยู่ในอากาศ ตั้งแต่ยอดเขาพระสุเมรุ ไปจรดขอบจักรวาล) ที่เมื่อต้องการเสวยกามคุณ (รูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ) เวลาใด เวลานั้น เทวดาผู้รับใช้ทราบความต้องการของตนนั้น ก็จะจัดการเนรมิตขึ้นให้ได้เสวยตามประสงค์ เทวดาในชั้นนี้จึงไม่ต้องมีคู่ครองประจำของตน มีอายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ (๙,๒๑๖ ล้านปีมนุษย์)

    ท้าววสวัตตีมารเทพบุตร เป็นจอมเทพชั้นนี้ และเป็นผู้ปกครองเทวดาทั่วทั้ง ๒ ชั้นอีกด้วย เคยเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นผู้คอยเป็นอุปสรรคขัดขวางการบำเพ็ญสมณธรรม และการบำเพ็ญพุทธกิจของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ออกมหาภิเนษกรมน์ จนถึงปรินิพพาน ต่อมาอีก ๓๐๐ ปีหลังกาลเสด็จปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังได้ขัดขวางการสร้างมหาเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชผู้ครองเมืองปาตลีบุตร ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทรงให้สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระรัตนตรัย และยังแกล้งทำลายพิธีฉลองเจดีย์ จึงถูกพระอุปคุตตมหาเถระทรมานจนสิ้นพยศ ละมิจฉาทิฏฐิได้ กลับเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ตั้งความปรารถนาพุทธภูมิ กลายเป็นจอมเทพผู้สัมมาทิฏฐิตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

    ชั้นที่ ๕ นิมมานรตีภูมิ

    เป็นที่เกิดที่สถิตอยู่ของอากาสัฏฐเทวดาที่มีปกติเสวยกามคุณ (รูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ) ที่ตนเนรมิตขึ้นเอง ตามความพอใจของตนเอง จึงไม่ต้องมีคู่ครองประจำของตน มีทั้งเทพบุตร และเทพธิดา มีอายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ (๒,๓๐๔ ล้านปีมนุษย์)

    ชั้นที่ ๔ ดุสิตภูมิ

    เป็นที่เกิดที่สถิตอยู่ของอากาสัฏฐเทวดาผู้ถึงพร้อมด้วยความยินดีและแช่มชื่นอยู่ในสมบัติอันเป็นสิริมงคลของตน ผู้ที่บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ มักจะมาบังเกิดในภูมินี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ก่อนแต่จะเสด็จมาอุบัติในมนุษย์โลกในพระชาติสุดท้าย แล้วได้สำเร็จพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ก็จะได้มาบังเกิดในชั้นดุสิตเทวโลกนี้ก่อน ดังเช่นพระมหาโพธิสัตว์ของเราก็ได้มาบังเกิดในดุสิตเทวโลกนี้ ก่อนที่จะเสด็จหยั่งลงสู่พระครรภ์พระมารดาในคืนวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ แล้วได้ประสูติจากพระครรภ์พระมารดาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ ๒๖๒๐ ปี (ปีนี้ ๒๕๔๐) ที่ผ่านมานี้ได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในพระชาติสุดท้ายนี้ พระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์ พร้อมด้วยผู้ที่จะมาบังเกิดเป็นอัครสาวกนั้น เวลานี้ก็เสวยทิพยสมบัติอยู่ในดุสิตเทวโลกนี้เหมือนกัน

    เทวดาในชั้นนี้มีอายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ (๕๗๖ ล้านปีมนุษย์)

    ผู้ปฏิบัติถึงธรรมกาย เมื่อตรวจดูภพภูมินี้ ประสงค์จะดูว่าการบำเพ็ญบารมีของท่านมีผลอะไรปรากฏในดุสิตเทวโลกนี้ จงตั้งจิตอธิษฐานจักรแก้ว (จากศูนย์กลางธรรมกาย) ว่าหากมีผลบุญในการที่ได้บำเพ็ญบารมีมาจนถึงบรรลุธรรมกายนี้ปรากฏในดุสิตเทวโลกนี้อย่างไร ก็ขอให้จักรแก้วนำไปสู่ทิพยวิมานนั้น แล้วธรรมกายตามจักรแก้วนั้นไปดู ก็จะเห็นวิมานของตน พร้อมด้วยทิพยสมบัติ มีเทวดาผู้เป็นบริวารคอยรักษาอยู่หรือไม่ อย่างไร ถ้าเห็นมีเทวดาผู้เฝ้าประตูวิมานของเรา ก็จะเห็นเขาเปิดประตูเชื้อเชิญให้เข้าไปข้างในวิมาน ก็จงเข้าไปดู ไปสัมผัส และไปนั่งบนเตียงทิพย์ ก็จะได้รู้ได้เห็นและได้สัมผัสด้วยตนเอง

    มีข้อที่น่าสังเกตว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ (ศีล ๘ ขึ้นไป และเจริญสมาธิ-ปัญญา) จะมีแต่บริวารที่เป็นเทพบุตรทั้งนั้น ไม่มีเทพธิดา และจงสังเกตว่าเมื่อเราเข้าไปในวิมานของตนนั้น บรรดาเทพบุตรที่เป็นบริวารรักษาทิพยสมบัติรออยู่นั้น เขาแสดงอาการต้อนรับเราอย่างไร

    ความที่ว่า ผู้บำเพ็ญบารมี หรือผู้ประกอบคุณความดีที่ยังไม่ตายจากมนุษย์โลก แล้วยังปรากฏมีวิมานและทิพยสมบัติพร้อมด้วยบริวารรออยู่ในเทวโลก ตามศักดิ์แห่งบุญบารมีที่ประกอบบำเพ็ญอยู่นั้น มีตัวอย่างดังนี้

    ในสมัยเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนมชีพอยู่ ได้เสด็จประทับอยู่ที่อิสิปตนะ แขวงเมืองพาราณสี นันทิยะผู้เป็นบุตรของคฤหบดีอันเป็นตระกูลผู้มีศรัทธาในเมืองพาราณสี ได้สดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า แล้วมีความเลื่อมใสในอานิสงส์ของการถวายอาวาส จึงสร้างศาลา ๔ มุข ประดับด้วยห้อง ๔ ห้อง ในป่าอิสิปตนะ ถวายพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยอานิสงส์แห่งวิหารทานนั้น ก็ปรากฏปราสาทอันเป็นทิพย์สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ สูง ๑๐๐ โยชน์ กว้างและยาว ๑๒ โยชน์ พร้อมด้วยทิพยสมบัติและหมู่นางอัปสรเทพธิดาผุดขึ้นในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ รอนันทิยะผู้เป็นเจ้าของ ผู้ยังดำรงชีวิตในมนุษย์โลกอยู่

    ต่อมาวันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ ได้เห็นปราสาทอันยังไม่มีเจ้าของสถิตอยู่ ผุดลอยอยู่ จึงถามหมู่นางอัปสรเทพธิดาว่า ปราสาททิพย์นี้เป็นของผู้ใด พระมหาเถระได้รับคำตอบว่า เป็นของนันทิยะบุตรคฤหบดีเมืองพาราณสี พระมหาเถระจึงได้ลงจากเทวโลกมาทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมบัติอันเป็นทิพย์ย่อมเกิดแก่ชนทั้งหลาย ผู้ยังดำรงอยู่ในโลกมนุษย์ ผู้กระทำกรรมอันงาม ด้วยหรือพระเจ้าข้า ?”

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสว่า

    “โมคคัลลานะ สมบัติอันเป็นทิพย์ ที่บังเกิดแล้วแก่นันทิยะในเทวโลก อันเธอก็เห็นเองแล้วมิใช่หรือ ไฉนจึงถามเราเล่า ?” (ธ.อ.๑๕๖-๑๕๗)

    ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้อีก ความว่า

    “ญาติมิตร และคนมีใจดีทั้งหลาย เห็นบุรุษผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน มาแล้วแต่ที่ไกลโดยสวัสดี ย่อมยินดียิ่งว่า 'มาแล้ว' ฉันใด บุญทั้งหลายก็ย่อมต้อนรับแม้บุคคลผู้กระทำบุญไว้ ซึ่งไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า ดุจพวกญาติเห็นญาติที่รักมาแล้ว ต้อนรับอยู่ ฉะนั้นแหละ.” (อ้างแล้ว)

    ชั้นที่ ๓ ยามาภูมิ เป็นภูมิที่สถิตอยู่ของอากาสัฏฐเทวดา ผู้ปราศจากความลำบาก มีเทวราชผู้ปกครองชื่อ “ท้าวสุยามา” เทวดาชั้นนี้มีอายุ ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ (๑๔๔ ล้านปีมนุษย์)

    ชั้นที่ ๒ ตาวติงสาภูมิ หรือที่เรียกว่า ดาวดึงส์เทวโลก เป็นภูมิที่สถิตอยู่ของทั้ง อากาสัฏฐเทวดา และ ภุมมัฏฐเทวดา คือเทวดาที่อยู่บนพื้นดินซึ่งเป็นทิพย์ ได้แก่ พระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราช และเทวดาชั้นผู้ใหญ่ ๓๒ องค์ พร้อมด้วยบริวารทั้งหมด แต่พื้นดินอันเป็นที่สถิตของเทวดาชั้นนี้ คือ บริเวณตอนบนสุดหรือยอดเขาพระสุเมรุ มีลักษณะกลม กว้าง (เส้นผ่าศูนย์กลาง) ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ซึ่งล้วนสำเร็จด้วยแก้วกายสิทธิ์ ภุมมัฏฐเทวดาชั้นนี้เท้าจึงไม่ถึงพื้น

    ลักษณะเขาพระสุเมรุ

    ตามไหล่เขาพระสุเมรุทั้ง ๔ ด้าน ทิศตะวันออกเป็นเงิน ทิศตะวันตกเป็นแก้วผลึก ทิศเหนือเป็นทอง ทิศใต้เป็นแก้วมรกต เขาพระสุเมรุนี้ล้วนเป็นทิพย์ มีลักษณะเหมือนตะโพน (กลอง ๒ หน้า ตรงกลางกว้างกว่าหัวท้าย ที่เขาตีในวงปี่พาทย์) ที่วางตั้งขึ้น ตั้งอยู่ตรงกลางจักรวาล ความสูง ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์ ครึ่งบน (๘๔,๐๐๐ โยชน์) อยู่เหนือพื้นน้ำ (คือมหาสมุทรสีทันดร) ขึ้นไป ครึ่งล่าง (๘๔,๐๐๐ โยชน์) หยั่งลงในมหาสมุทร มีพื้นรากอยู่ระหว่างเขา ๓ ลูก ตั้งรับอยู่ ใต้พื้นฐานของเขาพระสุเมรุเป็นอุโมงค์กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นภพ (ที่อยู่) ของพวกเทวอสูร ๕ เหล่า คือ เวปจิตติอสูร, สุพลิอสูร, ราหุอสูร, ปหารอสูร และสัมพรตีอสูร ซึ่งสงเคราะห์เข้าในจำพวกภุมมัฏฐเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยเหมือนกัน

    บริเวณตอนบนยอดเขาพระสุเมรุนั้นแหละ เป็นที่สถิตอยู่ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีทั้งอากาสัฏฐเทวดาและภุมมัฏฐเทวดา เทวดาชั้นนี้มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ (๓๖ ล้านปีมนุษย์) เทวราชหรือจอมเทพชั้นดาวดึงส์นี้ คือพระอินทร์ หรือท้าวสักกเทวราช หรือท้าวโกสีย์อมรินทร์ นั่นเอง เป็นผู้ปกครองทั้งเทวดาชั้นดาวดึงส์และทั้งเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาด้วย มีช้างทรงชื่อ เอราวัณ (เป็นเทวดาเนรมิต ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน) มีนครชื่อ สุทัสสนะ มีปราสาทเวชยันต์ตั้งอยู่ตรงกลาง เป็นที่สถิตของท้าวสักกเทวราช สุทัสสนนครนี้กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ มีกำแพงล้อมรอบ ๔ ด้าน ด้านหนึ่งมีประตู ๒๕๐ ประตู รวม ๔ ด้านมี ๑,๐๐๐ ประตู ภายในพระนครมีสวนดอกไม้เป็นที่พักผ่อนรื่นเริงของเทวดาทั้งหลาย ๔ แห่ง คือ สวนนันทวัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร สวนจิตรลดา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก สวนมิสสกวัน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ สวนผรุสสวัน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ แต่ละสวนมีสระ ๒ สระ

    ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระนครมีสวน ๒ แห่ง คือ สวนปุณฑริก กับ สวนมหาวัน ที่สวนปุณฑริกมีต้นปาริฉัตร หรือต้นปาริชาต (เหมือนต้นทองหลางลาย) ใต้ต้นปาริฉัตรมีพระแท่นปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ มีสีดุจผ้ากัมพลแดงอมเหลือง เป็นที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เคยประทับเพื่อแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพุทธมารดาและเทวดาทั้งหลาย มีศาลาสุธัมมาเทวสภา เป็นที่ประชุมเทวดาผู้มาฟังธรรมด้วย

    ณ สวนปุณฑริกนี้ ยังมีเจดีย์ที่สำเร็จด้วยอัญญมณีแก้วมรกต ชื่อ พระจุฬามณี สูง ๑๐๐ โยชน์ เป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาและพระเกษาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระขรรค์ที่ทรงใช้ตัดพระเกษา เมื่อครั้งเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ได้อธิษฐานบรรพชา แล้วใช้พระขรรค์ตัดพระเกษา ทรงโยนขึ้นไปในอากาศ แล้วท้าวสักกเทวราชได้ทรงรับไว้ นำไปประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์จุฬามณีนี้

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเสด็จประทับอยู่ในกูฏาคารศาลา เมืองเวสาลี เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลิ ได้ทูลถามปัญหาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมแห่งเทพทั้งหลาย พระองค์ทรงเห็นแล้วหรือ ?” ตรัสตอบว่า “มหาลิ ท้าวสักกะจอมแห่งเทพทั้งหลาย เราเห็นแล้ว” แล้วตรัสเล่าต่อไป มีความย่อที่สำคัญว่า ที่ทรงพระนามว่า สักกะ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้เป็นผู้ชอบให้ทานก่อนผู้อื่นและให้ทานด้วยความเคารพ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์เป็นมานพชื่อ มฆะ มีภรรยา ๔ คน ชื่อ สุนันทา สุจิตรา สุธัมมา และ สุชาดา เป็นหัวหน้าคณะผู้ใจบุญ ๓๓ คน ชื่อ คณะสหบุญญการี อยู่ในหมู่บ้าน มจลคาม ชอบช่วยกันทำความสะอาดปัดกวาดถนนหนทางภายในหมู่บ้าน ตั้งโรงน้ำไว้บริเวณข้างทางให้คนที่สัญจรไปมาได้ดื่ม และได้ช่วยกันสร้างศาลาที่พักคนเดินทาง ครั้นสิ้นชีวิตลง ได้ไปเกิดเป็นจอมเทพในชั้นดาวดึงส์ จึงชื่อว่า มฆวา หรือ มัฆวาน ส่วนสหายอีก ๓๒ คนนั้น เมื่อสิ้นชีวิตลงต่างก็ไปเกิดเป็นเทวดาผู้ใหญ่ ในชั้นเดียวกันนี้ ช่างไม้ผู้ช่วยสร้างศาลาที่พักคนเดินทาง เมื่อสิ้นชีวิตลงก็ได้ไปบังเกิดเป็น วิสสุกัมมเทพบุตร มฆมานพนั้น ด้วยอานิสงส์ที่ได้สมาทานวัตตบท ๗ (สํ.ส.๑๕/๙๐๖/๓๓๕) อย่างสมบูรณ์ ตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว จึงได้มาบังเกิดเป็นพระอินทร์ หรือ ท้าวสักกเทวราช

