วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ : ธรรมะที่ทรงแสดงมากที่สุด

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 13 เมษายน 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ : ธรรมะที่ทรงแสดงมากที่สุด

    --------------------------------------------------------------------------------

    คัดลอกมาบางส่วนจาก หนังสือ วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
    ------------------------------------------
    ธรรมะที่ทรงแสดงมากที่สุด

    คราวก่อนๆลืมบอกท่านผู้อ่านไปว่า อยากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนแก่พระอานนท์บ้าง แก่พระภิกษุสงฆ์ที่มาเข้าเฝ้าตามรายทางบ้างว่า ทรงเน้นธรรมะข้อใดมากที่สุด ในช่วงที่เสด็จพุทธดำเนินจากกรุงราชคฤห์ มุ่งตรงไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ดับขันธปรินิพพาน

    ขณะประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏเขตพระนครราชคฤห์นั้น พระบาลีบันทึกไว้ว่า ธรรมีกถา (อ่านว่า "ทำมีกะถา" แปลว่าถ้อยแถลงเกี่ยวกับธรรมะ) เรื่องไตรสิกขา พระองค์ได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายบ่อยที่สุด ทรงสรุปสารประโยชน์ของไตรสิขาไว้ว่า

    "อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ โดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ"


    ไตรสิกขา เป็นระบบฝึกฝนอบรม กาย วาจา ใจ หรือฝึกฝนอบรมใน ๓ ด้านใหญ่ๆ คือ ทางปัญญา ทางศีล และทางจิต ไตรสิกขาคือสรุปเนื้อหาของอริยมรรคมีองค์ ๘ ไตรสิกขากับอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นอย่างเดียวกันนั้นเอง


    เพราะฉะนั้น ถ้าใครพูดว่าแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์คือ ไตรสิกขา เรียกว่าเขาพูดถูก หรือใครจะพูดว่า แนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เรียกว่าพูดถูกอีกเหมือนกัน

    เหมือนพูดว่า ท่านนายกฯ ชวน เป็นผู้นำที่ดีที่สุดในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ กับพูดว่า "ลูกแม่ถ้วน" เป็นนายกฯ ที่ดีที่สุดในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ก็ใช้ได้เหมือนกันครับ ยิ่งถ้าคนพูดเป็นลูกน้องใกล้ชิดยิ่งจะดีใหญ่!

    เพื่อความกระจ่าง ผมขอ "ขึ้นธรรมาสน์" เทศน์เรื่องนี้สักเล็กน้อย (อ้าว ไหนว่าจะเทศน์ใต้ธรรมาสน์ไง)

    ธรรมะเป็นอุปกรณ์หรือวิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงที่สิ้นสุดของทุกข์ เรียกโดยทั่วไปว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

    ๑.สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบหรือความเข้าใจถูกต้อง

    ๒.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

    ๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ

    ๔.สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

    ๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ

    ๖.สัมมาวายามะ พยายามชอบ

    ๗.สัมมาสติ ระลึกชอบ

    ๘.สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ


    ทั้ง ๘ ประการนั้น "มรรค"หรือแนวทางหรือหลักการที่จะต้องปฏิบัติควบคู่กันไปเป็นกระบวนการ มิใช่ยกขึ้นมาทำที่ละอย่างๆ ให้เสร็จในตัวแบบบันได ๘ ขั้น อะไรทำนองนั้น หากแต่ต้องประสานกลมกลืนกัน เกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน ดุจเกลียวเชือก เกลียวฟั่นเข้าเป็นเชือกเส้นเดียวตั้งแต่ต้นจนปลายเชือกฉะนั้น


    ในการปฏิบัติจริงจะเริ่มจากจุดไหนก็ได้ เช่น

    ๑.เริ่มที่ความรู้ความเข้าใจและความคิด (สัมมาทิฐิ, สัมมาสังกัปปะ = อธิปัญญาสิกขา)

    จะต้องมีความเข้าใจ หรือความเชื่อที่ถูกต้องตรงแนวทางเสียก่อน เมื่อมีพื้นฐานความเชื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ค่อยขยายไปที่ การควบคุมพฤติกรรมทาง กาย วาจา (สัมมาวาจา , สัมมากัมมันตะ , สัมมาอาชีวะ อธิศีลสิกขา ) ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมและเอื้อต่อการพัฒนาที่สูงขึ้น จากนั้นจึงฝึกอบรมจิตใจ (สัมมาวายามะ , สัมมาสติ , สัมมาสมาธิ อธิจิตสิกขา) ซึ่งเป็นชั้นภายในละเอียดกว่าให้ผลดีต่อไป

    ในระหว่างที่อบรมตามขั้นตอนต่างๆนี้ องค์ประกอบแต่ละอย่างๆจะค่อยๆพัฒนาตัวมันเอง และเสริมหรือเกื้อหนุนขั้นตอนนั้นๆให้เพิ่มพูนและชัดเจนยิ่งขึ้น

