" ลักษณะแห่งพระสุตตันตปิฎก "

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ตีโฉบฉวย, 15 กันยายน 2011.

  1. ตีโฉบฉวย

    ตีโฉบฉวย Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กุมภาพันธ์ 2011
    โพสต์:
    43
    ค่าพลัง:
    +42
    ลักษณะแห่งพระสุตตันตปิฎก

    พระธรรมเทศนาโดย

    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


    ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๑​



    พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว กว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็คงย่นลงในปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรมนั้นแหละ ในยุคเบื้องต้นครั้งพุทธกาล มีแต่ธรรมวินัย ตัดออกเป็น ๒ คือ ธรรม ๑ วินัย ๑ ครั้นภายหลังเมื่อพระสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลาย ได้ยกขึ้นสู่สังคายนาแล้ว จึงได้แยกประเภทเป็น ๓ คือ พระสูตร ๑ พระวินัย ๑ พระปรมัตถ์ ๑ เรียกว่าพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกทั้งสิ้น รวมลงเป็นปริยัติธรรม เพราะเป็นของอันกุลบุตรจำต้องท่องบ่นจำทรงให้ขึ้นปากขึ้นใจ ส่วนพระสูตรนั้น ท่านจัดเป็นนิกาย ๕ มี ขุททกนิกาย เป็นต้น พระวินัยนั้นก็จัดเป็น ๕ พระคัมภีร์ มี อาทิกรรม เป็นต้น ส่วนพระปรมัตถ์นั้นก็จัดเป็น ๗ พระคัมภีร์ มีอภิธรรมสังคิณี เป็นต้น

    บัดนี้จะแสดงลักษณะอาการแห่งพระสูตรให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนน้อยได้เข้าใจกันบ้าง พระสูตรนั้นมีประการเป็นอันมาก เหลือที่จะพึงกำหนดจดจำ จะยกมาแสดงพอเป็นตัวอย่างตามที่อ้างได้ว่าเป็นพระสูตรพอได้ใจความ

    สุ๖ต แปลว่า ร้อยกรอง ได้แก่คุณธรรมที่ท่านร้อยกรองไว้เป็นหมวด น้อยบ้างมากบ้าง ไม่เหมือนกัน สุดแน่หมวดหนึ่งก็เป็น สุตฺต อันหนึ่ง ๆ เปรียบด้วยด้ายที่เขาร้อยดอกไม้ให้เป็นพวง น้อยบ้าง ใหญ่บ้าง ก็เรียกว่า พวงหนึ่ง ๆ เหมือนกัน ดัง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เท่านี้ก็เป็นสูตร ๑ หรือ ดังธาตุ คือดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ก็นับเป็นสูตร ๑ หรือ ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็นับเป็นสูตร ๑ ยกมาแสดงเพียงเท่านี้พอได้ใจความ

    คุณธรรมเหล่านี้ถ้าแสดงเป็นกลาง ๆ เรียกว่า ธัมมาธิษฐาน ท่านเรียกว่า ปรมัตถ์ ถ้ายกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐาน เรียกว่า พระสูตร จะชี้ตัวอย่างดัง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ท่านยกขึ้นธรรมนิยามสูตร มีใจความในพระสูตรนั้นว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งสิ้นไม่เที่ยง สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งสิ้นเป็นทุกข์ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา ดังนี้ เพราะยก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ขึ้นสู่สังขาร เรียกว่า ปุคลาธิษฐาน จึงเป็นพระสูตร

    พึงเข้าใจว่า สังขารทั้งสิ้นได้แก่ สังขารซึ่งมีในตัวเรานี่เอง ธรรมทั้งสิ้นก็ได้แก่สกลกายเรานี้เอง ธรรมนิยามสูตรเป็นพระสูตรภายนอก บอกเข้ามาในตัวเรา ตัวเราเต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ตัวเราเป็นพระสูตรภายใน

    ในประเภทของธาตุ ท่านแจก ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ยกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐาน ได้ชื่อว่าธาตุวิภังคสูตร บอกเข้ามาในตัวของเรา คือ ในสกลกายนี้เต็มไปด้วยธาตุดิน คือสิ่งที่ข้นแข็ง มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เต็มไปด้วยน้ำ คือสิ่งที่อ่อนเหลว มีน้ำเลือด น้ำหนองเป็นต้น เต็มไปด้วยธาตุไฟ คือสิ่งที่อบอุ่นในร่างกายทั่วไป เต็มไปด้วยธาตุลม คือสิ่งที่พัดซ่านไปทั่วสกลกายที่เป็นทางให้เลือดลมเดินไปได้ เต็มไปด้วยธาตุวิญญาณ คือสิ่งที่รู้ ซึ่งมีประจำอยู่ในสกลกาย มีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น พึงเข้าใจว่าตัวของเราซึ่งเต็มไปด้วยธาตุนี้เป็นพระสูตรภายใน