    วัตตบท ๗ นั้น คือ

    เป็นผู้เลี้ยงบิดามารดาตลอดชีวิต
    เป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ในตระกูลตลอดชีวิต
    เป็นผู้พูดอ่อนหวาน (ไม่กล่าววาจาหยาบคาย, ด่าทอผู้อื่น) ตลอดชีวิต
    ไม่เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ยุแยกให้เขาแตกสามัคคีกันตลอดชีวิต
    เป็นผู้มีจิตปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ ยินดีในการเสียสละ หรือการ บริจาคทาน อยู่ครอบครองเรือนตลอดชีวิต
    เป็นผู้กล่าวคำสัตย์ ตลอดชีวิต
    เป็นผู้ไม่โกรธตลอดชีวิต ถ้ามีความโกรธเกิดขึ้น ก็หักห้ามข่มความโกรธโดยพลัน
    ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสอีกว่า

    “ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เรียกนรชนผู้เลี้ยงมารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล กล่าวถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน ละวาจาส่อเสียด ประกอบในการกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ข่มความโกรธได้ นั้นแล ว่า 'สัปบุรุษ'.” (สํ.ส.๑๕/๙๐๗/๓๓๖)

    อนึ่ง ท้าวสักกเทวราชนี้ ทรงได้เคยสดับพระธรรมเทศนาจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พรหมชาลสูตร) จบแล้ว ก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบัน ดังที่พระพุทธองค์เมื่อประทับอยู่ในเวฬุคาม ได้ตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายผู้กำลังประชุมกันอยู่ ถึงท้าวสักกเทวราชที่ทรงมีความสิเนหาในพระบรมศาสดา ได้ทรงสละทิพยสมบัติ และทรงสละอัตตภาพประมาณ ๓ คาวุต๑๒ (๓๐๐ เส้น) ของพระองค์ เสด็จมาบำรุงพระบรมศาสดา ขณะอาพาธลงพระโลหิต ท้าวสักกะได้ทรงทูนหม้อพระบังคนหนัก (หม้ออุจจาระ) ของพระบรมศาสดาไว้บนพระเศียร (เพื่อนำไปทิ้ง) โดยมิได้ทรงรังเกียจ ทรงสรรเสริญท้าวสักกะว่า

    “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ท้าวสักกเทวราชทำความรักในเรานั้น ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะท้าวสักกเทวราชนี้ฟังธรรมเทศนาแล้วเป็นพระโสดาบัน ละความเป็นท้าวสักกะชรา ถึงความเป็นท้าวสักกะหนุ่ม เหตุอาศัยเรา ...” (ธ.อ.๑๓๕)

    และได้ยินว่า ท้าวเธอจะอยู่ในภพดาวดึงส์นี้จนตลอดสิ้นอายุ เมื่อจุติจากดาวดึงส์แล้วจะได้มาบังเกิดเป็นจักรพรรดิในมนุษย์โลก และจะได้สำเร็จมรรคผลเป็นพระสกิทาคามี เมื่อสิ้นชีวิตจากมนุษย์โลกแล้ว จะได้ไปบังเกิดในดาวดึงส์เทวโลกอีก และจะได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอนาคามี เมื่อสิ้นอายุในภพดาวดึงส์แล้ว จะได้ไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาส ตั้งแต่ชั้นอวิหา เป็นต้นไป จนถึงชั้นอกนิฏฐภพ ได้บรรลุพระอรหัตตผล แล้วปรินิพพานในชั้นนั้น

    ชั้นที่ ๑ จาตุมมหาราชิกาภูมิ

    อยู่ตอนกลางของเขาพระสุเมรุ เสมอๆ ระดับภูเขายุคันธร ลงจนถึงโลกมนุษย์ อาณาเขตแผ่กว้างไปจนจรดขอบภูเขาจักรวาล นี้เป็นที่สถิตอยู่ของท้าวมหาราช ๔ องค์ ผู้รักษาโลกมนุษย์ด้วย จึงชื่อว่า “ท้าวจตุโลกบาล” คือ

    ท้าวธตรฐ มีอาณาเขตปกครองอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ เป็นผู้ปกครองคนธรรพเทวดา ทั้งหมด
    ท้าววิรุฬหก มีอาณาเขตปกครองอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑ์ (เทวดาท้องพลุ้ย) ทั้งหมด
    ท้าววิรูปักษ์ มีอาณาเขตปกครองอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ เป็นผู้ปกครองนาคเทวดาทั้งหมด
    ท้าวเวสสวัณ หรือ ท้าวกุเวร มีอาณาเขตปกครองอยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เป็นผู้ปกครองยักษ์เทวดาทั้งหมด
    เทวดาเหล่านี้มีอายุ ๕๐๐ ปีทิพย์ (๙ ล้านปีมนุษย์) มีทั้งที่เป็นอากาสัฏฐเทวดา และ ภุมมัฏฐเทวดา

    อากาสัฏฐเทวดา มีวิมานเป็นของตนๆ อยู่ในอากาศ เช่น สุริยเทพ (เทวดาสถิตอยู่กับพระอาทิตย์), จันทิมเทพ (เทวดาสถิตอยู่กับพระจันทร์), สีตวลาหกเทพ (เทวดาทำให้อากาศเย็น), อุณหวลาหกเทพ (เทวดาทำให้อากาศร้อน), พิรุณเทพ (เทวดาแห่งฝน) เป็นต้น
    ภุมมัฏฐเทวดา คือเทวดาที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน รวมทั้งที่อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือภูเขา (ปัพพตเทวดา) หรือตามต้นไม้ ซึ่งมีทั้งรุกขเทวดาและคนธรรพเทวดา ตามแม่น้ำ มหาสมุทร ตามศาลา เจดีย์ ซุ้มประตูของวัดหรือบ้านเรือน เป็นต้น
    รุกขเทวดา อาศัยอยู่ตามต้นไม้มีแก่นโดยทั่วไป เมื่อต้นไม้นั้นตายหรือถูกตัดไปแล้ว เทวดานั้นก็หาที่อยู่อาศัยใหม่ ส่วนคนธรรพเทวดา มีกำเนิดและอาศัยอยู่ตามต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม (แก่นหอม, เปลือกหอม, ดอกหอม, รากหอม) เช่น ต้นจันทน์หอม จันอิน กฤษณา กันเกรา ตะเคียนทอง สารภี กรรณิการ์ กากะทิง ลำดวน พิกุล สาละลังกา ฯลฯ ที่เราเรียกว่า “นางไม้” หรือ “แม่ย่านาง” ก็มี และเทวดาพวกนี้ แม้ต้นไม้นั้นจะตายไปแล้ว หรือถูกคนตัดเอาไปสร้างบ้านเรือนหรือเรือแล้วก็ตาม มักจะไม่ค่อยยอมละทิ้งที่อยู่ของตนไปง่ายๆ คงอาศัยสิงอยู่ที่ต้นไม้นั้น บางครั้งก็จะแสดงตนให้คนเห็น
    เทวดาในชั้นจาตุมมหาราชิกานี้ ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็มี ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็มี ที่มีใจคอโหดร้ายก็มี ได้แก่ เทวดายักษ์, เทวดาคนธรรพ์, เทวดากุมภัณฑ์, เทวดานาค ถ้าใครทำให้ไม่ถูกใจ ก็จะให้โทษได้ เช่นพวกเทวดากุมภัณฑ์ที่ท้าววิรุฬหกกำหนดให้เฝ้าสมบัติ ได้แก่ แก้วมณี ของวิเศษ เช่น เหล็กไหล หรือต้นยาประเสริฐ ที่อยู่ตามถ้ำตามเขา เป็นต้น ถ้าใครล่วงล้ำกล้ำกรายไปในเขตที่เขาดูแลรักษา เพื่อจะเอาสมบัติหรือของวิเศษนั้นด้วยความโลภ ก็จะให้โทษ และมีสิทธิจับกินได้ ส่วนพระอริยเจ้าเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ผู้มีกำลังฤทธิ์หรือมีอำนาจสิทธิสูงกว่าพวกเขา ก็จะปลอดภัย และอาจข่ม/บังคับเขาได้ เช่นเรื่องสุมนสามเณร (ธ.อ.๙๓-๙๙) มีความย่อว่า

    สุมนสามเณร เป็นอันเตวาสิก (ศิษย์) ของพระอนุรุทธ ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ในเวลาปลงผมเสร็จ ซึ่งมีอายุในขณะนั้นเพียง ๗ ขวบ ได้เคยทรมานปันนกนาคราช (พญานาคผู้อาศัยอยู่ในสระอโนดาต ในป่าหิมพานต์) เพื่อนำน้ำดื่มไปประกอบยาถวายพระอนุรุทธผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อให้หายจากโรคลมเสียดท้อง พญานาคไม่ยอมให้ โดยนอนแผ่พังพานปกคลุมปิดสระอโนดาตซึ่งกว้างประมาณ ๕๐ โยชน์เอาไว้ ไม่ยอมให้สุมนสามเณรได้นำน้ำไปถวายพระอุปัชฌาย์ สุมนสามเณรจึงไปบอกเทวดาและพรหมให้มาดูการต่อสู้ประลองฤทธิ์ของตนกับพญานาคนี้ พญานาคได้กล่าวท้าทายสุมนสามเณรว่า ถ้าสามเณรเก่งจริง ก็มาเอาน้ำดื่มไปเถิด ถึง ๓ ครั้ง สุมนสามเณรก็รับคำท้านั้นทั้ง ๓ ครั้ง แล้วจึงเหาะขึ้นไปยืนบนอากาศนิรมิตกายเป็นพรหมโตขนาดประมาณ ๑๒ โยชน์ แล้วลงจากอากาศ เหยียบที่พังพานของพญานาค กดหน้าพญานาคให้คว่ำลง พญานาคพ่ายแพ้ต่ออานุภาพของสามเณร แผ่นพังพานได้หดเล็กลงเหลือขนาดประมาณเท่าทัพพี พอแผ่นพังพานหดเล็กลง สายน้ำก็พุ่งขึ้นจากสระอโนดาตเท่าลำตาล สามเณรก็เอาขวดที่นำมา รองน้ำได้เต็มขวด แล้วนำไปถวายพระอุปัชฌาย์ หมู่ทวยเทพที่มาประชุมกันเพื่อดูการประลองฤทธิ์ ณ ที่นั้น ต่างให้อนุโมทนาสาธุการแก่สุมนสามเณร พญานาคเกิดความละอายต่อหมู่เทพยดา โกรธจัด จึงรีบติดตามสามเณรเพื่อจะจับฆ่าเสีย แต่ไม่อาจตามทันและทำอันตรายได้ ภายหลังจึงยอมรับอานุภาพของสามเณร และได้ปวารณาตัวรับใช้สามเณร หากสามเณรต้องการน้ำจากสระอโนดาตอีก.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  7. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ๓. กามสุคติภูมิ ๗

    ข) มนุสสภูมิ

    คำว่า มนุษย์ (มนุสฺส) (ความหมายของคำว่า มนุษย์ ชื่อว่ามนุษย์ เพราะมีใจรุ่งเรืองและกล้าแข็ง. ความหมายอื่นๆ เช่น เพราะเข้าใจในสิ่งเป็นเหตุอันสมควรและไม่สมควร บ้า่ง ในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ บ้าง ในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล บ้าง) นี้ ความหมายโดยมุขนัย (นัยแรก) ได้แก่คนที่อยู่ในชมพูทวีป เพราะคนที่อยู่ในชมพูทวีปเป็นผู้มีจิตใจกล้าแข็งกว่าคนทวีปอื่น ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ความหมายโดยสทิสูปาจารนัย (นัยคล้ายๆ กัน หรือใกล้เคียงกัน) ก็ได้แก่คนที่อยู่ในทวีปทั้ง ๓ ที่เหลือ เพราะคนที่อยู่ในทวีปทั้ง ๓ เพราะมีรูปร่างสัณฐานเหมือนกันกับคนที่อยู่ในชมพูทวีปนั้นเอง

    ความที่คนในชมพูทวีปมีจิตใจกล้าแข็งนั้น เพราะในฝ่ายดี สามารถทำให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวก มหาสาวก ปกติสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ ฌานลาภี อภิญญาลาภี ได้ ในฝ่ายไม่ดี เช่น สามารถฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาท และทำสังฆเภท

    ส่วนจิตใจของคนที่อยู่ในทวีปทั้ง ๓ นั้น ไม่สามารถจะทำเช่นนี้ได้ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี

    มนุสสภูมิ หมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ ได้แก่ ทวีปใหญ่ ๔ ทวีป อันตั้งอยู่ ๔ ทิศ รอบเชิงเขาพระสุเมรุ ส่วนที่พ้นจากมหาสมุทรสีทันดร ทวีปใหญ่แต่ละทวีป ยังมีทวีปน้อย ๕๐๐ เป็นบริวาร ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีดังนี้ (อํ.นวก.๒๔/๒๙/๖๒)



    ปุพพวิเทหทวีป อยู่ด้านทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ เพราะพื้นที่ไหล่เขาพระสุเมรุด้านทิศตะวันออกเป็นเงิน ดังนั้นสีของน้ำในมหาสมุทร ในอากาศ ใบไม้ต้นไม้ ทางด้านนี้ จึงเป็นสีเงิน คนที่อยู่ในทวีปนี้ มีเค้าหน้ารูปทรงเกือบกลมดั่งอัฒจันทร์หรือบาตรคว่ำ และมีอายุ ๗๐๐ ปีเสมอ เพราะมนุษย์ในทวีปนี้มีระดับศีลธรรมสม่ำเสมอ


    ชมพูทวีป คือ มนุษยโลกของเรานี่เอง อยู่ด้านทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เพราะพื้นที่ไหล่เขาพระสุเมรุด้านทิศใต้เป็นมรกต ดังนั้นสีของน้ำในมหาสมุทร ในอากาศ ใบไม้ต้นไม้ ทางด้านนี้ จึงเป็นสีเขียว คนที่อยู่ในทวีปนี้ มีเค้าหน้ารูปทรงรีๆ ดังไข่ไก่หรือเรือนเกวียน และมีอายุขัยไม่แน่นอน ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของกิเลสหรือบุญกุศลของมนุษย์ทั้งหลาย กล่าวคือ สมัยใดที่มนุษย์ทั้งหลายมีศีลมีธรรมมากขึ้น ก็มีอายุยืนยาวขึ้น ใน ๑๐๐ ปี จะมีอายุขัย (โดยเฉลี่ย) เพิ่มขึ้น ๑ ปี ต่อๆ ไปอย่างนี้ จนมีอายุนานถึง ๑ อสงไขยปี แล้วมีอาการเสื่อมลงด้วยอำนาจของไตรลักษณ์ (อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา) และมนุษย์ทั้งหลายเริ่มมีความประมาทหลงมัวเมาในชีวิต ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ มีจิตใจเหี้ยมโหด ไร้ศีลธรรม เบียดเบียนทรัพย์สิน ล่วงเกินบุตรภรรยาสามีของผู้อื่น เสพสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รบราฆ่าฟันกันมากขึ้น ผลจากกรรมชั่วเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกรรมในการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รบราฆ่าฟันกันมากขึ้นนี้ จึงทำให้อายุขัย (โดยเฉลี่ย) ของมนุษย์ลดลงตามลำดับ ใน ๑๐๐ ปี อายุขัยลดลง ๑ ปี อย่างเช่นปัจจุบันนี้ อายุขัยของมนุษย์ในยุคนี้ (โดยเฉลี่ย) ประมาณ ๗๕ ปี เมื่อเทียบกับอายุขัยของมนุษย์สมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ คือ ๑๐๐ ปี
    กำหนดเวลา ๑ รอบอสงไขยปี คือนับจากสมัยที่อายุปวงมนุษย์ยืนนานถึง “อสงไขยปี” แล้วมีอาการเสื่อมถอยน้อยลงมาจนถึง ๑๐ ปี และกลับมีอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอสงไขยปีอีกตามเดิม นี้แลเรียกว่า ๑ อันตรกัป

