ลักษณะแห่งพระปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ฉลาดน้อย, 29 มกราคม 2013.

  1. ฉลาดน้อย

    ฉลาดน้อย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +1,721
    ลักษณะแห่งพระปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์)

    วัดบรมนิวาสวรวิหาร แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ


    พุทธบริษัทได้มาสันนิบาตพรักพร้อมกันในธรรมสวนมณฑลนี้ ด้วยมีความประสงค์จะสดับพระธรรมเทศนา และสมาทานอุโบสถศีล และเบญจเวรวิรัติด้วยกำลังความสามารถของตน ๆ บางท่านก็ได้ตั้งสัจจะไว้ว่า ถึงวัน ๘ ค่ำ ๑๔, ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ จะมาสมาทานอุโบสถศีลและเบญจเวรวิรัติและฟังพระธรรมเทศนาเป็นนิตย์มิให้ขาด เมื่อตั้งสัจจะไว้เช่นนี้ ครั้นถึงวันกำหนดตามที่ตนตั้งไว้ก็ได้มาสำเร็จตามที่ตนอธิษฐานไว้ ควรยินดีในการที่ตนผ่านพ้นอุปสรรคมาโดยสวัสดี

    ส่วนนี้ให้พิจารณาถึงคุณความดีในเบื้องหลัง เป็นทางให้เกิดความยินดีขึ้นในตน ในการที่ตนได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์ พ้นจาก ใบ้ บ้า บอด หนวก เสียจริต และบริหารปกครองตนมาได้จนถึงอายุเพียงนี้ และได้ประกอบคุณงามความดี ให้มีขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ ได้เพียงเท่านี้ ๆ คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราได้อบรมให้มีขึ้นในตนแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ๆ เหมือนอย่างพระธรรมคุณ ในส่วนศีล เราได้ทำให้เกิด ให้มีขึ้นในตนเพียงเท่านี้ ส่วนปัญญาได้รู้จริงในอัตภาพร่างกายของตนตามความเป็นจริง อย่างไรก็ได้เพียงเท่านี้ ๆ คุณงามความดีทั้งหลายเหล่านี้สำเร็จมาได้โดยตามลำดับ ก็โดยเหตุที่พ้นจากอุปสรรคเครื่องขัดข้องต่าง ๆ นั้นเอง

    ความจริงในบุคคลคนหนึ่ง ย่อมมีทางเกิดอุปสรรคมากอย่าง คือทั้งภายในและภายนอก ภายในได้แก่การป่วยไข้ มีปวดหัวตัวร้อน เป็นต้น อาการของโรคนับไม่ถ้วน ภายนอกได้แก่เหตุทุกข์ภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ของหมู่ญาติและมิตรตลอดลูกและหลานซึ่งเป็นที่รักนับถือกัน ท่านเหล่านั้นมีทุกข์ขึ้น ความทุกข์นั้นก็มาถึงตน เป็นเหตุให้ขัดข้องขึ้นได้ ที่อธิษฐานไว้ว่า จะรักษาอุโบสถศีลตลอดไตรมาส จะมิให้ขาดทุกวันอุโบสถ สำเร็จมาได้เพียงวันพระหนึ่ง ๆ เท่านั้น ก็ควรยินดีเพราะผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ ต้องถือเอาเป็นบุญลาภของตน ๆ

    บัดนี้จักแสดงพระธรรมคุณต่อไป จะขยายพระธรรมคุณให้กว้างขวางสักหน่อย เพราะพระธรรมคุณเป็นหลักเป็นประธานในพระพุทธศาสนา ถ้าจะเล็งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณแล้ว ก็เห็นว่า พระธรรมคุณเป็นประธานแห่งพระคุณทั้งสอง เพราะพระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้พระธรรม พระสงฆ์ก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระธรรม พระสงฆ์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต่างกันโดยพระนามว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ดังนี้ แต่เนื้อความเกี่ยวเนื่องเป็นอันเดียวกัน เพราะเหตุนั้น เมื่อแสดงพระธรรมคุณโดยกว้างขวาง ก็เป็นอันแสดงพระพุทธคุณ พระสังฆคุณโดยกว้างขวาง ก็เป็นอันแสดงพระพุทธคุณ พระสังฆคุณโดยกว้างขวางเหมือนกัน ผู้ฟังให้พึงเข้าใจว่า ตนได้ฟังพระคุณทั้ง ๓ รัตนะไปพร้อมกัน