    ในประเภทแห่งรูปนาม แจกออกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตลักขณสูตร เป็นพระสูตรภายนอก ยกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐาน คือยกขึ้นสู่ขันธ์ เป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ พึงเข้าใจว่า ขันธ์ได้แก่สกลกายก้อนนี้ สกลกายก้อนนี้เต็มไปด้วยรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สกลกายนี้จึงชื่อว่าเป็นพระสูตรภายใน

    ในประเภท รูปนามนั้น แจกออกเป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นลิ้น เป็นกาย เป็นใจ ยกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐาน คือยกขึ้นสู่อายตนะ คือ จักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนายตนะ ยกขึ้นสู่พระสูตร ชื่อว่า อาทิตตปริยายสูตร เป็นพระสูตรภายนอก พึงเข้าใจว่า อายตนะเป็นชื่อของสกลกายนี้ สกลกายนี้เต็มไปด้วยอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สกลกายนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นพระสูตรภายใน

    ในประเภทเกิด แก่ เจ็บ ตาย เท่านี้ก็นับว่าเป็นคุณธรรมหมวดหนึ่ง เป็นพระสูตรอันหนึ่ง ถ้ายกขึ้นสู่ปุคคลาธิษฐาน คือยกขึ้นสู่บุคคล ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ยกขึ้นเป็นพระสูตร ชื่อว่า เทวทูตสูตร เป็นพระสูตรภายนอก พึงเข้าใจว่า สกลกายนี้ มี ความเกิด ความแก่ มีความเจ็บ มีความตาย เป็นธรรมดา สกลกายนี้จึงชื่อว่าเป็นพระสูตรภายใน

    ในสุตตันตปิฎกทั้งสิ้น มีนอกมีในอย่างนี้ ส่วนพระสูตรภายนอกนั้น เปรียบเหมือนตำรายา พระสูตรภายในเปรียบเหมือนตัวยา ถ้าฟังไม่เข้าใจ ฟังพระสูตรใด ก็รู้จักอยู่เพียงพระสูตรนั้น หาได้น้อมเข้ามาสู่ตนให้ตรงกับพระคุณธรรมบทว่า โอปนยิโก นั้นไม่ เมื่อน้อมเข้ามาสู่ตนไม่ได้ ก็ชื่อว่าฟังธรรมยังไม่เป็น จะหาประโยชน์ในการฟังพระสูตรเหล่านั้นไม่ได้เลย

    การที่ยกพระสูตรมาแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างนี้ เพื่อจะให้รู้ตนของเราว่า เต็มไปด้วยพระสูตร คือพระสูตรมิดชิดเต็มที่ พึงเข้าใจว่า บรรดาพระสูตรทั้งสิ้น ล้วนเป็นสังขารธรรมหมดด้วยกัน และเป็นอันพวกเราจำทรงไว้ได้มากแล้ว คือเป็นชื่ออันมีอยู่ในสกลกายนี้โดยมาก เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ถึงแม้เป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนน้อย ก็จักได้ความอุ่นใจว่า เราจำทรงพระสูตรไว้ได้บ้างเหมือนกัน ได้ยกพระสูตรมาแสดงเป็นอุทาหรณ์ไว้เพียงเท่านี้ พอเป็นทางบำรุงสติปัญญาของพุทธบริษัทผู้ใคร่ต่อการศึกษา

    บรรดาพระสูตรทั้งสิ้น เป็น สฺวากฺขาโต ภควตาธมฺโม คือเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ท่องบ่นจำทรงจะพึงเห็นด้วยตนเอง และเป็น อกาลิโก ไม่ต้องอ้างกาล คือเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ เราจะท่องบ่นจำทรงเมื่อไรก็ได้ และเป็น เอหิปสฺสิโก ถ้าท่องบ่นจำทรงไว้ได้แล้ว อาจท้าทายร้องเรียกให้ผู้อื่นมาดูได้ เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก อาจที่จักน้อมพระสูตรนั้น ๆ เข้ามาสู่ตนได้ ดังพระสูตรที่ได้แสดงเป็นตัวอย่างไว้ในเบื้องต้น และเป็น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ผู้รู้ทั้งหลาย คือผู้ท่องบ่นจำทรงหรือผู้ปฏิบัติจะพึงรู้จำเพาะที่ตน ไม่ต้องไปเที่ยวถามผู้อื่น

    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/pra-ubali/pra-ubali-05.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...