    ๑๐ x ๑๐๑๔๐ ปี
    ๑ รอบอสงไขย
    ๖๔ อันตรกัป
    ๔ อสงไขยกัป เป็น ๑ อสงไขย
    เป็น ๑ อันตรกัป
    เป็น ๑ อสงไขยกัป
    เป็น ๑ มหากัป


    อปรโคยานทวีป อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ เพราะพื้นที่ไหล่เขาพระสุเมรุด้านทิศตะวันตก เป็นแก้วผลึก ดังนั้นสีของน้ำในมหาสมุทร ในอากาศ ใบไม้ต้นไม้ ทางด้านนี้ จึงเป็นสีใสเหมือนแก้วผลึก คนที่อยู่ในทวีปนี้ มีเค้าหน้ารูปทรงกลมดั่งพระจันทร์วันเพ็ญ และมีอายุ ๕๐๐ ปีเสมอ เพราะมนุษย์ในทวีปนี้มีระดับศีลธรรมสม่ำเสมอ


    อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางด้านทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เพราะพื้นที่ไหล่เขาพระสุเมรุด้านทิศเหนือเป็นทอง ดังนั้นสีของน้ำในมหาสมุทร ในอากาศ ใบไม้ต้นไม้ ทางด้านนี้ จึงเป็นสีทอง คนที่อยู่ในทวีปนี้ มีเค้าหน้ารูปทรงสี่เหลี่ยมดังตั่ง และมีอายุ ๑,๐๐๐ ปีเสมอ เพราะมนุษย์ในทวีปนี้มีระดับศีลธรรมสม่ำเสมอ
    ธรรมดาคนอุตตรกุรุทวีปมีการรักษาศีล ๕ เป็นนิจ ฉะนั้นเมื่อคนเหล่านี้ตายแล้ว ย่อมไปบังเกิดในเทวโลกอย่างแน่นอน แต่ถ้าสิ้นอายุขัย จุติจากเทวโลกแล้ว อาจไปบังเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ หรือทวีปอื่น หรือภูมิใดภูมิหนึ่งก็ได้

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสความที่คนชมพูทวีปมีคุณ ๓ ประการสูงกว่า ประเสริฐกว่าคนอุตตรกุรุทวีป และเทวดาชั้นดาวดึงส์ ว่า (อํ.นวก.๒๓/๒๒๕/๔๐๙)



    “ภิกษุทั้งหลาย คนชมพูทวีปเป็นผู้มีคุณสูงและประเสริฐกว่าคนอุตตรกุรุและเทวดาชั้นดาวดึงส์อยู่ ๓ อย่างคือ มีจิตใจกล้าแข็งในการทำความดี (สุร) มีสติตั้งมั่นในพระรัตนตรัย (สติมนฺต) ประพฤติพรหมจรรย์คือบวชได้ (พฺรหฺมจริยวาส)”



    และได้ตรัสความที่คนอุตตรกุรุทวีปมีคุณ ๓ ประการสูงกว่า ประเสริฐกว่าคนชมพูทวีป และเทวดาชั้นดาวดึงส์ ไว้ดังนี้ (อํ.นวก.๒๓/๒๒๕/๔๐๘-๔๐๙)

    “ภิกษุทั้งหลาย คนอุตตรกุรุทวีปเป็นผู้มีคุณสูงกว่าคนชมพูทวีปและเทวดาชั้นดาวดึงส์อยู่ ๓ อย่างคือ ไม่ถือเอาเงินทองว่าเป็นของตน (อมม) ไม่หวงแหนหรือถือเอาว่าเป็นบุตร ภรรยา สามี ของตน (อปริคฺคห) มีอายุยืนถึง ๑,๐๐๐ ปีเสมอ (นิยตายุก).”
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • fa2.jpg
      fa2.jpg
      ขนาดไฟล์:
      16 KB
      เปิดดู:
      472
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  8. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ๔. ทุคคติภูมิ: อสุรกาย เปรต ดิรัจฉาน สัตว์นรก



    ข) เปตติวิสยภูมิ
    คำว่า เปตะ นี้ หมายถึง คนที่ตายไปแล้ว แต่โดยทั่วไป หมายถึง สัตว์ที่เป็นเปรต

    ที่อยู่ที่เกิดของเปรตทั้งหลาย ชื่อว่า เปตติวิสยะ เพราะธรรมดาเปรตทั้งหลายย่อมไม่มีที่อาศัยอยู่โดยเฉพาะ แต่อาศัยอยู่ตามที่ทั่วไป เช่น ตามป่า ตามภูเขา เหว เกาะ ทะเล มหาสมุทร ป่าช้า

    เปรตนั้น ได้แก่ ผี ยักษ์ และเปรต เป็นต้น ซึ่งคนทั้งหลายใช้พูดกันอยู่ทั่วไป เปรตมีหลายจำพวกด้วยกัน บางจำพวกเป็นเปรตเล็ก บางจำพวกก็เป็นเปรตใหญ่ เปรตนี้เนรมิตตัวให้เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ก็ได้ ฝ่ายอิฏฐารมณ์ให้เห็นเป็นเทวดา เป็นชายเป็นหญิง ดาบส เณร พระ แม่ชี ถ้าฝ่ายอนิฏฐารมณ์ให้เห็นเป็นวัว ควาย ช้าง สุนัข รูปร่างสัณฐานน่ากลัว มีศีรษะใหญ่ ตาพอง และบางทีก็ไม่ปรากฏชัด เพียงแต่ให้เห็นเป็นสีดำ แดง ขาว ในบรรดาเปรตทั้งหลายนี้ บางพวกก็ต้องเสวยทุกข์อยู่นาน มีการอดข้าว อดน้ำ บางพวกก็เข้าไปกินเศษอาหารที่ชาวบ้านทิ้งไว้ในที่โสโครก บางพวกก็กินเสมหะ น้ำลายและอุจจาระ ส่วนเปรตที่อาศัยอยู่ตามภูเขา เช่นเขาคิชฌกูฏนั้น ไม่ใช่แต่จะอดอาหารอย่างเดียว ยังต้องเสวยทุกข์เหมือนกันกับสัตว์นรกอีกด้วย* เปรต ๔ ประเภท ในอรรถกถาเปตวัตถุ คือ

    ปรทัตตูปชีวิกเปรต เปรตที่มีการเลี้ยงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นอุทิศให้
    ขุปปิปาสิกเปรต เปรตที่ถูกเบียดเบียนด้วยความหิวข้าวหิวน้ำ
    นิชฌามตัณหิกเปรต เปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
    กาลกัญจิกเปรต เป็นชื่อของอสุราที่เป็นเปรต
    กาลกัญจิกเปรตนี้มีร่างกายสูง ๓ คาวุต ไม่ค่อยมีแรง เพราะมีเลือดและเนื้อน้อย มีสีคล้ายใบไม้แห้ง ตาถลนออกมาเหมือนกับตาของปู และมีปากเท่ารูเข็มตั้งอยู่กลางศีรษะ
    เปรต ๒๑ จำพวก ในพระวินัย และลักขณสังยุต (สํ.นิ.๑๖/๖๓๖-๖๖๑/๒๙๘-๓๐๖)




    อัฏฐิสังขสิกเปรต เปรตที่มีกระดูกติดต่อกันเป็นท่อนๆ แต่ไม่มีเนื้อ
    มังสเปสิกเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นชิ้นๆ แต่ไม่มีกระดูก
    มังสปิณฑเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน
    นิจฉวิปริสเปรต เปรตที่ไม่มีหนัง
    อสิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์
    สัตติโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นหอก
    อุสุโลมเปรต เปรตที่มีขนยาวเป็นลูกธนู
    สูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็ม
    ทุติยสูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ ๒
    กุมภัณฑเปรต เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก
    คูถกูปนิมุคคเปรต เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ
    คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระ
    นิจฉวิตกเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง
    ทุคคันธเปรต เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า
    โอคิลินีเปรต เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ
    อสีสเปรต เปรตที่ไม่มีศีรษะ
    ภิกขุเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนภิกษุ
    ภิกขุนีเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนภิกษุณี
    สิกขมานเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสิกขมานา
    สามเณรเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณร
    สามเณรีเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณรี
    หมายเหตุ เปรตงู และเปรตกา ที่มาในอรรถกถาธรรมบทนั้น เปรตงูมีร่างกายยาว ๒๕ โยชน์ เปรตกามีร่างกายใหญ่ ๒๕ โยชน์

    เปรตที่รับส่วนบุญได้

    บรรดาเปรตทั้งหลายที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เปรตที่มีโอกาสจะได้รับส่วนบุญจากญาติอุทิศให้ ก็มีแต่ปรทัตตูปชีวิกเปรตจำพวกเดียวเท่านั้น ส่วนเปรตอื่นๆ ที่นอกจากนี้ไม่สามารถจะรับส่วนบุญที่ญาติอุทิศไปให้ได้ เพราะเหตุว่าเปรตเหล่านี้อยู่ห่างไกลจากหมู่มนุษย์ ส่วนปรทัตตูปชีวิกเปรตนั้น เป็นเปรตที่เกิดอยู่ในบริเวณบ้าน เช่น บุคคลบางคนถูกฆ่าตายโดยปัจจุบัน หรือผู้ที่ตายตามธรรมดาก็ตาม แต่มีความห่วงใยอาลัย ก็เกิดเป็นเปรตอยู่ในบริเวณบ้านนั้นเอง และปรากฏตนให้บรรดาญาติหรือบุคคลอื่นๆ เห็นได้ ตามที่ชาวบ้านเขานิยมพูดกันว่าผีหรือเปรต ผีหรือเปรตเหล่านี้ก็ได้แก่ ปรทัตตูปชีวิกเปรตนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าปรทัตตูปชีวิกเปรตจะเป็นเปรตที่เกิดอยู่ในบริเวณบ้านทั้งหลายได้ก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้ว่าเขาแผ่ส่วนบุญให้ หรือรู้แล้วแต่ไม่ตั้งใจอนุโมทนาในส่วนบุญนั้น ก็ไม่สามารถที่จะรับส่วนบุญนั้นได้เหมือนกัน ฉะนั้นในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีจิตใจที่ไม่รู้ถึงคุณงามความดี ปล่อยให้อวิชชา มิจฉาทิฏฐิ ครอบงำจิตใจหนาแน่น เมื่อถึงคราวตกต่ำ แล้วแม้มีผู้ต้องการช่วยเหลือ ตนเองก็ไม่อาจจะรับความช่วยเหลือนั้นได้ เพราะความเห็นผิดของตนนั้นนั่นเอง

    เรื่องสัตว์ที่ตายไปแล้วรับส่วนบุญไม่ได้

    บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ต่างก็ไปเกิดอยู่ในนรกบ้าง เป็นดิรัจฉานบ้าง เป็นเปรตที่อยู่ห่างไกลจากหมู่มนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ส่วนญาติทั้งหลายที่อยู่ภายหลังต่างก็ชวนกันทำบุญอุทิศให้แก่บุคคลเหล่านี้อยู่เสมอๆ ก็ตาม ก็ไม่สำเร็จประโยชน์อันใดแก่บุคคลที่ได้ไปถือกำเนิดในที่ต่างๆ เช่นนั้นได้ แต่คงเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อุทิศให้เท่านั้น เช่นญาติคนหนึ่งของเราถึงแก่ความตายลง และเกิดเป็นสุนัขอยู่ในบ้าน ถึงแม้ว่าญาติจะทำบุญแล้วอุทิศให้ก็จริง แต่บุญนั้นก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรให้แก่สุนัขนั้นได้ ถึงแม้เป็นเทวดาหรือเป็นพรหมก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่รู้ว่าญาติของตนทำบุญและอุทิศส่วนบุญมาให้เท่านั้น บุญนั้นไม่สำเร็จประโยชน์อันใดให้แก่เทวดาและพรหมทั้งหลายเลย

    ส่วนผู้ที่ทำบุญอุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ถึงแม้ญาตินั้นจะไม่ได้รับส่วนบุญอุทิศไปให้ บุญที่ผู้กระทำได้อุทิศไปให้นั้นก็ไม่สูญหายไปไหน คงเป็นบุญติดตัวอยู่แก่ผู้กระทำเสมอ ทั้งในชาตินี้ชาติหน้าและชาติต่อๆ ไป

    เรื่องเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสาร
    ในกัปที่ ๙๒ นับจากภัทรกัปนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปุสสะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระราชบิดาพระนามว่า ชัยเสนะ เป็นพระราชาผู้ครองนครกาสี มีพระราชมารดาผู้ทรงเป็นพระราชเทวีพระนามว่า สิริมา มีพระกนิษฐภาดา (น้องชาย) ต่างพระมารดากัน ๓ พระองค์ ทั้ง ๓ พระองค์มีขุนคลังคนเดียวกัน มีขุนส่วยในชนบทคนเดียวกัน

    พระราชโอรสทั้ง ๓ ของพระราชาทรงมีพระประสงค์จะทรงทำนุบำรุงพระบรมศาสดาผู้เป็นพระเชษฐภาดา (พี่) ของพระองค์ตลอด ๓ เดือน จึงทูลขออนุญาตพระราชบิดา เมื่อพระราชบิดาได้ทรงอนุญาตแล้ว พระราชโอรสทั้ง ๓ จึงทรงมอบหมายให้ขุนส่วยสร้างวิหารสำหรับพระศาสดา และพระภิกษุสงฆ์สาวก แล้วได้ทรงนิมนต์พระศาสดาไปมอบถวายวิหาร เมื่อพระศาสดาทรงรับแล้ว พระราชโอรสทั้ง ๓ ก็ได้รับสั่งให้ขุนคลังและขุนส่วยให้จัดการทำภัตตาหารถวายแด่พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก ๙ หมื่นรูป โดยทรงมอบค่าใช้จ่ายไว้ให้ ส่วนพระราชโอรสทั้ง ๓ นั้น พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ก็ได้ทรงสมาทานศีล ๑๐ นุ่งผ้ากาสายะ (ผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด) ประทับอย่างสงบ โดยไม่รับสั่งอะไรอีกในวิหารนั้นเอง ตลอด ๓ เดือน

    ขุนคลังพร้อมด้วยภรรยา และขุนส่วย รับพระบัญชาแล้ว และพาบุรุษชาวชนบท ๑๑๐,๐๐๐ คน ทำภัตตาหาร ถวายทานตามวาระ แด่พระศาสดาและพระสงฆ์สาวก บรรดาพวกชาวชนบททั้งหมดนั้น มีพวกหนึ่งประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้ถูกความโลภเข้าครอบงำ ได้กินไทยธรรมด้วยตนเองบ้าง ได้ให้แก่พวกลูกหลานของตนไปกินบ้าง บางพวกมีจิตริษยา เอาไฟเผาโรงภัตตาหารเสียบ้าง เมื่อพวกคนเหล่านี้ตายไป ต่างก็ไปบังเกิดในนรกถึง ๙๒ กัป

    ส่วนพระราชโอรสทั้ง ๓ พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ขุนคลัง ภรรยา และ ขุนส่วย และบริวารผู้ประกอบกรรมดีด้วยทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล ต่างก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ จากสวรรค์ถึงสวรรค์ (ชั้นต่างๆ) ตลอด ๙๒ กัป