    พระธรรมนั้นเป็นของสำคัญ มีประเภทเป็นอันมาก ท่านกำหนดไว้ว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทุกวันนี้ก็ไม่มีผู้นับตรวจตรา จะยังเต็มบริบูรณ์อยู่หรือจะขาดตกบกพร่องก็หาทราบไม่ เห็นความกันว่าที่ท่านแสดงไว้มาก ก็เพื่อจะดัดอุปนิสัยของสัตว์ซึ่งมีนิสัยต่าง ๆ กันอย่างหนึ่ง เพื่อประกาศพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อกุลบุตรได้ศึกษาจำทรงไว้ได้มาก ๆ แล้ว จักเป็นผู้ฉลาดอาจหาญพอโต้ทานแก้วาทะถ้อยคำ อันเป็นเสี้ยนหนามต่อพระพุทธศาสนา เป็นศาสนูปถัมภกได้อย่างหนึ่ง ถ้าจะมุ่งหาที่พึ่งส่วนตนโดยส่วนเดียวแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องเล่าเรียนให้รู้มากเกินไป รู้เพียงทาน ศีล ภาวนา เท่านี้ แต่ให้จริงก็เป็นที่พึ่งได้ หรือรู้เพียงพระไตรสรณคมณ์ คือ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ เท่านี้ แต่ให้รู้จริงให้เป็นโอปนยิโก น้อมพระคุณทั้ง ๓ นั้นเข้ามาสู่ตนได้จริง ๆ ก็เป็นที่พึ่งได้ แต่พระธรรมนั้นมีหลายชั้นหลายเชิง หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ตามสมควรแก่อุปนิสัยของสัตว์ อาศัยเหตุที่พระธรรมมีหยาบ มีละเอียด มีโลกีย์ มีโลกอุดร จึงทำให้ผู้แสดงและผู้ฟังฟั่นเฝือ

    ความจริงผู้ปฏิบัติมุ่งต่อโลกุตรธรรมโดยมากถ้าผู้แสดงคือผู้นำทางผิดก็ต้องผิดไปตามกัน ถ้าเดินทางผิดแล้วแก้ยาก เพราะตัวเป็นคนผิด ที่จะรู้จักตัวว่าเป็นคนผิดนั้นเป็นของยาก รู้ผู้อื่นเป็นคนผิดง่ายกว่า ความจริงผู้แสดงธรรมไม่มีเจตนาชั่ว หวังจะชี้ทางบริษัทด้วยกันทั้งนั้น อย่าว่าแต่พุทธศาสนาอย่างเดียว ถึงศาสนาอื่น ๆ ดังศาสนาเยซู มะหะหมัด ซึ่งเป็นศาสนาใหญ่ ก็มีธรรมหยาบและละเอียดเหมือนกัน ถึงศาสนาฤษีชีพราหมณ์ ซึ่งถือลัทธิต่างให้มุ่งต่อความบริสุทธิ์ด้วยกัน มารวมลงสมาธิอย่างเดียวกันทุกศาสนา แต่ออกจะหมดวิชาเพียงสมาธิโดยมาก ส่วนพุทธศาสนานิยมเพียงเป็นบทบาทแห่งวิปัสสนาเท่านั้น