    เช่นองค์ประกอบทางปัญญา ในขณะที่ผู้ปฏิบัติฝึกฝนอบรมขั้นศีลหรือขั้นจิต ตัวปัญญาความรู้ความเข้าใจซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมนั้น จะค่อยๆพัฒนาแก่กล้าขึ้น ชัดเจนขึ้น เกื้อหนุนให้องค์ประกอบทางด้านศีล และด้านจิตถูกต้องสมบูรณ์ขึ้น อาศัยศีลและจิตที่สมบูรณ์นั้นเอง ปัญญานั้นก็จะพัฒนาถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริง ทำจิตให้หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการฝึกฝนอบรม


    ๒.เริ่มที่การควบคุมพฤติกรรม (สัมมาวาจา , สัมมากัมมันตะ , สัมมาอาชีวะ = อธิศีลสิกขา)


    วิธีนี้เน้นไปที่การฝึกอบรมความประพฤติทางกาย วาจา อย่างจริงจัง อาศัยความรู้ความเข้าใจพอเป็นพื้นฐานเท่านั้น เมื่อศีลถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ก็ก้าวเข้าไปสู่การฝึกฝนอบรมจิตใจอันเป็นขั้นประณีตยิ่งขึ้น จนถึงระดับสุดท้ายคือทำปัญญาให้แก่กล้าจนสามารถพ้นจากตัณหาอุปาทาน

    ระบบนี้นิยมทำกันทั่วไป จนเรียกติดปากชาวพุทธทั้งหลายว่า "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" อาจเป็นเพราะว่าการควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา เห็นได้ง่าย และทำได้ง่ายกว่าการที่จะเริ่มต้นพัฒนาจิตหรือปัญญาก็ได้ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลาย



    ๓.เริ่มที่ฝึกฝนจิตหรือสมาธิ (สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ = อธิจิตตสิกขา)


    อาศัยความรู้ความเข้าใจพอเป็นพื้นฐานเท่านั้น แล้วเริ่มฝึกอบรมจิตอย่างเข้มงวด ในระหว่างนั้นองค์ประกอบแต่ละอย่างๆจะค่อยเกิดขึ้นและเสริมเติมเต็มให้แก่กัน จิตเป็นสมาธิ แน่วแน่ ใส สะอาดแล้ว พฤติกรรมหรือศีลก็จะเกิดขึ้นมาเอง เมื่อศีล สมาธิพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ปัญญาความรู้ความเข้าใจซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้วจะค่อยๆพัฒนาแก่กล้า ชัดเจนขึ้น เกื้อหนุนให้องค์ประกอบทางด้านศีลและสมาธิ ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาศัยศีล และจิตที่สมบูรณ์นั้นเอง ปัญญาก็จะสามารถรู้แจ้งเห็นจริงทำอาสวะให้หมดไปได้ในที่สุด



    ที่พูดมาทั้งหมดเป็นหลักวิชา หลักวิชาจะแจ่มชัดขึ้นเมื่อลองปฏิบัติดู การเกิดประสบการณ์แต่ละขั้นแต่ละตอนนั้นจะเป็นตัวทดสอบหลักวิชา และเกิดความเข้าใจยิ่งขึ้นด้วยตัวเอง


    สรุปสั้นๆดังนี้

    ๑.สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สรุปลงในอธิปัญญาสิกขา

    ๒.สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สรุปลงในอธิศีล

    ๓.สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สรุปลงในอธิจิตตสิกขา



    ***

    ความสัมพันธ์ของอริยมรรคมีองค์ ๘ กับไตรสิกขา มองเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อมีความบริสุทธิ์ทางด้านความประพฤติ เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน ไม่หวาดต่อการลงโทษ ไม่สะดุ้งระแวง ต่อการประทุษร้ายของคู่เวร ไม่หวั่นใจเสียวใจต่อเสียงตำหนิหรือความรู้สึกไม่ยอมรับของสังคม และไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ เพราะความรู้สึกเดือดร้อนรังเกียจในความผิดของตน จิตใจจึงจะปลอดโปร่ง สงบ แน่วแน่ มุ่งมั่นต่อสิ่งที่คิด คำที่พูด และการที่ทำได้ ยิ่งจิตไม่ฟุ้งซ่าน สงบ มุ่งมั่น แน่วแน่เท่าใด การคิดการพิจารณาการรับรู้สิ่งต่างๆก็ยิ่งชัดเจนและคล่องตัว เป็นผลดีในทางปัญญามากขึ้นเท่านั้น

    ความประพฤติที่บริสุทธิ์และเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน เป็นเรื่องของศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)

    การที่จิตปลอดโปร่ง สงบ แน่วแน่ มุ่งมั่นต่อสิ่งที่คิด คำที่พูด การที่ทำ เป็นเรื่องของจิตหรือสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)

    การรับรู้สิ่งต่างๆชัดเจนขึ้น เข้าใจอะไรง่ายขึ้น อันเป็นผลจากจิตสงบนั้นเป็นเรื่องของปัญญา (สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ)


    ---------------------------------------------------------------------
     

แชร์หน้านี้

Loading...