    ครั้นถึงกาลเสด็จอุบัติขึ้นในโลกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม ของเรานี้ พระราชโอรสทั้ง ๓ พร้อมทั้งข้าราชการบริพาร จุติจากสวรรค์แล้ว ได้มาบังเกิดในสกุลพราหมณ์ในแคว้นมคธ ได้เป็นชฎิล (นักบวชประเภทหนึ่ง เกล้าผมมุ่นเป็นมวยสูงขึ้น มักถือลัทธิบูชาไฟ บางครั้งจัดเข้าในพวกฤๅษี) ๓ พี่น้องคือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ พร้อมด้วยชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ คน ส่วนขุนคลัง ได้มาบังเกิดเป็นมหาเศรษฐีชื่อ วิสาขะ (คนละคนกับมหาอุบาสิกาวิสาขา) ภรรยาขุนคลังได้มาเกิดเป็นธิดามหาเศรษฐีชื่อ ธัมมทินนา ขุนส่วยได้เป็นพระเจ้าพิมพิสาร บริวารทั้งหลายได้มาเป็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร

    ส่วนบรรดาพวกชาวชนบทที่ถูกความโลภเข้าครอบงำแล้วกินภัตตาหารเครื่องไทยทาน และเอาภัตตาหารเครื่องไทยทานให้ลูกหลานไปกินด้วย และพวกที่ถูกความริษยาครอบงำแล้วเผาโรงภัตตาหาร เหล่านั้น เมื่อไปสู่นรก จากนรก (ขุมใหญ่) ได้เข้าถึงนรก (ขุมเล็ก) ได้รับความทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น จนถึง ๙๒ กัป ครั้นถึงสมัยที่พระพุทธเจ้ากัสสปะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็ได้พ้นเวรจากนรกมาเกิดเป็นเปรตอีก ได้รับความทุกข์ทรมานด้วยความอดอยากหิวโหยยิ่งนัก เห็นพวกเปรตตนอื่นๆ เขามีญาติทำบุญอุทิศให้ ส่วนพวกตนไม่ได้รับกับเขา จึงไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้ากัสสปะ ว่า

    “พระองค์ผู้เจริญ ทำไมหนอ พวกข้าพเจ้าจะพึงได้สมบัติ (ภัตตาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) เช่นนั้นบ้าง ?”

    พระพุทธเจ้ากัสสปะได้ตรัสแก่พวกเปรตเหล่านั้นว่า


    “ในกาลนี้ พวกเธอยังไม่ได้ ในอนาคตกาล (อีก ๑ พุทธันดร) ญาติของพวกเจ้าจักเป็นพระราชาพระนามว่าพิมพิสาร ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าโคดม พระเจ้าพิมพิสารนั้นจักถวายทานแด่พระพุทธเจ้านั้น แล้วทรงอุทิศผล (ทาน) แก่พวกเจ้า ครั้งนั้น พวกเธอจึงจักได้.”



    พวกเปรตเหล่านั้น จึงได้แต่รอหวังที่จะได้รับส่วนบุญจากพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยความอดอยากหิวโหยต่อมาอีก ๑ พุทธันดร (พุทธันดร คือ ช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนา คือช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสิ้นแล้ว และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ)

    ครั้นถึงกาลเสด็จอุบัติของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ พวกเปรตจึงได้มีโอกาสได้รับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงถวายทาน (ภัตตาหาร ผ้าไตรจีวร และเสนาสนะ) แด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข และได้ทรงอุทิศให้ เปรตเหล่านั้นได้อนุโมทนาบุญแล้ว จึงได้รับส่วนบุญ เป็นสมบัติทิพย์ (น้ำ อาหาร ผ้า และปราสาท เป็นต้น) ได้เกิดขึ้นเพื่อเปรตเหล่านั้น ดังที่พระพุทธโฆษาจารย์ได้อรรถาธิบายไว้ว่า

    เปรตแม้เหล่านั้น หวังว่า “วันนี้ พวกเราพึงได้ (อะไรๆ) บ้างเป็นแน่” ดังนี้แล้ว มาสู่เรือนแห่งญาติในกาลก่อน ด้วยสำคัญว่าเรือนของตน ได้ยืนอยู่ ณ ที่ทั้งหลายมีภายนอกฝาเป็นต้น, เปรตเหล่านั้น เสวยผลแห่งความริษยาและความตระหนี่อยู่ บางพวกมีหนวดและผมรุ่มร่ามมีหน้าดำ มีเส้นเอ็นหย่อน และอวัยวะใหญ่น้อยห้อยย้อย ผอม หยาบ และดำ เหมือนกับต้นตาลที่ถูกไฟป่าไหม้แล้ว ตั้งอยู่ ณ ที่นั้นๆ, บางพวกมีสรีระอันเปลวเพลิงตั้งขึ้นแต่ท้อง เพราะการสีแห่งไม้สีไฟคือความกระหายแล้วแลบออกจากปากเผาอยู่, บางพวกไม่ได้รสอย่างอื่น (นอก) จากรสคือความหิวกระหาย เพราะแม้ได้ (น้ำและโภชนะ) แล้ว ก็เป็นผู้ไม่สามารถบริโภคน้ำและโภชนะได้ ตามต้องการ เพราะความที่ตนเป็นผู้มีช่องคอประมาณเท่าปลายเข็ม และเพราะเป็นผู้มีท้องมีอาการดุจภูเขา, บางพวกได้ของสกปรกมีเลือด หนอง และไขข้อเป็นอาทิ อันไหลออกจากปาก (แผล) ฝีและต่อมซึ่งแตกแล้วของกันและกันหรือของสัตว์เหล่าอื่น ลิ้มเลียอยู่ปานดังน้ำอมฤต. พระศาสดาได้ทรงทำโดยประการที่เปรตเหล่านั้นทั้งหมด ซึ่งมีรูปอันแปลก ไม่น่าดู และมีสรีระอันน่ากลัวอย่างยิ่ง ได้ปรากฏแล้วแด่พระราชา.

    พระราชา เมื่อจะถวายทักษิโณทก ทรงอุทิศว่า “ขอทานนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของเรา.”

    ในขณะนั้นเอง สระโบกขรณีที่ดาดาษด้วยปทุมชาติ บังเกิดเพื่อเปรตเหล่านั้นแล้ว. เปรตเหล่านั้น อาบและดื่ม (น้ำ) ในสระโบกขรณีนั้น มีความกระวนกระวายความลำบากและความกระหายสงบระงับแล้ว มีวรรณะเพียงดังทองคำ.

    พระราชาถวายยาคูของเคี้ยวและของบริโภคทั้งหลายแล้ว ทรงอุทิศให้ (อีก). ยาคูของเคี้ยวและของบริโภคทั้งหลายอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดเพื่อเปรตเหล่านั้นในขณะนั้นเหมือนกัน. เปรตเหล่านั้น บริโภคอาหารวัตถุมียาคูเป็นต้นเหล่านั้นแล้ว ได้มีอินทรีย์กระปรี้กระเปร่าแล้ว.

    พระราชาถวายผ้าและเสนาสนะแล้ว ทรงอุทิศให้ (อีก). เครื่องอลังการวิธีทั้งหลาย มีผ้า ยาน ปราสาท ผ้าปูนอน และที่นอนอันเป็นทิพย์ เป็นต้น บังเกิดเพื่อเปรตเหล่านั้นแล้ว.

    ก็สมบัตินั้นทั้งหมดนั้นแล ของเปรตเหล่านั้น ย่อมปรากฏได้โดยประการใด พระศาสดาทรงอธิษฐานโดยประการนั้น. พระราชาทอดพระเนตรเห็นสมบัตินั้นแล้ว ได้มีพระราชหฤทัยเบิกบานอย่างยิ่ง.

    ลำดับนั้น พระศาสดา เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เมื่อจะทรงทำอนุโมทนา (และ) เมื่อจะทรงแสดงความที่เปรตทั้งหลายมายืนอยู่ในที่นั้นๆ แด่พระราชา ตรัสคาถาที่ ๑ ว่า


    “เปรตทั้งหลายพากันมาสู่เรือนของตนๆ ยืนอยู่ ณ ภายนอกฝาบ้าง ที่ทาง ๔ แพร่งและ ๓ แพร่งบ้าง ที่บานประตูบ้าง.”
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  9. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ในกรณีที่ผู้วายชนม์แล้วได้ไปบังเกิดในภพภูมิต่างๆ ทั้งสุคติภูมิ อย่างเช่น มาเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทพยดา พรหม อรูปพรหม และทั้งทุคคติภูมิ อย่างเช่น ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น แล้วมีญาติทำบุญกุศลอุทิศให้นั้น ผู้ปฏิบัติถึงธรรมกายได้รู้เห็นอย่างนี้ ว่า

    ผู้ใดมีญาติหรือบุคคลอื่นทำบุญกุศล มีทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล แล้วอุทิศให้ ผู้นั้นได้ทราบการบุญกุศลนั้นแล้วกระทำการอนุโมทนา คือการแสดงกิริยารับทราบ ยินดี เปล่งวาจาสาธุการว่า “สาธุ” ด้วยความเคารพ ย่อมได้รับส่วนบุญนั้น และจะปรากฏเห็นเป็นสายบุญจากพระนิพพานมาจรดตรงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย ตรงศูนย์กลางกายของผู้ได้ประกอบการบุญกุศลด้วยตนเองนั้นให้ใสสว่างขึ้นก่อน
    และเมื่อตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรแล้ว สัตว์โลกใดที่เป็นมนุษย์ (ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นญาติกันหรือไม่ก็ตาม) ก็ดี ทวยเทพทั้งหลายใดก็ดี ปรทัตตูปชีวิกเปรต และแม้สัตว์นรก (ที่มีญาติสาโลหิต (สาโลหิต คือ ผู้ร่วมสายเลือด, ผู้สืบสกุลมาโดยตรง) ผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย เจริญฌานสมาบัติแล้ว ได้ถึงและแจ้งข่าวการบุญการกุศลนั้นให้ทราบได้) ใดก็ดี ที่ได้รับทราบการบุญกุศลที่ญาติได้บำเพ็ญแล้วอุทิศให้ แล้วได้กระทำอนุโมทนาบุญนั้น ก็จะปรากฏสายบุญใสสว่าง จากศูนย์กลางกายของญาติผู้ทำบุญกุศลแล้วอุทิศให้นั้น ไปจรดยังดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของสัตว์ผู้ได้กระทำการอนุโมทนาบุญนั้น ให้ใสสว่างเพิ่มขึ้น

    เฉพาะกรณีของเปรต (ปรทัตตูชีวิกเปรต) และแม้สัตว์นรกตามที่กล่าวแล้วนั้น จะเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของเขาใสสว่างขึ้น ถ้าบุญนั้นสำคัญมาก เช่น ทานกุศล (ปัจจัย ๔) ที่ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ผู้ทรงคุณประเสริฐ และ/หรือ ผู้กำลังปฏิบัติธรรมเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส ศีลกุศล และ ภาวนากุศล ที่ญาตินั้นได้ประกอบบำเพ็ญเอง จึงเป็นบุญใหญ่กุศลใหญ่ แล้วอุทิศให้ และสัตว์ผู้อนุโมทนาบุญนั้นก็ใกล้จะพ้นเวร เมื่อสายบุญจากญาติผู้อุทิศให้ไปจรดที่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นสัตว์นั้นซึ่งแต่เดิมเศร้าหมองอยู่ ก็จะค่อยๆ ปรากฏใสสว่างขึ้น และขยายโตขึ้น แล้วเปลี่ยนภพภูมิตามระดับภูมิธรรมที่มีผู้อุทิศให้ และที่สัตว์ผู้อนุโมทนานั้นรับได้ เช่นถ้าเป็นระดับมนุษยธรรม ก็จะปรากฏเป็นกายมนุษย์ละเอียด ไปเกิดในมนุษย์โลกต่อไป ถ้าเป็นระดับเทวธรรม ดวงธรรมก็จะปรากฏใสสว่างโตขึ้น แล้วก็จะปรากฏเป็นกายทิพย์ พร้อมด้วยทิพย์สมบัติ มีทิพยวิมานเป็นต้น ตามส่วนแห่งบุญกุศลที่ตนเคยทำ แล้วระลึกได้ และที่ตนได้อนุโมทนาบุญจากญาติที่ทำบุญอุทิศให้นั้น ได้เปลี่ยนภพภูมิไปทันที

    ถ้าบุญที่ญาติทำแล้วอุทิศให้นั้น เป็นบุญเล็กน้อย และประกอบกับสัตว์ที่อนุโมทนาบุญนั้นยังจะต้องรับผลจากเวรกรรมเก่าอีกมาก การอนุโมทนาบุญนั้น ก็ได้รับผลบุญนิดหน่อยและสายบุญนั้นด้วย ยังดวงธรรมของสัตว์นั้นให้ใสขึ้น ดีขึ้นกว่าเก่า นิดหน่อย ไว้รอโอกาสที่ญาติจะทำบุญกุศลให้สำคัญยิ่งขึ้นด้วยทั้งทานกุศล ศีลกุศล แล้วอุทิศให้ ก็จะได้อนุโมทนาบุญและจึงจะได้รับผลบุญที่ยิ่งขึ้นไป



    เพราะฉะนั้น ญาติผู้ยังมีชีวิตอยู่ ประสงค์จะทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้ญาติผู้ที่ตนรัก เคารพนับถือ ที่ล่วงลับไปแล้ว พึงทำบุญด้วยทั้งทานกุศล ศีลกุศล และด้วยทั้งภาวนากุศล และด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบ จึงจะเป็นมหากุศลที่ละเอียดและประณีต อย่างเช่น จะประกอบทานกุศล ก็พึงรู้อานิสงส์ ว่า ควรจะทำบุญอะไร กับใคร อย่างไร จึงจะเป็นมหานิสงส์ เหมือนอย่างจะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็จะต้องรู้ว่าจะปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์พืชอะไรดี จะปลูกบนพื้นที่ดินที่ไหนดี และจะปลูกอย่างไร จึงจะได้ผลดี จะรักษาศีล เจริญภาวนา ก็พึงรู้อานิสงส์ ว่า จะปฏิบัติธรรมนี้อย่างไร จะเรียนรู้วิธีปฏิบัติจากครูอาจารย์สำนักไหน จึงจะถูกอัธยาศัย และถูกวิธี ให้ได้ผลดี ก็สามารถยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เป็นญาติมิตรที่รัก ที่เคารพนับถือ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ให้ได้ผลสูงที่สุด

    ผู้ไม่มีศรัทธาด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ในทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล ก็ย่อมไม่สามารถจะยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านผู้อื่น ได้แก่ ญาติมิตรที่รัก ที่เคารพนับถือของตน ให้สำเร็จลงได้ อย่างเช่น ญาติผู้ไปในงานศพ ไม่มีจิตศรัทธาในทานกุศล จะถวายทานพระก็สักแต่ว่าทำๆ ไป ตามประเพณี จะรับศีล ฟังธรรม ก็สักแต่ว่ารับฟังๆ ไป ไม่สนใจที่จะปฏิบัติหรือรักษาศีลจริงๆ มีการกระทำบาป ประพฤติผิดศีลอีก เช่นมีการเลี้ยงสุรา ดื่มสุรา หรือเล่นการพนันกันในงานศพ ฆ่าสัตว์มาประกอบอาหารเลี้ยงกันเป็นต้น จะฟังธรรมก็สักแต่ไปนั่งรับฟัง ฟังไปคุยกันกันไป เหล่านี้เป็นต้น ย่อมเป็นบุญกุศล คือคุณความดีน้อย หรือไม่เกิดบุญกุศลใดๆ แก่ตนเอง และทั้งกลับจะเป็นบาปอกุศลแก่ตนเองอีกด้วย บุญก็ย่อมไม่สำเร็จแก่ทั้งตนเองและแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะแก่ญาติมิตร ที่ตนรัก เคารพนับถือ ผู้วายชนม์นั้นแต่ประการใดเลย