    ส่วนพุทธบริษัทมีอุปนิสัยต่างกัน บางพวกอุปนิสัยยังอ่อน พอใจจะปฏิบัติให้ได้รับผลแห่งความสุขในปัจจุบันและเบื้องหน้าเท่านั้น พระองค์ก็ทรงแนะนำให้รักษาศีล ๕ ศีล ๘ กุศลกรรมบถ ๑๐ เพียงเท่านั้น ผู้ปฏิบัติตามก็ได้รับความสุข ความสำราญจริง อีกพวกหนึ่งมีอุปนิสัยแก่กล้าแล้ว มุ่งจะหาทางออกจากทุกข์โดยตรง พระองค์ก็ทรงแสดงพระไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และให้ถือเพศบรรพชิต ให้รักษาศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิโมกข์ หรือเรียกว่า อนาคาเร เป็นคนที่ไม่มีเหย่าไม่มีเรือน มีสองประเภทเช่นนี้ สุดแล้วแต่จะเป็นประเภทใดก็ตาม ถ้าได้รับความสำราญก็เป็นอันใช้ได้ ผู้ที่ยังครองเคหสถานอยู่ เมื่อปฏิบัติมีธรรมประจำอยู่ในตน ก็อาจกาความสุขให้แก่ตนได้ ผู้ที่เป็นนักบวช เมื่อปฏิบัติตามธรรมแล้ว จะได้เพียงชั้นใดก็ตาม ก็อาจนำความสุขมาให้แก่ตนได้ ผู้ได้รับความสุขเพราะปฏิบัติธรรม ก็เป็นอันใช้ได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะทางพระพุทธศาสนาประสงค์ความสุขความเย็นใจตลอดชีวิตเป็นข้อสำคัญ

    การแสดงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ให้พึงเข้าใจว่าแสดงไปด้วยกันทั้ง ๓ รัตนะทุกกัณฑ์ เมื่อยกพระพุทธเจ้าขึ้นเป็นประธานก็ให้ชื่อว่าพุทธคุณ เมื่อยกพระธรรมขึ้นเป็นประธานก็ให้ชื่อว่าธรรมคุณ เมื่อยกพระสงฆ์ขึ้นเป็นประธาน ก็ให้ชื่อว่าสังฆคุณ แต่เนื้อความและข้อปฏิบัติเกี่ยวเนื่องกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    ต่อนี้จักแสดงพระธรรมคุณ ตามบทบาลีที่สวดกันอยู่ทุกวัน มี สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น แต่แปลความว่า ธมฺโม อันว่าพระธรรม ภควตา อันผู้มีพระภาคเจ้า สวากฺขาโต ทรงแสดงดีแล้ว ดั่งนี้

    บัดนี้จักอธิบายคำว่า ธมฺโม พระธรรม ธมฺโม แปลว่า ทรงไว้ คือทรงไว้ซึ่งความชั่วและความดีทุกประการ ธมฺโม แปลว่า ธรรมชาติที่ทรงไว้ หรือจะแปลว่า ธรรมดาก็ได้ ถ้ากล่าวโดยธัมมาธิฏฐานก็ได้ ในบทว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา นั้นเอง ชื่อว่า ธมฺโม ถ้ากล่าวโดยปุคคลาธิฏฐาน ยกบุคคลขึ้นเป็นที่ตั้ง หมายเอาสกลกายนี้เอง เป็นที่ทรงไว้ซึ่งความชั่วและความดี หรือไม่ชั่วไม่ดี หรือจะกล่าวถึงธรรมดา สกลกายนี้ก็เป็นธรรมดา ธรรมดา หมายความ เป็นเอง

    สกลกาย นี้ส่วนเป็นเองก็เป็นเองเรื่อยมาตั้งแต่แรกเกิด จะเป็นหญิงเป็นชายก็เป็นเอง จะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นเอง ความเป็นเองมีมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ตลอดถึงคลอดออกมาและโตใหญ่ขึ้นตามลำดับ จะเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นปานกลาง เป็นแก่ เป็นเฒ่า ก็เป็นเอง สกลกายนี้จึงชื่อว่าเป็นธรรมดา ให้กำหนดธรรมให้เป็นหลักไว้ในเบื้องต้นอย่างนี้