    ผู้ใดมีญาติทำบุญ แต่ไม่ได้อุทิศให้ผู้วายชนม์ไปแล้ว หรือมีญาติทำบุญและอุทิศให้แล้ว แต่ผู้วายชนม์นั้นไปเกิดในภพภูมิต่างๆ แล้วไม่ทราบการบุญกุศลที่ญาติอุทิศให้นั้น จึงมิได้กระทำการอนุโมทนา เช่นได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดเป็นเปรตเหล่าอื่น หรือสัตว์นรกที่อยู่ห่างไกล หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วไม่ทราบว่าญาติได้ทำบุญอุทิศให้ หรือ ไปเกิดเป็นเทพยดาที่กำลังเพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์สมบัติ หรือไปเกิดเป็นพรหม อรูปพรหม ที่กว่าจะนึกถึงญาติสักทีหนึ่งก็นานแสนนาน จึงไม่ทราบการบุญกุศลที่ญาติได้ทำแล้วอุทิศให้ หรือว่าทราบ แต่ว่าบุญนั้นเป็นบุญที่หยาบเกินกว่าที่ตนจะรับได้ ก็ไม่ได้อนุโมทนาบุญนั้น จึงไม่ได้บุญนั้น เหมือนญาติผู้กระยาจกของพระราชานำเครื่องเสวย หรือเครื่องนุ่งห่มที่หยาบและแถมมือที่ถือไปจะถวายแก่พระราชา ก็แสนจะสกปรก (เหมือนคนทุศีล ทำทานกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอันเห็นชอบ) แม้พระราชาจะทอดพระเนตรเห็นแล้ว ก็ไม่ทรงรับเอาไปเสวยหรือทรงใช้สอยฉันใด ก็ฉันนั้น
    จากกรณีนี้ พึงพิจารณาเห็นด้วยปัญญา ว่า



    ผู้ที่ไม่มีศรัทธาในบุญกุศล มีทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล เป็นต้น และไม่ประกอบการบุญกุศลให้ได้เป็นเสบียงเลี้ยงตัวต่อไปในอนาคตภพชาตินี้และในสัมปรายภพ คือในภพภูมิต่อไป และแถมยังทำบาปอกุศลไว้อีกมาก เมื่อตายไป ก็มีทุคติเป็นที่หวัง คือ มีโอกาสมากที่จะไปเกิดเป็นอสุรกาย เปรต สัตว์นรก และสัตว์เดรัจฉาน ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสว่า

    “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเ€, ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา.”
    “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว, ทุคคติเป็นที่หวัง.”

    (ม.มู.๑๒/๙๒/๖๔)



    ก็ต้องคอยให้ญาติมิตร ลูกหลานเขาทำบุญอุทิศให้ ถ้าเขาไม่ทำบุญอุทิศให้ ตนก็อดอยาก ทุกข์ยาก ลำบากไปจนกว่าจะพ้นเวร ซึ่งเป็นเวลานานแสนนาน

    เพราะฉะนั้น ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ จึงควรบำเพ็ญกุศลคุณความดี มีทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล ด้วยตนเอง ด้วยใจศรัทธา ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ จะได้เป็นเสบียงเลี้ยงตนต่อไปในอนาคต ในภพชาตินี้ และในสัมปรายภพ ตราบเท่าถึงได้บรรลุมรรคผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุข ต่อไป
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  10. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ๔. ทุคคติภูมิ: อสุรกาย เปรต ดิรัจฉาน สัตว์นรก

    ทุคคติภูมิ เป็นภูมิที่ไม่ดี คือ เป็นที่เกิด ที่อาศัยอยู่ของสัตว์ ที่ไม่ดี ที่มีความลำบาก ที่ไม่สบาย ที่ไม่เจริญ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อบายภูมิ” (อบาย แปลว่า ปราศจากความเจริญ)

    จะได้กล่าวถึงภูมิของสัตว์ในทุคคติภูมิเป็นลำดับต่อไป




    ก) อสุรกายภูมิ
    เป็นภูมิที่เกิด ที่อยู่ของสัตว์ ที่ไม่สว่างรุ่งโรจน์โดยความเป็นอิสระและสนุกรื่นเริง เปรียบเหมือนนักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ สัตว์ในภูมินี้จึงชื่อว่า “อสูร” หมู่แห่งอสูรทั้งหลาย ชื่อว่า “อสุรกาย” อสูรมีอยู่ ๓ ประเภท คือ

    เทวอสุรา ได้แก่ เทวดาอสูร (อสูรที่เป็นเทวดา)
    เปตติอสุรา ได้แก่ เปรตอสูร (อสูรที่เป็นเปรต)
    นิรยอสุรา ได้แก่ นิรยอสูร (อสูรที่เป็นสัตว์นรก)
    ๑. เทวดาอสูร
    มี ๖ ประเภท ได้แก่ (๑) เวปจิตติอสูร (๒) สุพลิอสูร (๓) ราหุอสูร (๔) ปหารอสูร (๕) สัมพรุติอสูร (๖) วินิปาติกอสูร อสูร ๕ ประเภทแรกเป็นปฏิปักษ์ต่อเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีสถานที่อยู่ใต้เขาพระสุเมรุ แต่ก็สงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เพราะแต่เดิมก็เคยเป็นเทวดาอยู่ชั้นดาวดึงส์นั้นแหละ มีนครชื่อ อยุชฌปุระ ครั้นต่อมา เมื่อมฆมาณพ ได้ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์ (ท้าวสักกเทวราช) อยู่มาวันหนึ่ง พระอินทร์ได้ออกอุบายประชุมเหล่าเทวดาทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์นี้ เพื่อกำจัดพวกเวปจิตติอสูร (เทวดาเจ้าถิ่นเดิมที่มาอยู่ก่อน) โดยให้มีการเลี้ยงเหล้าแก่เทวดาทั้งหลายด้วย แต่พระอินทร์ได้กำชับเทวดาของตนว่าอย่าดื่มเหล้า เทวดาพวกเวปจิตติอสูรจึงพากันเมามายหมดสติ เมื่อได้โอกาสเหมาะ พระอินทร์และบริวารซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ก็พากันรุมจับเทวดาพวกเวปจิตติอสูรโยนลงไปภายใต้เขาพระสุเมรุด้วยอำนาจฤทธิ์ ภายใต้เขาพระสุเมรุจึงเกิดมีนครที่คล้ายกันกับอยุชฌปุระในชั้นดาวดึงส์เทวโลก ต่างกันแต่ต้นไม้ คือ ที่ชั้นดาวดึงส์ มีต้นปาริจฉัตตกะ (ทองหลาง) ส่วนที่ใต้เขาพระสุเมรุ มีต้นปาฏลิ (แคฝอย) นี้เป็นที่อยู่ของพวกเทวดาเวปจิตติอสูรเหล่านี้เอง แต่พวกอสูรไม่รู้ตัวว่าถูกพระอินทร์และบริวารจับโยนลงมาอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ เพราะมัวแต่เมาเหล้า เมื่อสว่างแล้วก็ยังไม่รู้ นครที่ใต้เขาพระสุเมรุก็คล้ายๆ กันกับที่ดาวดึงส์เทวโลก มารู้ตัวเอาตอนถึงฤดูต้นแคฝอยออกดอก ว่าตนเองมาอยู่ต่างถิ่นเสียแล้ว จึงพากันโกรธพระอินทร์กับบริวารมาก และเป็นปฏิปักษ์กับเทวดาชั้นดาวดึงส์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ เคยแต่งกองทัพอสูรไปรบกับกองทัพพระอินทร์หลายครั้ง ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ถ้าฝ่ายใดแพ้ก็พากันหลบหนีเข้านครไป แล้วพากันปิดประตูเมืองเสีย ฝ่ายที่ชนะก็ถอยทัพกลับนครของตน เพราะไม่อาจจะตีฝ่าประตูนครเข้าไปได้ การทำสงครามระหว่างเทวดากับอสูร (เทวาสุรสงฺคาโม) เป็นเหมือนหุ่นรบกัน ไม่มีการบาดเจ็บล้มตายเหมือนกันการทำสงครามรบกันในมนุษย์โลก

    อสูรประเภทที่ ๖ วินิปาติกอสูร เป็นบริวารของภุมมัฏฐเทวดา มีรูปร่างสัณฐานเล็กกว่าเทวดาในชั้นดาวดึงส์ อำนาจก็มีน้อยกว่า อาศัยอยู่ตามป่า ตามเขา ตามต้นไม้ และศาลาที่เขาปลูกไว้ อันเป็นที่อยู่ของภุมมัฏฐเทวดาทั้งหลายในโลกมนุษย์นี้เอง

    ๒. เปรตอสูร มี ๓ ประเภท ได้แก่

    กาลัญจิกเปรตอสูร เปรตอสูรที่อาศัยอยู่ตามป่า ภูเขา หุบเหว ทะเล มหาสมุทร และ ตามเกาะ ในโลกมนุษย์นี้
    วิมานิกเปรตอสูร เปรตอสูรที่เสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่พอเวลากลางคืนกลับได้เสวยสุขเหมือนเทวดาในชั้นดาวดึงส์
    อาวุธิกเปรตอสูร เปรตอสูรที่ประหัตประหารซึ่งกันและกันด้วยอาวุธต่างๆ เนืองนิจ
    ๓. นิรยอสูร
    คือ อสูรที่เป็นสัตว์นรก ที่ในอดีตชาติเป็นมิจฉาทิฏฐิมาก หรือได้ทำกรรมหนักเช่นกระทำผิดต่อบิดามารดาและสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมเป็นต้น หรือฆ่าสัตว์เป็นต้น ทุกๆ วัน จึงได้ไปเกิดอยู่ในโลกันตริกนรก (พ้นจากภพ ๓ พ้นขอบจักรวาลออกไป อยู่ระหว่างชั้นล่างขอบจักรวาลทั้ง ๓ ที่มีเขตเชื่อมถึงกัน โลกันตริกนรกนี้อยู่ตรงกลางขอบจักรวาลทั้ง ๓ นั้นเอง นรกชั้นนี้มืดมิด) สัตว์นรกในชั้นนี้มีร่างกายสูง ๓ คาวุต มีเล็บยาวเหมือนเล็บค้างคาว ใช้เล็บเกาะอยู่ตามขอบกำแพงเขาจักรวาล หิวกระหายจัด เมื่อไต่ไปไต่มาใกล้กันเข้า ก็คิดว่า ได้พบอาหารแล้ว ต่างฝ่ายต่างกระโดดเข้าจะกัดกินกัน พอปล่อยมือก็จะพลัดตกลงไปในน้ำหนุนโลกอันเย็นจัด เมื่อลมปะทะก็ขาดตกลงไปในน้ำเหมือนผลมะซาง พอตกลงไปแล้วก็ละลายไปเหมือนก้อนแป้งตกลงไปในน้ำที่เค็มจัด



    ผู้ปฏิบัติถึงธรรมกายตรวจดูสัตว์ในภพภูมินี้แล้ว ได้เห็นว่า สัตว์เหล่านี้ยังไม่ตาย กลับฟื้นเป็นเหมือนเดิมขึ้นมาใหม่ เพราะวิบากกรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างแรงกล้า และได้เคยกระทำกรรมชั่วสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นไว้มากแต่อดีตชาติ จึงต้องมาเกิดทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้นนานหนักหนา คือเมื่อใดที่พลัดตกลงไปในน้ำกรดเย็นยะเยือกเช่นนั้น ก็จะถูกน้ำกรดเย็นนั้นกัดกินละลาย ร่างสัตว์นรกนั้นเดือดฟู่อยู่ชั่วขณะหนึ่งก็สลายตัวไป สัตว์นรกนั้นได้รับความทุกข์ทรมานเจ็บแสบยิ่งนัก แล้วร่างที่สลายตัวไปแล้วนั้นก็กลับฟื้นเป็นขึ้นมาใหม่ ตะเกียกตะกายหนีขึ้นจากน้ำกรดเย็นนั้นด้วยตัวที่ซีดเซียว อิดโรย สั่นเทา ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปเกาะอยู่ตามกำแพงเขาจักรวาลนั้นใหม่ ไม่ตายจริงๆ สักที เป็นอยู่อย่างนั้นนานเท่านาน จนไม่อาจนับวันเดือนปีได้ว่า เมื่อใดจะได้กลับมาเกิดในภพ ๓ อีก
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • Image-05x.jpg
      Image-05x.jpg
      ขนาดไฟล์:
      276 KB
      เปิดดู:
      143
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  11. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    <TABLE class=tablebg cellSpacing=1 width="100%"><TBODY><TR class=row1><TD vAlign=top><TABLE cellSpacing=5 width="100%"><TBODY><TR><TD>๔. ทุคคติภูมิ: อสุรกาย เปรต ดิรัจฉาน สัตว์นรก (ต่อ)

    ค) ติรัจฉานภูมิ

    ติรัจฉาน หมายถึง สัตว์ผู้ไปโดยขวาง หรือสัตว์ที่เป็นไปขวางจากมรรคผล


    สัตว์ดิรัจฉาน กล่าวจำแนกโดยเท้า มี ๔ ประเภท คือ ประเภทไม่มีเท้า เช่น งู ปลา ไส้เดือน, ประเภทมี ๒ เท้า เช่น ไก่ นก, ประเภทมี ๔ เท้า เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย, ประเภทมีเท้ามาก เช่น ตะขาบ กิ้งกือ

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า บรรดาสัตว์เหล่านี้ สัตว์น้ำมีจำนวนมากกว่าสัตว์บก มากมายนัก

    สัตว์ดิรัจฉาน มีทั้งที่เห็นได้ด้วยสายตาเนื้อ และที่ไม่เห็นด้วยสายตาเนื้อ สัตว์กึ่งเทวดากึ่งดิรัจฉาน เช่น นาค, ครุฑ นั้น เราไม่อาจเห็นได้ด้วยสายตาเนื้อ สัตว์เหล่านี้มีเวทมนต์คาถา และมีอิทธิฤทธิ์มากเหมือนกัน เช่น เกณฑ์ฝนก็ได้ เนรมิตกายเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ได้ เป็นต้น

    โดยเฉพาะพญานาคนั้นมีพิษร้ายกาจมาก บังหวนควันก็ได้ ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพญานาค ดังเช่น



    เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้องและบริวาร อุรุเวลกัสสปะหัวหน้าชฎิลผู้พี่ใหญ่ยังไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระองค์ ได้อนุญาตให้พระผู้มีพระภาคไปค้างคืนในโรงบูชาไฟที่มีพญานาคดุร้ายอยู่ตนหนึ่ง พอพระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปถึง ณ ที่นั้นเพื่อจะพักค้างแรม พญานาคนั้นก็ขัดใจ โกรธ และได้แสดงอิทธิฤทธิ์ มีการบังหวนควันและพ่นไฟเพื่อจะทำร้ายพระองค์ พระองค์จึงได้ปราบพยศพญานาคนั้นด้วยพระฤทธิ์ แล้วจับพญานาคนั้น (ซึ่งขณะนั้นสิ้นฤทธิ์ กลายสภาพเป็นงู) ใส่หม้อเอาไว้ให้พวกชฎิลดูในตอนรุ่งขึ้น อุรุเวลกัสสปะและบริวารได้เห็นตามที่เป็นจริงว่า ลัทธิของตนหาแก่นสารมิได้ ถอนทิฏฐิมานะของตน ศรัทธาเลื่อมใสทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา

    ครั้งหนึ่ง เคยมีพญานาคจำแลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวชเป็นพระภิกษุ ครั้งพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ได้ทรงห้ามการให้อุปสมบทแก่พญานาคนั้น

    ฉะนั้นจึงมีธรรมเนียมของการจะให้อุปสมบทแก่อุปสัมปทาเปกข์ (ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เจ้านาค”) พระกรรมวาจาจารย์จะต้องถามอันตรายิกธรรมข้อหนึ่งใน ๑๕ ข้อว่า “มนุสฺโสสิ” แปลว่า “เจ้าเป็นมนุษย์หรือ ?” เมื่อเจ้านาครับว่ามีคุณสมบัติที่จะให้บวชได้ทุกข้อ จึงจะให้การอุปสมบท

    อนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า “เจ้านาค” ก็เพราะมีประวัติมาจากเรื่องที่ได้เคยมีพญานาคจำแลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวชนี้เองด้วยประการหนึ่ง และคำว่า “นาค” ยังหมายถึง บุคคลที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวช หรือ กำลังจะบวช ว่า “เป็นผู้ประเสริฐ ผู้ไม่ทำบาป” นี้อีกประการหนี่ง ด้วย

    เรื่องนาค ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สมควรนำมากล่าวไว้ให้นักบวชพึงทราบ และ พึงมีศีลสังวรไว้ คือ เรื่อง “เอรกปัตตนาคราช” ในอดีตชาติก่อนพุทธกาลนี้ คือในกาลเสด็จอุบัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า “กัสสปะ” (องค์ก่อน ถัดไปจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคดมของเรานี้) ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้บำเพ็ญสมณธรรมมาแล้วถึง ๒๐,๐๐๐ ปี (ในยุคนั้น คนมีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี) วันหนึ่งได้โดยสารเรือไปตามแม่น้ำคงคา แล้วมือไปจับตะไคร้น้ำขาดติดมือไป เห็นว่าเป็นโทษเล็กน้อย จึงไม่แสดง (ปลงอาบัติ) ครั้นใกล้เวลาจะมรณภาพก็เป็นเหมือนใบตะไคร้น้ำรัดคอ มองไม่เห็นใครพอจะปลงอาบัติได้ ครั้นมรณภาพแล้ว ด้วยบาปอกุศลเพียงดึงใบตะไคร้น้ำขาดติดมือไปนั่นเอง ได้บังเกิดเป็นพญานาค ๑ พุทธันดร จึงได้พบพระพุทธเจ้าสมณโคดมนี้ จึงได้มีโอกาสมาเนรมิตตนเป็นมนุษย์ กราบแทบพระบาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ร้องไห้กราบทูลว่า

    “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับด้วยพระองค์ ได้ทำสมณธรรมสิ้น ๒๐,๐๐๐ ปี แม้สมณธรรมนั้นก็ไม่อาจเพื่อจะช่วยข้าพระองค์ได้ ข้าพระองค์อาศัยเหตุสักว่าให้ใบตะไคร้น้ำขาดมีประมาณเล็กน้อย ถือปฏิสนธิในอเหตุกสัตว์ เกิดในที่ที่ต้องเลื้อยคลานไปด้วยอก ย่อมไม่ได้ความเป็นมนุษย์เลย ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับด้วยพระองค์ตลอดพุทธันดรหนึ่ง”

    พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า

    “มหาบพิตร ชื่อว่าความเป็นมนุษย์หาได้ยากนัก การฟังพระสัทธรรมก็ (ยาก) อย่างนั้น, การเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็หาได้ยากเหมือนกัน, เพราะว่า ทั้ง ๓ อย่างนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยความยากลำบาก.”


    และได้ตรัสเป็นพระคาถาว่า



    กิจฺโฉ มนุสฺสปฺปฏิลาโภ,
    กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ,
    กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ,
    กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท.”
    ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ หรเต ผลนฺติ
    “ความได้อัตตภาพเป็นมนุษย์เป็นการยาก, ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ยาก, การฟังพระสัทธรรมเป็นของยาก, การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นการยาก.”

    (ม.มู.๒๕/๒๔/๓๙)




    ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้อรรถาธิบายว่า

    “เนื้อความแห่งพระคาถานั้น พึงทราบดังนี้ว่า ก็ขึ้นชื่อว่าความได้อัตตภาพเป็นมนุษย์ ชื่อว่าเป็นการยาก คือหาได้ยาก เพราะความเป็นมนุษย์ บุคคลต้องได้ด้วยความพยายามมาก ด้วยกุศลมาก, ถึงชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นอยู่ยาก เพราะทำกรรมมีกสิกรรมเป็นต้นเนืองๆ แล้วสืบต่อความเป็นไปแห่งชีวิตบ้าง เพราะชีวิตเป็นของน้อยบ้าง, แม้การฟังพระสัทธรรม ก็เป็นการยาก เพราะความที่บุคคลผู้แสดงธรรมหาได้ยาก ในกัปแม้มีมิใช่น้อย, อนึ่ง ถึงการที่อุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เป็นการยากเหมือนกัน คือได้ยากยิ่งนัก เพราะอภินิหารสำเร็จด้วยความพยายามมาก และเพราะกาลที่อุบัติขึ้นแห่งท่านผู้มีอภินิหารอันสำเร็จแล้วเป็นการได้โดยยาก ด้วยพันแห่งโกฏิแห่งกัปมิใช่น้อย.” (ธ.อ.๙๘-๙๙)

    ส่วนพญาครุฑนั้น เป็นสัตว์ครึ่งเทวดาครึ่งสัตว์ดิรัจฉาน ที่ว่าเป็นสัตว์ครึ่งเทวดาเพราะไม่อาจเห็นได้ด้วยสายตาเนื้อโดยทั่วไป และเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์ ที่ว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็เพราะเป็นสัตว์ที่ไปโดยทางขวาง และไม่อาจบรรลุมรรคผลได้ มีรูปร่างเหมือนนก

    พญาครุฑมีรูปร่างสัณฐานเหมือนนก ฉะนั้น จึงจัดเข้าในประเภทของนกได้ ในบรรดานกทั้งหมด พญาครุฑเป็นนกที่ใหญ่ที่สุดในจำพวกนกทั้งหลาย อยู่ที่ป่าไม้งิ้ว ในชั้นที่ ๒ ของภูเขาสิเนรุ ๆ มีบันไดเวียนรอบ ๕ ชั้น ชั้นที่ ๑ อยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของพญานาค เจ้าแห่งพญาครุฑ มีร่างกายสูง ๑๕๐ โยชน์ ปีกทั้ง ๒ ข้างกว้างข้างละ ๕๐ โยชน์ หางยาว ๖๐ โยชน์ คอยาว ๓๐ โยชน์ ปากกว้าง ๙ โยชน์ ขายาว ๑๒ โยชน์ เจ้าแห่งพญาครุฑ ขณะที่กำลังบินอยู่ อำนาจของการกระพือปีกทั้ง ๒ บังเกิดเป็นลมพายุใหญ่พัดทั่วไปไกลถึง ๗๐๐-๘๐๐ โยชน์ ธรรมดาพญาครุฑนั้นต้องกินพวกนาคเป็นอาหาร (พระพุทธโฆษาจารย์, สํยุตฺตนิกายฏฺฐกถา
    ทุติโย ภาโค: มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๔๖๓, หน้า ๑๐๑)



    จากตอนกลางของภูเขาสิเนรุลงมาจนถึงใต้พื้นน้ำมหาสมุทร มีฐานบันไดเวียน ๕ รอบ คือ ชั้นที่ ๑ อยู่ใต้พื้นน้ำ เป็นที่อยู่ของพญานาค, ชั้นที่ ๒ เป็นที่อยู่ของพญาครุฑ, ชั้นที่ ๓ เป็นที่อยู่ของกุมภัณฑเทวดา, ชั้นที่ ๔ เป็นที่อยู่ของยักขเทวดา, ชั้นที่ ๕ เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาล



    ได้ยินว่า พระภิกษุผู้ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย เมื่อโดยสารเครื่องบินไปปฏิบัติศาสนกิจตามที่ต่างๆ ท่านจะอธิษฐานขอให้ท้าวจตุโลกบาลช่วยส่งยักขเทวดา และ/หรือ พญาครุฑ ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ หรือพอจะแนะนำสั่งสอนศีลธรรมได้ ขอให้มาช่วยรักษาความปลอดภัย ท่านก็ได้เห็นยักขเทวดา และ/หรือพญาครุฑ ผู้ใจดี เต็มใจมาช่วยประคับประคอง ที่ส่วนหัว ลำตัว และปีกของเครื่องบิน ให้เดินทางโดยปลอดภัยเสมอ แล้วท่านก็แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศล ให้พวกเขาด้วย



    </TD></TR></TBODY></TABLE></TD></TR><TR class=row1><TD class=profile align=middle></TD><TD height=22>[​IMG]

    </TD></TR><TR><TD class=setcek height=20 colSpan=2>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE><TABLE class=tablebg cellSpacing=1 width="100%"><TBODY><TR class=row2><TD class=profile align=middle></TD><TD height=25 width="100%"><TABLE cellSpacing=0 width="100%"><TBODY><TR><TD class=gensmall width="100%"></TD></TR></TBODY></TABLE></TD></TR></TBODY></TABLE>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  12. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ๔. ทุคคติภูมิ: อสุรกาย เปรต ดิรัจฉาน สัตว์นรก (ต่อ)

    ง) นิรยภูมิ
    คำว่า นิรยะ หรือ นรก แปลว่า ที่ที่ไม่มีความสุขความเจริญ คือเป็นที่เกิดที่อยู่ของสัตว์โลกที่ประกอบอกุศลกรรมหรือกรรมชั่วต่างๆ แล้วกรรมชั่วนั้นเป็นชนกกรรมนำให้ไปเกิดในทุคคติภพที่เต็มไปด้วยความทุกข์ร้อน ไม่มีความสุขความเจริญเลย เป็นอายตนะหรือภพทิพย์ที่หยาบ
    สัตว์ที่เกิดมาในนรกจึงมีลักษณะโปร่งแสง เป็นอทิสสมานกาย (อทิสสมานกาย คือกายที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยสายตาเนื้อ) เมื่อตายจากภพก่อนซึ่งอาจจะเป็นจากโลกมนุษย์หรือจากเทวโลกก็ได้ ด้วยอำนาจกรรมชั่วที่ได้เคยทำไว้เป็นชนกกรรมนำให้มาเกิดในนรก ก็เป็นสัตว์ผุดเกิดขึ้นโตเต็มที่ทันที เรียกว่า โอปปาติกะ (โอปปาติกะ คือ สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวทันทีทันใด ตายไปก็ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฎ เช่น เทวดา และสัตว์นรก เป็นต้น) ย่อมเสวยผลจากกรรมชั่วนั้น เป็นความทุกข์อย่างแสนสาหัส ตามประเภทและความหนักเบาหรือแรงกรรมนั้นเป็นเวลานาน
    เมื่อสิ้นเวรจากนรกขุมใหญ่ (มหานรก) แล้ว ด้วยเศษของอกุศลกรรมที่เหลือที่ยังต้องเสวยผลกรรมอยู่อีก ก็ไปเกิดในนรกขุมเล็กที่รองลงไปที่ชื่อว่าอุสสทนรกอีก จนกว่าจะสิ้นเวรในนรกแล้ว จึงจะได้ไปเกิดในภพภูมิอื่นตามแต่กรรมที่ยังรอให้ผลต่อๆ ไป จะเป็นชนกกรรมให้ไปเกิดในภพภูมินั้นๆ อีกต่อๆ ไป ตามกรรมดีหรือกรรมชั่วนั้นๆ

    นรกนั้นตั้งอยู่ใต้มนุษย์โลกตั้งแต่เชิงเขาพระสุเมรุไป มหานรกขุมที่ ๑ ชื่อ สัญชีวนรก อยู่ห่างจากชมพูทวีป อันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ (พื้นดินที่มนุษย์อาศัยอยู่นี้ หนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์) ไป ๑๕,๐๐๐ โยชน์ และ มหานรกขุมต่อๆ ไปก็อยู่ห่างกันประมาณเท่ากัน (๑๕,๐๐๐ โยชน์)



    ผู้ศึกษาสัมมาปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกายแล้ว จะตรวจดูสภาวะและความเป็นไปในนรกได้ โดยพิสดารกายสุดกายหยาบกายละเอียด เจริญฌานสมาบัติพร้อมกันหมดทุกกาย (สุดกายหยาบกายละเอียด) เอาธรรมกายพระอรหัตเป็นหลัก โดยอนุโลม-ปฏิโลมหลายๆ เที่ยว เที่ยวสุดท้ายโดยอนุโลม ถึงจตุตถฌานเป็นอย่างยิ่ง
    แล้วพิจารณาอริยสัจ ๔ ในกายมนุษย์-ทิพย์-พรหม-อรูปพรหม แล้วพิสดารธรรมกายอรหัต ออกจากฌานสมาบัตินั้นๆ ไป ผ่านศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของทุกกายสุดกายหยาบกายละเอียด อันเป็นที่ตั้งของธาตุธรรม (กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม) และ เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ ใจ อันเป็นที่ตั้งของธรรมในธรรม เพื่อปหานอกุศลจิตของกายในภพ ๓ (กายโลกิยะ) เป็นการทำ “นิโรธ” ดับสมุทัย จนเป็นแต่ใจของธรรมกายอรหัตในอรหัตล้วนๆ ผ่องใสบริสุทธิ์ สุดละเอียด จนละอุปาทานในเบญจขันธ์ และความยินดีในฌานสมาบัติได้ แม้เป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ
    ธรรมกายที่สุดละเอียดจะไปปรากฏในอายตนะนิพพาน
    ก็ให้อธิษฐานซ้อนหยุด นิ่ง แน่น ที่กลางของกลางพระนิพพานของพระพุทธเจ้า ต่อญาณทัสสนะ ต่อแว่น ต่อกล้อง กับพระนิพพานของพระพุทธเจ้า ให้ญาณทัสสนะเครื่องรู้เห็น เห็นได้กว้างไกล สุดหยาบสุดละเอียดแล้ว เอาภพ ๓ เป็นกสิณ
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอากามภพในภาคใต้พื้นดิน ตั้งแต่เชิงเขาพระสุเมรุออกไปเป็นกสิณ เอาธรรมกายเป็นสมาบัติ เดินสมาบัติในกสิณ ตรวจดูสภาวะและความเป็นไปของนรกขุมต่างๆ
    ทั้งมหานรก
    อุสสทนรก (อยู่ภายในจักรวาล) และโลกันตริกนรก (โลกันต์) (อยู่นอกจักรวาลออกไป)
    สอบถามบุพพกรรมของสัตว์นรกแต่ละขุม ให้เห็นความปรุงแต่งด้วยบาปอกุศล (อปุญญาภิสังขาร) ไว้สอบทานกับที่มีอยู่ในคัมภีร์ด้วย จะช่วยให้รู้แจ้งละเอียดขึ้น ให้เห็นไตรวัฏ คือ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ และ วิปากวัฏ กล่าวคือ ความมีกิเลส แล้วก็สร้างกรรมชั่วหรือบาปอกุศลต่างๆ ทางกาย วาจา และใจ แล้วได้รับผลเป็นวิบากจากอกุศลกรรมใดอย่างไรๆ นานเท่าใด ตามที่เป็นจริง เป็นชั้นๆ ไป จนถึงสัตว์นรกในอายตนะโลกันต์ ก็จะรู้-เห็น การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลก ว่าเป็นไปตามกรรมอย่างไร แล้วยกขึ้นพิจารณาสภาวธรรมของอุปาทินนกสังขาร ที่ปัจจัยปรุงแต่งว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อย่างไร ให้เจริญขึ้นถึงทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ และ มรรคสัจ ต่อไป


    เสร็จแล้วพึงทำนิโรธ เข้าสู่อายตนะนิพพานต่อๆ ไปจนสุดละเอียด หยุดตรึกนิ่ง กลางของกลางๆๆๆ พระนิพพานของพระพุทธเจ้าต่อๆ ไปนับไม่ถ้วน เพื่อฟังรู้ที่ตรัสรู้ในนิโรธ ต่อไป ดังต่อไปนี้


    ๑. มหานรก
    มหานรก มีทั้งหมด ๘ ขุมใหญ่ คือ

    สัญชีวนรก นรกที่มีนายนิรยบาลลงโทษด้วยการใช้อาวุธฟันแทงจนตาย แล้วก็เป็นขึ้นมาได้รับโทษใหม่อีกต่อๆ ไปอยู่เช่นนั้นจนกว่าจะหมดเวร

    กาฬสุตตนรก นรกที่สัตว์นรกถูกนายนิรยบาลตีด้วยเส้นเชือกดำ แล้วถากหรือตัดด้วยเครื่องประหารต่างๆ ขาดเป็นท่อนๆ แล้วก็กลับเป็นขึ้นมารับกรรมใหม่ต่อๆ ไปจนกว่าจะสิ้นเวร

    สังฆาตนรก นรกที่สัตว์นรกถูกภูเขาเหล็กสูง มีแสงไฟอันลุกโพลงบดขยี้เป็นจุณ แล้วก็เป็นขึ้นมารับกรรมใหม่ต่อๆ ไปจนกว่าจะสิ้นเวร

    โรรุวนรก (ธูมโรรุวะ) นรกที่สัตว์นรกถูกรมด้วยควันไฟอันแสบร้อนอบอ้าว เข้าสู่ทวารทั้ง ๙ ทุกข์ทรมานมาก จึงร้องเสียงดังขรมไปหมด

    มหาโรรุวนรก (ชาลโรรุวะ) นรกที่สัตว์นรกถูกเปลวไฟลุกโพลง ไหม้เข้าสู่ทวารทั้ง ๙ ทุกข์ทรมานมาก จึงร้องเสียงดังด้วยความทุกข์ทรมานยิ่งกว่าธูมโรรุวนรกอีก

    ตาปนนรก (จูฬตาปนะ) นรกที่สัตว์นรกถูกนายนิรยบาลตรึงด้วยเหล็กหลาว ประหารฟาดฟันด้วยอาวุธอันร้อนแดงลุกโพลงด้วยไฟอยู่ตลอด

    มหาตาปนนรก (ตาปนะ) นรกที่สัตว์นรกถูกนายนิรยบาลตรึงด้วยเหล็กหลาว ประหารหรือฟาดฟันด้วยอาวุธอันร้อนแดงด้วยไฟ ให้ขึ้นสู่ภูเขาเหล็กที่ร้อนเช่นนั้น แล้วถูกลมซึ่งมีกรรมเป็นปัจจัย (กมฺมชวาต) พัดสัตว์นรกเหล่านั้นตกลงไปหัวทิ่ม สู่เหล็กหลาวที่ร้อนแรงด้วยเปลวไฟลุกโชนอยู่ ทรมานยิ่งกว่าจูฬตาปนนรกอีก

    อวีจินรก (อเวจีมหานรก) มหานรกขุมสุดท้ายที่อยู่สุดโต่งของภพ ๓ ที่สัตว์นรกถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา จะหาช่องว่างเป็นสุขสักนิดก็ไม่มี


    ผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย ตรวจดูสัตว์นรกชั้นนี้ จะเห็นพระเทวทัต และผู้ทำอนันตริยกรรม ได้แก่ผู้ทำสังฆเภท ได้รับวิบากกรรมอยู่ชั้นนี้ โดยที่ร่างกายถูกตรึงไว้ด้วยท่อนเหล็กและแผ่นเหล็ก ที่มีไฟไหม้อยู่ตลอดเวลา



    ๒. อุสสทนรก
    นรกที่รองลงไปจากมหานรกทั้ง ๘ ขุม อยู่ถัดไปจากประตูมหานรกเป็นนรกบริวารของมหานรกแต่ละขุมๆ มีเป็นจำนวนมาก แต่ที่แสดงในคัมภีร์โดยมากจะยกมาแสดงแต่เพียงอุสสทนรกที่สำคัญๆ เช่น “คำว่า แต่ละขุมมีอุสสทนรก ๖ มีอรรถาธิบายว่า มหานรก ๘ ขุมนี้ แต่ละขุมมี ๔ ประตู ที่ประตูแต่ละประตู มีอุสสทนรก ๔ ขุม (๘x๔x๔) เพิ่มมหานรก ๘ เข้าอีก จึงเป็นนรก ๑๓๖ ขุม”

    อุสสทนรก ๔ ขุม (ความจริงมี ๕ ขุม แต่นับขุมที่ ๔-๕ เป็นขุมเดียวกัน) ดังนี้ (ตัวอย่างอุสสทนรกบริวารของอเวจีมหานรก แม้มหานรกขุมอื่นๆ ก็มีอุสสทนรกอย่างนี้เหมือนกัน)

    (๑) คูถนรก (นรกอุจจาระ) สัตว์นรกทั้งหลายที่ยังมีอกุศลกรรมเหลืออยู่ แม้จะพ้นจากอเวจีมหานรกแล้ว ยังต่อเสวยทุกข์อีกต่อไปในคูถนรกนี้ ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในเทวทูตสูตรว่า



    “ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นจะไม่ปิดเต็มที่ ฯลฯ สัตว์นรกนั้นจะรีบวิ่งไปทางประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที สัตว์นรกนั้นจะออกทางประตูนั้นได้ แต่ว่ามหานรกนั้นแล มีนรกใหญ่เต็มด้วยคูถ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นรกนั้นตกลงไปในคูถนรกนั้น และในคูถนรกนั้น มีหมู่สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือดเฉือนหนัง แล้วเฉือดเฉือนเนื้อ แล้วเฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วก็กินเยื่อในกระดูก สัตว์นรกนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์เจ็บแสบเผ็ดร้อนอยู่ในคูถนรกนั้น แต่ก็ยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.” (ม.อุ.๑๔/๕๑๗/๕๔๓)



    (๒) กุกกุลนรก (นรกขี้เถ้าร้อน) สัตว์นรกทั้งหลายที่ยังมีอกุศลกรรมเหลืออยู่ ถึงแม้จะพ้นจากนรกอุจจาระแล้ว ก็ยังต้องเสวยทุกข์อีกต่อไปในกุกกุลนรก คือ นรกขี้เถ้าร้อน ซึ่งอยู่ติดต่อกันไปจากคูถนรก ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในเทวทูตสูตรว่า



    “ภิกษุทั้งหลาย กุกกุลนรกขุมใหญ่ตั้งเคียงเรียงชิดคูถนรกนั้นแล สัตว์นรกนั้นตกลงไปในกุกกุลนรกนั้น สัตว์นรกนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด

    ป่างิ้วใหญ่ สูงขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนาม (ยาว) ๑๖ นิ้ว ไฟติดทั่ว ลุกโพลงโชติช่วง นายนิรยบาลยังสัตว์นรกนั้นให้ขึ้นบ้างให้ลงบ้างที่ต้นงิ้วนั้น สัตว์นรกนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด

    ป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบ ตั้งเคียงเรียงชิดป่างิ้วนั้นแล สัตว์นรกนั้นเข้าไปในป่านั้น ใบทั้งหลายของไม้ในป่านั้นถูกลมโชยก็ตกลงไปตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูและจมูกบ้าง สัตว์นรกนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์อยู่ในป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น แต่ก็ยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด

    แม่น้ำแสบสายใหญ่ตั้งเคียงเรียงชิดป่าไม้ใบเช่นกับดาบนั้นแล สัตว์นรกตกลงไปในแม่น้ำนั้น ลอยตามกระแสน้ำบ้าง ลอยทวนกระแสน้ำบ้าง ลอยทั้งตามกระแสน้ำทั้งทวนกระแสน้ำบ้าง สัตว์นรกนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ อยู่ในแม่น้ำนั้น แต่ก็ยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด” (ม.อุ.๑๔/๕๑๙-๕๒๑/๓๔๔)



    (๓) สิมปลิวนนรก (นรกป่างิ้ว) สัตว์นรกทั้งหลายที่ยังมีอกุศลกรรมเหลืออยู่ แม้พ้นจากนรกขี้เถ้าร้อนแล้ว ยังต้องไปรับผลกรรมเสวยทุกข์อยู่ในสิมปลิวนรก คือนรกป่าไม้งิ้วอีกต่อไป นรกนี้อยู่ติดต่อถัดไปจากนรกขี้เถ้าร้อน

    ผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกาย เห็นผู้ประพฤติผิดศีลผิดธรรมข้อกาเมสุมิจฉาจาร และผู้หมกมุ่นสำส่อนอยู่ในกาม ได้รับผลกรรมอยู่ในนรกนี้มาก

    (๔) อสิปัตตวนนรก (นรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบ) สัตว์นรกทั้งหลายที่ยังมีอกุศลกรรมเหลืออยู่ แม้พ้นจากนรกป่างิ้วแล้ว ก็ยังต้องไปเสวยทุกข์อยู่ในอสิปัตตวนนรก คือนรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบอีกต่อไป อยู่ถัดติดต่อกันไปจากนรกป่างิ้วนั้นเอง

    (๕) เวตตรณีนรก (นรกแม่น้ำเค็มแสนแสบ) สัตว์นรกที่ยังมีอกุศลกรรมเหลืออยู่ แม้พ้นจากนรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบแล้ว ก็ยังต้องไปเสวยทุกข์อยู่ในเวตตรณีนรก คือนรกแม่น้ำเค็มที่แสนแสบอีกต่อไป ซึ่งอยู่ติดต่อกันไปจากนรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบนั้นเอง

    อนึ่ง ในคัมภีร์โลกทีปสาร (พระสิริมังคลาจารย์, จักกวาฬทีปนี: ห.จ.ก.เซนทรัลเอ็กซ์เพรสศึกษาการพิมพ์, พ.ศ.๒๕๒๓, หน้า ๑๑๕) ได้กล่าวไว้ว่า



    “ในทิศทั้ง ๔ ของมหานรก ๘ ขุมนี้ มียมโลกทิศละ ๑๐ คือ โลหกุมภี, สิมพลีวนะ, อสิวนะ, ตามโพทกะ (น้ำทองแดง), อโยคุฬะ (ก้อนเหล็กแดง), มิฬหปัพพตะ (ภูเขาคูถ), ถุสนที (แม่น้ำแกลบ), สีตนที (แม่น้ำหนาว), สุนขนิรยะ (นรกสุนัข), ยันตปาสาณนิรยะ (นรกแผ่นหิน). (ในภูมิวิลาสินี - วรรณกรรมไทย เรียบเรียงโดย พระศรีสุทธิโสภณ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด พิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๓ หน้า ๘๖-๘๗ แสดงชื่อยมโลกนรก ๑๐ ขุม ไว้ดังนี้ ๑.โลหกุมภีนรก ๒.สิมพลีนรก ๓.อสินขนรก ๔.ตามโพทกนรก ๕.อโยคุฬนรก ๖.ปิสสกปัพพตนรก ๗.ธุสนรก ๘.สีลโลสิตนรก ๙.สุนขนรก ๑๐.ยันตปาสาณนรก)

    อนึ่ง ในทิศทั้ง ๔ ของมหานรก ๘ ขุมนี้ มียมราชา ๔ องค์ แม้สิริคุตตอำมาตย์ก็มี ๔ คนเหมือนกัน ทั้งนี้ มีหน้าที่พิจารณากรรมอันควรและไม่ควร บังคับบัญชาตามกรรม. และมีนายนิรยบาลจำนวนมาก เป็นรากษสในยมโลก ล้วนน่ากลัว เที่ยวทำกรรมกรณ์ (แก่สัตว์นรก). พึงทราบโดยสรุปว่า ยมโลกเหล่านี้รวมเบ็ดเสร็จเป็น ๓๒๐ ขุมด้วยกัน.”
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015
  13. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    ๓. โลกันตริกนรก (เรียก โลกันตนรก ก็มี - พระบาลีใช้ว่า โลกนฺตริกา นิรยา )



    ในคัมภีร์โลกทีปสาร ได้กล่าวไว้ว่า

    “นรก (ตามที่กล่าวมาแล้ว) เหล่านี้ตั้งอยู่ภายในจักรวาฬทั้งหมด เว้นแต่โลกันตริกนรกอยู่ภายนอกจักรวาฬ. ด้วยเหตุนั้นในอรรถกถาแห่งอัจฉริยัพภูตสูตรเป็นต้น จึงได้กล่าวว่า “ได้ยินว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์นั้นโคจรไปโดยท่ามกลางภูเขาจักรวาล. แต่โลกันตริกนรกอยู่เลยภูเขาจักรวาลออกไป. เพราะฉะนั้นพระจันทร์และพระอาทิตย์จึงไม่พอจะส่องแสงไปในโลกันตริกนรกนั้น.” อนึ่ง ในอัจฉริยัพภูตสูตรเป็นต้นได้กล่าวไว้ว่า “โลกันตริกนรกเหล่านั้น ไม่ถูกคลุม ไม่ถูกปิด มืดสนิท.”



    อรรถกถาแห่งอัจฉริยัพภูตสูตรเป็นต้นนั้นว่า

    “อธิบายคำว่า โลกันตริกนรก: โลกันตริกนรกขุมหนึ่งๆ อยู่ในระหว่างจักรวาลทุกๆ ๓ จักรวาล เปรียบเหมือนช่องว่างในท่ามกลางของล้อเกวียน ๓ ล้อ หรือบาตร ๓ ใบ ซึ่งจรดกันและกันตั้งอยู่. โลกันตริกนรกนั้นมีปริมาณ ๘,๐๐๐ โยชน์. คำว่า ไม่ถูกคลุม หมายความว่า เปิดโล่งอยู่เป็นนิตย์. คำว่า ไม่ถูกปิด หมายความว่า แม้เบื้องล่างก็ไม่มีที่เหยียบยืน. คำว่า มืด คือเป็นที่มืด. คำว่า มืดสนิท หมายความว่า ประกอบด้วยความมืดอันทำให้ตาบอด โดยห้ามเสียซึ่งความบังเกิดขึ้นแห่งจักษุวิญญาณ. (หมายความว่า ถึงจะมีนัยน์ตา แต่ก็มองไม่เห็นเพราะมืดมาก จักษุวิญญาณคือความรู้สึกว่ามองเห็นจึงไม่เกิด มีอาการดุจตาบอดนั่นเอง) ได้ยินว่าจักษุวิญญาณไม่เกิดขึ้นได้ในโลกันตริกนรกนั้น. มีคำถามสอดเข้ามาว่า ก็สัตว์ทั้งหลายที่บังเกิดในโลกันตริกนรกนั้น ได้ทำกรรมอะไรไว้จึงไปบังเกิด ? ตอบว่า สัตว์เหล่านั้นได้กระทำความผิดอย่างหยาบช้า ทารุณต่อมารดาบิดาและสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมและทำกรรมอย่างสาหัสอื่นๆ มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นต้นทุกๆ วันราวกะนายโจร เช่น อภัยโจร และนาคโจรเป็นต้น

    และสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมและทำกรรมอย่างสาหัสอื่นๆ มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นต้นทุกวันๆ ราวกะนายโจร เช่น อภัยโจร และนาคโจรเป็นต้นในตามปัณณิทวีป (ประเทศลังกา). อัตตภาพของสัตว์นรกเหล่านั้น มีประมาณ ๓ คาวุต. เป็นสัตว์มีเล็บยาวดุจค้างคาว. สัตว์นรกเหล่านั้นเอาเล็บเกี่ยวที่เชิงจักรวาฬเหมือนค้างคาวเอาเล็บเกี่ยวที่ต้นไม้ฉะนั้น ในเวลาที่เอามือควานไปถูกกันและกันเข้าก็จะสำคัญว่า 'เราได้ภักษาแล้ว' กระเถิบเข้าหา (เพื่อจะจับกิน) ก็กลิ้งจะตกไปบนน้ำรองโลก, เมื่อถูกลมกระทบก็แตกราวกะผลมะซางสุกตกไปในน้ำ. และพอตกลงไปก็ย่อยไปเหมือนก้อนแป้งในน้ำกรดอย่างแรง.”