    ต่อไปนี้จักแสดงคุณธรรม คำที่ว่าธรรมนั้นเป็นกลาง ถ้าสัมปยุตด้วยกุศล ก็ชื่อว่ากุศลธรรม ถ้าสัมปยุตด้วยอกุศล ชื่อว่าอกุศลธรรม ถ้าสัมปยุตด้วยไม่ใช่กุศลและอกุศล ชื่อว่า อัพยากตธรรม ธรรมนั้นคงที่ เรียกไปตามอาการที่สัมปยุต กุศล อกุศล อัพยากฤต เป็นคุณของธรรม ไม่ใช่ตัวธรรม แต่ต้องเรียกธรรมนั้นไปตามอาการของคุณธรรม ดังศีล สมาธิ ปัญญา มาสัมปยุตเข้ากับธรรมก็เรียกว่า ศีลธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม

    คุณธรรมมีมาก ท่านกำหนดไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่นลงเป็น ๓ คือ ปริยัติธรรม ๑ ปฏิบัติธรรม ๑ ปฏิเวธธรรม ๑ ชื่อว่าเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว ที่ว่าดีนั้นมีเครื่องหมายอย่างนี้

    สนฺทิฏฺฐิโก คือผู้ปฏิบัติจะเห็นด้วยตนเอง

    อกาลิโก คือผู้ปฏิบัติไม่ต้องอ้างกาล ไม่มีขีดขั้น เอหิปสฺสิโก คือผู้ปฏิบัติอาจท้าทายร้องเรียกผู้อื่นมาดูได้ เพราะเป็นของจริง

    โอปนยิโก คือผู้ปฏิบัติอาจน้อมเข้ามาสู่ตนได้

    ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ผู้รู้คือผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะพึงรู้จำเพาะที่ตน

    ห้าบทเบื้องปลายนี้ เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า สวากขาตธรรม คือเป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเทศนาดีแล้ว

    ปริยัติธรรมนั้น เป็นของอันกุลบุตรจำต้องท่องบ่นจำทรงให้ขึ้นปากขึ้นใจ ได้แก่สุตตันตปิฎก วินัยปิฎก อภิธรรมปิฎกทั้งสิ้น ชื่อว่า ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรมนั้นเป็นผลสำเร็จมาแต่ปริยัติธรรม ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ปฏิเวธธรรมนั้นเป็นผลสำเร็จมาแต่ปฏิบัติธรรม ได้แก่ความรู้จริง เห็นจริง สำเร็จมาแต่ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเอง พระธรรมเหล่านี้เป็นสวากขาตธรรมทั้งสิ้น

    ส่วนพระปริยัติธรรม คือพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม เมื่อเราจำทรงไว้ได้น้อยมากไม่ว่าตามกำลังความสามารถของตน เพียงจำได้เท่านั้นก็ให้ผล คือให้ความสุขกายสุขใจแก่ผู้จำทรงไว้ได้ ดังพวกนักธรรม หรือพวกเปรียญเป็นตัวอย่าง ถึงพวกสัตบุรุษที่จำทรงไว้ได้ พากันได้ไหว้พระสวดมนต์กันอยู่ทุกวันนี้ ก็ปริยัติธรรมนั้นเอง และได้รับความสุขกายสุขใจเพราะสวดกับเขาได้ ทำให้เป็นคนองอาจกล้าหาญในที่ประชุม ทำใจของตนให้เบิกบาน อันนี้เป็นอานิสงส์ของพระปริยัติธรรม ความจำทรงไว้ได้เช่นนี้ สนฺทิฏฺฐิโก ผู้จำทรงนั้นจะพึงเห็นเองว่า ส่วนนี้ ๆ เราจำทรงไว้ได้แล้ว และให้ความสุขแก่เราอย่างนี้ ๆ และเป็นอกาลิโก การที่ท่องบ่นจำทรงนั้นไม่ต้องอ้างกาล ควรประพฤติได้เสมอ เพราะจำทรงไว้ได้จริง ๆ และเป็น โอปนยิโก อาจน้อมพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม นั้นเข้ามาสู่ตนได้ คือจำไว้ในใจ และเป็น ปจฺจตฺตํ ผู้รู้คือผู้ท่องบ่นจำทรงนั้นจะพึงรู้จำเพาะตน ว่าตนจำได้แล้ว นี่เป็นส่วนปริยัติธรรม