    ส่วนฎีกาพระวินัย ท่านรจนาโดยกระทำร่วมกัน (คืออธิบายความตรงกัน) กับอรรถกถาและฎีกาพระสูตรแล. โอกาสมีอวีจินรกเป็นต้น พร้อมด้วยขันธ์ทั้งหลาย ชื่อว่า นรก ด้วยประการฉะนี้แล.” (พระสิริมังคลาจารย์, จักกวาฬทีปนี: ห.จ.ก.เซนทรัลเอ็กซ์เพรสศึกษาการพิมพ์, พ.ศ.๒๕๒๓, หน้า ๑๑๖-๑๑๗)

    ผู้ปฏิบัติถึงธรรมกาย เมื่อตรวจดูย่อมได้เห็นอย่างนี้ว่า สัตว์นรกในโลกันตนรกนี้เมื่อตกลงไปถูกน้ำกรดเย็นกัดกินละลาย เจ็บปวดแสบปวดร้อน เย็นยะเยือกถึงกระดูกจนเละไปแล้ว ก็กลับเป็นขึ้นมาใหม่ ตะเกียกตะกายขึ้นไปเกาะตามขอบเขาจักรวาลนั้นอีก วนเวียนทุกข์ทรมานต่อๆ ไปอยู่อย่างนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด คือไม่อาจจะนับเวลาที่จะสิ้นสุดเวรกรรมเช่นนี้เมื่อใด และเห็นว่าเวรกรรมที่หนักที่เขาได้ประกอบกรรมทำเข็ญมาแล้วนั้น เป็นเพราะ “มิจฉาทิฏฐิ” เป็นเหตุเป็นปัจจัยหนุนนำให้ทำอกุศลกรรมต่างๆ ตามที่มีแสดงไว้ในคัมภีร์นั้นแล้ว

    สัตว์ที่เสวยวิบากกรรมในอายตนะนี้คือโลกันตนรกนี้จะมองไม่เห็นกัน หากแต่เราสามารถจะรู้เห็นได้ด้วยตาพระธรรมกาย และจะเห็นสว่างแจ้งด้วยรัศมีพระธรรมกายที่ปรากฏอยู่ในอายตนะนั้นชั่วขณะที่กำลังตรวจดูอยู่



    แม้ในอเวจีมหานรก ซึ่งเป็นนรกชั้นสุดท้ายในจักรวาล อยู่ล่างสุดของกามภพ เป็นนรกขุมที่ร้อนจัดด้วยไฟนรกเผาผลาญสัตว์อยู่ ในขณะที่ตรวจดู ไฟนรกก็จะดับลงชั่วคราวด้วยอานุภาพของพระธรรมกายอีกเช่นกัน



    ส่วนภพของเปรต อสุรกายนั้น ก็อยู่บนพื้นดินนี้แหละ ยิ่งพวกปรทัตตูปชีวิกเปรตก็อยู่ตามสถานที่ต่างๆ ใกล้ๆ มนุษย์นี้เอง แต่เราไม่เห็นด้วยสายตาเนื้อ ถ้าประสงค์จะดูเปรตทั้งหลายให้เห็นชัด ก็จงอธิษฐานปาฏิหาริย์จักรแก้วออกไปมากๆ ไปคล้องเอาเปรตที่อยู่ตามที่ต่างๆ มาดูใกล้ๆ ไต่ถามบุพพกรรมดู แล้วเราก็อุทิศส่วนกุศลให้จากทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล ที่เราได้บำเพ็ญไปแล้ว ให้เขาอนุโมทนา พวกปรทัตตูปชีวิกเปรต ซึ่งกำลังจะพ้นเวร และพอมีบุญเก่าอยู่บ้าง เมื่ออนุโมทนาบุญแล้ว จะเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของเขาที่เคยเศร้าหมองนั้น ค่อยๆ ใส และขยายโตขึ้นๆ แล้วปรากฏกายในกาย คือ กายละเอียด หรือ กายทิพย์ พร้อมด้วยทิพยสมบัติ (เท่าที่เคยมีบุญเก่าที่ได้ทำไว้แล้ว กับบุญใหม่ที่เขาอนุโมทนาอยู่) เปลี่ยนภพภูมิไปทันที ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม เสร็จแล้วอธิษฐานจักรแก้วส่งเปรตที่เหลือกลับที่เดิม

    ในบรรดาเปรตที่เราปาฏิหาริย์จักรแก้วไปคล้องมาดูจำนวนมากมายนั้น จะเห็นเปรตมากมายหลายชนิด ส่วนมากดวงธรรมจะเศร้าหมองมาก มีกายที่ซอมซ่อเศร้าหมองมาก แม้ผ้าผ่อนก็ไม่มี บ้างก็เนื้อตัวเน่าเฟะ มีกลิ่นเหม็นมาก ส่วนมากยังจะต้องเสวยวิบากกรรมต่อไปอีกนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเปรตที่ในอดีตชาติเคยเป็นมนุษย์ ได้ทำกรรมชั่วไว้มาก ไม่รู้คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่มีบุญเก่า เปรตพวกนี้ จิตจะกระด้าง ไม่รับรู้การอุทิศส่วนบุญกุศลให้ หรือรับรู้ได้น้อยมาก เอาแต่จะหนี คือ ไม่ชอบจะอยู่ใกล้รัศมีธรรมกายหรือผู้ทรงศีลทรงธรรม พวกนี้มีเป็นจำนวนมาก

    ดูๆ ไปก็เหมือนคนบาปหนา ปัญญาโฉด ที่หลงมัวเมาอยู่แต่กับอบายมุข เช่น เป็นนักเลงสุรา ยาเสพติด หมกมุ่นสำส่อนในกาม เป็นนักเลงการพนัน ฯลฯ ไม่ชอบเรื่องการบุญการกุศล ไม่ชอบเข้าใกล้พระรัตนตรัย อย่างนั้นแหละ ก็มีสภาพคล้ายเปรตเหล่านั้นเหมือนกัน



    ท่านผู้ปฏิบัติภาวนาต้องมีหลักสำคัญว่า ให้พิสดารกายเจริญฌานสมาบัติ เข้ากลางของกลาง และดับหยาบไปหาละเอียด เพื่อให้สมาธิตั้งมั่น และให้ญาณทัสสนะ เครื่องรู้-เห็น ใส บริสุทธิ์ดีอยู่เสมอ การรู้เห็นนั้นจึงจะเป็นไปอย่างแม่นยำ ไม่พบเห็นนิมิตลวง แล้วก็ให้มีสติดูที่กายในกายและธรรมในธรรมของตนให้ใสละเอียดอยู่เสมอ ถ้าเห็นดำหรือขุ่นมัว จงทำให้ขาว ให้ใสละเอียด โดยพิสดารกาย ดับหยาบไปหาละเอียด เพื่อชำระธาตุธรรมในธรรมให้ใสละเอียดอยู่เสมอ แล้วจึงขยายข่ายของญาณพระธรรมกายให้กว้างสุดภพ สุดจักรวาล พิจารณาดูธรรมชาติที่เป็นไปในภพ ๓ ให้ทั่วตลอดทั้งจักรวาล และแม้จะพิจารณาดูสัตว์โลกันต์ในโลกันตริกนรกอยู่นอก (ขอบล่าง) จักรวาลออกไปอีกก็ได้

    แล้วจึงพิสดารกายเจริญฌานสมาบัติ และทำนิโรธดับสมุทัย จนธรรมกายตกศูนย์เข้าอายตนะนิพพานถอดกายและนิพพานเป็น ซ้อนสับทับทวีกับพระนิพพานต้นๆ ที่แก่ๆ ต่อๆ ไปจนสุดละเอียด แล้วหยุด ตรึก นิ่ง ฟังตรัสรู้ในธรรมที่ควรรู้ต่อไป



    เมื่อได้รู้เห็นดังนี้แล้ว ก็จงอย่าได้โอ้อวดในคุณธรรมของตนให้กิเลสมันฟุ้ง เพราะนั่นเป็นทางเสื่อมอย่างยิ่ง ธรรมปฏิบัตินี้พึงเป็นไปเพื่อศึกษาให้รู้แจ้งในสภาวะของธรรมชาติตามที่เป็นจริง กล่าวคือ เพื่อให้เห็นแจ้งรู้แจ้งสภาวะของธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขารธรรม) ทั้งที่มีวิญญาณครอง (อุปาทินนกสังขาร) และที่ไม่มีวิญญาณครอง (อนุปาทินนกสังขาร) ว่ามีความปรุงแต่งอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความปรุงแต่งสัตว์โลก สังขารโลก ที่มีวิญญาณครอง ด้วยบุญกุศล (ปุญญาภิสังขาร) ด้วยบาปอกุศล (อปุญญาภิสังขาร) และด้วยฌานสมาบัติที่ไม่หวั่นไหว (อเนญชาภิสังขาร) ให้เสวยสุขในสุคติภพบ้าง เสวยทุกข์ในทุคคติภพบ้าง ตามแต่กรรมดีกรรมชั่วจะให้ผล เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารจักรไม่มีที่สิ้นสุด และต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ คือมีสภาวะที่เป็นเองตามธรรมชาติที่เสมอกันหมด (สามัญญลักษณะ) กล่าวคือ เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อย่างนี้

    การที่ผู้ปฏิบัติภาวนาธรรมสามารถรู้เห็นนรก-สวรรค์ได้ตามที่เป็นจริงเพียงไร ย่อมช่วยให้มีหิริโอตตัปปะคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอกุศลดีขึ้น ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต เร่งละชั่ว ทำดี อบรมจิตใจให้ผ่องใส เป็นทางให้เจริญปัญญารู้แจ้งในอริยสัจจธรรม เป็นทางให้ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุข ตามรอยบาทพระพุทธองค์ ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสตอบเทวหิตพราหมณ์ ดังนี้

    เทวหิตพราหมณ์ใคร่จะทราบว่าไทยธรรม ควรให้แก่ใคร จึงจะมีผลมาก จึงได้ทูลถามพระศาสดาว่า

    “บุคคลให้ไทยธรรมในบุคคลไหน ? ไทยธรรมวัตถุอันบุคคลให้ในบุคคลไหน จึงมีผลมาก ? ทักษิณาของบุคคลผู้บูชาอยู่อย่างไรเล่า ? จะสำเร็จได้อย่างไร ?”

    พระบรมศาสดาได้ตรัสตอบว่า



    “ไทยธรรมวัตถุที่บุคคลให้แล้วแก่พราหมณ์ผู้เช่นนี้ ย่อมมีผลมาก”


    และได้ตรัสพระคาถาประกาศคุณธรรมของบุคคลผู้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ดังนี้




    “ปุพฺเพนิวาสํ โย เวทิ
    สคฺคาปายญฺจ ปสฺสติ
    อโถ ชาติกฺขยํ ตโต อภิญฺญา โวสิโต มุนิ
    สพฺพโวสิตโวสานํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.”



    “บุคคลใด รู้ขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน ทั้งเห็นสวรรค์ [ทั้งเทวโลกและพรหมโลก] และอบาย, อนึ่ง บรรลุความสิ้นไปแห่งชาติ เสร็จกิจแล้ว เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี,เราเรียกบุคคลนั้น ซึ่งมีพรหมจรรย์อันอยู่เสร็จสรรพแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.”

    (ขุ.ธ.๒๕/๓๖/๗๑)



    ที่มา...
    ลอกมาจาก...
    วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
    สำนักปฏิบัติธรรมราชบุรี
    โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดราชบุรี
    โดยมติมหาเถรสมาคม


    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  14. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    อกุศลสูตร



    ว่าด้วยเหตุให้ตกนรกและขึ้นสวรรค์


    [๕๘๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ
    ย่อมอุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปเก็บไปฉะนั้นธรรม ๓ ประการ คือ
    อะไรบ้าง ? คือ กายกรรมเป็นอกุศล วจีกรรมเป็นอกุศล มโนกรรมเป็น
    อกุศล บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล
    ภิกษุทั้งหลาย
    ย่อมอุบัติในนรก เหมือนถูกนำไปเก็บไว้ฉะนั้น.


    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมอุบัติ
    ในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปเก็บไว้ฉะนั้น
    ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง ?
    คือ กายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล มโนกรรมเป็นกุศล บุคคลประกอบ
    ด้วยธรรม ๓ อย่างเหล่านี้แล ภิกษุทั้งหลาย
    ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขา
    เชิญตัวไปเก็บไว้ฉะนั้น.

    จบอกุศลสูตรที่ ๑

    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  15. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔
    ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑



    อัตถสันทัสสกเถราปทานที่ ๗ (๑๓๗)
    ว่าด้วยผลแห่งการชมเชยพระพุทธเจ้า ๓ คาถา


    [๑๓๙] เรานั่งอยู่ในโรงอันกว้างใหญ่ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตระ
    ผู้เป็นนายกของโลก ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้บรรลุพลธรรมแวดล้อมด้วย
    ภิกษุสงฆ์ ภิกษุสงฆ์ประมาณ ๑ แสน ผู้บรรลุวิชชา ๓ ได้อภิญญา ๖
    มีฤทธิ์มาก แวดล้อมพระสัมพุทธเจ้า ใครเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส ใน
    มนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกไม่มีอะไรเปรียบ ในพระญาณของพระสัมพุทธ-
    เจ้าองค์ใด ใครได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณไม่สิ้นสุด
    แล้ว จะไม่เลื่อมใสเล่า ชนทั้งหลายแสดงธรรมกาย และไม่อาจทำ
    รัตนากรทั้งสิ้นให้กำเริบได้ ใครได้เห็นแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า
    พราหมณ์นารทะนั้นชมเชยพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระผู้ไม่แพ้ด้วย ๓ คาถา
    นี้แล้วเดินไปข้างหน้า ด้วยจิตอันเลื่อมใสและด้อยการชมเชยพระพุทธเจ้า
    นั้น เราไม่ได้เข้าถึงทุคติเลยตลอดแสนกัลป ในกัลปที่ ๓๐๐๐ แต่กัลปนี้
    ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิจอมกษัตริย์พระนามว่าสุมิตตะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว
    ๗ ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
    และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว
    ดังนี้.
    ทราบว่า ท่านพระอัตถสันทัสสกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
    จบ อัตถสันทัสสกเถราปทาน.
    Quote Tipitaka:
    เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ บรรทัดที่ ๔๐๒๓ - ๔๐๔๑. หน้าที่ ๑๘๖ - ๑๘๗.
    <!-- m -->http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_it ... agebreak=0<!-- m -->
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2015

แชร์หน้านี้

Loading...