    ส่วนปฏิบัติธรรมนั้น หมายความประพฤติดีด้วย กาย วาจา ใจ ที่ได้ความมาจากพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ นั้นเอง ย่นลงแสดงพอให้เข้าใจ เหมือนอย่างศีล สมาธิ ปัญญา มาในพระสูตรต่าง ๆ บ้าง มาในพระวินัยบ้าง มาในพระปรมัตถ์บ้าง ศีล สมาธิ ปัญญา จึงชื่อว่า ปฏิบัติธรรม

    ปฏิบัติธรรมนี้ ถ้าผู้ใดปฏิบัติให้เกิดให้มีในตน อย่างต่ำเพียงศีล ๕ ก็จักเห็นผลของศีล ๕ คือพ้นจากเวร ๕ ประการ คือเวรเกิดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติมิจฉาจาร กล่าวเท็จ เมาสุราเมรัย ความไม่มีเวร ๕ เป็นผล เป็นอานิสงส์ เป็นตัวปฏิเวธธรรมในศีล ๕ ถ้าในศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิดมกข์ ก็ยิ่งมีผลมีอานิสงส์มากขึ้น ตามอำนาจและกำลังของคุณธรรมนั้น ๆ ผลที่ได้จากศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิโมกข์นั้น ๆ เป็นตัวปฏิเวธธรรมในประเภทแห่งศีลนั้น ๆ สมาธิ ถ้าผู้ใดทำให้เกิดให้มีขึ้นในตน ก็จักได้รับผล คือจิตไม่ฟุ้งซ่าน สงบจากกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ผลที่ได้จากสมาธินี้เป็นตัวปฏิเวธธรรมในสมาธิ ส่วนปัญญานั้น ถ้าผู้ใดทำให้เกิดให้มีขึ้นในตนได้เพียงชั้นใด ก็จักได้รับผลเพียงชั้นนั้น ถ้าได้ปัญญาชั้นสูงก็ได้สำเร็จวิมุตติ เพิกอุปธิกิเลสออกเสียได้ เป็นปฏิเวธธรรมในชั้นปัญญา

    ที่แสดงนี้จะให้เข้าใจว่า ปริยัติธรรมเป็นเหตุ ปฏิบัติธรรมเป็นผล ปฏิบัติธรรมเป็นเหตุ ปฏิเวธธรรมเป็นผล พระธรรมทั้ง ๓ ประเภทนี้ล้วนเป็นสวากขาตธรรม เป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้วทั้งนั้น และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติได้ชั้นใด ก็จะพึงเห็นด้วยตนในชั้นนั้น และเป็น อกาลิโก ไม่ต้องอ้างกาล เพราะเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก ผู้ปฏิบัติอาจท้าทายร้องเรียกให้ผู้อื่นมาดูได้ เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก สามารถน้อมเข้ามาสู่ตนได้ และเป็น ปจฺจตฺตํ ผู้ปฏิบัติคือผู้รู้ทั้งหลาย จะพึงรู้จำเพาะที่ตน ไม่ต้องถามแต่ผู้อื่น ความจริงคุณธรรมทั้ง ๕ บทเบื้องปลายนี้ เป็นเครื่องวินิจฉัยพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล แต่ในพระธรรมคุณนี้ ประสงค์จะแสดงแต่ฝ่ายดี คือกุศลธรรมเท่านั้น

    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/pra-ubali/pra-ubali-04.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...